| หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดพัทลุง


            จังหวัดพัทลุง ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู หรือแหลมทอง ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคใต้ของไทย หรือทางฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีส่วนกว้างสุดตามแนวทิศตะวันออก - ตะวันตก ประมาณ ๕๖ กิโลเมตร และส่วนยาวสุดตามแนวทิศเหนือ - ใต้ ประมาณ ๘๓ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๓,๔๒๔ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒,๑๔๐,๐๐๐ ไร่ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับ ๑๐ ของภาคใต้ และเป็นอันดับที่ ๕๕ ของประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
            ทิศเหนือติดต่อกับอำเภอชะอวดและอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช
            ทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา กับอำเภอหัวไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช
            ทิศใต้ติดต่อกับอำเภอควนกาหลงและกิ่งอำเภอมะนัง จังหวัดสตูล กับอำเภอปะเหลียน อำเภอย่านตาขาว อำเภอนาโยง อำเภอเมืองตรัง อำเภอห้วยยอดและอำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง
ลักษณะภูมิประเทศ
            สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไป นอกจากบริเวณทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญแล้ว ยังมีส่วนที่เป็นพื้นดินที่ค่อย ๆ ลาดต่ำจากด้านทิศตะวันตก มายังด้านทิศตะวันออกของจังหวัด พื้นที่ตอนในสุดทางด้านตะวันตก มีความลาดชันมากกว่าร้อยละ ๓๕ ถัดมาทางทิศตะวันออกเป็นที่ดอน ซึ่งเป็นบริเวณที่พื้นผิวเหลือจากการกัดกร่อน ถัดลงมาทางด้านตะวันออก เป็นที่ราบจนจดพื้นที่ส่วนที่เป็นทะเลสาบสงขลา
            ภูมิประเทศของจังหวัดพัทลุงสามารถจำแนกออกเป็นสี่ลักษณะคือพื้นที่ภูเขา พื้นที่ลูกคลื่นลอนชัน พื้นที่ราบและพื้นที่เกาะ

           พื้นที่ภูเขา  เป็นพื้นที่ส่วนสำคัญของจังหวัดพัทลุง เนื่องจากเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่ส่งน้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด มีลักษณะเป็นเทือกเขา มีความสูงเฉลี่ยประมาณ ๘๐๐ เมตร และลาดไปทางด้านทิศตะวันออก ลงสู่ทะเลสาบสงขลา มีความลาดชันประมาณร้อยละ ๒๕ - ๓๐  เทือกเขาเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขานครศรีธรรมราชเรียกกันทั่วไปว่าเขาบรรทัด ประกอบด้วยภูเขาที่สำคัญได้แก่ เขาเขียว เขาคลองโลน เขานกรำ เขาช่องกระจก เขาเจ็ดยอด เขายางแตกและเขาหินแท่น ยอดเขาสูงสุดคือ เขาลูกหลัก (เขาร้อน) สูง ๑,๓๒๒ เมตร จากระดับน้ำทะเล อยู่ในเขตกิ่งอำเภอศรีนครินทร์  คลองสายสำคัญในพื้นที่นี้ได้แก่ คลองพรุอ้อ คลองป่าบอนและคลองป่าพะยอม เป็นต้น พื้นที่ภูเขามีพื้นที่ประมาณ ๘๓๖ ตารางกิโลเมตร ประมาณรัอยละ ๒๔ ของพื้นที่ทั้งหมด

           พื้นที่ลูกคลื่นลอนชัน  เป็นพื้นที่ส่วนที่อยู่ถัดจากภูเขาบรรทัด หรือเป็นพื้นที่เชิงเขา มีลักษณะเป็นเนินเตี้ย ๆ เรียกกันว่า ควน สลับด้วยที่ราบ ที่มีความลาดชัน ประมาณร้อยละ ๕ - ๑๐  ความสูงเฉลี่ยประมาณ ๑๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล มีพื้นที่ประมาณ ๕๔๐ ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ ๑๖ ของพื้นที่ทั้งหมด อยู่ในเขตอำเภอป่าบอน อำเภอตะโหนด อำเภอศรีนครินทร์ อำเภอกงหรา อำเภอศรีบรรพตและอำเภอป่าพยอม
           พื้นที่ราบ  มีพื้นที่ประมาณ ๑,๔๘๖ ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ ๔๓ ของพื้นที่ทั้งหมด มีลักษณะเป็นที่ราบ มีเนินเขาอยู่บ้างเนื่องจากอยู่ติดกับพื้นที่ภูเขา มีความลาดชันร้อยละ ๒ - ๕  ความสูงเฉลี่ยประมาณ ๖ เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นพื้นที่เหมาะแก่การกสิกรรม ประชากรส่วนใหญ่นิยมตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ อยู่ในเขตอำเภอป่าพะยอม อำเภอควนขนุน อำเภอเมือง ฯ อำเภอเขาชัยสน อำเภอบางแก้ว และอำเภอปากพะยูน

           พื้นที่เกาะ  เป็นเกาะที่อยู่ในทะเลสาบสงขลา ได้แก่ เกาะราบ (เกาะปราบ) เกาะกระ เกาะหมาก เกาะเสือ เกาะโคม เกาะทำเหียก เกาะแพ เกาะนางคำ เกาะแกง เกาะยวน ตลอดจนเกาะในหมู่เกาะสี่เกาะห้า ซึ่งประกอบด้วย เกาะยายโส เกาะตาโส เกาะน้อย เกาะกันตัง เกาะเข็ม เกาะหน้าเทวดา เกาะรูสิม เกาะท้ายถ้ำดำ เกาะรอก และเกาะร้านไก่  เกาะดังกล่าวอยู่ในเขตอำเภอปากพะยูน มีพื้นที่รวมประมาณ ๒๑๙ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ ๖ ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นเขตพื้น ที่การตั้งถิ่นฐานของประชากร ได้แก่ เกาะราบ เกาะหมาก เกาะเสือ เกาะโคม เกาะนางคำ เกาะแกง และเกาะยวน  ส่วนเกาะที่เป็นถิ่นที่อยู่ของนกนางแอ่น
กินรังมีพื้นที่ประมาณ ๗๐๐ ไร่
            พื้นที่ที่เป็นพื้นน้ำประกอบด้วย ทะเลน้อย และทะเลหลวง หรือทะเลสาบสงขลาตอนใน (ทะเลลำปำ ทะเลจงแก ทะเลปากพะยูน) อยู่ในเขตอำเภอควนขนุน อำเภอเมือง ฯ อำเภอเขาชัยสน อำเภอบางแก้วและอำเภอปากพะยูน มีพื้นที่ประมาณ ๓๔๔ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่ทั้งหมด
ลักษณะภูมิอากาศ
            จังหวัดพัทลุง มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้นเขตมุมสูง มีฝนตกเกือบตลอดปี อุณหภูมิค่อนข้างสม่ำเสมอ เฉลี่ยประมาณ ๑๘ องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน ประมาณ ๒๙ องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคม ประมาณ ๒๗ องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยร้อยละ ๗๘  ปริมาณน้ำฝนตลอดปีประมาณ ๒,๐๒๗ มิลลิเมตร ฝนตกเฉลี่ยประมาณ ๑๕๖ วัน ปริมาณฝนสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน ประมาณ ๕๖๒ มิลลิเมตร และต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ประมาณ ๒๗ มิลลิเมตร
           ลมมรสุม  จังหวัดพัทลุงได้รับอิทธิพลจากลมต่าง ๆ ดังนี้
                - ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือลมมรสุมฤดูร้อน จังหวัดพัทลุงนิยมเรียกว่า ลมพลัดหรือลมพัทยา เพราะว่า ลมใด้หอบเอาฝนพลัดเข้ามาด้วย โดยข้ามเทือกเขาบรรทัด มาตกในเขตจังหวัดพัทลุงประปรายตลอดฤดูกาล ระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม
                - ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือลมรสุมหนาว พัดปกคลุมระหว่างกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนมกราคม จังหวัดพัทลุงเรียกว่า ลมตะเภา หรือลมเภา เพราะว่าเรือสำเภาในสมัยก่อนได้อาศัยทิศทางพัดของลมนี้แล่นใบเดินเรือติดต่อกันในดินแดนต่าง ๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มาแต่โบราณ ลมตะเภานี้พัดเอามวลอากาศเย็นและแห้งแล้งมาปกคลุมประเทศไทย เมื่อมาถึงภาคใต้ จะเปลี่ยนเป็นมวลอากาศอบอุ่นและชุ่มชื้น
                - แนวปะทะอากาศเขตร้อน หรือร่องมรสุม เป็นแนวปะทะของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณแนวปะทะนี้เกิดการก่อตัวของเมฆหนาทึบ มีฝนตกกระจายทั่วไปตามแนวปะทะ จังหวัดพัทลุงได้รับอิทธิพลจากปรากฎการณ์นี้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม
                - พายุหมุนเขตร้อน  เป็นปรากฎการณ์เกี่ยวกับการหมุนเวียนของอากาศ เข้าสู่ศูนย์กลางอย่างรุนแรงเหนือน่านน้ำแล้วพัดเข้าสู่ฝั่ง ในซีกโลบกเหนือ จะหมุนแบบทวนเข็มนาฬิกา แหล่งพายุหมุนเขตร้อนที่มีอิทธิพลต่อจังหวัดพัทลุงได้แก่ ทะเลจีนใต้ เกิดในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม เฉลี่ยปีละ ๑ - ๒ ลูก ทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง
           ฤดูกาล  จังหวัดพัทลุง  มีสองฤดูคือ ฤดูร้อนและฤดูฝน
                - ฤดูร้อน  เริ่มกลางเดือนกุมพาภันธ์ ถึงกลางเดือนกรกฎาคม รวมห้าเดือน ระยะนี้มีปริมาณฝนน้อย มักเกิดภาวะแห้งแล้ง
                - ฤดูฝน  เริ่มต้นกลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมกราคม เป็นระยะประมาณเก้าเดือน ระยะฝนน้อย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ระยะฝนชุกตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม เป็นช่วงที่อากาศเย็นและชื้นเหนือน่านน้ำแล้วพัดเข้าสู่ฝั่งในซีกโลกเหนืออากาศจะหมุนแบบทวนเข็มนาฬิกา แหล่งพายุหมุนเขตร้อนที่มีอิทธิพลต่อจังหวัดพัทลุงได้แก่ ทะเลจีนใต้ เกิดในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม เฉลี่ยปีละ ๑ - ๒ ลูก ทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง
ทรัพยากร

         ป่าไม้  ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ในเขตจังหวัดพัทลุง ได้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิมมาก ยังคงเหลืออยู่ในเขตอนุรักษ์ได้แก่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า  เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่าวบางเตง ตลอดจนป่าสงวนแห่งชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะป่าสงวนแห่งชาติคลองยวน (สวนพฤกษศาสตร์พัทลุง) ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้นหรือป่าดงดิบชื้น นอกจากนั้นเป็นป่าดงดิบแล้ง ป่าตามสันเขาหินปูน ป่าพรุ เสม็ด ป่าชายหาด และป่าชายเลน

           สัตว์ป่า  ปัจจุบันแหล่งสัตว์ป่าอยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งเป็นเขตหวงห้ามของรัฐ ตลอดจนบริเวณเกาะสี่เกาะห้า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่าวบางเตง และสถานีเพาะสัตว์ป่าพัทลุง
            สัตว์ป่าที่ยังคงเหลืออยู่หลายชนิด กำลังจะสูญพันธ์ได้แก่ คูรำหรือเลียงผา สมเสร็จ และเก้งหม้อ และที่สูญพันธ์ไปแล้วได้แก่ พะยูน แรด ควายป่า นกเขียนหรือนกกระเรียน ช้าง และนกหว้า เป็นต้น
            ความหลากชนิดและปริมาณความชุกชุมของสัตว์ป่าจะผันแปรไปตามสังคมพืชและสัตว์ ความอุดมสมบูรณ์ของพืชเป็นสำคัญ สังคมพืชแต่ละประเภท จะทำให้เกิดสภาพถิ่นที่อยู่ของสัตว์ ป่าแตกต่างกันไปตามสภาพโครงสร้าง และชนิดพันธ์ไม้
ประชากร
           พัทลุง  เป็นเมืองโบราณแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์เหมาะสม อยู่ท่ามกลางทะเลเปิด เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแรงจูงใจให้มีการตั้งถิ่นฐาน
            การตั้งถิ่นฐาน  ประชากรตั้งถิ่นฐานรวมตัวกันเป็นชุมชนกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชนบท ชุมชนเกือบทั้งหมดเป็นชุมชนเกษตรกรรม
            การใช้ที่ดิน  ส่วนใหญ่เป็นการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีการทำนาและการทำสวนยางเป็นหลัก ปัจจุบันสภาพการใช้ที่ดินได้เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งมีการลดลงอย่างลวดเร็ว เช่นเดียวกันกับจังหวัดอื่น ๆ ปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าไม้เพียงร้อยละ ๑๗ ของพื้นที่ทั้งหมด

           อาชีพ  จังหวัดพัทลุงเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้มาช้านาน ประชากรโดยมากมีอาชีพด้านเกษตรกรรม ประมาณร้อยละ ๘๓ พืชที่สำคัญมีทั้งพืชสวน พืชไร่และพืชผัก ผลผลิตนอกจากจะใช้ในการบริโภคภายในจังหวัดแล้ว ส่วนใหญ่ยังส่งไปจำหน่ายยังจังหวัดใกล้เคียงได้แก่ จังหวัดตรัง กระบี่ สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
            สินค้าออกที่สำคัญในปัจจุบันได้แก่ ยางพารา สุกร และไม้ยางพาราแปรรรูป

| หน้าต่อไป | บน |