| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐาน
            ดินแดนในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู  มีปรากฎหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์มานานนับพันปี ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เริ่มจากการดำรงชีวิตแบบเร่ร่อน มาเป็นตั้งชุมชนอยู่ตามที่เนินสูง ตามถ้ำ หรือริมฝั่งน้ำแสวงหาอาหารด้วยการจับปลา ล่าสัตว์ และหาพืชผักผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ  มาจนถึงการดำรงชีวิตในสังคมกสิกรรม จึงเริ่มอยู่รวมกันเป็นชุมชน มีการเพาะปลูกเสี้ยงสัตว์ ทำเครื่องประดับ และหล่อโลหะแบบต่าง ๆ
            หลักฐานที่เห็นเด่นชัดในยุคแรก ได้แก่ แหล่งโบราณคดีกุดกวางสร้อย และกุดคอเมย ในเขตอำเภอโนนสัง ซึ่งพบโครงกระดูกมนุษย์และสัตว์ เศษภาชนะดินเผา เศษเครื่องประดับสำริด รวมทั้งเครื่องมือเหล็กต่าง ๆ ที่มีอายุร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดร ฯ

            ยุคก่อนประวัติศาสตร์  ชุมชนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่ค้นพบได้แก่ แหล่งโบราณคดีโนนพร้าว บ้านกุดคอเมย ตำบลกุดดู่ อำเภอโนนสัง และแหล่งโบราณคดีโนนดอนกลาง บ้านกุดกวางสร้อย ตำบลบ้านถิ่น อำเภอโนนสัง
            จากการขุดค้นและสำรวจ พบว่า องค์ประกอบของโบราณสถานเป็นเนินดิน ขนาด ๑๕๕ x ๒๐๐ เมตร สูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร จากพื้นที่โดยรอบ พบหลักฐานอันต่อเนื่องตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี และล้านช้าง คำนวณอายุได้ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว และหลักฐานทางโบราณคดีวัฒนธรรมล้านช้าง มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔
            แหล่งโบราณคดีบ้านกุดคอเมย จากการสำรวจพบว่า องค์ประกอบของโบราณสถานเป็นเนินดิน มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๕๐ เมตร พบหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา มีทั้งแบบผิวเรียบ และแบบตกแต่งผิวด้วยการเขียนสี และลวดลายต่าง ๆ แวดินเผา หินบดบยา เครื่องมือเหล็กและเครื่องประดับสำริด อายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปี มาแล้ว
            หลักฐานทางโบราณคดีที่ถ้ำเสือตก บ้านวังมน ตำบลโคกม่วง อำเภอโนนสัง มีภาพเขียนสี เป็นภาพลายเส้นและภาพมือ รวมทั้งภาพสลักเป็นภาพลายเส้น สันนิษฐานว่า เขียนสลักขึ้นในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และยังมีภาพเขียนสีในลักษณะเดียวกันที่ถ้ำจับใด ถ้ำพลานไฮ ถ้ำอาจารย์สิม และถ้ำมิ้น ที่วัดพระบาทภูเก้า อำเภอโนนสัง สันนิษฐานว่า เขียนขึ้นในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เช่นกัน

            ยุคประวัติศาสตร์  ชุมชนโบราณค่อย ๆ มีการพัฒนาการเข้าสู่ชุมชนเมือง มีการติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากขึ้น วัฒนธรรมแบบทวารวดี เข้ามามีอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่ในภาคอีสานประมาณปี พ.ศ.๑๑๐๐ - ๑๕๐๐ ในเขตจังหวัดหนองบัวลำภูพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เช่นใบเสมาหินทราย วัดพระธาตุเมืองพิณ อำเภอนากลาง และในเสมาหินทราย วัดป่าโนนคำวิเวก อำเภอสุวรรณคูหา เป็นต้น
            เมื่อสิ้นสมัยทวารวดี วัฒนธรรมขอมเริ่มเข้ามามีอิทธิพลแทน เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๕๐๐ - ๑๗๐๐ ในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู พบโบราณสถานและโบราณวัตถุ เช่นฐานวิหารศิลาแลง ศิลาจารึกวัดพระธาตุเมืองพิณ อำเภอนากลาง และจารึกอักษรขอมวัดป่าโนนคำวิเวก อำเภอสุวรรณคูหา สันนิษฐานว่าในสมัยวัฒนธรรมทวารวดีและในสมัยวัฒนธรรมขอม ชุมชนโบราณในเขตจังหวัดหนองบัวลำภูคงเป็นชุมชนเมืองเล็ก ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วไป
                ในสมัยสุโขทัย  เมื่อสิ้นวัฒนธรรมขอมพื้นที่ในภาคอีสานได้รับอิทธิพลไทยลาว (ล้านช้าง)เข้ามาแทนที่ ปรากฎชัดเจนเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งร่วมสมัยกับกรุงสุโขทัย บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนและลุ่มแม่น้ำอู แถบเมืองเชียงทอง การตั้งบ้านเรือนของกลุ่มวัฒนธรรมไทยลาวเป็นที่ยอมรับของนักประวัติศาสตร์ว่าอยู่ในสมัยเดียวกับสุโขทัย เพราะมีการกล่าวถึงชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า "...ทั้งมาก่าวลาวและไทยเมืองใต้หล้าฟ้า..ไทยชาวของชาวอูออกมา" และ "...เท่าฝั่งของ (โขง) ถึงเวียงจันทน์เวียงคำเป็นที่แล้ว..."
                ต่อมาในสมัยพระเจ้าลิไท ก็ได้กล่าวถึงชุมชนกลุ่มวัฒนธรรมไทยลาว ที่ได้รวมตัวกันเป็นอาณาจักร ในชื่ออาณาจักรล้านช้าง ดังนี้ (เขตเมืองสุโขทัย) "เบี้ยงตะวันออกเถิงแดนพระยาฟ้าง้อม (งุ้ม)" รัชสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๘๙๖ - ๑๙๖๑ และในรัชสมัยพระเจ้าสามแสนไทย (พ.ศ.๑๙๑๖ - ๑๙๕๙) มีการขยายอาณาเขตของอาณาจักรล้านช้างได้ครอบคลุมภาคอีสานถึงที่ราบโคราช และได้ขยายอิทธิพลทางการเมืองการปกครอง แพร่กระจายชุมชนเข้ามาบริเวณแอ่งสกลนครถึงบริเวณพระธาตุพนม

                ในรัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐา ฯ แห่งอาณาจักรล้านช้างได้สร้างสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ์ เพื่อต่อต้านอำนาจพม่า ที่กำลังแพร่ขยายเข้ามาในอาณาจักรล้านนา เชียงใหม่ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๑๐๖ พระเจ้าไชยเชษฐา ฯ แห่งกรุงศรีสัตนาคบหุต (เวียงจันทน์) ได้นำผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู ได้สร้างพระพุทธรูป และศิลาจารึกที่วัดถ้ำสุวรรณคูหา และสร้างบ้านแปงเมือง หนองบัวลำภูขึ้นใหม่อีกครั้งที่ริมหนองบัว (หนองซำช้าง) ซึ่งเป็นเมืองเก่าสมัยขอมมีอำนาจอยู่ ได้สร้างพระพุทธรรูป วิหาร และขุดบ่อน้ำในบริเวณวัดใน หรือวัดศรีคูณ และยกฐานะขึ้นเป็น เมืองจำปานครกาบแก้วบัวบาน มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองเวียงจันทน์ คนทั่วไปนิยมเรียกว่า เมืองหนองบัวลำภู ปรากฎหลักฐานคือ โบราณสถานและโบราณวัตถุที่วัดศรีคูณ เมืองมีอยู่สองลักษณะคือ พระพุทธรูปมีสององค์ องค์เล็กประดิษฐานอยู่ในกู่ หรือซุ้มเล็ก ชั้นล่างหันหน้าไปทางทิศใต้ ฐานกู่ก่อด้วยศิลาแลง มีใบเสมาฝังอยู่โดยรอบทั้งสี่ด้าน และมีการบูรณะต่อเติมให้แข็งแรงขึ้น ด้วยอิฐดินเผา และมีใบเสมาฝังซ้อนรอยฐานกู่ทั้งสี่ด้าน
                ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่บนฐานสูง อยู่ในซุ้มก่อด้วยอิฐภายในวิหาร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นศิลปวัฒนธรรมไทยลาว (ล้านช้าง)
                สมัยอยุธยาและธนบุรี  เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๗  ในระหว่างที่ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกแก่พม่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งยังทรงครองเมืองพิษณุโลกอยู่ ได้ตามเสด็จสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดา นำกองทัพเสด็จประทับพักแรมที่บริเวณริมหนองบัวแห่งนี้ พระองค์ได้ทรงประชวรด้วยไข้ทรพิษ จึงได้เสด็จนำกองทัพกลับกรุงศรีอยุธยา

                    สมัยพระวอพระตา  ตามตำนานพระวอ - พระตา ผู้สร้างเมืองหนองบัวลำภู กล่าวว่า เมืองนี้พระวอและพระตา เป็นผู้สร้างโดยได้สร้างกำแพงเมือง มีค่ายคู ประตูหอรบครบครัน เพื่อป้องกันข้าศึกโดยเฉพาะข้าศึกจากทางเวียงจันทน์ คือ ได้สร้างกำแพงหิน หอรบขึ้นที่เชิงเขาบนภูพานคำ ซึ่งเป็นเส้นทางหน้าด่านใกล้กับบริเวณน้ำตกเฒ่าโต้ ห่างจากกำแพงเมืองไปทางทิศตะวันออก ประมาณ ๑ กิโลเมตร
                    ตามประวัติพระวอ และพระตา มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านหินโวม เป็นเสนาบดีของพระเจ้ากรุงเวียงจันทน์ มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอนุวงษ์ไทธิราช เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ฝ่ายนอกของกษัตริย์กรุงเวียงจันทน์ มีเรื่องขัดใจกับพระเจ้าสิริบุญสาร ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าอนุวงษ์ไทธิราช ซึ่งได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดา จึงได้พาไพร่พลของตนอพยพหนี โดยข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านแปงเมืองจำปานครกาบแก้วบัวบาน ขึ้นใหม่เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๐๒ แล้วตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับเมืองเวียวงจันทน์ ส่วนหลวงราโภชนัย และท้าวคำผง ซึ่งอพยพมาพร้อมกัน และไพร่พลอีกส่วนหนึ่งได้ไปสร้างบ้านแปงเมือง อยู่ที่เมืองภูเวียง (ปัจจุบันคือ อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น)
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๐  พระเจ้าสิริบุญสาร แห่งเมืองเวียงจันทน์ได้ข่าวว่า พระวอ พระตา แยกตัวมาตั้งเมือง นครเขื่อนขันธ์ ฯ (หนองบัวลำภู)  และไม่ยอมขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์ จึงได้ส่งกองทัพมาปราบปราม เกิดการต่อสู้กันที่ช่องน้ำจั่น (น้ำตกเฒ่าโต้)  บนภูพานคำ สู้รบกันอยู่สามปี ยังไม่แพ้ชนะกัน ทางฝ่ายเมืองเวียงจันทน์จึงขอกองทัพพม่ามาช่วยเหลือ จนสามารถตีเมืองนครเขื่อนขันธ์ ฯ ได้ พระวอ พระตา จึงได้อพยพผู้คนหนีไปภูเวียง ลงไปทางใต้ตามลำน้ำชี และไปขอพึ่งเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ อยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาได้แยกตัวออกมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ที่ดอนมดแดง (ปัจจุบันคือ จังหวัดอุบล ฯ) แล้วขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
                    ฝ่ายเจ้าสิริบุญสาร ได้ยกกองทัพติดตามกลุ่มพระวอ - พระตา จนล่วงล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย และปราบพระวอ - พระตา ได้ในปี พ.ศ.๒๓๒๑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกกองทัพมาช่วยพระวอ - พระตา ขับไล่กองทัพของพระเจ้าสิริบุญสารออกไปจากเขตแดนไทย แล้วยกกองทัพติดตามเข้าตีเมืองเวียงจันทน์ได้ ครั้งนั้นได้ได้อัญเชิญพระแก้วมรกต ซึ่งพระเจ้าไชยเชษฐานำไปจากเมืองเชียงใหม่ กลับคืนสู่ราชอาณาจักรไทยตามเดิม เมืองเวียงจันทน์ตกเป็นของไทยในฐาะนเมืองประเทศราช แะลเมืองนครเขื่อนขันธ์ ฯ ก็ได้มาขึ้นอยู่กับราชอาณาจักรไทย นับแต่นั้นมา
                สมัยรัตนโกสินทร์  ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๖๙ - ๒๓๗๑  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฎ ยกกำลังมายึดเมืองนครราชสีมา ทางกรุงเทพ ฯ ได้ส่งกองทัพมาปราบ เจ้าอนุวงศ์ได้ถอยทัพมาตั้งรับอยู่ที่หนองบัวลำภู ทั้งสองฝ่ายได้สู้รบกันเป็นสามารถ ในที่สุดกองทัพของไทยได้ติดตามจับตัวเจ้าอนุวงศ์ ได้ที่เมืองเวียงจันทน์ แล้วนำตัวไปพิจารณาโทษที่กรุงเทพ ฯ
                    สมัยช่วงต้นการปฎิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค  ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ ได้มีการจัดระเบียบการปกครองบ้านเมือง ทางลุ่มแม่น้ำโขงใหม่ โดยให้ข้าหลวงเมืองหนองคายบังคับบัญชาเมืองใหญ่ ๑๖ เมือง  เมืองขึ้น ๓๖ เมือง เรียกว่า เมืองลาวฝ่ายเหนือ ในช่วงนี้เมืองหนองบัวลำภูขึ้นอยู่กับเมืองหนองคาย

                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๔  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้แต่งตั้งข้าหลวงใหญ่ออกไปประจำดินแดนภาคอีสานสามพระองค์ คือ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ครั้งเป็นกรมหมื่น เป็นข้าหลวงใหญ่ ณ เมืองอุบล ฯ เรียกว่า ข้าหลวงเมืองลาวกาว มีเมืองใหญ่ ๒๑ เมือง เมืองขึ้น ๔๓ เมือง กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ครั้งเป็นกรมหมื่น เป็นข้าหลวงใหญ่ ณ เมืองหนองคาย เรียกว่า ข้าหลวงเมืองลาวพวน มีเมืองใหญ่ ๑๓ เมือง เมืองขึ้น ๑๖เมือง ครั้งนั้นเมืองหนองบัวลำภูขึ้นกับเมืองหนองคาย กรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ ครั้งเป็นกรมหมื่น เป็นข้าหลวงใหญ่ ณ เมืองหลวงพระบาง เรียกว่า ข้าหลวงหัวเมืองลาวพุงขาว มีเมืองหลวงพระบาง สิบสองปันนา สิบสองจุไทย และหัวพันทั้งห้าทั้งหก
                    ในครั้งนั้นเจ้าเมืองหนงคาย ได้แต่งตั้งให้ พระวิชโยคมกมุทเขต มาครองเมืองนครเขื่อนขันธ์ ฯ ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองเอก และเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองกมุทธาสัย
                    ในปี พ.ศ.๒๔๔๓  ได้มีการเปลี่ยนชื่อมณฑลฝ่ายเหนือ เป็นมณฑลอุดร และให้รวมเมืองต่าง ๆ ในมณฑลอุดรเป็นห้าบริเวณ เมืองกมุทธาสัย ถูกรวมอยู่ในบริเวณบ้านหมากแข้ง
                    ในปี พ.ศ.๒๔๔๙  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อ เมืองกมุทธาสัย เป็นเมืองหนองบัวลำภู ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ได้กลายเป็น อำเภอหนองบัวลำภู ขึ้นกับจังหวัดอุดร ฯ โดยมีพระวิจารณ์กมุธกิจ เป็นนายอำเภอคนแรก
                    อำเภอหนองบัวลำภู มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ มีพื้นที่ประมาณ ๔,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ทางราชการจึงได้ยกฐานะชุมชนที่มีความเจริญ และอยู่ห่างไกลแยกการปกครองจากอำเภอหนองบัวลำภู จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอรวมสี่กิ่งอำเภอ ตามลำดับคือ  กิ่งอำเภอโนนสัง (พ.ศ.๒๔๙๑)  กิ่งอำเภอศรีบุญเรือง (พ.ศ.๒๕๐๘)  กิ่งอำเภอนากลาง (พ.ศ.๒๕๐๘)  และกิ่งอำเภอสุวรรณคูหา (พ.ศ.๒๕๑๖)  ปัจจุบันกิ่งอำเภอดังกล่าวได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอแล้วทั้งหมด

                    ยกฐานะเป็นจังหวัด  อำเภอหนองบัวลำภู และอำเภออื่น ๆ อีกสี่อำเภอที่แยกตัวออกจากไปได้ ถูกนำรวมกันตั้งเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |