มรดกทางวัฒนธรรม
จังหวัดกระบี่มีมรดกทางวัฒนธรรมอันได้แก่โบราณสถานโบราณวัตถุ แหล่งโบราณคดี
แหล่งประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมดีเด่น เท่าที่สำรวจพบมีอายุตั้งแต่
๓,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ ปี
ภาพเขียนสีถ้ำผีหัวโต
ถ้ำผีหัวโตอยู่ที่บ้านบ่อท่อ ตำบลอ่าวลึกใต้ อำเภออ่าวลึก
เป็นถ้ำอยู่ในภูเขาหินปูนในกลุ่มเขาถ้ำลอดใต้ ในแนวเทือกเขาภูเก็ตหรือแนวเขาในกลุ่มหินราชบุรี
อายุประมาณ ๒๓๐ - ๓๔๕ ล้านปีมาแล้ว ภายในถ้ำอากาศถ่ายเทได้สดวก และมีแสงสว่างส่องเข้าไปได้หลายทิศทาง
ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยและแท่งหิน มีกองเปลือกหอยทับถมอยู่เป็นจำนวนมาก
มีทางขึ้นไปที่ปากถ้ำทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ภายในถ้ำแบ่งเป็นสองคูหาใหญ่
ๆ เชื่อมต่อกันได้เป็นบริเวณที่มีภาพเขียนสี
นักโบราณคดีให้ความเห็นว่า ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์เป็นผู้สร้างผลงานเหล่านี้
อาจเป็นบันทึกเหตุการณ์ประจำวัน พิธีกรรมความเชื่อ หรือใช้สื่อสารกันระหว่างกลุ่มชนก็เป็นได้
เจ้าของภาพเป็นพิธีชุมชนชาวน้ำหรือพวกที่อาศัยอยู่ตามเกาะในอ่าวพังงา และอ่าวลึกที่อยู่ล้อมรอบ
และชุมชนพื้นราบที่อาศัยถ้ำป่าเขาสัญจรทางบก อย่างไรก็ตามภาพเขียนสีที่ถ้ำแห่งนี้น่าจะเป็นกลุ่มชนชาวน้ำ
อาจเป็นบรรพบุรุษของชาวเลในปัจจุบันก็ได้ อายุของภาพอยู่ระหว่าง ๓,๐๐๐ - ๕,๐๐๐
ปีมาแล้ว
ชาวบ้านรู้จักถ้ำนี้มานานแล้ว เดิมพบเศษกระดูกและหัวกระโหลกคนขนาดใหญ่
จึงได้ชื่อว่าถ้ำผีหัวโต นักโบราณคดีชาวตะวันตกคนแรก ที่เขียนบทความเรื่องโบราณคดีสยาม
ได้เขียนเกี่ยวกับภาพเขียนสีไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ และได้มีการศึกษาเพิ่มเติมออกไปในระยะต่อมา
ตำแหน่งของภาพเขียนสีมีกระจายอยู่ทั่วไปในคูหาที่ ๑ และคูหาที่ ๒ มีทั้งที่เขียนไว้ในระดับต่ำและระดับสูง
มีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน กลุ่มใหญ่เป็นแนวยาวตลอดผนัง กลุ่มเล็ก
ๆ มีอยู่ตามซอกเพดานอยู่ทั่วไป ภาพเขียนส่วนใหญ่มักอยู่ในตำแหน่งที่แสงสว่างส่อง
สามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจน ภาพแต่ละกลุ่มมีลักษณะเด่นในตัวเอง
ไม่ซ้ำกับกลุ่มอื่น
ภาพเขียนสีถ้ำไวกิ้ง
(ถ้ำพญานาค)
ถ้ำไวกิ้งอยู่ที่เกาะพีพีเล ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง ฯ เกาะพีพีเลอยู่กลางทะเลลึก
ห่างจากฝั่งออกไปประมาณ ๔๒ กิโลเมตร เกาะพีพีและถ้ำไวกิ้ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด
ถ้ำไวกิ้งเป็นแหล่งรังนกมีผู้ประมูลสัมปทานเก็บรังนก
ถ้ำไวกิ้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเกาะ ภายในถ้ำมีบริเวณกว้างขวาง
สูงประมาณ ๘๐ เมตร มีหินงอกหินย้อยงดงาม ภาพเขียนเขียนบนฝาผนังอยู่ในถ้ำทางด้านทิศตะวันออกและทางด้านทิศใต้
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า รูปเรือที่เขียนในถ้ำไวกิ้งเป็นภาพที่เขียนในสมัยประวัติศาสตร์
อาจจะเป็นสมัยอยุธยา โดยฝีมือของนักเดินเรือหรือพวกโจรสลัด ที่ซ่องสุมอยู่ในถ้ำแห่งนี้
จากการศึกษาเส้นทางเดินเรือจากฝั่งตะวันตกไปฝั่งตะวันออก บริเวณหมู่เกาะพีพีเป็นจุดที่เรือสามารถแวะพักหลบมรสุม
ขนถ่ายสินค้าหาเสบียงอาหาร หรือซ่อมแซมเรือ ภาพส่วนใหญ่ที่พบเป็นรูปเรือมีหลายแบบ
และไม่ได้เขียนขึ้นในเวลาเดียวกันแต่เป็นการเขียนอย่างต่อเนื่อง นอกจากภาพเรือแล้วยังมีภาพล่าสัตว์และช้างอยู่ด้วย
ภาพเรือที่ปรากฏมีหลายประเภทคือ เรือใบ ๓ เสา พวกเรือสำเภาเรือโป๊ะจ้าย
เรือใบ ๒ เสา พวกเรือกำปั่น เรือฉลอม เรือที่ใช้กรรเชียง เรือใบยุโรป เรือใบอาหรับ
เรือใบใช้กังหัน เรือกลไฟ
ภาพเขียนสีเพิงผาเขาเขียนในสระ
อยู่ที่บ้านสระ ตำบลเขาทอง อำเภอเมือง ฯ สภาพโดยทั่วไปเป็นที่ราบระหว่างเชิงเขา
มีภูเขาหินปูนล้อมรอบอยู่เป็นจำนวนมาก ในสมัยก่อนน้ำทะเลท่ามถึงบริเวณเขาเขียน
ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ มีอยู่ประมาณ ๑๕ ภาพ อยู่ตรงบริเวณรอยบากเพิงผาในภูเขาหินปูน
เพิงผามีลักษณะเป็นเพิงพักอาศัยได้ และน่าจะเป็นที่พักอาศัยของมนุษย์มาแต่โบราณ
ภาพเขียนดังกล่าวมีอายุประมาณ ๓,๐๐๐ ปี ซึ่งชุมชนมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่อพยพเร่ร่อนทางทะเลแถบนี้เขียนไว้
อาจเป็นการบันทึกเหตุการณ์ประจำวันหรือใช้เป็นการสื่อสารระหว่างกัน
ภาพเขียนสีแหลมไฟไหม้
|
อยู่ที่แหลมไฟไหม้ บ้านไสโต๊ะคำ ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก เป็นภาพบนเพิงผาในภูเขาหินปูน ที่ยื่นออกไปในทะเลเล็กน้อย
สภาพแวดล้อมเป็นป่าชายเลนมีไม้จำพวกแสมโกงกาง และตะบูน รอยบากที่มีภาพเขียนยาวประมาณ
๙ เมตร กว้างประมาณ ๕ เมตร สูงประมาณ ๓.๕๐ เมตร เป็นรูปคนและสัตว์ เขียนด้วยสีแดงและสีดำอยู่ทั่วไป
มีภาพอื่น ๆ บ้างแต่ไม่ชัดเจน สีของภาพเลือนไปกับสีของผนังปูน จึงไม่สามารถเห็นชัดว่าเป็นรูปอะไร
อย่างไรก็ตามพอจะแบ่งประเภทของภาพได้ดังนี้
ภาพคน ระบายสีแดงทึบทั้งหมด เป็นภาพที่เด่นที่สุดของแหล่งนี้ รูปลักษณะคล้ายคนสองคนยืนติดกัน
มี ๒ ศีรษะค่อนข้างชัด เห็นแขนเพียง ๒ แขน เห็นขาครบ ๔ ขา ขนาดภาพสูงประมาณ
๕๐ เซ็นติเมตร
นอกจากนั้นเป็นภาพคนและภาพคล้ายคนอีก ๓ ภาพ ภาพปลา ๒ ภาพ ภาพนก ๑ ภาพ
ภาพคล้ายแมงกะพรุน ๒ ภาพ ภาพสีดำคล้ายดอกไม้ ๑ ภาพ ภาพสีดำคล้ายเรือ
๑ ภาพ ภาพทางเรขาคณิต และภาพอื่น ๆ มีทั้งระบายสีและเส้นโครงร่างดูคล้ายดอกบัว
คล้ายพระจันทร์เสี้ยวคล้ายกากบาทติดต่อกัน และภาพรูปเหลี่ยมต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก |
ภาพเขียนสีเขากาโรส
อยู่ที่เขากาโรส (แหลมท้ายแรด) ตำบลอ่าวลึกน้อย อำเภออ่าวลึก กาโรสมีสภาพเป็นเกาะหรือเขาหินปูนลูกยาว
เชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ในแนวเทือกเขาภูเก็ต ยาวประมาณ ๖ กิโลเมตร สภาพของภูเขาเป็นเพิงผา
และรอยบากอยู่ทั่วไป ตำแหน่งของภาพเขียนอยู่ตรงรอยบากเพิงผาตื้น ๆ มีโอกาสถูกลมและฝนได้ตลอดเวลา
ภาพเขียนดังกล่าวจึงลบเลือนไปตามกาลเวลา ภาพเขียนอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ
๓ - ๔ เมตร พื้นที่หน้าผาที่มีภาพเขียนค่อนข้างราบเรียบ ภาพเขียนสีเขากาโรสพอประมวลได้ดังนี้
ภาพแรก ภาพคล้ายคนหรือสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ส่วนหัวคล้ายสุนัขอยู่ในท่านั่งหันทางข้างให้มี
๒ แขน ๒ ขา ระบายสีทึบ
ภาพที่สอง คล้ายคนมีส่วนหัวและลำตัว แขนซ้ายคล้ายถือของอยู่ ภาพนี้ไม่มีขา
ภาพที่สาม เป็นภาพสัตว์คล้ายสุนัข แรด หรือหนูมีสี่ขาหางยาว มีส่วนที่เป็นเขาหรือเป็นหู
จมูกคล้ายมีนอ
ภาพที่สี่ เป็นรูปประหลาด ลำตัวกลมยาว มีส่วนที่คล้ายเป็นขา ๒ ขา ส่วนหัวกลมมีตุ่มคล้ายเป็นขาหน้า
ภาพที่ห้า เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เขียนเป็นโครงร่าง อยู่ด้านบนของสัตว์ประหลาดในภาพที่สี่
ภาพที่หก เป็นภาพสี่เหลี่ยมเป็นซี่ ๆ คล้ายหวี มีอยู่ ๕ ขีด
นอกจากนี้ยังมีภาพเป็นจุดกลม ๆ และลายเส้นขีดหนา ๆ ๒ เส้นอยู่ใกล้กัน ใช้สีแดงเขียนทั้งหมด
ภาพเขียนสีแหล่งถ้ำชาวเล
อยู่ที่ถ้ำชาวเล บ้านแหลมสัก ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก พื้นที่ตั้งถ้ำชาวเลเป็นปลายแหลมยื่นลงไปในทะเลทางทิศตะวันตกของแหลมสัก
สภาพป่าบนภูเขายังสมบูรณ์มีฝูงนก ลิง ค่าง อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก น้ำทะเลใสสะอาด
เกาะแก่งที่อยู่บริเวณใกล้เคียงให้ทิวทัศน์ที่สวยงาม
เพิงผาของภูเขาหินปูนสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๕ เมตร ภาพเขียนอยู่ตรงรอยบากของภูเขาที่อยู่สองกลุ่ม
กลุ่มที่หนึ่งอยู่ตรงรอยบากของภูเขาตรงปลายแหลม อีกกลุ่มหนึ่งอยู่บริเวณปากถ้ำห่างจากปลายแหลมไม่มากนัก
มีหินงอกหินย้อยเล็กน้อย ภาพเขียนในถ้ำชาวเลมีอยู่ ๓ ภาพ คือ
ภาพแรก เป็นภาพคนสองคนนั่งหันหน้าเข้าหากัน มือถือวัตถุบางอย่าง ทำอาการคล้ายกำลังสูบหรือกำลังเป่า
ภาพที่สอง เป็นคนสองคนหันหน้าเข้าหากัน มือถือวัตถุบางอย่าง เช่นเดียวกับภาพแรก
ภาพที่สาม เป็นภาพคนขี่บนหลังสัตว์คล้ายม้า คนอยู่ในท่ายกแขนขึ้นคล้ายถือวัตถุบางอย่าง
ภาพเขียนสีเขาตีบนุ้ย
อยู่ที่เขาตีบนุ้ย บ้านหินราว ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก เขาตีบนุ้ยเป็นภูเขาหินปูนลูกเล็ก
ๆ อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของบ้านหินราว ด้านหนึ่งติดกับป่าโกงกาง และทางทะเล
มีแนวร่องน้ำเข้ามาถึงภูเขาได้ ดังนั้นทางเข้าที่สะดวกคือทางทะเลเมื่อเวลาน้ำขึ้น
เป็นโพรงถ้ำในภูเขาหินปูนทั้งสองด้านของภูเขา พื้นถ้ำกว้างพอสมควร โพรงถ้ำค่อย
ๆ สอบแคบขึ้นไปข้างบนจนดูเป็นรูปสามเหลี่ยม มีหินงอกหินย้อยอยู่บ้างพอสมควร
และมีโพรงถ้ำเล็ก ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ภาพเขียนกลุ่มหนึ่งอยู่ในโพรงถ้ำนี้
เพิงผาทางด้านทิศเหนือ ติดกับป่าโกงกาง หันหน้าไปทางทะเลเป็นหน้าผาสูงชันพื้นค่อนข้างเรียบ
เป็นด้านที่ถูกลมและฝนอยู่ตลอดเวลา มีภาพเขียนอยู่อีกกลุ่มหนึ่ง แต่ภาพส่วนใหญ่ลบเลือนไปมาก
ภาพเขียนกลุ่มแรกที่อยู่ในโพรงถ้ำเขียนด้วยสีแดง เป็นภาพคนเขียนขึ้นอย่างหยาบ
ๆ เป็นลายเส้นวงหน้าเป็นสามเหลี่ยมขีดเส้นเป็นผมยาวมีเครา ใกล้กับภาพแรก เป็นภาพคนเขียนด้วยสีแดง
มือข้างหนึ่งคล้ายกำลังอุ้มเด็กถือสิ่งของอะไรอยู่ด้วย ผนังด้านบนขึ้นไปเป็นภาพร่างลายเส้นเป็นรูปคน
แต่ไม่แสดงรายละเอียด เขียนด้วยสีแดง ภาพต่อไปเป็นภาพคล้ายคนหรือสัตว์อีกกลุ่มหนึ่ง
อยู่ใกล้เคียงกัน แต่รางเลือนมากจนดูไม่ออกว่าเป็นภาพอะไรแน่เขียนด้วยสีแดง
หน้าผาด้านนอกทางด้านทิศเหนือ มีภาพเขียนด้วยสีดำ คล้ายคนหรือสัตว์เป็นลายเส้น
ส่วนหน้าระบายสีทึบมีแขนสองแขน ส่วนขามีเส้นขีดสามเส้น อาจเป็นหางหรืออวัยวะอื่น
ที่พื้นถ้ำพบเศษเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ และบางชนิดมีพื้นผิวเรียบอยู่บ้างเล็กน้อย
ภาพเขียนสีเพิงผาถ้ำแหลมยอ
อยู่ที่เพิงผาถ้ำแหลมยอ บ้านเกาะยอ ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก
เกาะยอเป็นภูเขาหินปูนในทะเล มีเพิงผาสูงชันโพรงถ้ำและรอยบากเพิงผาอยู่เป็นจำนวนมากโดยรอบภูเขา
ทางด้านทิศตะวันออกเป็นป่าเลน และภูเขาลูกเล็ก ๆ สองสามลูก เพิงผาด้านทิศตะวันตก
มีหินทรายแคบ ๆ สามารถจอดเรือเข้าพักได้
เพิงผาถ้ำแหลมยอ เป็นเพิงผาในภูเขาหินปูนอยู่ในทะเลและมีโพรงถ้ำเว้าแหว่งอยู่อีกเป็นจำนวนมากรอบภูเขา
สภาพของเพิงผาสามารถหลบลมฝนได้ในฤดูมรสุม เพิงผาด้านทิศตะวันตกซึ่งหันหน้าออกทะเล
มีภาพเขียนบนหน้าผามีชายหาดอยู่เล็กน้อย สามารถขึ้นไปพักได้ ภาพเขียนสีซึ่งเป็นศิลปถ้ำบนหน้าผาด้านทิศตะวันตก
สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๓ - ๔ เมตร เขียนด้วยสีแดง เหมือนภาพที่ถ้ำผีหัวโต
ภาพกลุ่มแรกตรงหน้าเป็นภาพคนระบายสีทึบ ๓ - ๔ ภาพ เป็นกลุ่มคนที่เหมือนกับกำลังทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่
ภาพอีกกลุ่มหนึ่งมีภาพคนเขียนด้วยสีแดง และมีภาพสัตว์รูปร่างคล้ายปูอยู่ใกล้กัน
พบเศษเครื่องปั้นดินเผาจำพวกหม้อบางส่วนมีลายเชือกทาบ อยู่ในโพรงถ้ำเล็ก ๆ
ภาพเขียนถ้ำโต๊ะหลวง
|
อยู่ที่ถ้ำโต๊ะหลวง บ้านนบ ตำบลหนองหิน อำเภออ่าวลึก เป็นถ้ำหินปูนอยู่บนที่ราบ
มีร่องรอยที่ราบลุ่มเป็นแนวผ่านเชิงเขา ซึ่งปัจจุบันตื้นเขินหมดแล้ว
เป็นเพิงผาและโพรงถ้ำ กว้างขวางซับซ้อนกันหลายชั้น แต่ละชั้นมีหินงอกหินย้อยสวยงาม
เป็นถ้ำโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีร่องรอยการอยู่อาศัย และประกอบกิจกรรมของมนุษย์มาแต่สมัยโบราณ
สภาพเดิมคงมีแหล่งน้ำเข้าถึง โพรงถ้ำเป็นที่พักอาศัยได้สะดวก
หลักฐานที่ค้นพบได้แก่เครื่องมือหินกระเทาะประเภทเครื่องมือขุด ชิ้นส่วนกระดูกคนและสัตว์
เศษชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผา และภาพเขียนซึ่งเก่าไม่ถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ |
โบราณคดีถ้ำหมอเขียว
|
อยู่ที่ถ้ำหมอเขียว บ้านหน้าชิง ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมือง ฯ อยู่ในเทือกเขาหินปูนเทือกเดียวกันกับถ้ำอ่าวโกบ
(หน้าชิง) อยู่อีกฟากหนึ่งของกลุ่มภูเขากองและเขาช่องลม อยู่ทางด้านทิศเหนือของอ่าวเขาโกบ
บริเวณโดยรอบเป็นที่ราบระหว่างเขา ตัวถ้ำนี้มีลักษณะเป็นหลืบลึกเข้าไปในผนังประมาณ
๓ เมตร ส่วนที่เป็นคูหาด้านทิศตะวันตก - และตะวันออก เป็นเพิงสามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัย
รวมทั้งเป็นที่ฝังศพได้ด้วย
จากการขุดค้นสำรวจ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้แบ่งชั้นดินออกเป็น ๖ ชั้น จากบนไปล่างตามลำดับดังนี้
๑ พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบสีเทาเข้ม และสีดำ มีทั้งผิวเรียบและมีเชือกทาบ
๒ พบเครื่องมือหินและเครื่องมือกระดูก เป็นเครื่องมือหินขัด และหินกระเทาะ
เครื่องมือสะเก็ดหิน มีเครื่องมือกระดูกอยู่บางส่วน
๓ พบกระดูกสัตว์ใหญ่ และเปลือกหอยชนิดต่าง ๆ ทั้งหอยทะเล และหอยน้ำจืด
๔ พบหลักฐานเกี่ยวกับเมล็ดพืช
๕ หบหลักฐานเกี่ยวกับกองไฟในชั้นวัฒนธรรมต่าง ๆ มักพบร่วมกับกระดูกสัตว์
เมล็ดพืช ขวานหิน สะเก็ดหิน
๖ เครื่องประดับลูกปัดทำจากเปลือกหอย กระดูกสัตว์ และแผ่นหิน
๗ เครื่องกระดูกมีภาพแกะสลักเป็นลายเส้นแบบง่าย ๆ
๘ หลุมฝังศพและโครงกระดูก |
โบราณคดีถ้ำหมื่นจันทร์
(หน้าหม้อ)
อยู่ที่ถ้ำหมื่นจันทร์ บ้านหน้าหมอ ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมือง ฯ เป็นภูเขาหินปูนต่อจากแนวช่องห้วยเหวียงเข้าไปสู่แนวเขาพนมเบญจา
มีที่ราบระหว่างหุบเขา มีแนวลำคลองเล็ก ๆ ไหลผ่าน คือส่วนที่เป็นปลายคลองกระบี่น้อยนั่นเอง
สภาพของถ้ำเป็นเพิงผาเหมาะที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ มีร่องรอยการเข้ามาประกอบกิจกรรมของมนุษย์มาก่อน
สภาพทั่วไปเป็นป่ารกมีต้นไผ่ และเถาวัลย์ขึ้นอยู่ทั่วไป หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พบได้แก่
๑. เศษเครื่องปั้นดินเผามีกระจายอยู่ทั่วไปคล้ายเศษของหม้อ มีทั้งผิวเรียบและลายเชือกทาบ
๒. เปลือกหอยชนิดต่าง ๆ ทั้งที่เป็นหอยทะเลและหอยภูเขามีอยู่เป็นจำนวนมาก
๓. ชาวบ้านเคยพบขวานหินขัด
โบราณคดีเขาชวาปราบ
อยู่ที่เขาชวาปราบ บ้านดินนา ตำบลคลองพน อำเภอคลองท่อม ลักษณะเป็นที่ราบสูงอยู่บนเขาสูงชัน
และค่อย ๆ ลาดเทลงไปอีกด้านหนึ่ง ป่าบางส่วนยังมีความสมบูรณ์พอจะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
และเป็นแหล่งกำเนิดน้ำตกหินเพลิง และคลองลำห้วยเล็ก ๆ อีกหลายสาย
มีร่องรอยน้ำทะเลท่วมถึง ปัจจุบันเขาชวาปราบอยู่ห่างจากทะเลประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
บริเวณนี้น่าจะอยู่ในเส้นทางเดินโบราณ คือจากปลายคลองสินปุน สามารถไปลงแม่น้ำตาปีที่ท่ายาง
หรืออำเภอทุ่งใหญ่ในปัจจุบันได้ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏได้แก่
๑ บริเวณลาดบนเขา เชื่อกันว่าเป็นร่องรอยที่ตั้งชุมชนโบราณ ยังมีเนินดินพอเป็นที่สังเกตได้
๒ เคยมีชาวบ้านพบเศษเครื่องปั้นดินเผา แผ่นอิฐและพระพุทธรูป
๓ แนวหินคล้ายกำแพงหรือเขื่อนกั้นน้ำ และแท่งหินลักษณะคล้ายเสา
๔ ก้อนหินกลมคล้ายก้อนหินแก้วสีขนาดใหญ่
๕ จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน เคยมีผู้พบสมอเรือขนาดใหญ่ทางด้านทิศเหนือของเขาชวาปราบ