| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ป่าไม้

            ป่าไม้ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์แบ่งออกเป็นป่าชนิดต่าง ๆ ตามสภาพได้ดังนี้
            ป่าดิบชื้น  เป็นป่าที่มีพันธุ์ไม้หลายชนิด มีสภาพรกทึบ และเขียวชอุ่มตลอกปี มีต้นไม้ใหญ่สูงชะลูด ส่วนพื้นล่างเป็นไม้ขนาดเล้ก และเถาวัลย์ขึ้นอยู่หนาแน่น ไม้ที่พบส่วนใหญ่เป็นไม้ยาง ไม้ตะเคียน ไม้มะค่าโมง ไม้กระบาก และมะม่วงป่า เป็นต้น ป่าดิบชื้นจะพบอยู่ตอนใต้ของจังหวัด ในเขตอำเภอละหานทราย บ้านกรวด โนนดินแดง แลพอำเภอปะคำ
            ป่าดิบแล้ง  เป็นป่าที่มีพันธุ์ไม้ทั้งประเภท ผลัดใบ และไม่ผลัดใบ พบอยู่ในพื้นที่สูงกว่าป่าดิบชื้น ในเขตอำเภอละหานทราย โนนดินแดง ปะคำ และอำเภอบ้านกรวด ไม้ที่พบได้แก่ ไม้ตะเคียน ไม้ยาง ไม้มะค่าโมง ไม้ชิงชัน และไม้กระบาก เป็นต้น
            ป่าเต็งรัง  ขึ้นอยุ่ในบริเวณดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ทั้งในที่ราบและเนินเขา มีลักษณะเป็นป่าโปร่ง ต้นไม้มีขนาดเล็ก  แคะแกร็น พันธุ์ไม้ที่พบมากได้แก่ ไม้เต็งรัง เหียง พลวง ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ มีป่าเต็งรังกระจายอยู่ทั่วไปเป็นแห่ง ๆ ในเขตอำเภอเมือง ๆ  อำเภอประโคนชัย อำเภอคูเมือง อำเภอบ้านกรวด อำเภอละหานทราย อำเภอโนนดินแดง และอำเภอหนองกี่
            ป่าไม้ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ถูกทำลายลงเป็นอันมาก ทำให้พื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว ในห้วงปี พ.ศ.๒๕๐๔ - ๒๕๓๖ พื้นที่ป่าลดลงจากร้อยละ ๓๒ เหลือเพียงร้อยละ ๕ ภายในเวลาเพียง ๓๒ ปีรายละเอียดของป่าชนิดต่าง ๆ ได้กล่าวไว้แล้วในตอนแรก
            ในบริเวณภูเขาไฟที่ดับแล้ว ของจังหวัดบุรีรัมย์ทั้ง ๖ ลูก ได้แก่ เขากระโดง เขาพนมรุ้ง  เขาไปรบัด เขาหลุบ เขาคอก และเขาอังคาร จะมีพันธุ์ไม้ป่านานาชนิด ขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น เพิ่มความงามตามธรรมชาติให้แก่บริเวณโดยรอบ โดยเฉพาะเขากระโดง มีวนอุทยานที่อยุ่ใกล้ตัวเมืองมากที่สุด มีพันธุ์ไม้นานาชนิดที่น่าสนใจ สามารถไปเที่ยวชมได้สะดวก
            พันธุ์ไม้ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดบุรีรัมย์ ในด้านประวัติศาสตร์ คือ ต้นแปะ เป็นไม้พื้นเมืองที่ขึ้นอยู่ทั่วไป มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่ม ตามตำนานกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาจักรี ได้ยกกองทัพไปปราบข้าศึกที่เมืองจำปาศักดิ์ ขากลับได้เดินทัพมาถึงบริเวณที่ตั้งเมืองบุรีรัมยในปัจจุบัน ได้พบเมืองร้างตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดี จึงได้โปรดให้ตั้งเมืองขึ้นใหม่ว่า เมืองแปะ ตามชื่อต้นไม้ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ จึงได้เปลี่ยนชื่อเมืองแปะมาเป็น เมืองบุรีรัมย์
เขตห้ามล่าสัตว์ป่า

            จังหวัดบุรีรัมย์ มีพื้นที่ที่ราบกรมป่าไม้ได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน ๕ แห่งด้วยกันคือ
            เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อ่างเก็บน้ำสนามบิน  อยู่ในเขตอำเภอประโคนชัย มีพื้นที่ประมาณ ๓,๖๐๐ ไร่
            เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ  มีพื้นที่ประมาณ ๓,๙๐๐ ไร่
            เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๔,๔๐๐ ไร่
            เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขากระโดง  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่
            เขตรักษาพันธุ์วัตว์ป่าดงใหญ่  อยู่ในเขตอำเภอปะคำและอำเภอโนนดินแดง มีพื้นที่ประมาณ ๑๙๕,๕๐๐ ไร่
แร่ธาตุ และรัตนชาติ

            จังหวัดบุรีรัมย์ มีแร่ธาตุที่สำคัญมีค่าในเชิงพาณิชย์อยู่สองชนิดคือ
            หินบะซอลท์  มีอยู่ในบริเวณเขากระโดง เขาอังคาร เขาหลบ เขาไปรบัด และเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว หินบะซอลท์เป็นหินสีดำที่มีความแกร่งมาก ใช้ในการก่อสร้างทั่วไป
            ทราย  มีแหล่งทรายขาวสะอาดในบริเวณลำน้ำมูล ในเขตอำเภอสตึก อำเภอคูเมือง และอำเภอพุทไธสง เป็นทรายที่มีคุณภาพดี นิยมใช้ในการก่อสร้าง
            นอกจากนั้นยังมีแร่รัตนชาติ ตระกูลควอตซ์หลายชนิด ที่บริเวณภูเขาไฟพนมรุ้ง มีแร่โอปอล์สีน้ำตาล ใช้เจียระไนเป็นหัวแหวนได้ แร่โป่งข่าม และผลึกแควอตซ์ใสสวยงาม ที่เรียกว่า เพชรน้ำหาย มีความวาวแบบเพชร แต่ไม่มีการหักเหแสงภายในผลึกเหมือนเพชร
            จากการสำรวจทางธรณีวิทยา พบว่าพื้นอที่บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ในเขตอำเภอสตึก อำเภอคูเมือง อำเภอแดนดง และอำเภอพุทไธสง มีแหล่งหินเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการขุดขึ้นมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |