| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ

ป่าสงวนแห่งชาติ

           ป่าพานพร้าว-แก้งไก่     อยู่ในเขตอำเภอสังคม และอำเภอศรีเชียงใหม่  มีพื้นที่ประมาณ 342,400 ไร่ มอบให้ ส.ป.ก. 134,750 ไร่  กันออกคืนกรมป่าไม้ 700 ไร่  คงเหลือประมาณ 206,800 ไร่
           ป่าดงหนองตอ-ป่าดงสีชมพู     อยู่ในเขตอำเภอบึงกาฬ  มีพื้นที่ประมาณ 194,400 ไร่  มอบให้ ส.ป.ก. 108,950 ไร่ ส่งคืนกรมป่าไม้ 52,550 ไร่  คงเหลือประมาณ 85,400 ไร่
           ป่าดงชมภูพร     อยู่ในเขตอำเภอบึงกาฬ และอำเภอศรีวิไล  มีพื้นที่ประมาณ 116,550 ไร่  มอบให้ ส.ป.ก. 50,550 ไร่  ส่งคืนกรมป่าไม้ 250 ไร่  คงเหลือประมาณ 66,000 ไร่
           ป่าดงภูวัว     อยู่ในเขตอำเภอบึงกาฬ และอำเภอบุ่งคล้า  มีพื้นที่ประมาณ 17,550 ไร่  มอบให้ ส.ป.ก. 8,500 ไร่  ส่งคืนกรมป่าไม้ 8,150 ไร่  คงเหลือประมาณ 900 ไร่
           ป่าดงเซกา     อยู่ในเขตอำเภอเซกา อำเภอบึงกาฬ และอำเภอบึงโขงหลง  มีพื้นที่ประมาณ 366,250 ไร่  มอบให้ ส.ป.ก. 323,600 ไร่  ส่งคืนกรมป่าไม้ 15,800 ไร่  คงเหลือประมาณ 42,650 ไร่
           ป่าดงดิบกะลา     อยู่ในเขตอำเภอบึงกาฬ อำเภอศรีวิไล และอำเภอพรเจริญ  มีพื้นที่ประมาณ 258,250 ไร่  มอบให้ ส.ป.ก. 198,500 ไร่  ส่งคืนกรมป่าไม้ 11,000 ไร่  คงเหลือประมาณ 59,700 ไร่
           ป่าทุ่งหลวง     อยู่ในเขตอำเภอโพนพิสัย  มีพื้นที่ประมาณ 39,750 ไร่  มอบให้ ส.ป.ก. 27,750 ไร่  คืนกรมป่าไม้ 17,450 ไร่  คงเหลือประมาณ 17,450 ไร่
           ป่าดงสีชมพู-โพนพิสัย     อยู่ในเขตอำเภอโพนพิสัย อำเภอโซ่พิสัย และอำเภอปากคาด  มีพื้นที่ประมาณ 735,600 ไร่  มอบให้ ส.ป.ก. 689,600 ไร่  คืนให้กรมป่าไม้  16,950 ไร่  คงเหลือประมาณ 46,000 ไร่
ป่าอนุรักษ์ตามมติ ครม.

            ป่าอนุรักษ์ตามมติ ครม. มีอยู่ 5 ป่า  มีพื้นที่อนุรักษ์ทั้งสิ้นประมาณ 205,200 ไร่  แต่เหลือพื้นที่ที่เป็นสภาพป่าอยู่เพียง 1,700 ไร่  เพราะมีราษฎรบุกรุกเข้าครอบครองจนไม่เหลือสภาพป่า  ป่าดังกล่าวได้แก่ ป่าดงภูวัว  ป่าดงดิบกะลา  ป่าดงเซกา  ป่าดงหนองตอ  ป่าดงสีชมพู
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว
            ประกาศใช้ เมื่อปี พ.ศ. 2518  อยู่ในพื้นที่อำเภอบุ้งคล้า อำเภอบึงโขงหลง อำเภอบึงกาฬ  มีพื้นที่ประมาณ 116,550 ไร่  หรือประมาณ 187 ตารางกิโลเมตร  พื้นที่ทางทิศตะวันออกเป็นหน้าผาสูงชันแล้วลาดต่ำไปทางทิศตะวันตก  จุดสูงสุดคือภูวัวเหนือถ้ำสูง  สูงประมาณ 450 ฟุต  มีลำห้วยใหญ่ ๆ ที่เป็นต้นน้ำลำธารคือ  ลำห้วยชะแนน  ลำห้วยหินแตก  ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขง
น้ำตก
           น้ำตกธารทิพย์     อยู่ในเขตอำเภอสังคม เป็นน้ำตกที่สวยงามร่มรื่นตามธรรมชาติ
           น้ำตกเจ็ดสี     อยู่ในเขตอำเภอเซกา เดิมเรียกว่า น้ำตกห้วยกะอาม  เป็นน้ำตกจากหน้าผาสูง  เมื่อมีไอน้ำกระทบแสงแดดจะเกิดเป็นแถบสีรุ้ง น้ำตกมี 3 ชั้น  นับเป็นน้ำตกที่สวยงามมากแห่งหนึ่งของหนองคาย
           น้ำตกธารทอง     อยู่ในเขตอำเภอสังคม  เป็นธารนำไหลจากภูเขาผ่านเกาะแก่งของช่องภูเขา  แล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขง  เป็นน้ำตกที่สวยงามตามธรรมชาติ
แม่น้ำโขง

