| ย้อนกลับ |

๗ สิงหาคม ๒๕๐๘
            พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้กำหนดเป็นวันเสียงปืนแตก อันหมายถึงวันแห่งการใช้อาวุธปืน เพื่อการปฏิวัติจากป่าล้อมเมือง โดยได้ยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม ได้รับบาดเจ็บสาหัส จากนั้นได้ขยายตัวไปสู่ภาคต่างๆ และได้ประกาศจัดตั้ง กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) เมื่อ ๑ มกราคม ๒๕๑๒

๗ ธันวาคม ๒๕๐๘
            รัฐบาลได้จัดตั้งกองบัญชาการปราบปรามคอมมิวนิสต์ขึ้น ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ และได้เปลี่ยนเป็นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ประกอบด้วย พลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.)

๒๐ มกราคม ๒๕๐๙
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระพุทธนวราชบพิตร ปางมารวิชัย เพื่อประดิษฐานไว้ประจำทุกจังหวัด

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๙
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเปิดเขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ซึ่งเป็นเขื่อนเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างกั้นแม่น้ำปิง

๗ กรกฎาคม ๒๕๐๙
            สมเด็จพระศรีนครินทรา ฯ เสด็จไปทรงปฏิญาณพระองค์ต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

๓๑ กรกฎาคม ๒๕๐๙
            วันก่อตั้งสมาคมเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ASSOCIATION OF SOUTHEAST ASIA - ASA) มีสมาชิก ๓ ประเทศคือ ไทย สหพันธรัฐมาลายา และสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพ ฯ วัตถุประสงค์เพื่อเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ต่อมาได้ยุบรวมเข้ากับสมาคมอาเชี่ยน เมื่อ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐

๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๙
            ในหลวงทรงต้อนรับราชอาคันตุกะ ลินคอน บี.จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐
            คณะรัฐมนตรีลงอนุมัติ อนุมัติหลักการให้ความช่วยเหลือทางทหาร แก่รัฐบาลสาธารณรัฐเวียดนาม โดยให้กองทัพบกจัดส่งหน่วยกำลังรบทางพื้นดิน ไปปฏิบัติการรบ กองทัพบกจึงจัดตั้งหน่วยรบเฉพาะกิจขึ้นในรูป กรมทหารอาสาสมัคร (กรม อสส.) ส่งไปร่วมรบกับชาติพันธมิตร ในประเทศเวียดนาม กรม อสส. นี้ได้รับสมญานามว่า จงอางศึก

๗ มีนาคม ๒๕๑๐
            การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเดินขบวนรถไฟผ่านเขตระหว่างประเทศเป็นเที่ยวแรก จากสถานีกรุงเทพ ฯ ถึงสถานีตุมปัต ในรัฐกลันตัน มาเลเซีย

๒๓ เมษายน ๒๕๑๐
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ประพาสประเทศอิหร่าน เป็นเวลา ๗ วัน จนถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๑๐

๒๓ พฤษภาคม ๒๕๑๐
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรี และท้าวศรีสุนทร ซึ่งประดิษฐานอยู่บริเวณสี่แยกท่าเรือ ตรงกึ่งกลางถนนเทพกษัตรี กับถนนศรีสุนทร อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

๘ สิงหาคม ๒๕๑๐
            วันจัดตั้งสมาคมอาเซียน ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างชาติ ที่แหลมแท่น จังหวัดชลบุรี ปัจจุบันมีสมาชิก ๖ ประเทศ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไน และไทย

๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๐
            วันอัญเชิญพระรูปหล่อท้าวสุรนารี ขึ้นบนฐานหน้าประตูชุมพล วันที่ระลึกคือ ๒๓ มีนาคม ทุกปี

๑๖ ธันวาคม ๒๕๑๐
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงได้รับการทูลเกล้า ฯ ถวายเหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔ ณ สนามศุภชลาศัย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ทางราชการได้กำหนดให้ วันที่ ๑๖ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันกีฬาแห่งชาติ

๒๒ มกราคม ๒๕๑๑
            กองทัพบกได้ตั้งกองพลทหารอาสาสมัครผลัดที่ ๑ ขึ้น มีพลตรี ทวี ดำรงหัด เป็นผู้บัญชาการกองพล กำลังส่วนนี้ได้เดินทางไปผลัดเปลี่ยน กรมทหารอาสาสมัครที่ไปทำการรบ ในสาธารณรัฐเวียตนาม เมื่อเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๑๑

๓๐ พฤษภาคม ๒๕๑๑
            มีพิธีเปิดท่าเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

๒๖ ธันวาคม ๒๕๑๑
            ตั้งค่ายเพชรบุรีราชศิรินธร ซึ่งเป็นที่ตั้งกองพันที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ ที่อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ตั้งค่ายกาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งกองพลทหารราบที่ ๙ จังหวัดทหารบกราชบุรี (ส่วนแยกกาญจนบุรี) ที่ตำบลลาดหญ้าอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งค่ายศรีโสธร ซึ่งเป็นที่ตั้งกองพันทหารช่างที่ ๒ รักษาพระองค์ ที่อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒
            วันทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเป็นเกียรติ และระลึกถึงความกล้าหาญของท่าน ที่ได้ต่อสู้กับโปสุพลา แม่ทัพพม่า จนดาบหักคามือ

๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๒
            เริ่มการทำฝนเทียมครั้งแรก ที่อำเภอปากช่อง

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓
            กองบัญชาการทหารสูงสุดได้อนุมัติการจัดตั้ง หน่วยปฏิบัติการตามลำน้ำโขง (นปข. ) เพื่อป้องกันและปราบปรามผู้ก่อการร้ายในพื้นที่รับผิดชอบตามลำน้ำโขง ตั้งแต่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ไปถึงอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี รวมระยะทาง ๘๕๐ กิโลเมตร

๒๔ เมษายน ๒๕๑๓
            กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้สั่งให้กองทัพเรือจัดตั้งกองกำลังด้านจันทบุรี – ตราด (กจต.) ขึ้น

๒๕ พฤษภาคม ๒๕๑๓
            วันเปิดอนุสาวรีย์สุนทรภู่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เขื่อนสิริกิติ์ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์

๑๑ มีนาคม ๒๕๑๔
            เปิดอนุสาววรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปคม ณ ทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุดรธานี ประสูติ ๕ เมษายน ๒๓๙๙

๒๒ พฤษภาคม ๒๕๑๔
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร แก่จังหวัดบุรีรัมย์ พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานไว้ ณ จังหวัดต่าง ๆ ทั่งพระราชอาณาจักร พระพุทธรูปองค์นี้นอกจากจะเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดของ
พุทธศาสนิกชนทั้งหลายแล้ว ยังเป็นเครื่องหมายแห่งความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ กับบรรดาพสกนิกรทั้งมวลของพระองค์

๙ มิถุนายน ๒๕๑๔
            ตั้งกองพลที่ ๙ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ประกอบด้วยกรมทหารราบที่ ๙ และ ๑๙ กองพลที่ ๙ เคยตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วยุบเลิกไปเมื่อ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๗๑

๙ สิงหาคม ๒๕๑๔
            เริ่มกิจการ "ลูกเสือชาวบ้าน" ในพระบรมราชานุเคราะห์ เริ่มที่ อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย จุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาพลังประชาชนในทางที่ดี

๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๔
            รวมกรุงเทพ ฯ และธนบุรี เป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่า นครหลวงพระนครธนบุรี

๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕
            สมเด็จพระนางเจ้าอะลิซาเบธ แห่งอังกฤษ เสด็จเยือนประเทศไทย นับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนมายังเอเซีย เป็นครั้งแรก

๑๙ มีนาคม ๒๕๑๕
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรง ฯ รับกิจการลูกเสือชาวบ้านไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์และประทานผ่าผูกคอ

๑๒ มิถุนายน ๒๕๑๕
            กองทหารไทยรุ่นสุดท้ายที่ร่วมรบในสงครามเกาหลี เดินทางออกจากประเทศเกาหลี กองทหารไทยรุ่นแรกเดินทางไปถึงประเทศเกาหลี เมื่อ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๓

๒๕ ตุลาคม ๒๕๑๕
            กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้สั่งการให้กองทัพเรือจัดเรือ และเครื่องบินทหารเรือทำการลาดตระเวนบริเวณภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึง จังหวัดนราธิวาส เพื่อสะกัดกั้นการแทรกซึมทางทะเล กองทัพเรือจึงจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการภาคใต้ (นปต.) ขึ้น

๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๕
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เสด็จออกประทับเหนือพระที่นั่งพุดตาน กาญจนสิงหาสน์ ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร

๑ มิถุนายน ๒๕๑๖
            ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับโรมาเนีย

๓ กันยายน ๒๕๑๗
            วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเยอรมันตะวันออก

๑๙ กันยายน ๒๕๑๗
            โอนโรงกษาปณ์สิทธิการเป็นหอศิลปแห่งชาติ กรมศิลปากร

๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘
            พระธาตุพนม บรรจุพระอุรังคธาตุ (หน้าอก) ล้มทลายลง องค์พระธาตุสูง ๕๒ เมตร ยอดฉัตรเป็นทองคำหนัก ๑๐ กิโลกรัม

๒๐ มีนาคม ๒๕๑๙
            รัฐบาลไทยซึ่งมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมท เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้สหรัฐอเมริกา ปิดฐานทัพในประเทศไทย และถอนเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารทั้งหมดออกไปภายในระยะเวลา ๔ เดือน นับเป็นการสิ้นสุดของทหารสหรัฐที่ประจำอยู่ในประเทศไทย

๓ มกราคม ๒๕๒๐
            วันอุปราชาภิเษกสมรสสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ

๕ มีนาคม ๒๕๒๐
            วันสถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้าสิรินธร เป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

๒๘ สิงหาคม ๒๕๒๐
            จัดตั้งจังหวัดพะเยา เป็นจังหวัดที่ ๗๒ ของไทย โดยแยกอำเภอพะเยา อำเภอจุน อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอดอกคำใต้ อำเภอปง และอำเภอแม่ใจ ออกจากจังหวัดเชียงราย มาเป็นจังหวัดใหม่นี้ มีพื้นที่ ๗,๘๐๐ ตารางกิโลเมตร

๕ ธันวาคม ๒๕๒๐
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงประกอบพระราชพิธี เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

๑๒ ธันวาคม ๒๕๒๐
            ขึ้นทะเบียนสนามหลวง เป็นโบราณสถาน มีเนื้อที่ ๗๔ ไร่ ๖๓ ตารางวา

๓ มกราคม ๒๕๒๑
            ตั้งค่ายพระยอดเมืองขวาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพันทหารราบที่ ๓ จังหวัดทหารบกอุดร (ส่วนแยก ๒ นครพนม) อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒
            กองทัพอากาศยุบเลิกกรมการบินพลเรือน แล้วแปรสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจใช้ชื่อว่า การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย

๑๖ เมษายน ๒๕๒๒
            ตั้งค่ายกฤษณ์สีวะรา ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรมทหารราบที่ ๓ กองพันที่ ๑, ๒, ๓, และ ๔ กรมทหารราบที่ ๓ จังหวัดทหารบกสกลนคร อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๒
            FAO สร้างเหรียญ CERES เทพธิดาแห่งการเกษตร เพื่อเทอดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

๑๘ ธันวาคม ๒๕๒๒
            ตั้งค่ายวชิรปราการ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพันที่ ๔ และกองพันที่ ๕ กรมทหารราบที่ ๔ จังหวัดทหารบกพิษณุโลก (ส่วนแยกจังหวัดตาก) อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดตาก

๑๙ ธันวาคม ๒๕๒๓
            ตั้งค่ายขุนผาเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรมทหารม้าที่ ๓ จังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ และกองพันทหารช่างที่ ๘ อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์

๑๒ มีนาคม ๒๕๒๔
            ตั้งค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ตามหลักฐานแจ้งความกองทัพบก ลง ๑๒ มีนาคม ๒๕๒๔ เป็นที่ตั้งของกองพลทหารราบที่ ๕ อยู่ที่ตำบลกะปาง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

๗ พฤษภาคม ๒๕๒๔
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอู่ทหารเรือแห่งใหม่ ของกองทัพเรือที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า

๒ มิถุนายน ๒๕๒๔
            กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ประกาศเปลี่ยนแปลงเวลามาตรฐานซึ่งใช้อยู่ปัจจุบันให้ใกล้เคียงกับเวลาจริงตามธรรมชาติ (เวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏเคลื่อนไปจริง)

๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๔
            กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้น ทะเบียน พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตั้งอยู่ตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเคยเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นโบราณสถานแห่งชาติ มีพื้นที่เขตโบราณสถาน ๓๑ ไร่ ๑ งาน ๖๒.๕ ตารางวา

๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๔
            สหพันธ์พิทักษ์เด็ก ทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัล First Distinguished Service Award แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ ณ กรงนิวยอร์ค เพื่อเทิดพระเกียรติที่ทรงช่วยเหลือผู้ลี่ภัยอุทิศพระองค์ เพื่อความผาสุกของปวงชนชาวไทย ด้วยการส่งเสริมศิลปหัตถกรรมแก่สตรีชนบทที่ยากไร้

๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๔
            ตั้งค่ายศรีสองรัก ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพันที่ ๑ และกองพันที่ ๔ กรมทหารราบที่ ๘ จังหวัดทหารบกอุดร ( ส่วนแยกที่ ๓ จังหวัดเลย ) อยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดเลย

๔ เมษายน ๒๕๒๕
            สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบรอบ ๒๐๐ ปี

๑๑ เมษายน ๒๕๒๗
            ตั้งค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นที่ตั้งของกองพลทหารราบที่ ๖ กองพันทหารช่างที่ ๖ กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๖ กองพันทหารม้าที่ ๒๑ กองพันที่ ๑ กรมทหารราบที่ ๑๖ อยู่ที่กิ่งอำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด

๙ ตุลาคม ๒๕๒๗
            ตั้งค่ายรัตนพล เป็นที่ตั้งของกองพันที่ ๕ กรมทหารราบที่ ๕ อยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

๒๒ ตุลาคม ๒๕๒๗
            ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกไม่ถาวร ( Non – Permanent Member) ในคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ เป็นครั้งแรก

๒ เมษายน ๒๕๒๘
            เริ่มกำหนดให้ วันที่ ๒ เมษายน เป็นวันอนุรักษ์มรดกของชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เนื่องในวันพระราชสมภพของพระองค์

๒๖ กันยายน ๒๕๒๘
            คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถวายพระราชสมัญญา "มหาราช"  แด่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี

๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๘
            ตั้งค่ายบดินทร์เดชา ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรมทหารราบที่ ๑๖ อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๙
            ตั้งค่ายพระปกเกล้า ฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๕ อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ตั้งค่ายประเสริฐสงคราม ซึ่งเป็นที่ตั้งของ จังหวัดทหารบกร้อยเอ็ด และกองพันที่ ๑ กรมทหารราบที่ ๑๖ อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด

๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑
            ประเทศไทยได้จัดงานพระราชพิธี รัชมังคลาภิเศกขึ้น ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงครองราชสมบัติได้ ๔๒ ปี ๒๓ วัน นับว่ายาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

๖ มกราคม ๒๕๓๒
            กองทัพอากาศ ได้จัดสร้างพระมหาธาตุเจดีย์องค์หนึ่ง ขนาดกว้าง ๕๐ เมตร สูง ๖๐เมตร บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปบูชาจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า พระมหาธาตุนภเมทนีดล และได้น้อมเกล้า ฯ ถวายเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงเจริญพระชนมายครบ ๖๐ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๕๓๐

๕ สิงหาคม ๒๕๓๒
            มูลนิธิแมกไซไซ ของฟิลิปปินส์ ประกาศว่า โครงการปลูกพืชทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวเขาทางภาคเหนือของไทย อันเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้รับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี ๒๕๓๒

๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๒
            ตั้งค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพลทหารราบที่ ๑๑ อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ค่ายอภัยบริรักษ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพันที่ ๕ กรมทหารราบที่ ๑๕กองพันทหารช่างที่ ๔๐๒ อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๓
            องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศถวายเหรียญ Health For ALL แด่สมเด็จพระศรีนครินทร์ ฯ เนื่องในวโรกาสวันพระราชสมภพ ครบ ๙๐ พรรษา ในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่สังคมในด้านสุขภาพเพื่อส่วนรวม

๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๔
            พิธีวางศิลาฤกษ์ อนุสรณ์สถานทหารเรือที่เกาะช้าง และเททองหล่อพระรูปเหมือน พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพล เขตอุดมศักดิ์ ที่กองทัพเรือและจังหวัดตราด ได้ร่วมกันดำเนินการก่อสร้างขึ้น ที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเทิดพระเกียรติองค์พระบิดาแห่งราชนาวีไทย และรำลึกถึงเกียรติประวัติ วีรกรรมของทหารเรือไทย ในยุทธนาวีที่เกาะช้าง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔

๘ กรกฎาคม ๒๕๓๔
            มูลนิธิแมกไซไซ แห่งฟิลิปปินส์ ทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๔ แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

๒๕ สิงหาคม ๒๕๓๔
            UNESCO ได้ประกาศยกย่อง พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ ฯ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นปูชนียบุคคล ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลกประจำปี โดยได้ถวายเกียรติคุณ ๒ สาขา คือ ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์และนักการทูตผู้ยิ่งใหญ่

๑๘ สิงหาคม ๒๕๓๕
            คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ ๑๘ สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย

๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๕
            ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ( WHO) ทูลเกล้า ฯ ถวายเหรียญ Health For ALL แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อเทิดพระเกียรติที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ในด้านสาธารณสุข

๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๖
            ดาวเทียมไทยคม – ๑ ดาวเทียมดวงแรกของไทย ได้ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร ณ ฐานยิงจรวด ณ เมืองคูรู ประเทศเฟรนช์เกียนา

๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
            องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้มีมติที่ประชุม ครั้งที่ ๓๑ ประกาศยกย่อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงเป็นบุคคลสำคัญและมีผลงานดีเด่นสาขาการศึกษาวัฒนธรรม สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา การพัฒนาสังคมและสื่อสาร

| ย้อนกลับ | บน |