| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม

           ศาสนาพุทธ  เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘  พระสงฆ์จากเมืองนครศรีธรรมราช ได้ออกไปศึกษาพระธรรมวินัยที่ลังกา และกลับมาตั้งคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ ที่เมืองนครศรีธรรมราช นับแต่นั้นมา พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จึงได้แพร่หลายมายังเมืองพัทลุง แหละหัวเมืองภาคใต้อื่น ๆ โดยแบ่งคณะสงฆ์ออกเป็นสี่คณะ ได้แก่ คณะลังกาป่าแก้ว คณะลังกาชาติ คณะลังการาม และคณะลังกาเดิม สำหรับหัวเมืองพัทลุงในสมัยอยุธยา แบ่งคณะสงฆ์ออกเป็นสองคณะ ได้แก่ คณะป่าแก้ว มีศูนย์กลางอยุ่ที่วัดเขียนบางแก้ว และคณะลังกาชาติมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดพะโคะ ต่อมาคณะสงฆ์ดังกล่าวได้พัฒนาเป็นสมณศักดิ์ พระครูสี่รูป ได้แก่ พระครูกาแก้ว พระครูกาชาติ พระครูการาม และพระครูกาเดิม ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่ใช้ในหัวเมืองพัทลุงสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
           การกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุง  กัลปนาเป็นพิธีบุญอย่างหนึ่ง เข้าใจว่าเกิดนิยมในคณะสงฆ์ฝ่ายมหายานเพื่อแข่งขันกับฝ่ายพราหมณาจารย์ หลักฐานที่บ่งถึงเรื่องนี้คือ จารึกหลักที่ ๓ ซึ่งทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๓๑๘  ภายหลังพระสงฆ์ฝ่ายทักษิณยาน (เถรวาท) รับสืบแบบกัลปนานั้นต่อมา
           ในลุ่มทะเลสาบ พบว่ามีการกัลปนาวัดฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาในสมัยอยุธยา  โดยการพระราชทานที่กัลปนาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักกรพรรดิ์ (พ.ศ.๒๐๙๑ - ๒๑๑๑)  จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๘๔)
               - การศึกษาศาสนธรรม  ในจังหวัดพัทลุงมีสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และแผนกบาลีอยู่ประมาณ ๓๐ แห่ง แผนกธรรมมีตั้งแต่นักธรรมตรีถึงนักธรรมเอก แผนกบาลีสอนปรียญธรรมตั้งแต่เปรียญธรรม ๑ ประโยค ถึงเปรียญธรรม ๖ ประโยค มีการจัดตั้งศูนย์พระปริยัตินิเทศก์ที่กรมศาสนาจัดตั้งขึ้นในทุกจังหวัด เพื่อส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมของพระภิกษุ สามเณร ในสำนักเรียนต่าง ๆ เป็นไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพ มีการจัดการศึกษาทางพุทธศาสนาแก่เยาวชน โดยจัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา มีการจัดตั้งหน่วยส่งเสริมจริยธรรมและวัฒนธรรมแก่เยาวชน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสงฆ์ วัด โรงเรียน ครู นักเรียน และประชาชนทั่วไป มีการส่งเสริมการเรียนการสอนธรรมศึกษาในโรงเรียนมัธยมศึกษาและประถมศึกษา
           ศาสนาอิสลาม  เป็นศาสนาที่ชาวพัทลุงนับถือรองลงมาจากศาสนาพุทธ มีผู้นับถืออยู่ประมาณร้อยละ ๑๐ มีโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่เรียกว่า ปอเนาะ อยู่ ๘ แห่ง ชาวไทยอิสลามส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอปากพะยูน อำเภอกงหรา อำเภอตาโหมด อำเภอเขาชัยสน และอำเภอเมือง ฯ
           เมืองพัทลุงในอดีต มีอาณาเขตกว้างขวางมาก ทางด้านทิศใต้จดเมืองไทรบุรี ซึ่งเป็นหัวเมืองมลายู ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ศาสนาอิสลามเริ่มแพร่ขยายเข้ามาสู่เมืองพัทลุง ตั้งแต่สมัยอยุธยา เจ้าเมืองพัทลุงในสมัยอยุธยา ผู้นับถือศาสนาอิสลามได้แก่ พระยาราชบังสัน (ตะตา) ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๙๑ - ๒๓๐๖ และพระยาภักดีเสนา ระหว่าง พ.ศ.๒๓๐๖ - ๒๓๑๐ ในสมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระยาแก้วโกรพุทธิชัย (ขุน) เจ้าเมืองพัทลุง ระหว่าง พ.ศ.๒๓๑๓ - ๒๓๓๑ เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามมาก่อนแล้วเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ
           ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังมีการอพยพชาวเมืองไทรบุรีมาอยู่ที่เมืองพัทลุงหลายครั้ง นอกจากนี้ยังมีชาวไทยอิสลามจากท้องถิ่นอื่น ๆ มาตั้งถิ่นฐานในเมืองพัทลุงอยู่เรื่อย ๆ ส่วนใหญ่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำเช่น บริเวณทะเลสาบ

           ศาสนธรรม  ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาเอกเทวนิยม ที่นับบถืออัลเลาะห์เพียงองค์เดียว วะหี้ย์ทีอัลเลาะห์ ให้แก่นบีมะหะหมัด มีทั้งหมด ๑๑๔ สุเราะฮฺ (บท) แบ่งอออกเป็น ๖๖๖๖ อายะห์ (โองการ) รวมเรียกว่า คัมภีร์ อัล - กุรอาน มีความเชื่อว่าสรรพสิ่งในสากลจักรวาลอัลเลาะห์ สร้างขึ้นมาและดำเนินไปตามธรรมชาติ ภายใต้กฎเกณฑ์ทอัลเลาะห์ ได้กำหนดไวอัลเลาะห์  เป็นผู้สร้างและผู้อภิบาลให้อยู่ในระบบ และธรรมชาติของมัน ถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดมนุษย์ ให้มีความคิดอิสระที่จะเลือกทำความดีหรือชั่วก็ได้ มนุษย์จึงเป็นผู้รับผิดชอบในพฤติกรรมของตนเอง เชื่อว่าการมีชีวิตในโลกนี้มีเพียงครั้งเดียว เมื่อถึงวันสุดท้ายหรือวันอวสานของชีวิตจะต้องพบกับบัรฺซัค คืออยู่ในสุสานอันเป็นสภาพคั่นกลางระหว่างโลกนี้กับโลกหน้า หลังจากมีชีวิตอยู่ในสุสานก็จะพบกับวันกิยามะฮฺ คือวันที่มนุษย์จะฟื้นคืนชีพหลังจากโลกนี้ได้พินาศแล้ว เพื่อรับคำพิพากษา ผลแห่งบาปบุญมาเป็นเครื่องชี้เพื่อชีวิตแห่งอาคิเราะฮฺ (ปรโลก)
           ศาสนาอิสลาม  แบ่งคำสอนเป็นภาษาสำคัญได้ ๒ ภาคคือ รุกนอิมาน (หลักศรัทธา) และรุกนอิสลาม (หลักปฏิบัติ) นอกจากนั้นแล้วยังมีคำสอนเกี่ยวกับคุณธรรมอื่น ๆ อีกเช่น การมีการสำนึกผิด ความยำเกรงต่ออัลเลาะห์  ความสันดาน ความอดทน ความบริสุทธิ์ใจ ความไว้วางใจพระเจ้า ความรัก ความยินดี ความขอบคุณ และความระลึกถึงความตายเป็นต้น
           ชาวไทยอิสลาม ในจังหวัดพัทลุงได้เรียนรู้ และเผยแพร่ศาสนธรรม ในลักษณะของการจัดตั้งโรงเรียนปอเนาะ โดยการนำของโต๊ะครู ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ทางศาสนาอิสลาม โต๊ะครูต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี มีศีลธรรม เคร่งครัดในการปฏิบัติศานกิจ การเรียนการสอนจะจัดให้ฟรี วิชาที่สอนเป็นวิชาที่เกี่ยวกับศาาสนาอิสลามเช่น การสอนภาคศรัทธา (รุกนอิมาน) ภาคปฏิบัติ (รุกนอิสลาม) ภาคจริยธรรม (อัฆลาก) ภาคประวัติ (ตาริน) และภาคคัมภีร์อัล - กุรอาน เป็นต้น
               - ศาสนสมบัติ  ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ห้ามการสร้างรูปเคารพ ดังนั้นศาสนสมบัติส่วนใหญ่ที่พบเห็นโดยทั่วไป จึงเป็นสิ่งก่อสร้างเนื่องในศาสนาที่สำคัญได้แก่ มัสยิดหรือสุเหร่า คำว่ามัสยิดและคำว่าสุเหร่า ใช้ในความหมายเหมือนกัน โดยคำว่ามัสยิดเป็นคำที่ใช้อย่างเป็นทางการ แต่ในภาคใต้จะมีความหมายต่างกัน คือมัสยิดเป็นศาสนสถานใหญ่ใช้ละหมาดในวันศุกร์ร่วมกัน สุเหร่าจะเป็นสถานที่เล็ก ๆ ใช้ละหมาดห้าเวลา ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก และอยู่กลางชุมชนเกือบทุกแห่ง ในจังหวัดพัทลุงมีมัสยิด และสุเหร่ากระจายอยู่ตามชุมชนมุสลิม จำนวน ๗๙ แห่ง แต่ละแห่งมีสภาพที่แตกต่างกันไป โดยมัสยิดจะก่อสร้างเป็นอาคารรูปโดมขนาดใหญ่  ส่วนสุเหร่ามีลักษณะการก่อสร้างแบบบ้านเรือนของชาวไทยอิสลามทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นอาคารไม้
               - ศาสนบุคคล  ศาสนาอิสลามไม่มีนักบวช แต่ถือว่า คนอิสลามทุกคนทั้งชายและหญิง มีหน้าที่สืบทอดและเผยแพร่ศาสนา ในจังหวัดที่มีคนอิสลามอาศัยอยู่ จะมีการบริหารงานในรูปกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีหน้าที่ให้คำปรึกษา และเสนอความเห็นเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและปฏิบัติงานอื่น ๆ ที่เกี่ยววกับศาสนาอิสลาม เช่น ประนีประนอมหรือชี้ขาดคำร้องทุกข์ของสัปบุรุษประจำมัสยิด กำกับดูแลการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำมัสยิด แต่งตั้งและถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ออกหนังสือรับรองการสมรสและการหย่า เป็นต้น
           คณะกรรมการแต่ละมัสยิด จะมีอิหม่าม ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาอิสลามประจำมัสยิดเป็นประธานกรรมการ ตอเต็บ ซึ่งเป็นผู้แสดงธรรมประจำมัสยิด เป็นรองประธานกรรมการ และมีบิหลั่น ซึ่งเป็นผู้ประกาศเชิญชวนให้คนอิสลามปฏิบัติศาสนกิจเป็นรองประธานกรรมการ และบุคคลอื่นตั้งแต่ ๖ - ๓๐ คน เป็นกรรมการ คณะกรรมการ ฯ มีหน้าที่ดูแลมัสยิดในด้านต่าง ๆ เช่น บำรุงรักษา วางระเบียบภายใน อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจ จัดทำสมุดทะเบียนประจำมัสยิด ส่งเสริมการศึกษาและกิจกรรมที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม
           ศาสนาพราหมณ์  เป็นศาสนาหนึ่งที่ชาวพัทลุงนับถือมาช้านาน โดยผสมกลมกลืนกับพุทธศาสนา และความเชื่อดั้งเดิม ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ปราบปรามแคว้นกลิงคราชในอินเดีย ทำให้ชาวเมืองต่าง ๆ ได้รับความเดือดร้อนจากภัยสงคราม เป็นเหตุให้ชาวอินเดียส่วนหนึ่ง อพยพมายังแหลมมลายู ส่วนหนึ่งขึ้นฝั่งที่เมืองท่าปะเหลียน แล้วข้ามแหลมมลายูมายังเมืองพัทลุง ทางช่องเขาตระ ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด แล้วล่องเรืองมายังทางลำน้ำฝาละมี ขึ้นฝั่งตั้งถิ่นฐานครั้งแรกที่บ้านท่าทิดครุ ตำบลหารเทา อำเภอปากพะยูน ชาวอินเดียเหล่านี้ ได้นำศาสนาพราหมณ์มาเผยแพร่ให้แก่ชาวพื้นเมือง จนแพร่หลายไปทั่วดินแดนลุ่มทะเลสาบสงขลา
           หลักฐานทางโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาของศาสนาพราหมณ์ในลุ่มทะเลสาบสงขลา ส่วนใหญ่พบทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบ บริเวณที่เรียกว่า คาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองพัทลุง เทวสถานที่สำคัญ และเก่าแก่ที่สุดในคาบสมุทรสทิงพระได้แก่ ถ้ำคูหา ซึ่งอยู่ที่เขาคูหาใกล้วัดพะโค๊ะ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ เป็นถ้ำที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔  นอกจากนั้นทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ ได้พบหลักฐานศาสนาพราหมณ์ ในบริเวณวัดเขียนบางแก้ว อำเภอเขาชัยสนได้แก่ โบสถ์พราหมณ์
           พราหมณ์พัทลุงถือตนว่าเป็นชนวรรณะสูง ที่สืบเชื้อสายมาจากพราหมณ์อินเดีย จึงมักนิยมตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มเฉพาะของพวกตน ในบริเวณพื้นที่สูงที่ถือว่าเป็นมงคล และจะไม่คำความเคารพบุคคลอื่น นอกจากพระสงฆ์ รูปเคารพมีอยู่หลายองค์เช่น พระโพธิสัตว์บัญชุศรี พระศวร พระอุมา พระพิฆเนศวร และแหวนรูปโคนนที เป็นต้น
  บุคคลสำคัญของท้องถิ่น
           พระยาพัทลุง (ขุน)  พระยาพัทลุง (ขุน ณ พัทลุง)  ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ขุนคางเหล็ก เป็นบุตรของพระยาราชบังสัน (ตะตา) ผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง (พ.ศ.๒๒๙๑ - ๒๓๐๖) เริ่มเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้นายขุนเป็นพระยาแก้วเการพพิไชย ฯ ผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๕ แต่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า พระยาพัทลุงขุนคางเหล็ก
           พระยาพัทลุง (ขุน)  ได้ย้ายเมืองพัทลุงจากบ้านม่วง ตำบลพญาขัน อำเภอเมือง ฯ ไปตั้งที่บ้านโคกลุง ตำบลลำปำ อำเภอเมือง
           เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาพัทลุง (ขุน) เป็นเจ้าเมืองพัทลุงต่อไป
           ในปี พ.ศ.๒๓๒๘ พม่ายกทัพเรือมาประชุมทัพที่เมืองมาริด แล้วยกมาตีเมืองถลาง เมืองชุมพร เมืองไชยา และเมืองนครศรีธรรมราชไว้ได้ แล้วเข้าไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช เพื่อเตรียมเข้าตีเมืองสงขลา และเมืองพัทลุงต่อไป
           พระยาพัทลุง (ขุน)  ได้รับความช่วยเหลือจากมหาช่วยเจ้าอธิการวัดป่าเลไลย์ รวมกำลังต่อสู้กับพม่าแต่ยังไม่ทันได้สู้รบกัน เนื่องจากพม่าทราบข่าวว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จยกกองทัพหลวงลงมาตีพม่าแตกไปทุกแห่ง พม่าจึงเลิกทัพกลับไป พระยาพัทลุง (ขุน) ได้เฝ้ากราบบังคมทูลความดีความชอบของมหาช่วย ต่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระองค์ทรงดำริเห็นว่าเป็นผู้ได้ราชการมีความชอบมาก แต่ถ้าพิจารณาไปข้างหน้าที่สมณะก็เห็นว่ามัวหมองอยู่ จึงได้สึกออกจากบรรชิตแล้วโปรดแต่งตั้งให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ ผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุง
           ในครั้งนั้นสมเด็จพระบวรราชเจ้า ฯ โปรดให้ข้าหลวงเชิญกระแสรับสั่งออกไปถึงพระยาปัตตานี พระยาไทรบุรี และพระยาตรังกานู ให้มาอ่อนน้อม พระยาปัตตานีไม่ยอมมาจึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาพัทลุง(ขุน) เป็นแม่กองยกทัพเมืองพัทลุง และเมืองจะนะ เป็นทัพเรือโดยเสด็จไปตีเมืองปัตตานีได้
           พระยาพัทลุง (ขุน)  ได้ทำคุณประโยชน์ไว้แก่ประเทศชาติ ด้วยความซื่อสัตย์ เสียสละและจงรักภักดี เป็นแบบฉบับแก่อนุชนรุ่นหลัง ได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๒ เป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงได้ ๑๗ ปี
           พระยาพัทลุง  (ทองขาว)  เป็นบุตรพระยาพัทลุง (ขุน) เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๑ ได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เป็นที่หลวงนายศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก
           ในปี พ.ศ.๒๓๓๔ พวกแขกโต๊ะหะยี เมืองเซี้ยะกับแขกเมืองปัตตานี ร่วมกันเป็นกบฎ ยกกำลังเข้าตีเมืองสงขลา พระยาศรีไกรลาศผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงขณะนั้น กลัวกบฎพาครอบครัวหนีเข้าป่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงออกมาถอดเจ้าเมือง แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงนายศักดิ์ ฯ อยู่รั้งเมืองพัทลุง เมื่อรั้งเมืองอยู่ได้ ๒ ปี ก็ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาวิชิตเสนา ฯ ผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง
           พระยาวิชิตเสนา ฯ ได้สร้างคุณงามความดีไว้หลายประการ กล่าวคือ ในปี พ.ศ.๒๓๓๖  สมเด็จพระบารราชเจ้า ฯ เสด็จยกทัพไปตีเมืองทวาย ตะนาวศรี และเมืองมะริด โปรดเกล้า ฯ ให้เกณฑ์กองทัพเมืองพัทลุง พระยาพัทลุงได้คุมกองทัพเมืองพัทลุงไปร่วมกับกองทัพหลวง
           ในปี พ.ศ.๒๓๕๒ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองถลาง พระยาพัทลุงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ยกกำลังเมืองพัทลุงไปสมทบทัพหลวงที่เมืองตรัง เข้าตีเมืองถลางคืนจากพม่าได้
           ในปี พ.ศ.๒๓๕๖ เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) เกิดเหตุพิพาทกับพระยาอภัยนุราช (ปัศนุ) เรื่องที่บ้านส่วย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหหล้านภาลัย ได้สั่งให้พระยาพัทลุง (ทองขาว)  ออกไปไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท ก็สามารถทำการได้สำเร็จ
           พระยาพัทลุง (ทองขาว)   มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก ได้สร้างวัดมีอุโบสถและระเบียงรอบไว้กลางเมืองพัทลุง พระยาพัทลุง (ทองขาว) เป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงอยู่ ๒๖ ปี ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๐  รวมอายุได้ ๕๙ ปี
           พระยาพัทลุง (จุ้ย)  เป็นบุตรเจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์) ผู้เป็นต้นสกุลจันทโรจวงศ์ เข้าใจว่าเกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เริ่มรับราชการถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยเมื่อยังทรงพระเยาว์ ต่อมาเมื่อพระยาพัทลุง (ทองขาว) ได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๒ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้นายจุ้ย เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองพัทลุง และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น พระปลัดเมืองพัทลุง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๐
           ในปี พ.ศ.๒๓๗๓  ตนกูเด็น หลานพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน)  ซึ่งหนีไปอยู่เกาะหมาก เป็นกบฎต่อไทยได้ยกกำลังเข้ายึดเมืองไทรบุรีไว้ได้ พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง ณ นคร) หนีมาอาศัยอยู่ที่เมืองพัทลุง เจ้าพระนานคร (น้อย) ทราบข่าวศึกได้เกณฑ์กองทัพเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองพัทลุง ยกไปตีเมืองไทรบุรีคืน พระยาพัทลุง (น้อยใหญ่ ณ นคร)  จึงให้พระปลัด (จุ้ย) คุมกองทัพเมืองพัทลุงไปแทนตน ยกกำลังเข้ายึดเมืองไทรบุรีคืนได้
           ในปี พ.ศ.๒๓๘๑  ผู้ว่าราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ เข้ามาในงานพระเมรุพระบรมศพสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระพันปีหลวง หลานเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน)  ถือโอกาสร่วมมือกับหวันมาลี โจรสลัดอยู่ที่เกาะยาว หน้าเมืองภูเก็ต ยกกำลังเข้ายึดเมืองไทรบุรีได้ พระยาไทรบุรี (แสง ณ นคร) หนีมาอาศัย พระยาพัทลุง (น้อยใหญ่ ) อีกครั้งหนึ่ง ต่อจากนั่นตนกูหมัดสะอัด ได้ยกกำลังเข้าตีเมืองสงขลา ได้มีการเกณฑ์กำลังเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองพัทลุงไปตีเมืองไทบุรี พระปลัด (จุ้ย) ยกกำลังไปตั้งที่เมืองสตูล ได้รบกับฝ่ายข้าศึก ฝ่ายไทยมีกำลังน้อยกว่าจึงถูกตีแตก พระปลัด (จุ้ย) ได้เดินทางกลับถึงเมืองพัทลุง แล้วรวบรวมกำลังยกกลับไปตั้งค่ายรับทัพกบฏ อยู่ที่ด่านทางรวมซึ่งเป็นทางร่วมของเมืองสงขลา เมืองพัทลุงและเมืองสตูล ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งค่ายสู้รบกันเป็นสามารถ พอกำลังจากเมืองสงขลายกมาถึง พระปลัด (จุ้ย) ได้รวมกำลังเข้าตีพวกกบฏ ได้เมืองสตูลคืน ฝ่ายพระไทรบุรี (แสง) ก็สามารถตีเมืองไทรบุรีคืนจากกบฏได้
           ในปี พ.ศ.๒๓๘๓  พระปลัด (จุ้ย) ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาอภัยบริรักษ์ ฯ ผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง ได้ดำรงตำแหน่งอยู่ ๑๒ ปี จึงถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๓

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |