| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา

ศาสนสถาน

            วัดเขียนบูรพาราม  ตั้งอยู่ที่บ้านพราน ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ โบราณสถานที่น่าสนใจในวัดแห่งนี้คือ อุโบสถที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ผนังและฐานของอุโบสถก่อด้วยอิฐฉาบปูน  หลังคาเป็นโครงไม้มุงด้วยสังกะสี ที่ขอบโครงหลังคาโดยรอบแกะสลักเป็นลายพันธุ์พฤกษา  ส่วนที่จั่วสลักเป็นภาพในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งแกะสลักในสมัยรัตนโกสินทร์

            ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่เรียกว่า หลวงพ่อโต  เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๓.๕๐ เมตร สูง ๖.๘๐ เมตร  มีลักษณะศิลปะที่ผสมผสานกัน ระหว่างศิลปล้านช้าง และศิลปะอยุธยาตอนปลาย เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวขุขันธ์มาแต่ในอดีต
            ภายนอกอุโบสถทั้งสี่มุมมีธาตุ ลักษณะศิลปะล้านช้างตั้งอยู่ ปัจจุบันเหลือเพียงสามองค์ องค์ที่สมบูรณ์ที่สุด อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะคล้ายกับพระธาตุก่องข้าวน้อย ที่จังหวัดยโสธร
            วัดเขียนบูรพาราม ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ และกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓  มีพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ ๕๐ ตารางวา

            พระธาตุเรืองรอง  อยู่ที่วัดบ้านสร้างเรือง ตำบลหญ้าปล้อง  เป็นสถาปัตยกรรมอาคารรูปพระธาตุ มีหกชั้น เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์สี่เผ่าไทย มีจิตรกรรมฝาผนังประวัติจังหวัดศรีสะเกษ กับประวัติอำเภอต่าง ๆ มีภาพชาดก รูปปั้น และปูชนียวัตถุ เป็นจำนวนมาก
            พระธาตุไพรบึง  อยู่ที่วัดไพรบึง อำเภอไพรบึง  เป็นพระธาตุที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ สูงประมาณ ๖๐ เมตร จำลองรูปแบบมาจากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย  เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะแห่งหนึ่ง ของจังหวัดศรีสะเกษ
            วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม  เป็นพระอารามหลวง อยู่ในตำบลเมืองใต้ อำเภอเมือง ฯ ตั้งชื่อตามชื่อบ้านเจียงอี มีความหมายว่า ช้างป่วย เป็นภาษาส่วย ช้างดังกล่าวเป็นช้างมงคลของราชอาณาจักรอยุธยา  ที่ทหารเอกสองพี่น้องมาตามจับคืนไป เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๒  แล้วช้างมงคลป่วยมาพักให้หายป่วยที่บริเวณบ้านเจียงอีแห่งนี้
            วัดเจียงอี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔  ผูกพัทธสีมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙  ยกเป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓   เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔
            ในวัดเจียงอี มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระวิหาร เป็นที่เคารพสักการะของชาวศรีสะเกษ
            วัดหลวงสุมังคลาราม  เป็นพระอารามหลวงที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ พระยาวิเศษภักดีศรีนครลำดวน (ชม)  เจ้าเมืองศรีสะเกษ ได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘  เป็นที่ประดิษฐานพระวิเศษมิ่งเมือง คู่เมืองศรีสะเกษ
                หอไตรของวัด เป็นอาคารที่มีความงดงามแห่งหนึ่ง เป็นเรือนไม้กว้างประมาณ ๒.๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๕.๐๐ เมตร  ฝาผนังเป็นแบบเรือนไทย หลังคามุงด้วยแป้นเกร็ด ตั้งอยู่กลางสระน้ำหลังพระอุโบสถ  หอไตรหลังนี้ชำรุดทรุดโทรมจนต้องรื้อออกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗  และได้นำกรอบประตูไม้ไปเก็บรักษาไว้ ในกุฎิเล็กภายในวัด
                บานประตูหอไตร มีขนาดสูง ๒.๗๐ เมตร กว้าง ๐.๔๐ เมตร  สลักลายกนกปนกันกับลายพันธุ์พฤกษา และภาพสัตว์หลายชนิด เช่น สิงห์ แรด ลิง ลายเหล่านี้มีการลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกสีเหลือง และสีขาวในบางแห่ง
            วัดสระกำแพงใหญ่  อยู่ที่บ้านกำแพง ตำบลกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย  เป็นวัดที่มีคุณค่าความเก่าแก่โบราณ ทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรม เป็นที่ตั้งของโบราณสถานสำคัญคือ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ที่มีความสวยงามแบบศิลปขอม

               พระพุทธรูปนาคปรก  เป็นพระพุทธรูปศิลปะเขมรฝ่ายมหารยาน สูง ๑.๓๓ เมตร หน้าตักกว้าง ๐.๕๕ เมตร  ทำจากหินทราย ขุดพบบริเวณเขตโบราณสถานปราสาทสระกำแพงใหญ่ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดสระกำแพงใหญ่ มีพุทธลักษณะสวยงาม ปัจจุบันมีการจำลองแบบไปประดิษฐานในที่ต่าง ๆ หลายแห่ง เช่นที่ ผามออีแดง
               จิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ  เป็นภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติและรามเกียรติ์ ที่มีความสวยงามโดยช่างฝีมือที่สำเร็จการศึกษาจาก สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง
               จิตรกรรมฝาผนังมณฑป  เป็นภาพพุทธประวัติที่มีความสวยงาม โดยช่างฝีมือที่สำเร็จจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง

            วัดมหาพุทธราราม  (วัดพระโต)  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ  เป็นวัดใหญ่ที่เคยมีบทบาททางการปกครองคณะสงฆ์มาก่อน เดิมชื่อวัดป่าแดง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘  มีพระมหาวิหารใหญ่ และพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองคือ หลวงพ่อโต  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑  คณะสงฆ์ศรีสะเกษได้ดำริจะเปลี่ยนชื่อเป็น วัดมหาพุทธิลิสุทธาราม แต่คณะกรรมการสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ เห็นว่าควรชื่อ วัดมหาพุทธาราม และได้สร้างวิหารครอบองค์หลวงพ่อโต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙  แทนวิหารไม้มุงสังกะสีหลังเดิม
                หลวงพ่อโต  เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ที่ชาวศรีสะเกษเลื่อมใสศรัทธามาก พบที่ป่าแดงไม่ทราบว่าสร้างขึ้นในสมัยใด  เดิมเป็นลักษณะของตุ๊กตาหินมีต้นไม้ และจอมปลวกคลุม หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะล้านช้าง สูง ๖.๘๐ เมตร หน้าตักกว้าง ๓.๕๐ เมตร  นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่
                จิตรกรรมฝาผนัง  เป็นภาพพุทธประวัติ นรก สวรรค์ และพระเวสสันดรชาดก เป็นภาพขนาดใหญ่ประดับฝาผนัง และเพดาน เป็นฝีมือช่างพื้นบ้านอีสาน
            วัดเจ๊กโพธิพฤกษ์  อยู่ในตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ เป็นวัดที่มีประวัติแปลกไปจากวัดอื่น ๆ เพราะสร้างโดยคนไทยเชื้อสายจีนในเมืองขุขันธ์
                ตู้พระธรรม  สร้างในสมัยรัตนโกสินทรตอนต้น เป็นศิลปวัตถุที่มีความงดงามมาก สูง ๑.๕๘ เมตร  กว้าง ๐.๖๔ เมตร  หนา ๐.๙๓ เมตร  มีลวดลายรดน้ำที่สวยงามล้ำค่า เป็นภาพเล่าเรื่องมโหสถชาดก และลายพันธุ์พฤกษา มีลักษณะลวดลายพื้นเมืองและลวดลายจากภาคกลาง
            วัดบ้านลำดวนใหญ่  อยู่ในเขตอำเภอวังหิน  เป็นวัดเก่าแก่มีประวัติเนื่องกันกับประวัติเมืองศรีสะเกษ มีศาสนวัตถุที่เก่าแก่มากมาย มีโบสถ์ที่มีรูปร่างสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมที่แตกต่างจากรูปแบบของโบสถ์ทั้งหลาย ที่น่าศึกษามางประวัติศาสตร์
            วัดเมืองคง  อยู่ในเขตอำเภอราษีไศล  ตั้งอยู่บนเนินดินเก่าแก่ที่เชื่อว่าเดิมเป็นเมืองคงโคกโบราณ มีคูน้ำล้อมรอบเนินดินนั้น ปรากฎเรื่องราวเดิมใบลาน อันเป็นหนังสือพื้นเมืองราษีไศลว่า เดิมเป็นที่ตั้งเมืองของสองพี่น้อง คนพี่ชื่อ พระไกร คนน้องชื่อ พญากตศิลา  ได้พากันล่องมาตามลำน้ำโขง และเข้ามาตามลำน้ำมูล และพากันตั้งเมืองขึ้นที่นี่สืบมาหลายชั่วคน  วัดเมืองคงน่าจะเป็นวัดคูเมืองในสมัยนั้น แต่ต่อมาได้เกิดเหตุใดไม่ทราบชัดทำให้เมืองล่มร้างลงเป็นเวลานาน มาฟื้นขึ้นใหม่ในภายหลังมีพื้นที่ประมาณ ๙๖ ไร่
            นอกจากนี้ยังมีวัดที่มีลักษณะสวยงามเป็นที่เหมาะสมของพระภิกษุสงฆ์ ผู้บำเพ็ญเพียรทางศาสนธรรม และเป็นที่ให้ชาวพุทธไปปฎิบัติธรรม แสวงหาความวิเวกอีกหลายวัดเช่น
                วัดป่าศรีสำราญ   อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ ตั้งอยู่ในป่าฝั่งห้วยสำราญ มีบรรยากาศร่มรื่นวิเวก
                วัดป่าโนนทราย  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ  มีพื้นที่ ๓๒ ไร่  เป็นที่วิเวกสงบ เหมาะแก่การเจริญสมถวิปัสสนา กัมมัฎฐาน
                วัดป่ามิ่งเมือง   อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ  เป็นวัดใหญ่อยู่ในทำเลดี มีส่วนหนึ่งติดฝั่งห้วยสำราญ เป็นระยะทางหลายร้อยเมตร เหมาะแก่การปฎิบัติธรรม มีหมู่ต้นยางใหญ่อายุประมาณ ๒๐๐ ปีขึ้นไปหลายสิบต้น มีป่าอยู่เป็นแห่ง ๆ เป็นที่สงบวิเวกเหมาะแก่การเจริญวิปัสสนากัมมัฎฐาน เดิมเป็นพื้นของโรงช้าง ของเจ้าเมืองศรีสะเกษ จึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า วัดป่าโฮงช้าง
                วัดป่าประชารังสฤษดิ์   อยู่ในเขตอำเภอกันทรารมย์ เป็นวัดที่ปฎิบัติแบบอรัญวาสี ถือธุดงค์ต่าง ๆ มักจัดงานเข้าปริวาสกรรม มีพุทธบริษัทไปร่วมงานเป็นจำนวนมากทุกปี
                วัดเลียบบูรพาราม  อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ ตั้งอยู่ใกล้ห้วยน้ำคำ สถานที่สงบวิเวกเหมาะแก่การเจริญสมถวิปัสสนากัมมัฎฐาน เป็นศูนย์จัดอบรมเข้าปริวาสกรรม ของพระภิกษุสามเณร พุทธบริษัททั่วไป
                วัดประชานิมิต   อยู่ในเขตอำเภออุทุมพรพิสัย สถานที่สงบร่มรื่น เป็นศูนย์บำเพ็ญกุศลของประชาชนในท้องถิ่น
                วัดกัลยาโฆสิตาราม (ท่าโพธิ)  อยู่ในเขตอำเภอราษีไศล  เป็นวัดใหญ่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ามูล มีทิวทัศน์ร่มรื่นน่าชื่นชม
                วัดกันทรารมย  อยู่ในเขตอำเภอกันทรารมย์ เป็นวัดแก่าแก่มีสภาพโล่งเย็น มีวิหารและพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หลายองค์ตั้งอยู่กลางแจ้ง มีสระน้ำใหญ่ น้ำใสสะอาด อยู่หนึ่งสระ มีน้ำขังเปี่ยมตลอดปี
                วัดศรีขุนหาญ   อยู่ในเขตอำเภอขุนหาญ  เป็นวัดใหญ่ที่เป็นศูนย์การพัฒนาหลายด้าน มีห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ์สมเด็จพระเทพรัตน์ ฯ
                วัดกลางอมรินทราวาส  อยู่ในเขตอำเภอขุขันธ์ เป็นวัดใหญ่  มีการจัดบริเวณแบ่งเขตสวยงาม ทั้งพุทธาวาสและสังฆาวาส เป็นศูนย์การศึกษาและการบริหารการปกครองสงฆ์อำเภอขุขันธ์
| บน | ย้อนกลับ |