| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

 

๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖
            เกิดกรณีพิพาทระหว่าง ไทย - ฝรั่งเศส ร.ศ.๑๑๒ ฝรั่งเศสได้ส่งเรือรบ ๒ ลำ ตีฝ่าป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งเป็นแนวป้องกันของไทย ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ามาได้ ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของไทย

๑๕ กรกฎาคม ๒๔๓๖
            นายปาวี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ ได้แจ้งมายังเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศไทยมีใจความว่า รัฐบาลฝรั่งเศสได้สั่งเรือสงครามคอมเมต และแองคองสตอง เข้ามาถึงสันดอนอ่าวไทย เพื่อป้องกันชนชาวฝรั่งเศสเช่นเดียวกับที่อังกฤษคิดจะทำ

๒๐ กรกฎาคม ๒๔๓๖
            นายโอกุส ปาวี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้ยื่นคำขาดต่อรัฐบบาลไทย รวม ๖ ข้อ ให้ไทยยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเกาะต่าง ๆ ที่อยู่ใต้แหลมสิงห์ไปถึงเกาะกูด แก่ฝรั่งเศส ให้ไทยลงโทษเจ้าหน้าที่ไทยผู้มีส่วนรับผิดชอบในการยิงเรือฝรั่งเศส ที่ปากน้ำ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ฝรั่งเศส ๒ ล้านฟรังก์ โดยไทยจะต้องให้คำตอบใน ๔๘ ชั่วโมง มิฉะนั้นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยจะเดินทางออกจากกรุงเทพ ฯ และฝรั่งเศสจะประกาศปิดน่านน้ำไทยในทันที

๒๖ กรกฎาคม ๒๔๓๖
            หลังจากฝรั่งเศส ได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลไทย เมื่อ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ และได้รับคำตอบไม่เป็นที่พอใจ จึงได้ส่งกองเรือขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเรือลาดตะเวน ๒ ลำ เรือสลุป ๒ ลำ เรือปืน ๕ ลำ และเรือตอร์ปิโด ๑ ลำ เข้ายึดเกาะสีชัง ประกาศปิดอ่าวไทย ให้ไทยทำสัญญาสงบศึก และให้รับข้อประกันในการยึดปากน้ำจันทบุรี และเมืองจันทบุรี จนกว่าไทยจะถอนทหารออกจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงหมด ฝรั่งเศสยกเลิกการปิดล้อมอ่าวไทย เมื่อ ๓ สิงหาคม ๒๔๓๖

๓ สิงหาคม ๒๔๓๖
            เรือรบฝรั่งเศสเลิกปิดล้อมอ่าวไทย เนื่องจากเหตุการณ์กรณี ร.ศ.๑๑๒ ฝรั่งเศส เสนอข้อเรียกร้องให้ไทยทำสัญญายกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเกาะต่าง ๆ ตั้งแต่ภาคเหนือของลาวจนถึงพรมแดนเขมรให้ฝรั่งเศส เมื่อไทยไม่ยินยอม ฝรั่งเศสได้เข้ายึดจังหวัดจันทบุรีกับจังหวัดตราด และปิดล้อมอ่าวไทยอยู่ ๘ วัน เมื่อไทยยอมตามที่ฝรั่งเศสต้องการ จึงเลิกปิดอ่าวไทย

๒๐ สิงหาคม ๒๔๓๖
            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ เสด็จไปทรงศึกษาในยุโรป

๑ ตุลาคม ๒๔๓๖
            มหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาทางพุทธศาสนา (ฝ่ายธรรมยุติ) นับเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกในประเทศสยาม เริ่มเปิดสอนเป็นครั้งแรกโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า องค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงริเริ่มและรวบรวมทุนสร้างขึ้น ด้วยรำลึกถึงพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ พระบรมราชชนก มหามกุฎราชวิทยาลัยนี้ตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำภู โดยมีพระประสงค์เพื่อเป็นแหล่งศึกษา และอบรมสั่งสอนเผยแพร่พระพุทธศาสนา

๓ ตุลาคม ๒๔๓๖
            สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ฯ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทรงลงนามในสนธิสัญญาไทยกับฝรั่งเศส ที่ทำขึ้นหลังจากวิกฤติ ร.ศ.๑๑๒ ผลจากสนธิสัญญานี้ทำให้ไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตั้งแต่แคว้นสิบสองจุไท ในภาคเหนือของลาว จนถึงเขตแดนเขมรให้แก่ฝรั่งเศสไป และไทยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ฝรั่งเศส ๒ ล้านฟรังก์ และยังต้องวางเงินประกันอีก ๓ ล้านฟรังก์ ขณะเดียวกันฝรั่งเศสได้ส่งทหารมายึดจันทบุรีและตราด นับว่าเป็นดินแดนครั้งใหญ่ที่สุดของไทย รวมเป็นพื้นที่ ๑๔๓,๘๐๐ ตารางกิโลเมตร ให้แก่ฝรั่งเศส

๘ พฤศจิกายน ๒๔๓๖
            วันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗ ) ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๗๖ ในรัชกาลที่ ๕ ครั้นพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา ได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนาม พร้อมกับดำรงพระเกียรติยศเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ทรงขึ้นครองราชสมบัติ สืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ พระเชษฐาธิราช เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๘ นับเป็นรัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระองค์ได้พระราชทาน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามเป็นฉบับแรก เมื่อวันที่
๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ครั้นต่อมา ปรากฏว่าได้เกิดความคิดเห็นทางการเมืองขัดแย้งกันระหว่างพระองค์ กับรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร จึงทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ และเสด็จไปประทับที่ประเทศอังกฤษ เสด็จสวรรคตด้วยโรคพระหทัยพิการ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๔ สิริรวมพระชนมายุ ๔๘พรรษา ในปี ๒๕๓๖ เป็นวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี ของพระองค์

๓๐ มีนาคม ๒๔๓๖
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงเห็นสมควรให้สภาอุณาโลมแดง และให้เข้าเป็นสมาชิกสภากาชาดสากล พ.ศ.๒๔๔๙

พ.ศ.๒๔๓๗
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้ปรับปรุงราชการหัวเมืองเสียใหม่ โดยให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล โปรดเกล้า ฯ ให้จัดแบ่งพระราชอาณาจักรออกเป็น ๑๘ มณฑล แต่ละมณฑลแบ่งออกเป็นอำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน สำหรับตำบลและหมู่บ้านให้มีกำนันและผู้ใหญ่บ้าน โดยให้ราษฎรเลือกกันเอง

พ.ศ.๒๔๓๗
            บริษัทเดนมาร์ค ได้ตั้งโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในการเดินรถราง ที่บริษัทได้สัมปทานการเดินรถรางในพระนคร ต่อมาได้รวมกับบริษัทอเมริกันที่รับช่วงจากเจ้าหมื่นไวย แล้วตั้งเป็นบริษัทไฟฟ้าสยามเมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๔๔

๑๒ มิถุนายน ๒๔๓๗
            กองทัพเมืองเชียงใหม่ของพระเจ้ากาวิละ ยึดเมืองเชียงแสนได้ในวันนี้ เมืองเชียงแสนอยู่ในท้องที่จังหวัดเชียงราย ริมแม่น้ำโขง ขณะนั้นยังอยู่ในอิทธิพลพม่า

๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๓๗
            ถรางเปลี่ยนจากใช้ม้าลากมาเป็นใช้ไฟฟ้า และโอนกิจการให้แก่รัฐบาล พ.ศ. ๒๔๓๙ เลิก ๑ ตุลาคม ๒๕๑๑

๒๓ ธันวาคม ๒๔๓๗
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ มีพระบรมราชโองการให้ประกาศปันหน้าที่ กระทรวงกลาโหม มหาดไทย โดยแยกข้าราชการพลเรือน คือการบังคับบัญชาหัวเมืองภาคใต้ไปขึ้นอยู่กับมหาดไทย และจัดระเบียบการบริหาร ตลอดจนจัดหน่วยงานในกระทรวงกลาโหมใหม่ โดยรวมการบังคับบัญชาทางการทหารไว้ที่กระทรวงกลาโหม เพื่อให้กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบด้านการป้องกันประเทศ ด้วยกำลังทหารทั้งทางบกและทางเรือ

๑ มกราคม ๒๔๓๗


            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร พระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ ๓๑ พรรษา ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้คนไทยมีนามสกุล ทรงพระราชทานนามสกุลถึง ๖,๔๓๒ สกุล โปรดเกล้า ฯ ให้ใช้คำนำหน้าชื่อคือ เด็กชาย เด็กหญิง นาย นางสาว นาง คุณหญิง เป็นต้น พระราชทานกำเนิดธนาคารออมสิน นำประเทศไทยเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่ยุโรป โดยอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตร
๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงตราพระราชบัญญัติโรงจำนำ ร.ศ.๑๑๔ ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย มีผลบังคับใช้ทั่วพระราชอาณาจักร วันที่ ๑ กรกฎาคม ร.ศ.๑๒๐

