| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา

ศาสนสถาน

           พระพุทธบาทบัวบก  ตั้งอยู่บนไหล่เขาภูพาน ที่บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ อยู่ติดกับอุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท
            พระพุทธบาทบัวบก แปลตามความหมายว่า รอยพระพุทธบาทพระพุทธเจ้า ที่ประทับไว้ ณ สถานที่ที่มีต้นบัวบกขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก รอยพระพุทธบาท กว้าง ๑.๙๓ เมตร ยาว ๒.๑๗ เมตร ลึก ๐.๓๐ เมตร ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด กล่าวกันว่าเดิมทีรอยพระพุทธบาทมีเพียงมณฑปเล็ก ๆ สร้างครอบไว้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ พระอาจารย์ สีทัต สุวรรณมาโจ ได้ธุดงค์มาพบและทำการปฎิสังขรณ์ สร้างพระธาตุมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๘.๕๐ เมตร สูงประมาณ ๔๕ เมตร ครอบเอาไว้
            ลักษณะองค์พระธาตุ สร้างเลียนแบบพระธาตุพนมองค์เดิม แต่ส่วนฐานชั้นล่างโปร่ง สามารถเข้าไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ที่ประดิษฐานอยู่ภายในได้ ยอดพระธาตุเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่ขุดพบในรอยพระพุทธบาทเดิม และมีวัตถุมงคลอีกมาก เช่น ต้นคำ หนัก ๖ กิโลกรัม ๑๐ องค์ ได้บรรจุรวมไว้ในองค์พระธาตุที่ ๓ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
            พระพุทธบาทบัวบก เป็นที่เคารพสักการะของชาวอำเภอบ้านผือ และประชาชนในบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งพุทธศาสนิกชนจากประเทศลาว มีงานเทศกาลในวันขึ้น ๑๓ - ๑๕ ต่ำ เดือนสี่ ของทุกปี

           พระธาตุดอนแก้ว (พระมหาธาตุเจดีย์)  ตั้งอยู่ในวัดมหาธาตุเจดีย์ บ้านดอนแก้ว ตำบลกุมภวาปี อำเภอกุมภวาปี เป็นเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมคล้ายพระธาตุพนม สูงประมาณ ๑๘ วาเศษ กว้างด้านละ ๖ วา ๒ ศอก มีบันไดขึ้นลงสองด้านคือ ด้านทิศตะวันออก และด้านทิศตะวันตก สร้างเป็นลักษณะสองชั้น แต่ละชั้นมีภาพสลักเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ เรื่อง นรก สวรรค์ วัสดุที่ใช้ก่อสร้างเป็นหินทราย รูปทรงเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ ศอก รอบนอกฉาบด้วยปูน ซึ่งน่าจะเป็นการซ่อมแซมภายหลัง
            มีผู้สันนิษฐานว่า พระมหาธาตุเจดีย์ สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๓ เพราะวัสดุที่ใช้ก่อสร้างเป็นหินทราย รวมทั้งภาพที่แกะสลักเป็นฝีมือของคนในสมัยทวารวดีตอนปลาย หรือสมัยลพบุรีตอนต้น รอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์มีใบเสมา และเสาหินตั้งอยู่ทั้งแปดทิศ มีลักษณะเป็นแปดเหลี่ยมบ้าง แบนบ้าง สูงตั้งแต่ ๒ - ๔ เมตร ปัจจุบันศิลปกรรมเหล่านี้ ตั้งอยู่ห่างจากองค์พระธาตุ ๒ - ๒๐ เส้น
            ตามตำนานกล่าวว่า พระเจดีย์องค์สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เก็บอัฐิของพระอรหันต์องค์หนึ่ง ซึ่งเดินทางไปนมัสการพระธาตุพนมแล้ว ผ่านมายังหมู่บ้านนี้เกิดอาพาธดับขันธ์ ณ ที่นี้
            ชาวบ้านดอนแก้ว และชาวอำเภอกุมภวาปี จะจัดให้มีงานประเพณีที่วัดพระมหาธาตุเจดีย์ บ้านดอนแก้ว เป็นประจำทุกปี โดยการทำบุญสรงน้ำ ในวันเสาร์-อาทิตย์ แรก หลังวันสรงกรานต์

           วัดป่าแมว (วัดศรีธาตุปมัญชา)  อยู่ในเขตอำเภอศรีธาตุ อยู่ห่างจากตัวอำเภอออกไปประมาณ ๖ กิโลเมตร ภายในวัดมีองค์พระธาตุใหญ่ สันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ ๑,๓๐๐ ปี เดิมมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ยอดพระธาตุมีลักษณะชะลูดสูงขึ้น สันนิษฐานว่าจะเป็นยอดแหลม แต่ได้หักพังไปก่อนที่ชาวบ้านจะมาพบ มีความสูงประมาณ ๒๐ เมตร
            ลักษณะองค์พระธาตุส่วนล่างปิดทึบทั้งสี่ด้าน แต่ด้านทิศตะวันออกมีลักษณะเป็นซุ้มประตู แต่ไม่มีช่องที่จะเข้าออกได้ รอบฐานขององค์พระธาตุมีซากอิฐดินเผา พังรอบฐานขององค์พระธาตุสองชั้น สันนิษฐานว่าเป็นกำแพงแก้ว เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๑ ได้ขุดพบพระพุทธรูปทองคำ และทองสำริด เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ
            วัดมัชฌิมาวาส  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ อยู่ในตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ ๑๕ ไร่ เป็นวัดที่มี หลวงพ่อนาค ประดิษฐานอยู่หน้าพระอุโบสถ
            ความเป็นมาของวัดมัชฌิมาวาส คือ เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดเก่า เคยเป็นวัดร้างมาก่อนมีเจดีย์ศิลาแลง ตั้งอยู่บนเนินดินใกล้ลำห้วยหมากแข้ง นายพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม  ทรงให้สร้างวัดขึ้นมาในบริเวณวัดร้าง แห่งนี้ และให้ชื่อว่า วัดมัชฌิมาวาส ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓
               หลวงพ่อนาค  เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ทำจากหินขาวเป็นท่อน นำมาประกอบกันเป็นองค์พระ ประดิษฐานอยู่หน้าพระอุโบสถ ไม่ปรากฎว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เดิมหลวงพ่อนาคประดิษฐานอยู่ที่วัดร้าง บนโนนหมากแข้ง ชาวบ้านเดื่อหมากแข้ง และบ้านใกล้เคียงนับถือวว่า เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ จึงได้พร้อมใจกันปลูกศาลาขนาดเล็ก มุงด้วยหญ้าคาเป็นที่ประดิษฐาน มีการทำบุญสรงน้ำในเทศกาลสงกรานต์ และทำบุญบั้งไฟบูชาเป็นประจำทุกปี
                ต่อมาเมื่อ นายพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงสร้างวัดมัชฌิมาวาสขึ้น ที่วัดร้างโนนหมากแข้งนี้ จึงทรงให้สร้างอุโบสถขึ้นที่โนนหมากแข้ง แล้วอาราธนาพระพุทธรูปปางนาคปรก หินขาว ดังกล่าวมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถนั้น และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙
                ต่อมาทางวัดได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ จึงได้รื้อพระอุโบสถหลังเก่า และอาราธนาหลวงพ่อนาค ไปประดิษฐานไว้ที่หน้ามุข ด้านหน้าพระอุโบสถ และได้มีการก่อพระพุทธรูปหุ้มองค์เดิมไว้  ประชาชนถือว่าเป็นพระพุทธรูปมิ่งเมืองอุดรธานี เพราะมีประจำอยู่ที่โนนหมากแข้งก่อนสร้างเมืองอุดรธานี ทางวัดมัชฌิมาวาสถือเอาหลวงพ่อนาคเป็นสัญลักษณ์ของวัดและตราประจำวัด จะมีรูปพระนาคปรกอยู่ตรงกลางหลวงพ่อนาค วัดมัชฌิมาวาส
            วัดโพธิสมภรณ์  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดฝ่ายธรรมยุติ มีปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัดคือ
                    พระพุทธรูปทองสำริด  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (หลวงพ่อพระพุทธรัศมี) หน้าตักกว้าง ๑.๕๕ เมตร สูง ๒.๓๐ เมตร อายุประมาณ ๖๐๐ ปี สมัยสุโขทัย เป็นพระประธานในพระอุโบสถ
                    พระพุทธรูปศิลาแลง  เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร สูง ๙๕ เซนติเมตร กว้าง ๒๔ เซนติเมตร สมัยลพบุรี อายุประมาณ ๑,๓๐๐ ปี
                    ต้นพระศรีมหาโพธิ์  เป็นต้นโพธิ์ที่รัฐบาลประเทศศรีลังกา มอบให้รัฐบาลไทย ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้นำมาปลูกไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔
                    รอยพระพุทธบาทจำลอง  ทำด้วยศิลาแลง อายุประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ
                    ตู้พระไตรปิฎกลายทองลดน้ำ  สร้างในพระนามเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒
ศาสนบุคคล

            พระเทพวิสุทธาจารย์ (หลวงปู่ดีเนาะ) เจ้าอาวาสรูปที่สาม แห่งวัดมัชฌิมาวาส นามเดิมว่าบุญ ปลัดกอง เกิดที่บ้านดู่ ตำบลบ้านดอน อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๕
            เมื่ออายุได้ ๑๙ ปี ครอบครัวของท่านได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านทุ่งแร่ ตำบลหมูม่น อำเภอเมือง ฯ เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านโนนสว่าง และต่อมาอีกหนึ่งปีได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดบ้านบ่อน้อย ตำบลเชียงยืน อำเภอเมือง ฯ ได้รับฉายาว่า "ปุญญสิริ" แล้วไปจำพรรษาที่วัดโนนสว่าง อยู่สามปี จึงได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดมัชฌิมาวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐
            ท่านเป็นเกจิอาจารย์รูปหนึ่งที่มีผู้เคารพนับถือเป็นจำนวนมากทั้งไทยและต่างประเทศ ท่านชอบอุทานหรือกล่าวคำว่า "ดีเนาะ" และ "สำคัญเนาะ" อยู่เป็นอาจิณ ไม่ว่าเรื่องที่ท่านรับฟังจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เมื่อท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ยังมีคำว่า "สาธุอุทานธรรมวาที" อยู่ด้วย
            ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๐ - ๒๕๑๓ จึงได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ รวมอายุได้ ๙๘ ปี

            พระธรรมเจดีย์ (จูมิ พนฺธโล)  เป็นผู้ให้กำเนิดพระวิปัสสนา กรรมฐานและพัฒนาการศึกษาสงฆ์แห่งอีสาน ได้ให้การส่งเสริมผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ให้ที่พักศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา ให้เข้าใจหลักพระธรรม ณ วัดโพธิสมภรณ์
            ท่านเกิดที่บ้านท่าอุเทน ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๓๑ ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ แล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดโพนแก้วอยู่สามปี เรียนอักษรธรรม อักษรขอม และภาษาไทย จนรอบรู้ใช้งานได้คล่องแคล่ว ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดอินทรแปลง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ในปี พ.ศ.๒๔๔๖ ได้จำพรรษาที่วัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบล ฯ ได้ศึกษาสมถวิปัสสนากรรมฐาน จากพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นเวลาสามปี
            ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดมหาชัย ตำบลหนองบัวลำภู ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ได้มาศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดเทพศิรินทร์ กรุงเทพ ฯ พ.ศ.๒๔๖๐ สอบได้นักธรรมตรี พ.ศ.๒๔๖๕ สอบได้นักธรรมโท และเปรียญธรรม ๓ ประโยค
            ในด้านการปกครอง ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ เป็นพระอุปัชฌาย์และเป็นผู้รักษาการเจ้าคณะจังหวัดอุดร ฯ พ.ศ.๒๔๗๐ เป็นเจ้าคณะจังหวัดมณฑลอุดร ฯ พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะธรรมยุติในสมณศักดิ์พระธรรมเจดีย์
            ในด้านศาสนสถาน  ท่านได้ให้การสนับสนุนให้มีการสร้างวัดขึ้นในจังหวัดอุดร ฯ ทางฝ่ายธรรมยุติทั้งวัดป่าและวัดบ้าน จำนวน ๑๐๐ วัด
            ท่านได้มรณภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕

            พระธรรมบัณฑิต (จันทร์ศรี จนฺททีโป)  เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ รูปที่สาม ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕ ที่บ้านโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
            ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๑๔ ปี ที่วัดศรีจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘ และอุปสมบท ณ วัดศรีจันทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ จากนั้นได้ออกปฏิบัติธุดงควัตรปฏิบัติธรรมและวิปัสสนาธุระ ในสำนักพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ และพระอาจารย์เทศก์ เทสรังสี
          ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ท่านได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร กรุงเทพ ฯ จนสอบได้นักธรรมเอกและเปรียญธรรม ๔ ประโยค
            ในด้านการบริหารการปกครอง ท่านได้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ตั้งปี พ.ศ.๒๕๐๖ เป้นเจ้าคณะจังหวัดอุดร ฯ (ธรรมยุต) รองเจ้าคณะภาค ๘ (ธรรมยุต) เจ้าคณะภาค ๙ (ธรรมยุต) กรรมการชำระพระไตรปิฎก (พระสูตร) พระอนุกรรมการคณะธรรมยุต กรรมการตรวจข้อสอบสนามหลวง พระธรรมทูตประจำจังหวัดอุดร ฯ รองประธานกรรมการบริหารอุบปบาลีศึกษาอีสาน ธรรมยุต ผู้อำนวยการอุบปศึกาพุทธศาสนาวันอาทิคย์ วัดโพธิสมภรณ์

            หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปณฺโณ  เดิมชื่อบัว โลหิตนี เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ ที่บ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง ฯ
            ท่านได้อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ ณ วัดโยธานิมิตร อำเภอเมือง ฯ ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและภาษาบาลี จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค และนักธรรมเอกในปีเดียวกัน รวมเวลาศึกษาอยู่เจ็ดปี
            ในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ท่านได้อยู่จำพรรษากับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่บ้านโคก ตำบลตองโศก อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นเวลาสองปี และได้ติดตามพระอาจารย์มั่น ฯ ไปจำพรรษาที่บ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นเวลาหกปี จนถึงปีที่พระอาจารย์มั่น มรณภาพ
            ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ชาวบ้านตาดได้นิมนต์ให้ท่านจำพรรษาอยู่เป็นหลักแหล่ง ได้มีผู้บริจาคที่ดินสร้างวัดให้ประมาณ ๑๖๓ ไร่ ได้เริ่มสร้างวัดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ให้ชื่อว่า วัดป่าบ้านตาด และท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้มาจนถึงปัจจุบัน
            ปฏิปทาของท่าน เน้นการแสดงธรรมเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อมีผู้มาพบท่านจะได้รับข้อคิดไปใช้ในชีวิตประจำวันเสมอ ท่านฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร ครองผ้าสามผืน ไม่สะสม นอบน้อม ปฏิบัติกรรมฐานเป็นวัตร ถือธุดงควัตร บวชโดยมีเป้าหมายคือ มุ่งมรรค ผล นิพพาน และสงเคราะห์โลก ธรรมที่ท่านใช้สั่งสอนชาวบ้านเป็นคำพูดที่ฟังง่าย ๆ ไม่สลับซับซ้อน ส่วนธรรมะที่แสดงต่อพระสงฆ์ด้วยกันค่อนข้างสูง แต่ก็ไม่ยากต่อการแปลความหมาย

            หลวงปู่พิบูลย์  ท่านมีนามเดิมว่าพิบูลญ์ แซ่ตัน เกิดที่บ้านพระเจ้า ตำบลมะอี อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด เคยรับราชการทหารอยู่หลายปีและเคยแต่งงาน แต่ไม่มีบุตร ท่านเป็นผู้ที่ชอบทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ชอบทำบุญ ฟังธรรม และสนทนาธรรมอยู่เป็นประจำ
            ท่านอุปสมบทเมื่ออายุได้ ๔๕ ปี เมื่ออุบสมบทได้หนึ่งพรรษาก็ได้เดินธุดงค์ไปยังประเทศลาว โดยไปที่ภูอากและภูเขาควาย เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมอยู่หลายพรรษา ได้ไปเรียนกรรมฐานกับอาจารย์ผู้หนึ่งเป็นเวลาสามปี และได้ผ่านการทดสอบจากอาจารย์แล้ว อาจารย์จึงได้ส่งมาประกาศพุทธศาสนายังประเทศไทย โดยให้ท่านไปประกาศศาสนาที่ภาคอีสาน ท่านได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขงมาทางนครพนม นมัสการพระธาตุพนมแล้วได้เดินทางไปยังอำเภอกุมภวาปี มาตั้งวัดอยู่ที่เกาะแก้วเกาะเกศ ซึ่งเดิมเป็นที่อาถรรพ์ไม่มีใครกล้าเข้าไป เมื่อท่านเข้าไปบุกเบิก ผู้คนจึงพากันาเลื่อมใสศรัทธา
            ท่านได้สร้างวัดแล้วจึงเดินธุดงค์ขึ้นไปหาอาจารย์ที่ประเทศลาว อาจารย์บอกว่าวัดที่ต้องการให้สร้างอยู่ทางทิศเหนือของหนองหานติดกับห้วยหลวง ท่านจึงเดินทางกลับมาบอกญาติโยมตามนั้น แล้วจึงเดินทางไปหาวัดตามที่อาจารย์บอก เมื่อเดินทางไปถึงบ้านเชียงงาม ชาวบ้านขอให้จำพรรษาที่วัดเชียงงามก่อน เพราะวันที่ไปถึงเป็นวันเข้าพรรษา ท่านจึงรับนิมนต์แล้วจำพรรษาอยู่ ณ วัดเชียงงาม มีชายคนหนึ่งชื่อนายเถิก เป็นคนหัวดื้อเรียนวิชาอาคมมา เป็นคนเกะกะระรานชาวบ้าน ท่านจึงได้ว่ากล่าวตักเตือน นายเถิกไม่พอใจคิดทำร้ายท่านแต่ไม่สำเร็จและตัวเองถึงแก่อันตราย แต่ท่านได้ช่วยไว้ นายเถิกจึงได้ขอบวชกลับท่านและเป็นผู้ติดตามท่านไป
            เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้เดินทางไปทางทิศเหนือของอำเภอหนองหาน จนถึงห้วยดานแล้วถามทางไปบ้านไท เมื่อไปถึงแล้วก็ถามชาวบ้านว่ามีวัดเก่าอยู่ในละแวกนี้บ้างหรือไม่ ชาวบ้านก็พาไปดูวัด ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดอกไม้สีแดง ภายในวิหารมีแท่นพระใหญ่ แต่ไม่มีพระพุทธรูป มีแต่ต้นไม้แดงต้นใหญ่อยู่ใกล้ ๆ ท่านจึงตั้งชื่อว่า วัดพระแท่น ชาวบ้านได้ช่วยกันแผ้วถาง พื้นที่ได้ ๖ ไร่ แล้วสร้างที่พักชั่วคราวให้ท่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ และได้ชักชวนชาวบ้านไทให้มาอยู่ที่แห่งใหม่ โดยให้ชื่อว่า บ้านแดง ตามนามต้นไม้แดงใหญ่และหนองแดง มีผู้อพยพเข้ามาอยู่เพิ่มขึ้นตามลำดับ
            ท่านได้ทำธนาคารข้าว ธนาคารโคกระบือ ไว้คอยช่วยเหลือคนยากจน และบอกชาวบ้านว่าบ้านแห่งนี้จะเป็นเมืองในอนาคต การกระทำต่าง ๆ ของท่านทำให้ทางราชการบ้านเมืองและคณะสงฆ์เข้าใจผิด คิดว่าท่านเป็นกบฎซ่องสุมผู้คนและอาวุธ จึงนำท่านไปที่วัดโพธิสมภรณ์ และอยู่ที่นั่น ๑๕ พรรษา
            เมื่อเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน ทางฝรั่งเศสได้ใช้เครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่นาเกลือ ท่านก็สามารถบอกเหตุการณ์ที่จะเกิดได้หมด
            ท่านนถึงแก่มรณภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ สิริรวมอายุได้ ๑๓๕ ปี

            พระธรรมปริยัติโมลี  นามเดิมว่า บุ่น เอกรัตน์ นามฉายา โกวิโท เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ ที่บ้านสบเปือย ตำบลเสอเพลอ อำเภอกุมภวาปี
            ท่านได้ศึกษาวิชาสามัญสอบได้ชั้นประถมบริบูรณ์ นักธรรมสอบได้นักธรรมเอก บาลีสอบได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
            ในด้านหน้าที่การงาน เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๕ ได้เป็นครูสอนนักธรรมชั้นโท ปี พ.ศ.๒๔๘๖ เป็นครูสอนบาลี และได้สอบติดต่อกันมาเป็นเวลาถึง ๓๐ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๘ - ๒๔๕๓ ท่านได้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับคือเป็นเลขานุการคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดอุดร ฯ เป็นสาธารณูปการ จังหวัดอุดร ฯ เป็นพระวินัยธร จังหวัดอุดร เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดอุดร ฯ รูปที่ ๒ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส เป็นรองเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส เป็นผู้รักาการแทนเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส เป็นผู้รักษาราชการแทนเจ้าคณะจังหวัดอุดร ฯ  เป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส เป็นรองเจ้าคณะภาค ๘ เป็นเจ้าคณะภาค ๘
            ในด้านสมณศักดิ์ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระปริยัติเวที เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นพระราชปริยัติเมธี (พ.ศ.๒๕๑๗) เป็นพระเทพปริยัติสุธี (พ.ศ.๒๕๓๐) เป็นพระธรรมปริยัติโมลี (พ.ศ.๒๕๓๕)
            ท่านได้มรณภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗

            หลวงปู่เครื่อง ธมฺมจาโร  ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐ ที่บ้านนาหมี ตำบลนายูง แต่งงานเมื่ออายุ ๒๕ ปี มีบุตรสองคน เมื่อภรรยาและบบุตรสาวถึงแก่กรรมท่านจึงได้ออกบวช โดยได้ไปอุปสมบทที่วัดพระเจ้าองค์ตื้อ เมืองเวียงจันทน์ และออกเดินทางไปศึกษาธรรมในสถานที่ต่าง ๆ
            ในปี พ.ศ.๑๔๓๙ ท่านได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่ได้ธุดงค์มาที่บ้านนายูง จึงได้อยู่ปฎิบัติธรรมกับ พระอาาจารย์มั่น ฯ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๗  ท่านได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ จนเกือบทั่วราชอาณาจักรไทย จนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๙ จึงได้กลับมายังวัดเทพสิงหารอีก และได้อยู่จำพรรษาที่วัดนี้ตลอดมา จนถึงมรณภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓  สิริรวมอายุได้ ๑๑๒ ปี
            ท่านมักจะปรารภกับลูกศิษย์เสมอว่า พระอาจารย์มั่น ฯ เป็นพระผู้มีแนวทางเป็นพระบริสุทธิ์ พบกันก็ได้รู้ความจริงต่อกันมาก จุดมุ่งหมายปลายทางของท่าน และนักปฎิบัติทุกท่านจะเอาพระนิพพาน เป็นจุดสุดท้าย จิตมนุษย์มีพลังมหาศาล จะทำอะไรก็มักสำเร็จ ก็เพราะมีดวงจิตเป็นกำลังสำคัญ จิตดวงเดียวสำคัญที่สุด จิตมักบอกลักษณะไม่ได้ แต่มันก็มีความรู้สึกอยู่ภายใน เว้นแต่ว่ามนุษย์เกิดมาแล้วจะเอาดี หรือเอาชั่วเท่านั้น

           พระอาจารย์ ศรีทัตถ์ สุวรรณมาโจ  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓  ท่านได้เดินธุดงค์มาจากอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม พร้อมด้วยสามเณรอีกสองรูป ได้มาพำนักอยู่ที่ถ้ำนกเขายูงทอง ต่อมาชาวบ้านหนองกบ ได้นิมนต์ท่านพร้อมกับสามเณรทั้งสองรูป ให้มาจำพรรษาที่พระพุทธบาทบัวบก  เพื่อให้ท่านเป็นประธานนำชาวบ้านทำการปฎิสังขรณ์พระพุทธบาทบัวบก ท่านก็รับดำเนินการโดยได้เริ่มงานรื้อมณฑปเก่าออก เพื่อสร้างขึ้นใหม่
            เมื่อรื้อมณฑปเก่า ท่านได้พบศิลารูปกลมก้อนหนึ่ง ใหญ่ขนาดเท่าลูกนิมิตรอยู่ภายในมณฑป เมื่อผ่าออกดูข้างในก็พบตลับเงินอันหนึ่ง เป็นรูปเจดีย์ เมื่อเปิดตลับเงินออกก็พบตลับทองคำ ภายในตลับทองคำพบพระบรมสารีริกธาตุ
            ในช่วงแรกเนื่องจากมีความยากลำบากในการนำวัสดุก่อสร้างมาใช้สร้าง จึงได้สร้างเจดีย์ขนาดย่อมสูงกว่าใบเสมาเพียงเล็กน้อย ใช้เวลาสร้าง ๓ ปี ก็เกิดวาตะภัยพัดเอาสิ่งก่อสร้างพังทลายไป ท่านก็ได้สร้างองค์พระเจดีย์ขึ้นมาใหม่ โดยต้องใช้เวลาการรือ้ถอนเจดีย์องค์เก่า เป็นเวลาถึงหนึ่งปี
            เจดีย์องค์ใหม่ใหญ่กว่าเดิมมาก ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้างด้านละ ๘ เมตร สูง ๔๐ เมตร มีกำแพงล้อมรอบยาว  ๒๐ เมตร ลักษณะคล้ายพระธาตุพนม ฐานทรงสี่เหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น มีลายบัวหงายอยู่ด้านบนของฐานทั้งสี่ด้าน องค์เจดีย์เป็นทรงเจดีย์แต่ช่วงสั้นกว่า พระธาตุพนม มีลายปูนปั้นทั้งองค์ ยอดสุดทำด้วยฉัตรเงิน โคนทำด้วยทองบริสุทธิ์หนัก ๕๕๕ บาท มีประตูหลอกสามด้าน ประตูจริงอยู่ด้านหน้าเป็นประตูไม้ ใช้เวลาสร้าง ๑๔ ปี สิ้นค่าก่อสร้าง ๑๑,๕๐๐.๕๔ บาท เมื่อสร้างเสร็จท่านได้นำพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้มาจากตลับทองคำมาบรรจุไว้

            หลวงปู่ อ่อน ญาณสิริ  เดิมชื่อ อ่อน กาญจนวิบูลย์ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕ ที่บ้านดอนเงิน ตำบลแชแล อำเภอกุมภวาปี เมื่ออายุได้ ๑๑ ขวบ พ่อแม่ได้นำไฝากเป็นลูกศิษย์วัดใกล้บ้าน เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียนภาษาไทย ภาษาลาว และภาษาขอม
            เมื่ออายุ ๑๖ ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดจอมศรี บ้านเมืองเก่า อำเภอกุมภวาปี ได้ศึกษาพระธรรมวินัย  เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๔๖๔ ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝ่ายมหานิกาย ที่วัดบ้านปะโค ตำบลปะโค อำเภอกุมภวาปี ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ ได้ออกธุดงค์ไปอยู่กับพระอาจารย์สุวรรณ วัดป่าอรัญญิกาวาส อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ปี พ.ศ.๒๔๖๖ ได้ออกธุดงค์ และได้ถวายตัวเป็นศิษย์ พระอาจารย์ เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์ มั่น ภูริทัตโต ที่วัดบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ ได้รับญัตติเป็นธรรมยุต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ แล้วกลับไปจำพรรษาที่วัดป่าอรัญญิกาวาส อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
            ในปี พ.ศ.๒๔๖๘  ท่านได้ไปจำพรรษา และปฎิบัติธรรม กับพระอาจารย์ สิงห์ ขนฺตยาคโป ที่วัดป่าอากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ในปีต่อมาได้ไปจำพรรษา ที่เสนาสนะป่า อำเภอหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ  จังหวัดอุบล ฯ ปีต่อมาได้ไปจำพรรษาที่ป่าช้าบ้านหัวงัว ตำบลไผ่ช้าง อำเภอยโสธร ปีต่อมาไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านพระคือ อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น และในปีต่อมาคือปี พ.ศ.๒๔๗๔ ได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าวิเวการาม บ้านเหล่างา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
            ในปี พ.ศ.๒๔๗๕  เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ได้มีบัญชาให้พระกรรมฐานทุกรูป ที่อยู่ในจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับทางราชการไปอบรมประชาชนที่จังหวัดนครราชสีมา ท่านได้ไปร่วมในครั้งนั้นด้วย ได้มีผู้ยกที่ดินของตนเอง ๘๐ ไร่ ถวายพระกรรมฐานที่มาชุมนุม เพื่อสร้างสำนักปฎิบัติธรรม อบรมศีลธรรม ตั้งชื่อว่า วัดป่าสาละวัน  ท่านพร้อมด้วย พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ได้ไปสร้างวัดป่าบ้านใหม่สำโรง อำเภอสี่คิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ชื่อวัดสว่างอารมณ์ ท่านได้ปฎิบัติศาสนกิจอยูที่ วัดป่าสาละวัน เป็นเวลา ๑๒ ปี
            ปี พ.ศ.๒๔๘๘ ท่านได้ไปนมัสการพระอาจารย์มั่น ฯ ที่วัดบ้านหนองผือ ได้สร้างวัดขึ้นที่บ้านหนองโคก อำเภอพรรณานิคม เพื่อให้เป็นวัดคู่กับวัดบ้านหนองผือ
            ปี พ.ศ.๒๔๙๓  หลังจากพิธีถวายเพลิงศพ พระอาจารย์มั่น ฯ แล้ว ท่านได้ออกธุดงค์ที่เขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ๑ พรรษา แล้วกลับมาวัดป่าสาละวัน ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสาละวัน อยู่ประมาณ ๑ ปี ก็ลาออก เพราะเห็นว่าขัดต่อการรุกขมูลวิเวก
            ปี พ.ศ.๒๔๙๖  ท่านได้มาสร้างวัดบ้านหนองบัวบาน ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ
            ปี พ.ศ.๒๕๑๘  ท่านเริ่มอาพาธ และได้มรณภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ สิริรวมอายุได้ ๘๐ ปี


            หลวงปู่หล้า เขมปัตโต  ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔  ในตำบลกุดสระ อำเภอหมากแข้ง เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร อยู่ที่วัดบัวบาน บ้านกุดสระ บวชได้ ๓ พรรษา สอบนักธรรมตรีได้ ต่อมาได้สึกออกมาเพื่อรับการเกณฑ์ทหาร แต่ไม่ถูกเกณฑ์จึงกลับไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดเดิม แล้วลาสิกขาออกมา แต่งงานกับภรรยาคนแรกแล้วเลิกกัน ท่านได้แต่งงานกับภรรยาคนที่สอง อยู่ด้วยกันมา ๙ ปี ภรรยาป่วยถึงแก่กรรม ท่านจึงได้กลับไปบวชอีก และจำพรรษาอยู่ที่วัดดงยาง และสอบได้นักธรรมโท
            ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ ท่านได้ไปปฎิบัติธรรมกับพระอาจารย์มั่น ฯ และไปเข้าญัญิติเป็นธรรมยุต ที่วัดโพธิสมภรณ์ ต่อมาท่านได้ออกธุดงค์ และปฎิบัติธรรม ที่ถ้ำพระเวส อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เป็นเวลาหลายเดือน ต่อมาได้มาจำพรรษาปฎิบัติธรรมกับพระอาจารย์มั่น ฯ ที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร อยู่ ๔ ปี จนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๓ จึงได้ไปจำพรรษากับพระอาจารย์เทศก์ เทสรังสี ที่ภูเก็ต ๑ พรรษา แล้วกลับมาจำพรรษากับพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ที่วัดวิเวกวัฒนาราม ตำบลคำชะอี อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร อยู่ ๔ ปี ท่านก็ออกวิเวกที่ภูเก้า หลังจากนั้นชาวบ้านได้นิมนต์ให้ท่านมาจำพรรษาที่ วัดภูจ้อก้อ จนถึงปัจจุบัน
| ย้อนกลับ | บน |