ประเทศลาว
ประเทศลาวตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนเหนือของคาบสมุทรอินโดจีน
พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง
มีลักษณะรูปร่างยาวลงมา จากเหนือถึงใต้ ขนานไปตามแนวแม่น้ำโขง และคู่ขนานไปกับประเทศเวียดนาม
มีความยาวจากตอนเหนือสุดในแขวงพงสาลี ถึงตอนใต้สุดในแขวงจำปาสัก ประมาณ ๑,๐๕๐
กิโลเมตร พื้นที่ส่วนกว้างที่สุดจากแขวงหลวงน้ำทา ถึงแขวงซำเหนือ ประมาณ ๕๐๐
กิโลเมตร ส่วนแคบที่สุดอยู่ทางตอนกลางจากเมืองท่าแขกในแขวงคำม่วนถึงช่องมุเกีย
ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร รูปร่างจึงดูคล้ายเห็ดโคน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ
๒๓๗,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไทย มีความยาวของเส้นพรมแดนโดยรอบประมาณ
๙,๓๕๐ กิโลเมตร ไม่มีพื้นที่ส่วนใดติดต่อกับทะเล หรือมหาสมุทร มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศข้างเคียงดังนี้
ทิศเหนือ
จดรัฐฉานของประเทศพม่า และมณฑลยูนานของประเทศจีน มีเทือกเขาวูเลียงซานเป็นแนวเขตแดน
แนวพรมแดน ติดต่อกับประเทศพม่า ยาวประมาณ ๒๑๐ กิโลเมตร แนวพรมแดนติดต่อกับประเทศจีน
ยาวประมาณ ๒๖๐ กิโลเมตร
ทิศตะวันออก
จดประเทศเวียดนาม มีเทือกเขาอันนัม
เป็นแนวเขตแดน พรมแดนยาวประมาณ ๑,๗๔๐ กิโลเมตร
ทิศใต้
จดจังหวัดรัตนคีรี และสตึงเตรงของประเทศกัมพูชา พรมแดนยาวประมาณ ๔๐๐ กิโลเมตร
ทิศตะวันตก
จดประเทศไทย มีเทือกเขาผีปันน้ำเป็นเส้นเขตแดนตั้งแต่อำเภอเชียงคาน
จังหวัดเลย ขึ้นไปถึงจังหวัดเชียงราย และมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดน
ตั้งแต่อำเภอเชียงของ จังหวัดเลย ลงไปทางใต้ถึงจังหวัดอุบลราชธานี พรมแดนยาวประมาณ
๑,๕๒๐ กิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ
ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงและที่ราบต่ำ ที่ราบสูงประกอบด้วย ภูเขา
และหุบเขา จุดสูงสุดประมาณ ๙,๐๐๐ ฟุต เต็มไปด้วยป่าไม้ พื้นที่ประมาณร้อยละ
๘๐ ของประเทศเป็นพื้นที่แห้งแล้วไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก พื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง
ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ ๒๐ ของประเทศ มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปอาจแบ่งออกได้เป็นสามภาคคือ
ภาคเหนือ
ภูมิประเทศเป็นทิวเขาสลับซับซ้อน ประกอบด้วยพื้นที่สามส่วนคือ
พื้นที่ภูเขาบริเวณลุ่มแม่น้ำจู
กับลำน้ำสาขาต่าง ๆ
พื้นที่ราบสูงตรานนินท์
อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๓,๖๐๐ - ๔,๕๐๐ ฟุต เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำต่าง
ๆ
พื้นที่บริเวณหุบเขาลุ่มแม่น้ำโขง
บริเวณนี้เป็นภูเขาสลับซับซ้อน บางแห่งเป็นที่ราบสูง ปกคลุมไปด้วยป่าทึบ มีที่ราบบริเวณเชิงเขาอยู่เพียงเล็กน้อย
ภาคกลาง
เป็นพื้นที่บริเวณตอนกลางของประเทศ เป็นที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับการเพาะปลูก
แบ่งเป็นสองส่วนคือ
พื้นที่ด้านตะวันออกของประเทศ
เป็นป่าทึบ ภูเขาและที่ราบสูง ติดต่อกับเทือกเขาอันนัม
พื้นที่ด้านตะวันตกของประเทศ
เป็นที่ราบลุ่มบริเวณชายฝั่งแม่น้ำโขงและสาขาของแม่น้ำโขง พื้นดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก
ภาคใต้
เป็นบริเวณที่ราบและที่ราบสูง ได้แก่บริเวณที่ราบสาละวัน
กับพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำเซกองตอนเหนือ และบริเวณที่ราบสูงโบโลเวนส์
เทือกเขาและแม่น้ำสำคัญ
เทือกเขาอันนัม
เป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างประเทศลาวกับประเทศเวียดนาม ทอดยาวตั้งแต่ที่ราบสูงธิเบตลงมาทางใต้
ในเขตแดนของประเทศลาว และประเทศเวียดนาม เป็นแนวสันปันน้ำ มียอดสูงประมาณ
๘,๐๐๐ ฟุต เป็นแนวยาวติดต่อกันโดยตลอด มีช่องทางผ่านได้สามแห่งคือ ช่องแก้วเหนือ
กับช่องมูย่า
ในเขตจังหวัดคำม่วนสองแห่ง กับช่องลาวบาวที่สวันเขตอีกหนึ่งแห่ง
ทางด้านตะวันตกของเทือกเขา ซึ่งอยู่ในเขตแดนของประเทศลาวเป็นที่ราบสูงคำม่วน
ถัดออกไปทางทิศตะวันตกเป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง เหนือที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง
ทางด้านตะวันออกของปากเซ ขึ้นไปเป็นที่ราบสูงโบโลเวนส์
ซึ่งสูงลาดเอียงขึ้นไปประมาณ
๓,๕๐๐ ฟุต
เทือกเขาหลวงพระบาง
กั้นพรมแดนไทยกับลาวทางตอนเหนือ
เทือกเขาพนมดงรัก
กั้นพรมแดนไทยกับลาวทางตอนใต้
เทือกเขาวูเลียงซาน
กั้นพรมแดนลาวกับจีน
แม่น้ำโขง
เป็นแม่น้ำที่สำคัญที่สุดของลาว เป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับลาวทางด้านทิศตะวันตกตลอดแนวตั้งแต่จังหวัดเลย
จนถึงจังหวัดอุบลราชธานีของไทย ริมฝั่งแม่น้ำเป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่ ๆ และมีประชากรอยู่หนาแน่น
ความยาวของแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศลาวประมาณ ๑,๘๐๐ กิโลเมตร ลักษณะทั่วไปเป็นแกะแก่งและโขดหินอยู่เป็นจำนวนมาก
กระแสน้ำเชี่ยวมากมีตลิ่งที่สูงชัน ความกว้างของแม่น้ำจะค่อย ๆ กว้างมากขึ้นตามลำดับเมื่อไหลลงสู่ตอนใต้
แต่ความแรงของกระแสน้ำไม่ลดลงมากนัก
แม่น้ำอื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นสาขาของแม่น้ำโขง ที่สำคัญได้แก่ ลำน้ำอู
ลำน้ำงึม และลำน้ำทา
ซึ่งอยู่ในเขตภาคเหนือ ส่วนในภาคกลาง และภาคใต้ มีลำน้ำกระดิ่ง ลำน้ำเซบั้งไฟ
และลำน้ำเซบังเหียน
ประชากร
ประชากรของลาวประกอบด้วยชนหลายเชื้อชาติ รวมทั้งชนกลุ่มน้อยเผ่าต่าง ๆ
แยกออกได้ดังนี้
เชื้อชาติลาว
เป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ ประมาณร้อยละ ๔๗ มีขนบธรรมเนียมประเพณีและภาษาพูดคล้ายคลึงกับคนไทย
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง มีอาชีพทางเกษตรกรรม
เชื้อชาติภูเทิงหรือข่า
มีอยู่ประมาณร้อยละ ๒๕
เชื้อชาติไต
มีอยู่ประมาณร้อยละ ๑๓
ชนชาวเขาเผ่าต่าง ๆ
เช่น เย้า ม้ง(แม้ว) ลาวโซ่ง และอื่น ๆ อาศัยอยู่ตามยอดเขาและที่ราบสูง
มีอยู่ประมาณร้อยละ ๑๙
ชาวจีน
อาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจการค้าตามเมืองสำคัญต่าง
ๆ เช่น เวียงจันทน์ ปากเซ สวันเขตหลวงพระบาง และห้วยทราย
ชาวเวียดนาม
มีอยู่ประมาณร้อยละ ๒ ดำเนินธุรกิจการค้าอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ
วัฒนธรรมและลักษณะประจำชาติ
มีความซื่อสัตย์สุจริต กล้าหาญ อดทน รักอิสระเสรี รักหมู่คณะ ไม่ชอบการเบียดเบียนข่มเหง
เป็นชาติที่รักสงบ มีความเคารพนับถือในบรรพบุรุษ นับถืออาวุโสทางอายุเป็นเกณฑ์สำคัญ
มีอิสระในการเลือกคู่ครอง และมักจะศึกษาจิตใจกันก่อน ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวใหญ่
เช่นเดียวกับชาวไทยทั่วไป
การแต่งกาย
ผู้หญิงนิยมเกล้าผม นุ่งผ้าซิ่น และมีสไบเฉียงพาดไหล่ ผู้ชายแต่งกายเช่นเดียวกับคนไทยในภาคอีสาน
ส่วน
ชาวเขาเผ่าต่าง
ๆ นิยมแต่งกายตามประเพณีของเผ่า
ที่อยู่อาศัย
บ้านเป็นหลังคาทรงแหลมชะลูด ยกพื้น สร้างด้วยไม้
อาหารการกิน
อาหารหลักคือข้าวเหนียวและลาบ เช่นเดียวกับชาวอีสานของไทย
การดนตรี
เครื่องดนตรีประจำภาคคือ แคน และการแสดงคือ หมอลำแคน ส่วนการฟ้อนรำและดนตรีส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากไทย
ภาษา
ภาษาทางราชการคือ ภาษาลาว สำหรับภาษาฝรั่งเศสยังคงมีใช้อยู่ทั่วไป แต่ไม่ถือว่าเป็นภาษาทางราชการ
รัฐบาลได้ทำการฟื้นฟูภาษาลาว และตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงภาษาลาว ออกอากาศไปทั่วโลก
ภาษาพูดประจำชาติลาว แม้จะสามารถพูดกันเข้าใจได้ทั่วประเทศ แต่สำเนียงการพูดแตกต่างกันไปตามแต่ละภาค
ทำให้รู้ได้ว่าผู้พูดเป็นคนภาคใด กล่าวคือ
คนลาวทางหลวงพระบาง มีสำเนียงพูดคล้ายคนไทยทางภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่
คนลาวตั้งแต่เวียงจันทน์จนถึงสีทันดอน มีสำเนียงพูดคล้ายคนไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สำหรับชาวเผ่าต่าง ๆ ใช้ภาษาของตนเอง ต่างไปจากภาษาลาว เช่น ภาษาแม้ว เย้า
ย้อ อีก้อ เป็นต้น
ศาสนา
ชาวลาวนับถือพุทธศาสนาประมาณร้อยละ ๕๐ นับถือผีและอื่น ๆ ประมาณร้อยละ
๕๐
นับแต่ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบการปกครองประชาธิปไตยแผนใหม่ที่ยึดถือทฤษฎีมาร์กซ์
- เลนิน เป็นหลักในการวางรูปการปกครอง ศาสนาคริสต์ถูกกำจัดเป็นอันดับแรก
พุทธศาสนา
ทางการยังไม่ค่อยกล้าเข้าไปแตะต้องอย่างชัดแจ้งนัก จึงได้ดำเนินนโยบายให้พระภิกษุสามเณรมีส่วนร่วม
ในสังคมนิยมมากขึ้น การจัดงานบุญต่าง ๆ ต้องจัดอย่างง่าย ๆ จะทำใหญ่โตอย่างเดิมไม่ได้
เพราะจะเป็นการสิ้นเปลือง และเสียเวลาในการทำมาหากิน
ลาวมีวัดในพระพุทธศาสนาอยู่ทั่วประเทศประมาณ ๓,๐๐๐ วัด มีพระภิกษุสามเณรอยู่ประมาณ
๑๕,๐๐๐ รูป
ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ ทางการลาวได้กำหนดนโยบายทางด้านศาสนาใหม่ที่สำคัญคือ
- จำกัดสิทธิและพิธีทางศาสนาให้เหลือน้อยที่สุด
- ในแต่ละเมืองให้มีวัดได้ไม่เกินสามวัด แต่ละวัดมีพระภิกษุสามเณรได้ไม่เกิน
๑๒ รูป
- การแสดงพระธรรมเทศนา ต้องมีสาระสำคัญ ทั้งตามนโยบายของรัฐ และตามจารีตประเพณีอย่างละเท่า
ๆ กัน
- ห้ามพระภิกษุสามเณรรับจตุปัจจัยจากการประกอบพิธีทางศาสนา
คริสตศาสนา
ฝรั่งเศสนำเข้าไปเผยแพร่สมัยที่ลาวตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ประชาชนลาวนับถือคริสตศาสนารองลงมาจากพุทธศาสนา
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบคอมมิวนิสต์ คริสตศาสนาได้ถูกกำจัดเป็นอันดับแรกด้วยการขับไล่นักบวชในคริสตศาสนาออกนอกประเทศ
โดยกล่าวหาว่า บาทหลวงเป็นพวกสายลับของประเทศจักรวรรดินิยม ต้องขจัดออกไป
ส่วนโบสถ์ในคริสตศาสนาก็ใช้เป็นที่ทำการต่าง ๆ สัญลักษณ์ต่าง ๆ ของคริสตศาสนาถูกรื้อถอน
และทำลายหมด
ศาสนาและลัทธิอื่น
ประชาชนลาวนับถือผีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในหมู่ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ การนับถือผี
และบรรพบุรุษของแต่ละเชื้อชาติ แตกต่างกันออกไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี ที่สืบทอดกันมา
และได้นำมาปะปนกันกับพุทธศาสนาอย่างแยกกันไม่ออก
ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ คณะปกครองได้ออกระเบียบ และวิธีปฎิบัติเกี่ยวกับสาสนา เพื่อบีบบังคับยิ่งขึ้นโดยกำหนดให้วัดต้องเสียภาษีให้รัฐวัดละ
๕๐ กีบต่อปี พระภิกษุสามเณรต้องเสียภาษีให้รัฐรูปละ ๑๐ กีบ ต่อเดือน ถาขัดขืนจะได้รับโทษถึงขั้นต้องลาสิกขา
ทุกรูปต้องทำงานปลูกผักสวนครัว ไม่ส่งเสริมให้มีการบวชเพิ่มขึ้น ผู้ที่ต้องการบวชต้องขออนุญาตไปยังประธานเมือง
ซึ่งคณะเมืองจะเป็นผู้พิจารณา
จารีตประเพณี
วัฒนธรรมจารีต ที่มีการปฎิบัติสืบต่อกันมา เรียกว่า ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ฮีตยี่คองเจียว
ฮีตไภ้คองเชย ฮีตผัวคองเมีย
นอกจากบุญประเพณีสิบสองเดือน ที่ปรากฎในฮีตสิบสองแล้ว ชาวลาวยังมีการทำบุญอื่น
ซึ่งนับว่าเป็นประเพณีของลาว คู่กับฮีตสิบสองคือ ประเพณีทำบุญขึ้นบ้านใหม่
ประเพณีบุญกองบวชกองหด ประเพณีแต่งงาน (แต่งดอง) ประเพณีบายสีสู่ขวัญ ประเพณีบุญสู่วัวสู่ขวัญควาย
ประเพณีวันกรรม (ออกลูก) ประเพณีวันเฮือนดี (ศพคนตาย) ประเพณีผิดผี ประเพณีข่วง
(บ่าวสาวลงข่วง) ประเพณีเต้าข่วง (เลี้ยงผี) ประเพณีแฮกนาขวัญ ประเพณีเลี้ยงผีปู่ผีตา
ประเพณีเลี้ยงผาตาแฮก และเลี้ยงผีปู่ตา
|