| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ

            จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ในบริเวณที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มดินตะกอนอันอุดมสมบูรณ์ เป็นที่รวมของแม่น้ำสี่สายคือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำน้อย นอกจากนั้นยังมีลำคลองหนองบึงน้อยใหญ่อีกเป็นจำนวนมาก ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด จนได้รับการยกย่องว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นแหล่งผลิตอาหารทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะข้าวและปลา


มรดกทางวัฒนธรรม

            พระนครศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงเก่าของไทยที่มีอายุยาวนานถึง ๔๑๗ ปี เป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคสุวรรณภูมิ มีความรุ่งเรืองในด้านต่าง ๆ มากมายโดยเฉพาะทางด้านวัฒนธรรม
นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
            เมืองพระนครศรีอยุธยา ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นศูนย์กลางการปกครองของชนชาติไทย เป็นอาณาจักรอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๓ ประวัติการสถาปนากรุงศรีอยุธยาตามที่มีปรากฏในพระราชพงศาวดารมีว่า เมื่อศุภพัสดุ ๗๑๒ ปีขาล โทศก เดือนห้าขึ้น ๖ ค่ำ เวลา ๓ นาฬิกา ๙ บาท (ตรงกับวันศุกร์ที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๑๘๙๓) พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนาอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาขึ้นที่บึงชีขัน หรือตำบลหนองโสน ชีพ่อพราหมณ์ได้ฤกษ์ตั้งพิธีกลบบาตรสุมเพลิง เจ้าพนักงานได้ขุดพบสังข์ทักษิณาวัฏใต้ต้นหมันมีสีขาวบริสุทธิ
            ศูนย์กลางของเมืองอยุธยาคือ ส่วนที่เป็นเกาะมีแม่น้ำล้อมรอบสามสาย ตัวเกาะมีกำแพงเมืองล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง เมื่อพระเจ้าอู่ทองแรกสร้างเมืองนั้นกำแพงเมืองทำด้วยดิน มาเปลี่ยนเป็นก่ออิฐในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ.๒๐๙๑ - ๒๑๑๑) กำแพงเมืองยาวประมาณ ๑๒.๕ กิโลเมตร หนา ๕ เมตร สูง ๖ เมตร มีป้อมปืนประจำอยู่โดยรอบ จำนวน ๑๖ ป้อม มีประตูเมือง ๑๘ ประตู ประตูช่องกุด (ประตูเหล็ก) ๖๑ ประตู ประตูน้ำ ๒๐ ประตู รวมมีประตูทั้งสิ้น ๙๙ ประตู
            อยุธยาถูกออกแบบให้เป็นเมืองน้ำผังเมืองที่สมบูรณ์และสวยงามเกิดจากความรู้ และประสบการณ์ที่เข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง แม่น้ำหลักทั้งสามสายที่ล้อมรอบเกาะเมือง เมื่อถึงฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำมาก ดังนั้นในการสร้างเมืองอยุธยาจึงรักษาแม่น้ำลำคลองเดิมเอาไว้ แล้วขุดคลองเพิ่มเติมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามแนวเหนือ - ใต้ของพื้นที่ให้เป็นแนวตรงเชื่อมต่อกับแนวแม่น้ำลำคลองเดิม ทำให้กระแสน้ำระบายออกไปจากตัวเมืองได้สะดวก และรวดเร็ว จะพบว่าเมืองอยุธยามีแม่น้ำลำคลองเป็นจำนวนมากเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกันทั้งนอกเมืองและในเมือง
            ในตัวเมืองมีคูคลองสายหลักมากกว่า ๑๐ สายที่ขุดขึ้นใหม่ทั้งตามแนวเหนือใต้และแนวตะวันออกตะวันตก แบ่งพื้นที่ตัวเมืองออกเป็นแปลงสี่เหลี่ยมขนาดเล็กจำนวนมาก แต่ละแปลงใช้เป็นเขตวัง เขตวัด และเขตที่อยู่อาศัยอย่างเป็นระเบียบ
            มีถนนดิน และถนนอิฐขนานไปกับแนวคูคลอง โดยมีสะพานจำนวนมากสร้างข้ามคลองเหล่านี้ มีทั้งสะพานไม้ สะพานก่อด้วยอิฐ สะพานก่อด้วยศิลาแลง และสะพานสายโซ่ ซึ่งเป็นสะพานยกได้อีกแบบหนึ่ง รวมทั้งสิ้นกว่า ๓๐ สะพาน
            นอกตัวเมืองเป็นพื้นที่ที่มีระดับต่ำกว่า ใช้เป็นพื้นที่สำหรับเกษตรกรรม มีแม่น้ำลำคลอง นำน้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงอย่างทั่วถึง สองฝั่งแม่น้ำเป็นอยู่อาศัย ซึ่งจะปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่ม ๆ สลับไปกับวัดวาอาราม ถัดจากหมู่บ้านออกไปจะเป็นทุ่งกว้างสำหรับเกษตรกรรม
            โบราณสถานเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นปราสาทราชวัง วัดวาอาราม ทั้งภายนอก และภายในเมืองมีมากกว่า ๔๒๕ แห่ง งานสถาปัตกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม และปราณีตศิลป์ หลายสาขา ระเบียบทางสังคม วิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นแบบอย่างสืบต่อมายังกรุงรัตนโกสินทร์
            มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองในอดีต ยังปรากฏให้เห็นประจักษ์อันได้แก่ แหล่งโบราณสถาน บรรดาโบราณวัตถุ และเอกสารด้านประวัติศาสตร์ ทำให้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nalion Seience and Culture Organization - UNESCO) ได้มีมติ ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูนิเซีย ให้ทะเบียนนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ไว้ในบัญชีมรดกโลก เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๔
พระราชวังโบราณ

            เมื่อแรกสร้างกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ.๑๘๙๓ - ๑๙๑๒) ได้ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดพระศรีสรรเพชญ์ มีพระที่นั่งที่สำคัญอยู่ห้าหลังคือ พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท พระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาท พระที่นั่งมังคลาภิเษก และพระที่นั่งตรีมุข สันนิษฐานว่าพระที่นั่งดังกล่าวสร้างด้วยไม้ทั้งหมด ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๑๙๘๓ เกิดไฟไหม้เสียหาย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) จึงทรงยกพื้นที่พระราชวังเดิมให้เป็นพุทธาวาส และโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นใหม่ ทางด้านเหนือของพระราชวังเดิม และได้ใช้สืบต่อมาจนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา
            พระราชวังหลวงแบ่งออกเป็น เจ็ดเขตด้วยกัน ดังนี้
            เขตพระราชฐานชั้นนอก หรือท้องสนามหน้าจักรวรรดิ์ เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ เช่น ศาลาลูกขุน ศาลหลวง คลังปืนใหญ่ และโรงราชรถ เป็นต้น พระที่นั่งที่ตั้งอยู่ในเขตนี้คือ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ ซึ่งพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.๒๑๗๓ - ๒๑๙๙) ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ทอดพระเนตรการมหรสพ การตรวจพลสวนสนาม และบางครั้งก็ใช้สำหรับบำเพ็ญกุศลพระบรมศพ
            เขตพระราชฐานชั้นกลาง  เป็นที่ตั้งของพระมหาปราสาทสำคัญ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทขึ้น เพื่อใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การรับแขกเมือง และต้อนรับราชฑูต เป็นต้น

            พระวิหารสมเด็จ สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.๒๑๓๓ - ๒๑๔๗) ใช้ในงานพระราชพิธีเช่นกัน
            พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.๒๑๗๓ - ๒๑๙๙) ทรงสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับ และอาจจะใช้ประทับทอดพระเนตรกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคด้วย
            พื้นที่เขตพระราชฐานชั้นกลาง ยังเป็นที่ตั้งของ พระคลังมหาสมบัติ โรงช้างเผือก และโรงม้า เป็นต้น
            เขตพระราชฐานชั้นใน  ใช้เป็นที่อยู่อาศัย พระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาท ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นที่ประทับ น่าจะอยู่บริเวณที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งตรีมุข ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับประกอบพิธีและรับแขกเมือง

            พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ สร้างอยู่กลางสระ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) ทรงสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับ ในบริเวณพระที่นั่งแห่งนี้มีระบบน้ำประปา มีน้ำพุ มีภูเขาจำลอง และการจัดสวน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากประเทศฝรั่งเศส
            ตำหนักตึก (ตำหนักคูหาสวรรค์) เป็นที่ประทับของพระมเหสีในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเพทราชา ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์
            นอกจากนี้ยังมีตำหนักและอาคารอย่างอื่นอีกหลายหลัง เช่นพระที่นั่งทรงปืนตำหนักของพระสนม โรงเครื่องต้น และถังน้ำประปา เป็นต้น
            เขตพระคลังมหาสมบัติ  เป็นบริเวณที่เก็บรักษาของใช้สำหรับพระราชวัง ประกอบด้วยคลังต่าง ๆ เช่น หอพระมณเฑียร (ใช้เก็บหนังสือ) คลังศุภรัตน์ (ใช้เก็บเครื่องอัฐบริขาร) คลังวิเศศ (ใช้เก็บเครื่องใช้ในครัว) และคลังพิมานอากาศ (ใช้เก็บเครื่องแก้ว) เป็นต้น
            เขตสวนองุ่น  เป็นเขตพระราชอุทยานหลวง แต่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างตำหนักสำหรับพระเจ้าลูกเธอฝ่ายในขึ้น ในบริเวณนี้ได้แก่ตำหนักสระแก้ว และตำหนักศาลาลวด เป็นต้น
            เขตสวนกระต่าย  เป็นที่ตั้งของตำหนักสวนกระต่ายที่ประทับของพระเจ้าอุทุมพร ครั้งยังดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช สร้างในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๑)

            เขตวัดพระศรีสรรเพชญ์  เป็นวัดในพระราชวังใช้สำหรับประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ
            นอกจากวังหลวงแล้ว ยังมีวังหน้าสร้างอยู่ทางด้านทิศตะวันออก และวังหลังสร้างอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมือง ทั้งสองวังสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ.๒๑๑๒ - ๒๑๓๓) โดยวังหน้าสร้างให้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขณะที่ยังทรงเป็นพระมหาอุปราช ส่วนวังหลังสร้างให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเอกาทศรถ พระราชโอรสองค์รองจาก สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

            เจดีย์ศรีสุริโยทัย  ตั้งอยู่ในบริเวณสวนหลวง ซึ่งเป็นบริเวณที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ โปรดเกล้า ฯ ให้ปลงพระศพสมเด็จพระสุริโยทัย ณ สวนหลวงและสถาปนาบริเวณที่ปลงพระศพขึ้นเป็นวัดชื่อว่า วัดสบสวรรค์ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่สอง เมื่อปี ๒๓๑๐  กรุงศรีอยุธยาถูกทิ้งร้าง จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ ได้มีการตั้งกรมทหาร จึงได้เลือกสถานที่ภายในกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงที่เป็นบริเวณสวนหลวง วังหลัง และวัดสบสวรรค์ เป็นสถานที่ก่อสร้าง บรรดาโบราณสถาต่าง ๆ คงถูกรื้อถอนทำลายลงตามความจำเป็นในการก่อสร้าง คงเหลือเจดีย์ขนาดใหญ่องค์หนึ่งยังคงอยู่ และน่าจะเป็นเจดีย์สำคัญของวัดสบสวรรค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เรียกเจดีย์องค์นี้ว่า เจดีย์สุริโยทัย แต่มิได้หมายความว่าเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัย เนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓ - ๒๕๓๔ ได้มีการบูรณะพระเจดีย์องค์นี้ ได้พบหลักฐานที่สำคัญคือ มีพระบรมสารีริกธาตุที่แกนฉัตรของพระเจดีย์
            ในปี พ.ศ.๒๔๕๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรดาข้าราชบริพารได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ สมเด็จพระสุริโยทัยใกล้บริเวณพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย เพื่อเทิดพระเกียร์ติสมเด็จพระสุริโยทัย และจารึกข้อความสดุดีวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของพระองค์

            พระราชวังจันทรเกษม หรือวังหน้า  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงที่เรียกว่า หัวรอ มีชื่อปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า วังใหม่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๑๒๐ ในขณะที่พระองค์ยังทรงเป็นพระยุพราชครองเมืองพิษณุโลก วังจันทรเกษมนี้ได้เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชองค์ต่อ ๆ มาตลอดสมัยอยุธยา คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง วังนี้ถูกเผาเหลือแต่ซากอิฐ ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ขุดกำแพงอิฐ และนำอิฐไปสร้างป้อมปราการที่กรุงเทพ ฯ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นใหม่ โดยอาศัยเค้าโครงเดิมในสมัยอยุธยา ดังนี้
              พลับพลาจตุรมุข  ใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับที่ว่าราชการ เป็นเครื่องไม้ทั้งหมด
              พระที่นั่งพิมานรัถยา ใช้เป็นที่ประทับชั่วคราว และเคยใช้เป็นที่ว่าการมณฑลอยุธยา
              พระที่นั่งพิสัยศีลลักษณ์  ใช้เป็นหอดูดาวเดิมในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสร้างไว้ดูข้าศึก โรงช้าง โรงนา เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระราชวังจันทรเกษมเป็นที่ทำการมณฑลกรุงเก่า และโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายศิลปโบราณวัตถุต่าง ๆ จากโรงม้าเข้ามาเก็บรักษา และจัดแสดงที่อาคารพลับพลาตรีมุข เรียกว่า อยุธยาพิพิธภัณฑ์
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนากองเสือป่ามณฑลกรุงเก่าโดยได้สร้างอาคารเสือป่าขึ้นในบริเวณพระราชวังจันทรเกษมด้วย
พะเนียดคล้องช้าง

            พะเนียด คือสถานที่ และสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการคล้องช้างป่า นำมาเลี้ยงเพื่อใช้งานในราชการ ทั้งในยามปรกติและยามสงคราม บางครั้งพระเจ้าแผ่นดินก็โปรดให้ทำพิธีคล้องช้างป่าให้แขกเมืองชมด้วย เช่นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น
            เดิมพะเนียดตั้งอยู่ที่วัดซองทางด้านทิศเหนือของพระราชวังจันทรเกษม ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๓ ได้โปรดให้ขยายกำแพงพระนครด้านตะวันออกไปถึงริมแม่น้ำจึงทรงให้ย้ายพะเนียดไปที่ตำบลทะเลหญ้า หรือตำบลสวนพริกในปัจจุบัน
            หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ แล้ว พะเนียดก็ถูกทิ้งร้างไปนาน ต่อมาจึงได้มีการบูรณะซ่อมแซมจนอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
กลุ่มโบราณสถานฝั่งอโยธยา

            ฝั่งอโยธยา คือบริเวณด้านตะวันออกของเกาะเมือง เชื่อกันว่าเป็นชุมชนก่อนสมัยอยุธยา มีกลุ่มโบราณสถานตั้งอยู่กระจัดกระจายเป็นกลุ่ม ๆ ที่สำคัญคือ วัดกุฎีดาว วัดสมณโกฐาราม วัดจักรวรรดิ์ วัดอโยธยา วัดมเหยงค์ วัดช้าง และวัดสีกาสมุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดกุฎีดาวเป็นวัดใหญ่ ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใด แต่รูปแบบขององค์เจดีย์ประธาน น่าจะเป็นงานก่อสร้างตั้งแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานการบูรณะซ่อมแซมต่อเติมใหม่ บนรากฐานเดิมในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
            วัดมเหยงค์ สร้างในรัชสมัย สมเด็จพระบรมราชาที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) เมื่อปี พ.ศ.๑๙๘๑ โดยเฉพาะเจดีย์ทรงระฆังมีช้างรอบฐาน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๕๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ สร้างพระอุโบสถขึ้นทางด้านทิศตะวันออกขององค์เจดีย์ประธาน และจากหลักฐานได้มีการสร้างพระตำหนักเป็นตึกสองชั้นนอกกำแพงแก้วของวัด ทำให้สันนิษฐานว่าพระองค์ได้เสด็จมาประทับอยู่เนือง ๆ
แหล่งประวัติศาสตร์

            หมู่บ้านโปรตุเกส  ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตก อยู่ทางด้านทิศใต้ของตัวเกาะเมือง ชาวโปรตุเกสเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกใน ปี พ.ศ.๒๐๕๔ โดยผู้สำเร็จราชการของโปรตุเกสประจำเอเซีย ได้ส่งฑูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระรามาธิบดี ที่ ๒ ต่อมาไทยได้ทำสนธิสัญญากับโปรตุเกสเป็นครั้งแรก โดยโปรตุเกสได้รับสิทธิพิเศษในการค้าขาย และตั้งหลักแหล่งเพื่อเผยแพร่คริสตศาสนาได้อย่างเสรี โปรตุเกสได้นำอาวุธปืนพร้อมทั้งยุทธวิธีการรบแบบใหม่เข้ามาฝึกให้กองทัพไทย ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ชาวโปรตุเกสได้เข้าร่วมรบกับไทยในสงครามระหว่างไทยกับพม่า และระหว่างไทยกับเชียงใหม่ ทำให้ชาวโปรตุเกสเป็นที่โปรดปราน จนโปรดให้ตั้งเป็นกองทหารล้อมวัง พร้อมกับพระราชทานที่ดินตรงกันข้ามกับหมู่บ้านญี่ปุ่นเป็นที่อยู่อาศัย และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างโบสถ์คริสตศาสนาขึ้นได้ ยังมีหลักฐานปรากฏจนถึงปัจจุบันถึงสามแห่งคือ โบสถ์ซาน เปาโลของคณะเยซูอิด โบสถ์ซาน โดมิงโก ของคณะโดมินิกัน และโบสถ์ซานเปรโต ซึ่งเข้าใจว่าเป็นโบสถ์ในคริสตศาสนาแห่งแรกที่สร้างขึ้นในพระราชอาณาจักรไทย
    หมู่บ้านญี่ปุ่น
            ในปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๖ ทางการญี่ปุ่นได้อนุญาตให้ชาวญี่ปุ่นเดินเรือออกไปค้าขายกับต่างชาติได้ ในบรรดาเรือที่ออกไปค้าขายนี้ ส่วนหนึ่งได้เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา และได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าแผ่นดินไทยให้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ในกรุงศรีอยุธยา เช่นเดียวกับชาวต่างชาติอื่น ๆ มีชาวญี่ปุ่นผู้หนึ่งชื่อ นากามาซา ยามาดา ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ออกญาเสนาภิมุข เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม หลังจากพระองค์สวรรคต ในปี พ.ศ.๒๑๗๑ ออกญาเสนาภิมุขได้แสดงความจงรักภักดีต่อโอรสทั้งสองของพระเจ้าทรงธรรม คือสมเด็จพระบรมราชาที่ ๒ และสมเด็จพระเจ้าอาทิตย์วงศ์ ต่อมาได้เป็นผู้บัญชาการกองทหารอาสาสมัคร เดินทางไปปราบกบฏที่นครศรีธรรมราช และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
            นอกจากหมู่บ้านดังกล่าวแล้ว ยังมีหมู่บ้านชาวฮอลันดา ชาวอังกฤษ และชาวฝรั่งเศส ซึ่งจะมีทั้งโกดังสินค้า บ้านเรือนที่อยู่อาศัย และโบสถ์ในคริสตศาสนา
   ย่านประวัติศาสตร์
            แหล่งหัตถกรรม  แหล่งหัตถกรรมในอดีตมีอยู่ทั่วไปทั้งภายในและภายนอกกำแพงพระนคร พระนครศรีอยุธยาเป็นแหล่งรวมของช่างฝีมือจำนวนมาก มีการผลิต การทำมาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า และสิ่งของซึ่งกันและกันในหมู่คนไทยกับชาวต่างประเทศ

            การทอผ้า มีอยู่ในแถบย่านพระกาฬ วัดฝาง วัดจันทน์ มีร้านขายฝ้ายที่ย่านป่าตอง ชาวบ้านบริเวณวัดขุนพรหม นำผ้าขาวเทศมาเขียนพิมพ์ตีพิมพ์เป็นดอกผ้าลายน้ำจืดขาย บริเวณวัดลอดช่องเป็นที่อยู่ของแขกจามแขกตานี มีการทอผ้าพื้น ผ้าม่วงเกลี้ยง และผ้าม่วงดอก
            เครื่องปั้นดินเผา  เครื่องลายครามเป็นสินค้าที่มีราคาสูงเป็นที่สนใจทั้งในหมู่คนไทย และชาวต่างประเทศ เป็นของที่ไทยใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการ ส่งไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสนำมาจากเมืองเชลียง สุโขทัยไม่ได้ผลิต ที่กรุงศรีอยุธยา ที่บริเวณทุ่งขวัญด้านตะวันตกของคลองสระบัว มีบ้านปั้นหม้อข้าวหม้อแกง เตาขนมครก ขนมเบื้อง เตาไฟ  ตะคันดินไฟ กระเบื้อง ที่บ้านวัดครุฑปั้นตุ่มใส่น้ำ กระถางดินปั้นรูปช้าง รูปม้า ตุ๊กตาต่าง ๆ ขาย ชาวสยามรู้จักเผาอิฐ ทำปูนสอ ปูนผิว อิฐของประเทศสยามนับว่าดีเยี่ยมกว่าที่ใด ๆ ในโลก ปัจจุบันยังเห็นที่ย่านคลองสระบัว สำหรับการปั้นอิฐที่เรียกว่าอิฐมอญนั้น ปัจจุบันยังทำกันอยู่ทั่วไป
            เครื่องจักสาน  การจักสานเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ที่ทำจากพืชจำพวกหวาย ไม้ไผ่ และใบลาน ในอดีตเครื่องจักสานอยู่บริเวณย่านพราหมณ์หน้าวัดช้าง ที่บริเวณบ้านท้ายคูมีพวกแขกจามสานเสื่อลันไดขาย ปัจจุบันชาวอยุธยาจากหลายแหล่งเช่นที่ อำเภอบางปะหัน อำเภอบ้านแพรก อำเภอเสนา อำเภอบางไทร และอำเภอพระนครศรีอยุธยา จำนวนหนึ่งประกอบอาชีพจักสานเป็นอาชีพหลัก และอาชีพเสริม
            การต่อเรือ สันนิษฐานว่า มีการต่อเรือเพื่อใช้เป็นพาหนะกัน ที่ย่านบ้านขนมตาลมีเรือเถา และเรือพ่วงขาย ส่วนการต่อเรือประเภท เรือสำเภา เรือกำปั่น เรือรบ เรือพระที่นั่ง จะอาศัยช่างชาวฮอลันดา ช่างชาวจีน โดยอาจมีช่างชาวไทยบ้าง การต่อเรือใหญ่ ๆ เพื่อการค้าขาย และการสงคราม จะอยู่ในความควบคุม และผูกขาดโดยรัฐ โดยจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาต โดยปรกติมักใช้คนคุกต่อเรือประเภทเรือสำเภา เรือรบ ที่บริเวณท้ายบ้านเสือข้ามมีการต่อเรือกำปั่น
            การสีข้าว  อุตสาหกรรมการสีข้าวมักมีแหล่งที่ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง แถบวัดสมอ วัดขนุน วัดขนาน ชาวต่างจังหวัดจากอ่างทอง ลพบุรี เมืองอินทร เมืองพรหม เมืองสิงห์ เมืองสวรรค์ เมืองสุพรรณ จะล่องเรือนำข้าวเปลือกมาขาย ปัจจุบันยังมีโรงสีข้าวอยู่ทั่วไป
            เครื่องโลหะ ที่ย่านสัมพนี มีหมู่บ้านที่มีอาชีพหล่อเหล็ก เพื่อทำเป็นครกสาก และตีมีดขาย บ้านท่าโขลงทำตะปู ตะปลิงขาย บ้านรามเทวะมุ บาตรเหล็ก ย่านวัดไชยในเขตกำแพงเมืองทำขันทองเหลือง ช่างเงินอยู่บริเวณตะแลงแกง ช่างทำเงินบาท สลึง เฟื้อง อยู่บริเวณหอมณเฑียรธรรม นอกจากนี้ช่างชาวอยุธยายังรู้จักทำทองรูปพรรณได้อย่างยอดเยี่ยมไม่แพ้ชาวต่างชาติ
            การปรุงเครื่องเรือนและทำเครื่องเรือน  มีทั้งเครื่องผูกและเครื่องสัป ทำกันที่บ้านสะไกรใหญ่ ปากคลองท่อย่านสัมพนี ย่านคลองสระบัว และแถบบ้านนางเอียน
    สถาปัตยกรรมดีเด่น
            พระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ  เป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ที่ไม่ถูกพม่าทำลายครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เมื่อ ปี พ.ศ.๒๓๑๐ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง ส่วนฐานของพระอุโบสถเป็นแบบท้องเรือสำเภาที่ดูอ่อนช้อยสง่างาม หลังคาซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น ผนังเจาะเป็นลายรูปมะหวด หน้าบันไม้แกะสลักลวดลายประณีตบรรจง พระประธานเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ที่มีพุทธลักษณะงดงามทรงคุณค่ายิ่ง
            เจดีย์ภูเขาทอง  ตั้งอยู่กลางทุ่งวัดภูเขาทอง มีลักษณะเป็นเจดีย์มีฐานกว้างใหญ่คล้ายทรงรามัญ ที่เห็นอยู่ปัจจุบันได้มีการปฏิสังณ์ใหม่เป็นแบบย่อมุมไม้สิบสอง ทรงจอมแหขนาดใหญ่ที่สวยงามสะดุดตา
            ปรางค์ประธานวัดส้ม  เป็นปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น เป็นปรางค์ขนาดกลาง ที่มีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมได้สัดส่วน มีลวดลายปูนปั้นฝีมือประณีตงดงามมาก
            ศาลากลางหลังเก่า  เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมยุคใหม่ โดยสร้างอนุสาวรีย์มหาราชทั้งหกพระองค์ไว้บนส่วนสูงของตึก สร้างในสมัยที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
            คุ้มขุนแผน  เป็นรูปแบบของเรือนไทยภาคกลางที่นิยมสร้างกันมาแต่โบราณ โดยจัดแบ่งเป็นหอตามลักษณะการจัดวางในแต่ละหมู่ และเรียกว่า หอกลาง หอรี หอขวาง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเรือนไทยภาคกลาง ที่ออกแบบตามความเหมาะสมของภูมิประเทศ และภูมิอากาศที่มีความสัมพันธ์กับน้ำและฤดูกาล โดยจะก่อสร้างเป็นหมู่ และชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเรือนไทย จะสามารถถอดออกเป็นชิ้นส่วนแล้วนำมาประกอบหรือปรุงได้เหมาะสมแก่การเคลื่อนย้าย มีหลังคาเป็นจั่ว แบ่งด้านช่วงเสาเรียกเป็นห้อง วางผังตามความเหมาะสม แล้วแต่บริเวณที่ตั้งบ้าน เช่นวางตัวตามตะวันเพื่อเลี่ยงแสงแดดแต่จะไม่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก
    รูปปั้นและอนุสาวรีย์

            พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)  ประดิษฐานอยู่หน้าพระราชวังโบราณ สร้างขึ้นเพื่อระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ผู้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา ณ ตำบลหนองโสน เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๓ เป็นพระบรมรูปพระเจ้าอู่ทองประทับยืนผินพระพักตร์ไปทางทิศใต้สู่วัดพระราม ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นท้องสนามหลวงเดิมคือหน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร
            พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย  ตั้งอยู่ ณ บริเวณวัดสวนหลวงสบสวรรค์
            พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ตั้งอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล
            พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ตั้งอยู่ที่บ้านพรานนก อำเภออุทัยธานี เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้งยังเป็นพระยาตาก ได้ยกกำลังตีหักจากการล้อมกรุงศรีอยุธยาของพม่าออกไปทางด้านวัดพิชัย ทางฝั่งตะวันออกของกรุงศรีอยุธยาก่อนกรุงแตกสามวัน โดยมีทหารม้า ๕๐ ม้า เดินทางมาสว่างที่ตำบลอุทัย และได้มีทหารม้าพม่า ๕๐๐ ม้า ติดตามมาทันที่บ้านพรานนก เกิดการต่อสู้กันฝ่ายพระยาตากมีชัยชนะ ทหารม้าพม่าถูกฆ่าตายหมด นับเป็นวีรกรรมของทหารม้าพระยาตากที่สร้างชื่อเสียงไว้ที่บ้านพรานนก
    สิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง
            พระเจดีย์สามองค์วัดพระศรีสรรเพชญ์  เป็นแบบเจดีย์ทรงระฆังคว่ำสามองค์เรียงกัน สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์สามพระองค์ เป็นภาพสัญลักษณ์ของอยุธยาที่รู้จักกันทั่วไป
            พระปรางค์วัดไชยวัฒนาราม  วัดไชยวัฒนารามเป็นโบราณสถานที่มีความงดงามโดดเด่นสมบูรณ์แบบที่สุดในด้านสถาปัตยกรรมของวัด มีรูปแบบที่หลากหลายแปลกกว่าสถาปัตยกรรมโดยทั่วไปในสมัยอยุธยา สามารถสร้างได้ผสมกลมกลืนทั้งปรางค์ประธาน ปรางค์บริวาร และ เมรุทิศ

            วัดตูม  เป็นพระอารามหลวงตั้งอยู่ในเขตตำบล วัดตูม อำเภอพระนครศรีอยุธยา วัดตูมสร้างมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นสถานที่สำคัญลงเครื่องพิชัยสงคราม ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้เคยเสด็จมาประกอบพิธีดังกล่าว
ภาษา
            จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายชิ้น แสดงให้เห็นว่าตัวเขียนสมัยอยุธยา มีพัฒนาการมาโดยลำดับ ลักษณะของรูปตัวอักษรอยุธยาเท่าที่พบเก่าที่สุด ได้แก่จารึกแผ่นดีบุกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (พ.ศ.๑๙๑๒ - ๑๙๓๑) รูปร่างสัณฐานของตัวอักษรจะคล้ายกับรูปอักษรสุโขทัยมาก
            นับแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมารูปอักษรไทยอยุธยาได้มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ จนถึงจุดอิ่มตัวในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔
            สำเนียงพูดของชาวอยุธยาที่ปรากฏในภาษาพูดปัจจุบัน หากพูดหรืออ่านออกเสียงอย่างเป็นทางการจะใช้สำเนียงไทยมาตรฐานเหมือนกับที่ใช้พูดกันในกรุงเทพ ฯ แต่ถ้าเป็นการพูดคุยกับคนในท้องถิ่นเดียวกัน คนอยุธยาในแต่ละถิ่นจะมีสำเนียงเฉพาะของตนเอง ในภาษาถิ่นระดับเสียงย่อยของแต่ละวรรณยุกต์ แต่ละหน่วยจะแตกต่างกันนักภาษาศาสตร์จึงแยกภาษาถิ่นย่อย ในอยุธยาออกเป็นสามกลุ่มได้แก่
            ภาษาถิ่นย่อยอยุธยาตะวันตก  จะเป็นสำเนียงของชาวอำเภอผักไห่ และอำเภอบางซ้าย
            ภาษาถิ่นย่อยอยุธยากลุ่มที่หนึ่ง  เป็นสำเนียงของชาวอำเภอมหาราช อำเภอบางปะหัน อำเภอบางไทร ส่วนกลุ่มที่สอง เป็นสำเนียงของชาวอำเภอบางบาล อำเภอนครหลวง และอำเภอพระนครศรีอยุธยา
            ภาษาถิ่นย่อยอยุธยาตะวันออก  เป็นสำเนียงของชาวอำเภอภาชี อำเภออุทัย และอำเภอบางปะอิน
            ส่วนอำเภอที่เหลือจะใช้ภาษาถิ่น มีลักษณะเป็นลูกผสมกับสำเนียงจังหวัดใกล้เคียงกัน จนไม่สามารถจัดเข้ากลุ่มภาษาถิ่นย่อยของอยุธยาทั้งสามกลุ่มได้
วรรณกรรมสมัยอยุธยา
            ในช่วงเวลา ๔๑๗ ปี ของกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานการสร้างวรรณกรรมอย่างชัดเจนเพียงเจ็ดรัชสมัยเท่านั้น คือ รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
            การพิจารณาแบ่งสมัยของวรรณกรรมสมัยอยุธยา อาจแบ่งออกได้สามช่วงระยะเวลาด้วยกันคือ
            สมัยอยุธยาตอนต้น  เริ่มตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) พ.ศ.๑๘๙๓ จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พ.ศ.๒๐๗๒ รวมเวลา ๑๗๙ ปี วรรณกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ได้แก่
                ลิลิตโองการแช่งน้ำ  เดิมเรียกว่า ประกาศแช่งน้ำ เป็นโองการที่พราหมณ์ใช้อ่านหรือสวดในพระราชพิธีศรีสัจปานกาล หรือพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา วรรณกรรมเรื่องนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดแต่ง
                ลิลิตยวนพ่าย  สันนิษฐานว่า แต่งในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ประมาณปี พ.ศ.๒๐๓๔ - ๒๐๗๒ มีการบรรยายการสงครามระหว่างอาณาจักรอยุธยากับ เชียงใหม่หรืออาณาจักรล้านนาไทย และกล่าวถึงพระราชประวัติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีความงดงามทางภาษาและฉันทลักษณ์มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
               มหาชาติคำหลวง  เป็นวรรณกรรมที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้า ฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต แปลแต่งจากคาถาพัน เมื่อปี พ.ศ.๒๐๒๕ โดยใช้วิธีนำภาษามคธเดิมมาตั้งหนึ่งบท แล้วแปลแต่งเป็นคำคำประพันธ์ภาษาไทย หนึ่งวรรคสลับกันไป นับเป็นหนังสือคำหลวงฉบับแรกของไทย มีความมุ่งหมายเพื่อให้คฤหัสสวดให้อุบาสกอุบาสิกาฟังในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ประเพณีการสวดมหาชาติคำหลวงยังคงทำเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ โดยกำหนดให้ราชบัณฑิตเป็นผู้สวดที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในช่วงวันเข้าพรรษา
                ลิลิตพระลอ  เป็นวรรณกรรมในสมัยอยุธยาตอนต้น ร่วมสมัยกับลิลิตญวนพ่าย และมหาชาติคำหลวง ได้รับยกย่องให้เป็นยอดของลิลิตสุภาพ มีศิลปะในการเรียบเรียงถ้อยคำอันประณีตไพเราะให้รสทางวรรณกรรมคดีอย่างเพียบพร้อม ลิลิตพระลอเป็นนิยายประจำถิ่นไทยภาคเหนือ เป็นเรื่องรักระหว่างชายหนึ่งหญิงสอง และจบลงด้วยความตายของคนทั้งสาม แตกต่างออกไปจากวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ
                กำศรวลศรีปราชญ์ หรือกำศรวลโคลงดั้น หรือนิราศนครศรีธรรมราช ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมที่มีความไพเราะเป็นเยี่ยม เนื้อเรื่องตอนต้นพรรณาถึงกรุงศรีอยุธยา ชมความงามของปราสาทราชวัง วัดวาอาราม แล้วจึงกล่าวถึงการเดินทางควบคู่ไปกับการพรรณาถึงนางที่รักทำนองเดียวกับนิราศอื่น ๆ
                โคลงทวาทศมาส  ใช้คำประพันธ์ประเภทโคลงดั้นวิวิธมาลี จำนวน ๒๕๘ บท มีร่ายนำเรื่องหนึ่งบท และจบลงด้วยร่ายดั้นสั้น ๆ อีกหนึ่งบท เนื้อความพรรณาถึงความในใจที่ต้องจากนางที่รัก โดยพรรณาเป็นเดือน ๆ เริ่มตั้งแต่เดือนห้าไปจนจบครบสิบสองเดือน
                สมุทรโฆษคำฉันท์  ได้รับการยกย่องให้เป็นยอดวรรณคดีประเภทคำฉันท์ แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทฉันท์ปนกาพย์ จบลงด้วยโคลงสี่สุภาพอีกสี่บท วรรณกรรมเรื่องนี้สะท้อนความเชื่อในเรื่องบาปกรรมทางพระพุทธศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับลักษณะช้างที่ดี
            นอกจากนี้ยังมีเรื่อง เสือโคคำฉันท์ อนิรุทธ์คำฉันท์ ราชาพิลาปคำฉันท์หรือนิราศสีดา ก็เชื่อว่าได้เกิดในสมัยอยุธยาตอนต้น
                สมัยอยุธยาตอนกลาง  เริ่มตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ปี พ.ศ.๒๑๖๓ จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.๒๒๓๑ รวมเวลา ๖๘ ปี ในสมัยนี้มีกวีหลายคน สร้างวรรณกรรมไว้หลายเรื่อง
                กาพย์มหาชาติ  สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงโปรดให้ประชุมนักปราชญ์แต่งมหาชาติคำหลวงอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๔๕ - ๒๑๗๐ แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทร่ายตลอดเรื่อง สำหรับใช้เทศน์ให้อุบาสกอุบาสิกาฟัง
                โครงพาลีสอนน้อง  เป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ จำนวน ๓๒ บท เนื้อเรื่องสอนขนบธรรมเนียมที่ข้าราชการพึงปฏิบัติต่อเจ้านาย
                โคลงทศรถสอนพระราม  เป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพจำนวน ๑๒ บท กล่าวถึงหลักปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ต่ออาณาประชาราษฎร์
                โคลงราชสวัสด์  เป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ จำนวน ๖๓ บท เนื้อเรื่องเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติราชการของข้าราชการที่ดี
                จินดามณี  พระโหราธิบดี ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นผู้แต่ง นับเป็นแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกของไทย แต่งเป็นร้อยแก้วปนร้อยกรอง ได้ใช้เป็นแบบเรียนภาษาไทยตลอดมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
                พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  พระโหราธิบดีเป็นผู้แต่ง โดยที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดให้รวบรวมเหตุการณ์บ้านเมืองขึ้นใน ปี พ.ศ.๒๒๒๓ โดยเขียนเป็นร้อยแก้วแบบปูมโหร กล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๖๗ จนถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพไปเมืองห้างหลวง หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ไปพบต้นฉบับที่เพชรบุรีจึงให้ชื่อว่า พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ฯ
                โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระศรีมโหสถ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นผู้แต่ง แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพจำนวน ๗๘ บท เนื้อหาสรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บรรยายการได้ช้างเผือกจากกาญจนบุรี การอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๒๕ และการสร้างพระราชวังที่ลพบุรี เป็นต้น
                กาพย์ห่อโคลง  พระศรีมโหสถแต่งถือว่าเป็นกาพย์ห่อโคลงเรื่องแรกเนื้อเรื่องกล่าวถึงวิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอยุธยา
                โคลงอักษรสาม  บางทีเรียกว่า โคลงอักษรสามหมู่ โคลงตรีเพชรประดับ หรือโคลงตรีพิธประดับ พระศรีมโหสถแต่ง มีโคลง ๒๙ บท มุ่งจะเล่นอักษรพยัญชนะมากกว่ารสไพเราะทางวรรณคดี เนื้อเรื่องไม่ติดต่อกัน
                โคลงนิราศนครสวรรค์  สันนิษฐานว่า พระศรีมโหสถแต่งเมื่อตามเสด็จ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชไปรับช้างเผือกที่นครสวรรค์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๐๑
            สมัยอยุธยาตอนปลาย  เริ่มตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปี พ.ศ.๒๒๗๕ จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ปี พ.ศ.๒๓๑๐
                โคลงชลอพระพุทธไสยาสน์  เป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เนื้อเรื่องเป็นบันทึกเหตุการณ์ในการชลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ จำนวน ๖๘ บท
                ปุณโณวาทคำฉันท์ พระมหานาคสำนักวัดท่าทรายเป็นผู้แต่ง เป็นวรรณกรรมคำฉันท์เรื่องเดียวที่เขียนในช่วงอยุธยาตอนปลาย เนื้อเรื่องกล่าวถึงตำนานและพรรณางานสมโภชพระพุทธบาทสระบุรี
                กาพย์เห่เรือ  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์นิพนธ์ เพื่อใช้เห่เรือของพระองค์ เนื้อเรื่องมีสี่ตอน คือชมกระบวนเรือ ชมปลา ชมนก และชมไม้ นิพนธ์ไว้ตั้งแต่ครั้งตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี นอกจากกาพย์เห่เรือแล้ว ยังมีบทเห่กากี เห่สังวาส และเห่ครวญ ทั้งสามเรื่องมีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน
                กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์นิพนธ์ เนื้อเรื่องกล่าวถึงการเสด็จทางชลมาร์ค จากท่าเจ้าสนุกในจนถึงพระพุทธบาท ได้พรรณาชีวิตสัตว์ ไม้ดอก ไม้ผลตามสภาพที่เป็นจริง
               กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์นิพนธ์ บางทีเรียกกาพย์ห่อโคลงนิราศ หรือกาพย์นิราศพระบาท เนื้อเรื่องกล่าวชมความงามของนาง และรำพันถึงนางที่ต้องจากกัน
                นันทโทปนันทสูตรคำหลวง  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงนิพนธ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๙  ลักษณะการแต่งคล้ายคลึงกับมหาชาติคำหลวง
                พระมาลัยคำหลวง  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์นิพนธ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๘๐ ทำนองแต่งเช่นเดียวกับกาพย์มหาชาติ คือแต่งด้วยร่ายสุภาพ บางแห่งมีลักษณะคล้ายกาพย์ยานีปนอยู่บ้าง แต่เดิมพระมาลัยใช้สวดในงานมงคลสมรส ต่อมาเปลี่ยนไปใช้สวดเฉพาะงานศพหรือสวดหน้าศพ
             ดาหลังและอิเหนา หรืออิเหนาใหญ่ และอิเหนาเล็ก  เจ้าฟ้าหญิงกุลฑล นิพนธ์เรื่องแรกและเจ้าฟ้ามงกุฏนิพนธ์เรื่องหลัง ทั้งสองเรื่องได้เค้าเรื่องมาจากหญิงเชลยชาวปัตตาเวีย ที่เข้ามาเป็นข้าหลวงได้เล่าถวาย แต่ต้นฉบับสูญหายไปหมดแล้ว
            นอกจากวรรณกรรมดังกล่าวแล้ว ยังมีบทละครเรื่องอื่น ๆ ที่มีต้นฉบับเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันอีก ๑๕ เรื่อง แต่ไม่มีเรื่องใดครบบริบูรณ์ เรื่องดังกล่าวได้แก่ รามเกียรติ์ การเกษ คาวี ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์ มโนห์รา โม่งป่า พิณสุริวงค์ มณีพิไชย สังข์ศิลป์ชัย สุวรรณหงส์ สุวรรณศิลป์ สังข์ทอง (๒ ฉบับ) ส่วนอีกสี่เรื่องไม่แน่ว่าจะเป็นบทละครสำนวนกรุงเก่า (สมัยกรุงศรีอยุธยา) หรือไม่ได้แก่เรื่องไกรทอง โคบุตร ไชยเชษฐ พระรถ และศิลป์สุริยวงศ์
    ดนตรีไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา
            เครื่องดนตรีไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา คงมีเครื่องดนตรีครบทั้งสี่ประเภทคือ เครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตี และเครื่องเป่า
            ในส่วนของการประสมวงนั้น แบ่งออกได้ดังนี้
            วงขับไม้  ใช้บรรเลงในงานพระราชพิธีชั้นสูง ประกอบด้วยคนร้องหรือคนขับลำนำหนึ่งคน คนไกวบัณเฑาะว์หนึ่งคน คนสีซอสามสายหนึ่งคน
            วงมโหรี  แบ่งย่อยได้เป็นวงมโหรีเครื่องสี และวงมโหรีเครื่องหก
               วงมโหรีเครื่องสี่  ประกอบด้วยคนสีซอสามสาย คนดีดกระจับปี คนตีโทน และคนตีกรับพวงอย่างละหนึ่งคน
               วงมโหรีเครื่องหก  ประกอบด้วยคนสีซอสามสาย คนดีดกระจับปี่ คนเป่าขลุ่ย คนตีโทน คนตีรำมะนา คนตีกรับพวง อย่างละหนึ่งคน
            สำหรับบทเพลง นิยมบรรเลงและขับร้องในอัตราจังหวะสองชั้น จากหลักฐานที่ปรากฏมีอยู่ไม่น้อยกว่า ๒๐๐ เพลง เช่น เพลงนางไห้ คำหวาน เบ้าหลุด ถอยหลังเข้าคลอง จรเข้ขวางคลอง ชมทะเล เหราเล่นน้ำ ลมพัดชายเขา และนกจาก เป็นต้น
            ในยุคปัจจุบัน อยุธยามีการทอดการดนตรีไทยอยู่ตลอดเวลา จะเห็นได้จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นถิ่นกำเนิดของนักดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดุริยชีวิน) ครูพริ้ง ดนตรีรส ครูสอน วงฆ้อง ครูเพ็ชร จรรย์นาฏ และครูประสิทธิ์ ถาวร เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีชื่อเสียงด้านวงปี่พาทย์ มีความสามารถสูงระดับแนวหน้า เช่นวงพาทย์รัตน์ (วงบ้านใหม่) วงครูไพฑูรย์ จรรย์นาฏ วงศรสุวรรณ วงสุนิมิต และวงวัดไก่จัน เป็นต้น
  การทำเรือ
            จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นที่รวมของแม่น้ำสำคัญหลายสาย และได้แยกสาขาออกเป็นคูคลองต่าง ๆ มากมาย เชื่อมโยงกันทั่วพื้นที่ การคมนาคมขนส่งทางน้ำจึงมีความสำคัญมาแต่โบราณกาล วิถีชีวิตของชาวอยุธยามีความผูกพันกับสายน้ำมาช้านาน ดังนั้นการใช้ยานพาหนะเพื่อการคมนาคมขนส่งก็คือเรือ เรือที่เลือกใช้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต และสภาพแวดล้อมมีทั้งเรือขุด และเรือต่อ
            เรือขุด  เป็นเรือที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นเรือที่ขุดจากต้นไม้ทั้งต้น ต้นไม้ที่จะนำมาขุดเป็นเรือต้องเป็นไม้เนื้อแข็งไม่มีตา ไม่มีโพรงหรือรอยแตกร้าว เนื้อไม้ต้องแห้งสนิทและไม่มียางอยู่ในเนื้อไม้ ไม้ที่นิยมมาขุดเรือมากที่สุดคือ ไม้สัก ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ตะเคียน และไม้ตาล โดยเฉพาะไม้สัก และไม้ตะเคียนจะเป็นที่นิยมกันมากที่สุด เนื่องจากมีน้ำหนักพอเหมาะ ไม่หนักหรือเบาเกินไป ลอยน้ำได้ดี และอยู่ในน้ำได้นาน หากรักษาให้ดีจะมีอายุการใช้งานได้นานนับร้อยปี
            การขุดเรือ  เมื่อเลือกไม้ได้ขนาดที่ต้องการคือมีความสูง ลำต้นยาว และมีวงรอบเหมาะที่จะขุดเรือได้ ช่างขุดเรือจะพิจารณาก่อนว่าควรจะใช้ทางใดเป็นหัวเรือ และทางใดเป็นหางเรือ แล้วจึงนำไม้ที่จะขุดวางบนหมอนยึดด้วยลิ่มให้แน่น หาจุดศูนย์กลางและกำหนดความกว้างของปากเรือ หลังจากนั้นใช้เลื่อย เลื่อยเปิดปากเรือ และพลิกแต่งข้างเรือทั้งซ้ายและขวาให้ได้รูปเรืออย่างหยาบ ๆ ก่อน เรียกว่า มาด เสร็จแล้วคว่ำเรือลงใช้ผึ่ง หรือขวานโยนถากออกให้เป็นรูปเรือตามความยาวของเส้นมาด จากนั้นหงายเรือขึ้นอีกครั้งใช้ผึ่งขุดเซาะเนื้อไม้ภายในให้เป็นร่อง จากหัวและท้ายไปหาตรงกลาง โดยเว้นส่วนหัวและท้ายไว้ประมาณด้านละสองศอก เอาแกลบใส่ลงในร่องแล้วสุมไฟ ช่างขุดเรือจะกะได้ว่าจะใช้แกลบสักเท่าใดในการสุมแต่ละครั้ง เมื่อแกลบไหม้ไฟหมดแล้วเอาน้ำดับ เนื้อไม้จะถูกเผาเป็นถ่าน จากนั้นจะเอาขวานถากไม้ที่ไหม้ไฟออก ทำสลับกันไปจนกว่าจะได้ความลึกของเรือที่ต้องการ ขณะสุมแกลบไม้ได้รับความร้อนจะขยายตัว เมื่อใช้นำราดดับไฟทำให้ไม้หดตัวอย่างรวดเร็วทำให้ดึง ทำให้ดึงปากเรือขยายกว้างขึ้นเรียกว่าการเบิกเรือ ซึ่งมีอยู่สามวิธีด้วยกันคือ
            เบิกไฟ  คือการใช้แกลบสุมไฟดังที่กล่าวมาแล้ว หลังจากถากเนื้อไม้ที่ไหม้ไฟออกไปแล้วจึงใช้ไม้ขนาดยาวประมาณ ๑๐ นิ้ว ถ่างที่ปากเรือแล้วค่อย ๆ เพิ่มความยาวของเนื้อไม้ไปตามลำดับ จนถึงกลางเรือซึ่งเป็นส่วนที่กว้างที่สุด และค่อย ๆ ลดความยาวลงจนถึงท้ายเรือแล้วทิ้งไว้ให้เนื้อไม้เย็นจึงดึงไม้ค้ำออก ทำวิธีเดียวกันนี้หลาย ๆ ครั้ง จนได้รับความกว้างของเรือตามที่ต้องการ ส่วนอีกวิธีหนึ่งทำโดยการเอาไฟลนให้เนื้อไม้อ่อนตัว แล้วจึงใช้ปากกาหรือกงดีดจับปากเรือดึงให้กว้างออก
            เบิกน้ำ  คือ การนำน้ำใส่ลำเรือที่ขุดหรือถากแล้วทิ้งไว้หลาย ๆ วัน น้ำจะดันแคมเรือให้เบิกกว้างออก
            เบิกขวาน  คือ การใช้ขวานถากให้เรียบได้ขนาดความลึก และความกว้างของเรือตามที่ต้องการ
            เมื่อเบิกปากเรือและเบ่งกาบเรือให้ได้ขนาดตามที่ต้องการแล้ว จึงใช้ขวานถากพื้นท้องเรือให้เรียบ หากรูปร่างของเรือไม่สวยงาม อาจตกแต่งได้อีกโดยใช้ไม้เป็นงานต่อเป็นเสาหลัก มีไม้พาดเป็นคานหัวท้ายสูงจากพื้นประมาณหนึ่งคืบ นำเรือขึ้นวางบนคาน และผูกติดกับคานให้แน่น ใช้โคลนทาพอกที่ท้องเรือปิดเนื้อไม้ให้มิดแล้วก่อไฟใต้ท้องเรือ โคลนที่ทาไว้จะป้องกันไม่ให้ไฟไหม้ท้องเรือ เมื่อเนื้อไม้อ่อนตัวจึงใช้ไม้งัด แต่งส่วนที่ไม่เรียบร้อยหรือบิดเบี้ยวให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ จากนั้นจึงทำโขนทั้งหัวและท้าย อาจเป็นโขนที่ติดกับตัวเรือเลยหรือทำเป็นโขนที่ถอดได้ก็ได้ ไม้ที่นิยมใช้ทำโขนเรือมักจะใช้ไม้เนื้อเบาเช่นไม้ขนุน และไม้สัก หากต้องการเสริมความแข็งแรงให้กับเรือ ช่างจะใส่กงยึดด้วยลูกประสักทุกระยะห่างกันประมาณช่วงละ ๕๐ เซนติเมตร ส่วนของกงแนบกับท้องเรือจะเจาะรูกว้างประมาณ ๒ เซนติเมตร สำหรับระบายน้ำมิให้ขังระหว่างกงกับท้องเรือ เรียกว่า รูวาน
            เรือขุด  ที่เคยมีใช้ในแม่น้ำลำคลองมีแบบและชื่อต่าง ๆ ดังนี้

            เรือโปง  หรือเรืออีโปง เป็นเรือขุดที่นำโคนต้นตาลมาผ่าออกเป็นสองซีก ใช้แกลบสุมเผาไส้จนเหลือแต่เปลือกนอก แล้วเลื่อยกระดานปิดตรงท้ายยาด้วยชัน ใช้สำหรับพายในน้ำตื้น ๆ มีความทนทานมาก สามารถจอดทิ้งไว้กลางแดดกลางฝน ใช้พายหรือถ่อลัดเลาะไปตามชายทุ่ง

            เรือมาด  เป็นเรือขุดลักษณะท้องกลมขุดจากไม้ซุง ส่วนมากเป็นไม้ตะเคียน เพราะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ และหาได้ง่ายในสมัยนั้น เรือมาดมีหลายขนาด คือขนาดใหญ่ ขนาดกลาง  และขนาดเล็ก เรือมาดขนาดใหญ่จะใช้แจวหลาย ๆ แจว เรือมาดขนาดกลางใช้แจวสองแจวหรือใช้ถ่อ ส่วนเรือมาดขนาดเล็กจะใช้พาย เรือมาดนับว่าเป็นเรือเก่าแก่ชนิดหนึ่งของไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีประโยชน์ใช้สอยมาก การขุดแต่งก็ง่ายกว่าเรือชนิดอื่น ๆ การบำรุงรักษาก็ง่าย

            เรือหมู  เป็นเรือขุดท้องกลม หัวท้ายเรียวงอนเล็กน้อย ส่วนท้ายเรือจะงอนมากกว่าส่วนหัวเรือ ดูอ่อนช้อยสวยงามกลมกลืนกันดี เสริมกาบเรือทั้งสองข้างเพื่อให้บรรทุกได้มากขึ้น ห้วท้ายเรือจะเลี่ยมด้วยแผ่นทองเหลืองมีลายแปลก ๆ สวยงาม และเป็นเอกลักษณ์ของชาติ พื้นหัวและท้ายเรือมีแคร่ปิดเปิดได้ ส่วนกลางลำเป็นแคร่โปร่งลูกระนาด ชาวบ้านในชนบทภาคกลางมีใช้กัน ใช้พายไปร่วมงานทอดผ้าป่า ไปฟังเพลงเรือหรืออาจจะใช้ไปหาปลาตามทุ่งนาด้วยการลงเบ็ดลงข่าย นับเป็นเรือขุดที่มีความสวยงาม และเก่าแก่ชนิดหนึ่ง ไม้ที่ใช้ทำเรือจะเป็นไม้สัก หรือไม้ตะเคียน ปัจจุบันยังมีเหลืออยู่น้อยมาก
            เรือยาว (เรือแข่ง)  เป็นเรือขุดจากไม้ซุงทั้งต้นโดยเลือกจากไม้ตะเคียนลำต้นตรงไม่มีตาหรือรูแตกร้าว โขนหัวท้ายใช้ไม้ต่อให้งอนสวยงาม ท้ายเรือจะงอนมากกว่าหัวเรือ มีกระทงที่นั่งของฝีพายตามความต้องการแบ่งขนาดของเรือเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ถึง ๕๐ ฝีพาย กลางลำจะขันชะเนาะด้วยไม้ไผ่ทั้งลำ เพื่อให้ตัวเรือแข็งแรงขึ้น การขุดเรือยาวสมัยก่อน ชาวบ้านจะร่วมมือร่วมใจกันขุดที่วัด ใช้ชื่อวัดเป็นชื่อเรือ หรือชื่อคณะที่ส่งเข้าแข่งขัน การแข่งขันเรือระหว่างหมู่บ้าน ตำบล เป็นงานที่จัดประจำปีสร้างความสามัคคี และสนุกสนานของหมู่คณะ
            การเดินทัพทางเรือสมัยโบราณต้องใช้ฝีพายของทหาร ซึ่งยามปกติเป็นชาวบ้านที่มีการฝึกซ้อมฝีพายกันไว้อย่างดี จากงานประเพณีดังกล่าว
            เรือต่อ  เป็นเรือที่ทำขึ้นโดยใช้ไม้กระดาน หรือวัสดุอื่น ๆ มาประกอบเป็นเรือ เรือต่อสมัยแรก ๆ ยังใช้การพายเหมือนเรือขุด ต่อมาได้ใช้เครื่องจักรกลเข้ามาแทนแรงคน เรือต่อของไทยเริ่มมีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนประกอบสำคัญของเรือต่อคือ
                กระดูกงู  ทำด้วยไม้กระดานที่หนากว่าไม้ตัวเรือ มีความยาวตลอดจากทวนหัวเรือถึงทวนท้ายเรือ นับว่าเป็นส่วนที่แข็งแรงและสำคัญที่สุด
                กง  คือไม้กระดานที่วางไว้บนกระดูกงูตามขวาง ขนาดของเรือจะใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับการวางกง ถ้าต้องการให้เรือใหญ่ต้องวางกงให้กว้าง หากต้องการเรือขนาดเล็กก็วางกงให้แคบลงตามขนาดที่ต้องการ โดยการเรียงให้ตรงกลางเป็นส่วนที่กว้างที่สุด เดิมไม้ที่ใช้ทำกงจะเลื่อยจากต้นไม้ออกมาเป็นแว่น แล้วจึงสกัดให้ได้ขนาดพอดีกับความกว้างที่ต้องการ
                ทวนหัวและทวนท้าย  ทำด้วยแผ่นกระดานลนไฟให้อ่อน ดัดให้งอนตามลักษณะของเรือแต่ละชนิด ช่างจะปาดหัวเรือให้เป็นรูปสามเหลี่ยม เพื่อให้สามารถแหวกน้ำให้เรือแล่นไปได้เร็ว ส่วนท้ายเรือจะทำเป็นรูปป้าน
            การประกอบเป็นตัวเรือจะต้องวางกระดูกงูเสียก่อน แล้วจึงนำกงวางขวางกับกระดูกงู หลังจากนั้นจะนำไม้กระดานที่จะประกบเป็นเปลือกเรือ ตีประกบโดยใช้ลูกประสักตอกยึดให้ติดกับกงทุกแถว ส่วนท้องเรือก็จะใช้ลูกประสักตอกยึดกระดูกงูกับกระดานท้องเรือให้แน่น แล้วจึงตอกหมันยาชัน เพื่อไม่ให้น้ำเข้าเรือ
            เรือที่ใช้ในแม่น้ำลำคลองโดยทั่วไปมีดังนี้

            เรือกระแซง  มีการต่อในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเรือท้องกลม คล้ายแตงโม ถ้าลำเรือใหญ่มากท้องเรือจะเกือบแบนกว้าง เพื่อใช้บรรทุกได้มากและกินน้ำน้อยลง กงเรือจะเป็นไม้โค้งตามท้องเรือ และวางเรียงกันถี่มากเพื่อความแข็งแรง เปลือกเรือจะเป็นแผ่นไม้หนายึดเหนี่ยวเปลือกเรือ ให้ติดด้วยลูกประสักที่ทำจากไม้แสมเหลากลม ด้านนอกจะโตกว่าด้านใน ส่วนปลายลูกประสักด้านในผ่ากราดด้วยลิ่มกันเลื่อนออก เรือกระแซงจึงมีความแข็งแรงมาก บนดาดฟ้าหัวปูพื้นอัดชิดทำหน้าที่เป็นห้องลอยด้วย ส่วนด้านท้ายเรือเป็นพื้นเปิดได้ ท้ายเรือมีหางเสือมีพังงาถือท้ายเรือ หัวท้ายเรือมีไม้แผ่นหนาเป็นแอกหัว - ท้าย ใช้สำหรับผูกเรือโยง กลางลำมีประทุนโค้งเลื่อนเข้าออกได้ ท้ายเรือมีหลังคาเป็นขยาบโดยใช้เสารับสองเสา มีไม้กระดานพาดระหว่างเสาสำหรับนั่งถือท้ายเรือ มีหางเสือเป็นแผ่นกระดาน มีก้านหางเสือสอดพังงาสำหรับบังคับเรือใช้แจวหรือใช้เรือยนต์ลากจูง

            เรือเอี้ยมจุ๊น  มีลักษณะคล้ายเรือกระแซง แต่ส่วนทวนหัว - ทวนท้าย จะเป็นท่อนตรงเอียงไปทางหัว และท้ายเรือจะเรียวไม่ป้อมเหมือนเรือกระแซง มีกระดานเรียบเสริมกาบเรือ กลางลำไม่มีหลังคาประทุนคลุม มีแผ่นหลังคาท้ายเรือลักษณะเป็นขยาบมีเสาง่ามรับ หลังคาขยาบ หางเสือเป็นชนิดหางเสือพาดหรือแขวน
            การใช้งานใช้สำหรับลำเลียงสินค้า และขนถ่ายสินค้า จากโกดังมายังเรือสินค้า หรือจากเรือสินค้ามายังท่าเทียบเรือ ไม้ที่ใช้ต่อเรือ เปลือกเรือใช้ไม้สักหรือไม้ตะเคียน ส่วนกงเรือ กระดูกงู  และทวนใช้ไม้เนื้อแข็ง การยึดเปลือกเรือกับกงเรือใช้ลูกประสัก

            เรือเข็ม  เป็นเรือต่อลักษณะเพรียวมีทวนหัวและทวนท้ายคล้ายเรือบด ดาดฟ้าหัวท้ายยาวเป็นสันเล็กน้อย กลางลำเป็นช่องที่นั่งมีพนักพิง พายมีสองใบ เรือจะโคลงมากถ้านั่งคนเดียวหรือสองคน มีกระทงที่นั่ง ถ้านั่งคนเดียวเรียกเรือโอ่ง มีกาบเรือกันคลื่นไม่ให้เปียกคนพาย ไม้ที่นิยมใช้ทำคือไม้สัก ไม้ยมหอม เป็นเรือที่มีน้ำหนักเบายกคนเดียวได้ พระภิกษุที่จำพรรษาที่วัดที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง จะใช้เรือนี้เป็นพาหนะออกบิณฑบาตหรือใช้เป็นเรือสื่อสาร สมัยก่อนชายหนุ่มใช้พายไปอวดสาวหรือจีบสาวในงานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า และใช้พายแข่งกัน

            เรือบด  เป็นเรือต่อมีสองชนิดด้วยกันคือ เรือบดไม้กระดานห้าแผ่น และเรือบดเกล็ดท้องกลม เรือบดเกล็ดมีประวัติมาจากเรือช่วยชีวิตในเรือเดินสมุทร เรือรบ หรือเรือสำเภาโบราณ แต่ในเรือสำเภาไทยมีเรือช่วยชีวิตเรียกเสือซำปัง ซึ่งเป็นเรือท้องแบนไม้กระดานสามแผ่น ต่อมาจึงปรับปรุงรูปแบบให้สวยงาม เรือบดมีลักษณะเพรียว มีทวนหัว และท้ายเรือโค้งเรียว เลยขึ้นไปบนดาดฟ้าเรียกว่า หงอนเรือ มีดาดฟ้าหัวท้าย มีกระทงเรือหัวท้าย มีมือลิงยึดเปลือกเรือตามขนาดของเรือ กลางลำปูพื้นต่ำ เพื่อไม่ให้เรือโคลง ลำหนึ่งนั่งได้หนึ่งหรือสองคน หากใช้เป็นเรือแข่งจะมีขนาดยาว ขนาดห้าถึงแปดฝีพาย แต่จะเป็นเรือบดเกล็ด ถ้าเป็นเรือบดขนาดเล็กนั่งคนเดียวหรือสองคน จะใช้พายสองใบเพราะพายได้เร็วขึ้น

            เรือแตะ  เป็นเรือที่ต่อด้วยไม้แผ่นทั้งลำเรือ ไม้ที่นิยมใช้คือไม้สัก ไม้ตะเคียน ท้องเรือเป็นเหลี่ยมใช้ไม้กระดานห้าแผ่น เรือแตะเป็นเรือเบาใช้พายเล่น บรรทุกคนได้ประมาณ ๔ - ๕ คน เป็นเรือที่ชาวชนบทภาคกลางต่อขึ้นใช้ในสวน เพื่อบรรทุกผลผลิตออกจากสวน หรือใช้ตามแม่น้ำลำคลอง เพื่อเก็บผักตกปลา และเดินทางติดต่อกันในหมู่บ้าน
            เรือป้าป  เป็นเรือต่อมีลักษณะหัวท้ายเรียวกลางกว้างท้องเรือกลมเกือบแบน ได้พัฒนามาจากเรือแตะของภาคกลาง ไม้ที่ใช้ต่อเรือใช้ไม้สัก ช่างต่อเรือมักต่อกันมาจากภาคเหนือ หรืออาจส่งไม้มาต่อแถวย่านรังสิต เรือป้าปนั่งสบาย วิธีต่อเรือก็ไม่ยุ่งยาก ใช้กงเรือไม่ใช้เปี๊ยะ มีพื้นที่ส่วนหัวและส่วนท้ายเรือ กลางลำเรือลดพื้นลงต่ำ ใช้โดยลงไปมาระหว่างหมู่บ้าน หรือเกี่ยวข้าวเกี่ยวหญ้า ราคาไม่แพง

            เรือผีหลอก  เป็นเรือหาปลาของชาวบ้าน ต่อด้วยไม้กระดานสามแผ่น รูปร่างเพรียว ยาวประมาณ ๕ - ๖ เมตรใช้แจว บางท้องถิ่นใช้เรือขุด คอหัวเรือและคอท้ายเรือมีแคร่ กลางลำโล่งมีไม้กระดานวางพาดแผ่นเดียว พอเป็นสะพานเดินจากหัวเรือมาท้ายเรือ มีแจวที่ท้ายเรือเพียงแจวเดียว ต่อกราบซ้ายของเรือขึ้นไปเป็นเสาสูงประมาณหนึ่งเมตร จากห้องกลางลำเรือขึงด้วยตาข่ายโตประมาณหนึ่งนิ้ว เพื่อกันปลาไม่ให้กระโดดข้ามเรือ ด้านขวามีแผ่นกระดานทาสีขาวห้อยข้างเรือ
            การที่เรียกว่า เรือผีหลอก เพราะคนหาปลาจะแจวเรือที่มีแผ่นกระดานห้อยข้างเรือทาสีขาว ด้านซ้ายมือเหนือกราบเรือ จะมีแหตาข่ายขึงระหว่างห้องท้องเรือ คนแจวเรือจะแจวเงียบ ๆ ไปตามชายตลิ่งในฤดูน้ำลด ตลิ่งโผล่ยามกลางคืน ข้างแรม เดือนมืดตอนดึก ๆ หรือใกล้รุ่ง เมื่อปลานอนอยู่ริมตลิ่ง กระทบกับแผ่นสีขาวจะตกใจกระโดดข้ามแผ่นสีขาวด้วยความตกใจ เมื่อปะทะกับตาข่ายก็จะตกลงในเรือ ส่วนมากจะเป็นปลาเกล็ดที่นอนอยู่ในน้ำตื้น ๆ คืนหนึ่ง ๆ จะได้ปลาครึ่งลำเรือหลายสิบกิโลกรัม
            เรือสำปั้นพาย (เรือซำปัง)  เป็นเรือต่อขนาดเล็กสำหรับคนทั่วไปอาศัยเดินทาง เรือสำปั้นสันนิษฐานว่ามาจากภาษาจีน จากคำว่าซำปุ้ง หรือสามปานเป็นเรือเล็กที่วางอยู่บนเรือสำเภาใช้ช่วยชีวิตยามฉุกเฉิน หรือใช้พายเข้าติดต่อกับชายฝั่ง ต่อด้วยไม้กระดานสามแผ่นคือแผ่นท้องเรือและแผ่นข้างเรือสองข้าง ต่อมาช่างต่อเรือของไทยปรับปรุงรูปแบบเรือเป็นต่อด้วยแผ่นกระดานห้าแผ่น รูปร่างอ่อนช้อยสวยงามมากขึ้น
  งานหัตถกรรม

            ผลิตภัณฑ์ไม้โครงสร้างเรือนไทยสำเร็จรูป  ในอดีตการทำส่วนประกอบเรือนไทยสำเร็จรูป จะมีอยู่สองลักษณะคือ เป็นเรือนเครื่องผูก และเรือนไทยเครื่องสับ เรือนเครื่องผูกทำจากไม้ไผ่ เรือนเครื่องสับทำจากไม้เนื้อแข็ง โครงสร้างเรือนเครื่องผูกสำเร็จรูปจะมีทำทั้งใน และนอกพระนคร แหล่งผลิตนอกพระนครที่สำคัญ ถ้าเป็นฝาเรือนจะอยู่ทางด้านสัมพะนีในเขตทุ่งขวัญหรือทุ่งลุมพลีในปัจจุบัน ถ้าเป็นส่วนประกอบจำพวกเสาพรึง หรือรอดก็จะมีแถวบ้านคลองธนูเอก ย่านพะเนียด ถ้าเป็นเขตพระนครก็จะมีฝาเรือนขายแถบบ้านฉะไกรใหญ่ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะเมือง กับแถวบ้านเชิงตะไกรใหญ่ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะเมือง กับแถวบ้านเชิงตะไกรในย่านพุทไธสวรรค์ นอกกำแพงพระนครเลียบริมฝั่งแม่น้ำ ฝั่งตรงข้ามกับย่านฉะไกร ส่วนโครงสร้างของเครื่องเรือนสับนั้น จะผลิตอยู่แถบบ้านนางเอียน ย่านวัดพิชัย ใกล้กับสถานีรถไฟอยุธยา แต่แหล่งผลิตโครงสร้างเรือนไทยสำเร็จรูปของอยุธยาปัจจุบันจะอยู่แถบตำบลโพธิสามต้น อำเภอบางปะหัน โรงงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ข้างถนนสายเอเซีย ช่วงจังหวัดอยุธยาไปอ่างทอง ชิ้นส่วนของเรือนที่ผลิตเป็นเรือนสับทั้งสิ้น เช่น ฝาปะกน ประตู หน้าต่าง ปั้นลม เหงา ฯลฯ

            งานแกะสลักไม้  คนไทยเป็นชนกลุ่มที่มีความชำนาญในการแกะสลักมาแต่โบราณ งานแกะสลักนับเป็นศิลปหัตถกรรมที่เก่าแก่ประเภทหนึ่งของชาวจังหวัดอยุธยา มีลวดลายวิจิตรตระการตา และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับมาช้านาน ดังที่นายโคลาส์ แชร์แวส ชาวฝรั่งเศสได้บันทึกไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า" ชาวสยามมีฝีมือมากในด้านช่างไม้ และช่างแกะสลัก ทำลายกนก กิ่งไม้ ดอกไม้ อย่างประณีตงดงาม ใครได้เห็นแล้วไม่เบื่อที่จะชมเลย..."
            งานแกะสลักไม้ของอยุธยาในอดีต ส่วนใหญ่เป็นประตู หน้าต่าง โบสถ์ วิหาร ส่วนประกอบตัวบ้าน และเครื่องใช้ในครัวเรือน เดิมเครื่องมือในการแกะสลักมีอยู่เพียงน้อย อย่างเช่น มีด สิ่ว ตะลุมพุก ตะไบ เป็นต้น มาปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สมัยก่อนนิยมใช้ไม้สักแกะสลัก ต่อมาเมื่อมีไม้สักน้อยลง ช่างจึงหันมาใช้ไม้ชนิดอื่นที่พอหาได้ในท้องถิ่นแทนไม้สัก นอกจากนั้นขั้นตอนในการเขียนลวดลายที่จะแกะ แต่เดิมช่างจะลอกลวดลายลงบนเนื้อไม้โดยใช้กระดาษคาร์บอน แต่ปัจจุบันช่างแกะสลักส่วนใหญ่จะใช้กระดาษแข็งเขียนลวดลาย แล้วเจาะด้วยเข็มให้เป็นรูเล็ก ๆ จากนั้นจะวางกระดาษที่เจาะลายไว้ ทาบลงไปบนไม้สำหรับแกะสลัก แล้วใช้แป้งผงห่อผ้าขาวบาง นำไปตบบนกระดาษเจาะลายให้ผงแป้งลอดลงไปตามรูกระดาษที่เจาะจนติดเนื้อไม้ จากนั้นจึงเริ่มสลักตามรอยแป้งที่เนื้อไม้นั้น

            ผลิตภัณฑ์โลหะ - มีดอรัญญิก  มีอรัญญิกเป็นหัตถกรรมที่เกิดขึ้น ณ หมู่บ้านต้นโพธิ และหมู่บ้านไผ่หนอง ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง ซึ่งบรรพบุรุษของชาวบ้านผู้ผลิตมีดมาตั้งถิ่นฐานทำมีด และทำทองรูปพรรณ ณ หมู่บ้านดังกล่าว แต่ต่อมางานช่างทองรูปพรรณได้เลิกไป คงเหลืออยู่แต่งานช่างทำมีเท่านั้น
            รกรากเดิมของชาวบ้านทั้งสองแห่งนี้ เป็นชาวเวียงจันทน์ ได้อพยพเข้ามาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จะได้ยึดอาชีพตีมีดเป็นหลัก ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นปะปนเลย
            ชื่อและที่มาของมีดอรัญญิกมีว่า มีบ่อนเบี้ยอยู่หมู่บ้านหนึ่ง ชื่อบ้านอรัญญิก อยู่ห่างจากบ้านต้นโพธิและบ้านไผ่หนองออกไปประมาณ สองกิโลเมตร ทางทิศตะวันออก มีผู้คนมาเที่ยวโรงบ่อนเป็นจำนวนมาก โรงบ่อนที่บ้านอรัญญิกก็จะนำผลิตภัณฑ์ เช่นมีดที่ชาวบ้านจากสองหมู่บ้านดังกล่าวมาวางขาย เมื่อผู้คนจำนวนมากซื้อไปใช้ก็ถูกใจ และเป็นของดีมีคุณภาพคงทนใช้งานได้ดี จึงมีการบอกกล่าวเล่าขานกันสืบต่อมา ถึงมีดที่ซื้อมาจากบ้านอรัญญิก นานไปก็เลยติดปากว่า มีดอรัญญิก

            เทคนิคในการผลิตในระยะแรก ๆ ยังคงเป็นแบบดั้งเดิม คือใช้สูบลมสำหรับเป่าไฟให้ร้อนแดงเพื่อใช้ในการตีมีด และใช้เหล็กขูด เพื่อขูดตัวมีดให้บางและขาว ปัจจุบันใช้มอเตอร์หมุนลูกปัด เพื่อปัดมีดให้บางและขาวแทน ในสมัยก่อนการทำมีดต้องอาศัยแรงงานหลายคน เช่นต้องคอยสัญญาณการให้เสียงของผู้จับเหล็ก ที่เรียกกันว่า หน้าเตา ซึ่งจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการทำมีดอย่างดี ครอบครัวที่มีคนทำมีดสามคน จะสามารถทำมีได้ประมาณ ๑๐ - ๑๕ เล่มต่อวัน แต่ปัจจุบันเมื่อใช้เครื่องจักรเครื่องทุ่นแรงมาใช้ จะผลิตมีได้ถึง ๑๐๐ - ๑๕๐ เล่มต่อวัน การทำงานของชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้บริเวณใต้ถุนบ้านเป็นที่ทำมีดมีการปัดมีดคม ไล่มีด และลับมีด ยกเว้นการเผาเหล็กให้ร้อนแดง ชาวบ้านจะสร้างเป็นโรงเล็ก ๆ แยกออกมาต่างหาก
    งานอยุธยามรดกโลก


            งานอยุธยามรดกโลกได้จัดให้มีขึ้นเนื่องจาก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นมรดกวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า และมีคุณสมบัติเด่น ดังนั้นที่ประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลก องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก - UNESCO) ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูนีเซีย ได้มีมติให้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ไว้ในฐานะมรดกโลก เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๔
            จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้กำหนดให้มีการจัดงานอยุธยามรดกโลก ในวันที่ ๑๓ ธันวาคมของทุกปี โดยมีกิจกรรมการแสดง แสง สี เสียง

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |