| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

วัดป่าลิไลยก์

           วัดป่าลิไลยก์อยู่ในเขตตำบลลำปำ อำเภอเมือง ฯ  ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดป่า ตามทำเนียบวัดจังหวัดพัทลุงระบุว่าวัดนี้สร้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๒๔๗ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕ พระมหาช่วย ชาวบ้านน้ำเลือด ตำบลท่ามิหรำ อำเภอเมือง ฯ  ได้เป็นเจ้าอาวาส
           เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๒๘ พม่าได้ยกกองทัพมาตีเมืองชุมพร เมืองไชยาและเมืองนครศรีธรรมราช ทางเมืองพัทลุง พระมหาช่วยได้ทำเครื่องรางของขลังแจกกรมการเมือง และไพร่พล รวบรวมกำลังได้ประมาณ ๑,๐๐๐ คน ยกไปต้านพม่าที่ตำบลปันแต ยังไม่ทันได้รบ พม่าก็ถอยทัพกลับไปก่อน พระมหาช่วยมีความชอบ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ลาสิกขา และแต่งตั้งให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์
           ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เมืองพัทลุงเกณฑ์คนตัดไม้ต่อเรือรบ ๓๐ ลำ โดยได้ทำการต่อเรือที่ชายทะเลหน้าวัดป่าลิไลยก์ แต่ต่อเรือยังไม่ทันเสร็จ ก็มีราชการกบฏเมืองไทรบุรีเสียก่อน
           จากคำบอกเล่าเกี่ยวกับประวัติวัดป่าลิไลยก์มีความว่า ที่ดินที่สร้างวัดในปัจจุบัน เป็นที่ของตาผ้าขาว บริจาคให้แก่ พระสาหมีอินทร์ ที่ตั้งใจจะนำของโบราณ มาบรรจุที่พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช แต่ไม่ทันพิธีการ จึงได้จอดเรือพัก และสร้างวัดป่าลิไลยก์ขึ้นมา เดิมวัดนี้เรียกว่า วัดป่าชัน วัดป่าเรไร
           อุโบสถ  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีกำแพงแก้วล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ซุ้มประตูกำแพงแก้วอยู่ทางด้านทิศตะวันออกหนึ่งซุ้ม อุโบสถมีทางเข้าสองประตู ระหว่างประตูมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางป่าลิไลยก์ ภายในอุโบสถมีพระประธาน และพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ๔ องค์ ฝีมือช่างพื้นเมือง
           ใบเสมา  ทำด้วยหินทรายสีแดงตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูน รอบอุโบสถจำนวนแปดใบ แต่ละใบมีลวดลายจำหลักไม่เหมือนกัน มีลักษณะประณีตสวยงาม จากรูปแบบสถาปัตยกรรมน่าจะเป็นสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น
           เจดีย์  ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วหน้าอุโบสถ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส องค์ระฆังเป็นแบบสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
           กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และประกาศแนวเขตโบราณสถาน มีพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ ๓ งาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘
วัดยางงาม

           วัดยางงาม อยู่ในเขตตำบลลำปำ อำเภอเมือง ฯ  ตามประวัติกล่าวว่า ผู้สร้างวัดนี้คือจอมแพ่ง จอมจ่า แต่ไม่ได้ระบุปีที่สร้างไว้ จากทำเนียบวัดจังหวัดพัทลุง ระบุว่า วัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๘  ผู้สร้างคือพ่อจอมเสนี โดยสร้างหลังวัดโพเด็ด เล็กน้อย การสร้างอาศัยแรงงานจากนักโทษเมืองพัทลุง
           อุโบสถ  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นทรงเครื่องปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ด้านหน้าพระประธานมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ๒ องค์ และพระพุทธรูปหินอ่อนปางสมาธิ ศิลปะพม่า  มีจารึกว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑
           กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และประกาศเขตโบราณสถาน มีพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘
วัดวิหารเบิก

           วัดวิหารเบิก อยู่ในเขตตำบลลำปำ อำเภอเมือง ฯ  ชาวบ้านนิยมเรียกว่าวัดเบิก ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด จากหลักฐานทางสถาปัตยกรรม สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีเรื่องเล่าว่า สร้างขึ้นพร้อมกับวัดวัง และวัดยางงาม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน การสร้างวัดทั้งสามแห่งดังกล่าว เป็นการแข่งขันกันด้านฝีมือช่าง ดังจะเห็นว่าลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวัดทั้งสามแห่ง มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก
           อุโบสถ  เป็นอาคารที่ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงแก้วล้อมรอบ อุโบสถยกฐานสูง ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัย ฝาผนังอุโบสถทั้งสี่ด้านเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ผู้เขียนภาพคือหลวงเทพบัณฑิต (สุ่น) เขียนเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๓ คราวเดียวกับการบูรณะวัดวัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
           พระพุทธรูปจำหลักหินอ่อน  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะพม่า สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑
           ภาพเขียนประดับมุก  เป็นฝีมือช่างญี่ปุ่น เขียนบนกระจกเป็นรูปทิวทัศน์ชายทะเล เรือ และเรือใบ ประดับมุกเป็นภาพเขียนที่แปลกกว่าภาพเขียนอื่น ๆ ที่เคยพบในเขตจังหวัดพัทลุง
           กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ และได้ประกาศแนวเขตโบราณสถาน มีพื้นที่ประมาณ ๑ ไร่ ๓ งาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘
           จิตรกรรมฝาผนัง (อุโบสถวัดวิหารเบิก)  ผนังด้านหน้าเขียนเรื่องพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังด้านหลังเขียนรูปเรือนแก้วรูปฤษีและเทพนม
           ผนังคอสองตอนเหนือหน้าต่างเขียนรูปเทพชุมนุม ผนังตอนล่างระหว่างช่องหน้าต่าง และช่องประตูเขียนเรื่องทศชาติชาดก ผู้เขียนภาพคือ หลวงเทพบัณฑิต (สุ่น) เขียนเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๓
วัดวัง

           วัดวัง อยู่ในเขตตำบลลำปำ อำเภอเมือง ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด จากพงศาวดารเมืองพัทลุงมีว่า พระยาพัทลุง (ทองขาว) ได้สร้างวัด มีอุโบสถ และระเบียงรอบไว้กลางเมืองวัดหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๙
           ในพงศาวดารและลำดับวงศ์ตระกูลเมืองพัทลุงมีความว่า พระยาพัทลุง (ทองขาว) ได้ปฏิสังขรณ์วัด ที่ตำบลลำปำวัดหนึ่งให้ชื่อว่าวัดวัง มีอุโบสถ พัทธสีมา และวิหาร เป็นวัดรับน้ำพระพิพัฒน์สัตยา สำหรับเมือง
           จากทำเนียบวัดจังหวัดพัทลุงระบุว่า วัดวังสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๓๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพราะในสมัยนั้นได้ย้ายเมืองพัทลุงมาตั้งที่โคกลุง บริเวณนี้ยังไม่มีวัด ที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา เมื่อสร้างวัดขึ้นแล้วก็พิจขารณาเห็นว่าวัดควนมะพร้าว ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา มาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีนั้น อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองมาก จึงได้ยกวัดวังขึ้นเป็นวัดถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
           ในสมัยพระยาพัทลุง (ทับ) ได้ทำการบูรณะวัดวัง โดยให้หลวงยกกระบัตร (นิ่ม) รื้อกำแพงเมืองที่เขาชัยบุรีมาบูรณะและได้ฉลอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๓ ต่อมาวัดวังได้ลดความสำคัญลง จากที่เคยใช้เป็นวัดสำหรับประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ทำพิธีสมโภชต้นดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง เนื่องจากได้ย้ายเมืองพัทลุงไปตั้งที่ตำบลคูหาสวรรค์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ วัดวังจึงทรุดโทรมลงตามลำดับต้องทำการบูรณะอยู่หลายครั้ง
           ชื่อของวัดมีที่มาเป็นสองนัยคือ นัยแรก เนื่องจากมีลำคลองน้ำเชี่ยวไหลมาบรรจบกับคลองลำปำทางทิศใต้ของวัด เกิดเป็นวังน้ำลึกชาวบ้านจึงเรียกว่า หัววัง และเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดวัง  นัยที่สอง เนื่องจากวัดวังตั้งอยู่ใกล้จวนเจ้าเมือง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วังเจ้าเมืองพัทลุง จึงเรียกว่า วัดวัง
           อุโบสถ  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก อุโบสถเดิมมีขนาดเล็กว่าปัจจุบัน ได้มีการปฎิสังขรณ์ในสมัยพระยาพัทลุง (ทับ)  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๓ ด้านหน้าอุโบสถมีมุขยื่นออกมาภายในมุขเด็จ มีพระพุทธรูปปูนปั้น ปางป่าลิไลยก์ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัยจำนวนสี่องค์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีย่อมุมไม้สิบสอง พระประธานมีขนาดหน้าตักกว้างสองเมตร มีพระสาวกปูนปั้นยืนประนมมือ ด้านขวามือของพระประธานมีพระพุทธรูปสำริดทรงเครื่องปางห้ามสมุทร ด้านซ้ายมือพระประธาน มีพระพุทธรูปจำหลักไม้บุด้วยโลหะทรงเครื่องปางอุ้มบาตร ผนังอุโบสถด้านหน้าตอนใน มีรูปหญิงชราปูนปั้นนั่งชันเข่าขวาบนโต๊ะสี่เหลี่ยมก่อด้วยปูน ชาวบ้านเรียกว่า ยายไอ หรือยายทองคำ
           ผนังอุโบสถทั้งสี่ด้าน เขียนภาพจิตกรรมฝาผนังเป็นเรื่องพุทธประวัติ เทพชุมนุมทั้งสี่ด้าน รอบอุโบสถมีระเบียงคดล้อมรอบ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น จำนวน ๑๐๘ องค์
           เจดีย์  มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง จำนวนสององค์ อยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ของอุโบสถ ฐานเจดีย์เป็นชาดฐานสิงห์ย่อมุม องค์ระฆังทรงเหลี่ยมย่อมุมรับกับฐาน ด้านหลังอุโบสถมีเจดีย์ทรงกลีบมะเฟืองหนึ่งองค์ เจดีย์ทรงกลมห้าองค์ และเจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่อยู่ทางมุมกำแพงวัด ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือก่ออิฐถือปูน ตามประวัติกล่าวว่า พระยาพัทลุง(ทับ) สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๓
           ธรรมมาสน์จำหลักไม้  ฐานเป็นชาดฐานสิงห์ลายทองรูปพรรณพฤกษา ตามประวัติกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเล้าเจ้าอยู่หัว ให้สร้างขึ้นเพื่อทรงพระราชอุทิศในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓  ที่เสมาธรรมมาสน์มีอักษรจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร. และข้อความว่า "ทรงพระราชอุทิศในงานพระบรมศพ พ.ศ.๒๔๕๓"
           ตู้พระธรรมลายรดน้ำ  เป็นศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
           โอ่งน้ำ ๒ ใบ  ใบแรกเป็นโอ่งดินเผาเคลือบสีเขียวทรงสูง ศิลปะสมัยราชวงศ์ชิง ใบที่สองเป็นโอ่งดินเผาทรงปากกว้าง เคลือบสีน้ำตาล ศิลปะสมัยราชวงศ์ชิง ตามประวัติกล่าวว่า ใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองพัทลุง
           กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และประกาศเขตโบราณสถาน เป็นพื้นที่ประมาณ ๙ ไร่เศษ
วัดสุนทราวาส

           วัดสุนทราวาส อยู่ในเขตตำบลปันแด อำเภอควนขนุน เดิมเรียกว่า วัดชายนา หรือวัดปลายนา ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดหัวสนทรา หรือวัดสนทรา เพื่อให้สอดคล้องกับนิทานเรื่องนางสิบสอง จนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๒  จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดสุนทราวาส
           มีประวัติจากตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า มีชายคนหนึ่งได้ขุดสระน้ำขึ้นที่บ้านสุนทรา เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำ พร้อมกันได้สร้างวัดขึ้นคือวัดสุนทราวาส ในเอกสารเรื่องจังหวัดพัทลุงของหน่วยศึกษานิเทศก์จังหวัดพัทลุง กล่าวว่าวัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๒๘๕ แต่หลักฐานทางศิลปกรรมเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
           อุโบสถ  เดิมสร้างด้วยไม้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๕ ได้บูรณะเป็นอาาคารก่ออิฐถือปูน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบสร้างอุโบสถหลังนี้ด้วย และยังได้รับการอุปถัมภ์จากพระยาพัทลุง (จุ้ย) อีก ลักษณะของโบสถืเป็นแบบศิลปะจีน ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัยสามองค์ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฝีมือการปั้นเป็นแบบพื้นเมือง พระประธานประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีลายแข้งสิงห์ ฝาผนังอุโบสถทั้งสี่ด้านเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังด้วยสีฝุ่น ภาพส่วนใหญ่ลบเลือนมาก รอบอุโบสถมีกำแพงประทักษิณและกำแพงแก้วล้อมรอบ
           พระพุทธรูป  ที่สำคัญได้แก่ พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นฝีมือช่างกรุงเทพ ฯ เดิมประดิษฐานอยู่ภายในอุโบสถ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปูนปั้น และพระพุทธรูปจำหลักด้วยงาช้างหลายองค์ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์
           จิตรกรรมฝาหนัง  ตามประวัติกล่าวว่าเขียนขึ้นสมัยพระอุดมปิฎกเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๕ ฝาผนังอุโบสถตอนบนเขียนเป็นเทพชุมนุมสามแถว ตอนล่างเขียนเรื่องพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติจนปรินิพพาน
           ฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเรื่องทศชาติชาดก แต่ลบเลือนไปมากแล้ว
           ฝาผนังด้านหน้าพระประธานเขียนเรื่องพุทธประวัติตอนผจญมาร ด้านหลังพระประธานเขียนเรื่องพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์
           ตอนล่างเขียนเป็นภาพพระมาลัยเสด็จไปโปรดสัตว์ในเมืองนรก
           กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ และได้ประกาศแนวโบราณสถาน เป็นพื้นที่ประมาณ ๑ ไร่ ๑ งาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕

| ย้อนกลับ | บน |