| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ภาษาและวรรณกรรม
            ภาษา จังหวัดนครนายกมีประชากรอยู่หลายกลุ่ม ปัจจุบันทุกกลุ่มใช้ภาษาไทยเป็นหลัก คงมีอยู่เพียงบางกลุ่มที่ยังใช้ภาษาท้องถิ่นของตน เช่น ไทยพวน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอปากพลี คงใช้ภาษาพูดอยู่ในกลุ่มกันเอง แต่ภาษาเขียนใช้อักษรไทยน้อย และอักษรธรรม กล่าวคือ เดิมชาวพวนใช้อักษรไทยน้อยเขียน (ธาร) นิทานพื้นบ้าน ส่วนอักษรธรรมใช้เขียนหนังสือธรรมะโดยตรง เพื่อใช้ในการเทศนาตามงานบุญสำคัญ ๆ
            ในเขตอำเภอองครักษ์มีไทยอิสลามอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในชีวิตประจำวันจะใช้ภาษาไทย แต่ในพิธีการทางศาสนาจะใช้ภาษาอาหรับ โดยมีโรงเรียนปอเนาะสอนภาษาอาหรับให้แก่เยาวชน
            ในกลุ่มลาวเวียงที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ  อำเภอปากพลีและอำเภอบ้านนา ในแต่ละกลุ่มยังใช้ภาษาถิ่นของตนอยู่บ้าง
            จารึก  จารึกชิ้นแรกที่พบในเขตจังหวัดนครนายกคือ จารึกเมืองโบราณดงละคร พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นจารึกอยู่ด้านนอกบนเศษภาชนะดินเผา เป็นชิ้นส่วนของปากภาชนะดินเผาที่ทำด้วยความประณีตเนื้อละเอียด ผิวขัดมันสีดำอย่างดี เป็นจารึกด้วยอักษรปัลลวะเป็นภาษาบาลี ตัวอักษรมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ ในสมัยทวาราวดี ข้อความในจากรึกเป็นส่วนหนึ่งของ คาถาเยธัมมา ฯ ซึ่งเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา เป็นหลักธรรมอย่างย่อในพระพุทธศาสนา
            ตำนาน  จังหวัดนครนายกมีตำนานเกี่ยวกับวีรบุรุษ บุคคลและสถานที่อยู่หลายเรื่องด้วยกันคือ

                ตำนานเจ้าพ่อขุนด่าน  ขุนด่านเป็นชื่อตำแหน่ง ชื่อจริงคือ หาญ เป็นบุตรชายขุนพิจิตร ไพรสณฑ์ ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา ทางราชการได้ให้ขุนพิจิตร ฯ หัวหน้าหมู่บ้านทางทิศตะวันตก แขวงเมืองนครนายก เป็นหัวหน้า คอยตรวจตราเขตแขวงเมืองนครนายก ติดกับแขวงเมืองปราจีนบุรี ที่เขมรมักลอบเข้าไปลักเสบียงและลอบรังแกคนไทยอยู่เสมอ
                เมื่อพม่ายกทัพมารุกรานไทย หัวหน้าที่ชาวบ้านเรียกว่าขุนด่าน จะใช้ม้าเร็วส่งข่าวไปยังเมืองหลวง เมื่อขุนพิจิตร ฯ นายด่านคนเก่าถึงแก่กรรม หมื่นหาญผู้เป็นบุตร ก็ได้รับแต่งตั้งจากกรุงศรีอยุธยา ให้เป็นขุนหาญพิทักษ์ไพรวัน เป็นนายดาบแทนบิดา
                ในปลายรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา นักพระสัตถาหรือพระยาละแวก เจ้าเมืองเขมร ได้ยกกำลังเข้ามาดัดตลบหลังไทย โดยยกกำลังเข้ามาตีเมืองปราจีนบุรี แล้วเลยไปเมืองนครนายก เพื่อกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สมบัติไปเขมร
                เมื่อทราบข่าวศึก ขุนหาญ ฯ จึงให้ม้าเร็วส่งข่าวไปให้ทางกรุงศรีอยุธยาทราบ ส่วนตัวขุนหาญ ฯ ได้รวบรวมกำลังออกไปซุ่มโจมตีกองทัพพระยาละแวกตรงทางผ่าน เมื่อกองทัพพระยาละแวกยกทัพผ่านมาถึง ขุนหาญ ฯ ก็ยกกำลังเข้าโจมตีกองทัพพระยาละแวกเสียหาย และเมื่อกองทัพจากกรุงศรีอยุธยายกมาช่วย กองทัพเขมรก็แตกพ่ายกลับไป
                เมื่อเสร็จศึกแล้ว พระยาศรีไสยณรงค์ แม่ทัพจากกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ให้รางวัลและประกอบพิธีมงคลสมรสให้ขุนหาญ ฯ กับนางสาลิกา บุตรสาวขุนไวยารักษ์
                เมื่อขุนหาญ ฯ ถึงแก่กรรม ชาวบ้านได้ร่วมใจนกันสร้างศาลบรรจุอัฐิของท่านไว้ ณ บริเวณหุบเขาชะโงก ตำบลพราหมณี อำเภอเมือง ฯ เพื่อระลึกถึงคุณงามความดี เป็นที่เคารพบูชาสืบต่อกันมา

                ตำนานเขานางบวช  มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว เจ้าเมืองกัมพูชา มีโอรสนามว่า เจ้าประจิตร เมื่ออายุได้ ๑๖ พรรษา ได้ออกจากเมืองพิมาย พบหญิงคนหนึ่งท้องแก่กำลังดำนา จึงเข้าไปทักทาย และเห็นว่าเด็กในท้องคงเป็นผู้มีบุญแล้วอาศัยบ้านหญิงท้องแก่นี้อยู่ จนนางคลอดบุตรเป็นหญิงชื่อว่า อรพิน  เมื่อนางอรพินโตเป็นสาว เจ้าประจิตรก็มาสู่ขอเป็นคู่ครอง โดยได้กลับไปเตรียมสินสอดทองหมั้นที่เมืองของตน และได้ให้ทหารคนสนิทอยู่เฝ้านางไว้
                ข่าวความงามของนางอรพิน ได้แพร่ออกไปถึงหูเจ้าเมืองพิมาย จึงให้นำตัวนางเข้าเฝ้าเจ้าเมือง แต่เจ้าเมืองทำอะไรนางไม่ได้ เพราะนางมีว่านพิษติดตัวอยู่ ผู้ใดเข้าใกล้จะร้อน เมื่อความทราบถึงเจ้าประจิตร ฯ จึงได้เข้าไปช่วยพานางหนีออกจากวัง
                ทหารเจ้าเมืองพิมายยกกำลังออกติดตามจนทัน เกิดการต่อสู้กัน เจ้าประจิตรพานางหนีไป โดยได้เดินลัดเลาะไปตามเชิงเขาท่ามกลางสัตว์ร้ายอยู่หลายวัน หลายเดือน จนวันหนึ่งได้เดินทางมาถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง เจ้าประจิตรและนางอรพิน เกิดพลัดกันระหว่างที่ข้ามแม่น้ำ ต่างคนต่างพยายามเรียกหากันแต่ไม่พบ จนนางอรพินได้มาถึงวิหารแห่งหนึ่งบนภูเขา นางจึงอธิษฐานแปลงร่างเป็นชาย แล้วบวชอยู่ในวิหารบนยอดเขานั้น เวลาได้ล่วงเลยไปนานในที่สุด เจ้าประจิตรได้ทราบเรื่อง จึงเดินทางมาพบแล้วให้ลาสึก จากนั้นจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อภูเขานั้นว่า เขานางบวช
                ตำนานเมืองดงละคร  ดงละครเป็นชื่อบ้านและชื่อตำบลแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง ฯ ดงละครเป็นแหล่งโบราณคดีที่ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่า เมืองลับแล มีตำนานอยู่หลายเรื่องที่เกี่ยวข้องคือ
                    ตำนานที่หนึ่ง มีอยู่ว่า เชื้อพระวงศ์เจ้านายฝ่ายเขมร ที่สืบเนื่องมาจากพระเจ้าประทุมสุริวงศ์ ผู้สร้างพระนครธมนั้นสาบสูญสิ้นสุดลง เมื่อเจ้าผู้หญิงเป็นราชินีขึ้นครองแผ่นดิน เพราะไม่มีเจ้าผู้ชายจะสืบวงศ์ พระยาเขมรทั้งปวงยอมให้พระนางหาชายไว้ใกล้ชิดได้ตามพระทัย มีการป่าวร้องให้หาชายที่รูปงามมาให้เลือกทุกบ้านทุกเมือง ได้ชายรูปงามในเขมรสองคน เอามาเลี้ยงไว้ใกล้ชิด
                    ต่อมาได้ชายไปจากแผ่นดินเขมรเก่า ซึ่งถวายเป็นแผ่นดินไทยฝ่ายใต้คนหนึ่ง พระนางชอบพระทัย แต่ชายสองคนที่มาอยู่ก่อนหึงหวงไม่ยอมให้อยู่ พระนางจึงได้มาขอผู้ปกครองฝ่ายไทยสร้างเมืองขึ้นเมืองหนึ่งคือเมืองนครนายก อยู่ในแผ่นดินฝ่ายใต้ใกล้กับเมืองเขมร เมื่อสร้างเสร็จแล้วพระนางก็เสด็จมาอยู่ที่เมืองนครนายก กับชายผู้นั้นบ้าง กลับไปอยู่เมืองพระนครธมบ้างจนสวรรคต โดยไม่มีราชบุตรสืบวงศ์ต่อไป
                    จากตำนานเรื่องนี้มีผู้สันนิษฐานว่า เมืองนครนายกดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นเมืองดงละคร
                    ตำนานที่สอง  เรื่องมีอยู่ว่า หนุ่มชาวบ้านคนหนึ่งมีอาชีพตัดฟืนหาเถาวัลย์ขาย วันหนึ่งเข้าไปหาของป่าพบเถาวัลย์มากมาย จึงสาวตามเถาวัลย์ไปเรื่อย ๆ จนหลงเข้าไปในเมืองลับแล หาทางกลับออกมาไม่ได้ เขาได้พบหญิงสาวสวยในเมืองนั้น และได้อยู่กินจนมีลูกด้วยกัน เมืองลับแลนั้นอุดมสมบูรณ์เจริญรุ่งเรือง ผู้คนมีศีลธรรม ถือปฏิบัติเคร่งครัดโดยเฉพาะศีลข้อมุสา ฯ
                    วันหนึ่งภรรยาไม่อยู่เขาต้องดูแลลูก เมื่อลูกร้องกวน ปลอบไม่ฟัง จึงออกปากหลอกลูกว่า "แม่มาแล้ว เพื่อให้ลูกหยุดร้อง เมื่อภรรยากลับมาและรู้เรื่องเข้า เห็นว่าสามีทำผิดกฎเกณฑ์ของเมือง จึงจำใจให้สามีออกไปจากเมือง โดยภรรยาได้มอบห่อผ้าให้สองห่อ พร้อมกับกำชับให้แก้ห่อผ้าได้เมื่อถึงบ้านเรือนตนแล้ว ฝ่ายชายคนนั้นเมื่อออกจากเมืองมาถึงหนองน้ำแห่งหนึ่ง อยากรู้ว่าภรรยาของตนให้อะไรมาจึงแก้ห่อผ้าออกดูเห็นเป็นทรายจึงเททิ้งเสีย แล้วฉุกใจคิดถึงคำกำชับของภรรยา จึงนำห่อผ้าที่เหลือมาเปิดที่บ้าน พบว่าในห่อเป็นทองคำ จึงได้นำทองคำนั้นไปขายเลี้ยงตัวและมารดาไปตลอดชีวิต และได้สร้างวัดขึ้น ณ บริเวณที่ตนแก้ห่อผ้าพบทรายแล้วเททิ้ง เรียกชื่อวัดนั้นว่า วัดหนองทองทราย อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของดงละคร
                    ตำนานที่สาม, ผีละครเมืองลับแล  มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ในวันดีคืนดี ซึ่งโดยมากจะเป็นวันเพ็ญขึ้น ๑๔ - ๑๕ ค่ำ จะมีเสียงพิณพาทย์ ลาดตะโพน แว่วมาตามสายลม บ้างก็ว่าเสียงมาจากทางทิศตะวันออก บ้างก็ว่าเสียงมาจากทิศใต้ และบ้างก็ว่าเสียงมาจากทิศเหนือ เล่าลือกันว่าเป็นผีในดงละคร ถ้าผู้ใดมาร้องละครจะเป็นไข้ตาย เพราะผีจะเอาไปอยู่ด้วย หากมีผู้ร้องละครแล้วมีคนห้าม ผีก็จะเอาคนห้ามไปแทน ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครกล้าร้องละคร กลายเป็นที่มาของชื่อดงละคร

                ตำนานศาลเจ้าพ่อองครักษ์  ศาลเจ้าพ่อองครักษ์ตั้งอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำนครนายก ในตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ เป็นแม่น้ำสามแยกมาจากนครนายก แล้วแยกไปคลองรังสิตทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งแยกไปแม่น้ำบางปะกง
                    มีเรื่องเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสจังหวัดปราจีนบุรี โดยเสด็จผ่านมาทางแม่น้ำนครนายก และได้ประทับแรมอยู่ ณ บริเวณที่ตั้งศาลเจ้าพ่อองครักษ์ปัจจุบัน ระหว่างประทับแรมนั้นนายทหารราชองครักษ์ผู้หนึ่งได้ป่วยและเสียชีวิต
                    บางตำนานกล่าวว่า นายทหารราชองครักษ์ผู้นี้ถูกช้างทำร้ายจนเสียชีวิต ชาวบ้านจึงเรียกว่า เจ้าพ่อช้างเหยียบ (ปัจจุบันยังมีหัวกะโหลกช้างอยู่ในบริเวณศาล)
                    เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ราชองครักษ์ผู้นั้นจึงได้สร้างศาลขึ้นเป็นอนุสรณ์ แต่เนื่องด้วยบริเวณหน้าศาลเป็นวังน้ำวน น้ำไหลเชี่ยวมาก เป็นที่หวั่นเกรงของชาวเรือ และเชื่อกันว่ามีจระเข้เจ้าพ่ออยู่ในวังน้ำ ถ้าจะนำเรือผ่านบริเวณดังกล่าว จะต้องทำพิธีเซ่นไหว้ด้วยมะพร้าววอ่อน จึงจะนำเรือผ่านได้ปลอดภัย

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |