ประเทศมาเลเซีย


            ประเทศมาเลเซียในปัจจุบันแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรเรียกว่า มาเลเซียตะวันตก และส่วนที่อยู่ในเกาะบอร์เนียว เรียกว่า มาเลเซียตะวันออก ทั้งสองส่วนนี้ประกอบด้วยรัฐต่าง ๆ ๑๓ รัฐ อยู่ในมาเลเซียตะวันตก ๑๑ รัฐ อยู่ในมาเลเซียตะวันออก ๒ รัฐ
                มาเลเซียตะวันตก หรือที่เรียกว่า เพนนินซูลามาเลเซีย (Peninsula Malasia) ประกอบด้วยรัฐต่าง ๆ จำนวน ๑๑ รัฐ ตั้งอยู่ปลายคาบสมุทรอินโดจีน
                มาเลเซียตะวันออก อยู่ในเกาะบอร์เนียว ทางด้านเหนือต่อจากกาลิมันตันของอินโดนิเซีย ประกอบด้วยรัฐสองรัฐคือ รัฐซาราวัค และรัฐซาบาห์ โดยมีประเทศบรูไน ตั้งอยู่ระหว่างกลางของรัฐทั้งสอง
                มาเลเซีย มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ ๓๒๙,๐๐ ตารางกิโลเมตร ประมาณสองในสามของพื้นที่ประเทศไทย มีพรมแดนโดยทั่วไปคือ
                    ทิศเหนือ  ติดต่อกับประเทศไทย ในเขตรัฐห้ารัฐด้วยกัน เรียงจากตะวันตกไปตะวันออกคือ รัฐเปอร์ลิส รัฐเคดาห์ รัฐเปรัค และรัฐกลันตัน
                    ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  ติดต่อกับทะเลซูลู ใกล้หมู่เกาะฟิลิปปินส์
                    ทิศตะวันออก  ติดต่อกับทะเลจีนใต้
                    ทิศใต้ ติดต่อกับช่องแคบยะโฮร์ ซึ่งกั้นระหว่างประเทศมาเลเซียกับประเทศสิงคโปร์ และประเทศอินโดนิเซีย
                    ทิศตะวันตก  ติดต่อกับทะเลอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดีย และช่องแคบมะละกา ซึ่งกั้นระหว่างมาเลเซียกับเกาะสุมาตรา ของอินโดนิเซีย
                    รัฐต่าง ๆ ของมาเลเซีย มีที่ตั้งและขนาดพื้นที่ดังนี้
                รัฐกลันตัน (Kelantan)  อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ติดต่อกับจังหวัดนราธิวาสของไทย มีพื้นที่ประมาณ ๑๔,๙๐๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองโกตาบารู เป็นเมืองหลวง เป็นแหล่งวัฒนธรรมเก่าแก่ของมาเลเซีย
                รัฐเปรัค (Perak) ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู มีอาณาเขตตอนบนติดต่อกับจังหวัดยะลา และนราธิวาสของไทย มีพื้นที่ประมาณ ๒๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองอิโปห์ เป็นเมืองหลวง
                รัฐเปอร์ลิส (Perlis)  ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทย ที่จังหวัดสตูล และสงขลา มีพื้นที่ประมาณ ๘๐๐ ตารางกิโลเมตร จัดว่าเป็นรัฐที่มีพื้นที่น้อยที่สุด ในบรรดา ๑๓ รัฐ มีเมืองกางาร์ เป็นเมืองหลวง มีฐานะเป็นราชนคร เพราะเป็นที่ประทับของสุลต่านของรัฐ
                รัฐเคดาห์ (kasah)  ตั้งอยู่ตอนบนของมาเลเซียตะวันตก มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทย ที่จังหวัดยะลา และสงขลา มีพื้นที่ประมาณ ๙,๔๐๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองลอรัสตา เป็นเมืองหลวง เป็นรัฐที่มีภูมิประเทศ ประชากร และศิลปวัฒธรรมคล้ายคลึงกับประเทศไทย และมีคนมาเลเซียเชื้อสายไทย อาศัยอยู่มากที่สุด
                รัฐยะโฮร์ (Jahor)  อยู่ทางตอนใต้สุดของมาเลเซียตะวันตก ติดต่อกับประเทศสิงคโปร์ มีพื้นที่ประมาณ ๑๙,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองยะโฮร์บารู เป็นเมืองหลวง เป็นรัฐที่มั่งคั่งที่สุด
                รัฐมะละกา (Melaka)  อยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะโฮร์ ทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู มีพื้นที่ประมาณ ๑,๖๕๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองมะละกา เป็นเมืองหลวง ถือว่าเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของมาเลเซีย และมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ
                รัฐนครีเซมบิลัน (Negrisembian)  ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐมะละกา ทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู มีพื้นที่ประมาณ ๖,๖๕๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองเซเรมบัน เป็นเมืองหลวง และเป็นเมืองท่าที่มีชายฝั่งทะเลสวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อน
                รัฐปาหัง (Pahang)  อยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะโฮร์ ทางฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู เป็นรัฐที่มีพื้นที่ประมาณ ๓๖,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร นับว่าเป็นรัฐที่มีพื้นที่มากที่สุด ของมาเลเซียตะวันตก มีเมืองกวนตัง เป็นเมืองหลวง เป็นรัฐเก่าแก่ที่มีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอยู่มาก
                รัฐปีนัง (Penang)  เป็นเกาะและมีพื้นที่เป็นดินแดนบางส่วนอยู่เหนือรัฐเปรัค อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู มีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองยอร์ช ทาวน์ เป็นเมืองหลวง เป็นรัฐที่มีความสมบูรณ์ในทุกด้าน ได้สมญานามว่า ไข่มุกแห่งตะวันออก
                รัฐเซลังงอร์ (Selangor)  ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู อยู่ระหว่างรัฐเปรัค กับรัฐนครีเซมปิลัน มีพื้นที่ประมาณ ๘,๒๐๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองซาห์อะลาม เป็นเมืองหลวง และมีเมืองเกลัง เป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุด
                รัฐตรังกานู (Terngganu)  อยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู อยู่ทางด้านเหนือของรัฐปาหัง มีพื้นที่ประมาณ ๑๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร  มีเมืองกัวลาตรังกานู เป็นเมืองหลวง
                รัฐซาบาห์ (Sabah)  ตั้งอยู่ตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว มีพื้นที่ประมาณ ๗๓,๗๐๐ ตารางกิโลเมตร มีเมืองโกตาคินาบารู เป็นเมืองหลวง พื้นที่สองในสามเป็นป่าไม้ และภูเขา ยอดเขาโกตาคินาบารู เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในมาเลเซีย
                รัฐซาราวัค (Sarawak)  อยู่ทางฝั่งทะเลทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของเกาะบอร์เนียว มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๔,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร นับว่าเป็นรัฐที่มีพื้นที่มากมี่สุดของมาเลเซีย มีเมืองคุชชิง เป็นเมืองหลวง มีชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่มาก มีชาวมาเลย์ และชาวจีน อาศัยอยู่น้อย
                นอกจากนี้ยังมีเขตสหพันธรัฐอีกสามเขต ได้แก่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เกาะลาบวน และเมืองปุตราจายา อยู่ภายใต้สหพันธรัฐ (รัฐบาลกลาง) ไม่ขึ้นอยู่กับเขตใด โดยเฉพาะกรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นเมืองหลวงของประเทศ และเมืองปุตราจายา เป็นเมืองราชการ
ลักษณะภูมิประเทศ
                มาเลเซียตะวันตก  ตั้งอยู่บนแหลมมลายู ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่าไม้ ภูเขา และหนองบึง ประมาณร้อยละ ๗๐ ของพื้นที่
                บริเวณชายฝั่งตะวันตก ที่ติดกับมหาสมุทรอินเดีย และช่องแคบมะละกา เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ชายฝั่งเต็มไปด้วยหนองบึง และป่าไม้โกงกาง ผิวดินเป็นดินเหนียว และโคลนตม คงมีเหลือพื้นที่ราบซึ่งเป็นดินทรายบางบริเวณ พื้นดินตอนในห่างจากบริเวณที่ราบชายฝั่งสองด้าน ค่อย ๆ เปลี่ยนระดับเป็นที่ราบสูง บริเวณเชิงเขา พื้นดินส่วนใหญ่เป็นดินแดง และดินปนทราย ดินเหนียวและดินลูกรัง
                มาเลเซียตะวันออก  ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียวตอนเหนือ ลักษณะภูมิประเทศแบ่งออกได้เป็นสามส่วนคือ
                ที่ราบชายฝั่ง และริมทะเลมีหนองบึง และป่าโกงกาง ที่เชิงเขา และทิวเขาสูงมีความสูงชัน มีเหวลึกปกคลุมด้วยป่าทึบยากแก่การสัญจร มียอดเขาสูงสุดอยู่ทางภาคเหนือ มีลักษณะผิวดินแตกต่างกันออกไป บริเวณพื้นที่รอบชายฝั่งส่วนใหญ่เป็นประเภทดินเหนียว และดินโคลนตม ซึ่งมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา ในบริเวณบางแห่งมีกรวดทรายปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก
            เทือกเขา  เทือกเขาสำคัญของมาเลเซียประกอบด้วยเทือกเขาบินดัง เทือกเขาโกฮิมหรือเทือกเขากลาง เทือกเขาตรังกานู ในแหลมมลายู และเทือกเขากินาบาลู ในเกาะบอร์เนียว ซึ่งมียอดเขาโกตาคินาบาลูเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในมาเลเซีย
            แหล่งน้ำ  ในแหลมมลายูมีแม่น้ำสายสำคัญได้แก่ แม่น้ำคาดาห์ แม่น้ำซุนดา แม่น้ำเกรียน แม่น้ำเปรัค แม่น้ำปาหัง แม่น้ำกลันตัน แม่น้ำมุดา แม่น้ำเบอร์นัม แม่น้ำสลังงอร์และแม่น้ำกลัง
            ในเกาะบอร์เนียวมีแม่น้ำสายสำคัญได้แก่ แม่น้ำรายัง มีความยาวประมาณ ๕๖๐ กิโลเมตร  แม่น้ำมาลุย ยาวประมาณ ๔๐๐ กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำกินาบาดางัน
            ชายฝั่งทะเล ในแหลมมลายูฝั่งทะเลด้านตะวันออกติดต่อกับทะเลจีนใต้ ลักษณะท้องทะเลในบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ลาดชัน พื้นที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยปะการัง และหินใต้ทะเลน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก เหมาะแก่การเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำต่าง ๆ ฝั่งทะเลมีความยาวประมาณ ๑,๙๐๐ กิโลเมตร  บริเวณชายฝั่งมีความลึกตั้งแต่ ๑๒๐ - ๓๐๐ ฟุต เป็นหาดทรายยาวเหยียดติดต่อกัน มีที่ราบลุ่มอยู่เป็นบางตอน ฝั่งทะเลด้านตะวันตกเป็นหาดเลน พื้นที่ลึกเข้าไปในบริเวณชายฝั่งเป็นที่ลุ่ม และหนองบึง และป่าไม้โกงกาง คงมีเฉพาะบางแห่งเท่านั้นที่มีหาดทราย
            ในเกาะบอร์เนียว ฝั่งทะเลบริเวณใต้สุดของทะเลจีนใต้ ท้องทะเลในบริเวณดังกล่าวมีความลึกพอสมควร มีกลุ่มหินปะการังอยู่เป็นหย่อม ๆ ในระยะลึก นอกจากนั้นยังมีหินใต้น้ำอยู่เป็นบางตอนในบริเวณใกล้ชายฝั่ง เป็นอุปสรรคในการเดินเรือใกล้ฝั่ง บริเวณฝั่งทะเลรัฐซาราวัคมีความลึกใกล้ฝั่งประมาณ ๒๐ - ๓๐ ฟุต  ห่างออกไปจากฝั่ง บางพื้นที่ลึกมาก บางแห่งลึกประมาณ ๒๐๐ - ๓๐๐ ฟุต
            บริเวณชายฝั่งของรัฐซาบาห์ ทิศเหนือติดต่อกับทะเลจีนใต้ ความลึกของทะเลมีมากกว่ารัฐซาราวัค
ประชากร
            มาเลเซียในแหลมมลายู มีประชากรอยู่หนาแน่น บริเวณที่ราบชายฝั่งตะวันตก โดยมีประชากรประมาณร้อยละ ๘๒ รองลงมาคือ บริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนที่อยู่ในเกาะบอร์เนียว มีประชากรอยู่หนาแน่น บริเวณที่ราบชายฝั่งทางตอนใต้ของรัฐซาราวัค แถบบริเวณแม่น้ำ
            ความแตกต่างของเชื้อชาติ  สังคมของมาเลเซียมีลักษณะเป็นพหุสังคม (Multi - Racial Society) ประกอบด้วยประชากร
แตกต่างกันทางเชื้อชาติได้แก่ เชื้อชาติมลายู เชื้อชาติจีน และเชื้อชาติอินเดีย แต่ละเชื้อชาติมีความแตกต่างกันทางภาษา ศาสนาวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่
            ก่อนอังกฤษเข้ามามีอำนาจในแหลมมลายู ปัญหาความแตกต่างทางเชื้อชาติในสังคมยังไม่เด่นชัด แม้ว่าจะมีชาวต่างชาติเช่น ชาวจีน เข้ามาทำการค้ากับชาวพื้นเมืองมานานแล้วก็ตาม บรรดาชาวจีนดังกล่าวมีทั้งเข้ามาค้าขาย และตั้งหลักแหล่งในแหลมมลายูตามเมืองท่า และเกาะต่าง ๆ ในช่องแคบมะละกามาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ แล้ว ชุมชนชาวจีนในยุคดังกล่าวจะปรับตัวเข้ากับสังคมชาวพื้นเมืองโดยพูดภาษา แต่งกายและแต่งงานกับชาวพื้นเมือง ทำให้เกิดความกลมกลืนทางวัฒนธรรมกับชาวพื้นเมือง
            ภายหลังที่บริษัทอินเดียตะวันตกของอังกฤษ ได้เข้ามามีอำนาจ และบทบาทในแหลมมลายู ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ก็เกิดมีเพิ่มขึ้น ชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน และชาวอินเดียที่เข้ามาเป็นแรงงานในเหมืองแร่ดีบุก และในไร่การเพาะปลูกขนาดใหญ่ของอังกฤษ ได้รวมกลุ่มกันตามเชื้อชาติ รัฐบาลอังกฤษให้ความคุ้มครองแรงงานดังกล่าว ในขณะที่ชาวมลายูในการปกครองของสุลต่านของแต่ละรัฐ ดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิม ส่วนใหญ่เป็นชาวนาและชาวประมง
            ชาวจีนส่วนใหญ่ทำมาหากินจนร่ำรวย และคุมเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไว้ ส่วนชาวมลายูถือตนว่าเป็นบุตรแห่งแผ่นดิน (ภูมิบุตร) เหนือกว่าชนชาติอื่น ๆ ที่อยู่ในแหลมมลายูด้วยกัน มีอาชีพหลักทางเกษตรกรรม และมีฐานะยากจน  ส่วนชาวอินเดียที่อังกฤษนำมา จากประเทศอินเดีย เพื่อทำงานเกษตรกรรม และงานกรรมกรก็ยังอยู่ในสภาพเดิม
            เมื่อได้รับเอกราชจากอังกฤษ ชาวภูมิบุตรจึงได้เป็นผู้บริหารประเทศ รัฐบาลของชาวภูมิบุตรได้ให้สิทธิพิเศษแก่ชาวภูมิบุตร
เหนือกว่าชาวมาเลเซียเชื้อชาติอื่น ๆ
            คุณลักษณะของประชากร  เนื่องจากชาวมาเลเซียมีหลายเชื้อชาติและยังมีชนเผ่าน้อยในรัฐซาบาห์ และซาราวัค ทำให้เกิดเป็นชาติพันธุ์ลูกครึ่งเชื้อชาติต่าง ๆ มาก
            ชนกลุ่มแรกในแหลมมลายูได้แก่ ชาวโอรัง อัสลี  ตามมาด้วยชาวมาเลย์ และชนชาติอื่น ๆ ได้แก่ จีน อินเดีย และชาวยุโรป ส่งผลให้มีขนบธรรมเนียมประเพณีมากมาย และหลากหลายทางวัฒนธรรม
                ชาวโอรัง อัสลี  คำว่าโอรัง อัสลี เป็นภาษามลายู หมายถึงชนชาติดั้งเดิม ประกอบด้วยกลุ่มใหญ่สามกลุ่มและเผ่าเล็กเผ่าน้อยอีกกว่า ๒๐ เผ่า ประมาณร้อยละ ๙๐ อาศัยอยู่ในชนบท อีกส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ตามชานเมือง กลุ่มโอรังอัสลีมีชื่อเรียกว่า ซาไกหรือทาสขัดดอก
                ชนกลุ่มเก่าแก่ที่สุดบนแหลมมลายูคือพวกเนกริโต ซึ่งเข้ามาในแหลมมลายูเมื่อประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นโอรังอัสลีกลุ่มใหญ่ที่สุด โดยมากพวกนี้จะมีผิวคล้ำและผมหยิกฝอย มีรูปร่างหน้าตาเฉพาะตัวคล้ายชาวปาปัวนิวกินี หรือแอฟริกาตะวันออก  ส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือของแหลมมลายู และเป็นโอรังอัสลีเพียงกลุ่มเดียว ที่เป็นชนเร่ร่อนมีการทำการเพาะปลูกน้อยมาก ชอบย้ายหลักแหล่ง
                ชนกลุ่มใหญ่รองลงมาคือ พวกเชนอย  เชื่อกันว่ามีบรรพบุรุษร่วมกับชาวเขาทางเหนือของกัมพูชาและเวียดนาม เข้ามาอยู่ในแหลมมลายู เมื่อประมาณ ๖,๐๐๐ - ๘,๐๐๐ ปีมาแล้ว  ส่วนใหญ่จะทำไร่เลื่อนลอย เมื่อดินจืดก็ย้ายหลักแหล่ง มีอยู่เป็นจำนวนมากในที่ราบสูงคาเมรอน กลายเป็นแรงงานรับจ้างในไร่ชา
                ชนอีกกลุ่มหนึ่งคือ โปรโตมาเลย์ อพยพมาจากเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย เข้ามายังแหลมมลายูเมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ ปีก่อน ชาวมาเลย์รุ่นใหม่ มีบรรพบุรุษร่วมกับชนกลุ่มนี้อยู่ไม่น้อย
                ชาวมาเลย์  ชาวมาเลย์ผูกพันกับแผ่นดินจนเรียกตนเองว่า ภูมิบุตรา หรือบุตรของแผ่นดิน  เป็นคนใจกว้าง เอื้อเฟื้อ ยิ้มง่ายและมีอารมณ์ขัน ชาวมาเลย์ในชนบท จะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ทำไร่ทำนา และรักใคร่กันในหมู่บ้านเดียวกัน
                อย่างไรก็ดีชาวมาเลย์ในเมืองจะแตกต่างจากในชนบทมาก จะมีวิถีชีวิตบางอย่าง เช่น การแต่งกายแบบชาวตะวันตก แต่ชาวมาเลเซียยังคงมีน้ำใจเดียวกัน เพราะมีความเชื่อในศาสนาเดียวกัน หลักอิสลามทำให้ชาวมาเลย์แตกต่างจากคนมาเลเซียอื่น ๆ ไม่มีการแต่งงานข้ามชาติมากนัก แม้จะยอมรับมุสลิมชาติอื่น ๆ ก็ตาม ทำให้เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวมาเลย์ มุสิลม ยังคงโดดเด่นไม่เหมือนใคร
                ชาวอินเดีย  คนอินเดียเข้ามาในแหลมมลายูเมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว แต่ชาวอินเดียเริ่มเข้ามาอยู่กันเป็นจำนวนมาก ในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ ส่วนใหญ่มาจากอินเดียตอนใต้ ประมาณร้อยละ ๘๐ เป็นชาวทมิฬ ที่เหลือเป็นชาวซิกข์ เบรกาลี เกราลัน เตลูกู และปาร์ซี มักมีอาชีพกรีดยาง หรือเป็นคนงานในไร่
                ปัจจุบันชาวอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรัฐเซลังงอร์ เปรัค และปีนัง มีอยู่ประมาณร้อยละ ๑๐ ของประชากรทั้งหมด ชาวอินเดียประมาณร้อยละ ๘๐ เป็นชาวทมิฬ ยังคงเป็นแรงงานในไร่ ซึ่งได้เป็นมาตั้งแต่สมัยที่มาเลเซีย ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
                ชาวอินเดียได้นำวัฒนธรรมหลายประการมาสู่มาเลเซีย เช่นเครื่องแต่งกายที่เป็นส่าหรีไหมสีสด อาหารอินเดียรสขัด การร้องรำทำเพลงในฉากต่าง ๆ ของภาพยนต์ รวมทั้งหลักศาสนาฮินดู
                ชาวจีน  มีอยู่ประมาณร้อยละ ๓๐ ของประชากรทั้งหมด มีบทบาทในการควบคุมเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมหลัก เช่น ยาง และดีบุก ชาวจีนเริ่มเข้ามาค้าขายตามเกาะต่าง ๆ ในแหลมมลายู และหมู่เกาะชวา ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ ๑๓ จนถึงสมัยราชวงศ์แมนจู ในช่วงคริสตศตวรรษที่ ๑๙ ได้มีการห้ามชาวจีนออกนอกประเทศ แต่ก็มีชาวจีนหนีออกมา และมาอยู่ในแหลมมลายูเป็นจำนวนมกา โดยเข้ามาทำงานในเหมืองดีบุก ทำถนน และทางรถไฟ ในการนี้ได้นำการสูบฝิ่น และบ่อนการพนันเข้ามาด้วย
                ชุมชนชาวจีน ไม่ยอมรับนับถือวัฒนธรรมมาเลย์ แต่ได้นำประเพณีของตนเข้ามาใช้ ตามกฎหมายแล้ว ชาวจีนทุกคนต้องเรียนภาษามลายู แต่เมื่ออยู่บ้านก็มักจะพูดภาษาจีนกลาง หรือภาษาท้องถิ่น ชาวจีนยึดมั่นในการพึ่งตนเอง และความขยันขันแข็ง ให้ความสำคัญต่อครอบครัว และความผูกพันในพวกพ้อง
                ชาวจีนในมาเลเซียนับถือสามศาสนาคือ พุทธ เต๋า และขงจื้อ
                ปรานากัน  วัฒนธรรมปรานากัน ถือกำเนิดขึ้นเมื่อก่อนพ่อค้าชาวจีน จัดตั้งท่าเรือขึ้นที่มะละกา ตอนต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๕ เกิดการแต่งงานระหว่างพ่อค้าจีน  และหญิงมาเลย์ในท้องถิ่น รวมทั้งสัมพันธไมตรี ระหว่างจักรพรรดิ์ราชวงศ์หมิง กับสุลต่านแห่งมะละกา
                ในปี ค.ศ.๑๔๖๐ สุลต่านมันโชร ชาห์ ทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงฮังลีโป แห่งราชวงศ์หมิง และมาประทับอยู่ที่ บูกกิต จีนา (ภูเขาจีน) พร้อมเชื้อพระวงศ์ที่ยังเยาว์อีก ๕๐๐ องค์ กับนางกำนัลอีกมาก
                ชาวจีนมาเลย์ รุ่นต่อมาจึงได้ชื่อว่า ชาวจีนช่องแคบ หรือปรานากัน  ในภาษามลายู แปลว่า เกิดที่นี่
                เมื่อชาวดัทช์ เข้ามาในตอนต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๘ ก็มีชาวจีนอพยพเข้ามามากขึ้น ทำให้สายเลือดของพวกปรานากัน จางลงแทบจะเป็นจีนเต็มตัว แต่เอกลักษณ์ของปรานากันซึ่งรวมเอาส่วนดีของวัฒนธรรมมาเลย์ และจีนเข้าด้วยกัน ยังคงมีให้เห็นในเครื่องแต่งกายมาเลย์ เช่น ซารุง กาบายา อาหารแบบเฉพาะตัว
                วัฒนธรรมปรานากัน รุ่งเรืองสูงสุดในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ มีศูนย์กลางอยู่ที่มะละกา นอกจากนั้นก็มีอยู่ที่ปีนัง และสิงคโปร์
                ชาวยูเรเซีย  เมื่อชาวโปร์ตุเกสล้มระบบสุลต่านของมะละกาสำเร็จ ในปี ค.ศ.๑๕๑๑ (พ.ศ.๒๑๕๔) ผู้ปกครองคนใหม่ พยายามเข้าควบคุม โดยสนับสนุนให้ชาวโปร์ตุเกสแต่งงานกับหญิงชาวพื้นเมือง ชุมชนลูกครึ่งเติบโตขึ้นมาด้วยสำนึกในชาติโปร์ตุเกส และคริสตศาสนา และรักษาประเพณีตามเชื้อสายยุโรป โดยสืบทอดตำราอาหาร บางคนยังพูดภาษาคริสเตา ซึ่งเป็นภาษาถิ่นทางตะวันออกเฉียงใต้ของโปร์ตุเกส สมัยกลางในยุโรปซึ่งเลิกใช้แล้ว แต่ยังคงใช้กันอยู่ในบางส่วนของมาเลเซีย
                ซาราวัคและซาบาห์  เป็นประชากรที่มีเชื้อสายหลากหลายที่สุดในมาเลเซีย ส่วนใหญ่เป็นชาวมองโกลลอยด์ ที่อพยพมาจากกาลิมันตัน อินโดนิเซีย
    สภาพความเป็นอยู่ของประชากรในเมืองและชนบท
                ชาวมาเลย์ ภูมิบุตร หรือชาวมาเลย์มุสลิม  คือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม พูดภาษามลายู ซึ่งถือว่าเป็นภาษาประจำชาติ และปฎิบัติตามกฎธรรมเนียมของชาวมาเลย์ (รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐)
                ชาวมาเลย์มีนิสัยสันโดษ รักสงบ ไม่ชอบการแข่งขันและค้าขาย ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ ชาวนา อยู่ตามชนบท ทำให้มีฐานะยากจน และล้าหลังกว่าชาวจีน แต่รัฐบาลมาเลเซียได้จัดโครงการช่วยเหลือให้ได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ เหนือชาวมาเลย์เชื้อสายอื่น ๆ ทำให้ชาวภูมิบุตรมีโอกาสได้รับคัดเลือกเข้ารับราชการมากกว่าชาวมาเลเซียเชื้อสายอื่น
                ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง มีนิสัยขยันขันแข็ง ประกอบอาชีพธุรกิจ การค้าเป็นส่วนใหญ่ เป็นพ่อค้า นักธุรกิจ บางส่วนทำงานในเหมือง หรือสวนยาง มีฐานะร่ำรวยกว่าชาวมาเลย์ เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและสังคม พยายามแสวงหาอำนาจทางการเมือง และต่อสู้เรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้เท่าเทียมกับชาวมาเลย์
                ชาวมาเลย์เชื้อสายอินเดีย  ประกอบอาชีพพ่อค้า ทำงานในโรงแรม ตลอดจนงานด้านบริการในเมือง มีความขยันขันแข็ง สภาพความเป็นอยู่ปานกลาง มีอำนาจต่อรองทางการค้า เศรษฐกิจ และการเมือง รองลงมาจากกลุ่มแรก
ศาสนา
            ศาสนาอิสลามได้เผยแพร่เข้ามาในแหลมมลายู และหมู่เกาะใกล้เคียงเมื่อประมาณกลางคริสตศตวรรษที่ ๑๒ โดยเข้ามาทางฝั่งทะเลแถบเหนือ ตามด้วยฝั่งตะวันตก จนถึงใต้ของเกาะสุมาตรา และแผ่ไปทั่วเกาะสุมาตรา เมื่อประมาณคริสตศตวรรษที่ ๑๔
            เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๙๔๓ เกิดอาณาจักรมะละกาขึ้น มีความเจริญมาก กลายเป็นศูนย์กลางการค้า และการเดินทางทางทะเล การเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ที่มาจากพ่อค้าชาวอาหรับ ได้แพร่ไปทั่วดินแดนแถบนี้ เช่น รัฐปาหัง เคดาห์ ปัตตานี กลันตัน ตรังกานู เซลังงอร์ ยะโฮร์ และเปรัค
            จากประวัติศาสตร์ปรากฎว่า เจ้าผู้ครองนครได้เปลี่ยนจากการนับถือพุทธศาสนา มานับถือศาสนาอิสลาม ได้แก่ เจ้าชายปรเมศวร ที่ได้ลี้ภัยจากเกาะสุมาตรามาอยู่ที่มะละกา
            ศาสนาประจำชาติมาเลเซียคือ ศาสนาอิสลาม ชาวมาเลย์ที่นับถือศาสนาอิสลาม มีประมาณร้อยละ ๕๓ นับถือศาสนาพุทธประมาณร้อยละ ๑๗ นับถือลัทธิเต๋า ประมาณร้อยละ ๑๒ นับถือศาสนาคริสต์ ประมาณร้อยละ ๘ นับถือศาสนาฮินดู ประมาณร้อยละ ๘ และอื่น ๆ ประมาณร้อยละ ๒
            ประเทศมาเลเซีย ได้มีการนำหลักการของคัมภีร์กุรอานในศาสนาอิสลาม เข้ามามีส่วนในการปกครองเช่น ประมุข หรือสุลต่านแห่งรัฐต้องเป็นอิสลามิกชน ถือว่าฐานะของสุลต่านอยู่สูงทั้งทางศาสนาและทางการเมือง การปกครอง สุลต่านจะแต่งตั้งผู้พิพากษาทางศาสนา ซึ่งจะพิจารณาแต่คดี ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม และกฎหมายประเพณีในเรื่องที่เกี่ยวข้องทางด้านศาสนาซึ่งขึ้นอยู่กับกรมกิจการศาสนา
            อิสลามในมาเลเซีย มีทรรศนะที่ว่าจะเป็นอิสลามที่สมบูรณ์แบบ มีความพอเพียงในตนเอง โดยยึดหลักการของศาสนาอิสลามไว้กับชีวิตปัจจุบัน แต่รับความเจริญและวิทยาการสมัยใหม่ไปประยุกต์ใช้ โดยไม่ขัดต่อหลักการอิสลาม ปฏิเสธลัทธิต่าง ๆ  ของชาวตะวันตก
            ปัจจุบันมาเลเซีย มีแนวคิดที่จะเป็นประเทศอิสลามที่พัฒนาแล้วในปี ค.ศ.๒๐๒๐ โดยมีจุดมุ่งหมายที่อารยธรรมอิลสลาม (Civilization Islam) หรือที่เรียกว่าอิสลามหะฎอรีย์ ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนามนุษย์ที่ดีกว่า
            ข้อห้ามในการปฏิบัติ มีข้อปฎิบัติในการอยู่ร่วมกันของประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโต้แย้ง รัฐธรรมนูญจึงได้ห้ามนำเอาประเด็นที่อ่อนไหวเช่น
                - สิทธิในกฎหมายเชื้อชาติมาถกเถียงกันในที่สาธารณะหรือในรัฐสภา เช่นการเป็นพลเมือง การเข้าศึกษา การเข้ารับราชการซึ่งต้องเป็นคนเชื้อสายมลายูเท่านั้น
                - สิทธิในการใช้ภาษา
                - สิทธิในพระราชอำนาจพิเศษของประมุข
            รัฐธรรมนูญมอบให้รัฐต่าง ๆ เป็นฝ่ายดูแลออกกฎหมายเกือบทั้งหมด เกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลามเช่น กฎหมายมรดก การหมั้น การแต่งงาน ที่ห้ามแต่งงานกับคนต่างศาสนา
            ชายหญิงมลายูจะต้องมีจิตสำนึกในการแต่งกายตามประเพณี โดยเฉพาะผู้หญิงวัยผู้ใหญ่จะสวมฮิญาบถึงร้อยละ ๗๐ และให้ผู้หญิงมีบทบาทในที่สาธารณะน้อยลง เพราะถือว่าหน้าที่แรกคือการเป็นภรรยา และมารดาเท่านั้น
            ห้ามการเผยแพร่ศาสนาอื่น ๆ ให้แก่ชาวมุสลิม