ประเทศญี่ปุ่น

            ประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่เกือบสุดภาคตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิค และใกล้กับฝั่งตะวันออกของทวีปเอเซีย ประกอบด้วยเกาะใหญ่ ๆ ๔ เกาะ ที่สำคัญคือ เกาะฮอนชู (ใหญี่ที่สุด) เกาะฮอกไกโด เกาะชิโกกุ และเกาะคิวชู ทางเหนือสุดอยู่ห่างจากเกาะชัคคาลินของสหภาพโซเวียตรัสเซียประมาณ ๔๕ กิโลเมตร โดยมีช่องแคบโชมาคั่นกลาง และส่วนที่อยู่ใกล้แผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเซียที่สุดคือ อยู่ห่างจากแหลมเกาหลีใต้ ประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร เกาะคิวชู อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ
            นอกจากเกาะสำคัญ ๔ เกาะ ดังกล่าวแล้ว ประเทศญี่ปุ่นยังมีเกาะอื่น ๆ อีกประมาณ ๓,๙๐๐ เกาะตั้งอยู่เป็นแนวยาวตามฝั่งตะวันออกของทวีปเอเซีย ประเทศญี่ปุ่นมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๓๗๗,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ลักษณะของหมู่เกาะเป็นแนวโค้งของวงกลม ยาวจากเหนือจรดใต้ ประมาณ ๓,๘๐๐ กิโลเมตร
            เกาะใหญ่ที่สุดคือเกาะฮอนชู เป็นที่ตั้งของกรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น โยโกฮามาเป็นท่าเรือ และเมืองท่าที่สำคัญ เกียวโตเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม และบริเวณเมืองโอซากา - โกเบ เป็นศูนย์กลางทางการพาณิชย์และอุตสาหกรรมที่สำคัญ
ลักษณะภูมิประเทศ
            พื้นที่ประมาณร้อยละ ๗๐ ของประเทศเป็นภูเขา พื้นที่ประมาณร้อยละ ๑๔ เป็นพื้นที่ทำการเพาะปลูก ที่เหลืออีกประมาณร้อยละ ๑๖ เป็นพื้นที่อื่น ๆ
            ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีภูเขาไฟมาก และยังมีภูเขาไฟทยังคุกรุ่นอยู่ร้อยละ ๑๐ ของจำนวนภูเขาไฟในโลก ยังมีภูเขาไฟที่ยังนคุกรุ่นอยู่ ๖๗ ลูก ภูเขาไฟฟูจิ เป็นภูเขาที่สูงที่สุด (๓,๗๗๖ เมตร) ของญี่ปุ่น เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว ได้ระเบิดครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ.๒๒๕๐
            โดยทั่วไปลักษณะภูมิประะทศของญี่ปุ่น มีทิวทัศน์อันสวยงาม และน่ามหัศจรรย์เช่น ทะเลสาบบนภูเขา ซึ่งมีหิมะปกคลุม ช่องแคบที่เต็มไปด้วยโขดหิน และแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว ยอดเขาสูงชัน และน้ำตกที่สวยงาม
                เกาะฮอนชู  เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มีพื้นที่ประมาณ ๒๓๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีเทือกเขาทอดตัวเป็นแนวยาวตลอดความยาวของเกาะ เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำชินาโนะ ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดของประเทศ ยาวประมาณ ๓๗๐ กิโลเมตร
ประชากรและสังคม

            หมู่เกาะญี่ปุ่น เป็นแหล่งที่ได้รับอารยธรรมของโลกโบราณค่อนข้างช้ากว่าที่อื่น แม้ว่าจะมีการพบเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าแก่ที่สุดของโลกก็ตาม
            ประวัติความเป็นมาของประชากรญี่ปุ่นเชื่อกันว่า เมื่อประมาณสองพันปีมาแล้ว มีเทพบุตร และเทพธิดา ชื่ออิซานากิ และฮิซะนะมิ ทั้งสองได้ให้กำเนิดเกาะญี่ปุ่นขึ้นมาก่อน แล้วจึงเกิดดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และเทพยดาต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ต่อจากนั้นก็เกิดบุตรหลานสืบต่อมาเป็นชาวญี่ปุ่นได้ทุกวันนี้ ส่วนดวงอาทิตย์ก็เชื่อว่า เป็นต้นวงศ์ของพระจักรพรรดิ์ พระจักรพรรดิ์ผู้เป็นโอรสพระอาทิตย์ก็ได้ปกครองญี่ปุ่นตลอดมา
            คนญี่ปุ่นถือว่าตนเองเป็นเทวดาโดยชาติกำเนิด และเมื่อญี่ปุ่นถือว่าเป็นเมืองเทวดาเรียกว่า ชิงโกกุ หรือกามิโนะกุนิ แปลว่าดินแดนแห่งเทวดา ด้วยเหตุนี้ความเชื่อดังกล่าวคนญี่ปุ่น จึงถือว่าตนเองประเสริฐกว่าชนชาติอื่นใดในโลก
            เรื่องราวที่ชัดเจนเกี่ยวกับญี่ปุ่นในสมัยแรกได้มาจากบันทึกของจีน ในปี พ.ศ.๘๔๓ ได้กล่าวว่าคนญี่ปุ่นมีการแบ่งชนชั้นอย่างเด่นชัด มีอาชีพทางกสิกรรมและประมง คนญี่ปุ่นแบ่งออกเป็นเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ มากกว่าร้อยเผ่าพันธุ์ มีหัวหน้าเผ่าซึ่งมีสถานภาพกึ่งศาสนาทั้งชายและหญิง ได้มีการกล่าวถึงดินแดนราชินี ซึ่งมีอำนาจเหนือดินแดนอื่น
            เมื่อประมาณปี พ.ศ.๗๔๐ ญี่ปุ่นเริ่มถูกรุกรานจากคาบสมุทรเกาหลีหลายครั้ง ทำให้ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากเกาหลี อีกหลายศตววรรษต่อมาความั่งคั่ง และอำนาจได้ตกอยู่ในมือของกลุ่มขุนนางทหาร ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมโดยหน่วยเผ่าพันธุ์กึ่งอิสระที่เรียกว่า อุจิ ซึ่งมีความผูกพันกับกลุ่มตระกูลผู้นำยะมะโตะ อุจิต่าง ๆ เหล่านี้ต่างก็มีหัวหน้า และศาลเจ้าเป็นที่สักการะบูชาของตน
            จากหลักฐานทางมานุษย์วิทยา และนักโบราณคดี มีข้อสันนิษฐานว่า พื้นที่เกาะญี่ปุ่นนั้นเดิมมีชนชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่เรียกว่า ชาวไอนุ ต่อมาเมื่อประมาณสองพันปีที่ผ่านมา ได้มีชนชาติอื่นอพยพเข้ามาพวกหนึ่งคือ พวกมงโกล ซึ่งอพยพผ่านประเทศจีน และเกาหลี อีกพวกหนึ่งเป็นชาวเมืองร้อน อพยพมาจากอาเซียอาคเนย์ ทั้งสองพวกเข้าไปตั้งรกรากอยู่ในเกาะญี่ปุ่นผสมกับพวกไอนุ ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองเดิม ปรากฎว่ามีชนเผ่าเกาหลีมากกว่าชนเผ่าอื่น และต่อมาได้ปราบชนเผ่าอื่นไว้ในอำนาจ ชนกลุ่มนี้เคยอยู่ใกล้จีน จึงได้รับวัฒนธรรม และระบบต่าง ๆ ในสังคมจีนไว้มาก ที่สำคัญคือ การถือแซ่และการสืบแซ่
            เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๓๔๐ คนพวกนี้ได้เข้าครอบครองญี่ปุ่น โดยแต่ละแซ่ก็สร้างบ้านเมืองขึ้นครอง แต่ละเมืองมีผู้สืบตระกูลเป็นหัวหน้าแซ่ปกครอง มีศาลเจ้าประจำแซ่อยู่ทุกเมือง คนที่อยู่ในชนชั้นปกครองสมัยนั้นคือ ผู้ถืออาวุโส มีอาชีพทางรบพุ่งเป็นนักรบ ต่อมามีอิทธิพล และอำนาจในสังคม และการปกครองของญี่ปุ่นมายาวนาน เรียกกันต่อมาภายหลังว่า ซามูไร
            บรรดาแซ่ต่าง ๆ มีแซ่หนึ่งแรกเริ่มตั้งอยู่ในเกาะคิวชู ได้อพยพเคลื่อนย้าย มาตั้งทำมาหากินอยู่บนพื้นที่ราบยามาโต ในเกาะฮอนชู อันเป็นเกาะกลางและใหญ่ที่สุด ต่อมาได้ขนานนามแซ่ของตนว่ายามาโต ซึ่งเป็นถิ่นอุดมสมบูรณ์ก็เจริญรุ่งเรืองมีผู้คนมากกว่าแซ่อื่น ๆ ในที่สุดก็เป็นที่นับถือว่าเป็นใหญ่ในเกาะญี่ปุ่นภาคกลางและตะวันตก ตลอดจนในเกาหลีภาคใต้ จากหัวหน้าแซ่ยามาโต ผู้ได้เป็นใหญ่ในบรรดาหัวหน้าแซ่ทั้งปวงนั้น ราชวงศ์ญี่ปุ่นก็ได้เกิดขึ้น และได้ครองญี่ปุ่นสืบต่อกันมาเป็นเวลาสองพันปีเศษ ถือเป็นการเริ่มต้นของชาติญี่ปุ่น
            คุณลักษณะประชากร คนญี่ปุ่นเป็นนักธรรมชาติ มีความทรหดอดทน ขยันหมั่นเพียร มีความเสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยทั่วไปชาวญี่ปุ่นเป็นคนมีไหวพริบดี ว่องไว คบคนง่าย ชอบหาสิ่งใหม่ ๆ แต่มีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่าย สงบ แต่มีความกล้าหาญ เพื่อความรุ่งโรจน์แห่งจักรวรรดิ์ของเขาเอง
            จากการที่ญี่ปุ่นได้รับความเจริญทางวัฒนธรรมมาจากเกาหลีและจีนเป็นส่วนใหญ่ จึงมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อแนวความคิด และการดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่น
            ลักษณะที่เด่นชัดของชาวญี่ปุ่นคือ การมีพื้นฐานของการอยู่อย่างโดดเดี่ยว การมีทักษะในการร่วมทำงานเป็นกลุ่ม การให้ความสำคัญในการศึกษา การยึดมั่นในหลักของลัทธิขงจื้อ ซึ่งญี่ปุ่นได้นำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงาน ดังจะเห็นได้ว่าคนญี่ปุ่น จะมีลักษณะเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาอย่างจริงจัง มีระเบียบวินัย
            จากความเคยชินที่มีรากฐานโดดเดี่ยว ประกอบกับอิทธิพลของลัทธิเซ็น มีผลทำให้ไม่นิยมการแสดงออกอย่างกระจ่างในด้านความคิดและคำพูด คนญี่ปุ่นจะมีการรวมตัวในกลุ่มเดียวกันอย่างเหนียวแน่น การตัดสินใจมักจะต้องเป็นการตัดสินใจของคนระดับสูง กล่าวกันว่าชาวญี่ปุ่นใช้เวลานานมาก ในการตัดสินใจแต่จะใช้เวลาสั้นมาก ในการปฎิบัติงานที่ได้ตัดสินใจแล้ว
            การตั้งถิ่นฐาน  ลักษณะทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศ เป็นข้อจำกัดทำให้การตั้งถิ่นฐานของประชากรส่วนใหญ่ จะอยู่ในเขตเมือง โดยเฉพาะเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งมีประชากรเกิน ๕๐๐,๐๐๐ คน จะอยู่ทางด้านมหาสมุทรแปซิฟิค ซึ่งมีอากาศดักว่าด้านทะเลญี่ปุ่น
            ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ ญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ ๑๒๒ ล้านคน ประกอบด้วยชาวญี่ปุ่นและชาวไอนุ ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของเกาะญี่ปุ่น นอกนั้นเป็นชนชาติอื่นเป็นส่วนน้อย ได้แก่ จีน และเกาหลี
            ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นประมาณร้อยละ ๗๘ อาศัยอยู่ในตัวเมือง โดยมีประชากรประมาณร้อยละ ๕๘ ของจำนวนผู้ที่อาศัยในตัวเมืองแออัดอยู่ในนครใหญ่ ๆ ๔ แห่ง คือ โตเกียว โอซากา นาโอยา และคิตะคิวชู กับจังหวัดรอบนครใหญ่ดังกล่าวอีก ๑๖ จังหวัด
            เมืองโตเกียว มีประชากรมากที่สุดถึงประมาณ ๑๒ ล้านคน ส่วนอีก ๑๐ เมือง ที่มีประชากรมากกว่า ๑ ล้านคน ได้แก่ โยโกฮามา โอซากา นาโงยา ซับโปโร เกียวโต โกเบ ฟุคุโอะกะ และฮิโรชิมา ตามลำดับ จำนวนประชากรญี่ปุ่นนับว่ามีความหนาแน่นมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

            ศาสนาและลัทธิ  การศาสนาในญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญมากนัก ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ศาสนาเคยมีบทบาทในญี่ปุ่นพอ ๆ กับในสังคมของชาวตะวันตก แต่แนวโน้มที่คนหันมาสนใจในเรื่องทางโลกอย่างเดียว ดังที่ปรากฎในสังคมชาวตะวันตกในระยะหลังนั้น ได้เกิดขึ้นในญี่ปุ่น เมื่อประมาณสามศตวรรษมาแล้ว
            การสนใจและย้ำชีวิตทางโลกของสังคมชาวญี่ปุ่นเป็นผลมาจาก พื้นฐานของปรัชญาขงจื้อ ซึ่งทั้งจีนและเกาหลีได้รับผลอันนี้มาก่อน ลัทธิขงจื้อเน้นที่ความเป็นระเบียบ อย่างมีเหตุผลของธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่กลมกลืนกับธรรมชาติ ระเบียบของสังคมเป็นสิ่งที่วางอยู่บนศีลธรรมอันเคร่งครัด และเชื่อมโยงขึ้นไปเป็นรัฐ ซึ่งปกครองโดยผู้รู้ที่มีจริยธรรมสูง ลัทธิขงจื้อไม่เชื่อในเรื่องเทพเจ้าไม่มีนักบวช และมีพิธีกรรมทางศาสนาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีการกราบไหว้บูชา มีแต่การคิดที่ถูกต้อง และการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง ที่แสดงออกโดยการมีความจงรักภักดีต่อผู้ปกครอง มีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา เคร่งครัดในประเพณีและมรรยาทอันเหมาะสม
            การเน้นความสำคัญของประวัติและด้านอื่น ๆ ของลัทธิขงจื้อ เป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นรับมาจากจีน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ แต่ก็ถูกบดบังด้วยพุทธศาสนา จนกระทั่งถึงยุคที่มีการรวมศูนย์อำนาจภายใต้ระบบโตกุงาวะ ในพุทธศตรรษที่ ๒๒ ลัทธิขงจื้อจึงมีอิทธิพลขึ้นมาชัดเจนกว่าแต่ก่อน นับแต่นั้นมาปรัชญาขงจื้อก็ครอบงำความคิด และทัศนคติของคนญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๔ คนญี่ปุ่นนับถือลัทธิขงจื้อมากมาย เช่น คนจีน คนเกาหลี ทั้ง ๆ ที่มีระบบการปกครองที่ไม่สอดคล้องกับลัทธิเลย
            ในพุทธศตรรษที่ ๒๕ อันเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงใหญ่ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการคุกคามของชาวตะวันตก รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยกเลิกการศึกษาลัทธิขงจื้อ แล้วหันมาเน้นการศึกษาวิทยาศาสตร์และการแพทย์ แต่ยังคงมีในประกาศนโยบายการศึกษาของรัฐบาลในปี พ.ศ.๒๔๓๓ โดยเน้นเรื่องหลักความสัมพันธ์ตามลัทธิขงจื้อ และหน้าที่ของประชาชนต่อจักรพรรดิ์เท่านั้น
            ชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ยังมีค่านิยมแบบขงจื้อหลงเหลืออยู่โดยทั่วไป และมีอิทธิพลต่อชาวญี่ปุ่นมากกว่าศาสนา หรือปรัชญาอื่น ๆ สิ่งที่ลัทธิขงจื้อมีแฝงอยู่คือ ความเชื่อเกี่ยวกับคุณธรรมของรัฐบาล การย้ำความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความจงรักภักดี ตลอดจนความเชื่อมั่นในการศึกษา และการทำงานหนัก
                ศาสนาพุทธ  ชาวญี่ปุ่นนับถือศาสนาพุทธพอ ๆ กับศาสนาคริสต์ นิกายของศาสนาพุทธที่แพร่มายังเอเชียตะวันออกคือ นิกายมหายาน ซึ่งแตกต่างจากนิกายเถรวาท ที่แพร่หลายอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และศรีลังกา
                พุทธศาสนานิกายมหายาน ในญี่ปุ่นได้แตกแขนงออกไปสามนิกายใหญ่ นิกายแรกเกิดในศตวรรษที่ ๙ เป็นพุทธศาสนาที่จำกัดอยู่เฉพาะหมู่คนส่วนน้อย นิกายนี้เน้นทั้งคำสอน และพิธีกรรม รวมทั้งการแสดงออกทางศิลปะ นิกายที่สอง เกิดหลังนิกายแรก ประมาณหนึ่งศตวรรษ ย้ำถึงความหลุดพ้นโดยอาศัยศรัทธา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศรัทธาในพระอะมิดะ หรือพระพุทธเจ้าอันสถิตอยู่ ณ แดนสุขาวดี อันเป็นสวรรค์ทางทิศตะวันตก หรือศรัทธาในปุณฑริกสูตร (สูตรดอกบัว)  อันเป็นพุทธปณิธานที่ทรงสัญญาว่า จะช่วยสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ นิกายนี้เป็นที่มาของนิกายแห่งแดนสุขาวดี (โจโดชุ)  ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ นิกายแห่งแดนสุขาวดีอันแท้จริง (ชินชุ) และนิกายนิชิเร็น ปัจจุบันเป็นนิกายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น สำหรับนิกายที่สาม เน้นการหลุดพ้นด้วนตนเอง โดยการฝึกฝนตนเองด้วยการทำสมาธิ นิกายนี้คือ นิกายเซ็น ซึ่งได้แบ่งออกเป็นสองนิกายย่อย ซึ่งรับมาจากจีนเมื่อปี พ.ศ.๑๗๓๔ และ พ.ศ.๑๗๗๐ ได้แก่ นิกายที่เน้นการนั่งสมาธิ (ซาเซน) กับนิกายที่เน้นการฝึกปัญญาด้วยวิธีตั้งปัญหาให้ขบคิด (โคอัน) วิธีการเหล่านี้ถือว่าสามารถนำไปสู่ความหลุดพ้นได้ด้วย การบรรลุธรรมโดยฉับพลัน (ซาโตริ) และเป็นการพัฒนาบุคคลิกภาพอีกด้วย
                กล่าวกันว่า พุทธศาสนาที่ญี่ปุ่นเรียกว่า บุตสุโด ได้เข้าไปสู่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๐๙๕ เริ่มจากกษัตริย์แห่งเมืองกุดารา ในประเทศเกาหลี ได้ทรงขอให้จักรพรรดิ์ญี่ปุ่นคือ พระเจ้ากิมเมจิ ส่งกองทัพไปช่วยปราบจลาจลในอาณาเขตของพระองค์ หลังจากนั้นก็ได้ส่งพระสูตร และพระพุทธรูปมาเป็นธรรมบรรณาการ ต่อมาภิกษุ และภิกษุณีในพระพุทธศาสนาก็ได้จาริกจากประเทศเกาหลี ไปประกาศพระศาสนาในประเทศญี่ปุ่น จักรพรรดิ์ญี่ปุ่นมีความเลื่อมใสศรัทธา ได้ให้ขุนนางเผยแผ่ศาสนาออกไป เริ่มแรกก็มีผู้ขัดขวางพอสมควร จนต่อมาอีกประมาณ ๕๐ ปี ในสมัยของพระนางสุอิโกะ ผู้ดำรงตำแหน่งพระจักรพรรดิ  เจ้าโชโตกุซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้ปลูกฝังพระพุทธศาสนาลงในราชสำนักญี่ปุ่น และในประเทศญี่ปุ่นอย่างมั่นคง ซึ่งในสมัยนั้น พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น มีเพียงนิกายเดียวคือมหายามิกะ หรือมหายานภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ชังรงชู
                พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สำคัญคู่เคียงกับศาสนาชินโต  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ มีชาวญี่ปุ่นนับถือพระพุทธศาสนาประมาณ ๘๔ ล้านคน
                ศาสนาชินโตหรือลัทธิชินโต  เป็นลัทธิความเชื่อดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นอันเกิดจากการนับถือธรรมชาติและการนับถือภูติผีในหมู่ ชาวญี่ปุ่นสมัยโบราณ ผู้ถือว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติ ตลอดจนวิญญาณของคนตายเป็นเทพเจ้า ดังนั้น ชินโตหรือวิถีทางของคามิ (เทพเจ้า) จึงได้กลายมาเป็นศาสนาของชุมชน โดยมีศาลเจ้าประจำหมู่บ้านและเทพผู้พิทักษ์ท้องถิ่น บรรดาวีรบุรุษและผู้นำที่ชุมชนยกย่อง ได้รับการบูชาอย่างเทพเจ้ามาหลายชั่วอายุคน  นิยายที่มีต้นกำเนิดเทพเจ้าของราชวงศ์อิมพีเรียล กลายมาเป็นหนึ่งในหลักคำสอนทางศาสนาขั้นพื้นฐานของศาสนาชินโต และในปี พ.ศ.๒๔๑๑ ศาสนาชินโตได้รับการนับถือว่าเป็นศาสนาประจำชาติ
                แม้ว่าศาสนาชินโตจะไม่สนใจในเรื่องชีวิตในชาติหน้าเหมือนศาสนาพุทธ แต่ศาสนาชินโตก็สามารถผสมผสานกับศาสนาพุทธได้อย่างราบรื่น โดยศาลเจ้าในศาสนาชินโต กับวัดในพระพุทธศาสนามัก มีการบริหารเชื่อมโยงกัน คนญี่ปุ่นสมัยก่อนมักนับถือทั้งพระพุทธศาสนา และศาสนาชินโต และบางทีก็นับถือลัทธิขงจื๊อไปด้วย
                ผู้นำในยุคเมจิมีการต่อต้านพระพุทธศาสนามาก และหันไปบำรุงส่งเสริมศาสนาชินโต โดยพยายามสร้างระบบการปกครอง ที่มีศาสนาชินโตเป็นศูนย์กลาง
                ลัทธิชินโตมีข้อกำหนดในเรื่องพิธีการ และการปฏิบัติตนตามธรรมเนียม ไม่มีการสอนเรื่องบาปบุญคุณโทษ ไม่บอกนรกสวรรค์ และไม่ชี้ทางแห่งการรอดพ้น แต่ผลโดยตรงทำให้เกิดภักดีสามชีพ คือภักดีต่อครอบครัว ภักดีต่อชุมชน และภักดีต่อรัฐอันแสดงออก ตรงองค์จักรพรรดิ ภายในครอบครัวพิธีไหว้ผีเรือน หรือผีบรรพบุรุษเป็นสาระสำคัญที่สุดของลัทธิชินโต
                เมื่อสังคมมีอำนาจมาก คนก็ต้องมีความภักดีอย่างเหนียวแน่นด้วยการแสดงออกถึงความภักดีต่อเจ้าเมือง ต่อจักรพรรดิ  ความภักดีเช่นนี้ นักรบจะมีมากที่สุด  สังคมญี่ปุ่นถือว่ามีเกียรติสูง จึงต้องรักษาไว้ให้มั่นคงด้วยประเพณีบูชิโด หมายถึง ทางแห่งนักรบ หมายถึงความกล้าหาญ เสียสละ พร้อมจะสละชีพแก่บ้านเมืองทุกเมื่อ นักรบเหล่านี้เรียกว่า ซามูไร
                คริสตศาสนา  เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๙๒ ได้มีบาทหลวงคณะเยซูอิด ชื่อฟรานซิส ซาเวียร์ ประกาศเผยแพร่คริสตศาสนาในญี่ปุ่นเจ้าเมืองเล็ก ๆ ในกิวชิวได้ให้การสนับสนุน และส่งเสริม เพราะเหตุว่าเมืองใดต้อนรับบาทหลวง ชาวโปรตุเกสก็จะมาค้าขายด้วย จึงทำให้หมู่บ้านคนหาปลาเล็ก ๆ กลายเป็นท่าเรือค้าขายที่สำคัญ  ต่อมาพวกขุนนางมากมายได้เข้ารีตนับถือคริสตศาสนากัน ประมาณว่าคนญี่ปุ่นเข้ารีตถึง ๑๕๐,๐๐๐ คน
                เมื่อฮิเดโยชิรวบรวมญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่นได้ เห็นว่าคริสตศาสนาเป็นภัยต่อบ้านเมือง เพราะเป็นเครื่องชักจูงให้ฝรั่งเข้ามาเผยแพร่อิทธิพล และอาจยึดเอาญี่ปุ่นเป็นเมืองขึ้นได้ จึงประกาศห้ามไม่ให้นักสอนศาสนาเข้าเมือง ต่อมาอิเอะยาสุได้ครองประเทศญี่ปุ่น ก็เปลี่ยนนโยบายของฮิเดโยชิ โดยส่งเสริมให้นักสอนศาสนาชาวสเปน และพ่อค้าชาวสเปน ได้มาตั้งที่เมืองเอโดะ ต่อมาชาวอังกฤษ และชาวฮอลันดาก็มาติดต่อค้าขายโดยไม่ได้เผยแพร่ศาสนาด้วย อิเอยาสุเห็นว่า การค้าขายกับศาสนาเป็นคนละเรื่องกัน จึงเริ่มปราบปรามศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่นเป็นการใหญ่ จับบาทหลวงและผู้เข้ารีตไปฆ่าเป็นจำนวนมาก ทำให้คนญี่ปุ่นกลัวตาย เลิกนับถือคริสตศาสนา หรือไม่ก็หลบหนีไปอยู่ที่อื่น
                ปัจจุบันมีผู้นับถือคริสตศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ มากกว่านิกายโรมันคอธอลิกเล็กน้อย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ พวกโปรเตสแตนต์ได้จัดงานฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการสถาปนาศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่น  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ มีชาวญี่ปุ่นนับถือคริสตศาสนาประมาณ ๙ แสนคน
                ลัทธิขงจื๊อ  ได้รับการยกย่องในญี่ปุ่น ในฐานะเป็นประมวลคำสอนทางด้านศีลธรรมมากกว่าการเป็นศาสนา ลัทธินี้แพร่เข้ามาสู่ญี่ปุ่น เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ และมีอิทธิพลต่อความคิด และการประพฤติของชาวญี่ปุ่นมาก
            การจัดลำดับชั้นของสังคม จากการที่ญี่ปุ่นได้มีลัทธิชินโดเป็นพื้นฐานสำคัญในสังคม ทำให้เกิดภักดีสามชีพขึ้นดังกล่าวมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ในชั้นแรก สังคมญี่ปุ่นจึงแบ่งออกเป็น "อุจิ" ต่าง ๆ ในบรรดาอุจินั้นต่างก็มีอำนาจปกครองตนเองเหมือนกับเป็นครอบครัวใหญ่ ซึ่งดำเนินไปโดยมีอำนาจสมบูรณ์  แต่ในบรรดาอุจิต่าง ๆ นั้นจะมีหัวหน้าอุจิหนึ่งมีอำนาจมากกว่า และถือว่าตนสืบพงศ์พันธุ์มาจากพระอาทิตย์ ได้รับการยกย่องให้มีฐานะพิเศษคือ มีฐานะเป็นตัวแทนอุจิอื่น ๆ ในการเซ่นไหว้บรรพบุรุษของชาวญี่ปุ่นเป็นส่วนรวม ซึ่งย่อมหมายถึงมีอำนาจสิทธิของประมุขแห่งศาสนาด้วย
            ประการที่สองหัวหน้าอุจิพระอาทิตย์มีฐานะเป็นผู้ตัดสินกรณีพิพาทระหว่างอุจิ เป็นผู้ตั้งหัวหน้าอุจิอื่น ในกรณีที่ไม่มีผู้สืบตระกูล เป็นผู้ตั้งอุจิใหม่และสั่งเลิกอุจิใด ๆ ที่กระทำความผิดเป็นภัยต่ออุจิทั้งปวง ฐานะหลังนี้ย่อมหมายถึงลัทธิอำนาจของผู้พิพากษาตุลาการอันสูงสุดในแผ่นดิน จึงย่อมหมายความว่าจักรพรรดิ์ญี่ปุ่นในระยะแรก ได้มีพระราชอำนาจตามที่กล่าวมา ต่อมาอุจิวงศ์พระอาทิตย์ ได้แผ่ขยายเขตกว้างขวางออกไป ประกอบกับอิทธิพลการปกครองของฮ่องเต้แห่งกรุงจีน ทำให้ได้แบบอย่างจึงได้เปลี่ยนฐานะไปเป็นจักรพรรดิ์ และเทวราชโดยสมบบูรณ์
            จากที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นมีความผูกพันกันทางสายโลหิต ทำให้คนเคารพเชื่อฟังซึ่งกันและกัน มีความรู้สึกในชาติเดียวกัน มีความเคารพบูชาต่อจักรพรรดิ์ ทำให้ญี่ปุ่นมีความเชื่อฟังพระราชกำหนดกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นความประสงค์ของจักรพรรดิ์ ดังนั้นจักรพรรดิ์จึงเป็นผู้อยู่สูงสุด และเป็นแก่นแห่งสังคมญี่ปุ่น
                ชนชั้นกุเงะ  เป็นชนชั้นรองลงมาจากจักรพรรดิ์  ซึ่งถือว่าเป็นตระกูลมาจากอดีตจักรพรรดิ์ หรือเทพยดาต่าง ๆ ในสมัยเมจิกล่าวว่ามีตระกูลผู้ดีอยู่ประมาณ ๑๕๕ ตระกูล และยังมีมาถึงปัจจุบันอีกมากเช่น ตระกูลนากาโตมิ ฟูจิวาระ ตาอิระ และตระกูลมินาโนโตะ เป็นต้น
                ชนชั้นนุเกะ  เป็นชนชั้นรองลงมาจากชนชั้นกุเงะ เป็นชนชั้นนักรบ มีชื่อเรียกหลายอย่างเช่น ซามุราฮิ หรือซามุไร ชนชั้นนี้มีลำดับศักดิ์ของตนเอง เป็นนายทหารผู้ใหญ่ และรอง ๆ ลงไปจนถึงนักรบชั้นผู้น้อย ทั้งนี้โดยอาศัยตำแหน่ง และทรัพย์ว่าสูงต่ำกว่ากัน ในยุคแรก ๆ จักรพรรดิ์ได้แต่งตั้งนายทหารผู้ใหญ่ และมีอำนาจ มีคนเคารพนับถือ เป็นหัวหน้าปกครองเรียกว่า โชกุน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมากที่สุดสมัยหนึ่ง
                ชนชั้นสามัญ  แบ่งออกได้เป็นสามชนชั้นคือ ชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้า
                    ชาวนา  ได้รับการยกย่องว่าเป็นชนชั้นสามัญที่สูงสุด รองจากนักรบคือ ซามูไร แต่ในความเป็นจริงแบ่งได้ยากมาก เพราะซามูไรจำนวนไม่น้อย ที่มีอาชีพทำนา ในยามสงบ และมีชาวนาที่มีฝีมือในการใช้อาวุธ สามารถออกรบได้ในยามสงคราม สำหรับซามูไรได้สิทธิสะพายดาบได้สองเล่ม และได้รับการยกเว้นภาษีอากร ซึ่งชาวนาก็มีสิทธิเช่นกัน แต่ไม่มากเท่า
                    ช่างฝีมือ ได้แก่ช่างเหล็ก ช่างไม้ ช่างทอ ช่างหม้อ ฯลฯ ช่างตีดาบซึ่งอยู่ในประเภทช่างเหล็ก จะได้รับการยกย่องมากที่สุด เพราะดาบเป็นของจำเป็นสำหรับนักรบ ช่างตีดาบบางคนได้รับการยกย่องเทียบเท่าเจ้าเมือง หรือ "กามิ" และได้รับการอุปถัมภ์จากผู้อยู่ในตระกูลสูงของสังคมคือ จักรพรรดิ์ และขุนนางตลอดจนนักรบทั่วไป
                    พ่อค้า  ชาวญี่ปุ่นโบราณกล่าวว่าพ่อค้าเป็นชนชั้นต่ำสุด การหาเงินโดยการซื้อถูกขายแพงเป็นอาชีพที่ไร้เกียรติ
                    ยังมีบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่นอกสังคม และถือว่าไม่ใช่คนญี่ปุ่นคือพวก "โอริ" หรือ "เอดะ" เทียบได้กับพวกจัณฑาลในอินเดีย ชาวญี่ปุ่นถือว่าคนพวกนี้อพยพมาจากที่อื่น จึงไม่ยอมรับ คนเหล่านี้ได้ทำงานเลี้ยงชีพที่ชาวญี่ปุ่นรังเกียจหรือถือว่าเป็นงานต่ำคือ งานสัปเหร่อ ขุดหลุมฝังศพ ขุดบ่อน้ำ กวาดถนน ทำรองเท้า (เกี๊ยะ) ฟอกหนังสัตว์ หรือเป็นเพชฆาต คนเหล่านี้จะตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างไกลจากสังคมชาวญี่ปุ่น มีหัวหน้าปกครองคนในกลุ่ม
                    บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งได้แก่พวกขอทาน ละคอน หญิงโสเภณี พวกนี้ถูกกันออกจากสังคม เพราะประพฤติผิดธรรมเนียม ไม่มีสิทธิธรรมฮาราคีรี ไม่มีใครสังคมด้วย เรียกว่า พวก"ฮินัน"
                    บุคคลกลุ่มสุดท้ายคือ สมณะ ซึ่งหมายถึงสมณะในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก พระสงฆ์ในญี่ปุ่นแยกกันเป็นหลายนิกาย รวมกันไม่ติด ต่างฝ่ายก็ปกครองด้วยกันเองโดยเจ้าคณะ หรือสมภาร พระสงฆ์ญี่ปุ่นในสมัยแรก ๆ ปกครองแบบทหาร ถืออาวุธ และออกทำสงครามระหว่างนิกาย และบางครั้งก็เกิดศึกระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาส
                การเปลี่ยนแปลงยกเลิกชนชั้น  ในปี พ.ศ.๒๔๑๒ ยกเลิกการปกครองแบบโชกุน โดยได้ถวายเมืองคืนให้จักรพรรดิ์ และยังคงให้เจ้าเมืองได้รับเงินเดือนในอัตรา ๑ ใน ๑๐ ของส่วยอากรที่เคยเก็บได้ในเมืองนั้น ๆ
                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๒ ได้จัดตั้งระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาค โดยแบ่งประเทศออกเป็นจังหวัดต่าง ๆ มีผู้ว่าราชการปกครอง โดยกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งพระยากินเมือง หรือไดเมียว พวกนี้เข้ารับราชการบ้าง รวบรวมทุนเป็นพ่อค้าบ้าง จักรพรรดิ์ได้ตั้งทำเนียบขุนนางขึ้นใหม่แบบชาวตะวันตก และให้ขุนนางเก่ารับฐานันดรศักดิ์ และบรรดาศักดิ์ตามธรรมเนียมใหม่ ตามลำดับสูงต่ำที่ครองเมือง เมืองเล็กเมืองใหญ่ บางคนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเจ้า
                ในปี พ.ศ.๒๔๑๕ - ๑๖ จักรพรรดิ์ให้มีการฝึกทหารแบบชาวตะวันตก เริ่มมีการเกณฑ์ทหาร โดยได้เกณฑ์ชายฉกรรจ์จากชนชั้นชาวนา และคนในเมืองที่มิใช่ซามูไรมาเป็นทหาร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๙ ก็ได้ยกเลิกการจ่ายเบี้ยหวัด และยกเลิกสิทธิต่าง ๆ ของซามูไร เป็นการสิ้นสุดภาวะของซามูไร นับเป็นการสิ้นสุดชนชั้นในสังคมญี่ปุ่น