| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพุทธศาสนา

พระพุทธบาท

            พระพุทธบาท ประดิษฐานอยู่ในมณฑปพระพุทธบาท ในวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ตำบลโขลน อำเภอพระพุทธบาท
            พระพุทธบาทแห่งนี้ได้ถูกค้นพบในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๕๓ - ๒๑๗๑) ครั้งนั้นมีพระสงฆ์ไทยจำนวนหนึ่งจาริกไปยังลังกาทวีป เพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฎ ภิกษุลังกาจึงถามว่า รอยพระพุทธบาทซึ่งประดิษฐานอยู่ที่เขาสุวรรณบรรพต ก็มีอยู่ที่ประเทศไทย เหตุใดจึงไม่ไปนมัสการต้องดั้นด้นมานมัสการถึงลังกา เมื่อพระสงฆ์ไทยดังกล่าวกลับมา ก็ได้นำความนี้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระองค์จึงโปรดเกล้า ฯ ให้มีตราสั่งไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ให้ตรวจหารอยพระพุทธบาท
            ครั้งนั้น เจ้าเมืองสระบุรีสืบได้ความจากพรานบุญว่า ครั้งหนึ่งได้ไล่เนื้อในป่าใกล้เชิงเขา ได้ยิงเนื้อตัวหนึ่งได้รับบาดเจ็บแล้วหนีไปบนไหล่เขา เวลาต่อมาก็เห็นเนื้อตัวนั้นวิ่งออกมาในสภาพปกติ พรานบุญสงสัยจึงขึ้นไปดูบนไหล่เขา ก็เห็นมีรอยอยู่ในศิลาเหมือนรูปรอยเท้าคน ขนาดยาวศอกเศษและมีน้ำขังอยู่ ก็สำคัญว่าเนื้อคงหายบาดแผลเพราะกินน้ำในนั้น จึงลองนำน้ำนั้นมาทาตัวดูบรรดากลากเกลื้อนที่เป็นอยู่ช้านานก็หายไปหมด
            เจ้าเมืองสระบุรีไปตรวจดู เห็นมีรอยอยู่จริงจึงทำใบบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้เสด็จไปทอดพระเนตร แล้วมีพระราชดำริว่า คงเป็นรอยพระพุทธบาทตามที่ทางภิกษุลังกาบอกมาเป็นแน่ ก็ทรงพระโสมนัสศรัทธาจึงโปรดให้สร้างเป็นมหาเจดียสถาน มีมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท และสร้างศาลาสังฆาราม ที่พระสงฆ์อยู่อภิบาล สร้างพระราชนิเวศน์ที่เชิงเขาพระพุทธบาท กับที่ท่าเจ้าสนุก สำหรับประทับเวลาเสด็จไปนมัสการ แล้วโปรดให้ช่างฝรั่ง (ฮอลันดา) ส่องกล้องทำถนนตั้งแต่ท่าเรือไปถึงเขาสุวรรณบรรพต เพื่อให้มหาชนเดินทางไปนมัสการได้สะดวก และทรงอุทิศพื้นที่โดยรอบพระพุทธบาท เป็นระยะทางหนึ่งโยชน์ ถวายเป็นพุทธบูชากัลปนาผล พร้อมทั้งโปรด ฯ ให้ชายฉกรรจ์ที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเขตที่ที่ทรงอุทิศนั้นพ้นจากหน้าที่ราชการอื่น จัดให้เป็นขุนโขลนข้าพระ ปฏิบัติรักษาพระพุทธบาทอย่างเดียว จากนั้นก็เกิดมีประเพณีเทศกาลไปนมัสการพระพุทธบาทในกลางเดือนสาม และกลางเดือนสี่
            พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาเสด็จไปนมัสการ ครั้งที่สมเด็จพระนารายณ์ เสด็จไปนมัสการนั้นได้จัดกระบวนเสด็จมโหฬารมาก โดยจัดเป็นกระบวนพยุหยาตราช้างกระบวนเพชรพวง เป็นกระบวนทางสถลมารคที่ยิ่งใหญ่
            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ปฏิสังขรณ์พระมณฑป เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๐ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้า ถึงกับทรงแบกตัวลำยองเครื่องบนตัวหนึ่ง เสด็จพระราชดำเนินตั้งแต่ท่าเรือไปจนถึงพระพุทธบาท

            มณฑปพระพุทธบาท  เป็นอาคารมีฐานสี่เหลี่ยม เครื่องยอดเป็นปราสาท รูปทรงแบบบุษบกแต่เป็นขนาดใหญ่ หรือทรงเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองผายออก มณฑปที่เก่าแก่ที่สุดอยู่บนยอดเขาพระพุทธฉายในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ตัวมณฑปและยอดก่ออิฐถือปูนตลอด มีทางเข้าคูหาทางเดียวคือทางด้านทิศตะวันออก แม้จะมีการบูรณะต่อมาหลายครั้งก็ยังคงรูปแบบเดิมไว้
            มณฑปแรกสุดที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ทรงสร้างไว้เมื่อครั้งเสด็จมานมัสการพระพุทธบาทครั้งแรก ได้สร้างมณฑปยอดเดียวสวมรอยพระพุทธบาทไว้ แต่ไม่เหลือให้เห็นถึงปัจจุบัน เพราะได้มีการซ่อมสร้างสือบต่อมาอีกหลายครั้งกล่าวคือ ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชรที่ ๘ หรือสมเด็จพระเจ้าเสือ (พ.ศ.๒๒๔๖ - ๒๒๕๑) ได้ทรงเปลี่ยนเครื่องบนมณฑปเป็นห้ายอด ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พ.ศ.๒๒๕๑ - ๒๒๗๕) โปรด ฯ ให้เอากระจกบานใหญ่ ประดับฝาผนังข้างในพระมณฑป และปั้นลายปิดทองประกอบตามแนวที่ต่อกระจก ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๑) โปรด ฯ ให้สร้างบานประตูมุก เปลี่ยนบานประตูมณฑปเดิมทั้ง ๘ บาน ปัจจุบันประตูพระมณฑปเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ นอกจากนั้นยังให้แผ่แผ่นเงินปูลาดพื้นภายในพระมณฑปอีกด้วย
            ในปี พ.ศ.๒๓๐๙ เมื่อพม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ หรือพระเจ้าเอกทัศน์ (พ.ศ.๒๓๐๑ - ๒๓๑๐) พวกจีนอาสาซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลคลองสวนพลู จำนวน ๓๐๐ คน ได้ขึ้นไปยังพระพุทธบาทแล้วลอกทองคำที่หุ้มพระมณฑปน้อย แล้วเผาพระมณฑปเสีย

            พระมณฑปถูกทิ้งร้างอยู่ ๒๐ ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๐ ทำเป็นมณฑปยอดเดียว อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไฟเทียนบูชาได้ลามไหม้ม่านทองที่ปิดพระมณฑปน้อย แล้วลามไหม้พระมณฑปน้อยทั้งหมด พระองค์จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระมณฑปน้อยขึ้นใหม่ พร้อมกับปฏิสังขรณ์พระมณฑปใหญ่ ปิดทองผนังพระมณฑป ซึ่งล่องชาดไว้ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตกแต่งพระมณฑปใหญ่และพระมณฑปน้อยให้งดงามยิ่งขึ้น ทรงเปลี่ยนแผ่นเงินปูพื้นพระมณฑปเป็นเสื่อเงิน
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมผนังข้างในพระมณฑป เขียนเป็นลายทอง ส่วนบันไดนาคทางขึ้นพระมณฑปนั้น เดิมมีสองสาย โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเติมอีกสายหนึ่งเป็นสามสาย แล้วหล่อศีรษะนาค ด้วยทองสำริดไว้ที่เชิงบันได ในตอนปลายรัชสมัยของพระองค์ เครื่องพระมณฑปที่เป็นไม้ชำรุดมากต้องรื้อของเดิมออก แล้วสร้างใหม่ทั้งหมด แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระจุลมงกุฎเหนือพุ่มข้าวบิณฑ์ยอดพระมณฑป

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเครื่องสูงประดิษฐานไว้ในพระมณฑป เพื่อถวายเป็นเครื่องพุทธบูชาด้วย
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนยอดพระมณฑป ซึ่งเดิมทำด้วยเครื่องไม้เป็นคอนกรีตทั้งหมด เขียนลายทองรูปพระเกี้ยวข้างในพระมณฑป เขียนรูปเสี้ยวกางที่หลังบานประตูพระมณฑป ซ่อมดาวที่เพดาน และประดับกระจกที่พระมณฑปน้อย
            เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธี ยกพระจุลมงกุฎยอดพระมณฑป
            เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ ได้มีการซ่อมพระมณฑป เพื่อแก้ไขสิ่งที่ชำรุดทรุดโทรม เป็นการเฉลิมพระเกียรติถวานพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เสด็จครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี

            พระมณฑปพระพุทธบาทปัจจุบันประกอบด้วย เครื่องยอดรูปมณฑปเจ็ดชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียว มีซุ่มบันแถลงประดับทุกชั้น มีเสาหานย่อมุมไม้สิบสอง ปิดทองประดับกระจกโดยรอบ ที่ปลายเสาประดิษฐ์เป็นบัวจงกล และบัวคอเสื้องดงามมาก ฝาผนังด้านนอกประดับด้วยทองแดง และลวดลายเทพพนมบนกระจกสีน้ำเงิน มีพุ่มข้าวบิณฑ์ที่ยอดพระมณฑป ที่ชายคามีกระดิ่งใบโพธิ์ห้อยประดับเรียงราย ซุ้มประตูพระมณฑปเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ บานประตูพระมณฑป เป็นงานศิลปกรรมประดับมุกชั้นเยี่ยมของประเทศไทย ด้านนอกประดับเป็นลวดลายพระนารายณ์ทรงครุฑ พระพรหมทรงหงส์ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และลวดลายกนกต่าง ๆ งดงามมาก ด้านหลังบานประตูพระมณฑปปิดทองล่องชาดเป็นรูปท้าวจตุโลกบาล ที่ผนังด้านในเป็นรูปพระเกี้ยว

            พระพุทธฉาย  พระพุทธฉาย ตั้งอยู่ที่หน้าผาของภูเขาลูกหนึ่งในเขตตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมือง ฯ อยู่ห่างจากถนนพหลโยธินไปทางทิศตะวันออก ตามถนนหมายเลข ๓๐๒๔ ประมาณ ๕ กิโลเมตร
            มีตำนานเล่าสืบกันมาว่า ครั้งหนึ่งพระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จมาโปรดฆาฎกพรานที่ภูเขาลูกนี้ ให้ดำรงตนอยู่ในสัมมาชีพ เมื่อพระพุทธองค์จะเสด็จกลับฆาฎก ทราบได้กราบทูลขอเจดีย์สถานไว้เป็นที่ระลึก พระพุทธองค์ทรงกระทำพุทธปาฎิหารย์ให้พระฉายาของพระพุทธองค์ ปรากฎอยู่ที่หน้าผาของภูเขาดังกล่าว
            การพบพระพุทธฉาย  สันนิษฐานว่า พบในสมัยอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๕๓ - ๒๑๗๑) พระองค์ได้ทรงสร้างพระมณฑปครอบพระพุทธฉายไว้
            ในปี พ.ศ.๒๒๔๘  สมเด็จพระเจ้าเสือ ได้เสด็จมานมัสการพระพุทธบาท ทรงพักอยู่เจ็ดวันแล้วเสด็จมานมัสการพระพุทธฉายอีกสามวัน
            ในปี พ.ศ.๒๓๐๘  สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้เสด็จมานมัสการพระพุทธฉาย ทรงพักแรมอยู่สองวันจึงได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จมานมัสการ และทรงบูรรณะพระพุทธฉาย ทรงสร้างมณฑปขึ้นใหม่แทนมณฑปเดิม เป็นมณฑปสองยอด ทรงปฎิสังขรณ์เสนาสนะสงฆ์และปฎิสังขรณ์มณฑปครอบรอบพระพุทธบาทจำลองบนภูเขาด้านตะวันออก
            พระพุทธฉายเป็นที่เคารพบูชาของชนทั่วไป จะมีงานเทศกาลนมัสการพระพุทธฉาย พร้อมกับงานเทศกาลนมัสการพระพุทธบาทเป็นประจำทุกปี

            พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ  เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นธงชัยสักการะบูชาของชาวไทยทั้งสี่ทิศ กรมการรักษาดินแดนได้สร้างขึ้น เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้สร้างขึ้นสี่องค์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๔๙ นิ้ว โปรดเกล้า ฯ ให้นำไปประดิษฐานไว้ตามทิศทั้งสี่ ณ จังหวัดต่าง ๆ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ คือ
                ทิศเหนือ              ประดิษฐานที่จังหวัดลำปาง
                ทิศตะวันออก        ประดิษฐานที่จังหวัดสระบุรี
                ทิศใต้                  ประดิษฐานที่จังหวัดพัทลุง
                ทิศตะวันตก         ประดิษฐานที่จังหวัดราชบุรี

            พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศที่จังหวัดสระบุรี ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารจตุรทิศ ในบริเวณวัดศาลาแดงตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดสระบุรี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕

            หลวงพ่อศรีพุทธมงคล (หลวงพ่อดำ)  ประดิษฐานอยู่ที่วัดสูง ในเขตตำบลเสาไห้ อำเภอเสาไห้ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำด้วยหินทราย จัดเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย

| ย้อนกลับ | บน |