พ.ศ.๒๔๓๙
            ได้โอนกรมพระสุรัสวดี จากกระทรวงเมืองมาขึ้นกับกระทรวงกลาโหม เพื่อสดวกในการเรียกคนเข้ารับราชการทหารและตามพระบรมราโชบาย ที่จะรวบรวมสรรพาวุธและกำลังทหารไว้ที่กระทรวงกลาโหม

๙ พฤษภาคม ๒๔๓๙
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จประพาสชวา ครั้งที่ ๒ โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี

๑๐ มิถุนายน ๒๔๓๙
            การไฟฟ้านครหลวง เปิดบริการแก่ประชาชนในพระนคร

๔ กรกฎาคม ๒๔๓๙
            นาย จี.เอช. แวนสัชเตเลน แต่งทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมี และบรรเลงถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ที่เมืองจอร์กจากาต้า ประเทศอินโดนีเซีย

๑ กันยายน ๒๔๓๙
            ตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัย ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

๑๘ กันยายน ๒๔๓๙
            ตั้งกรมป่าไม้ อธิบดีคนแรกเป็นชาวต่างประเทศ ชื่อ เอช.สะเล็ด

๒๑ กันยายน ๒๔๓๙
            เริ่มกิจการ ผู้ใหญ่บ้าน ตามระเบียบการปกครองอย่างใหม่ ที่บางปะอิน

๑๕ มกราคม ๒๔๓๙
            อังกฤษและฝรั่งเศส ร่วมลงนามในสัญญาเคารพสิทธิของประเทศไทย

๒๑ มีนาคม ๒๔๓๙
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศพระราชกำหนดผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ร.ศ.๑๑๕ ตั้งสมเด็จพระนางเจ้า เสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในโอกาสที่พระองค์จะเสด็จประพาสยุโรป ระหว่าง ๗ เมษายน ถึง ๑๖ ธันวาคม ๒๔๔๐ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาพระมเหสี เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

๒๖ มีนาคม ๒๔๓๙
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เปิดการเดินรถไฟเป็นปฐมฤกษ์จากกรุงเทพ ฯ ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นส่วนหนึ่งของทางไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย กำหนดให้วันที่ ๒๖ มีนาคม ของทุกปี เป็นวันกำเนิดกิจการรถไฟไทย

พ.ศ.๒๔๔๐
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนวิชากฎหมาย

๗ เมษายน ๒๔๔๐
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จประพาสต่างประเทศทางยุโรป เป็นครั้งแรก เพื่อทอดพระเนตรการปกครองของอารยะประเทศ รวมเวลา ๗ เดือน โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี มีเรือมกุฎราชกุมาร และเรือยงยศอโยชฌิยา เป็นเรือรบตามเสด็จเพียงเมืองสิงคโปร์

๑๕ เมษายน ๒๔๔๐
            สมเด็จพระศรีพัชรินทรา ฯ ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาข้าราชการแผ่นดิน

๒๐ พฤษภาคม ๒๔๔๐
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติปกครองท้องถิ่น ร.ศ. ๑๑๖ เป็นฉบับแรก

๑๐ มิถุนายน ๒๔๔๐
            มีการฉายภาพยนตร์ครั้งแรกในไทย ที่โรงละคร หม่อมเจ้าอลังการ์

๑ กรกฎาคม ๒๔๔๐
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จถึงกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ตามระยะทางเสด็จทวีปยุโรป ออกจากกรุงวอร์ซอ เมื่อ ๒ กรกฎาคม และเสด็จต่อไปยังประเทศรัสเซีย

๓ กรกฎาคม ๒๔๔๐
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จถึงประเทศรัสเซีย ประทับที่พระราชวังปิเตอร์ฮอพ เมืองเซนต์ปิเตอร์สเบิร์ค

๙ กรกฎาคม ๒๔๔๐
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จเมืองมอสโคว์ ประเทศรัสเซีย

๑๙ กันยายน ๒๔๔๐
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนฝรั่งเศส ในคราวเสด็จประพาสยุโรป ครั้งแรก

๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๔๐
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ตราพระราชบัญญัติสุขาภิบาลและตั้งสุขาภิบาลมณฑลกรุงเทพ ฯ ขึ้น

๑ เมษายน ๒๔๔๑
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบกขึ้น พระองค์เจ้าจิรประวัติ ดำรงตำแหน่งเป็น เสนาธิการทหารบก พระองค์แรกในกองทัพไทย

๑๗ มิถุนายน ๒๔๔๑
            ประกาศโครงการศึกษา ร.ศ.๑๑๗ ขณะนั้นมีพลเมือง ๖ ล้าน เด็กในเกณฑ์เรียน ๔๙๐,๐๐๐ คน

๒๑ สิงหาคม ๒๔๔๑
            ประกาศเงินตราอย่างใหม่เรียกว่า สตางค์

พ.ศ.๒๔๔๒
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้มีการจัดตั้งกองทหารไปประจำตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วไป เพื่อสดวกในการวางกำลังไว้ด้วยพื้นที่ยุทธศาสตร์และเปลี่ยนนามหน่วยทหารให้เป็นลำดับทั่วกัน

๒๙ เมษายน ๒๔๔๒
            วันประสูติ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงเป็นนักการคลัง และนักการเงินคนสำคัญคนหนึ่งของไทย หลังจากสงครามมหาเอเซียบูรพาสิ้นสุดลง ท่านได้รับแต่งตั้งเป็น หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ไปเจรจาและลงนามในความตกลงสมบูรณ์แบบระหว่างไทยกับอังกฤษ สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุ ๖๐ พรรษา

๔ พฤษภาคม ๒๔๔๒
            วันเปิดเรียนของนักเรียนนายเรือรุ่นแรก มีนักเรียนนายเรือ ทั้งหมด ๑๒ คน

๒๓ พฤษภาคม ๒๔๔๒
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าฟ้าอัษฎางค์ ฯ เป็นผู้แทนพระองค์อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ โดยกระบวนแห่จากพระบรมมหาราชวัง มาบรรจุไว้ ณ พระเจดีย์องค์ใหญ่บนยอดภูเขาทอง วัดสระเกศ และโปรดเกล้า ฯ ให้เรียกชื่อภูเขาทองให้ถูกต้องว่า บรมบรรพต

๑๕ สิงหาคม ๒๔๔๒
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้ตัดถนนราชดำเนิน ประกอบด้วยถนนราชดำเนินใน ยาว ๕๒๕ เมตร ถนนราชดำเนินกลาง ยาว ๑,๒๐๐ เมตร และถนนราชดำเนินนอก ยาว ๑,๔๗๕ เมตร รวมทั้งสิ้นยาว ๓.๒ กิโลเมตร

๒๙ ธันวาคม ๒๔๔๒
            วางสายโทรเลขระหว่างเชียงใหม่กับเชียงแสน

๔ เมษายน ๒๔๔๓
            กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอิสาน อยู่เมืองอุบลราชธานีได้นำกองทหารชาวกรุงเทพ ฯ และทหารชาวพื้นเมืองซึ่งได้รับการฝึกมาแล้ว กับได้รับความร่วมมือของกองทัพเมืองนครราชสีมา และเมืองบุรีรัมย์ สามารถจับพวกกบฎผีบุญผีบ้าที่เกิดขึ้นที่เมืองอุบลราชธานีได้

๑๑ มิถุนายน ๒๔๔๓
            สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากอังกฤษเป็นพระองค์แรก เสด็จกลับถึงกรุงเทพ ฯ แล้วทรงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานยศเป็นนายเรือโท พระองค์ได้ทรงบากบั่นก่อสร้างกองทัพเรือไทยให้แข็งแกร่งขึ้น ทรงพระวิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้า ที่จะให้คนไทยมีความสามารถในกิจการทหารเรือ จนได้รับการขนานนามจากกองทัพเรือ เมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ ว่า พระบิดาของกองทัพเรือไทย

๒๑ ตุลาคม ๒๔๔๓
            วันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสำเร็จการศึกษาแผนกสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเมื่อปี ๒๔๖๓ ได้อภิเษกสมรสเป็นหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา ในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ฯ ในปี ๒๔๘๐ ได้รับโปรดเกล้า ฯ จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ตามลำดับ เมื่อ ๙ มิถุนายน ๒๕๑๓ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนี

๖ ธันวาคม ๒๔๔๓
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดเกล้า ฯ นิมนต์พระสงฆ์จำนวน ๓๓ รูป เท่ากับปีที่เสวยราชย์ จากวัดมหาธาตุมาอยู่กัดเบญจมบพิตร

พ.ศ.๒๔๔๔
            เกิดกบฎผีบุญผีบ้า ที่จังหวัดอุบล ฯ
 

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |