| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
     ขนบธรรมเนียมประเพณี

               บุญพระเวส (ผขวด) หรือบุญมหาชาติ  มูลเหตุแห่งการทำบุญนี้ มีเรื่องในหนังสือเทศน์มาลัยหมื่น มาลัยแสนว่า ครั้งหนึ่งพระมาลัยเถระ ได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุเกษแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้ไปพบและสนทนากับพระศรีอริยาเมตไตรโพธิสัตว์ ผู้ซึ่งจะเสด็จมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เมื่อท่านได้ทราบความประสงค์ของมนุษย์ว่า ต้องการพบและเกิดร่วมกับท่านก็ให้ประพฤติตน โดยอย่าทำร้ายพ่อแม่ สมณพราหมณ์ อย่าทำร้ายพระพุทธเจ้า และอย่ายุยงให้พระภิกษุแตกกัน ให้ตั้งใจฟังมหาเวสสันดรชาดก ให้จบในวันเดียว ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงพากันทำบุญพระเวส หรือบุญมหาชาติ ในช่วงเดือนสี่ ของทุกปี

               เมื่อถึงกำหนด ญาติโยมในหมู่บ้านจะมารวมกันที่ศาลาโรงธรรม เพื่อจัดเตียมเครื่องสักการะ มีข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ทุง อย่างละหนึ่งพัน ทุงใหญ่แปดอัน ปักไว้ในทิศทั้งแปด รอบศาลาโรงธรรม ตั้งหม้อน้ำมนต์ไว้สี่หม้อ และปลูกหออุปคุตไว้ ทางทิศตะวันออกของศาลาโรงธรรม โดยใช้ไม้ไผ่สี่เสา ปลูกให้สูงเพียงระดับตา  ล้อมด้วยฝาขัดแตะสามด้าน นำบาตร ร่ม จีวร กระโถน กาน้ำ ไม้เท้าเหล็ก ใส่ไว้ในทอ พอถึงเวลาบ่ายสามโมง ก็จะจัดเครื่องสักการะไปอัญเชิญพระอุปคุต มาอยู่หอเพื่อป้องกันมารมารบกวน
               มูลเหตุที่อัญเชิญพระอุปคุตมานั้น เรื่องเดิมมีอยู่ว่า พระอุปคุต เป็นพระภิกษุที่มีฤิทธิ์นิรมิตกุฎิอยู่กลางมหาสมุทร เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุ จากที่ต่าง ๆ มาบรรจุไว้ในพระสถูปที่พระองค์สร้างใหม่ และจะทำการฉลอง จึงวิตกถึงมารผู้เป็นศัตรูคู่เวรของพระพุทธเจ้า จึงรับสั่งให้ไปนิมนต์พระอุปคุต มาในพิธี เมื่อมารรู้ว่าพระเจ้าอโศกจะฉลองพระสถูปเจดีย์ จึงมาแสดงฤทธิ์โต้ตอบกับพระอุปคุต พระอุปคุตจึงได้นิรมิตหนังสุนัขเน่าผูกแขวนคอมารไว้ มารแก้ไขไม่ได้จึงยอมแพ้ พระอุปคุตจึงแก้หนังสุนัขออก แล้วเอาตัวไปกักขังไว้บนยอดเขา

               การเทศน์มหาชาติ จะต้องเทศน์ให้จบในวันเดียว ก่อนวันงานชาวบ้านจะมาร่วมกันจัดสิ่งของ ตกแต่งวัดวาอารามให้พร้อม มีการเตรียมดอกบัว และดอกไม้ต่าง ๆ อย่างละพัน โดยใช้ไม้มาเหลาทำรูปดอกไม้ ตามจำนวนคาถาพัน ในเรื่องเวสสันดร เตรียมธรรมาสน์ที่พระภิกษุจะขึ้นเทศน์ ด้วยการหากล้วย อ้อย และผลหมาก รากไม้ต่าง ๆ มาประดับประดา ทำเสมือนกับการรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรี กลับเข้าสู่เมืองมีการปั้นข้าว พันก้อน ซึ่งได้แก่ ข้าวเหนียวก้อนเล็ก ๆ ขนาดหัวแม่มือเด็ก เป็นเครื่องบูชาคาถาพัน

               พิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๗ สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้ตามเสด็จ สมเด็จพระมหาธรรมราชา มาถึงเมืองหนองบัวลำภู และทรงประชวรด้วยไข้ทรพิษ จึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา
               ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๐ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุดร ฯ (พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขต)  ได้กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวร ไว้ ณ ริมหนองบัว และนับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นต้นมา ชาวหนองบัวลำภูก็ได้จัดทำพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ สมเด็จพระนเรศวร ฯ เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ท่าน เนื่องในวันกองทัพไทย วันที่ ๒๕ มกราคม
               พิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ พระเจ้าไชยเชษฐา ฯ   พระเจ้าไชยเชษฐา ฯ เป็นโอรสพระเจ้าโพธิสาร ฯ แห่งล้านช้าง เจ้าเชษฐาวงศ์ (พระเจ้าไชยเชษฐา ฯ ) ผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์มังราย  (ฝ่ายมารดา) ไปครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๖  ต่อมาเมื่อพระเจ้าโพธิสาร ฯ สวรรคต พระเจ้าไชยเชษฐา ฯ ได้เสด็จมาร่วมจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชบิดา ที่เมืองหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ ในครั้งนั้นพระองค์ได้นำพระแก้วมรกต พระจันทร์แก้วขาว พระแทรกคำ และนักปราชญ์ราชบัณฑิต มายังอาณาจักรล้านช้าง หลังจากนั้นก็ไม่ได้เสด็จกลับเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าท่าเรือ ผู้เป็นอนุชาไม่พอพระทัย จึงเกิดสงครามแย่งชิงราชสมบัติ พระเจ้าไชยเชษฐา ฯ ชนะจึงได้ครองเมืองหลวงพระบาง อีกเมืองหนึ่ง
               เมื่อพม่าเริ่มบุกรุกหัวเมืองของอาณาจักรล้านช้าง พระองค์เห็นว่าเมืองหลวงพระบางตั้งอยู่ในตำบลที่ไม่ปลอดภัย จึงได้ย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่เมืองเวียงจันทน์ แล้วเอาใจใส่อาณาประชาราษฎร์ ในพื้นที่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อเตรียมกำลังไว้ต่อสู้กับพม่า พื้นที่ดังกล่าวได้แก่ เมืองเลย เมืองหนองคาย (อุดร ฯ )  เมืองนครพนม เมืองสกลนคร

            ภาษาถิ่น  เมืองหนองบัวลำภู ใช้ภาษาถิ่นคือ ภาษาไทยอีสาน อันเป็นภาษาไทยแท้ของชาวอีสาน  โดยที่กลุ่มชาติพันธุ์ของชาวหนองบัวลำภูคือ ลาวพวน ลาวล้านช้าง
            เดิมอาณาจักรล้านช้าง แบ่งการปกครองออกเป็นสองนคร คือ แคว้นสิบสองจุไทย และหัวพันทั้งห้า - ทั้งหก ขึ้นกับเมืองหลวงพระบาง แดนพวนขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์
บุคคลสำคัญ

    บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์
               สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์โต ของสมเด็จพระมหาธรรมราชากับพระวิสุทธิกษัตริย์ ทรงพระราชสมภพที่ วังจันทรเกษม เมืองพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๘ พระองค์ได้เสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองหงสาวดี เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๗ พระองค์มีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวตลอดเวลาที่ประทับอยู่ที่เมืองหงสาวดี เป็นเวลาหกปี ได้ทรงศึกษาภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และนิสัยใจคอของพม่า มอญ เป็นอย่างดี และยังได้เรียนรู้ยุทธศาสตร์ของพม่า
               ในปี พ.ศ.๒๑๑๒  สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้เสด็จกลับจากเมืองหงสาวดี สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ทรงสถาปนาให้พระองค์ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๓  ได้ทรงกวาดต้อนผู้คนให้กลับคืนถิ่นเดิม และได้ทรงเลือกชายฉกรรจ์ไว้เป็นกำลัง ส่วนมากเป็นบุตรหลานข้าราชการทั้งฝ่ายปกครองและทหาร เนื่องจากข้าราชการผู้สูงอายุได้ถูกจับไปเป็นเชลยในสงครามจนหมดสิ้น
               พระองค์ได้พยายามปลุกใจให้ทุกคนรักชาติ ให้เข้าใจว่าเมืองเหนือกับกรุงศรีอยุธยานั้นเป็นราชอาณาจักรเดียวกัน เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ ๑๗ พรรษา พระองค์ได้เร่งฝึกเด็กหนุ่มให้มีความรู้เรื่องการรบการสงครามเป็นจำนวนมาก
               เมื่อพระองค์ทรงครองเมืองพิษณุโลกได้สามปี ในปี พ.ศ.๒๑๑๗ กษัตริย์กรุงหงสาวดีได้ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชา ไปช่วยตีเมืองเวียงจันทน์ พระองค์ได้ร่วมเสด็จไปในกองทัพด้วย เมื่อกองทัพยกไปถึงเมืองหนองบัวลำภู อันเป็นเมืองหน้าด่านทางใต้ของเมืองเวียงจันทน์ พระองค์ก็ได้ประชวรเป็นไข้ทรพิษ พระเจ้าบุเรงนองจึงให้กลับไปรักษาพระองค์
               ในปี พ.ศ.๒๑๓๕ พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้สถาปนาพระเอกาทศรถ พระเจ้าน้องยาเธอของพระองค์ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ ให้มีพระเกียรติสูงเท่าพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง
               การที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เคยเสด็จมาประทับพักแรมที่เมืองหนองบัวลำภูเมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๗ นั้น ทำให้ชื่อเมืองหนองบัวลำภู ได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย นับเป็นเกียรติประวัติของเมืองหนองบัวลำภู

               พระวอพระตา  เจ้าปางคำ ผู้เป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ของราชวงศ์เชียงรุ้ง ได้อพยพไพร่พลหนีจีนฮ่อมาอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ จากนั้นได้มาสร้างเมืองอยู่ที่ตำบลลุ่มภู บริเวณที่มีหนองน้ำใหญ่ เป็นที่ราบ มีภูเขาเป็นเขื่อนล้อมรอบเป็นกำแพงธรรมชาติป้องกันข้าศึกได้อย่างดี เมื่อสร้างเมืองแล้วได้ให้ชื่อเมืองว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน หรือเมืองจำปานครกาบแก้วบัวบาน  เจ้าปางคำเป็นเจ้าผู้ครองนครอิสระเอกราช
               เมื่อเจ้าปางคำพิลาไลยแล้ว เจ้าพระตาขึ้นครองนคร เจ้าพระวอเป็นอุปราชปกครองสืบมา
               ในระยะที่เจ้าเมืองแสนนครครองเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างเวียงจันทน์นั้น บ้านเมืองเกิดความไม่สงบ บรรดาเสนาอำมาตย์ที่มีใจเคารพในราชสกุล ก็มาขอให้เจ้าบุญทับที่อยู่กับพระเจ้าวอพระเจ้าตากลับไปครองราชอาณาจักร ในที่สุดก็สามารถยึดได้เวียงจันทน์ ฆ่าพระยาเมืองแสนเสีย แล้วยกเอาเจ้าองค์บุญขึ้นเป็นกษัตริย์กรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างเวียงจันทน์ มีพระนามว่า พระเจ้าสิริบุญสาร และโดยเหตุที่พระเจ้าวอพระเจ้าตาได้ช่วยให้ขึ้นครองราชย์ พระเจ้าสิริบุญสารจึงขอให้ไปรักษาด่านหินโงมก่อน ยังไม่ให้กลับหนองบัวลุ่มภู
               ต่อมาพระเจ้าสิริบุญสารเกิดระแวงว่าพระเจ้าวอพระเจ้าตาจะคิดแย่งราชสมบัติจึงทำอุบายขอเอาบุตรธิดาพระเจ้าวอ พระเจ้าตา ไปเป็นนางสนมและมหาดเล็ก  พระเจ้าวอพระเจ้าตารู้ทันในอุบายจึงนำไพร่พลของตนกลับเมืองหนองบัวลุ่มภู  เมื่อพระเจ้าสิริบุญสารรู้เข้าก็เคืองพระทัยมาก จึงสั่งให้ยกกำลังพลออกติดตาม และจับตัวมาให้ได้ นับเป็นสงครามครั้งแรก ระหว่างเวียงจันทน์ กับหนองบัวลุ่มภู ในที่สุดกองทัพฝ่ายเวียงจันทน์แตกกลับไป พระเจ้าสิริบุญสารจึงให้ยกทัพไปแก้ตัวใหม่ ก็ถูกตีแตกกลับไปอีก จึงให้เจ้าอุปราชเวียงจันทน์ ยกทัพไปตีเมืองหนองบัวลำภูอีกครั้ง แต่แพ้ ตัวเจ้าอุปราชตายในที่รบ
               การสงครามดำเนินไปถึงสามปี ทางเวียงจันทน์ยังเอาชนะไม่ได้ จึงให้ทูตถือพระอักษรไปขอเอากองทัพจากพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ขอให้ยกมาช่วยตีเมืองหนองบัวลุ่มภู ถ้าตีได้จะยอมเป็นเมืองขึ้น  พระเจ้าวอพระเจ้าตารู้ข่าว เห็นว่าจะเป็นศึกกระหนาบ จึงได้เตรียมอพยพไพร่พลออกไปหาที่ตั้งเมืองใหม่ทางตะวันออกเฉียงใต้ตามลุ่มน้ำชีน้ำมูล จนได้ไปสร้างเมืองสิงห์โคก บ้านสิงห์ท่าคายไว้ล่วงหน้า
               ในที่สุดกองทัพหม่าและกองทัพเวียงจันทน์ ก็ยกมาล้อมเมืองหนองบัวลุ่มภู ทั้งสองฝ่ายผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะอยู่หลายครั้ง ในที่สุดพระเจ้าตาเสียชีวิตในที่รบ พระเจ้าวอได้ต่อสู้ต่อไปอีกหลายเดือน เห็นว่าเหลือกำลังจึงทิ้งเมืองพาไพร่พลหนีไปอยู่บ้านสิงห์โคก บ้านสิงห์ท่าด่าน ที่ได้ส่งคนออกมาเตรียมไว้ล่วงหน้าดังกล่าวแล้ว เมื่อยกกำลังมาถึงบ้านเสียวน้อยเสียวใหญ่ก็ได้หารือกันว่า ควรจะแยกย้ายกันไปสร้างบ้านแปงเมืองอยู่คนละแห่งเ พื่อให้ช่วยเหลือกันได้เมื่อถูกโจมตี จึงได้แบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ
                   กลุ่มที่หนึ่ง  มีพระเจ้าวอ เจ้าคำผง เจ้าฝ่ายหน้า เจ้าทิศพรม เจ้าก่ำ ถือพลหมื่นหนึ่งยกไปอยู่บ้านสิงห์ท่า และต่อไปได้ไปอยู่ที่บ้านดอนมดแดง บ้านดู่บ้านแค และเมืองอุบล ฯ เป็นที่สุด
                   กลุ่มที่สอง  มีหลวงราชโภชนัย ท้าวนาน ถือพลหนึ่งหมื่นหนึ่งไปตั้งอยู่บ้านดงลำดวนใหญ่ คือ เมืองขุขันธ์ เมืองศรีษะเกษ
                   กลุ่มที่สาม  มีท้าวเชียง ท้าวชม ท้าวสูน ถือพลหนึ่งหมื่น ยกไปอยู่บ้านทุ่ง บ้านดงข้าวสาร คือ เมืองสุวรรณภูมิ เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม เมืองขอนแก่น และเมืองชนบท ในเวลาต่อมา
                   ต่อมาทางเมืองนครจำปาศักดิ์ พระเจ้าไชยกุมารองค์หลวง เกิดขัดใจกับพระอนุชาคือ เจ้าอุปราชธรรมเทโว เจ้าไชยกุมารองค์หลวง ได้พาครอบครัวไปอยู่ดอนมดแดงกับเจ้าพระวอ แต่ในที่สุดพระอนุชาก็ขอให้เจ้าไชยกุมารกลับไปครองนครจำปาศักดิ์ดังเดิม แล้วขอให้เจ้าพระวอไปอยู่ที่บ้านดู่ บ้านแด ใกล้เมืองนครจำปาศักดิ์
                   ฝ่ายพระเจ้าสิริบุญสาร ทราบข่าวเจ้าพระวอ  จึงให้กองทัพมาตี แต่เจ้าไชยกุมารขอห้ามไว้ แต่พระเจ้าสิริบุญสารยังแค้นอยู่ จึงให้ยกทัพมาตีอีก โดยที่ทางฝ่ายเจ้าพระวอไม่ทราบข่าวศึกมาก่อน เจ้าพระวอเสียทีเสียชีวิตในการรบ
                   การเสียชีวิตของเจ้าพระวอนี้เป็นเหตุให้เกิดสงคราม ระหว่างเวียงจันทน์กับกรุงธนบุรี จนถึงกรุงเวียงจันทน์ได้เข้าร่วมอยู่ในอาณาจักรกรุงธนบุรี และกรุงเทพ ฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๑๙ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๓๖ พระเจ้าสิริบุญสารพาครอบครัวหนีไปอยู่เมืองคำเกิดแดนญวน สมเด็จพระเจ้าตากสินได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้านันทเสน โอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าสิริบุญสารขึ้นครองกรุงเวียงจันทน์ เป็นพระเจ้านันทเสน
                   หลังเกิดสงครามระหว่างเวียงจันทน์กับกรุงธนบุรี เมืองหนองบัวลำภูกลายเป็นเมืองร้าง มีคนอยู่น้อย ในปี พ.ศ.๒๓๙๖ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ได้ยกพลมาตั้งอยู่ที่เมืองหนองบัวลำภู เมื่อพระยาราชสุภาวดียกทัพจากกรุงเทพ ฯ มาปราบจนเจ้าอนุวงศ์หนีกลับไปเวียงจันทน์ เมืองหนองบัวลำภูจึงร้างอีกเป็นครั้งที่สอง ต่อมาได้มีการฟื้นฟูแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองกมุทธาไสย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๙ จึงได้เปลี่ยนชื่อกลับไปเป็นเมืองหนองบัวลำภูตามเดิม และขึ้นอยู่ในปกครองเมืองอุดรธานี และได้ลดฐานะเป็นอำเภอหนองบัวลำภู จนถึงปี พ.ศ.๒๕๓๖ จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |