โบราณสถาน
ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์พบโบราณสถานมากกว่า ๖๐ แห่ง มีการก่อสร้างในห้วงระยะเวลาที่ต่างกัน
ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕ ตลอดมา จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ โบราณสถานเหล่านี้
พบกระจายกันอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุดหักพัง บาแห่งเหลืออยู่แต่เพียงฐานเท่านั้น
โบราณสถานที่สำคัญพอประมวลได้ดังนี้
ปราสาทพนมรุ้ง
ปราสาทพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว อยู่ในเขตตำบลตาเป๊ก
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
คำว่าพนมรุ้ง ซึ่งเป็นชื่อเรียกภูเขาและตัวปราสาทมานานแล้ว คำว่าพนมรุ้ง เป็นภาษาเขมร
แปลว่า ภูเขาอันกว้างใหญ่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับภูเขาลูกอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง
เช่น ภูเขาอังคาร ภูเขาหลุบ ภูเขาคอก ภูเขาไปรมัด พนมรุ้งจะมีขนาดใหญ่ที่สุด
จากที่ตั้งอันเหมาะสม และความสวยงามของปราสาท รวมทั้งการประดับประดา แต่ด้วยลวดลายแกะสลักที่วิจิตรบรรจง
ทำให้ปราสาทพนมรุ้งงดงามโดดเด่นยิ่งนัก
ปราสาทพนมรุ้ง สร้างโดยกำหนดให้หันด้านหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยถือว่าเป็นทิศแห่งความเจริญรุ่งเรือง
แสงอาทิตย์ยามเช้าสาดมาส่องศิวะลิงค์ ซึ่งเป็นสัญญาลักษณ์ของพระศิวะ เกิดเป็นรัศมีเหลืองอร่าม
ถือว่าเป็นการเพิ่มพลังให้แก่พระศิวะ
ปราสาทพนมรุ้งเป็นเทวาสถานที่สร้างขึ้นให้เป็นที่ประทับของพระศิวะ เทพสูงสุดในศาสนาฮินดู
ลัทธิไศวนิกาย กับใช้ประโยชน์ในฐานศาสนสถาน ประกอบพิธีกรรมตามแบบอย่างของศาสนาฮินดู
จากการศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรม และศิลปกรรม ประกอบกับหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึก
ที่พบในบริเวณปราสาทพบว่า สิ่งสร้างบนเขาพนมรุ้ง มิได้สร้างในสมัยเดียวกันทั้งหมด
ปราสาทหลังแรกสร้างเมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕ การสร้างปราสาทให้สมบูรณ์น่าจะอยู่ในสมัยนเรนทราทิตย์
แห่งราชวงศ์มหิธรปุระ
ผู้เป็นเชื้อสายของราชสกุล มหิธรปุระ ซึ่งได้ครอบครองดินแดนที่มีเทวสถานไศวนิกาย
บนเขาพนมรุ้งมาแต่เดิม
หลังจากได้ส้รางปราสาทหลังใหญ่แล้ว สิ่งก่อสร้างสุดท้ายคือ บรรณาลัยศิลาแลง
และพลับพลา ได้สร้างเพิ่มเติมและซ่อมแซมขึ้นใหม่ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ตามรูปแบบศิลปกรรมที่นิยมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่
๗ กษัตริย์กัมพูชา ผู้สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์มหิธรปุระ
และเลื่อมใสในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ในช่วงเวลาดังกล่าว
วิธีการก่อสร้าง
วัสดุก่อสร้างที่มีทั้ง อิฐ หิน และไม้ หินมีทั้งหินทราย และศิลาแลงในการก่อสร้าง
จะใช้วิธีก่อเรียงหินซ้อนกันขึ้นไปให้มีรูปร่างตามฝังที่วางไว้ อาศัยนำหนักของแท่งหินที่กดทับกันเป็นเครื่องยึด
ยกเว้นในส่วนที่เป็นตัวเสริมความมั่นคงเป็นพิเศษ ได้ใช้แท่งเหล็กเป็นรูปตัว
l Z และรูปใบพายแฝด (พายสอทาง) เป็นตัววางเหล็กลงบนแท่งหินสองก้อน ที่สกัดด้านบนเป็นร่อง
เมื่อวางต่อกันแล้ว จะต่อกันเป็นรูปร่างเช่นเดียวกับเหล็กที่ใช้ยึด เมื่อวางเหล็กยึด
แท่งหินทั้งสองไว้ด้วยกันแล้ว จะใช้ตะกั่วหลอมละลายเททับให้ติดแน่นอีกชั้นหนึ่ง
การป้องกันการเคลื่อนตัวของแท่งหินที่ก่อเป็นผนังเหนือประตู หรือหน้าต่าง
จะใช้วิธีการต่างกันออกไปคือ เจาะแท่งหินที่ก่อในแนวนอน ไปตามความยาวของกรอบประตู
หรือกรอบหน้าต่างด้านบน แล้วใช้ไม้สอดเป็นแกนอยู่ข้างในให้มีความยาวเลยขอบประตูทั้งสองออกไป
ถ้าผนังเหนือประตูมีน้ำหนัก ก็จะใช้วิธีก่อแท่งหินเหลี่ยมเข้าหากัน จากขอบประตูทั้งสองข้างมาบรรจบกันเป็นรูปสามเหลี่ยม
เหนือขอบบนประตูตรงช่องสามเหลี่ยมที่เป็นที่ว่าง จะเจาะแท่งหินที่ก่อเหลื่อมเข้ามาเป็นชั้น
ๆ ให้ลึกพอสำหรับสอดคานไม้รับน้ำหนัก สดหลั่นกันขึ้นไปหายอดสามเหลี่นม
ช่วงหน้าต่างซึ่งติดตั้งลูกกรงทำด้วยหินทรายกลึงเป็นรูปเสากลมที่เรียกว่า
เสาลูกมะหวดตลอดแนวนั้นก็มีส่วนในการรับน้ำหนักด้วย
ในการก่อหินจะต้องยกหินที่มีน้ำหนักมากขึ้นไปวางซ้อนกัน จะต้องมีอุปกรณ์เครื่องผ่อนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เมื่อยกไปชั้นบน ๆ ที่มีความสูงมาก แท่งหินส่วนใหญ่จะมีรอยเจาะเป็นรูที่ปลายทั้งสองข้าง
ใช้เพื่อการยก หรือเคลื่อนย้ายอาจจะใช้เป็นไม้ทำเป็นลิ่มทั้งสองข้าง แล้วจึงยกขึ้น
หรืออาจใช้เหล็กที่มีลักษณะเป็นคีมจับ โดยใช้ส่วนปลายจับยึดตรงที่เจาะไว้นั้น
ซึงมักจะเจาะในแนวต่ำกว่าแกนกลางของหิน เพื่อสะดวกในการขยับ และพลิกเพื่อกรอขัดผิวผิวด้านข้างและด่านข้าง
ขั้นตอนการก่อสร้างมีตัวอย่างให้เห็นที่ระเบียงด้านทิศใต้ เริ่มตั้งแต่การก่อหินขึ้นไปเรียงเป็นผนัง
แท่งหินยื่นออกมาใช้เป็นระเบียง และมีรูเจาะสำหรับการขนย้าย หรือยกอย่างชัดเจน
ขั้นต่อไปเป็นการตัดแต่งหน้าจนได้ระดับเสมอกัน รอยเจาะเป็นรูจะหายไปเป็นส่วนใหญ่
เพราะถูกตัดออกไป ณ ระเบียงด้านทิศตะวันออกจะเห็นขั้นตอนต่อไปคือ แต่งผิวหน้าให้เรียบ
และเริ่มแกะสลักลวดลาย มักพบว่าการแกะสลักค้างอยู่ในหลายแห่งเสมอ
องค์ประกอบของศาสนสถาน
ปราสาทพนมรุ้งประกอบด้วย สิ่งก่อสร้างที่สำคัญต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ดังนี้
บันไดต้นทาง
เริ่มจากบันไดทางขึ้นจากกระพักทางด้านล่างทางทิศตะวันออก ที่ก่อด้วยศิลาแลง
เป็นชั้น ๆ สามชุด สุดบันไดขึ้นมาเป็นชาลารูปกากบาท
ยกพื้นตรงกลางสูงกว่าปีกสองข้างเล็กน้อย ปูด้วยศิลาแลง ซึ่งน่าจะเป็นฐานพลับพลารูปกากบาท
ซึ่งเป็นซุ้มประตูทางเข้า (โคปุระชั้นนอก)
ด่านแรกของปราสาท เช่นเดียวกับที่ปราสาทเขาพระวิหาร ซุ้มประตูนี้มีรูปทรงคล้ายกับซุ้มประตูระเบียงคด
ด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทางเข้าด่านสุดท้าย (โคปุระชั้นใน)
พลับพลา
เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ ๒.๕ x ๒๐.๕ เมตร ก่อด้วยศิลาแลง
มีหินทรายประกอบบางส่วน ตั้งอยู่เยื้องจากชาลารูปกากบาทไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ
๑๓ เมตร อาคารนี้หันหน้าไปทางทิศใต้ รับทางเดินที่ทอดมาจากชาลารูปกากบาท ไปยังบันไดขึ้นปราสาท
ด้านทางทิศตะวันออก และตะวันตก ทำเป็นมุขยื่นออกมามีชาลาขึ้นลงอยู่หน้ามุข
บนฐานพลับพลามีเสาหินทรายสี่ต้น แต่ไม่มีหลังคา มีระเบียงทางเดินล้อมอาคารด้านทิศตะวันออก
ทิศเหนือ และทิศตะวันตก รวมสามด้าน ไม่มีหลังคาเช่นเดียวกัน มีทางขึ้นทางด้านทิศใต้ที่ปลายสุดทั้งสองข้าง
ด้านข้างทางด้านทิศตะวันออก และด้านทิศเหนือ ส่วนด้านทิศตะวันตก ทำทางขึ้นหลอกเอาไว้
ไม่ได้เจาะช่องประตู นอกระเบียงออกไปมีกำแพงชั้นนอกก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบอยู่อีกชั้น
มีประตูทางเข้ากำแพงด้านหน้าเชื่อมต่อชาลากากบาทดังกล่าวข้างต้น
อาคารที่เห็นในปัจจุบัน น่าจะสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยสันนิษฐานจากการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก
ลวดลายกลีบบัวบนหัวเสา และลายดอกไม้สี่กลีบบนยอดเสาเป็นศิลปะแบบบาปวน
ยกเว้นเศียรนาคที่กรอบหน้าบันเป็นศิลปะแบบเกลียง
มีอายุอยู่ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่
๑๖ คงเป็นการนำเอาของเก่ามาประดับอาคารหลังใหม่ ซึ่งจะพบทั่วไปในที่นี้ และที่อื่น
ๆ
เดิมพลับพลาแห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่า โรงช้างเผือก
ด้วยเข้าใจว่าปราสาทบนยอดเขาคือ พระราชวัง
ทางดำเนิน
เป็นทางเดินเท้าที่ต่อมาจาบันไดชาลารูปกากบาทซึ่งอาจจะเป็นซุ้มประตูชั้นนอก
ทอดไปยังบันไดขึ้นปราสาท พื้นปูด้วยศิลาแลง ขอบเป็นหินทรายยาว ๑๖๐ กว้างประมาณ
๖ เมตร ขอบถนนทั้งสองข้างมีเสาหินทราย มียอดคล้ายดอกบัวตูม สูง ๑.๖๐ เมตร
จำนวน ๖๘ ต้น ตั้งเรียงกันตรงกันทั้งสองแถว ลักษณะเช่นนี้
สะพานนาคราช
เป็นจุดเชื่อมทางดำเนินกับบันไดทางขึ้นปราสาท และทางสู่บารายหรือสระน้ำ
ก่อด้วยหินทราย มีผังเป็นรูปกากบาท กว้างประมาณ ๘ เมตร ยาว ๒๐ เมตร ยกพื้นสูงจากถนน
๑.๕๐ เมตร ด้านหน้า และด้านข้างลดชั้น มีบันไดทำเป็นอัฒจันทร์รูปปีกกาทางขึ้น
ส่วนด้านหลังเป็นชานกว้างเชื่อมต่อกับบันไดขึ้นปราสาท เสาและขอบสะพานสลักเป็นลวดลายสวยงาม
ราวสะพานทำเป็นตัวพญานาคห้าเศียร หันหน้าออกแผ่พังพารทั้งสี่ทิศ เครื่องประดับพญานาคเป็นแผ่นสลักลายในแนวนอน
อันเป็นลักษณะศิลปกรรมแบบนครวัด ซึ่งมีอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗
ด้านข้างทางทิศเหนือสะพานนาคราช มีอัฒจันทร์สลักเป็นรูปปีกกาเป็นทางลงสู่ฉนวนทางเดินไปสระน้ำ
ลักษณะนี้ถนนนี้อัดดินแน่น แต่งขอบทั้งสองข้างด้วยศิลาแลง ตรงกลางสะพานมีลายดอกบัวบานแปดกลีบสลักอยู่
ล้อมรอบด้วยยันต์ขีดเป็นเส้นคู่ ขนานไปกับราวสะพาน หัวยันต์ขมวดเป็นรูปกลีบบัว
สะพานนาคราชมีอยู่สองช่วงคือ ที่หน้าซุ้มประตูทางเข้าปราสาท และภาพในระเบียงคดตรงหน้าปรางค์ประธาน
มีความหมายเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์
บันไดขึ้นปราสาท
ต่อจากสะพานนาคราชเป็นทางเดินขึ้นไปยังลานยอดเขา ทำด้วยหินทรายกว้าง ๑๖ เมตร
ยาว ๕๒ เมตร สูง ๑๐ เมตร มีอยู่ ๕ ชั้น ระหว่างบันไดแต่ละชั้น มีชานพักสองข้าง
ทำเป็นรูปฐานสี่เหลี่ยม ตั้งเป็นกระพักทั้งห้าชั้น บันไดและซานพักแต่ละชั้น
ลดหลั่นกันขึ้นไปตามลำดับความสูง ตรงกลางชานพักเจาะเป็นช่วงสี่เหลี่ยม ยังไม่ทราบวัตถุประสงค์ว่าใช้ทำอะไร
บนชานทั้งสองข้างมีฐานหินทรายรูปกรวย เจาะรูตรงกลางติดตั้งอยู่ทุกชั้น ยังไม่ทราบวัตถุประสงค์แน่ชัด
ทางสู่ปราสาท
เมื่อถึงบันไดชั้นที่ ๕ จะมีชานชาลาโล่งกว้างอยู่หน้าระเบียงคด บันไดและชาลา
มีระดับเดียวกัน ตั้งอยู่บนฐานเดิม ซึ่งได้ถมและปรับระดับไว้ ก่อขอบคันดินทลายด้วยศิลาแลง
จากบันไดชั้นที่ ๕ ด้านหน้าก่อเป็นชั้นบันได ทั้งสองข้างของบันไดทางขึ้นชั้น
๔ ใช้เป็นทางเข้าสู่ปราสาทได้อีกทั้งสองทาง ถัดจากชานบันไดชั้น ๔ เข้าไปเป็นยกพื้นชั้นเดียวรูปกากบาท
ระหว่างการบูรณะได้พบกระเบื้องดินเผากระจายอยู่บนผิวดิน บริเวณใกล้เคียงสันนิษฐานว่า
เป็นพลับพลาโถงเครื่องไม้มุงกระเบื้องปีกสองข้างของฐานรูปกากบาท
มีมุขยื่นด้านหน้าและมีบันไดรับต่อจากบันไดศิลาแลง ซึ่งเป็นทางขึ้นด้านข้าง
ถัดจากฐานกากบาท เป็นทางเดินตรงไปยังซุ้มประตูกลางของระเบียงคด ซึ่งเป็นกำแพงชั้นในสุดของปราสาท
จากปีกสองข้างของฐานกากบาท มีทางเดินตรงไปยังประตูด้านข้างของระเบียงคดทั้งสองข้าง
ถนนทางเดินตรงกลาง ซึ่งเป็นทางเข้าหลักมีขนาดใหญ่กว่าถนนทางเข้าของที่ขนาบอยู่สองข้าง
ทางเดินเหล่านี้เชื่อมต่อกันจัดผังตัดกันเป็นรูปกากบาทเป็นช่วง ๆ ทำให้เกิดเป็นช่องสี่เหลี่ยมสี่ช่อง
จากตรงกลางของทางเดินด้านข้างมีบันไดขึ้นสู่ระเบียงชั้นนอกทั้งสองข้าง
สะพานนาคราชช่วงที่สอง
สุดถนนกลางซึ่งเป็นทางเข้าหลัก มีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะถึงซุ้มประตูกลางระเบียงคดชั้นใน
สะพานนาคราชช่วงนี้ยกระดับสูง ๑,๒๐ เมตร ผังและรูปแบบเหมือนกับช่วงที่หนึ่ง
แต่มีขนาดย่อมกว่าคือ กว้าง ๕.๒๐ เมตร ยาว๑๒.๔๐ เมตร ที่ศูนย์กลางของพื้นศิลาแลงของสะพานสลักด้วยดอกบัวบานแปดกลีบ
อยู่ในวงกลมล้อมรอบด้วยเส้นคู่ขนานตัดไปตามผนังรูปกากบาท มีทางขึ้นเป็นอัฒจันทร์รูปปีกกาสามด้าน
ด้านหลังเชื่อมต่อกับซุ้มประตูกลางของระเบียงชั้นในของปราสาท
ลานปราสาทและระเบียงชั้นนอก
นอกระเบียงคดซึ่งเป็นกำแพงชั้นในสุดของปราสาท ยังมีระเบียงชั้นนอกกว้างประมาณ
๓ เมตร ปัจจุบันแลเห็นเป็นทางเดินโล่งยกพื้นเตี้ย ๆ ปูพื้นด้วยศิลาแลงมาบรรจบกับทางเดินเข้าสู่ปราสาท
ทางด้านข้างของทั้งสองข้าง จากการสำรวจพบว่า ส่วนนี้น่าจะเป็นระเบียงโถงใช้เสารองรับ
หลังคามุงกระเบื้องโดยไม่ก่อผนัง
บริเวณลานภายในวงกลมล้อมรอบด้วยระเบียงชั้นนอกด้านทิศใต้ ทางซีกตะวันออกหรือค่อมมาทางด้านหน้า
มีร่องรอยว่าเคยมีสิ่งก่อสร้างอื่นอยู่ด้วย
ซุ้มประตูและระเบียงชั้นใน
ก่อนถึงบริเวณที่ตั้งปราสาท มีระเบียงคดล้อมเป็นกำแพงชั้นใน ระเบียงนี้ก่อเป็นห้องยาวต่อเนื่องกันเป็นวงรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
รอบลานปราสาทคล้ายทางเดินที่มีผนังกั้น และมีหลังคาคลุม แต่ไม่สามารถเดินทะลุโดยตลอด
เพราะมีผนังกั้นเป็นช่วง ๆ
ระเบียงทั้งสี่ด้านมีซุ้มประตู (โคปุระ) ทางเข้าสู่ลานปราสาทอยู่ตรงกลาง
และยังมีประตูข้างอีกด้านละสองประตู ยกเว้นด้านทิศใต้ ที่มีให้เห็นเพียงประตูเดียว
ซุ้มประตูกลางของระเบียงคดด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก มีมุขทั้งด้านในและด้านนอก
ด้านข้างชักปีกออกไปต่อกับหลังของระเบียง มีลักษณะเป็นรูปกากบาท หลังคามุงเป็นรูปโค้งลดชั้นติดกันเป็นรูปกากบาท
ประดับสันหลังคาด้วยบราลี
ซุ้มประตูระเบียงเหล่านี้ มีการสลักลวดลายที่หน้าบันทับหลังเสาประตู กรอบประตูและเสาติดผนังที่ส่วนบนของผนังระเบียง
ที่หน้าบันและทับหลังนิยมสลักเป็นภาพเล่าเรื่อง ส่วนอื่น ๆ นิยมสลักเป็นลายพรรณพฤกษา
สะพานนาคราชช่วงสุดท้าย
เป็นช่วงที่เชื่อมต่อระหว่างซุ้มประตู (โคปุระ) กับปรางค์ประธาน มีลักษณะเหมือนสะพานนาคราชช่วงก่อน
ๆ แต่มีขนาดเล็กลง กว้าง ๓.๔๐ เมตร ยาวประมาณ ๑๐ เมตร พื้นกลางสะพานไม่จำหลักลายกลีบบัวเหมือนก่อน
ปรางค์ประธาน
เป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่สุด ตั้งอยู่ตรงกลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุม
มีขนาดกว้าง ๘.๒๐ เมตร ยาว ๒๗ เมตร มีมุขสองชั้นทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก
ส่วนด้านหน้าคือทิศตะวันออก ทำเป็นรูปมุขโถง หรือมณฑปขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว
๑๐ เมตร โดยมีฉนวนขนาดกว้าง ๓.๐๐ เมตร ยาว ๘ เมตร เชื่อมและมีมุขขนาดเล็กอยู่ทางด้านหน้ามณฑปอีกแห่งหนึ่ง
ตัวปรางค์ประธานตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ สองชั้น ย่อมุมรับกับอาคาร ลักษณะของแผนผังดังกล่าว
มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ เหมือนกันกับแผนผังของปราสาทหินพิมาย องค์ปรางค์ประกอบด้วยส่วนสำคัญ
๓ ส่วนคือ ส่วนฐาน เรือนธาตุ ส่วนหลังคาและเรือนยอด
- ส่วนฐาน
ประกอบด้วย ฐานเขียงและฐานปัทม์ หรือฐานบัวเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นสลักลวดลายต่าง
ๆ เช่น ลายกลีบบัว ลายประจำยาม
- เรือนธาตุ
คือส่วนที่ถัดขึ้นไปจากฐาน เป็นบริเวณที่เข้าไปภายในได้ ห้องภายในที่สำคัญคือ
ห้องครรภคฤหะ
เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุดของศาสนสถานคือ
ศิวะลิงค์ ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่เพียงร่องรับน้ำสรง ท่อลอดพื้นห้อง และลานปราสาท
ออกไปนอกระเบียงคดด้านทิศเหนือ เรียกว่า โสมสูตร
- ส่วนหลังคา และเรือนยอด
ทำเป็นชั้น ๆ ที่เรียกว่า ชั้นเชิงบาตร ลดหลั่นกันขึ้นไป ๕ ชั้น ส่วนยอดบนสุดสลักเป็นกลีบบัว
รองรับนพศูล ที่ชั้นเชิงบาตรแต่ละชั้น ประกอบด้วย ซุ้มและกลีบขนุนปรางค์สลักเป็นรูปเศียรนาค
ฤาษี เทพสตรี และเทพประจำทิศต่างๆ กลีบขนุนที่ประดับตามมุมของแต่ละชั้นจะสลักให้สอบเอนไปทางด้านหลัง
ทำให้ยอดปรางค์มีรูปทรงเป็นพุ่ม
ส่วนประกอบอื่น ๆ ขององค์ปรางค์ได้แก่มุขปรางค์ด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก
มณฑป และมุขหน้า มุขหลังคาเป็นโค้งลดชั้นเช่นเดียวกับซุ้มประตู ระเบียงคดหรือโคปุระ
ด้านในของหลังคา รวมทั้งของยอดปรางค์ น่าจะเคยมีเพดานไม้จำหลักลาย และอาจทาสีให้สวยงาม
องค์ปรางค์และส่วนประกอบทั้งหมด มีประตูรับกันเป็นชั้น ๆ อยู่ในแนวตรงกันทุกทิศ
มณฑปและฉนวนมีประตูข้างทางทิศเหนือ และทิศใต้ข้างประตู
หน้าประตูด้านนอกทุกทิศ มีหลุมสำหรับติดตั้งประติมากรรมอยู่สองข้าง ที่พื้นหน้าประตูมุขโถงมีอัฒจันทร์สลักเป็นรูปดอกบัวบานสามดอก
ประตูที่เชื่อมระหว่างมณฑปกับฉนวน ไม่มีบันไดขึ้น จากห้องภายในมณฑปที่อัฒจันทร์ประตูทางเข้าออกของมณฑป
มีอัฒจันทร์รองรับอยู่ทุกประตู
ในห้องมุขปรางค์ทิศต่าง ๆ อีกสามด้าน มีร่องรอยว่าเคยมีแท่นฐานประติมากรรมตั้งอยู่
ส่วนต่าง ๆ ของปรางค์ประธาน ล้วนสลักลวดลายประดับ มีทั้งลวดลายพันธุ์พฤกษา
ภาพเทพต่าง ๆ และภาพเล่าเรื่องตามคัมภีร์ทางศาสนา เช่น เรื่องมหาภารตยุทธ
เรื่องของพระศิวะ เรื่องของพระวิษณุ เรื่องรามายณะ
จากลักษณะของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของปรางค์ประธาน พอจะกำหนดอายุได้ว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๗
ปรางค์น้อย
ตั้งอยู่ใกล้ปรางค์ประธานทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นปรางค์สี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมขนาดกว้างด้านละ
๖ เมตร สูงปัจจุบันประมาณ ๕.๕๐ เมตร ไม่มีส่วนยอดเหลืออยู่ หรืออาจไม่มีมาแต่เดิม
ก่อด้วยหินทราย กรุผนังด้านในด้วยศิลาแลง มีประตูเข้าได้ทางเดียวคือ ทางด้านทิศตะวันออก
ซึ่งเป็นด้านหน้า ส่วนด้านอื่น ๆ ก่อเป็นผนังทึบ แต่ทำเป็นประตูหลอก ภายในห้องมีแท่นฐานหินทราย
สำหรับประดิษฐานรูปเคารพ ภาพสลักประดับส่วนต่าง ๆ ขององค์ปรางค์ต่างกันกับปรางค์ประธาน
ซึ่งหน้าบันจะสลักภาพบุคล แต่ที่ปรางค์น้อยจะสลักลวดลายพันธุ์พฤกษา เป็นส่วนใหญ่
มีภาพบุคคลขนาดเล็กอยู่กลางค่อนมาทางด้านล่าง เศียรนาคกรอบหน้าบันทำเป็นเศียรนาคเกลี้ยงไม่มีรัศมี
ลักษณะลวดลายจำหลักบนทับหลังเป็นศิลปะเขมร แบบบาปวนเป็นส่วนใหญ่
มีศิลปะก่อนหน้านั้นคือ แบบเกรียงหรือคลังปนอยู่บ้าง ทำให้สามารถกำหนดอายุได้ว่า
น่าจะสร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖
วิหารหรือบรรณาลัย
มีอยู่สองหลัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราค์ประธานสองข้างสะพานนาคราช
ช่วงสุดท้ายที่เชื่อมต่อระหว่างระเบียงชั้นในด้านหน้ากับปรางค์ประธาน เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสร้างด้วยศิลาแลง
มีประตูเข้าออกด้านเดียว ภายในไม่มีรูปเคารพ หลังคาทำเป็นรูปประทุนเรือ โดยวางหินซ้อนเหลื่อมกันขึ้นไปบรรจบกันแบบเดียวกันกับหลังคาระเบียงชั้นใน
อาคารหลังที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีขนาด ๑๑.๖๐
x ๗.๑๐ เมตร สูง ๕ เมตร ส่วนหลังที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีขนาด ๑๔.๕๐
x ๘.๕๐ เมตร สูง ๓ เมตร จากการที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้าง โดยใช้หินทรายเป็นส่วนประกอบตามแบบของการก่อสร้างสมัยบายน
ทำให้สันนิษฐานว่า อาคารดังกล่าวนี้สร้างร่วมสมัยกับสมัยบายน ประมาณปี พ.ศ.๑๗๒๐
- ๑๗๗๓
ปรางค์อิฐ
มีอยู่สององค์ ตั้งอยู่ใกล้ปรางค์ประธานทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ องค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
อีกองค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศใต้ แต่ละองค์มีขนาด ๕ x ๕ เมตร มีเสาประดับกรอบประตูทำด้วยหินทราย
สันนิษฐานว่า มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่เกาแก่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่