|
|
พัฒนาการทางวัฒนธรรม
ต้นกำเนิดวัฒนธรรมญี่ปุ่น
วัฒนธรรมของจีนซึ่งมีอิทธิพลเหนือวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น มีส่วนสร้างวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้ดีขึ้น
โดยญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมจากจีน โดยผ่านมาทางคาบสมุทรเกาหลีในสมัยนั้น วัฒนธรรมจีนเป็นวัฒนธรรมผสมกับวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนา
ที่จีนได้รับเป็นมรดกมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง นอกจากนั้นก็ยังมีวัฒนธรรมของอิหร่านซึ่งมาจากเอเซียกลาง
วัฒนธรรมกรีกและอื่น ๆ ทางเอเซียภาคเหนือ ต่อมายังมีวัฒนธรรมของอาณาจักรบอกไก
ซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่โตจากแมนจูเกาปัจจุบัน จนจรดภาคเหนือของเกาหลีและดินแดนชายฝั่งทะเลจีนภาคเหนือ
นอกจากนี้ยังได้รับวัฒนธรรมของชาติทางรัสเซียภาคใต้ ของคันธาระ ภาคเหนือของอัฟกานิสถาน
อันเป็นวัฒนธรรมพุทธผสมกับวัฒนธรรมกรีกอีกด้วย
ดังนั้นประเทศยี่ปุ่นจึงมีวัฒนธรรมทั้งฝ่ายตะวันออก และตะวันตกมาผสมผสานกันทั้งของเก่าและของใหม่
ลักษณะสำคัญยิ่งของญี่ปุ่นประการหนึ่งคือ สามารถดำรงรักษาวัฒนธรรมอันดีต่าง
ๆ ชนิดได้เป็นเวลาช้านาน วัฒนธรรมของทุกชาติ และทุกกาลสมัยได้รับการตกแต่งโดยญี่ปุ่นอย่างดี
ทำให้ผสมกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ด้วยการแก้ไขวัฒนธรรมเหล่านั้นให้เข้ารูปเข้ารอยกับญี่ปุ่น
กล่าวกันว่าเจ้าชายโชโตกุ ตาอิริ เป็นจักรพรรดิ์ที่เอาพระทัยใส่ในวัฒนธรรมโบราณของญี่ปุ่นเป็นอันมาก
ได้ส่งเสริมพระพุทธศาสนา สร้างพระพุทธรูป และวัดวาอารามมากมาย จนทำให้ญี่ปุ่นได้อยู่ในยุคทองของวัฒนธรรมตลอดเวลาเกือบ
๒๐๐ ปี ยุคดังกล่าวคือ ยุคนารา
นั่นเอง
การพัฒนาวัฒนธรรมญี่ปุ่น
ชาวญี่ปุ่นสามารถสร้างวัฒนธรรมของตนเองจากวัฒนธรรมของชาติต่าง ๆ โดยที่พยายามคงรูปเดิมเอาไว้
เช่นพระไตรปิฎก ฉบับดั้งเดิมทั้ง ๑๘ ตอนนั้นยังมีอยู่ในญี่ปุ่น และยังได้พิมพ์เพิ่มเป็น
๓๐ ตอน พระสูตรบางฉบับซึ่งหาไม่พบในประเทศจีนก็ยังมีอยู่ในญี่ปุ่น
ในสมัยนารา ได้มีงานสำคัญ ๆ ทางวรรณกรรมเกิดขึ้นมาก เช่น ชุมนุมคำประพันธ์ของจีน
ซึ่งกวีญี่ปุ่นได้จัดทำขึ้น ตัวอักษรญี่ปุ่นที่เรียกว่า "คะนะ"
ก็ได้คิดขึ้นในยุคนี้ ถือได้ว่าเป็นภาษากลางที่ทำให้ประชาชนเข้าใจความคิดเห็นมากขึ้น
ยุคคามากุระ
เป็นยุคที่ทหารมีอำนาจ จึงเป็นเหตุให้มีวัฒนธรรมอย่างใหม่เช่น ศิลปวรรณคดี
สมัยฟูจิวาระ ที่สร้างขึ้นก่อนหน้านี้เป็นศิลปในวงแคบ แต่วัฒนธรรมคามากุระที่เกิดขึ้นใหม่นี้
เป็นวัฒนธรรมที่มีธาตุของนักรบที่อยู่ในชนบท พอใจในสงคราม นิยมการเสียสละและชีวิตที่ตรากตรำในสนามรบ
พวกนักรบได้ส่งเสริมความภักดีต่าง ๆ และถือว่าการเสียสละโดยไม่มีขอบเขต เพื่อความภักดีเป็นเกียรติสูงสุด
ลักษณะเหล่านี้ ได้กลายเป็นลักษณะมาตรฐานของคนญี่ปุ่นทั่วประเทศ
ยุคมืดของญี่ปุ่น
เป็นยุคที่ถัดมาจากยุคคามากุระ บ้านเมืองระส่ำระสาย มีการแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างผู้ปกครอง
แต่ก็ปรากฎว่าศิลปะต่าง ๆ เช่นการก่อสร้าง ภาพเขียน ภาพปั้น ได้เจริญมากในช่วงนี้
โดยพุทธศาสนานิกายเซ็นเป็นผู้ส่งเสริม ทำให้มีอิทธิพลในการกำหนดแบบศิลปะต่าง
ๆ ได้มีการถ่ายเทศิลปะวัฒนธรรมจากจีน มาสู่ญี่ปุ่น แล้วดัดแปลงให้เป็นญี่ปุ่นมากขึ้น
ละคอนญี่ปุ่นก็เกิดขึ้นในสมัยนี้ โดยนิกายเซ็นเป็นผู้ริเริ่มเพื่อสอนศาสนา
การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น และพิธีกินน้ำชาก็เกิดจากนิกายเซ็นในสมัยนี้เช่นกัน
การนำวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น
ในปี พ.ศ.๒๐๘๐ ได้มีชาวโปรตุเกสเข้ามาสู่เกาะตาเนกาชิมา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะญี่ปุ่น
และได้นำปืนไฟเข้ามาด้วย ต่อจากนั้นก็ตามเข้ามา
ในปี พ.ศ.๒๑๗๕ หนุ่มชาวญี่ปุ่นได้พบบาทหลวงในคริสตศาสนานิกายเยซูอิด เป็นชาวสเปน
และได้มอบตัวเป็นศิษย์ ได้นำบาทหลวงผู้นั้นเข้าประเทศ เป็นเหตุให้คริสตศาสนาเข้ามาในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก
เจ้าผู้ครองนครได้เข้ารีตไปหลายคน วัฒนธรรมตะวันตกก็ตามเข้ามา เช่น การสร้างป้อมปราการ
การต่อเรือ การสร้างโบสถ์ อนุสาวรีย์ และมีสินคัานำเข้ามากมายหลายชนิด มีเครื่องพิมพ์และวรรณคดียุโรป
จากการยึดนโยบายโดดเดี่ยวและปิดประเทศในสมัยโชกุนตระกูลโตกุกาวา ทำให้ญี่ปุ่นหยุดชะงักการรับสิ่งใหม่
ๆ จากโลกภายนอกไประยะหนึ่ง แต่ในที่สุดก็ต้องเปิดประเทศ เป็นเหตุให้วัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกหลั่งไหลเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นมากมายในทุกเรื่อง
เพื่อเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงญี่ปุ่นให้อยู่ในสภาพสมสมัย รัฐบาลแห่งจักรพรรดิเมจิ
ได้ทุ่มเทงบประมาณส่งคนที่มีสติปัญญาดี ไปศึกษาต่อต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
เพื่อจะได้นำกลับมาปรับปรุงญี่ปุ่นให้เข้าระเบียบใหม่โดยเร็ว และให้ชาวญี่ปุ่นเป็นชาวตะวันตกให้ได้มากที่สุด
วรรณคดี - วรรณกรรม
งานวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดสองเรื่องของญี่ปุ่นซึ่งมีเหลืออยู่นั้นได้มีอิทธิพลอย่างมากจนถึงทุกวันนี้
เรื่องหนึ่งคือ โคจิกิ
เป็นบันทึกเหตุการณ์โบราณเป็นบทร้อยแก้ว เชื่อว่าเขียนเมื่อปี พ.ศ.๑๒๕๕
อีกเรื่องหนึ่งคือ มันเนียวชู
เป็นบทร้อยกรองต่าง ๆ รวบรวมขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๓๑๓ เป็นนิพนธ์ ๔,๕๐๐ เรื่องของบุรุษสตรีหลายอาชีพ
หลายวัยและหลายฐานะ
วรรณกรรมที่รวบรวมได้ในสมัยกลางของญี่ปุ่นคือ ชินโคคินชู
รวมคำประพันธ์โบราณและสมัยใหม่ จากนั้นวรรณคดีตะวันตก ได้แปลออกเป็นภาษาญี่ปุ่น
หลังสงครามมหาเอเชียบูรพา งานวรรณกรรมของญี่ปุ่นก็ได้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศและได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ
ศิลปะ
ศิลปกรรมญี่ปุ่นที่เก่าแก่ที่สุดคงเหลือมาถึงปัจจุบันคือ รูปปั้นดินสมัยหินและรูปสลักหิน
สิ่งประดิษฐ์ต่อ ๆ มาได้แก่ รูปจำลองที่ฝังศพ ปั้นด้วยดินเหนียว ที่เรียกว่า
ฮานิวะ ซึ่งขุดพบในสุสานโบราณ
การดื่มน้ำชาของญี่ปุ่นได้แบบอย่างการดื่มน้ำชาจากจีน การชงน้ำชาถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง
ศิลปะการจัดดอกไม้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้หญิงญี่ปุ่นที่ต้องมีการเรียนการสอนกันอย่างแพร่หลาย
พระพุทธศาสนาได้ให้ความเจริญด้านประติมากรรม การสร้างวัดวาอารามต่าง ๆ เช่น
วัดใหญ่และมีพระพุทธรูปสวยงามอยู่ในเมืองนารา
ในสมัยตระกูลฟูจิวาระมีอำนาจ ลักษณะของประติมากรรมมีความประณีตมาก เกิดศิลปะแบบใหม่ขึ้นมามาก
พระราชวังคัทสุระที่เมืองเกียวโตได้สร้างขึ้นในสมัยนี้
ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นระยะที่ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลตะวันตกไว้มาก บางครั้งผสมผสานจนเกิดเป็นศิลปะแบบใหม่
ดนตรี
ดนตรีแบบเก่าแก่ที่สุดแบบหนึ่งที่ยังคงเล่นกันอยู่ในราชสำนัก และที่วัดชินโตบางวัด
คือ "งะงักกุ"
มีกำเนิดมาจากดนตรีจีน เป็นการผสมผสานดนตรีของเปอร์เซีย อินเดียและเกาหลี
มีท่วงทำนองไพเราะ
เครื่องดนตรีที่เป็นแบบฉบับประจำชาติ ๓ ชนิดที่ใช้ทดแทนเครื่องดนตรีอื่น ๆ
คือ ซามิเซน เป็นเครื่องดนตรีมีสามสาย
คล้ายซอสามสาย ซากุฮาจิ
เป็นเครื่องเป่า ลักษณะคล้ายขลุ่ย ทำด้วยไม้ไผ่ และโคโต
รูปร่างเตี้ยยาว มีสาย ๑๓ สาย คล้ายขิม หรือจะเข้ของไทย ใช้เล่นประกอบละครคาบูกิ
บุนระกุและบุโย (นาฏศิลป์โบราณ)
ซากุฮาจิ เดิมใช้เล่นเฉพาะนักบวชในพุทธศาสนานิกายเซ็น เป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมกว้างขวางในหมู่ชาวต่างประเทศ
ส่วนโคโตเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมทั่วไป
ต่อมาเครื่องดนตรีเหล่านี้ได้รับการพัฒนาควบคู่ไปกับดนตรีตะวันตก โดยเริ่มนำไปสอนในโรงเรียนประถม
การละคร
ศิลปะการละครของญี่ปุ่นมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เพราะมีลักษณะพิเศษ เช่น ละคร
"โน" ที่มีแบบแผนสง่างาม ไปจนถึงละครสั้น ๆ
ที่สนุกสนานของชาวบ้าน และจากละครหุ่น ซึ่งสืบทอดกันมาหลายศตวรรษ ไปจนถึงการสร้างภาพยนต์
โดยอุตสาหกรรมภาพยนต์ที่ผลิตภาพยนต์มากที่สุดในโลก
ญี่ปุ่นมีละครคลาสสิคสามชนิดได้แก่ ละครโน บุนระกุ ละครหุ่น และคาบูกิ
ละครที่เก่าแก่ที่สุดคือ ละครโน ซึ่งถือกำเนิดมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นละครที่มีแบบสูงส่ง
เล่นให้ชมเฉพาะบุคคลชั้นสูง การแสดงยังคงรักษาแบบแผนไว้ได้ดีจนถึงปัจจุบัน
ละครหุ่น มีการสร้างตัวหุ่นขนาดครึ่งหนึ่งของคนจริง สร้างขึ้นอย่างสวยงาม
การเชิดใช้คนเชิดถึงสามคน และใช้ดนตรีซามิเซนประกอบให้เห็นอารมณ์ของคนจริง
ๆ
ละครคาบูกิ เป็นละครที่มีชื่อของญี่ปุ่นเช่นกัน มีลักษณะผสมของละครโน และบนระกุ
สมัยแรก ๆ ยังใช้สตรีแสดง แต่ต่อมาได้ใชผู้ชายแสดง ละครคาบูกิ ได้รักาาประเพณีของญี่ปุ่นไว้อย่างดี
การเมืองและการปกครอง
ยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น
เชื่อกันว่าบรรพบุรุษของชาวญี่ปุ่นได้แก่ กลุ่มเผ่าพันธ์หนึ่งที่เรียกว่า
เชื้อชาติยามาโต ซึ่งเป็นใหญ่เหนือเผ่าพันธุ์นักรบ และตระกูลอื่น ๆ ในช่วงพุทธศตวรรษที่
๘ หรือ ๙ และเป็นที่ยอมรับว่าบรรดาผู้นำของเผ่ายาโมโตคือบรรพบุรุษของพระราชวงศ์ญี่ปุ่น
ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ญี่ปุ่นได้รับการพัฒนาด้านฝีมือช่าง ศิลปะและการเรียนรู้จากประเทศจีน
และเกาหลี ตลอดจนหลักวิชาการแพทย์ ดาราศาสตร์ และพระพุทธศาสนา
ในปี พ.ศ.๑๖๒๔ ญี่ปุ่นได้แบบแผนระบบการปกครองจากจีน เมืองนาราเป็นเมืองหลวงแรกสุดของญี่ปุ่น
สร้างขึ้นเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และได้ย้ายไปมาภายในบริเวณเมืองปัจจุบันคือ
นารา
เกียวโต และโอซากา
ในปี พ.ศ.๑๘๘๐ ได้สร้างเมืองหลวงใหม่ที่เกียวโต ได้เป็นที่ประทับของจักรพรรดิ์มาเป็นเวลาหลายร้อยปี
ในปี พ.ศ.๒๒๗๑ เป็นปีเริ่มต้นของการปกครองแบบฟิวตัล
(ศักดินา) จึงเป็นการบดบังอำนาจของจักรพรรดิ์กล่าวคือ องค์จักรพรรดิ์ เป็นประมุขเพียงในนามอำนาจการปกครอง
เป็นของพวกโชกุน ซึ่งได้ปกครองญี่ปุ่นเป็นระยะเวลาติดต่อกันมาหลายศตวรรษ โดยมีนโยบายไม่ต้องการติดต่อกับโลกภายนอก
ยุคต่อมาถึงยุคปัจจุบัน
ในกลางพุทธศตววรรษที่ ๒๔ และต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้เปิดประเทศ
ออกรับโลกภายนอกมากขึ้น
ในปี พ.ศ.๒๓๙๖ สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวฝ่ายญี่ปุ่น ทำให้ทำสัญญามิตรภาพด้วย
และต่อมาก็ได้มีการทำสนธิสัญญาทำนองเดียวกันกับรัสเซีย อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์
ในปีเดียวกัน จึงนับได้ว่าญี่ปุ่นได้เปิดประเทศติดต่อกับโลกภายนอกอีกครั้งหนึ่ง
ผลกระทบของเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เป็นแรงกดดัน ของกระแสสังคมและการเมืองภายในประเทศ
และในที่สุดระบบฟิวดัลแห่งรัฐาลโชกุน ก็สิ้นสุดลงในปี พ.ศ.๑๔๑๐ อำนาจอธิปไตยที่สมบูรณ์
ก็กลับคืนมาสู่องค์จักรพรรดิ์อีกครั้ง ในการขึ้นครองอำนาจของจักรพรรดิ์เมจิ
ในปี
พ.ศ.๒๔๑๑
สมัยเมจิ
(พ.ศ.๒๔๑๑ - ๒๔๕๕) เป็นระยะที่น่าสนใจระยะหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก
ญี่ปุ่นได้เริ่มต้นการปรับปรุงประเทศ และสัมฤทธิ์ผลในสิ่งที่ชาวตะวันตก ต้องใช้เวลาเป็นศตวรรษเพื่อพัฒนาภายในเวลา
๑ - ๓ ทศวรรษเท่านั้น นั่นคือการสร้างชาติแบบใหม่ กอร์ปด้วยอุตสาหกรรมสมัยใหม่
สถาบันการเมืองสมัยใหม่ และแบบแผนทางสังคมสมัยใหม่ ก่อนกลางพุทธศตวรรษที่
๒๕ ญี่ปุ่นได้เข้าเกี่ยวข้องกับสงครามกับจีน ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ - ๒๔๓๘ และอีก
๑๐ ปีต่อมาได้ทำสงครามกับรัสเซีย ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ - ๒๔๔๘ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะทั้งสองครั้ง
ในสมัยนี้ได้ย้ายเมืองหลวงจากเกียวโต
ไปเมืองเอโด และให้ชื่อใหม่ว่า
โตเกียว
ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ จักรพรรดิ์ฮิโรฮิโต ขึ้นครองราชย์ และได้นำญี่ปุ่นสู่ยุคสงครามมหาเอเซียบูรพา
ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ต่อมาได้ยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ และถูกฝ่ายสัมพันธมิตรยึดครอง
ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ญี่ปุ่นได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับ ๔๘ ประเทศ และได้เอกราชกลับคืนมาในปี
พ.ศ.๒๔๙๕
ปัจจุบันญี่ปุ่นปรับปรุงประเทศเป็นแบบสมัยใหม่ ทั้งด้านโครงสร้างการเมือง
อุดมการณ์ตะวันตกต่าง ๆ ผสมกับลักษณะเฉพาะของสังคมญี่ปุ่น กลายเป็นลักษณะการเมืองและสังคมแบบใหม่
โครงสร้างของรัฐบาล
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ ญี่ปุ่นได้มีการสถาปนาสภาไดเอ็ดอิมพีเรียลขึ้น
นับว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่นำเอาการเมืองระบบรัฐสภามาไว้ในเอเซีย แต่สภาไดเอ็ดอิมพีเรียลก็ยังเป็นสภาที่จัดตั้งขึ้นด้วย
ผู้แทนราษฎรของชนชั้นที่มีสิทธิพิเศษ เช่น พวกขุนนาง และเนื้อหาการปกครองก็ยังคงเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราช
เพราะว่าอำนาจการปกครองอยู่ในมือของจักรพรรดิ์ ประชาชนไม่มีสิทธิ์เสียงทางการเมือง
ไม่สามารถเลือกยึดถือลัทธิการเมือง ที่ตนศรัทธาได้
ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันขึ้นในปี
พ.ศ.๒๔๘๙ เป็นการนำระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ โดยมีสภาไดเอ็ด
เป็นสถาบันสูงสุดของการปกครอง มีองค์จักรพรรดิ์เป็นสัญญลักษณ์ของประเทศ อำนาจอธิปไตยอยู่กับประชาชน
ญี่ปุ่นแบ่งอำนาจการปกครองออกเป็นสามฝ่ายคือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ
เช่นเดียวกับประเดียวกับประเทศที่ปกครองในระบบรัฐสภาทั่ว ๆ ไป สภาผู้แทนราษฎรสามารถลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีได้
ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีก็สามารถยุบสภาไดเอ็ดได้
อำนาจบริหาร
เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีไม่เกิน ๒๐ คน
นายกรัฐมนตรีได้รับการกำหนดตัวโดยรัฐสภา และต้องเป็นสมาชิกรัฐสภา มีอำนาจถอดถอนรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ต้องแต่งตั้งมาจากสมาชิกรัฐสภา และรัฐมนตรีทุกคนต้องเป็นพลเรือน
อำนาจนิติบัญญัติ
สภาไดเอ็ด เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นสถาบันแห่งอำนาจสูงสุดของประเทศด้วย
สภาไดเอ็ดมีอำนาจหน้าที่ เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญ พิจารณางบประมาณ ให้ความเห็นชอบในเรื่องการทำสนธิสัญญา
และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
สภาไดเอ็ด ประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๕๑๑ คน และสภาที่ปรึกษา (วุฒิสภา)
๒๕๒ คน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีวาระในตำแหน่ง ๔ ปี เขตเลือกตั้งมี ๑๓๐ เขต แต่ละเขตมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
๓ - ๕ คน ตามจำนวนประชากรในเขต
สมาชิกสภาที่ปรึกษามาจากการเลือกตั้งเช่นกัน มีวาระดำรงตำแหน่ง ๖ ปี ทุก ๓
ปี จะมีการเลือกตั้งสมาชิกจำนวนครึ่งหนึ่ง สมาชิก ๑๐๐ คน ได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งต่าง
ๆ สมาชิกอีก ๑๕๒ คน ได้รับเลือกจากเขตจังหวัด ๔๗ แห่ง สภาที่ปรึกษามีอำนาจรองจากสภาผู้แทนราษฎร
โดยสภาผู้แทนราษฎรใช้เสียงข้างมาก ๒ ใน ๓ ผ่านพระราชบัญญัติที่สำคัญได้ แม้ว่าจะถูกสภาที่ปรึกษาคัดค้านก็ตาม
อำนาจตุลาการ
ฝ่ายตุลาการ มีอิสระเต็มที่แยกจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ โดยมีศาล ๕ ชนิด
คือ ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลจังหวัด ศาลครอบครัว และศาลแขวง
ศาลฎีกา
ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ๑ คน และผู้พิพากษาศาลฎีกาอีก ๑๔ คน ประธานศาลฎีกาได้รับการแต่งตั้งจากองค์จักรพรรดิ์
ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ส่วนผู้พิพากษาอีก ๑๔ คน ได้รับแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี
ผู้พิพากษาศาลในระดับอื่น ๆ ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ตามที่ศาลฎีกาเสนอ
แหล่งกำเนิดของอำนาจที่แท้จริง
รัฐบาลญี่ปุ่นส่วนใหญ่มาจากสมาชิกพรรคการเมือง ที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้น การเลือกตั้งของญี่ปุ่น จึงมีความหมายมาก รัฐบาลจะบริหารประเทศ ตามนโยบายของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง
พรรคเสรีประชาธิปไตย
เป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีนโยบายอนุรักษ์นิยมและได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งตลอดมา
จึงสามารถครองอำนาจเป็นรัฐบาล ติดต่อกันมานานที่สุดในโลกพรรคหนึ่ง ดังนั้นวิถีทางการเมืองและนโยบายที่สำคัญของญี่ปุ่น
จะเป็นอย่างไร จึงขึ้นอยู่กับพรรคเสรีประชาธิปไตย
พรรคการเมืองของญี่ปุ่น ประกอบด้วยกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีกองทุนเป็นอิสระ
มีนายทุน เช่น บริษัทกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ หนุนหลัง แต่ละกลุ่มก็พยายามช่วงชิงความเป็นใหญ่อิทธิพล
และการนำภายในพรรคระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา
อนาคตของพรรคการเมืองในญี่ปุ่น
เนื่องจากพรรคการเมืองอื่น ๆ ไม่เคยมีโอกาสเข้าบริหารงานรัฐบาล ประชาชนจึงขาดความเชื่อมั่นที่จะมอบความไว้วางใจ
ประกอบกับพรรคเสรีประชาธิปไตยมีผลงานชัดแจ้ง ในการนำญี่ปุ่นสู่ความเจริญก้าวหน้าโดยสำคัญตลอดมา
นโยบายในประเทศและต่างประเทศ
การเมืองในประเทศ
เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามในสงครามโลกครั้งที่สอง ชนชั้นปกครองเดิมคือ ทหารและกลุ่มธุรกิจได้ถูกโค่นล้มไป
เปิดโอกาสให้นักการเมืองรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นผู้นำ โดยขบวนการประชาธิปไตยยุคใหม่
รัฐธรรมนูญใหม่ที่สหรัฐอเมริกาช่วยร่างให้ ได้ระบุสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไว้อย่างกว้างขวางและชัดแจ้ง
ไม่มีการจำกัดสิทธิความเชื่อถือในลัทธิการเมือง แม้กระทั่งลัทธิคอมมิวนิสต์
และพรรคคอมมิวนิสต์ก็สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ความเสมอภาคในทางกฎหมาย
เป็นหลักการสำคัญในสังคมญี่ปุ่นสมัยปัจจุบัน
การปกครองของญี่ปุ่นใช้รูปแบบของการแบ่งแยกอำนาจเหมือนกับประเทศต่าง ๆ คือมีสถาบันทางการเมืองสามฝ่ายคือ
ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการแยกจากกัน การเลือกตั้งเป็นวิธีการสำคัญที่สุดในการเข้าสู่อำนาจบริหาร
รัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกรัฐสภา
รัฐบาลจะดำเนินการบริหารประเทศตามนโยบายของพรรคการเมือง ที่ชนะการเลือกตั้ง
อย่างจริงจัง
รัฐสภาของญี่ปุ่นมีสองสภาคือ สภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) และวุฒิสภา (สภาสูง)
สมาชิกของทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งทั้งคู่
พรรคการเมืองของญี่ปุ่น เพิ่งมีการจัดตั้งกันอย่างแท้จริงภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
เริ่มแรกมีพรรคการเมืองจำนวนมาก ต่อมา พรรคต่าง ๆ ได้รวมตัวกันเข้าจนเหลือพรรคใหญ่หลัก
ๆ เพียง ๓ - ๔ พรรค พรรคที่ครองอำนาจติดต่อกันยาวนานที่สุด จนถึงปัจจุบันคือ
พรรคเสรีประชาธิปไตย
ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ ได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวต่อต้านการต่อสัญญา
"อำโป" กับสหรัฐอเมริกา ไม่ให้รัฐบาลต่อสัญญาการป้องกันประเทศร่วมกับสหรัฐอเมริกา
หลังจากนั้นก็ได้มีการนำญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคใหม่โดยการประกาศนโยบายเศรษฐกิจ
"แผนการเพิ่มรายได้เป็นสองเท่า" ทำให้ญี่ปุ่นก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
นโยบายต่างประเทศ
การตกอยู่ในความยึดครองของสหรัฐอเมริกาทำให้ญี่ปุ่นรับอิทธิพลทั้งในด้านเศรษฐกิจ
การปกครอง และวัฒนธรรมจากสหรัฐอเมริกา และประเทศตะวันตกอย่างมาก เป็นเหตุให้ชาวญี่ปุ่นส่วนมาก
คิดว่าตนเองเป็นชาวตะวันตกมากกว่าชาวเอเชีย อันเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง
ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่น ที่จะมุ่งสนใจผลประโยชน์ และความร่วมมือไปยังประเทศตะวันตกมากกว่าประเทศเอเชียด้วยกัน
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศค่ายทุนนิยมที่มีอิทธิพลต่อญี่ปุ่นมากที่สุด และกลายเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น
ความร่วมมือทางด้านการทหารกับสหรัฐอเมริกา
สัญญาอัมโประหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐอเมริกา สามารถรักษากองทัพของตนไว้ในญี่ปุ่นได้ต่อไป
จึงเป็นการคุมญี่ปุ่นมากกว่าการร่วมมือป้องกันญี่ปุ่น อาจกล่าวได้ว่าสัญญาอำโป
มีส่วนก่อความเจริญให้แก่ญี่ปุ่นอีกทางหนึ่ง
เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นไม่ต้องจ่ายเงินงบประมาณไปในด้านการป้องกันประเทศ
ท่าทีของญี่ปุ่นต่อประเทศยุโรป
ชาวญี่ปุ่นมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศในทวีปยุโรป โดยเฉพาะเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส
อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ และกรีก โดยมีความสนใจ และยอมรับความเจริญทางด้านการปกครอง
วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และความสวยงามของธรรมชาติ ส่วนสหภาพโซเวียตนั้น คนญี่ปุ่นมีทัศนคติในทางปฏิปักษ์
เนื่องจากผลประโยชน์ของประเทศขัดแย้งกันในด้านการเมือง และกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะทางตอนเหนือของเกาะฮอกไกโด
ซึ่งสหภาพโซเวียตยึดครองอยู่
ท่าทีของญี่ปุ่นต่อประเทศจีน
ญี่ปุ่นพยายามดำเนินนโยบายต่างประเทศ ที่ประนีประนอมกับจีนอย่างมาก โดยเล็งเห็นผลประโยชน์ทางด้านการค้า
การตลาดและการลงทุนในจีน เป็นอันดับสองรองลงมาจากสหรัฐอเมริกา
ท่าที่ของญี่ปุ่นต่ออาเซียน
เมื่อมีการตั้งองค์การ "อาเซียน" ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนอาเซียนอย่างจริงจังในเกือบทุกเรื่อง
เรียกได้ว่ากลุ่มอาเซียนเป็นมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดในเอเชีย
ญี่ปุ่นเสียเปรียบดุลการค้าแก่อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยการซื้อน้ำมันและแก๊ส
แต่ได้เปรียบดุลการค้ากับไทยฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์อย่างมาก
แนวนโยบายเกี่ยวกับประเทศไทย
การลงทุนในประเทศไทยของญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะมากเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน
เนื่องจากเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มีทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานที่มีคุณภาพเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนอื่น
ๆ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยพื้นฐานอย่างเพียงพอ
การคมนาคมขนส่ง
ประเทศญี่ปุ่นมีสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะและหมู่เกาะ การคมนาคมขนส่งจึงมีทั้งระบบขนส่งทางรถไฟ
เรือ เครื่องบินและทางหลวง เพื่อความคล่องตัว และเหมาะสมกับลักษณะของสิ่งของ
หรือปัจจัยที่ขนส่ง การขนส่งทุกระบบจัดอยู่ในอันดับนำของทวีปเอเชีย โครงข่ายของทางหลวง
และทางรถไฟครอบคลุมถึงทุกส่วนของประเทศ
การขนส่งทางบก
ประกอบด้วยทางรถไฟ ทางรถไฟด่วน ทางรถไฟใต้ดินและทางหลวง
ทางรถไฟ
การรถไฟแห่งชาติของญี่ปุ่น และการรถไฟที่ดำเนินกิจการโดยภาคเอกชน มีโครงข่ายที่สมบูรณ์ที่สุด
ทางรถไฟทั่วประเทศ มีระยะประมาณ ๒๑,๕๐๐ กิโลเมตร เป็นของภาคเอกชนประมาณ ๕,๖๐๐
กิโลเมตร แม้ว่าการขนส่งทางรถไฟจะมีความปลอดภัย รวดเร็ว ตรงเวลาและเพียงพอแก่การให้บริการ
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางถนนแล้ว ก็ด้อยกว่าในด้านความคล่องตัว
รถไฟด่วนชิงกันเซง
เริ่มให้บริการในกรุงโตเกียวเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ โดยระยะแรกวิ่งระหว่างโตเกียวกับโอซาก้า
ต่อมาได้ขยายออกไปถึงฮาคาตะในเกาะคิวชิว เป็นระยะทางประมาณ ๑,๑๘๐ กิโลเมตร
มีความเร็ว ๒๑๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง นับเป็นรถไฟที่เร็วที่สุดในโลก ต่อมาได้ขยายเส้นทางออกไปอีก
รถไฟใต้ดิน
เป็นระบบขนส่งในตัวเมืองที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในเมืองใหญ่ถึง ๘ เมืองคือโตเกียว
เกียวโต โกเบ โอซากา นาโกยา โยโกฮามา ฟูกุโอกะ และซัปเปาโล เป็นระบบขนส่งที่มีความปลอดภัยสูง
รวดเร็ว ตรงต่อเวลาและประหยัดที่สุด สำหรับผู้ใช้บริการ เริ่มให้บริการครั้งแรก
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ โดยวิ่งระหว่างอูเอโนะ กับอาซากุซะ ปัจจุบันมีเส้นทางครอบคลุมทุกส่วนของมหานครโตเกียว
เป็นระยะทางประมาณ ๒๑๐ กิโลเมตร นับเป็นอันดับสี่ของโลกรองจากนิวยอร์ค ลอนดอนและปารีส
กิจการรถไฟใต้ดินดำเนินการโดยภาคเอกชน
ทางหลวง
ทางหลวงในญี่ปุ่นแบ่งออกเป็นสี่ประเภทคือ ทางด่วนทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงในเมืองใหญ่
ทางหลวงชนบท หรือหมู่บ้าน มีระยะทางประมาณ ๑,๑๑๓,๕๐๐ กิโลเมตร แยกเป็นทางด่วนประมาณ
๒,๖๐๐ กิโลเมตร ทางหลวงแผ่นดินประมาณ ๔๐,๒๐๐ กิโลเมตร โครงข่ายของทางด่วน
มีการขยายอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง และจะมีความยาวประมาณ ๙,๐๐๐ กิโลเมตร
ในอนาคตอันใกล้ ทางด่วนเหล่านี้ จะมีลักษณะเป็นโครงสร้างสะพานลอยสูงจากพื้นดิน
หรือทอดข้ามหุบเหว ในภูมิประเทศที่เป็นภูเขาบางแห่งก็เป็นอุโมงค์ลอดภูเขา
การขนส่งโดยทางหลวงทั้งด้านขนส่งคน และขนส่งสินค้ามีปริมาณมากกว่าทางรถไฟหลายเท่า
และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านยานพาหนะทั้งที่เป็นรถบรรทุก
รถโดยสาร รถยนต์นั่งและรถอื่น ๆ
โครงสร้างของทางหลวง และสะพานในญี่ปุ่นเหมือนกับที่ใช้ในประเทศไทย พิกัดน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน
๒๐ ตันต่อคัน น้ำหนักเพลาไม่เกิน ๑๐ ตันต่อเพลา ความกว้างของผิวจราจรของทางด่วนชนิดสอง
และสี่ช่องจราจร กว้าง ๖.๕๐ เมตร และ ๑๕.๐ เมตร ตามลำดับ
การขนส่งทางทะเล
การคมนาคมระหว่างเกาะต่าง ๆ นอกจากสะพานเชื่อมเกาะฮอนชิวกับเกาะชิโกกุ และอุโมงค์ลอดใต้ทะเลเซอิคัน
ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างเกาะฮอนชิวกับเกาะฮอกไคโด ที่ยาวที่สุดในโลก สร้างเสร็จเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๘ แล้ว ยังมีการเดินเรือชายฝั่ง (Coastal Shipping)
ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นมีกองเรือพานิชย์ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก
ปัจจุบันได้มีการพัฒนากองเรือพานิชย์ขึ้นมาเป็นอันนดับหนึ่งของโลก โดยมีระวางบรรทุกรวมประมาณร้อยละ
๑๐ ของทั้งโลก
ในปี พ.ศ.๒๕๒๔ การเดินเรือชายฝั่งดำเนินการโดยบริษัทเอกชนถึงประมาณ ๑๑,๑๐๐
ราย มีจำนวนเรือทั้งสิ้นประมาณ ๑๑,๐๐๐ ลำ ระวางขับน้ำรวมประมาณ ๓.๙๐ ล้านตันกรอส
จำนวนเรือเดินชายฝั่งขนาดใหญ่ จะมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
ตลอดจนเทคโนโลยีตามความเจริญของเศรษฐกิจ
การเดินเรือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น
ดำเนินการโดยบริษัทเอกชนกว่า ๔๐ ราย ในปี พ.ศ.๒๕๒๔มีเรือประมาณ ๑,๐๘๐ ลำ เป็นเรือโดยสารประมาณ
๘๒๐ ลำ เรือบรรทุกน้ำมันประมาณ ๒๖๐ ลำ การพัฒนากองเรือพานิชย์อย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุจำเป็นในการขนส่งวัตถุดิบเข้าประเทศ และเพื่อส่งสินค้าออกสู่ต่างประเทศ
กิจการท่าเรือของญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยมีท่าเรืออยู่ในทุกส่วนของประเทศเช่น
ท่าเรือโยโกฮามา โกเบ โตเกียว คาวาซากิ และอาโกคาเต
การขนส่งทางอากาศ
ญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางการบินที่สายการบินต่าง ๆ ทั่วโลกต้องผ่าน โดยมีสนามบินนานาชาติอยู่หลายแห่งเช่น
สนามบินนาริตะ และสนามบินโอซากา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสนามบินภายในประเทศอีกเป็นจำนวนมาก
บริษัทการบินมีอยู่หลายบริษัท ที่ดำเนินการทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
ซึ่งมีเส้นทางบินไปยังสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง เอเซีย ยุโรป
และแถบขั้วโลกเหนือ
|