| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ

            ในปี พ.ศ.๒๕๔๑ พัทลุงมีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่เพียงประมาณ ๔๓๘ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ ๑๓ ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์ ได้แก่ บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่าวบางเตง และอุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า
            ป่าดิบชื้น  สภาพโดยทั่วไปเป็นป่ารกทึก ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลากชนิด ไม้ชั้นบนส่วนใหญ่เป็นไม้ในวงค์ยาง และไม้ชั้นล่างสามารถขึ้นใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ได้  พิ้นที่ป่ามักประกอบด้วยพืชตระกูลปาล์ม ไม้พุ่ม ไม้ล้มลุก ระกำ หวาย ไม้ไผ่ และเถาวัลย์ต่าง ๆ บนไม้ใหญ่จะมีพันธุ์ไม้พวกเกาะอาศัยจำพวกเฟิร์น มอส และกล้วยไม้เกาะอยู่ทั่วไป
            ไม้ที่พบได้แก่ ยางใต้ ยางยุง จำปา เสียดช่อ รักป่า บุนนาค หรือนากบุด ไข่เขียว หลุมพอ กันเกราหรือทำเสา ส้าน ตะเคียนทอง กระบาก ฝาละมี พรมมะพร้าว เป็นต้น
            ป่าตามสันเขาหินปูน  ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ยืนต้นที่ทมแล้ง และพืชล้มลุกที่มีระบบรากยึดเกาะหน้าผาได้ดี ไม้ที่พบมีตะเคียนหิน สมพง กะเบากลัก งิ้วป่า ลำบิด พลับดง ข้าวสาร ตาตุ่มบก ปอปาน และเตยนร ส่วนบริเวณที่เป็นหน้าผามีพืชวงค์ขิงข่าขึ้นปกคลุมในฤดูฝน นอกจากนี้ยังมีเฟิร์น ขึ้นอยู่ทั่วไปตามโขดหินหรือหลืบหิน
            ป่าดงดิบแล้ง  มีพืชพรรณขึ้นกระจายอยู่ตามหุบเขาหินปูน หรือสันเขาที่มีดินตื้น และขึ้นแทรกอยู่กับสังคมป่าดงดิบชื้น ไม้ชั้นบนมีปออีเก้ง กะบก และฮับ ไม้ชั้นรองลงมามีไม้สกุลกะเบากลัก สกุลสำเภา สกุลเนียนเขา และสกุลเลือดควาย  ไม้ชั้นล่างมีสกุลนกนอบ สกุลพลอง และสกุลข่อยหนาม ขึ้นปกคลุมอยู่กับไม้เถาชนิดอื่น ๆ พืชชั้นล่างจะพวกปาล์มสกุลเต่าร้างสกุลหมาก นางลิง สกุลค้อและสกุลจั๋ง ขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ตามสันเขา
            แหล่งสัตว์ป่า  ในระดับเรือนยอด ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมและนก เช่นค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน ค่างแว่นถิ่นใต้ ชะนีมือขาว และนกกก เป็นต้น
              - ในระดับกึ่งกลางเรือนยอด  ส่วนใหญ่เป็นสัตว์จำพวกนก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม อาจพบสัตว์เลื้อยคลานด้วย เช่นนกหัวขวานป่าไผ่ หรือนกขวานหัวไหล นกปรอดสีเหลืองหัวจุก หรือนกกรงหัวจุก ชะมดเช็ด กระรอกท้องแดง อีเห็นข้างลาย และงูเหลือมเป็นต้น
              - ระดับพื้นดิน  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม สัตว์เลื้อยคลานและนกบางชนิด เช่น ช้าง กวาง หมู่ป่า เม่นใหญ่ เต่าเหลือง เต่าหวาย นกกระทาดงปักษ์ใต้ ไก่ป่า และนกคุ่มอกลาย เป็นต้น
              - บริเวณธารน้ำไหล  จะมีสัตว์หลายกลุ่มอยู่อาศัย เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และนก เช่น กบทูด จงโคร่ง อึ่งน้ำเต้า นกกางเขนบ้าน หรือนกบินหลาบ้าน ตะพาบน้ำ พังพอนเล็ก และอีเห็นน้ำ เป็นต้น
              - ตามสันเขาหินปูน  ได้แก่ เลียงผาหรือคูรำ คางแว่นถิ่นใต้ หมีควาย ค่างดำ เสือดาว และค้างคาวชนิดต่าง ๆ
            แหล่งท่องเที่ยว  โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น หมู่เกาะสี่ เกาะห้า สวนพฤกษศาสตร์พัทลุง สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพัทลุง แต่ห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย อุทยานแห่งชาติเขปู่ - เขาย่า น้ำตกไพรวัลย์ น้ำตกมโนราห์ และน้ำตกโตนแพรทอง เป็นต้น
            ในบริเวณภูเขาหินปูน  มีภูมิประเทศที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หลุมยุบ ลำน้ำมุด ถ้ำ เสาหิน หินงอก หินย้อย หน้าผา และภูเขาหินปูนที่มีลักษณะคล้ายรูปสัตว์ ถ้ำสุมโน ถ้ำพุทธโคดม เขาอกทะลุ เขาหัวช้าง เขานางพันธุรัตน์ เขาชัยสน เขาพญากรุงจีน เขาพญาโฮ้ง เขาพนมวัง เขาอกทะลุ เขาเมือง และหมู่เกาะสี่ หมู่เกาะห้า เป็นต้น

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย
            อยู่ทางด้านเหนือสุดของทะเลสาบสงขลา เป็นแหล่งที่มีความสำคัญทางนิเวศวิทยา ประกอบด้วยระบบนิเวศน้ำ และระบบนิเวศบก ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพของนกนานาชนิด โดยเฉพาะนกน้ำ ซึ่งมีจะนวนนับหมื่นตัวเกือบทุกฤดูกาล ทำให้ทะเลน้อย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดพัทลุง และของประเทศไทย กระทรวงเกษตร ฯ ได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๘ มีพื้นที่ประมาณ ๔๕๗ ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ ๓ จังหวัดคือ จังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราชและสงขลา
            เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย  เป็นหนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำ จำนวน ๔๒ แห่ง ในประเทศไทย มีความสำคัญระดับนานาชาติ ในฐานะที่เป็นถิ่นที่อยู่ และที่หากินสำคัญของนกน้ำ ได้รับการเสนอและจัดตั้งให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ
            แหล่งพืชพันธุ์ตามธรรมชาติ  เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีสภาพเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่มีน้ำท่วมขังตลอดปี พื้นที่ทางตอนเหนือเป็นพรุขนาดใหญ่ ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นพรุน้ำจืดหรือบึงน้ำจืดแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีไม้เสม็ดขาวขึ้นอยู่เป็นกลุ่มก้อน จึงเป็นหน่วยควบคุมน้ำ ตะกอนและมวลสาร และธาตุอาหารสำคัญในทะเลน้อย
              - ป่าเสม็ดขาวหรือพรุเสม็ด  เป็นสังคมพืชที่ขึ้นทดแทนป่าพรุดั้งเดิมที่ถูกทำลายไป โดยทั่วไปมีไม้เสม็ดขาวขึ้นเป็นไม้เด่น นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้ของป่าพรุดั้งเดิมขึ้นแทรกกระจายอยู่ทั่วไปเช่น หว้าน้ำ ขี้ไต้ ไทร จิกน้ำ ผะวาน้ำ เป็นต้น ส่วนพื้นที่ป่าก็มีพวกหญ้าชนิดต่าง ๆ ขึ้นอยู่เช่นหญ้าหนวดปลาดุก หญ้าปล้อง หญ้าคมบาง หญ้าขบ เป็นต้น ตลอดจนพืชกลุ่มเฟิร์นและสิเภาชนิดต่าง ๆ ซึ่งเลื้อยพันต้นเสม็ดขาวอยู่ทั่วไป
              - บริเวณที่เป็นพื้นน้ำ  มีพื้นที่ประมาณ ๒๘ ตารางกิโลเมตร เป็นสังคมพืชน้ำต่าง ๆ ทั้งพืชลอยน้ำและพืชใต้น้ำเช่น เตยน้ำ ปรือ กกสามเหลี่ยม จูดหนู กง ลาโพ บัวสาย บัวเผื่อน เป็นต้น เป็นบริเวณพื้นที่กว้างกว่า ๕ ตารางกิโลเมตร เป็นเอกลักษณ์ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย
            แหล่งสัตว์ป่า  จากระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้สัตว์ชนิดต่าง ๆ เข้ามาอาศัยอยู่โดยเฉพาะนก ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่เข้ามาพึ่งพิงป่าพรุน้ำจืดแห่งนี้มากที่สุด มีทั้งนกประจำถิ่นและนกที่อพยพมาตามฤดูกาล
            สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  ที่พบในป่าพรุน้ำจืด เช่นค้างคาวป่าพรุ เสือปลา ลิงแสม นากใหญ่ขนเรียบ หนูป่าพรุเป็นต้น
            สัตว์เลื้อยคลาน  มีเต่าดำและตุ๊กแกสีเทา เป็นต้น สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มีกบราชา และเขียดหลังเขียวเป็นต้น
            นก  มีจำนวนมากถึง ๑๘๗ ชนิด เป็นนกประจำถิ่น ๑๒๓ ชนิด หรือร้อยละ ๗๙ ของนกทั้งหมด นอกจากนั้นเป็นนำอพยพย้ายถิ่น พบว่าที่มีนกมากคือ ช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม ช่วงที่มีนกน้อยคือ ช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน
              - นก  ที่พบเห็นทั่วไปได้แก่ นกเป็ดแดง นกอีโก้ง นกเป็ดดับแค นกอีล้ำ นกยางไฟหัวดำ นกกระสาแดง นกกระสานวล นกเป็ดผี นกตีนเทียน นกแอ่นทุ่งใหญ่ และเหยี่ยวแดง เป็นต้น
นกนางแอ่นกินรัง

            ในเขตจังหวัดพัทลุงพบนกนางแอ่นกินรังอาศัยอยู่ตามถ้ำต่าง ๆ บนหมู่เกาะสี่เกาะห้า อยู่ ๒ ชนิดคือ นากนางแอ่นรังขาว และนกนางแอ่นรังดำ
            นกนางแอ่นกินรังเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญมากชนิดหนึ่ง เป็นนกขนาดเล็กเท่านกกระจอกบ้าน มีขนสีเทาค่อนข้างดำ ขนด้านท้องมีสีน้ำตาล ขนด้านบนอมน้ำตาล ขนปีกยาวและคลุมหาง หางเป็นแฉกเล็กน้อย จงอยปากสั้นกว้างสีดำ ม่านตาสีดำ นำตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกันมาก ตัวผู้โตกว่าตัวเมียเล็กน้อย การผสมพันธุ์มีฤดูกาลผสมพันธุ์ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายนของทุกปี ปกติตัวเมียจะสร้างรังโดยลำพัง ยกเว้นรังที่สามซึ่งนกตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันสร้าง นกจะสร้างรังเวลากลางคืน และใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน รังนกมีรูปร่างเป็นถ้วยครึ่งซีก เมื่อแห้งและแข็งตัวจะมีลักษณะดคล้ายวุ้นเส้นที่อัดตัวแน่น ตัวรังจะติดตรึงอยู่กับผนังถ้ำ หรือผนังภายในอาคารสิ่งก่อสร้างที่นกอาศัยอยู่ นกนางแอ่นอายุ ๓ ปี จะสร้างรังได้ดีที่สุด หลังจากสร้างรังจนเสร็จ นำจะวางไขสองฟองต่อรัง จะฟักไข่เวลากลางคืน ไข่จะฟักออกเป็นตัวในเวลาประมาณ ๓ สัปดาห์ ลูกนกที่มีอายุประมาณ ๖ สัปดาห์ จะบินออกจากรังได้ นกนางแอ่นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ชนิดเดียวที่มีพฤติกรรมสร้างรังทดแทนรังแรก มีสีขาวหรือขาวมอ รังต่อไปมีสีเหลือง และอาจมีขนนกปนอยู่บ้าง หรือไม่ก็มีสีแดงของเลือดผสมอยู่ด้วย
            นกจะสร้างรังที่สองโดยใช้เวลาสร้างประมาณ ๓ สัปดาห์ และถ้าถูกทำลายอีกจะสร้างรังที่ ๓ โดยใช้เวลาประมาณ ๓ สัปดาห์เช่นกัน และจะสร้างเพียง ๓ รังเท่านั้น

            การเก็บรังนก  นิยมเก็บรังแรกและรังที่สอง หลังจากนั้นจะปล่อยให้นกสร้างรังที่สาม เพื่อให้นกวางไข่และฟักไข่ตามปกติ การเก็บรังนกในแต่ละพื้นที่จะแตกต่ากันไป ทั้งเรื่องระยะเวลา และเครื่องมือที่ใช้ในการแทงรังนก เนื่องจากสถานที่ที่นกทำรังสภาพต่างกัน
            ในการเก็บรังนกหรือแทงรังนกกในถ้ำต่าง ๆ บริเวณหมู่เกาะสี่ห้า ผู้รับอนุญาตจะแทงได้ปีละสามครั้ง คือครั้งที่ ๑ - ๒ ประมาณเดือนมีนาคม พฤษภาคมและกันยายน การแทงรังนกครั้งที่สามผู้รับอนุญาต จะลงมือกระทำการได้ต่อเมื่อลูกนำที่อยู่ในรังได้บินออกจากรังไปหมดแล้วเท่านั้น
            ลมมรสุมมีอิทธิพลต่อนิเวศวิทยาของนกนางแอ่นด้วย ห้วงเวลาในการเก็บรังนกที่เกาะสี่เกาะห้า สามารถดำเนินการได้ก่อนพื้นที่ส่วนอื่นประมาณ ๑๐ วัน เนื่องจากนกที่อาศัยอยู่ในบริเวณหมู่เกาะแห่งนี้ทำรังอยู่บนเพดานถ้ำซึ่งสูงมาก ผู้เก็บรังนกที่เรียกว่า ชาหอ จะต้องปีนป่ายพะองไม้ไผ่ หรือไต่เชือก แล้วใช้ถ่อซึ่งเป็นเครื่องมือเก็บรังนก แซะรังนกให้ตกลงมา

เขาอกทะลุ
            เป็นภูเขาหินปูน ตั้งอยู่กลางตัวเมืองพัทลุง มียอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเล ๒๔๕ เมตร ยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร ส่วนกว้างสุด ประมาณ ๑ กิโลเมตร  นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่า เขาอกทะลุเกิดจากการดันตัวของหินอัคคีเมื่อประมาณ ๑๓๐ ล้านปีมาแล้ว  ตรงบริเวณส่วนกลางค่อนไปทางส่วนยอด มีลักษณะเป็นรูกลมกลวงมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐ เมตร มองเห็นได้ในระยะไกล
            ในสมัยโบราณผู้ที่เดินเรือในทะเลสาบสงขลาจะมองเห็นภูเขาอกทะลุเป็นที่หมายของเมืองพัทลุง นับเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัด
แห่งหนึ่งของเมืองพัทลุง

เกาะสีเกาะห้า
            เป็นหมู่เกาะหินปูน ตั้งอยู่ในทะเลสาบสงขลาตอนใน อยู่ในเขตการปกครองของตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน
            สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเนินเขาและควนสูง มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๑,๔๐๐ ไร่  ตามเกาะต่าง ๆ มีโพรงถ้ำอยู่ไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ถ้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของนกนางแอ่นซึ่งผลิตรังนกนางแอ่นที่มีคุณภาพดีที่สุดของประเทศไทย
            ลักษณะพิเศษทางธรรมชาติของหมู่เกาะสี่เกาะห้าคือ ถ้ามองจากทางทิศเหนือและทิศใต้ จะมองเห็นเป็นสี่เกาะ แต่ถ้ามองจากทิศตะวันตกจะมองเห็นเป็นห้าเกาะ จึงทำให้คนทั่วไปเรียกว่าเกาะสี่เกาะห้า
            เกาะสี่เกาะห้าประกอบด้วยเกาะต่าง ๆ จำนวน /ๆ เกาะ ได้แก่ เกาะท้ายถ้ำดำ เกาะรุสิม เกาะหัวมวย เกาะหน้าเทวดา เกาะกันตัง เกาะเข็ม เกาะป้อย เกาะยายโส เกาะตาโสและเกาะกระ
น้ำตก
            ทางทิศตะวันตกของจังหวัดพัทลุงเป็นที่สูง มีภูเขาสลับซับซ้อน และมีเทือกเขานครศรีธรรมราช ทอดแนวยาวผ่าน เป็นแหล่งกำเนิดลำน้ำสายต่าง ๆ รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำตกหลายแห่ง
              - น้ำตกไพรวัลย์  เป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดพัทลุง ชาวบ้านเรียกว่า น้ำตกโหนง ต้นน้ำเกิดจากภูเขาบรรทัด มีน้ำตลอดปี น้ำตกลงมาจากหน้าผาสูงชัน ประมาณ ๘๐ เมตร ส่วนบนของน้ำตกแห่งนี้เป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้างประมาณ ๑๕ เมตร ยาวประมาณ ๒๐ เมตร ลึกประมาณ ๒ - ๓ เมตร  นอกจากนี้ยังมีแอ่งน้ำเล็ก ๆ อีกหลายแห่ง เป็นที่รองรับน้ำที่ไหลลงมาจากส่วนบนของภูเขาบรรทัด แล้วไหลลงมาเป็นน้ำตกไพรวัลย์ มีความสวยงามตามธรรมชาติอย่างยิ่ง
พรุนาแต้
            อยู่ในเขตตำบลสมหวัง อำเภอกงหรา  เดิมเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่มีความลึกมาก สันนิษฐานว่าเกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกเมื่อหลายพันปีมาแล้ว รอบ ๆ พรุเป็นที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าน้อยใหญ่นานาพันธุ์ เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก
            ต่อมาชาวบ้านได้ทำลายป่ารอบ ๆ พรุ และล่าสัตว์ ทำให้สัตว์ป่าค่อย ๆ สูญพันธุ์ไปจนหมดสิ้น เหลือแต่แอ่งน้ำที่เป็นพรุรูปร่างโค้งเว้า เมื่อน้ำตื้นเขินจึงมีต้นไม้เล็ก ๆ เจริญงอกงาม  ส่วนลึกของพรุ เดิมมีอยู่สองแห่ง เรียกกันว่าหนองนายขุ้ยและหนองราโพธิ์
            ต่อมา ได้มีการปรับปรุงพรุนาแด้ให้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร มีการขุดลอกพรุ ปรับปรุงเป็นคันดินใช้เป็นถนนรอบพรุ กรมประมงได้ปล่อยพันธุ์ปลาจำนวนมาก ลงในแอ่งน้ำ

บ่อน้ำพุร้อน
            ตั้งอยู่ที่เขาชัยสน ตำบลเขาชัยสน อำเภอเขาชัยสน  เป็นบ่อน้ำพุร้อนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  น้ำร้อนจากพุ จากซอกหิน ตลอดเวลา มีความร้อนสูงพอลวกไข่ให้สุกได้ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำพุร้อนศักดิ์สิทธิ์ใช้อาบแก้โรคผิวหนังและแก้ปวดเมื่อยได้ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของสำนักสงฆ์ถ้ำเขาชัยสน
นกบ่อน้ำเย็นหรือถ้ำน้ำเย็น
            ตั้งอยู่ที่เขาชัยสน ห่างจากบ่อน้ำพุร้อนไปทางทิศเหนือประมาณ ๕๐๐ เมตร น้ำที่ไหลออกจากถ้ำมีความเย็นมาก ปากถ้ำหันไปทางทิศเหนือ ภายในถ้ำกว้างและลึก บางตอนมีทางแคบ ๆ กว้างประมาณ ๑ - ๒ เมตร ภายในถ้ำมีฝูงปลาน้อยใหญ่แหวกว่ายไปมา
            มีผู้สำรวจภายในถ้ำพบว่าบางส่วนของถ้ำกว้างถึง ๓๐ - ๔๐ เมตร เพดานถ้ำสูงบ้างต่ำบ้างเป็นบางตอน มีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก เชื่อกันว่าทางน้ำจะไหลไปได้ตลอด จากทิศเหนือสุดจนจดทิศใต้สุดของภูเขาลูกนี้

นกบ่อน้ำพุเกาะนางคำ
            อยู่ในเขตตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน  เป็นบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติ น้ำเย็นใสสะอาด ไม่มีกลิ่น สันนิษฐานว่าเกิดจากน้ำใต้ดินพุไหลออกมาจากภายในของเนินสูง
            บ่อน้ำพุแห่งนี้เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่เอื้ออำนวยแก่ชาวบ้านนับร้อยหลังคาเรือน ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันทั้งอุปโภคและบริโภค

นกต้นพะยอม
            เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นไม้มงคลในจังหวัดพัทลุง ในท้องถิ่นเรียกว่า กะยอม ขะยอม พระยอมดงแดน พะยอมทอง และยางหยวก
            ไม้พะยอมเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบสูงประมาณ ๑๕ - ๓๐ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกหนาสีน้ำตาลหรือสีเทา แตกเป็นร่องตามยาวของลำต้น  ใบเดี่ยว แผ่นรูปขอบขนาดกว้าง ๓ - ๔ เซนติเมตร ยาว ๘ - ๑๐ เซนติเมตร โคนมน ปลายมนหรือหยักเป็นดิ่งสั้น ๆ  ดอกสีขาวมีกลิ่นหอมออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ผลมีปีกยาวสามปีก สั้นสองปีก เป็นไม้ที่ชอบขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้ง และชื้นตลอด จนป่าดิบแล้งทั่วไปแทบทุกภาคที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๐ - ๑,๒๐๐ เมตร  ออกดอกในเดือนธันวาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์  ผลแก่ประมาณเดือนมีนาคม - เมษายน  ขยายพันธุ์โดยเมล็ด
            ไม้พะยอมเป็นไม้มีประโยชน์มาก เนื้อไม้มีลักษณะคล้ายไม้ตะเคียนทอง ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน เปลือกมีรสฝาด ใช้เป็นยาสมานลำไส้ ดอกใช้ผสมยาแก้ไข้และยาหอมแก้ลม บำรุงหัวใจ  ชันใช้ผสมน้ำมัน ทาไม้และยาเรือ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |