| หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดหนองบัวลำภู

            จังหวัดหนองบัวลำภู  อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๐ เป็นระยะทางประมาณ ๖๑๐ กิโลเมตร หรือตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๒๒๘ ประมาณ ๕๒๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๓,๘๖๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒,๔๑๒,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๒.๓๐ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงคือ
            ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอน้ำโสม อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
            ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบ้านผือ อำเภอกุดจับ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดร ฯ
            ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสีชมพู กิ่งอำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น
            ทิศตะวันตก ติดต่อกับกิ่งอำเภอภูกระดึง อำเภอวังสะพุง อำเภอผาขาว และกิ่งอำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย
ลักษณะภูมิประเทศ
            ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่จะเป็นแอ่งที่ราบมีภูเขาล้อมรอบ เทือกเขาที่สำคัญคือ เทือกเขาภูพาน อยู่ทางทิศตะวันออกของพื้นที่จังหวัด โดยทอดแนวยาวมาจากริมฝั่งแม่น้ำโขงตอนเหนือในเขตอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ผ่านเข้ามาในเขตอำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดร ฯ และเข้าสู่เขตอำเภอสุวรรณคูหา และอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู และเข้าไปในเขตอำเภอกระบวน จังหวัดขอนแก่น ผ่านไปในเขตจังหวัดกาฬสินธิ์ จังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม
            พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง บางส่วนเป็นพื้นที่ลูกคลื่น ลอนตื้น มีความสูงประมาณ ๒๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ทางตอนบนของจังหวัดเป็นพื้นที่ภูเขาสูง แล้วลาดเข้าไปทางด้านทิศใต้และทิศตจะวันออก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินปนทรายและลูกรัง ไม่สามารถเก็บบน้ำ หรืออุ้มน้ำในฤดูแล้ง

            โครงสร้างทางธรณีวิทยา  ประกอบด้วย กลุ่มหินสามกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มหินโคราช กลุ่มหินราชบุรี และกลุ่มหินตะนาวศรี
                กลุ่มหินโคราช  พบในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอศรีบุญเรือง ฯ อำเภอนากลาง และอำเภอนาวัง โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง ฯ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๑๐๑ บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๐  หนองบัวลำภู - อุดรธานี จะพบสุสานหอยกาบคู่ แสดงว่าบริเวณนั้นเคยเป็นทะเลมาก่อน
                ในกลุ่มหินโคราช มีหน่วยหินที่ควรทราบ ดังนี้
                    หน่วยหินภูพาน และพระวิหาร  ประกอบด้วยหินทราย หินกรวด และหินซิลท์ โดยหน่วยหินภูพานจะอยู่บนชั้นของหน่วยหินพระวิหาร พบที่บริเวณเทือกเขาภูพานทางด้านตะวันออก และทางตอนใต้ของจังหวัดในเขตอำเภอเมือง ฯ และอำเภอโนนสัง
                    หน่วยหินภูกระดึง  เรียงตัวอยู่ล่างสุดของกลุ่มหินโคราช ซึ่งมีอายุมากที่สุด ประกอบด้วยหินชนวน หินซิลิคอน มีหินทรายและหินกรวดปะปนอยู่ด้วย พบบริเวณอำเภอเมือง ฯ อำเภอศรีบุญเรือง อำเภอนากลาง และอำเภอนาวัง
                กลุ่มหินราชบุรี  พบบริเวณกลุ่มเขาโดด ในเขตอำเภอสุวรรณคูหา อำเภอศรีบุญเรือง อำเภอนากลาง และอำเภอนาวัง ประกอบด้วยหินปนสีเทาอ่อน หินทราย หินดินดาน และหินกรวดมน
                กลุ่มหินตะนาวศรี  หน่วยหินที่พบคือหน่วยหินแก่งกระจาน ประกอบด้วยหินดินดานสีเทาเข้ม หินทรายขาว พบในเขตอำเภอนากลาง และอำเภอนาวัง ติดต่อกับจังหวัดเลย ชั้นหินคดโค้งรูปกระทะหงาย นับว่าเป็นโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ถูกยกตัวขึ้นสูงจากระดับน้ำทะเล ทำให้เกิดภูมิประเทศแบบโค้งงอ และรอยเลื่อน บริเวณนี้มีน้ำทะเลนำตะกอนมาสะสม เมื่อประมาณ ๗๐ - ๑๓๕ ล้านปีมาแล้ว มีการไหวตัวของเปลือกโลก ทำให้แอ่งโคราชยกตัวสูงขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นบริเวณกว้าง ทำให้เกิดโค้งกระทะคว่ำ และโค้งกระทะหงาย
ทรัพยากรธรรมชาติ
            จังหวัดหนองบัวลำภู  มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีพื้นดินกว้างใหญ่ไพศาลเหมาะแก่การเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่ภูเขา และป่าไม้อันเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และสัตว์น้ำอีกด้วย
            ทรัพยากรดิน  ลักษณะดินส่วนใหญ่ จะมีดินชั้นบนเป็นดินร่วนปนทราย หน้าดินค่อนข้างตื้น ชั้นล่างยังคงความเป็นดินเหนียว ดินลูกรัง มีการระบายน้ำค่อนข้างเร็ว ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอศรีบุญเรือง ถึงอำเภอโนนสัง อำเภอเมือง ฯ ส่วนดินเหนียวปนทรายชั้นล่างเป็นดินลูกรัง อยู่ในเขตอำเภอสุวรรณคูหา
            ชุดดินที่พบได้แก่ ดินชุดโพนพิสัย ร้อยเอ็ด และโคราช ซึ่งเป็นดินร่วนปนทราย ค่อนข้างเป็นกรดถึงเกือบเป็นกลาง มีความอุดมสมบูรณ์ตั้งแต่ปานกลางวถึงขั้นต่ำ มีความสามารถระบายน้ำตั้งแต่ต่ำถึงดี
                ดินชุดโคราช  เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำเก่า บนลานตะพักระดับต่ำ มีสภาพพื้นที่ราบเรียบ ดินชั้นบนเป็นดินร่วนปนทราย สีน้ำตาลปนเทา ดินชั้นล่างเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย มีจุดประสำน้ำตาลแก่ เป็นกรดปานกลางถึงกรดจัด มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ปกติใช้ทำนา อาจปลูกพืชไร่เช่นยาสูบ แตงโม หรือข้าวโพด ได้หลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว
                ดินชุดโพนพิสัย  เกิดจากการพัฒนาของตะกอนที่ถูกนำมาทับถมบนหินตะกอนเนื้อละเอียด ที่กำลังผุพังสลายตัว สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นลูกคลื่นลอนลาด มีหน้าดินตื้น พบลูกรังในระดับ ๕๐ เซนติเมตรจากผิวดิน ดินชั้นบนเป็นดินร่วนปนทราย ดินชั้นล่างเป็นดินเหนียวปนลูกรังที่มีสีแดงปนเหลือง ดินชั้นล่างสุดเป็นดินเหนียวที่เกิดจากการสลายตัวของหินพื้น การใช้ประโยชน์ส่วนมากยังเป็นป่าเต็งรัง บางพื้นที่ใช้ปลูกพืชไร่

          ทรัพยากรน้ำ แหล่งน้ำสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ แหล่งน้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นมา
                แหล่งน้ำธรรมชาติ  ได้แก่ แม่น้ำลำคลองลำห้วย หนองน้ำ บึงและน้ำบาดาล ในเขตจังหวัดหนองบัวลำภูมีอยู่เป็๋นจำนวนมาก แหล่งน้ำที่เปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่สำคัญได้แก่
                    ลำพะเนียง  มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสันปันน้ำของลุ่มแม่น้ำโขงกับลุ่มแม่น้ำชี ไหลผ่านอำเภอนากลาง อำเภอเมือง ฯ อำเภอศรีบุญเรือง และอำเภอโนนสัง แล้วไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์
                    ลำน้ำพอง  มีต้นกำเนิดจากภูกระดึง และเทือกเขาสันปันน้ำ ของลุ่มแม่น้ำป่าสัก กับลุ่มน้ำชี ไหลผ่านเขตอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย อำเภอศรีบุญเรือง และอำเภอโนนสัง แล้วไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ลำน้ำพองมีลำน้ำสาขาอยู่หลายสาย ที่ไหลผ่านเขตจังหวัดหนองบัวลำภู คือ ลำน้ำมอ ลำน้ำพวย ลำน้ำพอง ลำน้ำซำฐาน
                    ลำห้วยโมง  ไหลมาจากสันเขาภูซางใหญ่ เขตติดต่ออำเภอนาด้วง จังหวัดเลย แล้วไหลผ่านอำเภอสุวรรณคูหา เข้าเขตอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดร ฯ แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำโขง
                แหล่งน้ำเพื่อการชลประทาน  ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ มีอยู่รวม ๖๘ โครงการ เป็นโครงการขนาดกลางอยู่เพียงโครงการเดียวคือ อ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายาง อยู่ที่บ้านภูพานทอง ตำบลหนองเรือ อำเภอเมือง ฯ มีความจุประมาณ ๒.๑๔ ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่
            โครงการที่เหลืออื่น ๆ เป็นโครงการขนาดเล็๋ก มีความจุประมาณ ๑๓.๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ ๓๐,๐๐๐ ไร่

            ทรัพยากรป่าไม้  โดยทั่วไปพื้นที่ป่าเป็นป่าเต็งรังสลับกับป่าเบญจพรรณ มีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ทางด้านเหนือ และด้านตะวันตก จำนวน ๖ แห่ง พื้นที่ป่าสงวนส่วนใหญ่ถูกบุกรุกทำลาย หลังจากนั้นพื้นที่บางส่วนกลายเป็นพื้นที่เพาะปลูก และกำลังเป็นที่ทำกินของเกษตรกร บางส่วนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม
            ปัจจุบันแบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ประมาณ ๓๑๒,๕๐๐ ไร่ ป่าเศรษฐกิจ ประมาณ ๑,๐๓๙,๐๐๐ ไร่ พื้นที่เหมาะสมแก่การเกษตร ประมาณ ๑๗๐,๐๐๐ ไร่ และพื้นที่ประกาศปฎิรูป ประมาณ ๑,๑๘๓,๐๐๐ ไร่
            พื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตสงวน และอนุรักษ์ มีพื้นที่ประมาณ ๓๑๒,๐๐๐ ไร่ ได้แก่
                    ป่าภูเก้า  อยู่ทางด้านทิศใต้ของจังหวัด บริเวณอำเภอโนนสัง มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๓,๐๐๐ ไร่
                    ป่าภูพาน  อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัด บริเวณอำเภอเมือง ฯ และอำเภอโนนสัง  มีพื้นที่ประมาณ ๑๖,๐๐๐ ไร่
                    ป่าหนองบัว  อยู่บริเวณอำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่
                    ป่าห้วยส้ม และป่าภูแดง  อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัด บริเวณอำเภอสุวรรณคูหา มีพื้นที่ประมาณ ๑๓๘,๐๐๐ ไร่
                    ป่าหนองเรือ  อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัด บริเวณอำเภอมากลาง อำเภอเมือง ฯ และอำเภอศรีบุญเรือง มีพื้นที่ประมาณ ๓๙,๐๐๐ ไร่

            ภูเขา  มีภูเก้า และภูพานคำ เป็นภูเขาสำคัญ และมีภูเขาใหญ่น้อย ลดหลั่นกันไปจำนวน ๔๐ ลูก กระจากอยู่ในเขตอำเภอต่าง ๆ คือ
                อำเภอเมือง ฯ   มีภูเขาอยู่ ๗ ลูก ได้แก่ ภูพาน หรือภูพานคำ ภูหินลาดทับฟ้า ภูชัน ภูโลน หรือภูโหลน ภูพาน ภูผาชอบ และภูมายา
                อำเภอโนนสัง   มีภูเขาอยู่ ๙ ลูก เรียกว่า ภูเก้า ได้แก่ ภูฝาง ภูขุนปูน ภูหัน ภูเมย ภูข้อม้อ ภูชัน ภูเปาะ ภูลวก และภูวัด
                อำเภอศรีบุญเรือง  มีภูเขา ๗ ลูก ได้แก่  ภูหม่น ภูข้าว ภูสามขา ภูป่าปอ ภูดอกดิน ภูเขาดิน และภูข้อม้อ
                อำเภอนากลาง   มีภูเขา ๕ ลูก ได้แก่  ภูน้อย ภูแปลก ภูกระแต และภูปลาเป้า
                อำเภอสุวรรณคูหา  มีภูเขา ๘ ลูก ได้แก่ ภูพาน หรือภูพานคำ ภูถ้ำพระ ภูหลาว ภูหมากงอน ภูตูม ภูผาแดง ภูผาด้วง และภูกูก
                อำเภอนาวัง  มีภูเขาอยู่ ๙ ลูก ได้แก่  ภูฝาง ภูโคก ภูรัง ภูเหล็ก ภูผาคับ ภูกระแต ภูหลาว ภูป่าไผ และภูข้าว
            ภูเขาบางลูก เป็นเทือกเขายาวเชื่อมโยง หรือกินพื้นที่หลายอำเภอ เช่น ภูพาน ภูข้าว ภูหลาว ภูฝาง และภูชัน เป็นต้น
ประชากร
            ชาวจังหวังหนองบัวลำภู   มีชาติพันธุ์ไทย - ลาว กลุ่มพระวอ พระตา ซึ่งเป็นเชื้อสายลาวเวียงจันทน์ กลุ่มไทยอีสานซึ่งอพยพมาจากจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ ฯลฯ และกลุ่มไทยภาคกลาง ซึ่งมาประกอบอาชีพค้าขาย มีคนไทยเชื้อสายจีน และเชื้อสายญวน อยู่เล็กน้อย
| บน | หน้าต่อไป |