| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
            ศิลปกรรม  ได้แก่ งานหล่อโลหะ งานปั้น งานแกะสลัก  และงานจิตรกรรมฝาผนัง
                งานหล่อโลหะ  เป็นศิลปะฝีมือสกุลโบราณ ที่เหลือตกทอดถึงปัจจุบัน คือ การหล่อสมไถ  ปักสบ ที่นำมาใส่ที่ปลายคันไถไถนา  จะทำให้ไถคม และไม่สึกง่าย  แหล่งที่หล่อโลหะนี้อยู่ที่บ้านตะดอบ ตำบลตะดอบ บ้านโนนแย้ ตำบลหญ้าปล้อง อำเภอเมือง ฯ และบ้านตะเคียนช่างเหล็ก ตำบลตะเคียน อำเภอขุขันธ์  และยังนำผลผลิตไปจำหน่ายที่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร  อุบล ฯ และสุรินทร อีกด้วย นอกจกานั้นทั้งสามหมู่บ้านยังเป็นแหล่งผลิตเคียวเกี่ยวข้าว เสียม ขวาน มีด สิ่วทุกขนาด หล่อลูกแห ลูกอวน งานดังกล่าวจะทำเมื่อเสร็จภารกิจทำนา
                งานปั้น  ช่างฝีมือปูนปั้น มีผลงานคือ พระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง ที่วัดเลียบบูรพาราม ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมือง ฯ เป็นฝีมือช่างรุ่นใหม่ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๐๘-๒๕๐๙  มีขนาดใหญ่กว่าหลวงพ่อโต วัดมหาพุทธาราม งานสร้างซุ้มประตู และพระพุทธรูป ที่วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมือง ฯ เมืองเหนือ อำเภอเมือง ฯ งานสร้างพระพุทธรูปวัดบ้านกุดโง้ง ตำบลโพนข่า อำเภอเมือง ฯ  งานปั้นพระนอนยาวยี่สิบวา ที่วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมือง
                งานแกะสลัก  บานประตูวิหารวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม  ใช้ไม้ประตูหนาสี่นิ้ว แกะสลักลวดลายพุดตาน และภาพประกอบนูนสวยงามมาก ลงรักปิดทอง ที่ด้านตะวันออก และด้านตะวันตก ในประตูพระวิหาร นอกจากนี้ยังมีบานประตู และหน้าต่างอุโบสถวัดสระกำแพงใหญ่ ตำบลกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย ลักษณะเป็นลายนูนต่ำ ลวดลายเปลว
                งานจิตรกรรมฝาผนัง  ที่วัดต่าง ๆ มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นภาพพุทธประวัติมหาเวรสันดรชาดก นรก สวรรค์ เช่น จิตรกรรมวิหารวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม ตำบละมืองใต้ อำเภอเมือง ฯ ชั้นบนวิหารเป็นภาพพุทธประวัติ ในอุโบสถเป็นเรื่องพระมาลัย จิตรกรรมในวิหารหลวงพ่อโตวัดมหาพุทธาราม ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมือง ฯ  เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อในศาสนาพุทธ จิตรกรรมฝาหนังศาลาวัดหนองหมากแก้ว ตำบลบ่อแก้ว อำเภอวังหิน เป็นภาพมหาเวสสันดรชาดก จิตรกรรมพระธาตุเรืองรอง เป็นภาพประวัติจังหวัดศรีสะเกษ ประวัติอำเภอต่าง ๆ ภาพชาดก และนิทานพื้นบ้าน
            ศิลปการละเล่นพื้นบ้าน  ที่จัดว่าเป็นเอกลักษณ์คือ ฟ้อนกลองตุ้ม  อันเป็นการฟ้อนในงานประเพณีบุญบั้งไฟของชาวศรีสะเกษ ซึ่งมีองค์ประกอบแตกต่างจากการฟ้อนเซิ้งทั่วไปของชาวอีสาน ได้แก่ การแต่งกาย เครื่องประดับ ดนตรีที่ใช้กำกับจังหวะ และลีลาท่าฟ้อน
            ฟ้อนกลองตุ้ม เรียกตามชื่อเครื่องดนตรีหลักกำกับจังหวะการฟ้อน คือ กลองตุ้มซึ่งเป็นกลองสองหน้า ลักษณะเหมือนกลองเพล แต่เล็กและสั้นกว่า เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๓ - ๑๔ นิ้ว ความยาวของกลองประมาณ ๑๘ - ๒๐ นิ้ว เวลาตีมีเสียงดังตุ้มตุ้ม จึงเรียกว่า กลองตุ้ม ใช้ตีนำจังหวะโดยมีพางฮาด หรือฆ้องฮาด


            การฟ้อนกลองตุ้มเป็นวิถีความเชื่อหนึ่งของวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง สันนิษฐานว่า เป็นการบูชาพญาแถน สามารถบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จึงมีประเพณีจุดบั้งไฟเพื่อสื่อไปถึงพญาแถนให้ปล่อยฝน เพื่อชาวโลกจะได้ทำการเพาะปลูกพืชผล
            การฟ้อนกลองตุ้มในอำเภอกันทรารมย์เป็นการฟ้อนแบบชาย จะมีการขับกาพย์เซิ้งไปด้วย มีในหลายหมู่บ้าน มักสืบทอดในกลุ่มผู้ใหญ่  การฟ้อนแบบหญิง ที่บ้านหนองแก้ว ตำบลหนองแก้ว โดยไม่ขับกาพย์เซิ้ง สืบทอดโดยสถาบันการศึกษา ในกลุ่มนักเรียน  ในเขตอำเภอยางชุมน้อย มีการลำเจียงกลองตุ้ม ที่มีลักษณะแบบการฟ้อนกลองตุ้มแบบชาย ที่ขับกาพย์เซิ้งไปด้วย
                    การแต่งกาย  เพื่อเข้าขบวนฟ้อนกลองตุ้ม สวมโสร่ง สวมเสื้อย้อมดำมะเกลือหรือเสื้อแขนสั้นสีขาว ประดับด้วยผ้าแต่ง คือ ผ้าแพรปลาไหล ผืนแรกพันรอบศีรษะ ขมวดปมปล่อยชายยาวข้างหูจรดหน้าอก  อีกสองผืนจะแต่งทับข้างลำตัวโดยห่มเฉียงจากบ่าสองข้างพับไขว้กัน ความยาวของผ้าจะปล่อยลงมาจรดกับเข่าหรือเลยสะโพก  ผ้าผืนที่สี่จะใช้คาดเอว ปล่อยชายทับส่วนกลางของร่างกาย
                    เครื่องประดับ  เรียกว่า ตุ้มเป ตุ้มกลม เป็นสายสะพายคล้ายสายสังวาลสองเส้นไขว้ทับกันตามแนวผ้าเบี่ยง (สไบ) แต่เดิมทำด้วยเงินหรือทองเหลือง และสลับลายร้อยสลับกันระหว่างเหรียญทรงแบน (ตุ้มเป) กับทรงกลม (ตุ้มกลม)
                    กระจกเงาบานเล็ก  เป็นที่นิยมในการฟ้อนกลองตุ้มแบบชาย ใช้แทนสังวาล หันกระจกออกด้านนอก เมื่อต้องแสงแดดจะสะท้อนแสงวูบวาบ  กำไลแขน กำไลข่า หรือกำไลข้อมือกำไลข้อเท้าที่เรียกว่า ก้องแขน ก้องขา  มักทำด้วยเงินฮาง ปัจจุบันหาได้ยาก หิ่งห่อหรือกระพรวนเล็ก ๆ เป็นสายประดับเอว หล่อด้วยทองเหลือง เป็นรูปกลมหลายสิบลูก ข้างในกลวง มีโลหะเล็ก ๆ กลิ้งอยู่ภายใน เมื่อร้อยเป็นสายยาวใช้ผูกเอวพับแพรปิด เวลาเคลื่อนไหวขยับตัวจะเกิดเสียงกรุ๋งกริ๋ง ไพเราะมาก  องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ ซวยมือหรือโครงไม้สาน มีโคนสวมก้านยาวออกไปประมาณ ๑ ฟุต ใช้สวมนิ้วมือทุกนิ้วเพื่อต่อนิ้วให้ยาวรับกับ
ลักษณะการฟ้อนที่เน้นลีลาการวาดแขนให้เด่นดูสวยงามขี้น ด้วยเหตุที่การฟ้อนกลองตุ้มมีท่าฟ้อนอิสระ เรียบง่าย เน้นจังหวัดของมือและแขน หากใช้มือล้วน ๆ จะทำให้ดูธรรมดา การต่อมือด้วยซวยที่มีพู่กลมตรงปลายซวยเป็นสีขาวนวล จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหว ที่อ่อนโค้งสวยงามดูแปลกตาจากการฟ้อนเซิ้งทั่วไป
                    ร่ม  เป็นอุปกรณ์ประกอบการฟ้อนกลองตุ้มแบบดั้งเดิม หรือแบบชาย ในอตีตใช้ร่มผ้าสีดำ ใช้กางตลอดเส้นทางการการฟ้อน เพื่อกันแดด มีการตกแต่งร่มด้วยการเอาแพรไส้ปลาไหลมาประดับ  ในจังหวะแรกเมื่อกลองตุ้มส่งสัญญาณ ผู้ฟ้อนจะยกร่มขึ้นเหนือศีรษะ ตามจังหวะกลองสามครั้ง เป็นการเตรียม หรือบอกกล่าวพญาแถน

            การแต่งกาย  เอกลักษณ์การแต่งกายของชาวศรีสะเกษ เห็นได้ชัดที่การแต่งกายของหญิงในชนบท ที่นิยมสวมใส่เสื้อแพรเหยียบดำมะเกลือ และนุ่งผ้าถุงทอในครัวเรือน เรียกว่า ซิ่นคั่น
                เสื้อแพรเหยียบดำมะเกลือ เป็นเสื้อแขนยาว คอกลมหรือคอปก ผ่าตรงกลางตัวปล่อย ผ่าข้างจากสะโพกถึงเอว ทอด้วยไหมหรือฝ้าย อายุการใช้งานนานถึงสี่สิบปี ผู้มีฐานะมักจะตบแต่งด้วยกระดุมเงินก้อน สลักลายจูดบนกระดุม เป็นเครื่องหมายแสดงระดับฐานะ

                ชนในท้องถิ่นจะไม่ประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับอันใด นอกจากใส่กำไลข้อมือเป็นเงินแท้ และต่างหู  ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปกลม ๆ เกลี้ยงเป็นเงินหรือทองแท้ ซึ่งพ่อแม่จะให้ใส่ตั้งแต่เด็ก คือ จะเจาะหูทุกคน หรือหากมีฐานะอีกระดับหนึ่ง ก็จะใช้ต่างหูที่มีรูปทรงสวยงาม เรียกว่า กันเจา แต่ถ้าหากไม่มีอะไรเลยก็จะใช้แก่นโสน เสียบรูหูไว้คงเป็นเพราะกันรูหูที่เจาะไว้จะอุดตัน
                ผ้าถุง  จะนิยมใช้ผ้าไหมที่ทอเอง เดิมทียังไม่มีการมัดหมี่เป็นลาย จะทอโดยคั่นด้วยไหมหลากสี มีการเข็นไหมสอง ๒ เส้น ก่อนนำไปทอ และมีสีประมาณ ๓ - ๔ สี คือ สีซิ่ว (เขียว)  สีแหล่ (ม่วง)  สีแดง และสีอิฐ (ทอง)  ทอแล้วจะได้ผ้าซิ่น (ถุง)  ลายทางเรียกว่า ซิ่นคั่น แต่ต้องมีการต่อเชิง (เรียกว่า ตีนซิ่น)  และอาจจะต่อหัวด้วย หัวซิ่นนิยมทอด้วยลายขิดยกดอก พื้นสีแดงเท่านั้น ในกรณีผ้าซิ่นที่ต่อหัวและตีนนั้น จะนำไปใช้ในกรณีที่เป็นพิธีรีตอง
บุคคลสำคัญ
            บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์
                พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน  (ตากะจะ)  เป็นเจ้าเมืองคนแรกที่สร้างเมืองนครลำดวน ก่อนที่จะย้ายไปอยู่เมืองขุขันธ์  เป็นผู้นำชาวกวยคนหนึ่ง ตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน
                เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๒  ตากะจะ มีความดีความชอบเนื่องจากอาสาทหารเอกของกรุงศรีอยุธยา ติดตามจับช้างเผือกได้ และนำส่งกรุงศรีอยุธยา ตะจะกะได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นหลวงแก้วสุวรรณ  นายกองส่วย หลวงแก้วสุวรรณ ส่งเครื่องบรรณาการ (ส่วย)  แก่กรุงศรีอยุธยาไม่เคยขาด เครื่องบรรณาการได้แก่  ช้าง ม้า แก่นสน น้ำมันยาง ปีกนก นอแรด ขี้ผึ้ง สมุนไพร จนได้รับความไว้วางใจจากกรุงศรีอยุธยา จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ เป็นพระไกรภักดีศรีนครลำดวน  ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวนเป็นเมืองนครลำดวน ให้พระไกรภักดี ฯ เป็นเจ้าเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๖  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๒๑ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระไกรภักดี ฯ เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน และได้ถึงแก่กรรมในปีเดียวกัน
                พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (เชียงขัน)  เป็นเจ้าเมืองนครลำดวนคนที่ ๒  ได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งที่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน พร้อมกับตาจะกะ และมีความดีความชอบในการติดตามช้างเผือก คืนแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๒  ได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงปราบ ผู้ช่วยเจ้าเมือง มีความสามารถในการรบ
                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๒๑  หลวงปราบได้นำกองทัพ เมืองนครลำดวนไปทำสงครามกับกรุงศรีสตนาคนหุตร่วมกับกองทัพหลวงจนได้รับชัยชนะ เมื่อเจ้าเมืองขุขันธ์คนแรกถึงแก่กรรม จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นหลวงปราบ (เชียงขัน) เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองนครลำดวนคนต่อมา
                ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๒ เมื่อเมืองนครลำดวนกันดารน้ำ พระยาไกรภักดี ฯ จึงได้อพยพย้ายเมืองจากที่เดิมไปอยู่ที่บ้านแตระ (อำเภอขุขันธ์ปัจจุบัน)
                ในปี พ.ศ.๒๓๒๕ พระยาไกรภักดี ฯ ได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาขุขันธ์ภักดี ฯ  ต่อมา ได้ถูกพระไกร ผู้ช่วย (ท้าวบุญจัน) กล่าวโทษไปยังกรุงเทพ ฯ ว่าเป็นกบฎต่อแผ่นดินไทยโดยคบคิดกับชาวญวน จึงถูกเรียกตัวไปพิจารณาโทษ และถูกจำคุกที่กรุงเทพ ฯ เป็นเวลาสามปี  พระไกร ผู้ช่วย (ท้าวบุญจัน) ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ขึ้นเป็นพระยาขุขันธ์ ฯ เจ้าเมือง
                พระยารัตนวงศา (ท้าวอุ่น)  เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕ ท้าวอุ่นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระภักดีภูธรสงคราม ปลัดเมืองขุขันธ์ ได้กราบบังคมทูลขอแยกเมืองจากเมืองขุขันธ์ ไปตั้งที่บ้านโนนสามขา (สระกำแพงใหญ่) และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านโนนสามขาขึ้นเป็นเมืองศรีสะเกษ
                ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘ ได้ย้ายเมืองศรีสะเกษจากบ้านโนนสามขา สระกำแพงใหญ่ มาตั้ง ณ บ้านพันทาเจียงอี พระยารัตนวงศา (อุ่น) ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘
                พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวบุญจัน)  เป็นชาวเวียงจันทน์ ต่อมาได้เป็นบุตรบุญธรรมของพระยาขุขันธ์ภักดี (เชียงขัน) และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าเมืองขุขันธ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕ มีบรรดาศักดิ์เป็นที่พระไกร ได้กล่าวโทษพระยาขุขันธ์ ฯ (เชียงขัน) ว่าเป็นกบฎต่อกรุงเทพ ฯ  จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์แทน มีบรรดาศักดิ์เป็นที่พระยาขุขันธ์ภักดี ฯ
                    ในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฎต่อกรุงเทพ ฯ  ในครั้งนั้นพระยาขุขันธ์ภักดี ฯ (ท้าวบุญจัน) ได้ยกกองทัพออกรบกับกองทัพของเจ้าโย ราชบุตรเจ้าอนุวงศ์ แล้วแพ้  พระยาขุขันธ์ภักดี ฯ (ท้าวบุญจัน) และกรมการเมืองถูกจับได้ และถูกนำไปประหารชีวิต ณ ค่ายทหารลาวที่บ้านส้มป่อย แขวงเมืองศรีสะเกษ
                พระยาขุขันธ์ภักดี ฯ (เกา หรือ พระยาสังขะบุรีศรีนครอัจจะ)  เป็นเจ้าเมืองศรีสะเกษคนที่สาม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๑ ได้ร่วมกับกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา ไปรบญวนถึง ๔,๐๐๐ คน  พระยาขุขันธ์ภักดี ฯ (เกา) ถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๓  เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ จนทางราชการได้สั่งให้มาเป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสังขะ เป็นผู้ประสานงาน และฟื้นฟูเมืองขุขันธ์ที่ระส่ำระสาย เพราะบุคคลสำคัญทั้งหมดเสียชีวิตในสงครามเจ้าอนุวงศ์
                พระยาขุขันธ์ภักดี (วัง)  เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์คนที่เจ็ด เดิมมีบรรดาศักดิ์เป็นพระวิชัย (วัง) เป็นบุตรพระยาขุขันธ์ภักดี (เชียงขัน) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๖
                ในปี พ.ศ.๒๔๑๐ พระยาขุขันธ์ภักดี (วัง) ได้ขอพระบรมราชานุญาต ตั้งเมืองใหม่สองเมืองคือยกบ้านกันตวดห้วยอุทุมพร เชิงเขาตก ขึ้นเป็นเมืองชื่อเมืองอุทุมพรพิสัย และแต่งตั้งให้ท้าวบุดดี เป็นเจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็นพระอุทุมพรเทศานุรักษ์ และยกบ้านลำแสนไพรอาบาลเป็นเมืองกันทรลักษ์  แต่งตั้งให้พระแก้วมนตรี (พิมพ์) เป็นเจ้าเมือง มีบรรดาศักดิ์เป็นที่พระกันทรลักษบาล  แต่เมืองทั้งสองนี้ตั้งได้ไม่นาน ก็ต้องย้ายขึ้นมาตั้งอยู่ที่บ้านลาวเดิม และบ้านปรือคัน เนื่องจากถูกแม่ทัพใหญ่ของฝรั่งเศส ที่ไซ่ง่อนกล่าวหาว่าไปรุกล้ำดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศส  พระยาขุขันธ์ภักดีถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๖
                พระยาขุขันธ์ภักดี ฯ  (ปัญญา ขุขันธิน)  เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๖ นับว่าเป็นเจ้าเมืองขุขันธ์คนสุดท้าย เพราะได้มีการเปลี่ยนแปลงปฎิรูปการปกครอง ในปี พ.ศ.๒๔๒๖  มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเจ้าเมือง จึงได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ จนกระทั่งมีการยุบเมืองขุขันธ์เป็นอำเภอห้วยเหนือ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐  จึงได้พ้นจากตำแหน่งและให้ หลวงสุระรัตนมัย (บุญมี ขุขันธิน)  เป็นนายอำเภอห้วยเหนือขึ้นต่อจังหวัดขุขันธ์
                พระยาบำรุงบุรีประจันต์  (จันดี  กาญจนเสริม)  เป็นข้าหลวงคนแรกของเมืองขุขันธ์ มีบทบาทสำคัญในการปราบกบฎเสือยง ผีบุญ บุญจันที่เป็นน้องชายของพระยาขุขันธ์ภักดี ฯ (ปัญญา)  เจ้าเมืองคนสุดท้าย พระยาบำรุง ฯ (จันดี)  เป็นข้าราชการจากส่วนกลางที่ลงไปกำกับดูแลหัวเมืองในครั้งนั้น
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |