| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
การแต่งกาย
ในอดีตสตรีนุ่งผ้าโจงกระเบน หรือผ้าถุง ห่มผ้าแถบ และมีการทอผ้าฝ้าย
ในสมัยอยุธยา กล่าวถึงการส่งส่วยว่า มีโสร่งไหมจำนวนไม่มาก เป็นผลผลิตของเมืองนครนายก
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
ฯ ได้มีการเกณฑ์สิ่งของต่าง ๆ ในการพระเมรุ เช่น ผ้าขาว ป่านใย โดยเฉพาะผ้าขาวทางกรุงเทพ
ฯ จ่ายเงินให้ด้วย แสดงว่าชาวบ้านมีการทอผ้าใช้กันมากในรัวเรือน และมีเหลือใช้จนนำไปจำหน่ายได้
ในปี พ.ศ.๒๔๔๑ พระยาสัจจา (สรวง ศรีเพ็ญ) ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องการแต่งกายของข้าราชการในสมัยนั้นว่า
การแต่งกายของผู้ที่ทำราชการเวลานั้น เจ้าเมืองเวลามานั่งที่ศาลากลาง ปกตินุ่งผ้าโจงกระเบน
ใส่เสื่อกุยเฮง สวมหมวก ใส่เกือกแตะ ถือไม้เท้าเล็ก ๆ ส่วนพนักงานอื่น ๆ นุ่งผ้าโจงกระเบน
เสื่อชั้นในแขนสั้น ผ้าขาวม้าคาดพุง ไม่มีเกือก ชั้นเสมียนนุ่งกางเกงจีนโดยมากสีขาว
บางทีนุ่งผ้าโจงกระเบน ส่วนสตรีที่มีฐานะมีการนุ่งห่มแบบสตรีเมืองหลวงคือ
สวมเสื้อนุ่งโจงกระเบนมีผ้าสะไบพาด สวมถุงน่องรองเท้า และเครื่องประดับ
การแต่งกายเพื่อประกอบพิธีกรรม
เช่น การบูชาเซ่นสรวง ผู้ประกอบพิธีทั้งชายหญิงจะนุ่งขาวห่มขาว ส่วนการทรงเจ้าหรือประเพณีเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผี
เช่น นางทรง เล่นนาง ไหว้ผีฟ้า นิยมแต่งกายแบบไทย ห่มสไบเฉียงสีสดใส ถ้าเป็นงานมงคลรื่นเริงจะใส่สีสดใส
ไม่นิยมสีดำหรือสีมอ ๆ ส่วนสีม่วงไม่นิยมใช้ในงานมงคล เพราะเป็นสีใกล้เคียงกับสีดำ
ประเพณีในท้องถิ่น
ประเพณีที่ปฎิบัติกันมาในรอบปี ตั้งแต่เดือนอ้ายถึงเดือนสิบสอง ส่วนใหญ่เป็นประเพณีที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตทางเกษตรกรรม
จากการสำรวจพบว่าในรอบปีมีถึง ๗๓ ประเพณี บางประเพณีถือปฎิบัติกันเฉพาะในกลุ่มชน
ประเพณีส่วนสังคมของจังหวัดนครนายกมีตามลำดับดังนี้
เดือนอ้าย
มีประเพณีเกี่ยวกับการเกี่ยวข้าว คือการลงแขกเกี่ยวข้าว
เดือนยี่
มีประเพณีเกี่ยวกับการทำนา ลงแขกนวดข้าว ทำบุญลาน ก่อพระทรายข้าวเปลือก หรือสู่ขวัญข้าวเปลือก
เดือนสาม
มีประเพณีสู่ขวัญข้าว สู่ขวัญควาย สู่ขวัญเกวียน บุญข้าวจี่ (ชาวลาวพวน)
บุญข้าวข้าวเกรียบ (ชาวลาวพวน) และมาฆบูชา
เดือนสี่
มีประเพณีตรุษจีน
เดือนห้า
มีประเพณีสงกรานต์ ก่อพระทราย อาบก่อนกา (ชาวลาวพวน) ทำบุญกลางบ้าน
ผีโรง (ชาวมอญ)
แห่บั้งไฟ
แห่นางแมว
เดือนหก
มีประเพณีวิสาขบูชา เลี้ยงตาเจ้าบ้าน (ชาวมอญ) สลากภัต เลี้ยงตาแฮะ
เดือนเจ็ด
มีประเพณีแรกนาขวัญ บายศรี (ชาวลาวพวน)
เดือนแปด
มีประเพณีเข้าพรรษา
เดือนเก้า
มีประเพณีข้าวประดับดิน (ชาวลาวเวียง) บุญข้าวห่อ (ชาวลาวพวน)
สารทพวน
เดือนสิบ
มีประเพณีสารทลาว สารทไทย เทศน์คาถาพัน
เดือนสิบเอ็ด
มีประเพณีทำขวัญข้าว (ตั้งท้อง) กวนข้าวสับบิ ออกพรรษา แห่ข้าวพันก้อน
ทอดกฐิน
เดือนสิบสอง
มีประเพณีลอยกระทง เทศน์มหาชาติ ทานข้าวเม่า
นอกจากนี้ไม่กำหนดเดือน เช่น การทำบุญวันพระ ไหว้แม่บันได ไหว้แม่เตาไฟ ไหว้โอ่งน้ำ
และทอดผ้าป่า เป็นต้น
ภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น
การกลึงและแกะสลักหินอ่อน
บริเวณเขาชะโงก อำเภอเมือง ฯ เป็นแหล่งหินอ่อนและหินสบู่ หินทั้งสองชนิดนี้มีความแข็งพอเหมาะ
ที่จะนำไปสกัดเป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้ง่าย มีลวดลายสวยงามอยู่ในตัวตามธรรมชาติ
วัสดุเริ่มแรกมีสามลักษณะคือ เป็นก้อน เป็นแท่งสี่เหลี่ยม และเป็นแผ่น
ขั้นตอนการกลึงและแกะสลัก
มีดังนี้คือ
- ออกแบบชิ้นงานตามที่ต้องการ
- หาหินอ่อนให้ได้รูปร่างตามชิ้นงานที่ต้องการ
- นำหินอ่อนมาตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการ
- นำหินอ่อนที่ตัดแล้วมากลึงให้กลมหรือเรียบ
- นำหินอ่อนที่กลึงแล้วมาแกะสลักให้ได้หุ่นตามแบบ
- เก็บรายละเอียดและความเรียบร้อย
การแกะสลักเหง้าไม้ไผ่ตง
จังหวัดนครนายกมีการปลูกไผ่ตงกันมาก โดยเฉพาะในแถบหมู่บ้านนางรอง ตำบลหินตั้งอำเภอเมือง
ฯ ในฤดูกาลที่ไผ่ออกหน่อแล้ว ชาวบ้านจะนำหน่อไม้ไปขายเพื่อเป็นรายได้เสริม
หน่อที่เว้นไว้จะเจริญเติบโตเป็นต้นไผ่ โดยทั่วไปไม่นิยมนำไผ่ชนิดนี้มาใช้ประโยชน์
นอกจากนำไปทำฟืนสำหรับหุงต้ม เพราะไม้ไผ่ดังกล่าวไม่คงทนเหมือนชนิดอื่น
แต่เมื่อไผ่หมดอายุจึงได้มีการนำเอาเหง้าไปแกะสลักเป็นรูปหน้าคนได้อย่างเหมาะเจาะ
เนื่องจากมีองค์ประกอบที่เอื้ออำนวย เนื่องจากมีลักษณะเป็นแท่งกลมยาว และมีรากที่สามารถทำเป็นหนวดได้
ขั้นตอนในการแกะสลักเหง้าไม้ไผ่
มีดังนี้
- คัดเลือกเหง้าไผ่ตงที่มีอายุตั้งแต่สามปีขึ้นไป ซึ่งจะมีขนาดเหมาะสมพอดี
- ตัดเหง้าไผ่ให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ
- ขึ้นรูปแกะสลักหน้า
- ล้างทำความสะอาดและตากแดดให้แห้งแล้วใส่ยากันมอด
- ขัดและใส่ยากันมอดอีกครั้งหนึ่ง แล้วผึ่งให้แห้งประมาณสองสามวัน
- ขัดด้วยกระดาษทราย แล้วลงสี เช่น สีโอ๊ก ประดู่ มะเกลือ ฯลฯ
- ทายูริเทนเคลือบเงาเพื่อความคงทนและสวยงาม
การทำแผ่นฝ้าสำเร็จรูป
การทำแผ่นฝ้าสำเร็จรูปแต่เดิมต้องอาศัยการผลิตจากโรงงาน ต่อมาได้มีชาวบ้านตำบลทองหลาง
อำเภอบ้านนา ได้ดำเนินการผลิตเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว จำหน่ายให้แก่ลูกค้าในท้องถิ่น
ต่อมาเมื่อตลาดมีความต้องการมากขึ้น จึงได้ขยายเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำแผ่นฝ้า
ประกอบด้วยปูนพลาสเตอร์ เส้นใยแก้ว แม่พิมพ์สำหรับพิมพ์ลายที่ทำจากกระจกหรือพลาสติกพิเศษ
เครื่องมือในการผสม และเทปูนได้แก่ถังผสมปูน ไม้ตีผสมปูน ตะกร้าหรือตะแกรงสำหรับกรองปูน
ตะแกรงที่กดเรียกว่าที่แจะ และที่ปาดปูน
ขั้นตอนการทำแผ่นฝ้า
ผสมปูนพลาสเตอร์กับน้ำในอัตราส่วน ๑ : ๒ ตีให้เข้ากันด้ยไม้ตีผสมปูน การผสมปูนแต่ละครั้งให้เทได้
แผ่นฝ้าประมาณสองแผ่นพอดี
มิฉะนั้นจะเทไม่ทัน ปูนในถังจะแห้งแข็งไปก่อน
- ทาแม่พิมพ์ด้วยน้ำเพื่อให้ล่อนและลอกง่ายเวลาปูนแห้ง
- นำตะกร้าหรือตะแกรงมารองแล้วเทปูนลงในแม่พิมพ์ให้หนาประมาณ ๑ เซนติเมตร
- หนุนหรือรองแท่นแม่พิมพ์ให้อยู่ในแนวระดับ ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง เพื่อทำให้แผ่นฝ้าหนาเท่ากัน
แล้วโรยใยแก้วให้ทั่วหน้าปูนที่เทไว้
ก่อนที่เนื้อปูนจะแห้ง
- ใช้ที่กด (แจะ) กดใยแก้วให้จมลงในแผ่นปูน ทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ ๑๐ - ๔๐
นาที แล้วแต่ชนิดของปูนแห้งช้าแห้งเร็ว ลักษณะของปูนที่แห้ง เมื่อสัมผัสหน้าผิวปูนจะรู้สึกร้อน
- แกะขอบพิมพ์ออกสองด้าน แซะปูนที่ติดรอบ ๆ พิมพ์ให้เรียบร้อย แล้วแกะแผ่นฝ้าขึ้นตรง
ๆ ไม่ให้แผ่นฝ้างอเพราะจะหัก
- แขวนแผ่นฝ้าไว้ที่ราวเพื่อผึ่งลมในที่ร่มประมาณสองวัน แล้วนำไปผึ่งแดดอีกประมาณสองวันจึงเก็บ
ห่อด้วยกระดาษสีน้ำตาล เพื่อไม่ให้แผ่นฝ้าแห้งกร้าวมากขึ้น
การทำอังกะลุงและอังกะลุงราว
โดยชาวบ้านพิกุลออก ตำบลพิกุลออก อำเภอบ้านนา โดยในครั้งแรก ประดิษฐ์ให้เด็กนักเรียนโรงเรียนใกล้บ้านใช้
ต่อมาจึงได้ขยายออกไปในโรงเรียนอื่น ๆ ในจังหวัดและในต่างจังหวัด เช่น อุทัยธานี
อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ ลำปาง ระยอง และจันทบุรี เป็นต้น
ต่อมาได้ทดลองประดิษฐ์อังกะลุงราวให้มีตัวโน้ตทั้งเจ็ดอยู่ในตัวเดียวกัน สามารถเล่นคนเดียวได้
ซึ่งต่างจากอังกะลุงธรรมดา แต่เดิมที่ต้องมีจำนวนผู้เล่นถึงเจ็ดคน
ขั้นตอนการทำอังกะลุงและอังกะลุงราว มีดังนี้
- ตัดหรือหาซื้อไม้ไผ่สำหรับทำกระบอกเสียงตามขนาดที่ต้องการ แล้วนำไปแช่น้ำกันมอด
ไม้ไผ่ที่ใช้มีสองประเภทได้แก่ ไผ่นวลและไผ่ลาย ไผ่นวล
เป็นไม้ไผ่ธรรมดามีสีธรรมชาติ ส่วนไผ่ลาย
มีลวดลายสีน้ำตาลเข้มอยู่ในตัวมีความสวยงามตามธรรมชาติ จึงเป็นที่นิยมแม้ราคาสูงกว่าเพราะหาได้ยากและมีน้อย
- นำกระบอกไผ่มาเรียงเข้าตับ ทดลองสวมเรียงเข้าหากันลดหลั่นขนาดตามลำดับ จำนวนสามกระบอกคือ
กระบอกเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อทำกระบอกเสียง โดยตัดปลายให้แหลมเป็นปากฉลาม
- หาไม้จริงหรือไผ่ตง นำมาเหลาเพื่อทำที่จับเขย่าให้เกิดเสียง โดยทั่วไปนิยมใช้ไม้ไผ่
เพราะทนและมีราคาถูกกว่า
- คัดสรรไม้ยางขนาด ๑ x ๑ นิ้ว เพื่อทำราง และเหลาทำไม้แขวนอันเล็ก ๆ สำหรับแขวนกระบอกเสียง
ทาสีเพื่อความคงทน
- เทียบเสียงของกระบอกเสียงตามโน๊ตดนตรีสากล เช่นเทียบเสียงจากออร์แกน ส่วนเครื่องดนตรีไทยเทียบเสียงจากขลุ่ย
เป็นต้น
- แขวนกระบอกเสียงด้วยไม้แขวนที่เหลาไว้ โดยใช้เชือกมีดหรือใช้ตะปูตอก ส่วนใหญ่ใช้เชือกผูก
- เรียงเข้าชุดเพื่อเตรียมนำไปเล่น หรือจำหน่าย
- อังกะลุงราว ใช้กระบอกเสียงเรียงกันอยู่ในราวเพียงอันเดียว โดยโยงกับแกนไม้
มีปุ่มจับเพื่อดึงให้เกิดเสียง สามารถเล่นคนเดียวได้
การทำธูปหอม
โดยชาวบ้านตำบลบางปลากด อำเภอองครักษ์ เริ่มต้นจากกิจการเล็ก ๆ ในครอบครัว
แล้วขยายสู่ตลาดการขายส่งออกไปสู่จังหวัดต่าง ๆ เช่น กรุงเทพ ฯ นนทบุรี สระบุรี
ฯลฯ
ขั้นตอนการทำธูปหอม มีดังนี้
- นำก้านธูปที่เตรียมไว้แล้ว มาจุ่มน้ำตามระดับความยาวของเนื้อธูปที่กำหนด
- นำก้านธูปที่จุ่มน้ำแล้วมาคลุกขี้เลื่อยผสมกาวที่เตรียมไว้
- เขย่าก้านธูปให้แน่นและเรียบ
- ทำซ้ำในสามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น สี่ถึงห้าครั้งให้มีความหนาของเนื้อธูปตามที่ต้องการ
- นำไปตากให้แห้งแล้วจุ่มก้านธูปน้ำผสมสีแดง
- ถ้าเป็นธูปหอมให้ใช้น้ำหอมฉีดเนื้อธูปก่อนบรรจุห่อ
การทอเสื่อกก
เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวตำบลศีรษะกระบือ และตำบลโพธิ์แทน อำเภอองครักษ์
มุ่งประโยชน์ใช้สอยมากกว่าด้านศิลปะ โดยถ่ายทอดวิธีการและรูปแบบมาจากบรรพบุรุษ
ชาวบ้านจะเริ่มปลูกกก ประมาณเดือนเมษายนของทุกปี โดยใช้เหง้าปลูก วิธีการปลูกเหมือนดำนาข้าว
ควรมีน้ำมาก เพื่อช่วยเลี้ยงลำต้นประมาณ เศษสามส่วนสี่ของต้นกก เพื่อพยุงลำต้น
ถ้าน้ำน้อยมากกกจะหัก เมื่อปลูกได้ประมาณสามเดือนจึงตัดได้ หลังจากนั้นจะเลือกเส้นกกขนาดความยาว
๔,๕,๖,๗ และ ๘ คืบ แต่ปัจจุบันไม่นิยมกก ๔ คืบ จากนั้นจึงจัดเส้นกกผึ่งแดดจัด
ๆ ประมาณสองวัน นำบางส่วนมาย้อมสีแล้วนำไปใช้เป็นเส้นทอ
เสื่อกกของอำเภอองครักษ์ จะทอเป็นเสื่อลายขัด ทุกขนาดความยาว ๑.๘๐ เมตร ไม่นิยมทำเสื่อยาว
ๆ เพราะขายยาก การทอนิยมใช้สีกกธรรมชาติ ใช้กกที่ย้อมสีแล้วมาแทรกตามความเหมาะสม
การทำไม้กวาดดอกหญ้า
เป็นงานหัตถกรรมของชาวบ้านในหลายอำเภอของจังหวัดนครนายก ที่อยู่ใกล้ภูเขา
มีต้นพงขึ้นมาก เช่น อำเภอบ้านนา อำเภอเมือง และอำเภอปากพลี โดยเฉพาะอำเภอปากพลีที่บ้านดอนยายแมะ
บ้านเขาดิน บ้านไร่ บ้านโคกกระชาย บ้านพรหมเพชร บ้านหนองหัวลิง และหมู่บ้านใกล้เคียงอื่น
ๆ ได้ทำไม้กวาดดอกหญ้าในรูปแบบธุรกิจ จนต้องซิ้อวัตถุดิบจากจังหวัดลพบุรี
มาเพิ่มเติมวัตถุดิบในพื้นที่
วัสดุอุปกรณ์ในการทำไม้กวาด
ประกอบด้วยดอกแขม หรือดอกพง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ดอกหญ้า ปอแก้ว ไม้ไผ่สำหรับทำด้ามไม้กวาด
เชือกไนลอนสำหรับมัดตะปู แลคเกอร์ และผงชันสำหรับผสมกับน้ำมันโซลาร
และน้ำมันก๊าด บางแห่งใช้น้ำมันยาง
ขั้นตอนการทำไม้กวาด
มีดังนี้
- นำไม้ไผ่ที่จะทำด้ามไม้กวาด มาตอกตะปูเป็นแกนกลางโดยผูกเชือกปอแก้วไว้
- นำดอกแขมหรือดอกพง หุ้มด้ามที่ตอกตะปูไว้ แล้วเอาปอแก้วผูกหุ้มด้ามให้แน่น
- ใช้เชือกไนลอนถักหุ้มดอกแขมไปรอบไส้แขมประมาณข้างละเจ็ดลูก (กำเล็ก ๆ) แล้วค่อยคบแต่งให้บานออกข้าง
ๆ
- ทาด้ามไม้กวาดด้วยแลคเกอร์ โดยใช้วิธีทาที่ผ่ามือแล้วรูดลงไปตามด้าม
และผสมผงชันกับน้ำมันทาที่เต้าไม้กวาด เพื่อให้เกาะติดและแน่นดี
ปัจจุบันการทำไม้กวาดของชาวอำเภอปากพลี เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย เพราะทำในรูปแบบธุรกิจ
มีจำหน่ายทั่วไปทั้งในเขตจังหวัดนครนายกและจังหวัดอื่น
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |