| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


ศิลปหัตถกรรมและงานท้องถิ่น
   สถาปัตยกรรม

            อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา  เดิมเป็นบ้านพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา ) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑  ต่อมาได้ใช้เป็นบ้านพักข้าหลวงตรวจราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาได้เป็นศาลากลางจังหวัดสงขลา  และมาเป็นพิพิธภัณฑสถาน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕
            ลักษณะเป็นอาคารเรือนตึก สองชั้น ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงเก๋ง หันหน้าไปทางทิศตะวันตกสู่ทะเลสาบสงขลา ตัวตึกด้านหน้ามีบันไดโค้งแยกขึ้นลงสองข้างตึก ชั้นบนเป็นห้องแคบ ๆ ยาวเป็นปีกสองข้างมีประตูใหญ่อยู่ตรงกลาง ถัดเข้าไปเป็นเรือนขวางซ้าย - ขวา มีระเบียงทางเดินเชื่อมต่อกันตลอด ขื่อภายในห้องปีกชั้นบนสองห้อง จะติดเครื่องหมายหยิน - หยาง และยันต์แปดทิศเพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ ตามที่คนจีนเชื่อกัน
            ด้านหน้าเป็นเรือนยาวอีกหลังหนึ่ง ด้านหลังมีบานประตูทำเป็นบานเฟี้ยม แกะสลักฉลุโปร่งเป็นภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับเทพเจ้าของจีน สลับกับสายพรรณพฤกษา บานประตูบางคู่มีภาพสลักมังกรดั้นเมฆชิงไข่มุกไฟอย่างสวยงาม เป็นลักษณะของการสร้างเรือนแบบจีนอย่างแท้จริง
            สถาปัตยกรรมจีนในเขตจังหวัดสงขลา  มีปรากฎอยู่สี่ประเภทคือ อาคารที่พักอาศัย ศาลเจ้า ที่ฝังศพ (ฮวงซุ้ย) และวัด

            อาคารที่พักอาศัย จะเป็นตึกก่ออิฐทึบ มีทั้งแบบเรือนหมู่ เรือนแถวเดี่ยว มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ มีหลังคาทรงเก๋งจีน มีจั่วยอด จั่วมีทั้งแบบโค้งมน จั่วเหลี่ยม  มีทั้งหลังคาเดี่ยวและสองหลังคา สันหลังคาก่ออิฐถือปูน ฉาบผิวตกแต่งด้วยกระเบื้องปรุเคลือบ และลายปูนปั้น บริเวณชายคาถ้าเป็นบ้านของผู้ที่มีฐานะตำแหน่งทางราชการ จะนิยมตกแต่งบริเวณลอดบัวชายคาเป็นลายเขียนสี นิยมเจาะช่องหน้าต่างเฉพาะด้านหน้า ด้านข้างเจาะช่องลมขนาดเล็ก รูปแบบดังกล่าวเป็นลักษณะเดียวกันกับศาลเจ้า เพียงแต่ศาลเจ้าจะเปิดโล่งด้านหน้า โครงสร้างของอาคารจะใช้ระบบผนังรับน้ำหนัก วัสดุใช้อิฐ หินปูน บางส่วนอาจใช้ซุงกลมหรือเหลี่ยมเป็นส่วนประกอบ มีการใช้หินแกรนิตมาใช้ร่วมด้วย เช่น สะกัดเป็นกรอบประตูปูพื้น และบันได  อาคารแทบทุกหลังจะมีลานโล่งอยู่กลางบ้าน

            อาคารที่พักอาศัยและศาลเจ้ามีจะมีที่บริเวณถนนนางงาม ถนนนครนอก นครใน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง ฯ และบริเวณใกล้สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ในเขตอำเภอหาดใหญ่  ส่วนสถาปัตยกรรมที่เป็นสุสานคือ สุสานต้นตระกูลสงขลา ที่ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร ส่วนสถาปัตยกรรมจีนในวัด ได้แก่ เจดีย์จีน ที่วัดสุวรรณคึรี อำเภอสิงหนคร วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร อำเภอเมือง ที่มีประตูแบบจีน วัดดอนแย้ อยู่ที่ถนนไทรบุรี มีอุโบสถแบบเก๋งจีน และมีกุฏิหลังหนึ่งเป็นสถาปัตยกรรมจีน
    ประติมากรรม
            งานประติมากรรมโบราณที่พบในเขตจังหวัดสงขลา ส่วนใหญ่พบจากแหล่งโบราณคดี และเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานต่าง ๆ มักเป็นรูปเคารพ เนื่องในลัทธิศาสนาของชุมชน มีทั้งประติมากรรมที่สลักจากหินหรือไม้ หล่อด้วยสำริด ปั้นด้วยดินเผา ซึ่งปรากฏรายละเอียดอยู่ในเรื่องโบราณสถานและโบราณวัตถุแล้ว
            ประติมากรรมที่เป็นตัวอย่างได้แก่ ประติมากรรมที่วัดดีหลวง ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ วัดแหลมพ้อ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง วัดสลักป่าเก่า ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร วัดหนองหอย ตำบลวัดขนุน อำเภอสิงหนคร และวัดคูเต่า ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ เป็นต้น
   จิตรกรรม
            งานจิตรกรรมที่พบในเขตจังหวัดสงขลามีอยู่หลายประเภท เช่น ปรากฏอยู่ในหนังสือบุด ภาพพระบฏ ตู้พระธรรม และภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก  งานจิตรกรรมที่ดูโดดเด่นคือ งานจิตรกรรมฝาผนังในวัดต่าง ๆ งานที่สำคัญที่แสดงฝีมือช่าง และมีคุณค่าควรแก่การศึกษามีดังต่อไปนี้คือ

            จิตรกรรมฝาผนังวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร  ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง มีอยู่สองแห่งคือที่พระอุโบสถและที่ศาลาฤาษี งานจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถ เป็นภาพเขียนสีฝุ่นบนผนังปูน เป็นงานฝีมือช่างหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นภาพพุทธประวัติ ทศชาติชาดก และเทพชุมนุม  ถือว่าเป็นจิตรกรรมที่เด่นและสำคัญยิ่ง  องค์ประกอบของภาพมีความงดงาม และบรรจุเรื่องราวไว้สมบูรณ์มาก ทั้งได้สะท้อนภาพของสังคม แสดงให้เห็นวัฒนธรรมการแต่งกาย การละเล่น ประเพณี ความเชื่อ ตลอดจนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ในสมัยนั้น
            ส่วนจิตรกรรมฝาผนังที่ศาลาฤาษี  เป็นภาพเขียนสีฝุ่นบนผนังปูน เป็นภาพฤาษีดัดตน ภาพเครื่องยาไทย และโต๊ะหมู่บูชาของจีน
            จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณคีรี  บ้านบ่อเตย ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร งานจิตรกรรมฝาผนังที่ฝาผนังด้านในพระอุโบสถ เป็นภาพเขียนสีฝุ่น มีรองพื้น ฝีมือช่างหลวง  เป็นจิตรกรรมที่สวยงามด้วยเส้นสีและองค์ประกอบเป็นอย่างยิ่ง เป็นภาพพุทธประวัติ ไตรภูมิและทศชาติชาดก ตอนล่างเป็นภาพพระมาลัยโปรดสัตว์นรก  บนเพดานเขียนลายดาวทองบนพื้นรักแดง

            จิตรกรรมฝาผนังวัดโพธิปฐมาวาส  ถนนไทรบุรี ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง ฯ  ลักษณะจิตรกรรมมีลักษณะและเรื่องราวที่แตกต่างกันในแต่ละภาพ บางภาพเป็นฝีมือช่างชั้นครูเขียนได้ละเอียดบรรจง แต่บางผนังน่าจะเป็นฝีมือช่างท้องถิ่นที่เขียนในลักษณะง่าย ๆ สำหรับเสาหลอกรูปลำไผ่ ก็มีลักษณะแปลกออกไป ยังไม่พบในงานจิตรกรรมฝาผนังในที่อื่น ๆ
            มีภาพขบวนแห่เจ้าเซ็นอยู่หลังหลืบประตูด้านหน้า เป็นภาพสาวกของเจ้าเซ็นกำลังแห่ศพเจ้าเซ็นหรือฮุสเซนซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายชีอะห์ ที่โลงศพตกแต่งสวยงาม มีรูปมือห้านิ้วติดปลายไม้มีคนถือนำขบวน บรรดาสาวกที่แต่งกายโดยการนุ่งดำลักษณะคล้ายกางเกง หรืออาจเป็นการนุ่งโจงกระเบนแบบแขกก็ได้ ไม่สวมเสื้อ ต่างมีเลือดโซมกาย อันเกิดจากการกรีดศีรษะ หรือทำร้ายร่างกายของตนเอง ภาพแห่เจ้าเซ็นเป็นภาพที่ยากจะพบในจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ แสดงว่าชาวสงขลามิได้รังเกียจเดียดฉันท์ว่าต่างลัทธิศาสนา
            จิตรกรรมฝาผนังวัดจะทิ้งพระ  บ้านจะทิ้งพระ ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จิตรกรรฝาผนังอยู่ที่ผนังด้านในของวิหารพระนอน เป็นภาพเขียน บนพื้นสีเหลืองอ่อนแล้วเขียนภาพด้วยสีเทาสีฟ้า สีเขียว เขียนระบายบาง ๆ ตัดเส้นด้วยสีอ่อน เขียนเป็นภาพพุทธประวัติ
            จิตรกรรมแห่งนี้เป็นฝีมือช่างชาวบ้าน มีภาพที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและสังคมเช่นเครื่องแต่งกายและอาวุธอย่างทหารฝรั่ง ภาพการแต่งกายไปวัดของชาวบ้านที่เรียบง่าย เช่น นุ่งผ้าพื้นสีน้ำเงิน และมีผ้าห่มคาดอกสีขาว เป็นต้น
            จิตรกรรมฝาผนังวัดคูเต่า  ตำบลแม่ทอน อำเภอบางกล่ำ จิตรกรรมอยู่ที่โบสถ์และมณฑป งานจิตรกรรมที่อุโบสถเป็นภาพเขียนสีฝุ่น ฝีมือช่างพื้นบ้าน เป็นจิตรกรรมพื้นบ้านที่สมบูรณ์ แสดงเอกลักษณ์เชิงช่างท้องถิ่น อิสระทั้งเทคนิควิธีการใช้สี ลายเส้นและองค์ประกอบของภาพตลอดจนคตินิยมทางศิลปะทั่ว ๆ ไป ภาพคนในเรื่องมีลักษณะเกี่ยวกับหนังตะลุง เนื้อเรื่องที่เขียนก็เป็นเรื่องที่แพร่หลายในวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้
            จิตรกรรมฝาผนังวัดพะโค๊ะ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ เป็นภาพเขียนรุ่นใหม ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๘ - ๒๕๑๙ โดยเขียนไว้ที่ฝาผนังศาลาการเปรียญ เป็นภาพปริศนาธรรม ที่สวนโมกพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีรูปแบบการเขียนและศิลปหลากหลายรูปแบบ แตกต่างจากภาพจิตรกรรมฝาผนังทั่วไป มีการให้แสงเงา แต่ละชุดแบ่งเป็นกรอบ ๆ ขนาดต่าง ๆ กัน เน้นเนื้อหามากกว่าศิลปะ ขาดความปราณีตบรรจง

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |