พัฒนาการทางวัฒนธรรม
            อินเดียเป็นดินแดนเก่าแก่ และเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลก เป็นต้นตอของวัฒนธรรมตะวันออก เป็นแหล่งศาสนาของโลก เป็นแหล่งกำเนิดวรรรณคดีที่สำคัญ อารยธรรมเหล่านี้มีความสำคัญ และมีอิทธิพลต่อดินแดนใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่ง
            อารยธรรมแถบลุ่มน้ำสินธุ ได้ปรากฎมากว่า ๕,๐๐๐ ปีแล้ว สันนิษฐานว่า น่าจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด กับวัฒนธรรมกับ ชน "สุมาเรีย" มาก่อน ก่อนสมัยที่ชนชาวอารยันจะเริ่มอพยพเข้ามาสู่อินเดีย จากเอเซียกลาง ชนชาวอารยันได้นำเอาศาสนา ปรัชญา และขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเข้ามาด้วย และเมื่อเข้ามาอยู่แล้ว ก็ได้รับเอาอารยธรรมซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว ในอินเดียเข้าไว้ด้วย
            ในสมัยต้นพุทธกาล การประกาศพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า และศาสนาเชน ของพระมหาวีระ ทำให้เกิดมีการปฎิรูปทางสังคม ตามหลักธรรมคำสอนของทั้งสองศาสนา
            เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗  พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้ยกทัพมารุกรานอินเดีย ได้สร้างรอยจารึกในด้านความเชื่อถือเกี่ยวกับอำนาจลึกลับ มหัศจรรย์ และในด้านศิลปของอินเดียไว้อย่างลึกซึ้ง
            พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงละจากการทำสงคราม หันมานับถือพระพุทธศาสนา ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ยึดถือมนุษยธรรมเป็นหลัก ก่อให้เกิดศิลปก่อสร้างทางสถาปัตยกรรม เจริญเฟื่องฟูอย่างมาก และได้ส่งผู้แทนคณะต่าง ๆ ออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ อิทธิพลของอินเดีย ก็ได้แผ่ขยายกว้างขวางออกไปถึงเอเซียตะวันออก พร้อมกันไปด้วย
            ในอีกหนึ่งพันปีต่อมา งานศิลปะประดิษฐอันยิ่งยงก็ได้ปรากฎขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ศิลปแกะสลัก และก่อสร้างทางศาสนา ดังที่ปรากฎอยู่ทั่วไปในอินเดีย จนถึงปัจจุบันนี้
            ชนชาวมุสลิม ทั้งที่เป็นพ่อค้าวานิช และที่เป็นผู้รุกรานได้เริ่มเข้ามาในอินเดียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ ส่วนชาวโมกุลที่เข้ามายึดครองอินเดียไว้ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ นั้นได้พากันเข้ามาเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ผู้ที่เข้ามาครอบครองอินเดียใหม่นี้ ได้นำเอาแบบแผนประเพณี ศิลปการช่างต่าง ๆ รวมทั้งความรู้ ความสามารถอื่น ๆ ของตนโดยเฉพาะเข้ามาด้วย
            ชาวโมกุล ได้พยายามรวมอินเดียเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยอาศัยการก่อตั้งระบบการปกครองอันก้าวหน้า ขึ้นไว้ในภูมิภาคต่าง ๆ ระบบการปกครองดังกล่าวได้ถือปฎิบัติต่อมา จนประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๔
            เมื่ออำนาจการปกครองของชนชาวมุสลิมเสื่อมโทรมลง อังกฤษซึ่งเข้ามาในฐานะพ่อค้าก็ได้เข้าครอบครองอินเดียสืบต่อมา เป็นผลให้อินเดียสามารถรวมตัวกันเข้าอยู่ภายใต้อิทธิพล ตามแนวนึกคิดของตะวันตก
            สรุปแล้ว จะเห็นว่าในอินเดียนั้น ได้มีการผสมผสานทางเชื้อชาติ และวัฒนธรรมของชนต่างเผ่าพันธุ์ วรรณะ อย่างกว้างขวาง ในขณะที่ชนชาวอินเดียต่างก็ดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่ตามแนวประเพณีที่ตนถือปฎิบัติกันอยู่แล้ว หลายศตวรรษโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
            ปรัชญาและค่านิยม  วัฒนธรรมของอินเดีย ไม่สามารถแยกปรัชญา และศาสนาออกจากกันได้
                ค่านิยมของอินเดีย  เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ ยิ่งกว่าจีน และญี่ปุ่น ตามประวัติศาสตร์ยุคแรกของอินเดีย เป้าหมายที่สำคัญคือจิตใจของมนุษย์ และการเข้าถึงสันติทางวิญญาณเป็นเป้าหมายของมนุษย์
                หลักคำสอนสำคัญของอินเดียเน้นถึงความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง อยู่เหนือกาลเทศะ เหนือเหตุผลทุกอย่าง เป็นสิ่งที่สิ้นสุดแสดงออกเป็นถ้อยคำไม่ได้ มีลักษณะเป็นหนึ่ง สิ่งนั้นคือพรหมหรือพรหมัน พรหมเท่านั้นเป็นสิ่งที่แท้จริง ความแท้จริงที่สมบูรณ์เป็นนามธรรม ทุกอย่างจะกลมกลืนกันเมื่อเข้าถึงโมกษะคือพ้นจากพันธนาการโลก พ้นจากสังสารวัฏที่อวิชชาได้สร้างขึ้น
            ศิลปะของอินเดีย  ศิลปะอินเดียก็เหมือนกับลักษณะอื่น ๆ คือมุ่งสร้างความกลมกลืนระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
            ในถ้ำคูหาโบราณสถานที่มิสซาฟุรและในที่อื่น ๆ จะพบภาพจิตรกรรมเก่าแก่ เขียนเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ  การเขียนภาพระบายสี มีหลักฐานแสดงว่า ได้ถือกำเนิดในยุคหินระยะหลังของอินเดีย  ในระหว่างสมัยพุทธกาล การเขียนภาพลวดลายได้ก้าวหน้าไปถึงขั้นสมบูรณ์สูงสุด อย่างชนิดที่จะหาสิ่งที่เจริญอื่นใดมาเปรียบเทียบได้
            คูหาวิหารที่สร้างขึ้นด้วยการสกัดถ้ำคูหาของโขดเขาที่อะชันตา มีความสูงส่งในแนวความคิดและความเด่นในฝีมืออย่างน่าอัศจรรย์  อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีผลงานทางสถาปัตยกรรม ประติมากรรมและจิตรกรรมที่ใดที่จัดว่าสมบูรณ์ยอดเยี่ยมเช่นที่อะชันตา เอลลอรา และบาดามิ
                ดนตรีและการฟ้อนรำ  ต้นกำเนิดของศาสนาของอินเดียมีมาแต่การบูชาบวงสรวง ชาวอินเดียเล่นดนตรีด้วยเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย คล้ายกับว่าความผสมกลมกลืนของเสียงดนตรีคือสรวงสวรรค์ เสียงขับร้องของคน และเสียงจากการบรรเลงของเครื่องดนตรี จะสะท้อนถึงกันและกัน
                ในด้านการฟ้อนรำ เป็นการฟ้อนอย่างมีแบบแผนซึ่งมีมาช้านานกว่าสามพันปี ภารตะได้เขียนตำรานาฏศาสตร์ขึ้นไว้ในพุทธศตวรรษที่สาม ผู้ฟ้อนรำบรรยายเรื่องราว โดยใช้การเคลื่อนไหวของมือและเท้า ประกอบกับการแสดงท่าทีอาการด้วยตา และใบหน้า
                ปัจจุบัน การฟ้อนรำแบบแผนสำคัญ ๆ มีอยู่สี่แบบคือ ภารตนาฏยัม เป็นการฟ้อนตามกฎเกณฑ์แต่โบราณของภาคใต้ แสดงโดยนักฟ้อนรำประจำวัดวาอารามต่าง ๆ ในการประกอบพิธีบวงสรวง ตามแบบอย่างที่ได้ปฏิบัติติดต่อกันมารหลายศตวรรษ กถึกกาลิ เป็นแบบฟ้อนรำที่เกิดจากเดราลา แสดงให้ผู้ชมได้เห็นโลกของเทพเจ้า และภูติผีปีศาจ ผู้แสดงแต่งตนสีฉูดฉาด และแสดงบทบาทด้วยท่วงท่าเข้มแข็งคึกคัก มณีปุริ เป็นแบบฟ้อนรำของภาคเหนือ มีลีลาการแสดงที่ประกอบด้วย อาการเคลื่อนไหวอย่างนุ่มนวลละมุนละไม และกถึก เป็นแบบฟ้อนรำซึ่งวิวัฒนาการภายใต้การสนับสนุนส่งเสริมของราชวงศ์โมกุล การฟ้อนรำแบบนี้อาศัยจังหวะเป็นสำคัญ
                    ศิลปะฟ้อนรำพื้นเมือง  ประกอบด้วยลีลาร่ายรำหลายรูปแบบ ที่นิยมแพร่หลายที่สุดก็คือการฟ้อนรำแบบมณีปุระ ซึ่งผู้แสดงแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์สีสวยสดงดงาม
            เครื่องแต่งกาย  เครื่องแต่งกายชั้นหนึ่งของสตรีที่ดึงดูดความสนใจของชาวต่างชาติคือ ส่าหรี  ผ้าที่ใช้ทำส่าหรีจะมีความยาวระหว่างห้าถึงเก้าหลา เป็นได้ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหมปักเป็นดอกดวงลวดลายต่าง ๆ กัน ส่งประกายวาววับ  เครื่องแต่งกายของบุรุษ ที่จัดไว้คู่กันเรียกว่า โคติ มีทั้งชนิดที่มีขอบ และไม่มีขอบ เป็นเครื่องแต่งกายของบุรุษที่เกิดขึ้น เมื่ออิทธิพลของเปอร์เซีย และโมกุล แผ่ขยายเข้ามาสู่อินเดีย
            สตรีในชนบทนิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาดบาดตา ผ้าโพกศีรษะเป็นเครื่องแต่งกายส่วนหนึ่งของบุรุษในรัฐราชสถาน และในหมู่ชาวซิกข์ ผ้าโพกศีรษะเป็นสิ่งที่ได้รับความพิถีพิถันเป็นพิเศษ  ส่วนชาวพื้นเมืองก็มีเครื่องแต่งกายมากมาย
            วรรณคดี   อินเดียมีวรรณคดีเก่าแก่ ลึกซึ้ง และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง แม้ในต่างประเทศ เช่น เรื่องมหาภารตยุทธ และรามายณะ ซึ่งเป็นต้นฉบับของเรื่องรามเกียรติของไทย นอกจากนี้ยังมีเรื่องนิทานต่าง ๆ เช่น หิโตประเทศ นิทานเวตาล เป็นต้น
            รัฐบาลอินเดียได้จัดตั้งสถาบัน รวบรวมและศึกษาเกี่ยวกับวรรณคดีอินเดีย และได้แปลออกเป็นภาษาต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในอินเดียปัจจุบัน และเผยแพร่ให้แก่ชาวอินเดีย รวมทั้งประเทศอื่นได้ทราบอีกด้วย
            อินเดีย นั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นชาติเดียวในโลก ที่แนวทางชีวิตแบบดั้งเดิมพื้นเมือง และแบบก้าวหน้าตามสมัยนิยม ยังคงเดินควบคู่กันไป อย่างผสมกลมเกลียวกันตลอดมา แม้จะมีสภาพที่ยังมีการต่างพวกต่างวรรณะ ต่างศาสนา ต่างค่านิยม ที่มีอยู่อย่างมากหลาย แต่ชาวอินเดียก็รักชาติรักอินเดีย มีความภาคภูมิใจในอินเดียอย่างหาชาติใดเปรียบได้ยาก เพราะอินเดียมีอารยธรรม วัฒนธรรมเป็นตัวผูก เป็นฐานหลักให้อินเดียมีเอกลักษณ์ มีความพิเศษอยู่ในตัวของอินเดียเอง
            วัฒนธรรมของอินเดียได้แพร่เข้ามาสู่ไทย ทางศาสนประเพณีบางอย่าง ไทยได้นำเอามาใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ประเพณีส่วนมากที่ใช้กันอยู่ยึดถือแบบพราหมณ์ เช่น พิธีโกนจุก บวชนาค แรกนาขวัญ ทางสถาปัตยกรรม ก็มีเกี่ยวกับการปั้นพระพุทธรูป เป็นต้น
            การจัดลำดับชั้นของสังคม  ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู เป็นศาสนาที่ชาวอินเดียส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ ๘๒ นับถือ ศาสนานี้มีความเชื่อเรื่องวรรณะ หรือชนชั้นในสังคม เป็นระบบที่เข้มงวดมานานนับพันปีแล้ว แต่ละวรรณะมีกฎเกณฑ์กำหนดระเบียบความประพฤติ และประเพณีในหมู่ของตน มีข้อกำหนดเรื่องการแต่งงาน อาหารการกิน การปฎิบัติทางศาสนา ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์วรรณะของตน อาจได้รับโทษหนักเบา แล้วแต่กรณี หรืออาจขับไล่ออกจากวรรณะก็ได้ ผิดกับระบบชั้นของสังคมของชาติอื่น ๆ
            คำว่า วรรณะ แปลว่า สี อักษร ชาติ กำเนิด ลักษณะ คุณสมบัติ รูป ประเภท
            ในคัมภีร์พระเวท สอนไว้ว่า มนุษยชาตินั้นหากจะแบ่งประเภทออกไปแล้ว ย่อมสามารถแบ่งได้เป็นสี่ประเภท หรือสี่วรรณะด้วยกันคือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร
                วรรณะพราหมณ์  ได้แก่ ผู้ยังความแพร่หลายให้เกิดแก่วิทยาการด้านต่าง ๆ กล่าวคือ หากมีความชำนาญในวิชาหนึ่งวิชาใด แล้วนำเอาวิชานั้นไปสอน หรือเผยแพร่ให้แก่ผู้อื่น ๆ ถือว่าเป็นครู อาจารย์ ในวิชาหนึ่ง ๆ เช่น วิชาจิตศาสตร์ นิติศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์  อักษรศาสตร์ แพทยศาสตร์ บุคคลที่ทำหน้าที่นี้ถือว่าเป็นวรรณะพราหมณ์
                คำว่า พราหมณ์ หมายถึง ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับ พระพรหม พระเวท และอาตมัน ในคัมภีร์ธรรมศาสตร์บอกไว้ว่า ผู้เป็นพราหมณ์ ย่อมมีลักษณะ ๑๑ ประการ ตามธรรมชาติ หรือเรียกว่า ธรรมของพราหมณ์
                ผู้ที่เป็นพราหมณ์อาจประกอบการกสิกรรม การค้าขายหรือธุรกิจอื่นได้ เพื่อการครองชีพที่สมควรในยามยากลำบาก หรือคราวภาวะคับขัน
                วรรณะกษัตริย์  ได้แก่ ผู้ที่เป็นนักรบหรือผู้ป้องกัน เป็นวรรณะที่สองรองมาจากวรรณะพราหมณ์ มีสิทธิปกครองประเทศชาติ นั่นก็คือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นกษัตริย์  ซึ่งวรรณะก็ต้องมีธรรมะของกษัตริย์ ๑๑ ประการ ทำนองเดียวกับวรรณะพราหมณ์ แต่ไม่เหมือนกัน
                ผู้ที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์มีหน้าที่รักษา คุ้มครองป้องกันรักษาดินแดน รู้จักใช้อาวุธต่าง ๆ  รู้จักใช้ยุทธวิธีตามสมัยตลอดจนรู้หลักวิชากฎหมายด้วย  แต่หากจำเป็นในยามวิบัติ พระธรรมศาสตร์ก็อนุญาตให้ประกอบอาชีพอื่นได้ เช่น เป็นครูอาจารย์การทำกสิกรรมและการค้าขาย เพื่อการครองชีพได้
                วรรณะแพศย์  ได้แก่ ผู้ที่ทำหน้าที่ประกอบการกสิกรรมและพาณิชยการต่าง ๆ แต่ในยามวิบัติกาล พระธรรมศาสตร์
ก็อนุญาตให้อาจประกอบอาชีพอื่นได้ทุกอย่างตามกาลเทศะ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นอาชีพที่สุจริตเท่านั้น
                วรรณะศูทร  เป็นวรรณะที่สี่ ถือว่าวรรณะนี้มีกำเนิดมาจากบาทของพระพรหม ฉะนั้นจึงทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ในกิจการต่าง ๆ โดยทั่วไป  วรรณะศูทรมีลักษณะเจ็ดประการ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้วรรณะที่สูงกว่าทั้งสามวรรณะคือพราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์
                ในอินเดียมีความพยายามที่จะเลิกระบบชนชั้นมาโดยตลอด ผู้ที่ดำเนินการท่านแรกคือพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงนำแบบก้าวหน้า ในสังคมชาวพุทธจะไม่มีชนชั้น มีแต่ความเสมอภาคกัน  แต่สังคมอินเดียเห็นว่าเป็นอุดมคติเกินไป ชาวอินเดียส่วนใหญ่จึงรับไม่ได้ และศาสนาพุทธก็ถูกศาสนาฮินดู พยายามกลมกลืนในเวลาต่อมา
                ผู้นำการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบชนชั้นในอินเดียในยุคปัจจุบันคือ ดร.อัมเบ็คการ์ เป็นผู้ที่ชาวพุทธอินเดีย ยกย่องถึงกับให้เป็นสรณะที่สี่ต่อจากพระรัตนตรัย  ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ดร.อัมเบ็คการ์ ในฐานะรัฐมนตรียุติธรรมของอินเดีย ได้นำชาวอินเดียในชนชั้นต่ำสุดคือ พวกจัณฑาล (Untouchable) ทั่วประเทศชุมนุมประกาศตนเป็นชาวพุทธตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เป็นเหตุให้จำนวนชาวพุทธเพิ่มขึ้นในอินเดีย
ศาสนา
            อินเดียเป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาสำคัญสามศาสนาคือศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู  ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน  นอกจากนี้ยังมีศาสนาอื่น ๆ ที่ได้แพร่หลายเข้ามาในอินเดีย และได้ลงหลักปักฐานเจริญเติบโตขึ้นภายใต้บรรยากาศของความอดกลั้น ผ่อนปรนศาสนาสำคัญ ๆ ในลักษณะดังกล่าวได้แก่ ศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์
            ประชากรส่วนใหญ่ของอินเดียนับถือศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ที่มีกำเนิดมาจากการกราบไหว้บูชาผีสางเทวดาในรูปพิธีกรรมตามแบบอย่างง่าย ๆ ปรัชญาฮินดูมุ่งสอนมนุษย์ให้ยอมรับนับถือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของเทพวิญญาณ พระเวทเป็นคัมภีร์เก่าแก่ดั้งเดิมที่สุดในโลก
            ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู เป็นต้นกำเนิดของศาสนาอื่น ๆ อีกสามศาสนาคือศาสนาพุทธ ศาสนาเชนและศาสนาซิกข์
            ศาสนาพุทธและศาสนาเชนเกิดร่วมสมัยเดียวกัน ส่วนศาสนาซิกข์เกิดในพุทธศตวรรษที่ ๒๑  ศาสนาอิสลามเข้ามาสู่อินเดีย พร้อมกับการรุกรานเข้ามาทางด้านทิศเหนือ และทิศตะวันตกของอินเดีย ได้นำวัฒนธรรมเปอร์เซีย และซาราเซนเข้ามา และได้มีส่วนปรุงแต่งภูมิปัญญา และรสนิยมที่มีอยู่ก่อนแล้ว จนเป็นผลให้เกิดประดิษฐกรรมทางด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรมและดนตรีที่สำคัญมากมายสืบต่อมา
                การนับถือศาสนาของชาวอินเดีย  มีจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาต่าง ๆ เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยคือ ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ประมาณร้อยละ ๘๓ ศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ ๑๑ ศาสนาคริสต์ประมาณร้อยละ ๓ ศาสนาซิกข์ประมาณร้อยละ ๒ ศาสนาพุทธประมาณร้อยละ ๑ และศาสนาเชนประมาณร้อยละ ๐.๕
                อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู  การดำรงชีวิตของชาวอินเดียโบราณมีความสัมพันธ์กับศาสนามาก คัมภีร์พระเวท ซึ่งมีอายุประมาณ ๑,๕๐๐ - ๕๐๐ ปี ก่อนพุทธกาล เป็นตำราประวัติศาสตร์และวรรณคดีเล่มแรกของอินเดีย ประกอบด้วยคัมภีร์ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท รวมเรียกว่า ไตรเพท  ต่อมามีพวกอารยันเดิมทั้งสองพวกมีความสามารถ และความเจริญเท่าเทียมกัน จึงหาวิธีต่าง ๆ มาต่อสู้กัน จึงหันไปหาทางศึกษาวิธีการใช้คาถาอาคมต่าง ๆ จึงเกิดคัมภีร์อาถรรพเวทขึ้นอีกคัมภีร์หนึ่ง
                ลัทธิฮินดูมีวิวัฒนาการมาจากศาสนาพราหมณ์ โดยนำเอาความเชื่อหลาย ๆ อย่างมารวมกัน ไม่มีผู้ใดทราบว่าลัทธิฮินดูเกิดขึ้นเมื่อใด ลัทธินี้แพร่หลายอยู่ทางตอนใต้ของอินเดียหลังพุทธกาลเล็กน้อย โดยยึดหลักจากคัมภีร์อุปนิษัท ซึ่งเป็นวรรณคดีภาษาสันสกฤต เขียนขึ้นเมื่อประมาณ ๒๕๐ - ๕๐ ปี ก่อนพุทธกาล มีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง สาระของเรื่องเป็นปรัชญาทั้งสิ้นถือว่าเป็นแก่นแท้ของศาสนาฮินดู
                ลัทธิฮินดูถือว่าคัมภีร์พระเวทเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พราหมณ์เป็นผู้แทนจากพระเจ้า พระเจ้าสมัยฮินดูเปลี่ยนจากการถือว่าพระพรหมเป็นเทพสูงสุด มานับถือนารายณ์เป็นเทพสูงสุดเรียกว่า ปรพรหม พระองค์ประสงค์จะสร้างโลกจึงแบ่งเป็นสามภาคเรียกว่าตรีเทพหรือตรีมูรติ ถือพระพรหมให้เป็นผู้สร้างโลก พระวิษณุให้เป็นผู้บริหารโลก และพระศิวะให้เป็นผู้ทำลายโลก
                ในสมัยที่ฮินดูรุ่งเรืองในอินเดีย การแบ่งชั้นวรรณะเข้มงวดมากขึ้น ห้ามแต่งงานข้ามวรรณะ และในการอื่น ๆ ก็เป็นเรื่องของแต่ละวรรณะจะพึงประพฤติปฎิบัติ จะก้าวก่ายกันไม่ได้
                ลัทธิฮินดูมีหลายนิกาย บางนิกายก็นับถือพระวิษณุ บางนิกายก็นับถือพระอิศวร บางนิกายก็นับถือพระพรหมและเทพเจ้าอื่น ๆ อีกหลายองค์เช่นพระอุมา พระอินทร พระจันทร์ เป็นต้น
                คำสอนที่หล่อเลี้ยงชาวฮินดูอันสำคัญคือคัมภีร์ภควัตคีตา แปลว่าเพลงของพระเจ้า เป็นระบบคำสอนแบบรวม คำสอนของพวกพราหมณ์ที่เคยแพร่หลายเป็นเวลานาน เน้นสาระสำคัญสี่ประการประกอบกันคือ
                    - ความเจริญสูงสุดเกี่ยวกับสัญญาณของโลกเรียกพรหม
                    - ความไม่แน่นอนของวัตถุโลก
                    - การเวียนว่ายตายเกิดของวิญญาณ
                    - ความพยายามที่จะหนีจากการเวียนว่ายตายเกิด
                พุทธศาสนากับอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดีย  พุทธศาสนาเกิดขึ้นท่ามกลางวัฒนธรรมอินเดีย ซึ่งมีแบบฉบับขนบธรรมเนียมสืบต่อกันมาหลายพันปี โดยเฉพาะศาสนาพราหณ์ - ฮินดู มีอิทธิพลมาก พุทธศาสนาได้ทำการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าแบบเก่าของอินเดียหลายประการ บางอย่างได้แนวปฎิบัติในรูปวัฒนธรรมใหม่ จึงมีสิ่งดีงามใหม่ ๆ ขึ้นหลายประการ เช่น
                    - พุทธศาสนาได้สอนหลักแห่งกรรม โดยยืนยันความดีความชั่วตามกรรมที่ตนทำ ไม่ใช่เอาการกำเนิดเป็นเครื่องตัดสิน ใช้หลักคุณธรรมเป็นสำคัญ ในเรื่องนี้ มหาตม คานธี และเยาวหราล เนห์รู ผู้นำคนสำคัญของอินเดียได้สดุดีเกียรติคุณ ของพระพุทธเจ้าเป็นพิเศษ
                    - พระพุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับระบบการซื้อขายทาสในอินเดีย มีบทบัญญัติห้ามพระภิกษุมีทาส ซึ่งเป็นแนวทางสังคมใหม่ที่ในระยะต่อมา ก็มีการเลิกระบบทาส พุทธศาสนาจึงมีส่วนส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
                    - ชาวอินเดียโบราณเชื่อในเรื่องพรหมลิขิตอย่างแพร่หลาย เป็นเหตุให้ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม ผู้ที่ต้องการความเจริญ หรืออยากพ้นทุกข์ ก็คอยให้พรหมบันดาล เอาแต่สวดอ้อนวอน ขาดการขวนขวายแก้ไขปัญหา พระพุทธศาสนาสอนหลักแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ปรับปรุงชีวิตของคน ให้สอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์
                    - ชาวอินเดียโบราณแสวงหาบุญด้วยการฆ่าสัตว์บุชายัญ เพื่อบูชาเทพเจ้า ก่อความทุกข์โศกให้แก่มนุษย์และสัตว์ เป็นอย่างมาก พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เลิกวิธีการดังกล่าว ให้มาสร้างความดีด้วยการให้สงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ไม่เบียดเบียนกัน ให้อภัยกัน ชำระจิตใจให้สะอาด เป็นวัฒนธรรมในแนวใหม่ ดีกว่าเดิมเป็นไปตามแนวสันติภาพ