| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ภูมิปัญญาชาวบ้าน

            การตีเหล็ก  การตีเหล็กเป็นงานประณีตใช้ฝีมือเฉพาะตัว และใช้ความรู้ความสามารถสูง เริ่มตั้งแต่ต้องรู้จักธรรมชาติของเหล็กแต่ละชนิด ที่จะนำมาผลิตเป็นของใช้ได้อย่างดีมีคุณภาพเหมาะสม ต้องรู้จักวิธีเผาให้เหล็กอ่อนนิ่มพอที่จะเข่นตัดแต่งขึ้นรูปได้ตามต้องการ ต้องรู้จักการตีเหล็ก ให้เป็นบ้องเป็นปลอกที่ได้ขนาดพอเหมาะ และการเชื่อมน้ำประสานทอง ต้องมีฝีมือในการตกแต่งเหล็กที่ขึ้นรูปมาแล้วได้อย่างดี ให้มีคุณลักษณะที่เหมาะสมและสวยงาม
            ขั้นตอนสุดท้ายซึ่งเป็นหัวใจของการตีเหล็ก และเป็นเทคนิคของช่างแต่ละคนคือการชุบเหล็กให้แกร่งและคมได้อย่างแท้จริง ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ สังเกตุ ทดลอง และฝึกหัดอย่างจริงจัง จึงจะสามารถทำได้
                 เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตีเหล็ก  ได้แก่ เตาเผาเหล็ก ถ่าน ทั่งใหญ่ กลาง เล็ก คีมคีบเหล็กขนาดต่าง ๆ เหล็กห่อบอง ตะไบขนาดต่าง ๆ ปากกาจับเหล็ก เครื่องหินเจียระไน สูบลม อ่างน้ำ เลื่อยตัดเหล็ก เหล็กสะกัด เหล็กเจาะรู กบสำหรับขูดเหล็ก ลวดหรือชิ้นทองเหลือง ดินเหนียว แปรงทองเหลือง น้ำมันทากันสนิม ยาสำหรับชุบน้ำเพื่อจับเหล็ก
                 ขั้นตอนในการตีเหล็ก  มีอยู่สี่ขั้นตอนใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ
                    การคัดเลือกเหล็ก  โดยทั่วไปเหล็กที่นำมาใช้ในการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ ช่างเหล็กจะเลือกมาจากเหล็กที่มีใช้อยู่แล้วในท้องถิ่นเช่นเหล็กจอบ เหล็กก่อสร้าง เหล็กผานรถไถนา เหล็กแหนบรถยนต์และอื่น ๆ โดยมุ่งให้เหมาะสมกับเครื่องใช้ที่ต้องการจะผลิตขึ้นมา ส่วนมากจะใช้เหล็กแหนบรถยนต์ในการทำมีดหรือเครื่องใช้ที่มีคม
                    การขึ้นรูป  เมื่อได้เหล็กที่ต้องการแล้ว จะนำไปเผาไฟในเผาเหล็ก โดยสูบเป่าลมเผาเหล็กจนร้อนแดง แล้วนำออกมาตัดด้วยเหล็กสะกัด ให้ได้ขนาดตามสิ่งของที่ต้องการจะผลิต เช่น ถ้าเป็นมีดขอ จะใช้เหล็กขนาดกว้าง ๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๙ นิ้ว จากนั้นนำเหล็กที่ได้ขนาดพอดี แล้วเข้าเผาในเตาจนร้อนแดง แล้วใช้ค้อนทุบเหล็กชิ้นนั้นให้เป็นรูปตามที่กำหนดไว้ ถ้าเหล็กหนามากต้องเอาเข้าเตาเผาอีกแล้วนำออกมาใช้ค้อนทุบ แต่งขึ้นรูปหลายครั้ง บางทีต้องใช้ค้อนใหญ่ช่วยทุบ ในขณะที่เหล็กยังร้อนแดงอยู่ ดังนั้นช่างเหล็กจึงจำเป็นต้องมีผู้ช่วยสำหรับเข่นเหล็กด้วย
                    การเชื่อมประสานเหล็ก  เมื่อขึ้นรูปตามที่ต้องการแล้ว หากมีส่วนใดที่ต้องเชื่อมประสานให้เป็นบ้องหรือปลอก สำหรับใส่ด้ามก็จะเอาไปทะบ้อง โดยนำเหล็กที่ตีแผ่ดีแล้วไปเผาไฟ จากนั้นม้วนเข้าหากันตามรูปที่กำหนด จากนั้นในขณะที่เหล็กยังร้อนอยู่มาก ใช้น้ำประสานทองทาไปตามรอยที่จะเชื่อมจนตลอดแนว แล้วใช้แผ่นทองเหลืองหรือลวดทองเหลือง วางบนรอยน้ำประสานทอง นำเข้าเตาเผาจนเหล็กแดงอีกครั้ง ทองเหลืองจะละลายเชื่อมประสานอย่างทั่วถึง

                    การตกแต่ง  หลังจากได้รูปผลิตภัณฑ์ที่ต้องการแล้วก็นำไปตกแต่งด้วยเครื่องเจียระไน ไสด้วยกบ สำหรับขูดเหล็กและตะไบจนคม เรียบร้อยสวยงาม ได้รูปสมบูรณ์
                    การชุบ  เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดและเป็นเทคนิคชั้นสูงที่เป็นฝีมมือของช่างแต่ละคนเช่น การชุบมีด ถ้าชุบแกร่งเกินไปคมมีดจะเปราะ บิ่นง่าย และลับให้คมยาก ถ้าชุบอ่อนเกินไปมีดจะคมไม่ทน คมมีดจะยู่และบิดเบี้ยวง่ายเมื่อลับหรือฟันของแข็ง ๆ

                    การชุบมีดให้คม คือการนำมีดไปเผาจนร้อนแดง จนสุกสม่ำเสมอ หรือใช้ดินเหนียวเปียก ๆ ลูบทาไปตามคมมีดทั้งสองด้าน แล้วเอาเข้าเตาเผาให้ร้อนแดงอีกครั้ง จากนั้นนำไปชุบน้ำในอ่างโดยนำด้านคมมีดลงชุบ และใช้คมมีดชุบช้อนขึ้นจนทั่ว ให้สังเกตุตั้งแต่ปลายคมมีดตลอดแนวจะเป็นสีขาว
                    การนำมีดที่เผาร้อนแดงเต็มที่ไปชุบน้ำในทันที คมมีดจะมีลักษณะเป็นสีขาวตลอดแนว ซึ่งจะมีความแกร่งมาก ทำให้คมมีดบิ่นได้ง่าย แต่ถ้าหลังจากเผามีดจนร้อนเต็มที่แล้ว เอาออกจากเตารอไว้สักครู่จนคมมีดมีสีเหลืองหรือสีเหลืองปนดำเล็กน้อย แล้วนำด้านคมลงชุบน้ำจนได้ที่แล้วจึงยกให้ด้านคมหงายขึ้น จะได้มีดที่มีความคม ใช้แล้วไม่บิ่น มีคุณภาพตามที่ต้องการ

            การทำเปลือกหอยมุก  หอยในท้องทะเลไทยมีอยู่มากมาย แบ่งออกเป็น หอยฝาเดี่ยวและหอยฝาคู่ โดยมากหอยทะเลมักชอบอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง ทั้งในเขตน้ำตื้นและน้ำลึก บางชนิดฝังตัวอยู่ตามโคลนและทราย หอยส่วนใหญ่จะมีเปลือกที่มีคราบหินปูน และตะไคร่น้ำจับอยู่เต็มไปหมด แต่มีเปลือกหอยบางชนิดมีผิวเรียบ เป็นมันวาว สวยงาม เช่น หอยตระกูลเบี้ย หอยเต้าปูน ฯลฯ
            เปลือกหอยที่ผ่านการเจียระไนจนเป็นมันวาวคล้ายมุก ที่นำไปฉลุลวดลายต่าง ๆ ใช้ทำเครื่องประดับมุกที่สวยงามมีอยู่หลายชนิดเช่น หอยอูง หอยกาบน้ำจืด หอยตาวัว หอยมุกจาน หอยโข่งไฟ หอยเป้าฮื้อ เป็นต้น แต่เปลือกหอยที่นิยมมากที่สุดคือ หอยมุกจาน และหอยโข่งไฟ ช่างจะนำไปประดับแทนมุก กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำจากไม้

                 อุปกรณ์ทำเปลือกหอยมุก  ได้แก่ ลูกขัดซี่ลวด แปรงลวด หินเจียระไน กระดาษทราย ผ้าขัดมัน กรดเกลือ อ่างพลาสติกและน้ำ
                 วิธีขัดเปลือกหอย  เปลือกหอยที่ได้จากทะเลโดยธรรมชาตินั้นจะมีหินปูนและตะไคร่น้ำเกาะอยู่ ช่างจึงต้องเป็นคนช่างสังเกตุ ทดลอง และเรียนรู้คุณสมบัติของเปลือกหอยประเภทต่าง ๆ จนมีความชำนาญ และเมื่อเลือกเปลือกหอยที่ต้องการได้แล้ว ช่างจะต้องมีฝีมือ และมีความชำนาญอย่างยิ่ง ในกรรมวิธีขัดเปลือกหอยด้วยความประณีต
                 ขั้นตอนในการขัดเปลือกกหอย  มีอยู่เจ็ดขั้นตอนด้วยกันคือ
                    ๑. ล้างเปลือกด้วยน้ำจืดให้สะอาดแล้ว ผึ่งแดดให้แห้งสนิท
                    ๒. ใช้เครื่องขัดด้วยลูกขัดซี่ลวด เพื่อขัดเอาหินปูนที่เปลือกหอยออกจนหมด
                    ๓. นำเปลือกหอยที่ขัดแล้วมาเจียระไน ลอกเอาผิวออกจนทั่วและสม่ำเสมอ
                    ๔. นำเปลือกหอยที่เจียระไนแล้วไปล้างด้วยน้ำผสมกรดเกลืออ่อน ในอัตราส่วน ๒ ต่อ ๑ โดยประมาณในอ่างพลาสติกเพื่อให้สวยสดใส วิธีล้างให้จุ่มเปลือกหอยลงไปแล้วรีบนำขึ้นมาใช้แปรงลวดขัดผิวจนหมดหินปูน อย่าจุ่มไว้นานเพราะกรดเกลือจะกัดเปลือกหอยจนกร่อนเสียหายได้
                    ๕. นำไปล้างน้ำจืดจนหมดกรดเกลือ แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
                    ๖. ใช้เครื่องขัดด้วยลูกขัดที่เป็นกระดาษทรายละเอียด ขัดเปลือกหอยจนทั่ว
                    ๗. ใช้เครื่องขัดด้วยลูกขัดที่เป็นผ้า และใช้น้ำยาถูผ้าเพื่อให้ขัดมันให้ใสแวววาว พร้อมที่จะนำไปใช้งานได้ต่อไป
               เปลือกหอยที่ได้ผ่านกรรมวิธีดังกล่าวแล้วนิยมนำไปใช้ประดับเครื่องใช้ที่มีค่าต่าง ๆ เช่นโต๊ะ ชุดเครื่องเรือน ตู้ กรอบรูป สิ่งของเครื่องใช้ ด้ามปืนพก เครื่องสงฆ์ภัณฑ์ กี่น้ำชา ตลับใส่เพชรพลอย ฯลฯ
            เสื่อเมืองแกลง  การทำเสื่อเมืองแกลงโดยเฉพาะเสื่อกก สันนิษฐานว่ามีมาแล้วช้านาน สุนทรภู่ได้เขียนไว้ในนิราศเมืองแกลง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๐ มีความตอนหนึ่งว่า

ถึงบ้านแกลงลัดบ้านไปย่านกลาง         เห็นฝูงนางสานเสื่อนั้นเหลือใจ
 แต่ปากพลอดมือสอดขยุกขยิก           จนมือหงิกงิแงไม่แบได้
เป็นส่วยบ้านสานส่งเข้ากรุงไกล          เด็กผู้ใหญ่ทำเป็นไม่เว้นคน
            เสื่อเมืองแกลงมีทำกันอยู่สามชนิดด้วยกัน ตั้งแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบันคือ เสื่อกกสานด้วยต้นกกกลม เสื่อคล้าสานด้วยต้นคล้า และเสื่อตอง สานด้วยก้านตองกะพ้อ
                 เสื่อกก  สานด้วยกกกลม กก เป็นพืชชนิดหนึ่งขึ้นอยู่ในน้ำ และที่ชุ่มฉ่ำ มีหลายชนิดด้วยกัน สำหรับกกกลม ที่ใช้สานเสื่อเมืองแกลงนั้น มีลำต้นกลมโคนใหญ่ ปลายเล็ก ต้นกกขนาดใหญ่ ส่วนโคนจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เซนติเมตร ส่วนปลายประมาณ ๐.๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๒.๕๐ เมตร ถึง ๓ เมตร
                    แหล่งกก  ในเขตอำเภอแกลง มีมากที่สำนักใหญ่ (สะพานยายหอม) เกาะลอย แหลมยาง ยายทิ่น แหลมหิน ก้นอ่าว พลงไสว เกาะกก ท่าเสาธง หนองช้างตาย และสำมะปูน
                    ฤดูกาลที่ช่าวบ้านไปถอนกก  เมื่อฤดูเก็บเกี่ยวข้าวผ่านไปแล้ว ระหว่างเดือนอ้าย เดือนยี่ และเดือนสาม พวกชาวบ้านจะพากันไปถอนกก โดยไปพร้อมกันหลายหมู่บ้าน การไปต้องเตรียมเสบียงอาหาร เสื่อ หมอน เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ใส่เกวียนไปที่แหล่งกก เมื่อถึงเแล้วก็จะปลูกปะรำชุมนุม (ที่พัก) ไปตัดหวายขม ซึ่งหาได้ง่ายมาผ่าเป็นเส้นหลาเตรียมไว้ รุ่งขึ้นเช้าหลังจากอาหารเช้าแล้วก็จะแต่งตัวโดยนุ่งกางเกงจีนทั้งหญิงและชาย เฉพาะผู้หญิงต้องใช้เชือกมัดริมขากางเกงไว้กับข้อเท้าให้แน่น เพื่อป้องกันปลิงคืบคลานเข้าร่มผ้า เนื่องด้วยแหล่งกกนั้นมีน้ำลึกเลยอก และมีปลิงชุกชุมต้องเตรียมยากันปลิงถือปูนแดง น้ำมันยาง สำหรับทา ยาฉุนหรือห่อพริกทำเป็นชุดใช้ตีปลิง เมื่อปลิงเกาะ
                    วิธีถอนและทำกก  การถอนใช้สองมือรวบกระหมวดยอดกก แล้วถอนด้วยกำลังแรงพอสมควร ต้นกกจะหลุดจากโคน บางแห่งก็ถอนยาก บางแห่งก็ถอนง่าย ขึ้นอยู่กับดินที่โคนกก การถอนจะถอนเป็่นหน้ากระดานเฉพาะคน กว้างแคบตามความสามารถของแต่ละคน วางกกที่ถอนแล้วไว้บนผิวน้ำถอนเรื่อยไปข้างหน้าเป็นทางยาวเรียกว่า ตีทาง สำหรับลากกกกลับชุมนุม ลงมือถอนกันตั้งแต่เช้าถึงเย็น
                    เมื่อเห็นว่าได้กกมากพอแล้วก็จะมัดโคนกกด้วยหวาย ที่เตรียมติดตัวไปเป็นมัด ๆ แต่ละมัดจะมีเส้นรอบวงประมาณ ๒ ฟุต เรียกว่า ขยุ้ม แล้วนำมาวางซ้อนกันให้เหลื่อมกันเป็นแถวยาวใช้หวายร้อย ลากมาที่ชุมนุมแบกขึ้นบนบกปักหลักไว้สองหลัก หรือสี่หลักสำหรับคุกกก เพื่อจัดกกให้เป็นระเบียบ แล้วมัดด้วยหวายขม เป็นสี่เปลาะต่อมัด กกจำนวนสี่หรือห้าขยุ้ม จะมัดรวมกันเป็นหนึ่งมัด เมื่อมัดเสร็จแล้วก็ตั้งขึ้นใช้คนสองคนยกขึ้นกระทุ้งสองสามครั้ง เพื่อให้โคนกกเสมอกันแล้วใช้มีดขอคมตัดปลายตามขนาดของกกยาวหรือสั้น แล้ววางรวมไว้
                    การถอนและทำกก ในแต่ละวันกว่าจะเสร็จก็ตกค่ำ จากนั้นจึงหุงหาอาหารกิน แล้วนั่งคุยกันหรือเหลาหวายไว้สำหรับใช้ในวันต่อไป พวกหนุ่มสาวมักเล่นกันสนุก มีการร้องเพลง ร้องลิเก ดีดเพลี้ย (เครื่องดนตรีประเภทดีดชนิดหนึ่งทำด้วยไม้ไผ่คล้ายจ้องหน่อง) ถ้าชุมนุม (ที่พัก) อยู่ใกล้กัน ก็ไปมาหาสู่กัน และเกี้ยวพาราสีกัน ตามประสาหนุ่มสาว
                    สิ่งที่เป็นอันตรายแก่คนถอนกกอีกอย่างหนึ่งนอกจากปลิงคือ เกิดอาการคันตามร่างกายจนนอนไม่ใคร่หลับ เพราะน้ำในแหล่งถอนกกเป็นพิษ
                    การไปถอนกก จะมีการพักค้างแรมอยู่อย่างมากไม่เกินเจ็ดวัน เมื่อได้กกพอแก่ความต้องการแล้ว ก็นำไปบรรทุกเกวียนกลับบ้าน เกวียนเล่มหนึ่งบรรทุกได้อย่างมากไม่เกิน ๑๒ มัด เมื่อถึงบ้านก็เอากกลงจากเกวียนแล้ววางหรือพิงไว้ จากนั้นไปขุดเอาดินเหนียวสีขาวมาใส่ตะลุ่มละลายน้ำอย่าให้เข้มเกินไป แก้มัดกกคลี่ขยายวางไว้บนไม้ไผ่ หรือไม้รวกที่ใช้รองรับ ใช้น้ำดินเหนียวประพรมให้ทั่ว เรียกว่า ย้อมกก เสร็จแล้วรวมเป็นขยุ้ม ๆ มัดโคลนมัดปลายตั้งทิ้งไว้กับไม้คืนหนึ่ง เพื่อให้น้ำย้อมกกเสด็จ รุ่งเช้าจึงเอาไปคลี่ตากแดดหนึ่งวัน ถ้าแดดกล้ามากต้องเก็บก่อน มิฉะนั้นกกจะกรอบเกินไป
                    เมื่อกกแห้งดีแล้วก็มัดโคนมัดปลายทำเป็นขยุ้มเหมือนเดิม แล้วนำมาย่ำด้วยเท้าซึ่งต้องแตะแคงเท้าย่ำ เพื่อให้มีแรงกดมากพอที่จะทำให้ข้อข้างในกกแตก จากนั้นจึงแก้มัดโคนออก แต่มัดปลายไว้ให้แน่น แล้วแผ่ขยายให้โคนบานออกเหมือนรูปพัด นำไปตากแดดอีกครั้งให้โคนกกแห้งสนิทดีเรียกว่า รำหา จากนั้นนำกกมามัดเป็นมัด ๆ โดยใช้ต้นกกเป็นเชือกมัดห้าเปลาะ หรือหกเปลาะ โดยรวมกกสามหรือสี่ขยุ้มต่อหนึ่งมัด นำไปเก็บไว้บนเชิงใต้ถุนบ้านหรือบนบ้าน เพื่อป้องกันปลวกและหนูกัด
                    เมื่อจะสานเป็นเสื่อก็นำกกมาขยายมัดให้หลวม ๆ แล้วตำด้วยสากไม้บนเขียงหรือกระดานตำกก เมื่อตำกกจนอ่อนนิ่มได้ที่แล้ว จะใช้มือทั้งสองกำปลายกกไว้ให้แน่น แล้วฟาดโคนกกกับข้างเขียงหรือกระดานตำกกให้เปลือกกก (ปะปะ) ที่หุ้มโคนกกอยู่ออกให้หมด แล้วคัดเลือกแยกออกเป็นเส้นใหญ่เส้นเล็ก เส้นใหญ่ สำหรับสานเสื่อห้อง เส้นเล็กสำหรับสานเสื่อเขลียง และอื่น ๆ

                    การสานเสื่อกก  นับเป็นศิลปหัตถกรรม ถ้าผู้สานมีความละเอียดลออ รู้จักเลือกกก และมีฝีมือดี จะทำได้สวยงาม ผู้สานเสื่อจำต้องไว้เล็บเล็กน้อย สำหรับใช้ปลายเล็บจัดเสื่อให้แน่น
                    เครื่องมือในการสานเสื่อมีเข็ม ทำด้วยไม้ไผ่อย่างเดียว มีขนาดเท่าความแบนของลำกก ยาวประมาณสองคืบ เหลาให้หัวเข็มเรียวเล็กน้อย ให้มีความอ่อนพอเหมาะ ต้องใช้ไม้ไผ่ขังข้อเป็นโคนเข็มผ่าก้นเข็มเสมอข้อยาวประมาณ สองนิ้วฟุต สำหรับหนีบเส้นกก เมื่อเวลาต่อกกหรือเก็บหนวดกกซุก เวลาสานเสื่อเสร็จแล้วเรียกว่า ชุน
                    เสื่อทุกชนิดปกติเป็นลายสอง คือ ยกสองข่มสอง ตามลักษณะของลวดลายดอกและรูปสัตว์นั้น ๆ การสานเสื่อกกเป็นลวดลายดังกล่าว สานเฉพาะที่เป็นสื่อเขลียง ซึ่งใช้กกเส้นเล็ก ๆ เท่านั้น สำหรับเสื่อห้องจะสานเป็นลายสองตายตัว เสื่อลายสองมีความทนทานกว่าเสื่อที่ลวดลายอื่น
                    การสานเสื่อต้องสานตั้งแต่ต้นก่อน ต้องการให้สั้นยาวเพียงใดก็สานต่อตั้งต้นให้สั้นยาวเพียงนั้นต่อไปจนกว่าจะเสร็จ เมื่อสานเสร็จเวลาทำเสื่อสำเร็จรูปต้องตัดโคน หรือเหลากกด้วยมีดบาง ๆ และคม โดยวางคมมีดไว้เพียงเบา ๆ ดึงเส้นกกตัดคมมีดเอาส่วนที่ไม่ต้องการทิ้งไป เรียกว่า ตัดหนวดกก เป็นอันเสร็จ
                    งานสานเสื่อกกของชาวเมืองแกลง ถือเป็นงานอดิเรกของผู้หญิง ส่วนผู้ชายทำไม่เป็น แต่พวกผู้ชายก็เป็นกำลังสำคัญในการไปถอนกก
                    ประเภทของเสื่อกก  เสื่อกกเมืองแกลงมีหลายประเภทด้วยกันคือ
                        ๑. เสื่อห้อง สานเป็นสามเขลียงติดกัน มีรูปเหลี่ยมกว้างยาวเท่ากันประมาณ ๒.๕๐ เมตร สานด้วยกกอย่างเส้นใหญ่ เสื่อห้องผืนหนึ่ง ๆ ใช้เวลาสานหนึ่งวันเต็ม ใช้ปูตากข้าว และของอื่น ๆ ปูนั่ง ปูนอน
                       ๒. เสื่อสองเขลียง สานติดกันเป็นสองเขลียง กว้างยาวประมาณ ๒ เมตร ยาวประมาณ ๒.๕๐ เมตร สานด้วยกกอย่างเส้นเล็ก ใช้ปูนั่ง ปูนอน และอย่างอื่น ๆ
                       ๓. เสื่อเขลียงเดียว สานเป็นเขลียงเดียว กว้างประมาณ ๑ เมตร ยาวประมาณ ๒.๕๐ เมตร สานด้วยกกอย่างเส้นเล็ก
                       ๔. เสื่อลวด สานต่อเส้นกก กว้างประมาณ ๑ เมตร ยาวตามที่ต้องการ ปกติยาวตั้งแต่ ๑๐ เมตร ถึง ๑๖ เมตร สานด้วยกกอย่างเส้นใหญ่ ใช้อยู่ตามวัดเป็นสื่อพิเศษ ชาวบ้านไม่นิยมใช้
                       ๕. เสื่อนั่ง สานสำหรับนั่งคนเดียว กว้างยาวเท่ากันประมาณ ๑ เมตร สานด้วยกกอย่างเส้นใหญ่ ใช้เป็นที่รองนั่งผืนละหนึ่งคน นิยมใช้เป็นที่นั่งของพระภิกษุ สามเณร
                    นอกจากนี้กกยังสานเป็นกระสอบใส่ข้าว หรือสิ่งอื่น ๆ เช่น กะหมุก กระสอบมุม กระชอน ฝาชี กลักยาสูบ ฯลฯ
                    การเก็บรักษาเสื่อกก  เสื่อห้องเก็บพับสี่เหลี่ยมหรือม้วนกลม เสื่อเขลียงและเสื่อลวด เก็บม้วนกลม เสื่อนั่งเก็บวางไว้กับพื้น ถ้ามีหลายผืนให้วางซ้อนกันเป็นชั้น ไม่นิยมพับหรือม้วนเพราะมีขนาดเล็กและจะทำให้ขาดเร็ว

                 เสื่อคล้า  ทำด้วยต้นคล้าซึ่งต้นไม้ขึ้นอยู่ในที่ชื้นแฉะมีลำต้นและใบคล้ายต้นข่า ผิวเลี่ยมไม่มีข้อ ลำต้นกลมสลวย โคนใหญ่ ปลายเล็ก ยาวประมาณ ๒.๕๐ - ๓.๐๐ เมตร
                 การทำเสือคล้าง่ายกว่าการทำเสื่อกก เพียงแต่ไปตัดต้นคล้าในป่า โดยตัดโคนตัดปลายพอได้มากพอแก่ความต้องการแล้ว ทำลูกรนผ่าสี่หักขี้ออก แล้วบรรทุกเกวียนกลับบ้าน นำมาครูดขี้ออกอีกครั้งหนึ่ง แล้วตากแดดไว้ประมาณสอง - สามวัน เพื่อให้แห้ง เมื่อคล้าถูกแดดก็เหี่ยว จึงเอามารีดกับไม้กลม ๆ ให้แบน แล้วมักนำไปแขวนไว้ นำมาใช้สานเสื่อได้ โดยสานเป็นลายสองเช่นเดียวกับเสื่อกก จะใหญ่หรือเล็กตามขนาดความยาวของคล้า
                 เสื่อคล้าผืนหนึ่ง ๆ ต้องใช้เวลาสานเป็นวัน เมื่อสานเสร็จต้องพับคล้าร้อยริมด้วยหวายตลอดทุกด้านให้มั่นคง ความกว้างยาวของเสื่อคล้าทั่วไป มีความกว้างยาวเท่ากันประมาณ ๑ เมตร หรืออย่างใหญ่ประมาณ ๓ เมตร ใช้ประโยชน์ได้หน้าเดียว ประโยชน์ที่ใช้ก็เช่นเดียวกับเสื่อห้อง
                 เสื่อคล้าเป็นเสื่อที่ชาวบ้านทำใช้เอง ไม่มีการซื้อขายอย่างดีก็นำเอาไปแลกเปลี่ยนกันเท่านั้น เสื่อคล้าเป็นเสื่อแข็งพับไม่ได้ วิธีเก็บรักษาใช้วางไว้กับพื้นบ้าน การม้วนต้องม้วยทะแยงมุมเพียงหลวม ๆ
                 ปัจจุบันมีการทำเสื่อคล้าน้อยมาก เพราะไม่มีต้นคล้าจะทำ ที่ยังทำใช้อยู่มีแต่ชาวบ้านกระแสบน และชาวบ้านอื่นบ้าง ส่วนมากทำใช้ในครอบครัว
                 เสื่อก้านตอง  ปัจจุบันไม่มีคนทำใช้กัน เพราะไม่มีต้นตองจะทำใช้ เสื่อก้านตองทำด้วยก้านกะพ้อ ต้นกะพ้อ หรือตองกะพ้อ มีลำต้นโตขนาดเท่าแขน สูงเต็มที่ถึงสองวา ใบแตกเป็นแฉกลึก กว้างยาวศอกคืบถึงสองศอกคืบ ก้านใบยาวพอ ๆ กับส่วนกว้างของใบ ขอบด้านเป็นหนาม
                 กะพ้อมีอยู่อย่างน้อยสองชนิด ชนิดหนึ่งขึ้นริมทะเลหรือในที่ที่น้ำเค็มขึ้นถึง มักขึ้นเป็นกอ ใบค่อนข้างเป็นรูปไต ไม่กลมแท้และก้นไม่ปิด อีกชนิดหนึ่งขึ้นในที่ชุ่มชื้น และแฉะ เช่นบริเวณริมห้วย ลำธาร และหนองน้ำในป่าดิบชื้น มักขึ้นเป็นหมู่ใหญ่ ชนิดนี้ในกลมก้นปิด ส่วนกะพ้อชนิดที่ตัดก้านมาสานเป็นเสื่อ ดูเหมือนจะหมดไปแล้ว
                 ผู้ที่จะทำเสื่อก้านตองต้องเข้าป่าตัดก้านตองกะพ้อ โดยตัดโคนตัดปลาย ลอกเอาแต่หน้าก้านบาง ๆ รวบมัดเป็นเปลาะ ๆ ใส่เกวียนบรรทุกมาบ้าน เอาแช่น้ำไว้สองคืนแล้วนำมาลอกท้องก้านอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้มีดผ่าปลายเพียงเล็กน้อย เหยียบโคนก้านไว้แล้วฉีกลอกตั้งแต่ปลายถึงโคน ต้องการหนาบางเพียงใดก็ทำตามที่ประสงค์ เมื่อลอกท้องก้านดีแล้วก็คัดเลือกอย่างใหญ่อย่างเล็ก เช่นเดียวกับการทำเสื่อกก จากนั้นจึงนำมาสานเช่นเดียวกับสานเสื่อคล้า ความกว้างยาวของเสื่อก็พอ ๆ กันกับเสื่อคล้า ประโยชน์ที่ใช้ คุณภาพและวิธีเก็บรักษาก็ทำนองเดียวกันกับเสื่อคล้า แต่เสื่อก้านตองมีความสวยงามกว่า

            การแทงหยวกเมืองแกลง  เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดกันมากว่าร้อยปี ปัจจุบันยังมีพบอยู่บ้าง ที่บ้านเนินฆ้อ อำเภอแกลง
            ตามประเพณีและวัฒนธรรมไทยการแทงหยวกที่มีมาแต่โบราณ การแทงหยวกนำไปใช้ในเรื่องการตกแต่งและประดับ ทั้งงานอวมงคลและงานมงคล โดยนำไปใช้ประโยชน์ได้ดังนี้คือ
                   ๑. ใช้ตกแต่งในงานพิธีโกนจุก
                   ๒. ใช้ตกแต่งในงานพิธีเทศน์มหาชาติ
                   ๓. ใช้ตกแต่งในงานประเพณีตามเทศกาล เช่น งานประเพณีแห่เทียนพรรษา งานประเพณีลอยกระทง งานประเพณีตักบาตรเทโว ฯลฯ
                   ๔. ใช้ตกแต่งในงานบุญต่าง ๆ
                   ๕. ใช้ตกแต่งในงานพิธีที่เป็นงานอวมงคล อันเกี่ยวเนื่องมาจากการทำบุญให้แก่ผู้ตาย เช่น การบำเพ็ญกุศลให้แก่ผู้ตาย และงานฌาปนกิจศพ เป็นต้น
                 กลวิธีในการแทงหยวก  การแทงหยวกเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่มีขั้นตอนในการปฏิบัติที่ทุกคนต้องถือเป็นแบบอย่าง และทำตามขั้นตอน เป็นงานที่มีความละเอียดอ่อนประณีต ก่อนลงมือทำ ต้องไหว้ครูตามประเพณี
                 อุปกรณ์เครื่องไหว้ครู ประกอบด้วยหัวหมู ขนมต้มแดงต้มขาว เหล้าขาว ธูปเทียนและเครื่องมือแทงหยวก
                 บทสวดพิธีไหว้ครูการแทงหยวก ประกอบด้วยบทไหว้ครู บททำน้ำมนต์ธรณีศาลและบทลาเครื่องไหว้
                    บทไหว้ครู  ตั้งนโม สามจบแล้วต่อด้วย "ลูกขอไหว้คุณครูผู้ประสาทวิชาให้แก่ตัวลูก ลูกขอไหว้พระอินทร์ พระพรหม พระยม พระกาฬ พระจตุโลกบาลทั้งสี่ พระภูมิเจ้าที่ พระธรณี พระแม่คงคา แม่พระพาย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก พระวิษณุกรรม ท้าวเวสสุวรรณ ครูพักลักจำ ครูแนะครูนำ ครูสั่งครูสอน ที่ได้ประสาทพรให้แก่ลูกมา พุทธังประสิทธิเม ธัมมังประสิทธิเม สังฆังประสิทธิเม" จบแล้วกราบสามครั้ง
                    หลังจากทำพิธีไหว้ครูแล้ว ผู้ปฏิบัติสามารถลงมือแทงหยวกจนแล้วเสร็จ ตามขั้นตอนและศิลปะ ตามรูปแบบลวดลายพื้นฐาน
                 การสร้างลายในการแทงหยวก  มีลายฟันปลา ลายริม ลายแข้งสิงห์
                    ลายฟันปลา  วางลายให้อยู่กึ่งกลางของกาบกล้วย ความกว้างของลายประมาณ ๑ นิ้ว ไม่ควรให้ลายแหลมมากนัก เพื่อให้สามารถคงสภาพได้นาน
                    ลายริม  สูงประมาณ ๒ นิ้ว กว้างประมาณ ๓ - ๕ นิ้ว และขีดแนวสร้างลาย
                    ลายแข้งสิงห์  ความสูงประมาณ ๑ นิ้ว ยาวประมาณ ๒ นิ้ว ลายแข้งสิงห์ต้องสร้างลายสลับข้างคือ สร้างลาย เริ่มต้นที่ด้านในของกาบกล้วย แล้วแทงลายเหมือนลายที่สร้างไว้
                 การประกอบลาย  มีอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในแต่ละลายคือ
                    แม่ลาย  ควรใช้กาบกล้วยที่ไม่มีรอยขีดข่วนหรือชอกช้ำ ไม่ควรใช้กาบด้านในมากนัก ในการใช้งานแต่ละครั้งควรเลือกกาบกล้วยที่ใช้เป็นแม่ลาย ให้มีขนาดใกล้เคียงกัน
                    ลายฟันปลา  ใช้กาบกล้วยสองกาบ (สี่ชิ้น)
                    ลายริม  ใช้กาบกล้วยหนึ่งกาบ (สองชิ้น)
                    ลายแข้งสิงห์  ใช้กาบกล้วยสองกาบ (สี่ชิ้น) แต่ต้องใช้ลายจากกาบกล้วยให้สลับข้างกัน
                    ตอก  ยาวประมาณ ๑ ฟุต
                ขั้นตอนการประกอบลายมีอยู่ ๘ ขั้นตอนด้วยกันคือ
                    ๑. นำกาบกล้วยที่ใช้แม่ลายมาหนึ่งกาบ
                    ๒. นำลายฟันปลามาประกอบที่ริมแม่ลายด้านใดด้านหนึ่ง
                    ๓. นำชิ้นรองลายหนึ่งเส้นวางทับลายฟันปลา
                    ๔. นำกล้วยฟันปลาอีกชิ้นหนึ่งมาประกอบเข้า โดยหันด้านนอกเข้าหากัน
                    ๕. นำลายริมมาประกอบด้านนอกสุด ให้สูงกว่าลายฟันปลา
                    ๖. นำไม้แหลมแทงนำทาง แล้วใช้ตอกมัดให้แน่นเป็นระยะ ๆ
                    ๗. ทำตามขั้นตอนที่ ๑ - ๖ อีกด้าน จะได้ลายหนึ่งด้านสำหรับประกอบลายในแนวนอน
                    ๘. สำหรับลายในแนวตั้ง ให้ใช้ลายแข้งสิงห์แทนลายริม ต้องระวังให้ลายขึ้นทั้งสองด้าน
                 การทาสีลวดลายหยวก  เป็นการตกแต่งหยวกที่แทงลวดลายไว้แล้ว เพื่อให้หยวกมีสีสวยงามตามต้องการ มีขั้นตอนการทำดังนี้
                    ๑. ใช้สีผสมอาหารได้แก่สีชมพู สีเหลือง สีเขียว ฯลฯ
                    ๒. ต้องทาสีทันทีเมื่อแทงลวดลายเสร็จเรียบร้อย โดยทาไปทางเดียวกัน
                    ๓. เมื่อทาสีแล้ว ให้นำน้ำไปราด โดยตั้งหยวกขึ้นในแนวตั้ง แล้วราดน้ำจากข้างบนมาข้างล่าง เพื่อให้สีซึมเข้าหยวกที่เป็นลวดลาย
                    ๔. ใช้ผ้าซับน้ำที่หยวกให้แห้ง

            การทำกะปิ - น้ำปลา  กะปิ - น้ำปลาของระยอง เป็นที่ขึ้นชื่อในเรื่องความอร่อย ไม่มีหลักฐานว่ากะปิ - น้ำปลาในเมืองระยองเริ่มผลิตแต่เมื่อใด เริ่มแรกเป็นการผลิตเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน  ต่อมาเมื่อมีการซื้อขายกับคนต่างถิ่น เลยกลายเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน และได้พัฒนาต่อมาเป็นโรงงาน สร้างรายได้ให้แก่ชาวระยอง
            แหล่งผลิตส่วนใหญ่จะอยู่ตามชายฝั่งทะเล มีทั้งที่ผลิตตามหมู่บ้าน เช่น ที่ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง ถ้าเป็นโรงงานใหญ่โต จะอยู่บริเวณตำบลปากน้ำระยอง ถนนอารีราษฎร์ อำเภอเมือง จะมีโรงงานกะปิ - น้ำปลาเรียงรายสลับกับที่อยู่อาศัยของชาวบ้านสองฝั่งปากคลอง มีเรือประมงจอดอยู่ มีท่าขึ้นปลา บ่อหมัก กะปิ - น้ำปลา  ด้านติดถนนจะมีกะปิ - น้ำปลาบรรจุภาชนะแบบต่าง ๆ ตั้งเรียงไว้หน้าร้าน เพื่อขายให้กับบุคคลทั่วไป
            กะปิ - น้ำปลาเป็นการแปรรูปผลผลิตจากทะเลที่ง่าย ไม่สลับซับซ้อน คนทั่วไปสามารถทำได้โดยวิธีทำดังนี้
                วิธีทำกะปิ  เครื่องปรุงมีเกลือ เคย (ลักษณะคล้ายกุ้ง)  อุปกรณ์มีถังหรือหม้อขนาดใหญ่ ครก สาก  มีขั้นตอนการทำดังนี้
                    ๑. นำเคยมาคลุกเคล้าให้เข้ากับเกลือ ด้วยอัตราส่วน เคย ๑๐ กิโลกรัมต่อเกลือ ๑ - ๕ กิโลกรัม แล้วหมักทิ้งไว้ ๑ คืน
                    ๒. นำเคยที่หมักไว้แล้วมาตากแดด ถ้าแดดจัดจะใช้เวลาประมาณ ๑ วัน ถ้าแดดไม่จัด อาจใช้เวลา ๒ วัน ดูจนแห้งสนิท (ปกตินิยมตากแดดเดียว และตากในวันที่แดดจัด)
                    ๓. นำเคยที่ตากจนแห้งสนิทแล้วมาใส่ครก แล้วตำให้ละเอียด
                    ๔. เมื่อเห็นว่าเคยและเกลือคลุกเคล้าจนเป็นเนื้อเดียวกันแล้วก็ถือว่าใช้ได้
                    การเก็บรักษา นิยมเก็บใส่ไหหรือขวดโหลที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันแมลงวันมาไข่ ซึ่งจะทำให้กะปิเป็นหนอน ถ้าจะให้รสชาติดีอร่อยต้องเก็บไว้ประมาณ ๓ - ๔ เดือน จึงจะนำมาบริโภค การเก็บกะปิไว้บริโภคนาน ๆ ต้องกดกะปิให้แน่นเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ให้มีช่องอากาศข้างใน ข้างบนเนื้อกะปิต้องกดให้เรียบ แล้วใช้เทียนละลายปิดให้มิดยิ่งดี
                  ในการทำกะปิ  ถ้าจะให้ได้รสชาติดีต้องใช้เคยกับทราย ถ้าใช้เคยกินเลย กะปิที่ได้จะมีสีดำและรสชาติไม่อร่อย

                 วิธีทำน้ำปลา  เครื่องปรุงมีปลาไส้ตัน (ปลากะตัก) ปลาหลังเขียว (ปลาสันเขียว) ปลาสร้อย ปลาซิวและเกลือเม็ด อุปกรณ์ที่ใช้ได้แก่ ภาชนะบรรจุพร้อมฝาปิด กับเครื่องกรอง มีขั้นตอนการทำดังนี้
                    ๑. นำปลามาล้างทำความสะอาด โดยไม่ต้องสับหรือบดปลา
                    ๒. นำปลาที่ล้างแล้วมาผสมกับเกลือในอัตราส่วน ๓ ต่อ ๑ หรือ ๒ ต่อ ๑
                    ๓. นำส่วนผสมมาคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วจึงบรรจุลงภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดด้วยไม้ขัด เพื่อให้ปลาจมน้ำ
                    ๔. เปิดฝาเพื่อให้ส่วนผสมถูกแดด แต่ต้องคอยระวังไม่ให้น้ำเข้าไปเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ปลาเน่าเสีย
                    ๕. หมักเก็บไว้ประมาณ ๖ เดือน โดยต้องหมั่นเปิดฝาให้ส่วนผสมถูกแดดอยู่เสมอ ถ้าหมักไว้เกิน ๖ เดือน สีน้ำปลาจะเข้มไม่สวยและมีรสชาติเค็มเกินไปไม่อร่อย
                    ๖. เมื่อครบ ๖ เดือน น้ำปลาที่หมักไว้จะมีส่วนผสมที่เป็นน้ำปลากับส่วนที่เป็นกากตกตะกอนอยู่ ให้ตักส่วนที่เป็นน้ำปลาออกมาใส่ภาชนะไว้ ๑ คืน
                    ๗. นำน้ำปลาที่พักไว้ ๑ คืนใส่เครื่องกรองเพื่อให้น้ำปลาใสขึ้น แล้วจึงบรรจุใส่ขวดหรือภาชนะอื่น ๆ
                 น้ำปลาที่ใสจะเรียกว่า น้ำปลาน้ำหนึ่ง ถ้าน้ำปลาน้ำสองจะได้จากการนำกากน้ำปลามาหมักกับน้ำเกลือประมาณ ๒ เดือน เป็นน้ำปลาผสม รสด้อยลงมาและราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่ง
                 กากน้ำปลาสามารถนำไปใช้เป็นอาหารของปลาและเป็นปุ๋ยสำหรับต้นไม้ได้
                 ปลาไส้ตัน ถือว่าทำน้ำปลาได้รสชาติดีที่สุด
                 ภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำปลาต้องแห้งสนิท มิฉะนั้นน้ำปลาจะมีสีดำ มีตะกอนและมีรสชาติเปลี่ยนไป

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |