| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
แหล่งอุตสาหกรรม
เครื่องเคลือบดินเผาบุรีรัมย์โบราณ
เครื่องเคลือบดินเผาที่ผลิตจากเตาเผาบุรีรัมย์ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘
มีลักษณะเป็นเครื่องเคลือบเนื้อแกร่งเผาด้วยอุณหภูมิสูง ส่วนใหญ่เคลือบด้วยสีน้ำตาล
มักเรียกชื่อว่าเครื่องถ้วยเขมร หรือเครื่องเคลือบลพบุรี
ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้วพบว่า เตาเผาเครื่องเคลือบในกัมพูชามีเพียงไม่กี่แห่งที่พนมกุเลน
และที่ลพบุรีไม่มีเลย แต่แหล่งใหญ่อยู่ที่บุรีรัมย์มีมากกว่า ๒๐๐ เตา โดยเฉพาะในเขตอำเภอบ้านกรวดและอำเภอละหานทราย
เครื่องเคลือบบุรีรัมย์มีเอกลักษณ์ของตนเอง มีรูปแบบหลากหลาย สามารถแบ่งออกเป็น
๑๔ กลุ่มคือ
- ไหขนาดใหญ่
มีลักษณะปากเล็ก คอสั้น เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ไหล่ภาชนะกว้างมน
ค่อย ๆ สอบลงไปที่ฐาน สูง ๕๐ - ๘๐ เซนติเมตร นิยมตกแต่งด้วยลายขูดขีดเป็นรูปต่าง
ๆ เคลือบด้วยน้ำเคลือบสีน้ำตาลดำ สีน้ำตาลเหลือง และแถบไม่เคลือบ ใช้บรรจุน้ำ
เหล้า ปลาร้า หรือของมีค่าต่าง ๆ แล้วฝังดินป้องกันขโมย
- ไหเล็ก หรือแจกัน
มีลักษณะปากเล็ก บาน คอยาวแคบ ตรงกลางป่องคล้ายรูปไข่ นิยมเคลือบด้วยสีน้ำตาลดำ
หรือเคลือบสองสีในใบเดียวกัน
- ไหทรงโกศ
มีลักษณะทรงกลมหรือรูปไข่ ความสูงปานกลาง คอดอ่นข้างยาวใหญ่ ส่วนใหญ่ปากผายคล้ายแจกัน
ฐานสูงมีเชิง บางครั้งเรียกว่า ไหเท้าช้าง ตกแต่งด้วยสีน้ำตาล
- กระปุก
มีลักษณะทรงกลมป้อมเตี้ย และทรงกลมแป้นคล้ายผลจันขนาดไม่ใหญ่นัก ปากแคบ บางใบปั้นเป็นรูปสัตว์ต่าง
ๆ เช่น นก ช้า ม้า ฯลฯ เคลือบด้วยสีน้ำตาลดำ เข้าใจว่าไว้ใช้ใส่สุรา
- ขวด
มีรูปทรงหลายรูปแบบ เช่น รูปน้ำเต้า หรือคนโทเล็ก หรือทรงรูปไข่ คอยาวแคบ
ปากเล็ก เคลือบด้วยน้ำตาล หรือสีขาว หรือเคลือบทั้งสองสีในใบเดียวกัน น่าจะใช้บรรจุน้ำมัน
หรือน้ำ
- โถ
มีลักษณะเกือบเป็นรูปทรงกระบอก กว้างกว่าส่วนฐานเล็กน้อย มีฝาครอบ
- ตลับ
มีลักษณะทรงกลมค่อนข้างแบนเตี้ย ปากกว้างมีฝาปิด ตัวตลับ และฝาทางด้านนอก
จะเซาะร่องในแนวตั้งคล้ายผลฟักทอง นิยมเคลือบเฉพาะด้านนอกเป็นสีขาวนวล
- คนโทหรือหม้อน้ำ
มีลักษณะคล้ายผลน้ำเต้า บางใบทำเป็นรูปคน หรือรูปสัตว์ต่าง ๆ คอยาว ปากบาน
ฐานเล็ก นิยมเคลือบสีน้ำตาล หรือเคลือบสองสีในใบเดียวกัน
- กุณฑี หรือหม้อน้ำมีพวย
มีลักษณะผสมระหว่างกาน้ำกับคนโท ใช้สำหรับรินน้ำ นิยมเคลือบสีน้ำตาล หรือเคลือบสองสีในใบเดียวกัน
- ชาม
มีหลายขนาด และรูปทรง นิยมเคลือบสีเขียว หรือสีขาว
- ส่วนประกอบสถาปัตยกรรม
ใช้ตกแต่งประดับอาคาร มีหลายรูปแบบ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องเชิงชาย
และบราลี เป็นต้น
- ประติมากรรมรูปสัตว์
เป็นประติมากรรมลอยตัว ทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสัตว์ปีก และสัตว์น้ำ
- เครื่องใช้ ปละเครื่องประดับ
ส่วนใหญ่จะเคลือบด้วยสีน้ำตาล
- พระพิมพ์
มีทั้งชนิดเคลือบ และไม่เคลือบ ในบริเวณศาสนสถาน และชุมชนดบราณของจังหวัดบุรีรัมย์เป็นจำนวนมาก
แหล่งเตาเผา อยู่ในเขตอำเภอต่าง
ๆ รวม ๙ อำเภอด้วยกัน
- อำเภอบ้านกรวด
พบ ๘ แหล่งคือ แหล่งเตาเผาบ้านโคกใหญ่ บ้านโนนเจริญ บ้านสวาย บ้านถนนน้อย
บ้านสายโท๒ บ้านละหอกตะแบง บ้านไซตะกู และแหล่งบ้านหนองไม้งาม
- อำเภอละหานทราย
มีอยู่สามแหล่งด้วยกันคือ แหล่งเตาเผาบาระแนะ
พบกระจายอยู่ประมาณ ๑๐๐ เตา อยู่ใกล้ลำน้ำปะเทีย แหล่งเตาเผาสระสาม
อยู่บริเวณใกล้ช่องตะกิ่ว มีอยู่ประมาณ ๓๐ เตา และ
แหล่งเตาเผาห้วยนาเกลือ
- อำเภอเมือง ฯ
พบ ๙ เตาเผา ๙ แหล่ง แหล่งเตาเผาสลักได อยู่ใกล้ห้วยจรเข้ มีอยู่ ๔ - ๕ เตา
นอกจากนี้ยังมีแหล่งเตาผเาหนองขาหยั่ง หนองหัววัว หินโคนบ้านรุน หนองไผ่โคกเก่า
และแหล่ง ฯ บ้านโบย
- อำเภอประโคนชัย
พบเตาเผา ๔ แหล่งคือ แหล่งเตาเผาบ้านน้อย โคกลอย บ้านปราสาท และแหล่ง
ฯ บุญช่วย
- อำเภอสตึก
พบเตาเผา ๖ แหล่งคือ แหล่งเตาเผาบ้านโคกเมือง บ้านยา บ้านกระสัง บ้านร่อนทอง
บ้านดงยายเพา และแหล่ง ฯ บ้านชุมแสง
- อำเภอหนองกี่
พบเตาเผา ๓ แหล่งคือ แหล่งเตาเผาสระขาม บ้านเสือชะเง้อ และแหล่ง ฯ โคกสว่าง
- อำเภอกระสัง
พบเตาเผา ๓ แหล่งคือ แหล่ง ฯ เมืองไผ่ หนองหัวช้าง และแหล่ง ฯ สีคิ้วสูงเนิน
- อำเภอลำปลายมาศ
เตาเผา ๓ แหล่งคือ แหล่ง ฯ บุกันตัง และแหล่ง ฯ สี่เหลี่ยม อยู่ใกล้ห้วยแสลงพันน้อย
แหล่ง ฯบุขี้เหล็ก อยู่ใกล้ห้วยฝายพระ
- อำเภอแดนดง
พบเตาเผาแหล่งเดียวคือ แหล่ง ฯ บ้านดงพลอง
จากการพบแหล่งเตาเผากระจายอยู่ทั่วไปในทุกพื้นที่ของบุรีรัมย์ แสดงว่าชุมชนในแถบนี้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาเคลือบได้
ซึ่งเป็นแบบที่ได้รับอิทธิพลจากจีน และนับว่าเป็นแหล่งผลิตเครื่องสังคโลกที่ใหญ่ที่สุด
เก่าที่สุดในประเทศไทย
ภาษา
บุรีรัมย์เป็นที่รวมกลุ่มชาติพันธุ์สำคัญอยู่ ๔ กลุ่มคือ กลุ่มไทยเขมร กลุ่มไทยโคราช
กลุ่มไทยลาว และกลุ่มไทยส่วย
ภาษาไทยลาวกับภาษาไทยโคราช มีส่วนใกล้เคียงกัน คือ ใช้คำพูดคำเดียวกัน
แต่ออกเสียงต่างกัน
ภาษาส่วย หรือกวย มีส่วนใกล้เคียงกับภาษาเขมร บางคำก็ใช้ร่วมกัน พุดกันรู้เรื่องเหมือนไทยกับลาว
กลุ่มไทยโคราช
เดิมส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภอนางรอง จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไทยนางรอง
นอกนั้นตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภอปะคำ โนนสุวรรณ หนองกี่ และอำเภอเมือง ฯ
บางส่วน
กลุ่มไทยลาว
เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภอพุทไธสง สำเนียงพูดจะแตกต่างจากไทยลาวสายอุบล
ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ
กลุ่มไทยเขมร
เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ กระสัง ประโคนชัย ห้วยราช สตึก
และอำเภอพลับพลาชัยบางส่วน
กลุ่มไทยส่วยหรือไทยกวย
อยู่ในเขตอำเภอสตึก ประโคนชัย หนองกี่ กระสัง และอำเภอพลับพลาชัย พวกไทยส่วยมักกระจายไปปะปนกับชนเผ่าอื่น
มักไม่นิยมพูดภาษาของตนเอง
จารึก
จารึกส่วนใหญ่ที่พบในจังหวัดบุรีรัมย์เป็นจารึกบนแผ่นศิลา จารึกบนแผ่นสำริด
และจารึกบนแผ่นดินเผา แบ่งออกเป็นกลุ่มอักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ และอักษรขอม
แหล่งที่พบจารึกเป็นส่วนใหญ่คือที่ศาสนสถาน เช่น ที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ
จารึกบุรีรัมย์ที่เก่าแก่ที่สุดคือจารึกอักษรปัลลวะจากถ้ำเป็ดทอง
อักษรปัลลวะเผยแพร่จากอินเดียตอนใต้ เข้ามาสู่ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ จารึกอักษรปัลลวะที่ปรากฏในประเทศไทย ที่มีศักราชชัดเจนคือจารึกเขาวัง
จังหวัดปราจีนบุรี ศักราชที่ระบุคือ ๑๑๘๒
จารึกอักษรปัลลวะ และหลังปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔) แบ่งออกเป็นจารึกปัลลวะ
๙ หลัก จารึกหลังปัลลวะ ๘ หลัก จารึกที่พบในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ มีจารึกอักษรปัลลวะ
๓ หลัก และหลังปัลลวะ ๑ หลัก อักษรปัลลวะได้พัฒนารูปแบบมาเป็นอักษรขอมโบราณ
จารึกบุรีรัมย์ส่วนใหญ่เป็นจารึกอักษรขอม พบที่ปราสาทพนมรุ้ง ๗ หลัก และจารึกด่านประคำ
มีจารึกที่น่าสนใจ ดังนี้
จารึกบ้านโคกกลาง
เป็นจารึกด้วยอักษรขอมโบราณเป็นภาษาเขมร เมื่อปี พ.ศ.๑๕๖๕ จารึกลงบนใบเสมาหินทรายขนาดกว้าง
๒๓.๕ เซนติเมตร ยาว ๔๗ เซนติเมตร หนา ๖.๕ เซนติเมตร ในจารึกบอกว่าเสนาบดีวัดที่ดินคะอางเวล
แลัวปักหลักเขตให้คืนแก่พระคะอางเวล แสดงว่าพระคะอางเวลเป็นเจ้าของที่ดิน
แห่งหมู่บ้านคะอางเวล และอาจมีการรุกล้ำที่ดิน
ด้านที่สองของจารึก กล่าวถึงการมอบหมายหน้าที่ให้บุคคลปฏิบัติเพื่อรักษาวัตถุสิ่งของและหมู่บ้านต่าง
ๆ ข้อความดังกล่าว ไม่มีความสัมพันธ์กับข้อความในด้านที่หนึ่งเลย
จารึกรอบภาชนะเงิน
เป็นจารึกด้วยอักษรขอมโบราณเป็นภาษาเขมร เมื่อปี พ.ศ.๑๖๘๒ จารึกลงบนภาชนะเงินทรงกลมเตี้ย
คล้ายขันผิวเรียบ ไม่มีลวดลาย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕.๗ เซนติเมตร สูง ๑.๗
เซนติเมตร ขุดพบที่บริเวณที่เป็นโคกในที่นาห่างจากปราสาทหนองจองหรือปราสาทหัววัวในเขตอำเภอเมือง
ฯ ประมาณสองกิโลเมตรเศษ
ในจารึกดังกล่าวมีการบอกนามผู้ถวายและเทพเจ้าผู้รับถวาย
จารึกบนเครื่องเคลือบเผารูปกระดึง
เป็นจารึกด้วยอักษรขอมเป็นภาษาเขมร จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ จารึก
ลงบนเครื่องเคลือบรูปกระดึง ขนาดกว้าง ๑๐ เซนติเมตร ยาว ๑๒ เซนติเมตร
จารึกบ้านโคกเมือง
เป็นจารึกด้วยอักษรขอมโบราณเป็นภาษาเขมร
จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗
จารึกลงบนหินอัคคี ขนาดกว้าง ๙ เซนติเมตร ยาว ๑๓ เซนติเมตร หนา
๓ เซนติเมตร กล่าวถึงกรณีการปักหลักบอกอาณาเขตจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง
โดยเกี่ยวข้องกับผู้ที่มีนามว่าจันทราทิตย์
บ้านโคกเมืองที่พบจารึกนี้ เป็นที่ตั้งปราสาทเมืองต่ำ
ประติมากรรม
งานแกะสลักหิน
ในอีสานได้มีการนำหินมาสร้างปราสาทและแกะสลักเป็นรูปเคารพและเครื่องใช้อื่น
ๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ ในระยะต่อมา สิ่งต่าง
ๆ เหล่านี้ได้ถูกทอดทิ้งไปเป็นเวลานาน
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐ ได้มีการจำลองพระพุทธรูป และเทวรูป เพื่อทดแทนความต้องการโบราณวัตถุดังกล่าว
ซึ่งมีเพิ่มมากขึ้น มีการตั้งศูนย์ศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้าน ขึ้นที่บ้านเลขที่
๑๓๑ หมู่ ๙ ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง ฯ ทำการจำลองโบราณวัตถุโดยการแกะสลักหินโดยใช้หินทราย
หรือหินทรายเขียวที่มีอยู่ทั่วไปในภูเขาพนมดงรักและเขาสันกำแพง หินทรายจะมีสีชมพู
สีเหลืองและสีผสม ตามแหล่งกำเนิด
งานแกะสลักหินเป็นการจำลองส่วนประดับศาสนสถาน เช่น ทับหลัง และนาค เป็นต้น
นอกจากนั้นจะเป็นรูปลอยตัว เช่น เทพพาหนะ ทวารบาล ฤาษี เทพเจ้าปางต่าง ๆ
ขนาดของงานตั้งแต่ขนาดเล็ก น้ำหนักต่ำกว่า ๑ กิโลกรัม ไปจนถึงงานขนาดใหญ่ที่หนักถึงยี่สิบห้าตัน
การแกะสลักหินในระยะต่อมาได้กระจายออกไปยังอำเภอต่าง ๆ เช่น อำเภอบ้านกรวด
อำเภอปะคำ อำเภอโนนดินแดง อำเภอหนองกี่ และอำเภอละหานทราย เป็นต้น
สถาปัตยกรรม
อาคารที่อยู่อาศัย
บ้านแบบเดิมทำด้วยไม้
บ้านกลุ่มไทยลาว ใต้ถุนจะสูงมาก
เพราะเป็นที่สำหรับใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น เป็นที่ทอผ้า ผูกสัตว์เลี้ยง
เช่น วัวควาย เลี้ยงไก่ และพักผ่อนตอนกลางวัน ส่วนบ้านกลุ่มไทยเขมร
ใต้ถุนบ้านจะสูงน้อยกว่าเพราะมีการใช้ประโยชน์น้อยกว่า
สำหรับการจัดภายในห้อง มีความแตกต่างกันบ้าง ตามพื้นฐานทางวัฒนธรรม ปัจจุบันความเชื่อเดิมที่จะไม่อยู่บ้านอิฐยกเว้นพระ
ได้เปลี่ยนไป และไม้ได้ขาดแคลนมากขึ้น ทำให้มีบ้านแบบตะวันตกเข้ามาแทนที่
ลักษณะเรือนไม้ในท้องถิ่น จะมีใต้ถุนสูง หลังคาทรงสูง ผังของเรือนประกอบด้วยหน่วยย่อยที่เรียบง่าย
ไม่ซับซ้อน ส่วนใหญ่เปิดโล่ง ลมพัดผ่านได้สะดวก เป็นเรือนที่สนองตอบผลประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัยได้อย่างดี
อาคารทางศาสนา
ได้แก่ อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ เป็นต้น จะมีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
ตามแต่ละท้องถิ่น เช่น อุโบสถจะเป็นอาคารต่อด้วยดินดิบ แบบไทยเขมร โดยก่อทึบไม่ยกพื้น
แต่ถ้าเป็นแบบไทยลาว จะยกพื้นสูง และด้านหน้าเปิดโล่ง ต่อมาภายหลังเมื่อมีการนำเอาแบบของกรมศาสนามาใช้เป็นมาตรฐาน
จึงมีรูปแบบเดียวกันหมด และเหมือนกันทั่วประเทศ
ศิลปหัตถกรรม
หม้อบ้านเขว้า
อยู่ในเขตตำบลบ้านจาม อำเภอพุทไธสง ในสมัยก่อน หม้อดินเป็นภาชนะที่ใช้ในการหุงต้มอาหาร
โดยทั่วไปมีวิธีปั้นหม้อดินดังนี้
อุปกรณ์ที่ใช้ได้แก่ ดินเหนียวเนื้อละเอียด แกลบสำหรับผสมหัวเชื้อ ตะแกงตาถี่สำหรับร่อนหัวเชื้อ
หินตุ ไม้ลายเหมือนไม้พาย แต่ด้ามสั้นใช้คู่กับหินตุในการแต่งรูปร่างของหม้อ
และไม้สักคอสำหรับทำลวดลายที่คอหม้อ
วิธีปั้นหม้อ ใช้ดินเหนียวเนื้อละเอียดมาคลุกกับแกลบ แล้วปั้นเป็นก้อนรูปวงรี
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔-๕ นิ้ว แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำไปเผาไฟให้ดินสุกเป็นสีเหลืองอมส้ม
แล้นำมาโขลกให้ละเอียด แล้วนำเอาไปร่อนด้วยตะแกรงตาถี่ ตักเอาผงละเอียดไปใช้เป็นตัวเชื้อในการปั้นหม้อ
- นำหัวเชื้อที่ร่อนแล้วคลุกเคล้ากับดินเหนียวที่จะใช้ปั้นหม้อ นวดให้เข้ากันดี
ผสมน้ำให้ดินอ่อนพอเหมาะ
- นำดินจำนวนหนึ่งที่จะปั้นหม้อมากน้อยตามขนาดที่จะปั้นทากลิ้งบนแท่นที่เตรียมไว้เป็นรูปทรงกระบอกตัน
- ใช้มือดันให้เป็นโพรงหนึ่งด้าน (เท่าปาก) ขนาดของโพรงเป็นไปตามขนาดของหม้อ
ทำเป็นหม้อทรงหยาบ
- นำดินที่ขึ้นรูปแล้วนั้นมาตั้งบนแท่นสูงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร เพื่อทำสันปากหม้อ
คือ ทำการบีบปากและคอหม้อก่อนโดยใช้ใบสับปะรด หรือแผ่นพลาสติก เป็นอุปกรณ์
ใช้หัวแม่มือจับด้านในอีกสี่นิ้วจับด้านนอก วนถอยหลังไปรอบ ๆ ถ้าดินเริ่มแข็งก็ใช้น้ำแตะให้ลื่น
เมื่อตกแต่งจนสวยงามตามต้องการแล้ว นำไปผึ่งแดดพอหมาด ๆ แล้วนำไปปั้นต่ออีก
- เมื่อคอหม้อแห้งพอหมาด ๆ ก็นำมาแต่งตัวหม้อต่อไป โดยใช้หินตุแต่งด้านใน
และใช้ไม้ลายแต่งด้านนอก ตีหม้อให้หนาหรือบางเป็นทรงต่าง ๆ ตามประเภทของหม้อที่ต้องการเช่น
หม้อหุงข้าว หม้อนึ่ง โอ่งน้ำ กาละมัง และกระถางปลูกต้นไม้
- เมื่อปั้นได้ขนาดและรูปร่างตามต้องการแล้ว จึงนำไปผึ่งแดดให้แห้งพอหมาด
จากนั้นนำมาตกแต่งผิวให้เรียบอีกครั้ง แล้วนำไปผึ่งลมไว้
- นำหม้อที่ผึ่งจนได้ที่แล้วนำไปเผาจนสุก
ผ้าไหมลายมัดหมี่พื้นเมือง
การทอผ้ามัดหมี่ของชาวบุรีรัมย์ใช้ลายเก่าแก่ดั้งเดิม ที่สืบทอดกันต่อมา ได้มีการพัฒนาลายใหม่
ๆ ขึ้นมากตามความเหมาะสม และความต้องการของตลาด
ลายมัดหมี่พื้นเมือง มีที่มาแตกต่างกันพบว่ามีต้นแบบมาจากพืช,สัตว์,และเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน
ซึ่งบางอย่างสูญหายไปแล้ว แต่ยังปรากฎต้นเค้าอยู่บนลายมัดหมี่ ซึ่งมีลายและต้นแบบดังนี้
- ลายปักจับ (กระจับ) ต้นแบบลายได้มาจากฝักกระจับที่ขึ้นในน้ำ มีลักษณะคล้ายหัวควาย
- ลายโคมห้า ลายโคมเจ็ด ลายโคมสิบเอ็ด ลายโคมสิบสาม ลายโคมสิบเก้า ลายโคมเหล่านี้มีต้นแบบมาจากโคมที่ชาวอีสานนิยมปล่อยหรือจุดตอนออกพรรษา เช่นมัดหมี่ห้าลำ เรียกว่าโคมห้า มัดหมี่เจ็ดลำเรียกว่าโคมเจ็ด เป็นการเรียกตามมัดหมี่ที่มัด
- ลายดอกแก้วหรือลายหน้าเสือ มีต้นแบบมาจากต้นดอกแก้ว หรือส่วนหน้าของเสือ
- ลายแมงสีเสียด
มีต้นแบบมาจากแมงสีเสียด ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่อาศัยในน้ำจืดตัวเล็ก ๆ
มีปีก
- ลายขอกองข้าว
มีต้นแบบมาจากขอที่ใช้แขวนกองข้าวในสมัยโบราณ ด้านบนใช้เชือกผูกแขวนไว้กับหลังคาห้องครัว
ด้านล่างแขวนกองข้าว
- ลายแมงมุม มีต้นแบบจากตัวแมงมุม
- ลายกอตะไคร้ มีต้นแบบมาจากกอตะไคร้
- ลายกอไผ่ มีต้นแบบมาจากกอไผ่
- ลายขาเปีย มีต้นแบบมาจากขาเปียซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการกรอฝ้ายออกจากไน มีใช้ในสมัยโบาณ
- ลายงูเหลือม
มีต้นแบบมาจากลายบนตัวงูเหลือม
- ลายสีปล่อง
มีต้นแบบมาจากช่องลมตามฝาบ้าน ในสมัยโบราณที่ทำไว้สำหรับมองออกมาข้างนอก
หรือให้แสงแดดเข้าไปในห้องหรือตัวบ้าน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ช่องเอี่ยม
- ลายขอพับ มีต้นแบบมาจากขอที่ใช้เกี่ยวหรือแขนสิ่งของต่าง
ๆ
- ลายจอมธาตุ
มีต้นแบบมาจากจอมธาตุ บรรจุกระดูกคนตาย
- ลายแทงตาหนู มีต้นแบบมาจากไม้แทงตาหนู มีลักษณะเป็นขอเกี่ยวที่ปลายทั้งสองด้าน เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการมุงหลังคาด้วยหญ้าคา
- ลายซองพลู
มีต้นแบบมาจากซองใส่หมากพลูสมัยก่อนที่ทำจากเขาควาย ลายของพลูส่วนใหญ่จะใช้เป็นลายประกอบในซิ่นตีนแดง
- ลายกาบิน
มีต้นแบบมาจากนกกาเวลาบิน ใช้เป็นลายประกอบในซิ่นตีนแดง
- ลายหมี่วง
นิยมทำเป็นผ้าถุงคนแก่ทอสลับไหมควบ (ใช้ใหมสองเส้นสองสีเกลียวใส่กัน)
- ลายกระแตนั่ง
มีต้นแบบมาจากกระแต นิยมทำเป็นซิ่นหมี่คั่นข้อ
- ลายหมี่โข่โหล่
หมายถึง หมี่ลายเดียว ไม่มีลายอื่นปนเลย การทอแตกต่างจากหมี่ชนิดอื่น ๆ คือ
ทอคู่หนึ่งแล้วคั่นด้วยไหมสี หรือไหมควบแล้ว จึงทอหมี่อีกหนึ่งคู่สลับกันไป
- ลายข้าวหลามตัด
มีต้นแบบมาจากรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด
- ลายกีบบักบก
มีต้นแบบมาจากเมล็ดต้นจบกเมื่อผ่าซีก
- ลายโบก มีต้นแบบมาจาก
โบกซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการบีบไหม ทำด้วยไม้ไผ่ตัดข้อออกเหลือแต่ปล้องยาวประมาณ
หนึ่งคืบ
- ลายต้นสน
มีต้นแบบมาจากต้นสน นิยมทอเป็นซิ่นลายเชิงสลับกับลายนาค มักจะทอโดยให้สีสด
ๆ ส่วนใหญ่ทอเป็นผ้าซิ่นวัยรุ่น
- ลายขอข่ายล่าย
เป็นลายขอที่เรียงมองเป็นระเบียบ
- ลายตาเพ็ง
ลายตาเพ็งจะประกอบด้วยลายโคมล้วน ตั้งแต่ ปักจับ โคมห้า โคมสิบเอ็ด โคมสิบเก้า
อยู่เป็นช่อง ๆ หรือเป็นตา ๆ
- ลายฟันเลื่อย
มีต้นแบบมาจากเลื่อย ประกอบด้วย ลายเส้น โคมเก้า และหมี่ขอ
- ลายบักแปบน้อย
มีต้นแบบมาจากถั่วแปบฝักเล็ก ประกอบด้วยลายโคมห้า และลายกีบปักบก
- ลายบักแปบใหญ่
มีต้นแบบมาจากถั่วแปบฝักใหญ่ ประกอบด้วย ลายโคมห้า โคมเจ็ด และลายก่อไผ่ชนกัน
- ลายนาค
มีต้นแบบมาจากรูปนาค ที่เขียนตามโบสถ์ต่าง ๆ
- ลายนกน้อย
มีต้นแบบมาจากนกเวลาเกาะกิ่งไม้หรือเดิน มักจะทอลายนกน้อยเป็นหมี่คั่นข้อ
- ลายเอี้ยเยี่ยวควาย มีต้นแบบมาจากรอยควายที่เดินเยี่ยว เป็นลายทางขวางนิยมทอเป็นหมี่ซิ่นคั่นข้อ โดยใช้ลายกีบบักบกประกอบ
- ลายขอแคม้า
มีต้นแบบมาจากแคม้า ( บังเหียนม้า)
- ลายหมี่ขอหลง
มีต้นแบบมาจากขอเกี่ยวต่าง ๆ แต่เนื่องจากมัดไปมัดมาหลาย ๆ ขอหันไปคนละทางเวลามัด
ทำให้ผู้มัดสับสนหลงลืม
จึงได้ชื่อดังกล่าว
- ลายตีนโยง
เป็นการมัดโยงสายเอี้ยเยี่ยวควาย เชื่อมโยงต่อกันระหว่างตีนซิ่น
- ลายตีนตัน
ต้นแบบมาจากต้นไม้ หมี่ที่มัดประกอบคือเอี้ยเยี่ยวควาย อาจเป็นสองหรือสามชั้นก็ได้
- ลายแข่วหมาตาย
ต้นแบบมาจากสุนัขเวลาตายแล้วเน่าเปื่อย แลเห็นแต่ฟันสูงต่ำเรียงอยู่
- ลายเอี้ยตรง
นิยมนำมาคั่นเวลาเริ่มต้นมัดหมี่ลายใหม่ในผืนเดียวกัน
- ลายแสงตะวัน
มีต้นแบบมาจากแสงของดวงอาทิตย์เวลาส่องลอดฝาบ้าน (ฝาไม้ไผ่) นิยมมัดเป็นลายตีนซิ่น
- ลายม้า
มีต้นแบบมาจากลายม้า นิยมมัดเป็นลายหมี่ตีนแดง
- ลายนาคเกี้ยว
มีต้นแบบมาจากบันไดโบสถ์ในสมัยโบราณ ซึ่งมักประดิษฐ์เป็นรูปตัวนาค โดยหางนาคจะทอดลงมาจากตัวโบสถ์
หัวนาคจะอยู่ที่บันไดขั้นสุดท้าย ประกอบด้วยลายโคมที่ยี่สิบเอ็ดและลายต้นดอกไม้
พิธีกรรม
พิธีเซ่นปะคำ
เป็นประเพณีชาวไทยกุยที่มีอาชีพจับช้างและเลี้ยงช้าง ทำพิธีกรรมก่อนออกไปคล้องช้าง
เพื่อบอกกล่าว หรือแจ้งให้ผีปะคำทราบ ดังนั้นตามบ้านของชาวกุยที่จับช้างจะต้องสร้างศาลปะคำสำหรับเก็บ
เชือกปะคำ และต้องมีการเซ่นไหว้เป็นประจำเพื่อความเป็นสิริมงคล
หนังปะคำเป็นหนังโค หรือหนังควายตากแห้ง ที่มีความเหนียวแน่นมั่นคงพอที่จะสามารถต้านทานกำลังช้างได้
จะต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ - ๒ นิ้ว มีความยาวประมาณ ๒๐ - ๓๐ วา
หนังปะคำดังกล่าวจะนำมาทำเป็นบ่วงบาศก์ และประกอบพิธีเพื่อให้มีความศักดิ์สิทธิ์
มีความเชื่อว่าวิญญาณของปู่ย่าตายาย ครูบาอาจารย์ จะมาสิงสู่ในเชือกนั้น ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตระกูล
เมื่อเวลาออกไปคล้องช้างจึงต้องสร้างร้านหรือโรงสำหรับเซ่นสรวงเป็นประจำ
โรงปะคำสร้างด้วยเสาสี่ต้น ยกเป็นร้านสูงจากพื้นดินประมาณ ๒ - ๓ เมตร มุงหลังคาเพื่อกันแดดกันฝน
ทุกคนในครอบครัวจะให้ความเคารพนับถือ ห้ามมิให้เหยียบย่ำ
การประกอบพิธีเซ่นหนังปะคำ ประธานในพิธีคือ หมอเฒ่าซึ่งเป็นผู้อาวุโสและมีความชำนาญในการคล้องช้างป่า
ส่วนบุคคล ที่มีอาวุโสรองลงมา จะได้รับแต่งตั้งให้เป็น
หมอสะดำ (ควาญช้างประจำข้างขวาช้าง) และ
หมอสะเดียง (ควาญช้างประจำข้างซ้ายช้าง) เมื่อถึงเวลาประกอบพิธี
ควาญช้างอื่น ๆ พร้อมด้วยญาติพี่น้องจะมาพร้อมกันในโรงพิธี
เครื่องเซ่นสังเวยในพิธีกรรม ได้แก่ หัวหมูพร้อมเครื่องในหมู หรืออาจเป็นเป็ดต้มแทนก็ได้
ไก่ต้มหนึ่งตัว เหล้าขาวหนึ่งขวด กรวยใบตองห้ากรวย นำดอกไม้เสียบในกรวยเทียบหนึ่งคู่
หมากสองคำ บุหรี่สองมวน ข้าวสวยหนึ่งจาน แกงหนึ่งถ้วย ขมิ้นผง น้ำเปล่าหนึ่งขัน
กับด้ายผูกแขน (ด้ายดำหรือด้ายแดง)
เมื่อเตรียมเสร็จแล้ว
หมอเฒ่า หมอสะดำ หมอสะเดียง จะจุดธูปเทียนบูชาเซ่นสังเวยผีปะคำ
พร้อมกับเสี่ยงทายด้วยคางไก่และไข่ต้ม โดยกล่าวอธิษฐานว่า ถ้าไปคล้องช้างครั้งนี้จะได้หรือไม่
จะโชคดีหรือโชคร้าย ขอให้ปรากฏให้เห็นจากการเสี่ยงทายจับคางไก่ และไข่ต้ม
ถ้าคางไก่งองุ้มและไข่ต้มเขียวดำ แสดงว่าเป็นลางไม่ดี ห้ามควาญช้างออกคล้องช้างป่า
ถ้าไปอาจถึงตาย แต่ถ้าคางไก่เหยียดตรงเป็นปกติ แสดงถึงโชคดีและจะปลอดภัย ออกไปคล้องช้างได้
พิธีไหว้ปู่ตา
เป็นพิธีกรรมในการสร้างขวัญและกำลังใจในการดำรงชีวิตของชาวไทยอีสาน โดยที่มีความเชื่อว่าบรรพชนของคน
อันได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ล่วงลับไปแล้ว ลูกหลานจะต้องทำที่อยู่อาศัยให้ท่านเหล่านั้นใหม่
โดยจะเลือกสถานที่ที่รมรื่นเงียบสงบซึ่งก็จะเป็นป่าไม้ แล้วสร้างศาลให้เป็นเรือนอาศัย
เป็นที่สิงสถิตของวิญญาณผีปู่ตา
ในปัจจุบันความเชื่อในเรื่องนี้ หมายถึงการไหว้บรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้วของทุกครอบครัว
การจัดประกอบพิธีมักจะทำในวันขึ้นสามค่ำเดือนสามของทุกปี ระหว่างเวลา ๐๖.๐๐
ถึง ๐๗.๐๐ น. ตามความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น เครื่องเซ่นสังเวยประกอบด้วย
ธูป เทียน กรวยดอกไม้ หมาก พลู บุหรี่ ไข่ต้ม ข้าว น้ำ และสุราขาว
ในการทำพิธีทุกครัวเรือนจะนำเครื่องเซ่นสังเวยมาที่ศาลปู่ตา แล้วให้ผู้สูงอายุที่เป็นชายขึ้นไปอยู่บนศาลปู่ตา
โดยไม่จำกัดจำนวน เพื่อรวมเครื่องสังเวยไว้รวมกันทั้งหมด แล้วทุกคนกล่าวคำขอขมา
และกล่าวขอพรให้เกิดสิ่งดีงามเป็นสิริมงคลต่อตน โดยต่างคนต่างกล่าว
จากนั้นจึงนำเครื่องเซ่นสังเวยไปให้ผู้สูงอายุที่อยู่บนศาลปู่ตา
เพื่อนำไปไหว้ปู่ตาบนศาลต่อไป
จากนั้นทุกคนจะเทน้ำและสุราขาวที่เตรียมมาลงบนดินแล้วเรียกปู่ตามาดื่มกินเครื่องเซ่นสังเวย
โดยกล่าวเชิญชวนสามครั้ง จากนั้นจึงดูการเสี่ยงทายโดยดูที่หางไก่ โดยจะมีผลการทำนายดังนี้
ถ้าหางไก่โค้งไปข้างหน้า หมายถึงดีมาก ถ้าหางไก่ม้วนเข้า หมายถึงไม่ดี ถ้าหางไก่มีสีดำ
หมายถึงไม่ดีอย่างมาก
ประเพณีเทกระจาด
เป็นพิธีกรรมตามความเชื่อในการสร้างขวัญ และกำลังใจในการดำรงชีวิตเช่นเดียวกับพิธีไหว้ปู่ตาเป็นของชาวไทยเขมร
เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ มักทำพิธีในวันแรมสิบห้าค่ำเดือนสิบ
ระหว่างเวลา ๐๔.๐๐ น. ถึง ๐๕.๐๐ น. ตามความเหมาะสมของแต่ละท้องถิ่น
สถานที่ประกอบพิธีคือที่วัด เครื่องประกอบพิธีมีข้าวต้มมัด ขนม เมล็ดพันธุ์พืช
ถั่ว งา เผือก เข้าใส่กระบุง หรือกระจาดไปวัด
เริ่มพิธีด้วยพระสงฆ์รสวดมนต์ เพื่อเป็นการรวมญาติ ระลึกถึงญาติและบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วจากนั้นนำของประกอบพิธีแห่รอบโบสถ์
เมื่อครบสามรอบแล้วจึงเอาของในกระจาดออกแล้วแย่งกันเก็บเอาคืน มีความเชื่อว่าหากครอบครัวใดไม่ไปทำบูญ
และร่วมพิธีในวันนี้ ผีปู่ย่าตายาย และบรรพบุรุษจะสาปแช่ง ไม่ให้พบความสุขความเจริญ
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |