| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา

ศาสนสถาน

           วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร  วัดมัชฌิมาวาสวรวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อวัดยายศรีจันทร์  ภายหลังมีผู้สร้างวัดเลียบขึ้นทางเหนือ และวัดโพธิขึ้นทางใต้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดกลาง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๑ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จมาเมืองสงขลาทรงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดมัชฌิมาวาส ในปี พ.ศ.๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกลาเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ได้บูรณะและสร้างพระอุโบสถหลังปัจจุบันพร้อมด้วยศาลาการเปรียญ หอไตร ศาลาฤาษี และกำแพงวัด
                -  พระอุโบสถ  เป็นอาคารทรงไทยสมัยรัตนโกสินทร์โดยย่อส่วน และปรับปรุงจากแบบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นฝีมือช่างหลวงในกรมช่างสิบหมู่จากกรุงเทพ ฯ ร่วมกับช่างเมืองสงขลา ส่วนประกอบของช่อฟ้ามีแต่ตัวลำยองไม่มีนาคสะดุ้ง เสารองพระอุโบสถเป็นสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม ประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มมงกุฎ หน้าบันทั้งภายนอกและภายในเป็นประติมากรรมปูนปั้น นูนสูงปิดทองและติดกระจก หน้าบันด้านทิศตะวันออก เป็นรูปปั้นพระพรหมสี่หน้าทรงหงส์ ล้อมด้วยกนกลายไทย ด้านทิศตะวันตกเป็นรูปปั้นพระอินทรทรงช้างเอราวัณ อยู่ในวงล้อมที่เป็นกนกลายไทย   ที่หน้าบันด้านในทิศตะวันออก มีรูปปั้นราหูอมจันทร์หน้าตรง ที่หน้าบันด้านในทิศตะวันตกมีรูปปั้นราหูอมจันทร์หน้าเอียง
            พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหินอ่อนปางสมาธิราบ หน้าตักกว้าง ๕๕ เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่ในบุษบกพุทธลักษณะแบบไทยผสมจีน กล่าวคือฝีมือปั้นหุ่นเป็นฝีมือช่างท้องถิ่นแล้วนำไปแกะสลักหินอ่อนที่ประเทศจีน
            ภายนอกพระอุโบสถ ระหว่างช่องเสาโดยรอบกำแพง มีภาพจำหลักหินเรื่องสามก๊ก เป็นฝีมือช่างจีน
            ที่เสาประตูกำแพงแก้วพระอุโบสถทั้งสี่ประตู มีศิลาจารึกอักษรจีน มีข้อความต่อเนื่องกัน

            ภายในพระอุโบสถ มีจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน เป็นภาพเขียนสีฝุ่นบนผนังปูน เป็นงานฝีมือช่างหลวง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเรื่องพุทธประวัติ ทศชาติชาดก และเทพชุมนุม ประกอบด้วยเทพในชั้นจตุมหาราชิก ยักษ์และครุฑ ต่ำลงมาเป็นภาพปฐมสมโพธิ แบ่งเรื่องโดยใช้เส้นสีเทา เส้นแบ่งภาพเป็นรูปหยักฟันปลา เพื่อแบ่งส่วนที่เป็นโลกสวรรค์ และโลกมนุษย์เริ่มจากเทพยดา ในหมื่นจักรวาลมาชุมนุมกันในสวรรค์ชั้นดุสิต เพื่ออัญเชิญพระบรมโพธิสัตว์ ให้มาปฏิสนธิในโลกมนุษย์  ภาพนี้เด่นกว่าภาพทั้งหลาย  เป็นภาพพระโพธิสัตว์ประทับในปราสาท มีกำแพงแก้วชั้นในล้อมอยู่ด้านนอก เทพยดาทั้งหลายนั่งพนมมือ  เหนือขึ้นไปเป็นหมู่เมฆ มีปราสาทอยู่ไกล ๆ เหล่าเทพยดาเรียงรายกันอยู่  ถัดมาเป็นภาพพระเจ้าสุทโทธนะทรงประกอบพิธีแรกนาขวัญ ต่อมาเป็นภาพประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ ทั้งหมดเป็นภาพพุทธประวัติที่ต่อเนื่องกันไป มีการสอดแทรกภาพชีวิตของชาวบ้านที่ถอดแบบจากคนในท้องถิ่นเอาไว้ด้วย  ด้านหน้าของภาพปราสาทส่วนล่างเป็นริมฝั่งน้ำยาวเหยียดเป็นแม่น้ำอโนมา เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเกศา ณ ริมฝั่งแม่น้ำนี้  พระอินทร์เอาผอบมารองรับพระเกศา แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามริมฝั่งแม่น้ำแสดงชุมชนชาวบ้าน
            ภาพเจ้าชายสิทธัตถะทรงบำเพ็ญเพียรจนพระวรกายผ่ายผอม แล้วมีภาพพระอินทร์เสด็จมาดีดซอสามสาย จากนั้นเป็นภาพพระพุทธองค์ทรงบาตร ณ กรุงราชคฤห์  รับมธุปายาสแล้วทรงลอยถาดจนล่วงรู้ไปถึงพญานาคในเมืองบาดาล
            ตามผนังด้านหน้าพระอุโบสถเป็นภาพมารผจญ  ด้านล่างที่ประทับมีแม่ธรณีบีบมวยผม ทำให้น้ำท่วมเหล่ามารทั้งหลาย
            ต่อไปเป็นภาพปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์  ต่อมาทรงแสดงเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร  โปรดพระราชบิดา และพระนางพิมพา  ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ทรงทรมานพญามหาชมพู  แล้วเป็นภาพเสด็จขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โปรดพุทธมารดา แล้วเสด็จไปโปรดสัตว์นรก จากนั้นเป็นภาพกระทำภัตกิจในเรือนนายจุน แล้วเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานที่กรุงกุสินารา ภาพสุดท้ายเป็นภาพโทณพราหมณ์แบ่งพระธาตุ และพระอินทร์อัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว ด้านขวาไปไว้ในเจดีย์จุฬามณี ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
            ชั้นล่างสุดติดกับช่องหน้าต่าง แบ่งเป็นห้อง ๆ รวม ๑๘ ห้อง เป็นเรื่องทศชาติตามลำดับคือพระเตมีย์ พระชนก พระสุวรรณสาม  พระเนมิราช  พระมโหสถ  พระภูริทัต  พระจันทกุมาร  พระนารถ  พระวิทูร และพระเวสสันดร
                -  ศาลาฤาษี  มีภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่นบนผนังปูนมีรองพื้น เป็นภาพฤาษีดัดตนตามตำราแพทย์แผนโบราณ มีบางตอนเหมือนกับภาพฤาษีดัดตนที่วัดโพธิ์ ฯ กรุงเทพ ฯ  แต่มีการเรียกชื่อตามภาษาท้องถิ่น ที่หน้าบันด้านในทั้งสองข้างเขียนภาพ เครื่องยาไทย และโต๊ะหมู่บูชาของจีน ตอนล่างเขียนตัวอักษรบรรยายตัวยา และสรรพคุณตลอดจนวิธีใช้ยาเหล่านั้น ที่ผนังด้านข้างมีภาพฤาษีดัดตนข้างละ ๒๐ ท่า รวม ๔๐ ท่า แต่ละท่ามีโคลงสี่สุภาพอธิบายประกอบอยู่ใต้ภาพ

            วัดพะโคะ  วัดพะโคะหรือวัดราชประดิษฐาน ตั้งอยู่ที่บริเวณเขาพัทธสิงห์หรือเขาพะโคะ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ เป็นวัดโบราณที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน  เป็นวัดหลวงในสมัยอยุธยาตอนกลาง ได้รับพระราชทานที่กัลปนาตามคำขอของสมเด็จพระราชมุนี (หลวงพ่อทวด)  มีโบราณสถานและโบราณวัตถุ รูปหล่อหลวงพ่อทวดปางธุดงควัตรประดิษฐานอยู่ตรงหน้าผาพระธาตุเจดีย์ และลูกแก้วคู่บารมี
                -  พระมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ  สร้างขึ้นตามแบบศิลปกรรมทางใต้สมัยอยุธยา แบบศิลปะลังกา คล้ายกับพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช  ยอดพระเจดีย์เป็นเบญจโลหะ ยาวสามวาสามคืบ ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา  องค์เจดีย์สูงเส้นห้าวา  ภายในประดิษฐานพระธาตุ  ส่วนฐานมีซุ้มและช้างล้อมรอบ ในสมัยหลังได้เสริมฐานประทักษิณขึ้นอีกสองชั้น และสร้างพระเจดีย์ขึ้นตามมุมของฐานทั้งสามชั้น มีพระระเบียงรอบฐานองค์พระเจดีย์ ประดิษฐานพระพุทธรูปเวียนไว้โดยรอบ
                -  วิหาร  ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระเจดีย์ ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์หรือที่เรียกกันว่า พระโคตมะ เป็นพระพุทธรูปปั้นขนาดใหญ่ ยาว ๑๘ เมตร สูง ๒.๕๐ เมตร ฝีมือช่างท้องถิ่นสร้างขึ้นในสมัยปัจจุบัน
                -  ศาลาการเปรียญ  มีภาพเขียนรุ่นใหม่ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๘ - ๑๙  เป็นภาพปริศนาธรรมแบบที่สวนโมกพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎ์ธานี  มีลักษณะการเขียนหลากหลายรูปแบบ แตกต่างจากภาพจิตรกรรมฝาผนังทั่วไปซึ่งมักเป็นภาพพุทธประวัติ  เป็นการเขียนแหวกแนวออกไปจากแบบที่เป็นของไทยแต่เดิม
            วัดสุวรรณคีรี  วัดสุวรรณคีรีตั้งอยู่บนเนินริมทะเลสาบสงขลา ที่บ้านบ่อเตย ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร เป็นวัดเก่าสร้างมาสแต่สมัยอยุธยา ต่อมาได้รับการบูรณะให้เป็นวัดสำคัญประจำเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน โยพระยาสุวรรคีรีสมบัติ (บุญทุ้ย) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๒๘ - ๒๓๕๔ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาอินทคีรีสมบัติ วัดนี้จึงได้นามตามผู้ปฏิสังขรณ์และถือว่าเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เป็นวัดหลวงสำหรับถือน้ำพิพัฒน์สัตยา
            ด้านในพระอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นภาพเขียนสีฝุ่น มีรองพื้น ฝีมือช่างหลวง ภาพเดิมชำรุด เหลืออยู่เพียงส่วนน้อย ได้มีการบูรณะแล้ว ร่องรอยจิตรกรรมเดิมมีความสวยงามด้วยเส้น สี และองค์ประกอบ ไม่แพ้จิตรกรรมที่พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาส ฯ เป็นภาพพุทธประวัติ ไตรภูมิ และทศชาติชาดก เขียนเป็นภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีแม่น้ำไหลออกจากปากของราชสีห์ วัว ม้า และช้างไว้ตอนบน ตอนล่างเป็นภาพพระมาลัยโปรดสัตว์นรก อยู่บนผนังด้านหลังพระประธาน ผนังด้านหน้าพระประธาน เป็นภาพมารผจญ ด้านข้างเป็นภาพทศชาติชาดก ตอนบนเหนือกรอบหน้าต่างเขียนภาพพุทธประวัติและบนเพดานเขียนลายดาวทองบนพื้นรักแดง จิตรกรรมวัดสุวรรณคีรีถือว่าเป็นจิตรกรรมที่มีคุณค่าทางศิลปกรรมสูง ให้ความรู้ทั้งทางเทคนิคและทางโบราณคดี

           วัดโพธิปฐมาวาส  วัดโพธิปฐมาวาส ตั้งอยู่ที่ถนนไทรบุรี ตำบลบ่อยาว อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดเก่าที่มีมาแต่เดิม ต่อมาเพื่อปี พ.ศ.๒๓๖๐ พระศรีสมบัติได้สร้างพระอุโบสถและโรงธรรม ได้มีการปฏิสังขรณ์วัด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๒
            ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ด้านหลังพระประธานเขียนภาพพระอาทิตย์ทรงรถ ผนังงด้านเหนือหน้าต่างซ้ายขวาเขียนภาพเทพชุมนุม พนมมือถือดอกบัว ตรงกลางเจาะซุ้มพระและเทพชุมนุม แต่ละคู่หันหน้าเข้าหากัน กระทำนมัสการพระพุทธรูปในซุ้ม เทพชุมนุมมีแถวเดียว เหนือขึ้นไปเขียนลายดอกไม้ร่วง ผนังตอนล่างระหว่างประตูด้านหน้าเป็นภาพปริศนาธรรม ด้านหลังพระประธานเป็นภาพนรกภูมิ ผนังระหว่างช่วงหน้าต่างทั้งด้านซ้ายและขวาของพระประธานเป็นภาพปริศนาธรรม
            ที่ผนังส่วนนี้มีการสร้างเสาหลอกเป็นลำไผ่ครึ่งซีกนูนแทรกอยู่ตรงกลางผนัง ที่หลืบประตูด้านหน้ายังมีภาพเขียนพิเศษที่แตกต่างไปจากภาพเขียนที่อื่น ๆ คือภาพขบวนแห่เจ้าเซ็นอยู่ด้านซ้าย และด้านขวาเป็นภาพบ้านเรือนแบบภาคใต้ และมีภาพการลักลอบส่งเพลงยาวของหนุ่มสาว ตามแบบอย่างการเกี้ยวพาราสีของหหนุ่มสาวในสมัยโบราณของไทย

            วัดจะทิ้งพระ  วัดจะทิ้งพระตั้งอยู่ที่บ้านจะทิ้งพระ ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ เป็นวัดเก่าแก่สร้างเมื่อปี พ.ศ.๑๕๔๒ มีซุ้มประตูงดงาม มีพระมหาธาตุเจดีย์ หอระฆัง และศาลาหลวงพ่อเฒ่านอน ศิลปะสมัยศรีวิชัย
            ในวิหารพระนอนมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เขียนบนพื้นสีเหลืองอ่อน เขียนภาพด้วยสีขาว สีเทา สีฟ้า และสีเขียว เขียนระบายสีบาง ๆ ตัดด้วยเส้นสีอ่อน เป็นภาพพุทธประวัติ
            ผนังด้านเศียรพระประธาน เป็นภาพพุทธประวัติตอนเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดา และเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทางเบื้องพระบาทของพระประธานเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังด้านหลังพระประธานเป็นภาพเทวทูต ต่อด้วยตอนเสด็จออกจากพระราชวัง ตัดพระเมาฬี รับข้าวมธุปายาส ลอยถาดแล้วเป็นภาพธิดามารมาเย้ายวน ภาพดังกล่าวเหล่านี้เรียงลำดับจากด้านพระเศียรไปยังพระบาทของพระประธาน
            จิตรกรรมวัดจะทิ้งพระ เป็นฝีมือช่างชาวบ้าน มีภาพสะท้อนวัฒนธรรมและสังคม เช่นเครื่องแต่งกายและอาวุธทหารอย่างฝรั่ง การแต่งกายของชาวบ้านที่เรียบง่ายเช่นนุ่งผ้าพื้นสีน้ำเงินและมีผ้าห่มคาดอกสีขาว เป็นต้น
            วัดคูเต่า  วัดคูเต่า ตั้งอยู่ในเขตตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๓ มีงานศิลปกรรมที่เป็นฝีมือช่างท้องถิ่นทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรมและจิตรกรรม โดยเฉพาะประติมากรรมปูนปั้นที่มีอยู่มากมาย ที่อุโบสถกำแพงแก้ว เจดีย์งานปูนปั้นเป็นงานที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาโดยช่างพื้นบ้าน มีลักษณะศิลปจีนผสมอยู่อย่สงชัดเจน
            ประติมากรรมที่น่าสนใจคือ สองข้างประตูโบสถ์มีซุ้มคูหาเจาะลึกในผนังมีรูปปูนปั้นฤาษีซวุ้มละตน ที่หน้าตัดของเท้าแขนเป็นรูปปั้นทวารบาลและรูปสิงห์ หน้าอุโบสถด้านหน้าเป็นรูปปูนปั้น เขียนสีเป็นรูปเทวดาทรงหงส์ หน้าบันด้านหลังเป็นปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประดับหลังคาด้วยปูนปั้นมีลิงแบกอยู่กลางฐาน หน้าบันที่มุมทั้งสี่ของฐานหน้าบันเป็นรูปครุฑแบก บริเวณช่องลมลูกมะหวดทำเป็นกรอบซุ้มคูหาประดับปูนปั้นลายดอกไม้ ฐานเป็นปูนปั้นรูปโค้ง ประดับด้วยปูนปั้นเกือบลอยตัว มีรูปพระและสิงห์ลอยตัว กลางกำแพงแก้วทั้งสี่ด้านเป็นซุ้มประตูจตุรมุข ยอดเป็นเจดีย์ทรงต่าง ๆ ประดับด้วยปูนปั้นตลอดซุ้ม
            ประติมากรรมที่เจดีย์ เริ่มแต่ฐานเจดีย์ประดับด้วยปูนปั้นรูปเทพพนม สัตว์ คน และปั้นเป็นลวดลายต่าง ๆ ตั้งแต่เชิงซุ้มจนถึงยอดเจดีย์ ทั่วบริเวณอุโบสถตั้งแต่กำแพงแก้วเข้าไปมีรูปปูนปั้นลักษณะต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก  มีจิตรกรรมอยู่ที่อุโบสถและที่มณฑป
            งานจิตรกรรมที่อุโบสถ เป็นภาพเขียนสีฝุ่น ฝีมือช่างพื้นบ้าน มีลักษณะเป็นจิตรกรรมพื้นบ้านที่สมบูรณ์ แสดงเอกลักษณ์เชิงช่างของท้องถิ่น ภาพคนในเรื่องมีลักษณะเดียวกับหนังตะลุง ภาพพระนางมัทรีเป็นอย่างนางกษัตริย์ของหนังตะลุง ตัวชูชกมีลักษณะของตัวตลบกหนังตะลุงผสมอยู่ เนื้อเรื่องที่เขียนเป็นเรื่องที่แพร่หลายในวัฒนธรรมพื้นบ้านของภาคใต้ คือเรื่องเวสสันดรชาดก หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า มหาชาติ และที่ภาพเทพชุมนุม ซึ่งเป็นคติที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
            วัดดีหลวง  วัดดีหลวง ตั้งอยู่ในเขตตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ เป็นวัดเก่าแก่ มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีประติมากรรม ซึ่งแสดงฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้ที่โดดเด่น โดยเฉพาะลวดลายปูนปั้นที่หน้าบันพระอุโบสถ เป็นปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และเทวดาในลายก้านต่อดอก และลายปูนปั้นที่หน้าบันศาลาไม้เก่าแก่ ซึ่งปั้นเป็นรูปเทพพนม รูปฤาษีพวงดอกไม้ ประดับกรอบซุ้มฤาษี มีหางหงส์และเขียนสี
            พระอุโบสถ  เป็นพระอุโบสถเก่า ได้มีการบูรณะ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓
            วัดแหลมพ้อ  วัดแหลมพ้อ ตั้งอยู่ในเขตตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง ฯ  มีงานประติมากรรมที่มีคุณค่าเป็นส่วนตกแต่งที่อุโบสถ ใบเสมา หอระฆัง เจดีย์
            ที่อุโบสถมีปผระติมากรรมปูนปั้น รูปเทพพนม อยู่กลางลายพันธุ์พฤกษา เหนือช่วงกรอบประตูหน้าต่าง จั่วหน้าบันไดด้านหน้าเป็นลายปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ จั่วหน้าบันไดด้านหน้า เป็นลายปูนปั้นพระนารายณ์ทรงครุฑ
            โบสถ์ หอระฆัง และเจดีย์ของวัดแหลมพ้อ ถือได้ว่าเป็นการสร้างตามพระราชนิยมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
            วัดสลักป่าเก่า  วัดสลักป่าเก่า ตั้งอยู่ในเขตตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร เป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีอุโบสถเป็นแบบสถาปัตยกรรม ฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้ ที่ได้รับอิทธิพลแบบพระราชนิยมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
            มีงานประติมากรรมลวดลายปูนปั้นประดับที่กรอบประตูหน้าต่าง หน้าบันกรอบประตูเป็นลายเครือเถาช่อมาลัย ช่วงต่อมาหลังคากับปีกนกเป็นรูปปั้นยักษ์ หรือเทวดาประทับนั่งในวิมานเรือนยอด และมีเทวดาอื่น ๆ อยู่นอกกรอบวิมาน สัมพันธ์กับลวดลายพันธุ์พฤกษาซึ่งประดับเต็มพื้นที่
            อุโบสถหลังปัจจุบัน เข้าใจว่าสร้างทับโบสถ์เก่าที่มีมาแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ลวดลายปูนปั้นในอุโบสถมีลักษณะพิเศษ มีคุณค่าทางความงามที่แสดงฝีมือช่างท้องถิ่นที่หาดูได้ยาก
            วัดหนองหอย  วัดหนองหอย ตั้งอยู่ในเขตตำบลวัดขนุน อำเภอสิงหนคร สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐  มีงานประติมากรรมที่อุโบสถ ลายปูนปั้นด้านหน้าเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประกอบลายกระจังและลายพันธุ์พฤกษา ที่หน้าจั่วหลังคาด้านหลัง มีลายปูนปั้นรูปพระพุทธประวัติตอน ออกมหาภิเนษกรรมณ์ มีเทวดามารองรับเท้าม้า ไม่แสดงภาพเจ้าชายสิทธัตถะ แต่แสดงภาพพุทธเจ้าประทับนั่งบนดอกบัวลอยอยู่สูงเหนือขึ้นไปเหนือรูปม้า เป็นการสร้างสรรค์จากแนวคิดและความเข้าใจในพระพุทธศาสนาที่ลึกซึ้งของช่างท้องถิ่นที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง


หาดสงขลา


        ฝั่งน้ำงามริมหาดทราย เย็นพระพายชายทะเลหาดสงขลา
หาดขาวดูพราวพรายสุดสายตา  สายลมพัดพาฉันชื่น
ใจว้าเหว่น้ำในทะเลซัดฝั่ง ทุกวันฉันฟังเสียงคลื่น
คลื่นผสมเคล้ามากับลมกลมกลืน ทั้งวันทั้งคืนครื้นเครง
แว่วเสียงลมและคลื่นที่บรรเลง  เหมือนเพลงเร้าใจให้ทุกข์คลาย
เพริดแพร้วดูอ่างแก้วงาน ใจเคลิ้มตามสมเป็นนามแก้วแพรวพราย
หมู่สนยืนลำต้นอยู่เรียงราย แหลมทรายเห็นทรายขาวผ่อง
ลมพัดผ่านหัวใจสำราญทุกเมื่อ เห็นเรือลับลอยลัดล่อง
โน่นเกาะหนูงามคู่เกาะแมวชวนมอง  ฉันชมสมปองสำราญ
ยอดเขาสูงดูสง่าน่าชื่นบาน สูงปานวิมานฟ้านั่น
เมื่อแสงเดือนงามผ่องเพ็ญ ลมพัดเย็นควรจะเป็นหาดสวรรค์
หนุ่มสาวเดินเคียงคู่อยู่เคียงกับ ชี้ชมแสงจันทร์แสงดาว
งามฟ้าเด่นเห็นขอบนภาโค้งต่ำ ร้อยกรองร้อยคำไหนกล่าว
ผ่องเลื่อมลายน้ำเป็นประกายพรายพราว สวยงามวับวาวเย้าตา
แห่งนี้งามเหลือที่จะพรรณนา สงขลานั้นพาฉันเพลิน

| ย้อนกลับ | บน |