อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

| หน้าแรก | หน้าต่อไป |

 
ปราสาทหินพิมาย ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ในเขตอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นประสาทขอมที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส หันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างไปจากประสาทขอมอื่น ๆ ซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
 
ปราสาทนี้สร้างขึ้นเป็นพุทธสถานฝ่ายมหายานและศาสนาพราหมณ์ ดังจะเห็นได้จากภาพศิลาจำหลักภายใน และภาพนอกปรางค์ประธาน จะมีภาพพุทธประวัติอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อศึกษาจากลวดลายของปรางค์ประธานสันนิษฐานได้ว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ได้สร้างปราสาทนี้ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ก่อนที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ จะสร้างปราสาทนครวัดในกัมพูชา รูปแบบทางศิลปกรรมส่วนใหญ่เป็นศิลปเขมรแบบบาปวน ซึ่งมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ และได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมอีก ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘
 
แผนผังของปราสาทหินพิมายทั้งหมด เป็นการจำลองจักรวาลของความเชื่อโบราณขึ้นในโลก จะเห็นว่าตั้งแต่สะพานนาคราชที่ทอดจากพื้นดินไปสู่ตัวปราสาท ซึ่งเปรียบเหมือนยอดเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล บรรดาลวดลายที่จำหลักอยู่บนหน้าบันและทับหลัง แสดงถึงเรื่องเทพปกรนับที่สำคัญ ส่วนลวดลายประดับอื่น ๆ ที่ปรากฏอยู่ที่โครงสร้างของอาคาร ทั้งหมดก็ทำได้งดงาม และน่ายำเกรงไปพร้อม ๆ กันราวกับอยู่ในสรวงสวรรค์
ประสาทหินพิมาย ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างและบรรดาอาคารต่าง ๆ รวมทั้งกำแพงสองชั้น คือ กำแพงชั้นนอกและชั้นใน ปรางค์องค์ใหญ่ตั้งอยู่กลางเป็นปรางค์ประธาน ประตูเข้าจากองค์ปรางค์มีทั้งสี่ทิศ ถัดออกไปเป็นระเบียงคด และกำแพงล้อมอยู่สองชั้นดังกล่าวแล้ว สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ มีสระน้ำอยู่สี่มุม หอไตร (บรรณาลัย) และหอพราหมณ์   นอกกำแพงทางประตูซุ้มด้านใต้มีคลังเงินและธรรมศาลา

 

| หน้าแรก | หน้าต่อไป | บน |