            แม่น้ำโขงในช่วงที่ผ่านเมืองหนองคาย มีความยาวประมาณ 320 กิโลเมตร  มีทิวทัศน์ตามธรรมชาติสวยงาม  เหมาะแก่การท่องเที่ยวชมธรรมชาติ  ในฤดูแล้งจะปรากฎหาดทรายยาวทำให้แม่น้ำโขงเป็นทะเลอีสาน  ให้ผู้คนมาเที่ยวเล่น
           จุดแคบที่สุด     อยู่ที่บ้านผาตั้ง อำเภอสังคม  ความกว้างของแม่น้ำโขง ณ จุดนี้ ประมาณ 29 วา  ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นอ่าวปลาบึก  นอกจากนี้ยังเป็นที่ชมบั้งไฟพญานาค ที่สำคัญแห่งหนึ่ง
           จุดลึกที่สุด-แก่งอาฮง     อยู่ในตำบลหอคำ  อำเภอบึงกาฬ  บริเวณแก่งอาฮง เรียกได้ว่าเป็นสะดือแม่น้ำโขง  มีผู้เคยวัดความลึก ณ จุดนี้ได้ถึง 29 วา  ลักษณะเป็นแอ่งขนาดใหญ่ และเป็นแก่งหินกว้างจากฝั่งไทยถึงฝั่งลาว  บริเวณนี้จะเป็นเวินน้ำ หรือคุ้งน้ำ น้ำจะไหลวน ณ จุดที่ลึกที่สุดมีถ้ำขนาดใหญ่เป็นทางน้ำไหลทะลุถึงด้านหลังภูอูในฝั่งลาว
           จุดเชี่ยวที่สุด-เวินสุก     อยู่ในเขตบ้านหนองกุ้ง อำเภอโพนพิสัย  บริเวณที่แม่น้ำงึมมาบรรจบแม่น้ำโขง
           จุดกว้างที่สุด     อยู่หน้าอำเภอบึงกาฬ  ตรงข้ามกับเมืองปากซันของลาว ณ จุดนี้แม่น้ำโขงจะกว้างประมาณ 2,000 เมตร  กว้างที่สุดของแม่น้ำโขงที่ผ่านจังหวัดหนองคาย  นับเป็นที่สองรองลงมาจากความกว้างที่อำเภอชานุมาน


มรดกทางวัฒนธรรม

เมืองเวียงคุก
            อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงที่บ้านเวียงคุก ตำบลเวียงคุก อำเภอเมือง  มีโบราณสถานอยู่หลายแห่งตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านช้าง  มีเทวรูปหินเก่าเมืองนคร (นครวัด-นครธม) ที่วัดยอดแก้ว สูงประมาณ 1 เมตร  แต่ทางวัดได้ดัดแปลงเป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย  ที่วัดเทพพลประดิษฐาราม  บริเวณรอบพระอุโบสถ  มีการนำกลีบขนุนของปราสาทหินมาใช้แทนใบเสมาอยู่หลายชิ้น  กลีบขนุนหิน สลักเป็นเทวรูปและรูปคล้ายพญานาค  สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 16-18
เมืองเวียงวัว
            อยู่ที่ตำบลปะโค อำเภอเมือง  คาดว่าน่าจะมีโบราณวัตถุประเภทเทวรูปสมัยขอม และปราสาทหินแบบขอมอยู่บ้าง  แต่ปัจจุบันได้ถูกปรับเปลี่ยนจนไม่เหลือเค้าเดิม  ที่วัดโพนจิก  มีพระธาตุโพนจิก มีลักษณะเจดีย์ฐานสามเหลี่ยม  ส่วนบนเป็นทรงเรียวสอบขึ้นไป  คาดว่าองค์พระธาตุเดิมอาจได้รับอิทธิพลจากขอม  ต่อมาจึงได้ก่อสร้างเพิ่มเติมตามอิทธิพลศิลปะท้องถิ่น  ด้านหลังวัดมีซากโบราณสถานอีกหลายแห่ง เช่นฐานวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และเจดีย์ย่อมุม  ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะภาคกลาง
แหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน

            อยู่ที่บ้านโคกคอน ตำบลโคกคอน อำเภอท่าบ่อ  เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์  ต่อเนื่องมาถึงสมัยทวาราวดี  ได้มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ และวัตถุต่าง ๆ  ได้เป็นจำนวนมาก  โบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่เครื่องมือหินขัด  กำไลหิน  หัวลูกศรหิน  กระพวนสำริด  แท่งดินเผา  มีลายภาชนะดินเผาแบบเนื้อดิน  บางชิ้นมีลายเขียนสีแดงแบบกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง  เสมาหินสมัยทวาราวดี  และครกหินใหญ่ที่สันนิษฐานว่าเป็นเบ้าหลอมโลหะ  นอกจากนี้ยังได้พบเหรียญฟูนันสมัยทวาราวดี
แหล่งโบราณคดีบ้านฝาง
            อยู่ในเขตตำบลบ้านฝาง กิ่งอำเภอสระไคร  ลักษณะเป็นเนินดินอยู่ใกล้ลำห้วยธง  พบโบราณวัตถุหลายประเภท  ได้แก่ชิ้นส่วนเครื่องมือเหล็ก  เครื่องประดับสำริด  ลูกกระสุนดินเผา  และภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก  บางใบมีการเขียนสีแดงเป็นลวดลายต่าง ๆ  เข้าใจว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน  มีอายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 2000-3000 ปีมาแล้ว
แหล่งประวัติศาสตร์เมืองหนองค่าย
            ค่ายบกหวานอันเป็นที่มาของชื่อเมืองหนองค่าย  เป็นสมรภูมิที่กองทัพ เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์  สิงหเสนีย์)  กับกองทัพเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ ต่อสู้กันถึงขั้นตลุมบอน กองทัพไทยชนะและบุกเข้ายึดเวียงจันทน์ได้  และได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นแทนเวียงจันทน์ที่หนองค่าย เมื่อปี พ.ศ. 2371 เมืองหนองค่ายต่อมาได้เป็นที่ตั้งกองทัพไทย ในการปราบฮ่อถึงสามครั้ง  และเคยเป็นที่ตั้งที่ทำการข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการมณฑลลาวพวน
แหล่งประวัติศาสตร์เมืองพานพร้าว
            อยู่ที่อำเภอศรีเชียงใหม่  มีความสำคัญโดยที่เป็นเมืองเดียวกัน กับเมืองเวียงจันทน์ โดยมีแม่น้ำโขงผ่ากลาง  เป็นเมืองที่มีอายุอยู่ในสมัยทวาราวดีตอนปลาย  รายละเอียดของเมืองพานพร้าวได้กล่าวไว้แล้วในเรื่อง การตั้งถิ่นฐานสมัยอาณาจักรล้านช้าง
แหล่งประวัติศาสตร์เมืองปากห้วยหลวง
            ตั้งอยู่ที่ปากน้ำห้วยหลวง อำเภอโพนพิสัย  มีซากศิลาแลงของเมืองโบราณสมัยขอม  สันนิษฐานว่าเป็นเมืองสำคัญตั้งแต่สมัยทวาราวดี  ในสมัยอาณาจักรล้านช้าง  ครั้งที่ราชธานีอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง  ได้ส่งเชื้อพระวงศ์มาปกครองเมืองปากห้วยหลวง ในฐานะเป็นเมืองลูกหลวง  ได้พบศิลาจารึกตามวัดต่าง ๆ อีกจำนวน 10 หลัก
ย่านประวัติศาสตร์ บ้านไผ่
            เป็นชุมชนขนาดเล็ก  เมื่อเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์  สิงหเสนีย์) สมุหนายก  ได้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นแทนเมืองเวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2371 ที่บริเวณชุมชนบ้านไผ่  ซึ่งอยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำโขงมากกว่าบริเวณหนองค่าย  หรือค่ายบกหวาน  ที่ไทยรบชนะล้านช้าง  และตั้งนามเมืองใหม่นี้ว่า เมืองหนองค่าย  แล้วโปรดเกล้า ฯ  ให้ท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) เป็นที่ท้าวปทุมเทวาภิบาลเจ้าเมืองหนองค่าย  โดยตั้งกองทหารส่วนหน้าอยู่ที่บริเวณศาลากลางปัจจุบัน  เรียกบริเวณนี้ว่า ถนนหน้าค่าย
ย่านประวัติศาสตร์ ตำบลมีชัย
            เมื่อครั้งกบฎฮ่อบุกเวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2418 เมื่อตีได้เมืองเวียงจันทน์แล้ว ก็ยกกำลังมาตีเมืองหนองคาย  แต่ถูกกองทัพเมืองหนองค่ายตีแตกพ่ายไป  บริเวณที่รบกันดังกล่าวจึงได้ชื่อว่าตำบลมีชัย  เพื่อเป็นอนุสรณ์ในเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว
ย่านประวัติศาสตร์ ท่าเสด็จ
            เมื่อปี พ.ศ. 2498  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินสู่แม่น้ำโขงครั้งแรก  ได้เสด็จประทับแรม ณ พระตำหนักหนองประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี และเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารค เข้าสู่ที่ว่าการอำเภอท่าบ่อ  แล้วเสด็จลงประทับเรือตำรวจน้ำ ล่องแม่น้ำโขงไปยังจังหวัดหนองคาย  ท่ามกลางราษฎรทั้งสองฝั่งโขงที่มาเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล  แล้วเสด็จขึ้นที่อำเภอเมือง ณ ท่าวัดหายโศก  หลังจากเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น  ชาวท่าบ่อได้สร้างถนนท่าเสด็จ  และขนานนามท่าเรือแห่งนั้นว่าท่าเสด็จ
เรือคำหยาด

            เป็นเรือประจำตำแหน่งของพระปทุมเทวาภิบาลที่ 1 (บุญมา) เจ้าเมืองหนองคาย ทำจากไม้ตะเคียนทั้งต้น ระหว่างทำพิธีล้มไไม้มีน้ำหยาดหยดลงมาตลอดเวลา จึงตั้งชื่อว่า คำหยาด (หยาดทองคำ) สร้างประมาณหลังปี พ.ศ. 2370 เจ้าเมืองหนองคายใช้เป็นเรือตรวจท้องที่ตามลำแม่น้ำโขง เดิมมีเก๋งอยู่ตรงกลางเรือ ลักษณะเป็นเรือชะล่ายาวหรือเรือเสือ บรรจุฝีพายได้ 42 คน เป็นเรือพายที่เร็วที่สุดในแม่น้ำโขง
            เมื่อครั้งเกิดศึกฮ่อที่มาปล้นหัวเมืองล้านช้าง และภาคอีสานในระหว่างปี พ.ศ. 2418-2428 รวม 3 ครั้ง  ครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. 2428 นายพันเอกพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ ได้บุกค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ ครั้งนั้นเรือคำหยาด ได้บรรทุกข้าวสาร 10 กระสอบต่อเที่ยว เพื่อนำส่งกองทัพจากเมืองหนองคาย ทวนกระแสน้ำโขงขึ้นไปตามลำน้ำงึมจนถึงกองทัพไทย เป็นพาหนะสำหรับเดินสาสน์ นำผู้บาดเจ็บมารักษาพยาบาลที่หนองคาย
อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ

            อยู่ในเขตอำเภอเมือง  เพื่อเป็นที่บรรจุอัฐิของบรรดาทหารไทยที่เสียชีวิตในการปราบฮ่อ  ซึ่งยกกำลังมารุกรานมณฑลลาวพวนหนองคาย เมื่อปี พ.ศ. 2429  โดยกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมมีรับสั่งให้สร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้  ทหารจากหน่วนต่าง ๆ  ที่เสียชีวิตเพื่อชาติในครั้งนั้น  มาจากหน่วยดังต่อไปนี้  กรมทหารรักษาพระบรมราชวัง  กรมทหารปืนใหญ่  กรมทหารบก  กรมทหารอาสาใหญ่  กรมทหารอาสาวิเศษ  กรมแปดเหล่า  กรมฝรั่งแม่นปืน  กรมทหารมาลา  กรมสัสดี  กรมเรือต้น  กรมทหารมหาดเล็ก  และกรมการหัวเมือง


มรดกทางพระพุทธศาสนา

พระธาตุบังพวน

            พระธาตุบังพวน ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุบังพวน  ในเขตบ้านพระธาตุบังพวน ตำบลพระธาตุบังพวน อำเภอเมือง  องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม  สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง  ฐานสูงจากพื้นดิน 1 เมตร  มีฐานทักษิณสามชั้น  รูปบัวคว่ำสองชั้น  ต่อด้วยรูปปรางค์สี่เหลี่ยม  บัวปากระฆังคว่ำ  บัวสายรัดสามชั้นรับดวงปลีบัวตูม  ตั้งฉัตรห้าชั้นเป็นเนื้อทองแดงปิดทอง  ฐานแต่ละด้านกว้าง 17 เมตร  สูงถึงยอดฉัตร 34 เมตร  รูปทรงศิลปะท้องถิ่น  เชิงบาตรคว่ำรับองค์ปรางค์ซุ้มขึ้นบน เหมือนพระธาตุพนม  จากบัวคว่ำถึงฐานมีลักษณะเหมือนพระธาตุหลวงที่เวียงจันทน์
            ตามตำนานพระอุรังคธาตุได้กล่าวถึงความเป็นมาและการก่อสร้าง พระธาตุบังพวนไว้โดยละเอียด ในปี พ.ศ. 2103  พระเจ้าไชยเชษฐา  ได้ย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาเวียงจันทน์ ได้ก่อสร้างเสริมองค์พระธาตุบังพวนให้สูงใหญ่ขึ้น ได้ก่อสร้างกำแพงรอบวัด  สร้างพระอุโบสถวิหาร  พระประธาน  พระนาคปรก  และศิลาจารึกไว้ที่ข้างพระประธานในวิหาร
            เมื่อปี พ.ศ. 2513  องค์พระธาตุได้พังทลายลงมา เนื่องจากเกิดพายุและฝนตกหนัก  กรมศิลปากรได้ดำเนินการก่อสร้างใหม่ โดยรักษารูปทรงขององค์พระธาตุเดิมไว้ และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาประดิษฐานไว้ในพระธาตุเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2520  สมเด็จพระสังฆราชสกลสังฆปรินายก  เสด็จเป็นองค์ประธานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์  เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการยกฉัตร ขึ้นสู่ยอดองค์พระธาตุ  เมื่อปี พ.ศ. 2521
            เมื่อปี พ.ศ. 2536  กรมศิลปากรได้ขุดแต่งโบราณสถานภายในบริเวณวัดพระธาตุบังพวน
พบว่ามีสถานที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า สัตตมหาสถาน  ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย สถานที่ดังกล่าวได้แก่  โพธิบัลลังก์  รัตนจงกรมเจดีย์  รัตนฆรเจดีย์  อชปาลนิโครธเจดีย์  มุจลินทเจดีย์ และราชายตนเจดีย์ รายละเอียดดูจากเรื่องพระธาตุบังพวน
พระเจ้าองค์ตื้อ

            ประดิษฐานอยู่ ณ วิหาร วัดศรีชมพูองค์ตื้อ บ้านศรีชมพูองค์ตื้อ ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ  พระเจ้าองค์ตื้อสร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐา เมื่อปี พ.ศ. 2105  โดยใช้ทองเหลืองและทองแดงหนัก 1 ตื้อ (ประมาณ 12,000 กิโลกรัม) แล้วหล่อเป็นส่วน ๆ  โดยหล่อพระเกศเป็นลำดับสุดท้าย  เมื่อหล่อเสร็จประกอบเป็นองค์พระแล้วได้นำมาประดิษฐาน ณ วัดโกสีย์  ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีชมภูองค์ตื้อ  เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาทรงทราบ จึงได้เสด็จมาทอดพระเนตรแล้วเกิดศรัทธา จึงได้ทรงสร้างพระวิหาร  เพื่อให้เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าองค์ตื้อ  และปันเขตแดนให้เป็นเขตของพระเจ้าองค์ตื้อพร้อมทั้งมีบริวาร 13 หมู่บ้าน
            พระเจ้าองค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสำริดขนาดใหญ่ และถือว่าใหญ่ที่สุดของจังหวัดหนองคาย  มีพุทธลักษณะงดงามมาก  หน้าตักกว้าง 3.30 เมตร สูง 4 เมตร  ชาวหนองคายและประชาชนทั่วไปทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง  นับถือพระเจ้าองค์ตื้อว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก  ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐา  ได้กำหนดเป็นพระราชพิธี ที่กษัตริย์เวียงจันทน์ต้องเสด็จมานมัสการทุก 4 เดือน  โดยแต่งขบวนช้างม้าและราบ มาสักการะจากวัดท่าคกเรือ  จนถึงวัดพระเจ้าองค์ตื้อเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร  ถนนนี้จึงได้ชื่อว่า จรดลสวรรค์ มาจนถึงทุกวันนี้
            ในวันเพ็ญเดือนสี่  มีการเวียนเทียนรอบพระวิหารพระเจ้าองค์ตื้อ และตอนเช้าวันแรม 1 ค่ำ  มีการจุดบั้งไฟบูชาพระเจ้าองค์ตื้อ และเป็นวันสิ้นสุดงานสมโภชพระเจ้าองค์ตื้อ  ซึ่งมีเป็นประจำปีตั้งแต่วันขึ้น 11 ค่ำ เดือนสี่ ไปจนถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือนสี่
หลวงพ่อพระใส

            หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหนองคาย ประดิษฐานอยู่ ณ พระอุโบสถวัดโพธิชัย อำเภอเมือง  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย  หล่อด้วยทองสีสุก  สร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐา  หล่อขึ้นมาพร้อมกับพระพุทธรูปอีก 2 องค์ คือ พระเสริม กับ พระสุก  เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามมาก  เนื้อสีทองสุกส่องประกายวาววาม  พระพักตร์อิ่มเอิบ  ขนาดหน้าตักกว้าง สองคืบแปดนิ้ว  ส่วนสูง สี่คืบหนึ่งนิ้ว เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง
            ในปี พ.ศ. 2321  เมื่อกองทัพไทยเข้าตีเมืองเวียงจันทน์  พระเจ้าธรรมเทววงศ์ จึงอัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสามองค์ ไปประดิษฐานที่เมืองเชียงคำ  จนสงครามสงบลง จึงได้อัญเชิญกลับมาประดิษฐาน ณ วัดโพนชัยตามเดิม  ต่อมาเมื่อเจ้าอนุวงศ์เป็นกบฎ  กองทัพไทยได้ยกมาปราบเมืองเวียงจันทน์ในระหว่างปี พ.ศ. 2369-2371  เมื่อเหตุการณ์สงบ  ฝ่ายไทยจึงคิดอัญเชิญ  พระสุก  พระเสริม และพระใส  มาฝั่งไทย  ระหว่าง 2 ล่องแพมาในแม่น้ำโขง พระสุกเกิดจมลงในแม่น้ำ บริเวณ อำเภอโพนสัย  เมื่อมาถึงหนองคาย ก็ได้อัญเชิญพระใสขึ้นประดิษฐาน ณ วัดหอก่อง (วัดประดิษฐธรรมคุณ)  และอัญเชิญพระเสริมไปประดิษฐานที่วัดโพธิชัย
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงอัญเชิญ พระเสริม และพระใสไปกรุงเทพ ฯ  เมื่อขบวนเกวียนพระใสมาถึงวัดโพธิชัย ก็เกิดขัดข้องเคลื่อนต่อไปไม่ได้  จึงตกลงกันให้พระใสประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิชัย  ส่วนพระเสริมอัญเชิญลงมากรุงเทพ ฯ
            ในวันสงกรานต์  จะทำพิธีอัญเชิญพระใสแห่รอบพระอุโบสถสามรอบ แล้วอัญเชิญขึ้นสู่ราชรถจัดเป็นริ้วขบวน แห่ไปถึงศาลากลางจังหวัด  แล้วแห่กลับมาวัดโพธิชัย  อัญเชิญไปประดิษฐานบนหอสรง  เพื่อให้ประชาชนสักการะบูชา และสรงน้ำ (ฮดสรง)  ในวันที่ 14 เมษายน มีการเทศน์มหาชาติ ครบ 13 กัณฑ์ที่วัดโพธิชัย  และในวันที่ 15 เมษายน มีการเวียนเทียนสมโภชหลวงพ่อพระใส  วันที่ 16 เมษายน ทำการขอขมาหลวงพ่อพระใส แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ เป็นอันเสร็จพิธี
            ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือนเจ็ด  จะมีการแห่ขบวนบั้งไฟไปที่วัดโพธิชัย  แล้วแห่รอบหลวงพ่อพระใสสามรอบ  ตอนเย็นมีการฟังเทศน์  แล้วเวียนเทียนสมโภชหลวงพ่อพระใส  มีการฉลองบั้งไฟตลอดคืน รุ่งขึ้นเมื่อถวายภัตตาหารพระภิกษุและสามเณรแล้ว ก็จะจุดบั้งไฟตั้งแต่ 07.00 นาฬิกา เป็นต้นไป  ก่อนจุดบั้งไฟจะต้องแห่รอบพระอุโบสถอีกครั้งหนึ่ง
พระธาตุขาว
            ตั้งอยู่ในเขตตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ เป็นนเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีลานประทักษิณอยู่เบื้องบน มีแท่นอิฐก่อเป็นบันไดทางขึ้นอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ องค์ระฆังเป็นแบบบัวเหลี่ยมตามรูปแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ส่วนบนพังทลายไปหมดแล้ว บริเวณพื้นที่โดยรอบองค์พระธาตุเจดีย์ มีแท่นอิฐรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสอยู่ 16 แท่น ยังสันนิษฐานไม่ได้ว่าใช้ประโยชน์อะไร พระธาตุขาวสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 24-25
วัดพระพุทธบาทนางหงส์
            ตั้งอยู่ที่บ้านนางหงส์ ตำบลพระพุทธบาทนางหงส์ กิ่งอำเภอรัตนวาปี ภายในวัดมีรอยพระพุทธบาท มีรูปลักษณะที่แปลดออกไปจากรอยพระพุทธบาททั่วไป  กล่าวคือ ส่วนสันพระบาทเป็นหลุมกลมลึก ส่วนปลายพระบาทลาดขึ้นสู่ด้านบน มีลวดลายปูนปั้นเป็นเครื่องหมายมงคลต่าง ๆ มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 23-24
วัดนางเขี้ยวค้อม
            ตั้งอยู่ที่บ้านหัวทราย ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่  ภายในวัดมีพระธาตุเจดีย์ขนาดใหญ่ 1 องค์ ฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ด้านบนเป็นเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยมรูปทรงสวยงาม เป็นศิลปะแบบล้านช้าง
ศิลาจารึก และจารึกฐานพระพุทธรูป

            ศิลาจารึกยุควัฒนธรรมไทย-ลาว  เขียนด้วยอักษรไทยน้อยและอักษรธรรม เท่าที่พบในจังหวัดหนองคายพอประมวลได้ดังนี้
            ศิลาจารึกวัดพระงามน้ำโมง    ปักอยู่หน้าโบสถ์วัดพระงามศรีมงคล  หรือวัดนิโครธารามน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ  เป็นใบเสมาหินทรายหยาบ กว้าง 50 เซนติเมตร สูง 75 เซนติเมตร  มีดวงฤกษ์อยู่ตอนบน สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2049  จารึกอักษรไทยน้อย 10 บรรทัด  เป็นข้อความบอก วัน เดือน ปี ที่สร้างพระอุโบสถ
            ศิลาจารึกวัดแดนเมือง 1    อยู่ที่วัดจันตบุรี  บ้านแดนเมือง  ตำบลวัดหลวง  อำเภอโพนพิสัย  จารึกอักษรไทยน้อยรุ่นแรก  พระยาปากเจ้า  เจ้าเมืองปากลายเป็นผู้สร้าง เมื่อปี พ.ศ. 2073  มีความว่าพระยาปากห้วยหลวงได้สร้างวัดแดนเมือง และกล่าวถึงพระยานคร เจ้าเมืองโคตรบอง (นครพนม) ว่าได้เคยมาครองเมืองปากห้วยหลวง  ได้กล่าวถึงบ้านสับควายห้วยแดนเมืองซึ่งเป็นชุมชนใหญ่
            ศิลาจารึกวัดแดนเมือง 2    อยู่ที่วัดจันตบุรี  จารึกอักษรไทยน้อย เมื่อปี พ.ศ. 2078  เป็นพระบรมราชโองการของสมเด็จพระโพธิสาร  แห่งอาณาจักรล้านช้าง  แต่งตั้งให้พระยาแสนสุรินทราชัยไกรเสนาธิบดี  พระยากลางกรุงราชธานีเป็นประธานในการฟื้นฟูพระศาสนา  และให้หมื่นใต้ หมื่นเหนือ และราชบัณฑิตนันกุมารเป็นข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณไปสำรวจชำระ  พระวินัยสงฆ์ในพระอารามต่าง ๆ  ในเมืองจันทบุรี และสอดส่องให้สมณชีพราหมณ์ให้เคร่งครัดในพระวินัย  พร้อมทั้งให้ดูแลวิสุงคามสีมา  เรือกสวน  ไร่นา  ข้าโอกาสของวัดวาอาราม  ห้ามมิให้ใครไปยึดครอง....
            ศิลาจารึกวัดผดุงสุข    อยู่ที่วัดผดุงสุข (ถิ่นดง) ตำบลวัดหลวง อำเภอโพนพิสัย  จารึกด้วยอักษรไทยน้อย  พระเจ้าไชยเชษฐาเป็นผู้สร้าง เมื่อปี พ.ศ. 2094  มีความว่า พระเจ้าไชยเชษฐาได้อุทิศที่ดินกัลปนาเขตแดนแก่วัด และสาปแช่งผู้ปกครองสมัยหลังที่มารื้อถอนเขตธรณีสงฆ์
            ศิลาจารึกวัดไชยเชษฐา    อยู่ในวิหารวัดพระไชยเชษฐา  บ้านกวนวันใหญ่  ตำบลกวนวัน  อำเภอเมือง  จารึกอักษรไทยน้อย  พระเจ้าไชยเชษฐาทรงสร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2097  มีความว่าพระเจ้าไชยเชษฐา พระราชทานที่ดินในการสร้างวัดและวิหาร  โดยมีพระยาธรรมาภินันท์เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และมหาสังฆราชาเจ้ามโนรม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
            ศิลาจารึกวัดจอมมณี (ท่า)    อยู่ที่หน้าพระอุโบสถวัดจอมมณี  ตำบลมีชัย อำเภอเมือง  จารึกอักษรไทยน้อย  พระเจ้าไชยเชษฐา และพระราชมารดาทรงสร้าง เมื่อปี พ.ศ. 2089  เป็นพระบรมราชโองการ พระเจ้าไชยเชษฐา และพระราชมารดา  ให้พระยานคร  เจ้าสุนสัพพะ  เจ้าแสนโสภา สืบต่อพระศาสนาให้ถึง 5,000 ปี  พร้อมทั้งกำหนดธรณีสงฆ์
            ศิลาจารึกวัดศรีคุณเมือง    ปักอยู่หน้า พระอุโบสถวัดศรีคุณเมือง  ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง  จารึกด้วยอักษรธรรม  พระเจ้าไชยเชษฐาทรงสร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2103  มีความว่าพระไชยเชษฐาได้มาอุทิศที่นาจังหัน  และข้าโอกาสให้แก่วัดตอนท้าย ได้สาปแช่งผู้ที่ถือเอาศาสนสมบัติเหล่านั้น
           ศิลาจารึกวัดศรีเมือง    ปักไว้หน้าพระอุโบสถวัดศรีเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง  จารึกด้วยอักษรไทยน้อย พระเจ้าไชยเชษฐาทรงสร้าง เมื่อปี พ.ศ. 2109  มีความว่า พระเจ้าไชยเชษฐาทรงให้พระยาเศิกซ้าย เจ้าพระยาศรีสัทธรรมราชศรีสิทธินายก  พระยาธรรมาพลมหามนตรี  พระยานับล้าน  สมเด็จพิมพานาคะไปสร้างวัดศรีสุพรรณ และอุทิศที่ดิน  ทาสโอกาสให้แก่วัด  โดยมีสมเด็จเจ้าศรีสิทธิอาราม  เป็นประธานฝ่ายสงฆ์  ตอนท้ายได้สาปแช่งผู้ที่มาทำลายวัตถุทานเหล่านั้น
            ศิลาจารึกวัดศรีษะเกษ    เดิมอยู่หน้าวัดศรีษะเกษ อำเภอเมือง  จารึกด้วยอักษรไทยน้อย  พระวรรัตน์ธรรมประโชติ ฯ สร้างเมื่อ ปี 2115  มีความว่า พระวรรัตน์ธรรมประโชติ ฯ  หรือพระหน่อเมืองได้อุทิศที่ดิน และข้าโอกาสให้กับวัดนิโครธารามน้ำโมง  กล่าวถึงชุมชนที่ถวายนาเป็นจังหัน คือ นาเหนือ  นาใต้  นาโคก  นาหนองไก่อ้ง  กล่าวถึงการกำชับข้าโอกาสที่ดินที่พระเจ้าโพธิสาร  และพระเจ้าไชยเชษฐา ได้อุทิศไว้ในอดีต
            ศิลาจารึกวัดมุจลินทอาราม 1    พบที่อำเภอโพนพิสัย  จารึกด้วยอักษรไทยน้อย  พระวรรัตน์ธรรมประโชติ ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2137  มีความว่า พระวรรัตน์ธรรมประโชติ ฯ  มีพระราชโองการเถราภิเษกพระสังฆราชมุจลินทมุนีจุฬาโลก  วัดมุจลินทอาราม  ที่เมืองห้วยหลวง  ได้อุทิศที่ดินนาจังหัน ได้แก่ นกหอกลอง  นาเจ้าน้อย  นาเรือ  นาต่อ  นากว้านน้ำส่วยหน้า  นาถิ่นตอง  นาแควงบอน  นาแก้วสมคราม  นาหมาตายดึก  นาท่าเรือ  นาล่องของ  นาพวกไก่  นาแพง  กำหนดให้เขตวัดมุจลินทอารามเป็นเขตปลอดอาญาแผ่นดิน  ผู้ที่ถูกอาญาแผ่นดินหนีมาพึ่งพระศาสนาในบริเวณวัด  จะได้รับการอภัยโทษ คือ โทษประหาร  จองจำ  โบยตี  มาเป็นเพียงปรับไหม  และยกให้เป็นข้าโอกาสของวัด
            ศิลาจารึกวัดมุจลินทอาราม 2    พบที่อำเภอโพนพิสัย  จารึกด้วยอักษรไทยน้อย  พระวรรัตน์ธรรมประโชติ ฯ  สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2139  มีความว่า  สมเด็จองค์เป็นเจ้าที่อุทิศที่ดิน และข้าโอกาสให้กับวัดมุจลินทอาราม  มีประกาศเขตปลอดอาญาแผ่นดิน เช่นเดียวกับหลักก่อน
            ศิลาจารึกวัดมณีโคตร    อยู่ในพระอุโบสถวัดมณีโคตร  ตำบลจุมพล  อำเภอโพนพิสัย  จารึกด้วยอักษรไทยน้อย  พระโพธิวรวงศ์ธรรมมิกราช สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2144  เป็นพระราชโองการของพระโพธิวรวงศา  อุทิศที่ดินแก่วัดที่เมืองปากห้วยหลวง  และได้กล่าวถึงพระนามพระสังฆราชวัดกลาง เมืองจันทบุรี และพระนามของพระเจ้าชมพู และพระเจ้าตนหล้า  ซึ่งเป็นอดีตกษัตริย์ของล้านช้าง ที่ได้ถวายที่ดินมาแล้ว
            ศิลาจารึกวัดศรีบุญเรือง    อยู่หน้าพระอุโบสถวัดศรีบุญเรือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง  จารึกด้วยอักษรไทยน้อย  พระมหาธรรมิกราชสร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2151  มีความว่า พระวรวงศาธรรมิกราชได้อุทิศข้าโอกาส  แก่วัดศรีบุญเรืองย้ำถึงเขตแดนไร่นาที่ บูรพกษัตริย์แห่งล้านนาได้อุทิศแก่วัดศรีบุญเรือง  พร้อมทั้งสาปแช่งท้าวพระยาที่มีความโลภ และที่มาลบล้างพระราชโองการนี้
            ศิลาจารึกวัดคงกระพันชาตรี 1    อยู่ที่ศาลาหน้าวัดคงกระพันชาตรี  ตำบลวัดหลวง  อำเภอโพนพิสัย  จารึกด้วยอักษรไทยน้อย  พระมหาพรหมเทโวโพธิสัตว์ สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2180  มีความว่า  อุทิศที่ดินให้กับวัดศรีมงคลห้วยหลวง  และเขตแดนของวัดที่พระเจ้าไชยเชษฐาถวายไว้กับ วัดศรีมงคล  และให้เรียกคืนมาจากผู้ยึดถือกรรมสิทธิ์  สาปแช่งผู้ที่ทำลายหรือยึดถือเอาที่ดินเหล่านั้นมาเป็นของตน
            ศิลาจารึกวัดคงกระพันชาตรี 2    อยู่ที่ศาลาหน้าวัดคงกระพันชาตรี  ตำบลวัดหลวง  อำเภอโพนพิสัย  จารึกด้วยอักษรไทยน้อย  มีความว่า อุทิศข้าโอกาสแก่ศาสนา และสาปแช่งผู้ที่ทำลายทานวัตถุเหล่านั้น
            ศิลาจารึกวัดหลวง    อยู่ติดกับชุกชีพระประธานในพระอุโบสถวัดหลวง  ตำบลวัดหลวง  อำเภอโพนพิสัย  จารึกด้วยอักษรไทยน้อย  มีความว่า พระเจ้าไชยมหาราช  เจ้าเมืองเชียงทองได้มีศรัทธาให้ที่วัดตามแบบโบราณกาลที่พระยาแสนได้กระทำไว้ก่อนหน้านี้
            จารึกฐานพระพุทธรูปวัดเทพมงคล 1,2,3    อยู่ที่ตำบลโพนสา  อำเภอท่าบ่อ  จารึกด้วยตัวอักษรธรรม  บางหมื่นนาหลักสร้าง เมื่อปี พ.ศ. 2179  หญิงเจิมสร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2191  และหมื่นทิพย์สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2199  ตามลำดับ
            ศิลาจารึกวัดแก้วบัวบาน    อยู่ที่วักแก้วบัวบาน บ้านท่ามะเฟือง ตำบลโพนสา อำเภอท่าบ่อ  จารึกด้วยอักษรไทยน้อย พระเถระเจ้าขำยศ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2264  มีความว่า พระมหาเถระเจ้าขำยศได้สร้างวัด และได้นำไปถวายพระยาจัน เพื่ออุทิศให้เป็นสังฆาสนะ โดยกำหนดเขตแดนที่อุทิศ สาบแช่งผู้ที่เบียดบังทรัพย์สินของพระองค์
            ศิลาจารึกวัดหอพระแก้ว    อยู่ที่หอพระแก้วอำเภอศรีเชียงใหม่  จารึกด้วยอักษรไทยน้อย พระมหาธรรมมิกสีหตบุรราชาธิราช สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2355 เป็นพระราชโองการของพระมหาธรรมมิกสีหตบุร ฯ ให้สร้างหอพระแก้ว และได้อุทิศที่ดินรวมทั้งทาสโอกาสไว้กับวัด รายละเอียดสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้ในการสร้างวัดหอพระแก้ว การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง การฉลองวัดหอพระแก้ว รายละเอียดปัจจัยไทยทานที่ถวายพระ และสิ่งของที่บริจาคเป็นทานในศาลาโรงทาน
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |