| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
            เมื่อต้นสมัยรัตนโกสินทร ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๒๕ นั้น บริเวณที่ราบสูงโคราชได้มีชุมชนชาวลาว ที่อพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาอาศัยอยู่หลายกลุ่ม เกิดเป็นชุมชนเมืองใหญ่ อันได้แก่ เมืองนครพนม เมืองอุบล ฯ เมืองกาฬสินธุ์ เป็นต้น ชุมชนเหล่านี้ขึ้นต่อกรุงเทพ ฯ โดยผ่านนครเวียงจันทน์ ในฐานะข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงเทพ ฯ  โดยมีการส่งบรรณาการเป็นส่วยต่อกรุงเทพ ฯ
            แนวนโยบายด้านการเมือง การปกครอง ของกรุงเทพ ฯ ต่อหัวเมืองกาฬสินธุ์  ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๓๕๒ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ยังไม่มีรูปแบบการปกครองต่อหัวเมืองส่วนภูมิภาค ที่กำหนดไว้ชัดเจน ทางกรุงเทพ ฯ ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการปกครองภายในของหัวเมืองแต่อย่างใด อำนาจที่มีต่อหัวเมืองคือ การแต่งตั้งเจ้าเมือง กรมการเมือง แล้วให้บริหารบ้านเมืองไปตามธรรมเนียม การปกครองที่ยึดถือปฎิบัติกันมา
            การติดต่อราชการระหว่างเมืองกาฬสินธุ์ กับกรุงเทพ ฯ นั้น การรายงานข้อราชการของเมืองใช้ใบบอก สำหรับทางกรุงเทพ ฯ ใช้สารตราของสมุหนายก หรือเป็นท้องตราราชสีห์ สำหรับพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ ใบบอกของเมืองกาฬสินธุ์ จะส่งรายงานเข้าไปยังคณะลูกขุน ณ ศาลา ซึ่งคณะลูกขุนมีหน้าที่ประชุมข้อราชการ หัวเมืองที่อยู่ในความครบคุมบังคับบัญชาของฝ่ายมหาดไทย ส่วนการสั่งการของทางกรุงเทพ ฯ ต่อหัวเมืองกาฬสินธุ์ ผู้มีอำนาจคือ เจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก ซึ่งจะสั่งการโดยใช้ตราสาร หรืออาจเป็นหนังสือ สำหรับใบบอกของหัวเมืองกาฬสินธุ์ ผู้มีอำนาจลงนามคือ ตำแหน่งตั้งแต่เพียผู้ใหญ่ ท้าวผู้ใหญ่ ไปจนถึงคณะอาญาสี่ ตราประทับประจำตำแหน่งเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ คือ ตราเทวดาถือดอกบัว ตราประจำตำแหน่งเจ้าเมืองกมลาไสย คือ รูปเทวดานั่งแท่น ส่วนตราประจำเมืองกมลาไสย เป็นรูปม้า มีนามอักษรเมืองอยู่บนหลังม้า
           บทบาทเมืองกาฬสินธุ์  บทบาทและหน้าที่จะต้องปฎิบัติต่อทางกรุงเทพ ฯ มีดังนี้
               การส่งส่วยบรรณาการ  เพื่อเป็นการตอบแทนในฐานะที่ได้พึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตลอดจนการที่เจ้าเมือง กรมการเมือง ได้รับพระราชทานยศ บรรดาศักดิ์ อำนาจและรางวัลจากราชสำนัก
                การเกณฑ์กำลังคน  เข้ากองทัพในราชการสงคราม ในปี พ.ศ.๒๓๕๓  เกิดสงครามกับเขมร และญวน เจ้าพระยาจักรีได้มีหนังสือถึงเจ้าเมือง กรมการเมือง ให้เกณฑ์กองทัพพร้อมด้วยเครื่องศาสตราวุธ เสบียงอาหาร กระสุนดินดำ เตรียมไว้ให้พร้อม ซึ่งได้ถือเป็นธรรมเนียมปฎิบัติของแผ่นดินสืบต่อกันมา เมื่อเกิดศึกสงครามกับภายนอก หรือความไม่สงบเรียบร้อยภายใน ส่วนกลางจะมีใบบอกให้ทางหัวเมืองเกณฑ์กองทัพมาช่วย หากเพิกเฉยไม่ปฎิบัติถือว่า เอาใจออกห่าง กระด้างกระเดื่อง จะถูกดำเนินการตามอาญาแผ่นดินต่อไป
                การเกณฑ์แรงงาน  เป็นหน้าที่ของหัวเมืองที่จะเกณฑ์เลกชายฉกรรจ์ ไปทำงานให้ทางราชการ เมื่อได้รับการร้องขอ เช่น สร้างวัด ขุดคลอง ทำถนน สร้างป้อมค่าย เป็นต้น
                ภาระหน้าที่อื่น ๆ  ได้แก่ การเก็บข้าว จากราษฎรเพื่อตวงเข้ายุ้งฉางหลวงไว้เป็นเสบียง สำหรับพระนคร มีการส่งเจ้านายจากทางกรุงเทพ ฯ ออกไปตรวจราชการ มีการกำหนดให้ เดินสวน - เดินนา คือ ออกตรวจตราเก็บผลประโยชน์จากการประกอบอาชีพของราษฎร หรือการกำหนด หัวเมืองที่เป็นเส้นทางเดินทัพผ่าน ต้องจัดเสบียงส่งให้กองทัพด้วย
                ในการเข้าร่วมพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เจ้าเมือง กรมการเมือง จะต้องไปเข้าร่วมพิธีนี้ ในกรณีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ หรือจัดขึ้นในหัวเมืองของตน เพื่อให้ขุนนาง ไพร่ฟ้าประชาชน ได้เข้าร่วมพิธี โดยจัดขึ้นที่วัด ต่อพระรัตนตรัย แล้วรายงานให้ทางกรุงเทพ ฯ ทราบ
                นอกจากนี้ ทางหัวเมืองยังต้องจัดสิ่งของ เงินทอง เพื่อนำส่งไปร่วมในพระราชพิธีที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือพิธีอื่น ๆ แล้วแต่ส่วนกลางจะมีใบบอก แจ้งไปเป็นครั้งคราว
           เมืองกาฬสินธุ์ก่อนปี พ.ศ.๒๓๗๐  ในเวลานั้นเมืองกาฬสินธุ์ มีประชากรอาศัยอยู่ไม่มากนัก ไม่ปรากฎว่ามีทาส ประชากรไม่เกิน ๖,๐๐๐ คน
            ในปี พ.ศ.๒๓๖๗  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงแยกย้ายกันขึ้นไปตรวจตราสำมะโนครัว และตั้งกองสักเลก อยู่ตามหัวเมืองอีสานหลายเมือง รวมทั้งกาฬสินธุ์ด้วย เพื่อกำหนดการเกณฑ์ส่วย
           สงครามเจ้าอนุวงศ์  ในปี พ.ศ.๒๓๖๙  อาณาบริเวณแขวงจำปาศักดิ์ ไปจนถึงเวียงจันทน์ตกอยู่ในอำนาจของเจ้าอนุวงศ์ และเจ้าราชบุตร (โย่)  เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ แล้วมีใจกำเริบคิดการกระด้างกระเดื่องต่อกรุงเทพ ฯ อันเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่โปรดเกล้า ฯ พระราชทานชาวเมืองเวียงจันทน์ ที่ถูกกวาดต้อนมาแต่ครั้งกรุงธนบุรีกลับคืนไปตามที่เจ้าอนุวงศ์กราบบังคมทูลขอ ประกอบกับในห้วงเวลานั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นสองประการคือ
            ประการแรก ญวนคิดจะขยายอิทธิพลเข้ามาในดินแดนลาวริมแม่น้ำโขง ได้มาเกลี้ยกล่อมเจ้าอนุวงศ์ให้ไปพึ่งญวน
            ประการที่สอง ไทยเกิดมีปัญหากับอังกฤษ ข่าวนี้ทำให้เจ้าอนุวงศ์คาดว่าไทยจะมีศึกกับอังกฤษ จึงคิดยกกำลังเข้าไปตีกรุงเทพ ฯ เพื่อกวาดต้อนผู้คน และทรัพย์สมบัติกลับไปเวียงจันทน์ โดยจัดวางกำลังปิดช่องทางรักษาด่าน และทางผ่านไปยังเวียงจันทน์ไว้ให้มั่นคง ป้องกันกองทัพจากกรุงเทพ ฯ ติดตามมา และไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองรายทางของไทยไว้เป็นพรรคพวก
            ในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์ให้เจ้าอุปราช (ติสสะ) กับเจ้าราชวงศ์ (เจ้าเหง้า) คุมกองทัพเข้าตีหัวเมืองรายทางอันได้แก่ เมืองกาฬสินธุ์ เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองชนบท เมืองขอนแก่น ซึ่งขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ  พระยาไชยสุนทร (หมาแพง) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ถูกจับตัวประหาร แล้วถูกริบทรัพย์สินครอบครัวบ่าวไพร่ไปเวียงจันทน์  เมื่อทางกรุงเทพ ฯ ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ ได้แล้วจึงอพยพครอบครัว และไพร่พลที่ถูกกวาดต้อนไปเวียงจันทน์ให้กลับมาอยู่เมืองกาฬสินธุ์ตามเดิม  ครั้งนั้นเมืองกาฬสินธุ์ร้างอยู่ประมาณสองปีเศษ  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๗๑ ท้าววรบุตร (เจียม) บ้านขามเบี้ย หลานพระยาไชยสุนทร (หมาแพง) ได้รับ
โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์
            ในปี พ.ศ.๒๓๘๐ พระยาไชยสุนทร (เจียม) ถึงแก่กรรม เมืองกาฬสินธุ์ว่างเจ้าเมืองอยู่ปีเศษ ต่อมาอุปฮาด (หล้า) ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๓
            ในปี พ.ศ.๒๓๘๗ พระยาไชยสุนทร (หล้า) ถึงแก่กรรม เมืองกาฬสินธุ์ว่างเจ้าเมืองอยู่หนึ่งปี  อุปฮาด (พันทอง) บุตรพระยาไชยสุนทร (เจียม) ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๙
            ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ พระยาไชยสุนทร (ทอง) ถึงแก่กรรม  อุปฮาด (จารย์ละ) เป็นว่าที่พระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ เนื่องจากยังไม่ได้ไปเฝ้า ฯ เพื่อรับพระราชทานสัญญาบัตรที่กรุงเทพ ฯ และได้ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๖  อุปฮาด (กิ่ง) ได้เป็นว่าที่พระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ และได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘
            การแยกตั้งเมืองกมลาไสย เมืองสหัสขันธ์  ในปี พ.ศ.๒๔๐๙ พระยาไชยสุนทร (กิ่ง) กับราชวงศ์ (เกษ) เกิดวิวาทกัน  ราชวงศ์ (เกษ) ขอแยกจากเมืองกาฬสินธุ์ ไปตั้งอยู่ที่บ้านสระบัว ตำบลดงมะขามเฒ่า และที่บ้านพันลำ ตำบลภูคันโท ขอยกขึ้นเป็นเจ้าเมืองต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๐ ได้มีการโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านสระบัว ตำบลดงมะขามเฒ่า เป็นเมืองกมลาไสย ให้ราชวงศ์ (เกษ) เป็นพระราษฎรบริหาร เจ้าเมือง และได้โปรดเกล้า ฯ ให้ท้าวแสน ซึ่งไปตั้งที่บ้านพันลำ และได้รับการยกฐานะเป็นเมืองสหัสขันธ์ เป็นที่พระประชาชนบาล เจ้าเมืองสหัสขันธ์  ทั้งสองเมืองนี้ให้ขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์
            ในปี พ.ศ.๒๔๑๑ อุปฮาด (หนู) เป็นว่าที่เจ้าเมืองกาฬสินธุ์
            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกเมืองกมลาไสย ออกจากเมืองกาฬสินธุ์ไปขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ
            ในปี พ.ศ.๒๔๑๗ พระยาไชยสุนทร (หนู) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ มีใบบอกขอตั้งบ้านกันทราราฐเป็นเมือง  ขอท้าวคำมูล คนเมืองมหาสารคามซึ่งอพยพพาท้าวเพีย ตัวเลกที่สมัครรวม ๒,๗๐๐ คนเศษ ซึ่งมาตั้งอยู่นั้นเป็นเจ้าเมือง และได้รับโปรดเกล้า ฯ ตั้งบ้านกันทราราฐเป็นเมืองกันทรวิชัย ให้เพียคำมูลเป็นพระปทุมวิเศษ เจ้าเมือง
            ในปี พ.ศ.๒๔๑๙ พระราษฎรบริหาร (เกษ) เจ้าเมืองกมลาไสยถึงแก่กรรม พระยาไชยสุนทร (หนู) มีเหตุวิวาทกับพระพิชัยอุดมเดช เจ้าเมืองภูแล่นช้าง และพระธิเบศร์วงษา (ดวง) เจ้าเมืองกุฉิมนารายณ์  เจ้าเมืองทั้งสองได้ลงไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอแยกเมืองกุดฉิมนารายณ์ออกจากเมืองกาฬสินธุ์ ไปขึ้นกับเมืองมุกดาหาร และขอแยกเมืองภูแล่นช้างออกจากเมืองกาฬสินธุ์ ไปขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ
            ในปี พ.ศ.๒๔๒๔ พระยาไชยสุนทร (หนู) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ซึ่งลงไปกรุงเทพ ฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๑๙ ครั้งเป็นความวิวาทบาดหมางกับเมืองบริวาร และแพ้ความป่วยอยู่ที่กรุงเทพ ฯ  เมืองกาฬสินธุ์จึงว่างเจ้าเมืองมา ๕ ปี  ราชวงศ์เชียงโคต (นน) จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาไชยสุนทร (นน) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์
            ในปี พ.ศ.๒๔๒๕ พระยาไชยสุนทร (นน) ถึงแก่กรรม  กรมการเมืองจึงมีใบบอกขอให้ท้าวพั้ง บุตรพระยาไชยสุนทร (นน) ให้เป็นว่าที่เจ้าเมือง
            ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ข้าหลวงใหญ่ทรงตั้งให้นายสุดจินดาเป็นข้าหลวงเมืองกาฬสินธุ์ เมืองกมลาไสย เมืองภูแล่นช้าง โดยตั้งกองข้าหลวงประจำอยู่ที่เมืองกาฬสินธุ์ ทำให้อำนาจเจ้าเมืองลดลง
           สงครามกับฝรั่งเศส พ.ศ.๒๔๓๖ (รศ.๑๑๒)  ในปี พ.ศ.๒๔๓๖ กองทัพฝรั่งเศส ซึ่งตั้งอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส ได้ยกกองทัพล่วงเข้ายึดเมืองเชียงแตง ชายฝั่งแม่น้ำโขงในเขตของไทย ข้าหลวงใหญ่ของไทยคือกรมหลวงพิชิตปรีชาการประทับอยู่ ณ เมืองอุบล ได้ให้เมืองใหญ่ทุกเมืองในลาวกาว เรียกคนพร้อมด้วยศาสตราวุธมาเตรียมไว้เมืองละ ๑,๐๐๐ คน การสงครามครั้งนั้นดำเนินไปตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และค่าปรับอีก ๒ ล้านฟรังค์ แก่ฝรั่งเศส
            เมื่อเหตุการณ์สงบลง ข้าหลวงใหญ่ของไทยได้ทรงตั้งให้หลวงสิทธิเดชสมุทขันธ์ (ล้อม) เป็นข้าหลวงบังคับเมืองกมลาไสยเมืองกาฬสินธุ์ และเมืองภูแล่นช้าง ตั้งอยู่ ณ เมืองกาฬสินธุ์
            การปฏิรูปการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล  สาเหตุการปฏิรูปการปกครองหัวเมือง ก็เนื่องจากเกิดปัญหาเกี่ยวกับไพร่พลในหัวเมืองต่าง ๆ คือเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีตราพระราชสีห์ประกาศออกไปตามหัวเมืองต่าง ๆ เรื่องการสักเลก และการเกณฑ์ไพร่ ให้ไพร่เลือกสังกัดได้ตามใจสมัคร ทำให้เกิดการแย่งชิงไพร่กัน เลกไพร่มีการขอย้ายสังกัด ย้ายถิ่นฐานจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง ครั้นมีราชการ หรือให้เรียกเก็บส่วยจากเลกไพร่ เลกไพร่เหล่านั้นก็หลบหนีจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง ทำให้เกิดปัญหา นอกจากนี้ยังมีการเฆี่ยนตีบังคับข่มเหง เรียกเก็บเงินส่วยจากไพร่ หรือไม่ก็มีการขู่เข็ญบังคับไพร่เพื่อแย่งชิงเลกไพร่กันระหว่างหัวเมือง
                กระบวนการปฏิรูปการปกครอง  ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุนนางเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ออกไปกำกับราชการ โดยจัดแบ่งหัวเมืองภาคอีสานออกเป็นสี่กอง ต่อมาได้ยุบลงเหลือสามกองในปี พ.ศ.๒๔๓๕ คือ หัวเมืองลาวกาว หัวเมืองลาวพวน และหัวเมืองลาวพุงขาว
                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๗ ได้เปลี่ยนชื่อเรียกหัวเมืองเสียใหม่ โดยให้รวมหัวเมืองเข้าด้วยกันเป็นบริเวณเรียกว่ามณฑล
                ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ มีการประกาศพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๖ ให้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง อุปราด ราชวงศ์ ราชบุตร ให้เรียกตำแหน่งเจ้าเมืองว่า ผู้ว่าราชการเมือง ตำแหน่งอุปราดเรียกปลัดเมือง ตำแหน่งราชวงศ์เรียกว่า ยกบัตรเมือง และตำแหน่งราชบุตรเรียกว่า ผู้ช่วยราชการเมือง สำหรับเมืองกาฬสินธิ์ ได้แต่งตั้งให้ท้าวรถ เป็นที่พระสินธุประชาธรรมเป็นผู้ว่าราชการเมือง และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาไชยสุนทร ในเวลาต่อมา
                ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ มณฑลลาวกาว เปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ และในปี พ.ศ.๒๔๔๓ เปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาน และแบ่งเขตการปกครองเป็นบริเวณเมืองกาฬสินธิ์ อยู่กับบริเวณเมืองร้อยเอ็ด
                ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ได้ยกเลิกการปกครองแบบบริเวณมาเป็นการปกครองแบบจังหวัด ยุบข้าหลวงตรวจการบริเวณแล้ว
                หัวเมืองบริวารของจังหวัดกาฬสินธิ์  หลังเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ทำให้เมืองต่าง ๆ ในพื้นที่บริเวณเมืองกาฬสินธิ์มีการเปลี่ยนแปลง คือ
                    เมืองท่าขอนยาว ถูกยุบเป็นตำบลในจังหวัดมหาสารคาม
                    เมืองภูแล่นชาว ถูกยุบเป็นตำบลในอำเภอกุฉินารายณ์
                    เมืองกันทรวิชัย เป็นอำเภอกันทรวิชัย แล้วได้โอนไปขึ้นกับเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓ แล้วโอนไปขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖
                    เมืองกุฉินารายณ์ ได้ยุบเป็นอำเภอกุฉินารายณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖
                    เมืองแขงบาดาล ถูกยุบเป็นอำเภอ
                    จังหวัดกาฬสินธิ์ ถูกยุบเป็นอำเภอไปขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๗๔ และได้ยกขึ้นเป็นจังหวัดกาฬสินธิ์ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๙๐
เหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง
           กบฎผีบุญ  เกิดขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๔๔๔ ถึงกลางปี พ.ศ.๒๔๔๕ เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมณฑลอีสาน และมณฑลใกล้เคียงและลุกลามไปอย่างรวดเร็ว
            เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เมืองกาฬสินธิ์ เนื่องจากมีหมอลลำเที่ยวร้องคำผญา ขับเป็นลำนำไปทั่วทุกบริเวณ บ่งถึงความเป็นมาของผู้มีบุญว่าจะมาจากทิศตะวันออก พวกนายเก่าจะหมดอำเภอ ศาสนาจะหมดสิ้น และมีการต่อเติมว่า บัดนี้ฝรั่งเข้ามาเต็มกรุงเทพ ฯ แล้วกรุงเทพ ฯ จะเสียแก่ฝรั่ง หมอลำพวกนี้มาจากทางตะวันออกของฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เที่ยวลำคำผญาไปทั่วมณฑลอีสานว่า ผู้มีบุญจะมาเกิด ต่อมามีผู้ตั้งตนเป็นผู้วิเศษคือ ยายหย่า ยายหยอง มีผู้มาสมัครเป็นพรรคพวกมาก ในที่สุดทางราชการได้ส่งกำลังมาปราบ จับกุมตัวการสำคัญไปพิจารณาโทษตัดสินประหารชีวิตสามคน
            พฤติกรรมของยายหย่า ทำตนเป็นผู้ถือศีล บำเพ็ญภาวนา เป็นนิจ เพื่อให้คนทั่วไปเลื่อมใสศรัทธา และเล่าลือกันไปว่าทั้งสองเป็นผู้มีบุญไปเกิด เพราะมีกามาบอกข่าว ยิ่งนานวันก็มีผุ้คนเชื่อถือมากขึ้น มีการปลูกกระต๊อบเล็ก ๆ อาศัยอยู่รอบ ๆ บ้านของยายทั้งสอง เพื่อมารอเข้าพิธี มีการดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ และประกาศตัวเป็นสานุศิษย์ โดยทั้งสองยายจะกล่าวอ้างพระศรีอาริยเมตไตรย์ ว่ากลับชาติมาเกิดเป็นตนในชาตินี้
            กลุ่มเจ้าผู้มีบุญเมืองกาฬสินธิ์จัดกลุ่มกันอยู่หลวม ๆ โดยฝากความหวังไว้กับพระศรีอาริย์ ท้าวธรรมิกราช อันหมายถึงกษัตริย์ในอุดมคติ ผู้จุติมา เพื่อช่วยเหลือ และปกครองผู้คนให้พ้นจากความทุกข์และความเดือดร้อนทั้งปวง คณะเจ้าผู้มีบุญประกอบด้วยบุคคลชั้นหัวหน้าห้าคน หัวหน้าได้แก่ ยายหย่า ยายหยอง สองคนพี่น้อง ท้าวหมาหยุย พระเกษแก้วจุลลา และพ่อเฒ่าเพชร นอกจากนั้นก็มีการกำหนดตำแหน่งอื่น ๆ อีกหลายตำแหน่ง โดยแบ่งหน้าที่กันออกไป
            สาเหตุของกบฎผีบุญ ที่เกิดในแถบหัวเมืองในมณฑลอีสาน จะเห็นว่าการที่มีคนกลุ่มหนึ่งก่อการขึ้น ก็เพราะต้องการให้ราษฎร์หลุดพ้นจากการกดขี่ข่มเหง อันมีสาเหตุทางด้านปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมระหว่างชนชั้น ชาวเมืองเห็นว่าชนชั้นผู้ปกครองเอารัดเอาเปรียบ และไม่ได้เป็นคนพื้นเมืองอย่างพวกเขา มองพวกเขาว่าเป็นชนชั้นต่ำ
            ทางราชการได้ใช้นโยบายการนำแบบการปกครองแบบเก่าคือ แบบพ่อปกครองลูก มาใช้ควบคู่กับแบบใหม่ ได้แก่ การออกประกาศตักเตือนราษฏร์ ให้ปฎิบัติตามแบบอย่างทางราชการ เช่นให้ราษฎร์เสียเงินค่าราชการประจำปี ให้เข้ารับราชการทหาร ให้เลิกเล่นการพนัน เลิกการสักตามร่างกาย เลิกการสูบฝิ่น เลิกทรงเจ้าเข้าผี
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |