| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ภาษาและวรรณกรรม
            ภาษา  ชาวอำนาจเจริญส่วนใหญ่ใช้ภาษาอีสาน เช่นเดียวกับชาวอีสานในจังหวัดอื่น ภาษาอีสานจัดเป็นประเภทภาษาถิ่นของภาษาไทย ส่วนภาษาเขียนใช้ภาษาไทย และอักษรไทย ถ้าเป็นเอกสารโบราณ เช่น หนังสือออก หนังสือก้อน บทสวด และตำนาน นิยมบันทึกด้วยตัวอักษรธรรม เป็นภาษาอีสาน ภาษาบาลี สันสกฤต ภาษาขอม และภาษาไทย
                ภาษาอีสานถิ่นอำนาจเจริญ  มีอยู่สามสำเนียง ได้แก่ สำเนียงอุบล ฯ สำเนียงบ้านน้ำปลีก และสำเนียงชายแดน
                    สำเนียงอุบล ฯ  มีลักษณะห้วน น้ำเสียงแข็ง และหนักแน่น
                    สำเนียงบ้านน้ำปลีก  มีลักษณะช้า และยืดเสียงท้ายคำให้ยาวออกไป มากกว่าสำเนียงอุบล ฯ ทำให้รู้สึกนุ่มนวลกว่า
                    สำเนียงชายแดน  เป็นสำเนียงผสมระหว่างสำเนียงอุบล ฯ และสำเนียงลาว ประชาชนที่อยู่ใกล้ชายแดนแถบอำเภอชานุมาน จะมีสำเนียงลาวผสมอยู่บ้าง
                    ชาวอำนาจเจริญ ส่วนใหญ่พูดสำเนียงอุบล ฯ
                ภาษาผู้ไท  ชาวผู้ไท มีภาษาใช้เฉพาะเผ่าคือ ภาษาผู้ไท เป็นภาษาพูด ไม่ปรากฎว่ามีภาษาเขียน ชาวผู้ไทส่วนใหญ่จะพูดได้ทั้งภาษาอีสาน และภาษาผู้ไท มีหลายหมู่บ้านที่ใช้ภาษาผู้ไทในการสื่อสารประจำวันคือ
                   อำเภอเสนางคนิคม  ที่บ้านนาสะอาด ตำบลเสนางคนิคม
                   อำเภอชานุมาน  ในตำบลคำเขื่อนแก้ว มีบ้านคำเดือย บ้านเหล่าแก้วแมง และบ้านสงยาง ในตำบลชานุมาน มีบ้านโนนกุง และบ้านหินสิ่ว ในตำบลโคกก่ง มีบ้านหินกอง บ้านบุ่งเขียว บ้านนางาม และบ้านพุทธรักษา
                ภาษาข่า  พวกข่าเป็นชาวพื้นเมืองดั้งเดิม ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามสองฝั่งแม่น้ำโขง มีวัฒนธรรมกลมกลืนกับชาวพื้นเมืองในท้องถิ่น เช่น พวกส่วย และลาว ชาวบ้านที่ใช้ภาษาข่าคือ ชาวบ้านดงแสนแก้ว และบ้านดงสำราญ ตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอชานุมาน
                ภาษาในพิธีกรรมต่าง ๆ  มีแตกต่างกันไปตามลักษณะของพิธีกรรม คือ
                    ภาษาพิธีกรรมเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา  เช่น การสวดมนต์ การเทศน์ ตอนต้นของพิธีกรรม นิยมใช้ภาษาบาลี และสันสกฤต เมื่อจบแล้วจึงเป็นภาษาไทย หรือภาษาอีสาน และเมื่อจบพิธีกรรมใช้ภาษาบาลี และสันสกฤต
                    ภาษาพิธีกรรมทางไสยศาสตร์   เช่น การเข้าทรง สูตรขวัญ สะเดาะเคราะห์ บวงสรวง ส่วนใหญ่มักมีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนามาเกี่ยวข้องด้วย จึงมักเริ่มต้นด้วยภาษาบาลี และสันสกฤต ต่อจากนั้นจะตามด้วยภาษาขอม ภาษาไทย และภาษาอีสาน
            จารึก  ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ มีการค้นพบจารึกน้อยมาก อาจจะยังไม่มีการสำรวจ จารึกที่มีอยู่จึงเป็นจารึกตามฐานพระพุทธรูป เท่าที่พบมีดังนี้
                จารึกฐานพระพุทธรูปวัดเหลาเทพนิมิต   อยู่ในเขตอำเภอพนา เป็นพระพุทธรูปสำริดปางประทานอภัย ศิลปะลาว นิยมเรียกว่า พระบางจำลอง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๔  จารึกบนฐานพระพุทธรูปด้วยอักษรธรรมอีสาน เป็นภาษาไทย และภาษาบาลี จำนวน ๑ ด้าน มี ๓ บรรทัด มีความว่า
                "มหาตยยน มีศรัทธาสร้างพระพุทธรูปไว้ค้ำชูพระพุทธศาสนา ตราบเท่าห้าพันปี เพื่อปรารถนาพระนิพพาน"
                จารึกที่พระปฤษฎางค์พระพุทธรูปศิลาแลงวัดศรีบุญเรือง  อยู่ที่บ้านชานุมาน ตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน มี ๒๗ บรรทัด จารึกด้วยตัวอักษรภาษาใด และอ่านอย่างไร ยังหาผู้อ่านออกไม่ได้
            วรรณกรรมพื้นบ้าน  วรรณกรรมส่วนใหญ่มีเนื้อหาคติธรรมแบบชาดก และอยู่ในรูปแบบร้อยกรอง มากกว่าร้อยแก้ว มีทั้งวรรณกรรมมูขปาฐะ และวรรณกรรมลายลักษณ์ วรรณกรรมลายลักษณ์มีทั้งบันทึกด้วยอักษรธรรม อักษรขอม อักษรไทยน้อย เป็นภาษาไทย และภาษาอีสาน ในชนบทจะหาวรรณกรรมพื้นบ้านได้ตามวัดต่าง ๆ  ซึ่งอาจเป็นหนังสือผูก หนังสือก้อม หรือหนังสือทั่วไป
                วรรณกรรมมุขปาฐะ  ที่แพร่หลาย ได้แก่ คำสอย หรือควบสอย และนิทานก้อม
                    คำสอย  คือ คำพูดที่เป็นร้อยกรองที่นำมาพูดแทรกในการแสดงหมอลำแบบอีสาน หลังจากการลำแต่ละกลอนจบลง ไม่มีแบบแผนตายตัว มีทั้งการจำมา และคิดแต่งขึ้นทันทีทันใด เป็นคำสนุกสนาน หยอกล้อเพศตรงข้ามและเสียดสีสังคม ชาวบ้านถือว่าเป็นเรื่องที่สนุกสนานที่คู่กันกับการแสดงหมอลำ โดยเฉพาะการลำต่อกลอน ลำผญา ลำเต้ย และลำซิ่ง ทุกคนสามารถใช้คำสอยได้ ส่วนใหญ่ผู้ฟังลำ ฝ่ายชายจะเป็นผู้สอย นิยมเรียกผู้สอยว่า หมอสอย  ทั้งหมอลำและผู้ฟังลำต่างก็ใช้คำสอยได้ บางครั้งเป็นการใช้คำสอยโต้ตอบกัน ระหว่างหมอลำฝ่ายหญิงกับผู้ฟังฝ่ายชาย ในการสอยแต่ละครั้งมีสิ่งที่เหมือนกัน สำหรับหมอสอยคือ จะขึ้นต้นด้วยคำว่า  "สอย สอย...."
                    นิทานก้อม  หมายถึง นิทานขนาดสั้น  เล่าจบภายใน ๓ -๕ นาที คำว่า ก้อม ในภาษาอีสานแปลว่า สั้น การเล่านิทานก้อมให้สนุก ผู้เล่าต้องมีน้ำเสียงและลีลาที่สมจริง แฝงด้วยความตลก เนื้อหาของนิทานก้อมเป็นเรื่องเสียดสี และล้อเลียนบุคคลในสังคม ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงความขัดแย้งหรือชิงไหวชิงพริบกันระหว่างพ่อตากับลูกเขย หลวงตากับสามเณร และการพูดจาแทะโลมระหว่างพี่เขยกับน้องเมีย
                วรรณกรรมลายลักษณ์ ส่วนใหญ่เริ่มต้นที่วรรณกรรมมุขปาฐะก่อน ภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นภาษาอีสาน
                การถ่ายทอดวรรณกรรมพื้นบ้าน ส่วนใหญ่จะเริ่มจากพระสงฆ์นำมาเทศน์ให้ชาวบ้านฟังในงานบุญต่าง ๆ บ้าง ในการฟังธรรมในช่วงเวลาเข้าพรรษาบ้าง พระสงฆ์จะเลือกเอาวรรณกรรมต่าง ๆ มาประกอบการเทศน์ โดยเทศน์วันละตอน หรือมากกว่า มีเนื้อหาพอที่จะจดจำได้ในแต่ละวัน เมื่อชาวบ้านฟังแล้วก็นำไปเล่าให้ลูกหลานฟัง
                วรรณกรรมลายลักษณ์ที่รู้จักกันแพร่หลายได้แก่ ฮีตสิบสองคองสิบสี่ พระเวสสันดรชาดก ท้าวฮุ่งท้างเฮือง ตำนานอุรังคธาตุ ขูลูนางอั้ว เสียงสวาสดิ์ จำปาสี่ต้น ท้าวกำกาดำ นางผมหอม ผาแดงนางไอ่ ท้าวสีทน หงส์หิน  พระลักษมณ์พระราม (รามเกียรติ์) สังข์สินไชย นางแตงอ่อน การะเกด ปู่สังกะสาย่าสังกะสี ปลาแดกปลาสมอ ย่าสอนหลาน ท้าวคำสอน ขุนบุฮม ศรีโคตร ผญา คำทวย (คำทาย)  เซียงเมียง และกลอนลำ
ศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรม
            ชาวอำนาจเจริญสืบทอดศาสนา ความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ มาจากบรรพบุรุษซึ่งอพยพมาจากเมืองเชียงตุง ผ่านยุคสมัยของอาณาจักรศรีสัตนาคนหุตล้านช้างเวียงจันทน์ แล้วข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งขวา
            ศาสนา  ศาสนาหลักคือพระพุทธศาสนา รองลงไปคือ คริสตศาสนา ส่วนศาสนาฮินดูและอิสลามมีผู้นับถือน้อยมาก
                พุทธศาสนา  เป็นพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน เพราะมีความเชื่อเรื่องภูตผี วิญญาณ คาถาอาคมและไสยศาสตร์ปะปนอยู่ด้วย จนแยกไม่ออกว่าส่วนใดคือ ความเชื่อแบบพุทธและส่วนใดคือ ความเชื่อแบบไสยศาสตร์
                ตามปกติ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะไปปฏิบัติศาสนพิธีร่วมกันที่วัดใกล้บ้านของตน ยกเว้นเป็นงานพิเศษรวมทั้งจังหวัด เช่น งานนมัสการพระมงคลมิ่งเมืองประจำปีในช่วงวันเพ็ญเดือนสาม
                คริสตศาสนา  ผู้นับถือมีอยู่หลายหมู่บ้านตามอำเภอต่าง ๆ ดังนี้
                    อำเภออำนาจเจริญ  ได้แก่ บ้านคำน้อย ตำบลโนนหนามแท่ง  บ้านสองคอน ตำบลนายม และบางครัวเรือนในตำบลบุ่ง ได้แก่ บ้านห้วยสวรรค์ บ้านโนนใจดี บ้านบุ่ง บ้านยาว และในเขตตลาด ส่วนใหญ่เป็นนิกายโปรแตสแตนท์ มีโบสถ์อยู่ที่บ้านคำน้อย
                    อำเภอลืออำนาจ  ได้แก่ บ้านนาดูน ตำบลเปือย มีผู้นับถือคริสตศาสนา ๑๙ ครัวเรือน มีโบสถ์ประจำหมู่บ้าน
                    อำเภอชานุมาน  ได้แก่ บ้านนิคมแปลงสอง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ชาวบ้านหนองคู ตำบลนาเวียง อำเภอเสนางคนิคม จำนวน ๑๖ ครอบครัว ประมาณ ๑๘๐ คน ได้อพยพไปอยู่ที่บ้านป่าก่อ ตำบลป่าก่อ มี ๑๐ ครัวเรือน  ที่บ้านห้วยฆ้อง ตำบลป่าก่อ มี ๗ ครัวเรือน แต่ละหมู่บ้านมีโบสถ์ประจำหมู่บ้านแห่งละ ๑ โบสถ์ ยกเว้นบ้านห้วยฆ้องมีสองโบสถ์
                    อำเภอเสนางคนิคม  ได้แก่ บ้านหนองคู ตำบลนาเวียง มีโบสถ์ขนาดใหญ่ประจำหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านชาวคริสต์ ที่ใหญ่ที่สุดในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ มีสามหมู่บ้าน ๑๖๑ ครัวเรือน ๖๔ ครัวเรือน และ ๑๔๑ ครัวเรือน  เป็นนิกายคอทอลิก บาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้นำคริสตศาสนามาเผยแพร่ ชาวบ้านหนองคูเป็นคริสตศาสนิกชนทุกคน
ภูมิปัญญาชาวบ้าน

            ชาวจังหวัดอำนาจเจริญประมาณร้อยละ ๙๕ มีอาชีพในการทำนา การทำมาหากินของประชากรส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นแบบเรียบง่ายเหมือนคนอีสานทั่วไป มีการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด เช่น การผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน การทอผ้า การผลิตเครื่องมือในการทำมาหากิน ฯลฯ
            นอกจากอาชีพด้านเกษตรกรรมแล้ว ยังประกอบอาชีพด้านหัตถกรรม และอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การทอผ้า การจักสาน
การปั้นภาชนะ ทำเตา ทำเสื่อ ทำน้ำตาลโตนด เจียระไนพลอย ตัดเย็บเสื้อผ้า  เป็นต้น
            การเพาะปลูก  ได้แก่ การทำนา การทำไร่ทำสวนและการปลูกพืชผักสวนครัว

                การทำนา  ถือเป็นอาชีพหลัก จะทำนาปีละครั้ง ยกเว้นท้องที่ใดอยู่ใกล้แหล่งน้ำอาจทำนาได้ปีละสองครั้ง  อุปกรณ์ในการทำนาได้จากวัสดุที่มีในท้องถิ่น และมีการพัฒนาปรับปรุงให้ทันสมัย และได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น
                การทำนามีขั้นตอนโดยสรุปอยู่สี่ขั้นตอนด้วยกันคือ
                    การเตรียมดิน  ควรเตรียมดินสองครั้ง
                        - ครั้งที่ ๑ ไถดะ  เพื่อกำจัดวัชพืช ไถตากดินไว้ประมาณ ๒๑ วัน เป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน
                        - ครั้งที่ ๒ ไถแปร  เพื่อย่อยดินและกำจัดวัชพืชที่งอกใหม่
                    การเตรียมเมล็ดพันธุ์  นำเมล็ดพันธุ์ข้าวมาแช่น้ำหนึ่งวัน แล้วช้อนเมล็ดลีบทิ้งไป แล้วหุ้ม (นำเมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้นจากน้ำ พักทิ้งไว้ในภาชนะแล้วคลุมหรือใส่ถุงกระสอบ) ประมาณ ๑ - ๒ วัน ก่อนนำหว่าน
                    การปลูกข้าว  ส่วนใหญ่นิยมทำกันอยู่สองวิธีคือ
                        - การปลูกข้าวนาหว่าน  เมื่อเตรียมดินแล้วไถแปรคราดเอาวัชพืชออกก่อนหว่านข้าว เมื่อหว่านข้าวแล้วไถกลบ จะคราดอีกครั้ง หรือไม่ก็ได้ ให้มีน้ำพอขลุกขลิก (ดินทราย) แล้วคราดกลบเบา ๆ   ในกรณีดินเหนียว ให้ระบายน้ำออกจนแห้ง
                        เมื่อเมล็ดข้าวงอก หมั่นดูแลปราบวัชพืช ใส่ปุ๋ย ดูแลเรื่องน้ำให้มีเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ควรปล่อยน้ำภายหลังข้าวงอกแล้วประมาณ ๓ - ๕ วัน ระดับน้ำสูงประมาณ ๑ นิ้ว แล้วจึงเพิ่มขึ้นตามอายุของต้นข้าว  เมื่อข้าวตั้งท้อง และออกรวง ต้องหมั่นสำรวจโรคไหม้คอรวง และระวังแมลงศัตรูข้าวอย่างสม่ำเสมอ
                        รอให้เมล็ดข้าวแก่เต็มที่จึงเก็บเกี่ยว ควรระบายน้ำออกจากแปลงนา ๑๐ - ๑๕ วันก่อนเก็บเกี่ยว
                        - การปลูกข้าวนาดำ  เมื่อไถดะและเตรียมแปลงข้าวเรียบร้อยแล้วจึงตกกล้า คือ การหว่านเมล็ดข้าว ซึ่งต้องหว่านให้ทั่วแปลงนา ควรหว่านข้าวที่แช่น้ำ ๑ วัน หุ้ม ๒ วัน ในอัตราประมาณ ๑๐ ถัง ต่อ ๑ ไร่ เมื่อกล้าข้าวเจริญเติบโตแล้วให้หมั่นดูแลเรื่องน้ำ ปุ๋ย และปราบวัชพืช
                        เมื่อกล้าข้าวเจริญเติบโตแล้วให้ถอนกล้า เพื่อนำไปปลูกใหม่หรือปักดำ การปักดำควรไถแปรก่อนแล้วปักดำให้มีระยะห่างกัน ประมาณ ๒๕  ๒๕ เซนติเมตร จำนวน ๓ - ๔ ต้นต่อกอ
                        ดูแลเรื่องระดับน้ำให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว สำรวจศัตรูข้าวที่สำคัญในระยะนี้ได้แก่ หนอนกอ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคไหม้ โรคใบจุดสีน้ำตาล และให้หมั่นใส่ปุ๋ยให้สม่ำเสมอ เมื่อข้าวตั้งท้องและเมล็ดข้าวแก่เต็มที่จึงเก็บเกี่ยว โดยระบายน้ำออกจากนา ๑๐ - ๑๕ วันก่อนเก็บเกี่ยว
                    การเก็บเกี่ยว  เมื่อเมล็ดข้าวสุกแก่พอดีคือ เมล็ดข้าวส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๐ ของเมล็ดในรวงข้าวแก่เต็มที่
                        - การทำไร่ทำสวน  มีการปลูกพืชไร่ห้าชนิดคือ มันสำปะหลัง ปลูกมากที่สุด ที่เหลือเป็นการปลูกปอแก้ว ถั่วลิสง ละหุ่ง และอ้อย นอกจากนั้นยังมีการปลูกมะม่วงแก้วและพริกหัวเรือ เป็นต้น
                        - การปลูกพืชผักสวนครัว  หลังจากเสร็จสิ้นการทำนาแล้วส่วนมากจะปลูกผักสวนครัว เพื่อเป็นอาชีพเสริมและบริโภคในครอบครัว การปลูกผักมักปลูกในที่นาของตนเอง โดยใช้แหล่งน้ำจากบ่อที่ขุดเองหรือจากคลองส่งมา
            การเลี้ยงสัตว์  เป็นอาชีพที่ควบคู่กับการทำนาและการเกษตรอื่น เป็นการเลี้ยงไว้ใช้งาน เลี้ยงไว้เพื่อการจำหน่าย และเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารสำหรับครอบครัว สัตว์ที่นิยมเลี้ยงได้แก่ วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ และปลา เป็นต้น
                การเลี้ยงวัว ควาย  ส่วนมากทำในหมู่ชาวนา การเลี้ยงดูง่าย กินอาหารอย่างเดียวกัน ในปีหนึ่งแม่พันธุ์จะตกลูกครั้งละ ๑ ตัว การเลี้ยงส่วนมากจะปล่อยไปตามทุ่งนาที่มีหญ้า ให้สัตว์หากินเอง
                การเลี้ยงหมู  มีมากในอำเภอชานุมาน ส่วนมากเป็นพันธุ์หมูไทยหลังอาน ซึ่งเป็นพันธุ์เล็ก เลี้ยงไว้เพื่อจำหน่าย เป็นหมูที่เนื้อไม่ค่อยมีไขมัน
                การเลี้ยงเป็ด  เป็นเป็ดพันธุ์พื้นเมือง จะเลี้ยงกันทุกหมู่บ้าน เป็นเป็ดที่เลี้ยงง่าย ปล่อยให้หาอาหารกินเองตามทุ่งนาหรือหนองคลองต่าง ๆ เลี้ยงไว้เป็นอาหารและจำหน่าย
                การเลี้ยงไก่  เป็นไก่พันธุ์พื้นเมือง เลี้ยงง่ายและได้ราคาดี เลี้ยงในหมู่ชาวนาเกือบทุกบ้าน ไว้เป็นอาหารในครอบครัว กลางวันปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ
                การเลี้ยงปลา  มีการเลี้ยงกันแทบทุกหมู่บ้าน เนื่องจากมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติหลายแห่ง และยังมีน้ำตามทุ่งนาในฤดูทำนา เป็นวิธีเลี้ยงตามธรรมชาติ โดยเลี้ยงปลาในนาข้าวในฤดูทำนา เมื่อถึงฤดูแล้งน้ำตามทุ่งนาลดลง ปลาจะไปรวมกันอยู่ที่บ่อ
                การหาปลาเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน เนื่องจากมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติอยู่มากและมีปลาอยู่ชุกชุม เครื่องมือในการจับปลาเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างหนึ่งได้แก่ แห มอง เบ็ด (เบ็ดโยง เบ็ดเผือกหรือเบ็ดราว) เบ็ดคันหรือเบ็ดธง เบ็ดชิดหรือเบ็ดกระดูก) การดักลอบหรือวางลอบ การลงจับ การลงโต่งหรือโพงพาง การแก่กวด (อวน) การได้ปลา หรือส่องปลา
เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
         หัตถกรรมช่างฝีมือ

                ผ้าลายขิดบ้านคำพระ  เป็นผ้าทอมือที่วิจิตรงดงาม มีลักษณะวิเศษหลากหลายประเภท ตามประโยชน์การใช้สอย เช่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าคลุมโต๊ะ ผ้าสไบผืนใหญ่ ผืนเล็ก ชุดรับแขก ผ้าตัดเสื้อ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากผ้าขิดเช่น หมอน กระเป๋า ย่าม พวงกุญแจเป็นต้น ฝีมือทอผ้าขิดของชาวบ้านคำพระได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลที่ ๑ - ๓ ประเภทสวยงาม ในการประกวดงานหัตถกรรมที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗
                ลักษณะเด่นของลายผ้าขิดบ้านคำพระคือ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ ที่นำมาจากเปลือกไม้ โดยวิธีผสมผสานระหว่างธรรมชาติกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
                สีย้อมผ้ามีอยู่ด้วยกันสองชนิดคือ สีที่ได้จากธรรมชาติแบบพื้นบ้านโบราณและสีที่ได้จากทางวิทยาศาสตร์ สีที่ได้จากธรรมชาติของไทยส่วนมากจะได้จากพืชเช่น เปลือก ราก และผล พืชแต่ละชนิดจะให้สีที่แตกต่างกันคือ สีแดง ได้จากรากยอ เปลือกกอ สีคราม ได้จากต้นคราม สีตองอ่อน (กระดังงา) ได้จากแกลง (มะพูด) สีดำ ได้จากลูกกระจาย เปลือกมะเกลือ  สีเหลือง ได้จากขมิ้นชัน เปลือกขนุน แก่นแข (แกแล)  สีส้ม (แดงเลือดนก) ได้จากสะตี  สีลูกหว้า (ม่วงอ่อน) ได้จากลูกหว้า สีเขียว ได้จากใบหูกวาง  สีน้ำตาล ได้จากเปลือกประดู่  สีชมพู ได้จากเปลือกนุ่น  สีเทา ได้จากเปลือกบก สีม่วงเทาได้จากเปลือกหว้า

                การจักสานไม้ไผ่  เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวบ้านอีสานที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ สืบทอดมาถึงปัจจุบัน ทำกันอยู่ทุกหมู่บ้าน เป็นการนำเอาไม้ไผ่ ซึ่งมีอยู่มากมายในพื้นที่มาจักสานและผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน ที่เหลือก็เอาไว้แลกเปลี่ยนกันในท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ที่นิยมจักสานกันมากที่สุดคือฝาเรือน มวย หวด กระติบข้าว สบ ไซ ข้อง ตะกร้า เป็นต้น
            ขนบธรรมเนีบมประเพณี  เป็นเรื่องที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตเช่นเดียวกันกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสาน ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ และความเชื่อถือ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา และพิธีพราหมณ์
                ประเพณีฮีตสิบสอง  เป็นประเพณีที่จะต้องปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติในรอบปีทั้งสิบสองเดือน ถ้าใครฝ่าฝืนถือว่าเป็นความผิดเรียกว่าผิดฮีต สังคมทั่วไปจะตั้งข้อรังเกียจ ส่วนมากจะเป็นงานบุญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเป็นหลัก โดยเริ่มนับตั้งแต่เดือนอ้าย (เดือนธันวาคม) เป็นเดือนแรก
                    จังหวัดอำนาจเจริญได้ถือเอางานแสดงประเพณีฮีตสิบสองเป็นงานประจำปีของจังหวัด โดยจะจัดในเดือนธันวาคมของทุกปี รายละเอียดมีดังนี้
                    เดือนอ้าย (เดือนเจียว) บุญเจ้ากรรม เป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับพระภิกษุ ทำพิธีอยู่กรรม
                    เดือนยี่ บุญคูนลานหรือบุญคูนข้าว เป็นการทำบุญคล้ายกับการทำขวัญข้าวของทางภาคกลาง
                    เดือนสาม บุญข้าวจี่และบุญมาฆะบูชา นิยมทำประมาณกลางเดือนหรือปลายเดือนสาม
                    เดือนสี่  บุญพระเวส หรือบุญมหาชาติ  มีมูลเหตุเนื่องมาจากคัมภีร์มาลัยหมื่น และมาลัยแสน
                    เดือนห้า  บุญสงกรานต์  หรือวันตรุษสงกรานต์ของชาวอีสาน กำหนดในวันที่ ๑๓ - ๑๕ เมษายน
                    เดือนหก  บุญบั้งไฟ และบุญวันวิสาขบูชา เป็นการบูชาอารักษ์หลักเมือง และเป็นประเพณีขอฝน
                    เดือนเจ็ด  บุญซำฮา   เป็นการล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไร อันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่บ้านเมือง
                    เดือนแปด  บุญเข้าพรรษา ถือเอาวันแรมหนึ่งค่ำ เดือนแปด ตามประเพณีแต่ครั้งพุทธกาล
                    เดือนเก้า  บุญข้าวประดับดิน  นิยมทำในวันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนเก้า เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เปรต
                    เดือนสิบ  บุญข้าวสาก  ตรงกับวันเพ็ญ เดือนสิบ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายหรือเปรต
                    เดือนสิบเอ็ด  บุญออกพรรษา ตอนเช้าจะทำบุญตักบาตรเทโว บางแห่งมีการกวนข้าวทิพย์
                    เดือนสิบสอง  บุญกฐิน  เริ่มตั้งแต่วันแรมหนึ่งค่ำ เดือนสิบเอ็ด ถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง
                ประเพณีแข่งเรือยาว  เนื่องจากอำเภอชานุมาน มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำโขง และพื้นที่ใกล้เคียงจะมีอาชีพหาปลา รองลงมาจากการทำนา การหาปลาจะมีเครื่องมือในการหาปลาต่าง ๆ และมีเรือเป็นพาหนะ วิถีชีวิตของชาวอำเภอชานุมาน จึงผูกพันกับแม่น้ำโขง และเรือ เมื่อสิ้นฤดูฝนแล้วเป็นวันออกพรรษา ชาวอำเภอชานุมานจะจัดให้มีการแข่งขันเรือยาวเป็นประจำทุกปี จนถือเป็นประเพณี และมีผู้คนทั่วสารทิศมาเที่ยวชมงานกันคับคั่ง
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |