| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


ภาษาและวรรณกรรม
    จารึก จารึกในจังหวัดสงขลาเท่าที่พบหลักฐานแล้ว มีดังนี้

            จารึกด้านหลังประภาวลีของรูปนางสยัมตารา  พบที่อำเภอสทิงพระ ทำด้วยสำริด นางศยัมตาราถือว่าเป็นศักดิ หรือนางคู่บารมีของพระโพธิสัตว์อวโลกเตศวร ประทับนั่งบนลลิตาสนะบนดอกบัว ทีประดับด้วยเกสรบัว พระหัตถขวาอยู่ในท่าประทานพร พระหัตถซ้ายถือดอกบัว พระเศียรสวมศิราภรณ์ พระองค์ประดับด้วยสร้อยสังวาลย์ แสดงอิทธิพลของศิลปะแบบชวาภาคกลาง ด้านหลังมีประภาวลี มีฉัตรประดับอยู่ตรงกลางเบื้องบน ด้านหลังมีจารึกด้วยอักษรอินเดีย ราชวงศ์ปาละ เป็นภาษาสันสกฤต  มีความว่า
                "พระตถาคตเป็นที่ยินดียิ่งของหมู่ไม้ที่น้อมไปหาด้วยช่อดอกอันบริสุทธิ์ (ฉันใด)  พระเจ้ายโศธวรมันผู้มีกำลังมาก เป็นที่ยินดีของผู้พบเห็น (ฉันนั้น) "
            ประติมากรรมและจารึก มีอายุอยู่ประมาณพทุธศตวรรษที่ ๑๔
            จารึกสุสานสุลต่านสุไลมาน  อยู่ที่บ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร ที่ขอบตอนบนของหลุมฝังศพมีอักษรด้วย อักษรยาวี เป็นภาษามลายู มีความว่า
                "ผู้ไปสู่พระผู้เป็นเจ้า - สุไลมาน ผู้ครองนครีมลายูสงโฆรา"
            สุลต่านสุไลมานเป็นผู้ครองเมืองสิงขระหรือเมืองสงขลา สมัยอยุธยาบริเวณหัวเขาแดง เมื่อประมาณพุทธศตววรษที่ ๒๒ สุสานของสุลต่าน ชาวบ้านเรียกว่า ทวดหุม หรือที่ฝังศพพระยาแขกมรหุ่ม
            จารึกถ้ำเขาจังโหลน  ถ้ำเขาจังโหลนอยู่ในเขตตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ เป็นจารึกบนแผ่นหินชนวน ด้วยอักษรขอม เป็นภาษาไทยและภาษาบาลี มีความว่า
                "ท่านวัดท่าข้าม เป็นผู้สร้างพระพุทธบาทนี้ไว้ เมื่อปีมะโรง โทศก เดือนสาม พ.ศ.๒๓๖๓ "
            ศิลาจารึกสำโรง  ประกอบด้วยศิลาจารึกสามหลัก ตังอยู่ที่ศาลเทพารักษ์ ถนนไทรบุรี ศิลาจารึกแต่ละหลักเป็นหินแกรนิตขนาดใหญ่ กว้าง ๗๕ เซนติเมตร สูง๑๒๒ เซนติเมตร หนา ๑๕ เซนติเมตร เป็นภาษาไทย ภาษาจีน และภาษามลายู อย่างละหนึ่งหลัก มีสาระพ้องกัน จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๘ บอกเรื่องพระสุนทรานุรักษ์ (บุญสังข์) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาคิดจะบำเพ็ญกุศล  สร้างสาธารณูประโยชน์คือ สร้างถนน บ่อน้ำ และสะพานข้ามคลองสำโรง จึงได้ชักชวนข้าราชการ และชาวเมืองสงขลา ทั้งไทย จีน และไทยอิสลาม ร่วมกันบริจาคทรัพย์ได้ทั้งสิ้น ๒,๓๑๒ เหรียญ ๓ สลึง ให้ช่างจัดการก่อสร้างสิ่งดังกล่าวจนเรียบร้อยแล้ว จึงทำการฉลองเป็นการใหญ่ แล้วได้สร้างจารึกไว้เป็นอนุสรณ์
            จารึกศาลาฤาษีดัดตน  อยู่ที่วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร  อำเภอเมือง ฯ เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์)  ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๐ - ๒๔๐๘  เป็นผู้สร้างขึ้น ที่ฝาผนังด้านข้างมีจิตรกรรมเขียนตำราแพทย์แผนโบราณ และภาพฤาษีดัดตน รวม ๔๐ ท่า แต่ละท่ามีจารึกเป็นคำโคลงสี่สุภาพอธิบาย คำโคลงเหล่านี้เลือกคัดลอกมาจากเรื่องโคลงภาพฤาษีดัดตน ที่จารึกไว้บนผนังศาลารายในวัดพระเชตุพน ฯ กรุงเทพ ฯ
            ด้านในของหน้าบันของศาลาทั้งสองข้างเขียนภาพเครื่องยาไทย ตอนล่างเขียนบรรยายตัวยา สรรพคุณและวิธีใช้

            จารึกภาษาจีนที่เสาประตูกำแพงแก้ว พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร  เป็นจารึกที่สลักลงบนเสาหินแกรนิตที่ทำเป็นเสาประตูกำแพงแก้ว แต่ละเสามีขนาดด้านสูง ๑๗๕ เซนติเมตร กว้าง ๒๘ เซนติเมตร หนา ๖๓ เซนติเมตร มีสี่ประตู รวมแปดเสาแต่ละเสาจารึกด้วยอักษรจีนเป็นภาษาจีนเก้าคำ รวมแปดเสาเป็นคำโคลงหนึ่งบาท แปลเป็นภาษาไทยตามประตูตั้งแต่ประตูด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ถึงประตูด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ทวนเข็มนาฬิกาได้ดังนี้
            เจ้าพระยาผู้เป็นใหญ่แห่งตระกูลวู (ตระกูล ณ สงขลา) หมั่นบำเพ็ญพระคุณธรรมมุ่งจรรโลงสิ่งที่คู่ควรแก่ความเป็นมนุษย์ด้วยศรัทธา เพื่อเกียรติคุณปรากฏสืบไปภาคหน้า
            (เจ้าพระยา) ปฏิบัติทางที่ชอบอย่างองอาจ วางตนในทางที่ชอบ ไม่มุสาผู้อื่น  ดำริ (สิ่งใด) ไม่ต้องละอายต่อฟ้า ครองตนอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาทางอย่างเคร่งครัด
            เมืองสงขลามีเชิงเทินเกินกว่าร้อยเชิงเทิน เป็นเมืองที่แข็งแรงมั่นคงเมืองหนึ่งแห่งภูมิภาคนี้ กำเหน็จของเจ้าเมืองสูงกว่าหมื่นเจื่อง (มาตราของจีน)  เกียรติคุณกำจายทั่วทิศ
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมา ณ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ (วัด) นี้  พระบรมโพธิสมภารที่ทรงแผ่คือเมตตา  การเสด็จมาประทับ ณ เมืองสงขลา พระมหากรุณาธิคุณที่แผ่กว้างประหนึ่งน้ำฟ้าประโลมดิน
            ศิลาจารึกสวนตูล  เป็นศิลาจารึกด้วยอักษรไทยเป็นภาษาไทย จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑  เดิมตั้งอยู่ที่ผนังด้านทิศใต้ ในโบราณสถานหอวิเชียรเทวดำรงในสวนตูล  มีใจความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกาศว่าที่ดินซึ่งเป็นสวนมะพร้าวอยู่ริมเขาเทวดา ใกล้กับเมืองสงขลา ๒๐๐ เส้น เป็นพื้นที่ทางทิศเหนือกว้าง ๒๘ เส้น ทิศใต้ ๑๗ เส้น ทิศตะวันออก และทิศตะวันตกกว้าง ๔๙ เส้น ๑๕ วา เป็นที่เสี้ยวไม่เสมอกัน ตามแผนที่ที่ผูกติดกับหนังสือนี้ มีเส้นดำหมายเขตไว้โดยรอบแล้วรวมเนื้อที่ได้ ๑๑๑๙ ไร่ ๑ งานเศษ ๕๐ วา
            เนื้อความต่อไปมีว่า "ที่สวนที่กล่าวมานี้ พระยาวิเชียรคีรี ฯ (ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาได้ขอต่อเรา พระเจ้ากรุงสยาม สำหรับทำเป็นฮวงซุ้ยฝังศพซึ่งได้อนุญาตแล้ว ผู้ใดผู้หนึ่งจะทำลายรื้อถอนสิ่งที่ตระกูลของพระยาวิเชียรคีรีก่อสร้างไว้ ไม่ได้แต่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในที่เหล่านี้ ต้องเสียภาษีอากรตามธรรมเนียม จะเว้นไม่ได้  หนังสือสำคัญนี้ได้ลงชื่อประทับพระราชลัญจกร สำหรับแผ่นดินและสำหรับตัวเรา มอบให้พระยาวิเชียรคีรี และได้คัดสำเนาให้กระทรวงมหาดไทยรักษาไว้ฉบับหนึ่งเป็นพยานด้วยหนังสือฉบับนี้ได้ทำให้แก่พระยาวิเชียรคีรี ตั้งแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๗ เป็นวันที่ ๑๐๘๔๖ ในรัชกาลปัจจุบัน"
            วรรณกรรมท้องถิ่น  วรรณกรรมท้องถิ่นจังหวัดสงขลา มีลักษณะทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและมุขปาฐะ  จากการรวบรวมของหน่วยงานต่าง ๆ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ พบว่ามีวรรณกรรมที่เป็นลายลักษณ์อยู่ ๓๙๑ รายการ ๘๒๓ ฉบับ  เป็นหนังสือบุดชนิดบุดขาว ๕๓๘ ฉบับ บุดดำ ๑๓ ฉบับ สมุดคัดลอก ๑๓๓ ฉบับ และอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง
                -  สิ่งที่ใช้ในการจารหรือจารึก  นอกจากมีการจารึกบนแผ่นศิลาแล้ว ยังนิยมจารไว้บนสมุดข่อยหรือหนังสือบุด  หนังสือบุดที่จารบนสมุดข่อยมีสองชนิดคือบุดดำ ซึ่งเป็นกระดาษที่ฉาบทาด้วยสีดำ เขียนด้วยตัวอักษรสีขาว สีรง หรือสีทอง อีกชนิดหนึ่งคือบุดขาว อักษรเนื้อกระดาษเป็นสีขาว เขียนด้วยตัวอักษรสีดำ
                -  ตัวอักษรที่ใช้จาร  ได้แก่ อักษรไทย อักษรไทยปนอักษรขอมและอักษรขอม ในการบันทึกด้วยตัวอักษรไทยจะบันทึกตามสำนวนถิ่นใต้นั้น ๆ สำหรับการบันทึกด้วยตัวอักษรไทยปนอักษรขอม จะพบในวรรณกรรมที่เกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ
                -  ภาษาที่ใช้  มีทั้งภาษาไทย ภาษาไทยปนภาษาขอม ภาษาบาลี และภาษาไทยปนภาษาบาลี  ภาษาไทยจะพบในวรรณกรรมทุกประเภท ภาษาขอมจะพบในวรรณกรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา  ภาษาไทยปนภาษาขอมจะพบในวรรณกรรมประเภทความเชื่อ และมีพบอยู่บ้างในวรรณกรรมประเภทกฎหมาย ส่วนภาษาบาลีจะพบในวรรณกรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
                -  ลักษณะคำประพันธ์  มีทั้งร้อยแก้ว กาพย์ กลอน ร่าย และประสมกัน วรรณกรรมประเภทกฎหมายทั้งหมด จะเป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยแก้ว วรรณกรรมประเภทนิทานประโลมโลกส่วนมากเป็นคำประพันธ์ประเภทกาพย์ รองลงมาคือกลอน วรรณกรรมประเภทอื่น ๆ จะมีความหลากหลายคือมีทั้งกาพย์ กลอน และประสม
                -  ประเภทของเนื้อหา  มีเนื้อหาสาระที่เป็นทั้งความรู้ ความคิด และความเชื่อ เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การแพทย์ ปรัชญา จริยธรรม กฎหมาย ตำนาน ตำรา คำกลอน นิทาน ฯลฯ
            ภาษาถิ่น  แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มภาคใต้ตอนกลางกับเขตพื้นที่ฝั่งตะวันออกได้แก่ พื้นที่ในเขตอำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธิ์ อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร และกลุ่มภาคใต้ตอนใต้ จนจรดพรหมแดนมาเลเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มภาษาถิ่นต่าง ๆ ที่พูดกันในเขตพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เอกลักษณ์ภาษาถิ่นของจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะคือภาษาถิ่นสะกอม ที่ใช้อยู่ในเขตตำบลสะกอม อำเภอจะนะ
            ชาวสะกอม ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม สำเนียงภาษาสะกอม เป็นสำเนียงกึ่งภาษาตากใบกับภาษาสงขลา มีโครงสร้างทางภาษาเช่นเดียวกับภาษามาตรฐานกลาง และภาษาถิ่นใต้ทั่วไป แต่มีลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์คือ คำที่มีสองพยางค์ จะไม่นิยมตัดคำเหมือนภาษาถิ่นใต้ทั่วไป มีการเติมเสียงพยางค์หน้า  นอกจากนี้ยังมีคำมลายถิ่นปนอยู่มาก และยังมีการเรียงคำสับ ที่เป็นภาษาถิ่นใต้ทั่วไปเช่น พุงขึ้น (ท้องขึ้น) จะเป็นขึ้นพุง เป็นต้น
    ขนบธรรมเนียมประเพณี
            การแต่งกาย  การแต่งกายของชาย แต่เดิมเวลาอยู่กับบ้านจะนุ่งผ้าเลื้อยชาย ซึ่งเป็นผ้าทอในท้องถิ่น ลักษณะเดียวกันกับผ้าขาวม้า ชายผ้านุ่งปล่อนลอยชาย เวลาทำงานหรือเดินทางไกล จะดึงเอาชายผ้าสองข้างขึ้นมาเหน็บข้างเอวเรียกว่า เหน็บจ้อน หากต้องการความคลองตัวเวลาทำงานเป็นพิเศษ จะนุ่งแบบปั้นเดี่ยวหรือหยักรั้ง สมัยก่อนไม่นิยมใส่เสื้อ มักใช้ผ้าพาดบ่า แล้วปล่อยชายห้อยไว้ ผู้ที่มีอาชีพประมง จะนิยมนุ่งกางเกงผ้าฝ้ายทรงกกระบอก มัดปมที่เอว
            การแต่งกายของหญิงในอดีต นอกจากจะนุ่งโจงกระเบน แล้วก็นิยมนุ่งผ้าที่เย็บเพลา ชายผ้าทั้งสองข้างให้ติดกัน การนุ่งมีสองวิธีคือ นุ่งผ้าพันคอไก่ ขมวดปมไว้ตรงกสะเอวด้านหน้า แบบนุ่งโจงกระเบน แล้วใช้เข็มขัดคาดทับ  อีกแบบหนึ่งคือนุ่งผ้าฝ้ายแล้วคาดเข็มขัด ส่วนบนของร่างกายใช้ผ้าทอรอบอกแทนเสื้อ  ส่วนหญิงสาววัยรุ่นใช้ผ้าแถบหรือผ้าซีกพาดคล้องด้านหลัง ชายสองข้างพาดไขว้ปิดหน้าอก เงื่อนชายผ้าทั้งสองข้างผูกไว้ที่ต้นคอ อย่างเช่นการห่มตะแบงมาน จะใช้วิธีนุ่งห่มแบบฉ้อค้อ (รัดคอ) ใช้เข็มกลัดเย็บติดกับชายผ้าซีกยาว พาดบ่าอย่างพาดเฉียง (สไบเฉียง) หรือใช้ผ้าห่มแบบรัดอกผืนหนึ่ง แล้วห่มทับเฉียงซ้อนอีกผืนหนึ่ง  ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อแต่งงานแล้วจะใช้ผ้ารัดอกอย่างเดียว
            การกินอยู่  การกินอยู่ของชาวสงขลาเป็นำปเช่นเดียวกับชาวภาคใต้ทั่วไปคือ มีลักษณะเรียบง่ายอาหารมีรสจัด คือเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด ถ้าเป็นแกงมักใส่กะทิ และเครื่องแกงจะใส่ขมิ้น คนสมัยก่อนเชื่อว่าขมิ้นเป็นยาแก้ยา หรือพญายา ทั้งยังเป็นสมุนไพรแก้โรคได้หลายชนิด หากไม่มีแกงเผ็ดจะใช้น้ำพริก ผักจิ้มแทน ผักสดเป็นส่วนประกอบของอาหารทุกมื้อ เพื่อกินกับแกงเผ็ด หรือน้ำพริก
            ชาวสงขลามีประเพณีการกินเลี้ยงในโอกาสต่าง ๆ คือ กินงาน กินแขก และกินวาน
                -  การกินวาน  มีขึ้นได้หลายโอกาสถือเป็นงานสำคัญ และเป็นหน้าที่ของญาติมิตรที่จะต้องไปช่วยเหลือเช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน ซึ่งเจ้าภาพจะต้องเลี้ยงดูผู้ที่มาร่วมงานให้ทั่วหน้า ต้องปลูกสร้างโรงครัวและโรงเลี้ยงขึ้นเป็นพิเศษ เวลากลับเจ้าภาพก็จะจัดข้าวเหนียวไห้นำกลับไปด้วย
                -  การกินแขก  หกมายถึงงานที่ออกบัตรเชิญหรือบอกกล่าวด้วยวาจาเรียกว่า บอกแขก บางแห่งเรียกว่า งานกินน้ำชา เป็นการจัดงานให้ผู้รับเชิญมีส่วนรวมในการช่วยเหลือด้านเงินทอง เช่น ต้องการทุนให้ลูกไปศึกษาต่อ เมื่อกินเลี้ยงแล้วแขกรวบรวมเงินเป็นของกำนัลแก่เจ้าภาพ
                -  การกินวาน  คืองานที่เจ้าภาพออกปากให้เพื่อนบ้านไปช่วยกันลงแรงทำงานให้ตน เช่น ออกปากเก็บข้าว (เกี่ยวข้าว) หาบข้าว หามเริน (เรือน) เป็นต้น  คล้ายกับการลงแขกของภาคกลาง เจ้าภาพจะต้องจัดเตรียมอาหารคาวหวานไว้เลี้ยงผู้ที่ไปช่วยทำงานทุกคน เรียกประเพณีนี้ว่า ออกปาก-กินวาน
            อาหารพื้นเมืองของจังหวัดสงขลา ที่เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางได้แก่ ขนมจีนข้าวยำ แพงพงปลา (แกงไตปลา) บูดู จิ้งจัง หมาง ยำสาหร่าย ผักสดที่นิยมกันแพร่หลายได้แก่ ลูกเนียง ลูกเหรียง  สุตอ ยอดมะม่วงหิมพานต์ ผลไม้ที่นิยมกันแพร่หลายได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลางสาด ลองกอง ลูกู จำปาดะ สรา (ละมุด)  ลูกหยี   ขนมหวานที่นิยมกันมากได้แก่  ขนมโค ขนมเท่ดิบ (ลอดช่องน้ำกะทิ)  ขนมเม็ดข้าว (ขนมปรากิม)  กาละแม ทุเรียนกวน  เมล็ดมะม่วงหิมพานต์คลุกหรือเชื่อมน้ำตาล
    การประกอบอาชีพ
            การทำมาหากินของชาวจังหวัดสงขลามีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับสภาพแวดล้อม และได้มีการถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคน จนมีคำกล่าวแสดงวิถีชีวิตการทำมาหากินของชาวสงขลาไว้ว่า
                "ทิ้งทำหม้อ  เกาะยอทำอ่าง  หัวเขาทำโพงพาง  บ่อยางทำเคย"
            การทำนา  ชาวสงขลาจะไถนาด้วยวัวคู่ในฤดูกาลปกติโดยอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก ตั้งแต่การไถคราด การปักดำ จนถึงการเก็บเกี่ยว ในบางชุมชนไม่สามารถอาศัยธรรมชาติเพื่อการทำนาตามปกติได้ต้องแก้ปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ทำนา เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในบริเวณที่ล้อมรอบด้วยภูเขา มีที่ราบทำนาอยู่น้อยเช่น ชาวบ้านที่บ้านทุ่งปลิง ตำบลพิจิตร อำเภอนาหม่อม ต้องใช้วิธีทำนาตามสายน้ำคือ ใช้พื้นที่ที่แคบเป็นทางน้ำที่แห้งขอดไปหรือเปลี่ยนทางเดินไป มาทำเป็นที่นาโดยกั้นคันนาเป็นช่วง ๆ ไปตามสายน้ำ หรือชาวบ้านที่มีอาชีพทำการประมง เมื่อถึงฤดูมรสุมจะต้องลากเรือเข้าฝั่งเก็บเครื่องมือประมง แล้วไปทำนาในช่วงมรสุม เช่น ที่บ้านปากบางนาทับ ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ ซึ่งเป็นชุมชนชายทะเล
            การทำสวน  เป็นาการทำสวนผลไม้ที่พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ที่ปัจจุบันเรียกว่า สวนผสมหรือสวนสมรม  สวนดังกล่าวจะประกอบไปด้วยผลไม้หลักสองสามชนิดเช่น ทุเรียน  จำปาดะ หรือเงาะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ขึ้นเองตามธรรมชาติหรือปลูกมาเป็นเวลานานแล้ว ไม้ผลบางต้นจะมีขนาดสูงใหญ่แลมีอายุหลายสิบปี นอกจากไม้ผลหลักแล้วจะมีการปลูกไม้ผลชนิดอื่น หรือปลูกไม้ผลชนิดอื่น ๆ ในที่ว่างเช่น ลางสาด เงาะพันธุ์ดี ลองกอง มะละกอ กล้วย หมาก มะไฟ ส้มโอ ละมุด เป็นต้น การทำสวนของชาวสงขลาจึงเป็นการดูแลเป็นช่วง ๆ ตามฤดูกาลที่ต้นไม้แต่ละชนิดให้ผล แตกต่าจากากรทำสวนแผนใหม่ที่เน้นการปลูกพืชชนิดเดียว และมีการดูแลอยู่โดยตลอด

            การประมง  จังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำ ซึ่งมีอาชีพการประมงอยู่ทั่วไป สามารถแบ่งออกเป็นสามลักษณะตามสภาพพื้นที่และหล่งน้ำคือ
                -  การประมงในทะเลนอกหรือทะเลหลวง  เป็นการทำประมงในอ่าวไทยแบ่งออกเป็น การประมงทะเลลึก ต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ขนาดใหญ่ เช่น เรือลากอวน อวนลาก ที่ต้องลงทุนสูงใช้แรงงานมาก อีกอย่างหนึ่งเป็นการมงชายฝั่ง ซึ่งเรือขนาดเล็ก เครื่องมือและอุปกรณ์ไม่ยุ่งยาก เครื่องมือที่ใช้มีอวนทับตลิ่ง อวนลอย อวนล้อม แห และกัด เป็นต้น สามารถดำเนินการได้ในระดับครอบครัว
                -  การประมงในทะเลสาบหรือทะเลใน  ชาวสงขลาบริเวณรอบทะเลสาบมีอาชีพจับสัตว์น้ำจากทะเลสาบเพื่อการยังชีพมาแต่โบราณ เครื่องมือเครื่องใช้ได้แก่ เบ็ดราว ไซนั่ง อวนลอย อวนรุน และโพงพาง เป็นต้น
                -  การประมงน้ำจืด  เก็นการจับสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำจืดทั่วไป ตลอดจนพื้นที่น้ำท่วมขังในฤดูฝน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ เครื่องมือพื้นบ้านแต่ดั้งเดิม เช่น ไซซ่อน ลับ เบ็ดทาง เบ็ดตก โบระ แนด ผลำ บอกดัก หลุมริ่ง ร้านริ่ง  เป็นต้น

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |