| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

๑ มกราคม ๒๔๘๔
            รัฐบาลไทยโดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ออกประกาศกำหนดให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นต้นไป เพื่อให้เหมือนกับนานาอารยะประเทศ แบบสากลนิยม ดังนั้นปี พ.ศ. ๒๔๘๓ จึงมีเพียง ๙ เดือน (เดิมใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่) คือนับตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๔๘๓ สิ้นปี ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๓

๗ มกราคม ๒๔๘๔
            เกิดกรณีพิพาทด้วยกำลังระหว่างไทยกับฝรั่งเศส รัฐบาลไทยได้ตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ใช้กำลังทหารปรับปรุงเขตแดนไทย และอินโดจีนฝรั่งเศส ผลปรากฎว่าไทยชนะ ได้ดินแดน ๔ จังหวัด คือ เสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ และนครจำปาศักดิ์ กลับคืนมาเป็นของไทย โดยมีญี่ปุ่นอาสาเข้ามาไกล่เกลี่ย

๘ มกราคม ๒๔๘๔
            เครื่องบินของกองทัพอากาศไทย ได้ไปทิ้งระเบิดที่ เมืองเสียมราฐ พระตะบอง เป็นครั้งแรก ในกรณีพิพาทไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส

๑๖ มกราคม ๒๔๘๔
            กองพันทหารราบที่ ๓ ในสงครามอินโดจีน ชนะข้าศึกที่บ้านพร้าว ยึดธงชัยเฉลิมพลได้

๑๗ มกราคม ๒๔๘๔
            ได้มีการรบกันที่บริเวณด้านใต้ของเกาะช้าง จังหวัดตราด ระหว่างกำลังรบทางเรือของไทยกับกองเรือของอินโดจีนฝรั่งเศส เรียกว่า ยุทธนาวีที่เกาะช้าง ทำให้กองกำลังทางเรือของอินโดจีนฝรั่งเศส ต้องล่าถอยออกไปจาก เขตน่านน้ำไทยในบริเวณดังกล่าว ดังนั้นวันนี้ของทุก ๆ ปี กองทัพเรือถือว่าเป็นวันสดุดีและบำเพ็ญกุศลแก่ผู้เสียชีวิตในการรบแห่งราชนาวี

๒๘ มกราคม ๒๔๘๔
            กรณีพิพาทไทยอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสยุติลง โดยญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทเป็นผู้ไกล่เลี่ย มีการลงนามในข้อตกลงพักรบ

๑๑ มีนาคม ๒๔๘๔
            ไทยกับฝรั่งเศส ตกลงทำสัญญาเลิกรบกัน ในกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยไทยได้แคว้นหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ เสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ คืนจากฝรั่งเศส

๑๑ มีนาคม ๒๔๘๔
            มีการลงนามกันที่กรุงโตเกียว จากผลการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่นระหว่างไทย

๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔
            ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพ ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส หลังจากยุติกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ประเทศไทยได้รับดินแดนแคว้นหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ แคว้นเขมรบางส่วน ซึ่งรวมทั้งจังหวัดศรีโสภณ และพระตะบอง คืนมา รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๒๙,๐๓๙ ตารางกิโลเมตร

๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔
            ไทยกับฝรั่งเศสได้ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพระหว่างกันที่กรุงโตเกียว หลังจากที่เกิดกรณีพิพาทอินโดจีน ฝรั่งเศส ระหว่าง ไทยกับฝรั่งเศส ใน ๖ - ๒๘ มกราคม ๒๔๘๔

๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔
            มีพระบรมราชโองการ ฯ ให้ประกาศยุบตำแหน่ง ผบ.ทหารสูงสุด แม่ทัพบก แม่ทัพเรือ และแม่ทัพอากาศ ซึ่งตั้งขึ้นในกรณีพิพาทอินโดจีนของฝรั่งเศส

๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๔
            พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ เสด็จสวรรคต ด้วยพระหทัยพิการ ที่อังกฤษ พระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา พระบรมอัฐิของพระองค์ได้อัญเชิญกลับประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑ (พระราชสมภพ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๓๖ สละราชสมบัติ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗)

๓ มิถุนายน ๒๔๘๔
            ถวายพระเพลิง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ที่ประเทศอังกฤษ

๒๓ กรกฎาคม ๒๔๘๔
            นายควง อภัยวงศ์ นำธงชาติไทยไปชักขึ้นที่เสาธงเมืองพระตะบอง กัมพูชา

๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๔
            ตราพระราชบัญญัติโรคไข้จับสั่น

๑ สิงหาคม ๒๔๘๔
            ฝรั่งเศส ถอนทหารออกจากดินแดน พระตระบอง จำปาสัก ดินแดนที่มอบให้ไทยตามสัญญาสันติภาพ

๑๐ กันยายน ๒๔๘๔
            ตั้งภาคการปกครอง แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๕ ภาค โดยรวมจังหวัดต่าง ๆ เป็นหน่วยงาน เรียกว่า "ภาค" ดังนี้
                ภาคที่  ๑  ตั้งที่จังหวัดพระนคร มี ๒๐ จังหวัด
                ภาคที่  ๒  ตั้งที่จังหวัดปราจีนบุรี มี ๑๐ จังหวัด
                ภาคที่  ๓  ตั้งที่จังหวัดนครราชสีมา มี ๑๕ จังหวัด
                ภาคที่  ๔  ตั้งที่จังหวัดสงขลา มี ๑๔ จังหวัด
                ภาคที่  ๕  ตั้งที่จังหวัดลำปาง มี ๑๕ จังหวัด

๓๐ กันยายน ๒๔๘๔
            หลังจากยุติกรณีพิพาทอินโดจีนของฝรั่งเศส สงครามเรียกร้องดินแดนคืน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ – ๒๔๘๔ มีการปักปันเส้นเขตแดนใหม่ ระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ทำให้ไทยได้เกาะต่าง ๆ ในลำน้ำโขง ๗๗ เกาะ และดินแดนในเขมรบางส่วนกลับคืนมาเป็นของไทย

๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๔
            ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง จอมพล หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้มีอำนาจสิทธิขาด บังคับบัญชาแม่ทัพบก แม่ทัพเรือ แม่ทัพอากาศ และแต่งตั้งข้าราชการได้ตามที่ท่านเห็นสมควร

๒ ธันวาคม ๒๔๘๔
            มีพิธีลงนามกติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น

๗ ธันวาคม ๒๔๘๔
            รัฐบาลญี่ปุ่นยื่นคำขาดต่อ ดร.ดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีต่างประเทศ ขอให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยเป็นการด่วน เพื่อจะส่งกำลังไปโจนตีพม่าและสิงคโปร์

๗ ธันวาคม ๒๔๘๔
            กองพลรักษาพระองค์ของกองทัพญี่ปุ่นยกกำลังเข้าสู่ประเทศไทยทางบกทางด้านอรัญประเทศ และทางเรือได้ยกพลขึ้นบกที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเข้ายึดกรุงเทพ ฯ

๘ ธันวาคม ๒๔๘๔
            ญี่ปุ่นบุกรุกไทยในสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลาและปัตตานี โดยมีอีกส่วนหนึ่งขึ้นบกที่ทางจังหวัดสมุทรปราการ

๘ ธันวาคม ๒๔๘๔
            คณะรัฐมนตรี มีมติให้นำข้อตกลงระหว่างผู้แทนฝ่ายไทยและญี่ปุ่น ให้ทหารญี่ปุ่นผ่านดินแดนของประเทศไทยไปได้

๘ ธันวาคม ๒๔๘๔
            กองทหารญี่ปุ่น บุกเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านอรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี และยกพลขึ้นบกในเขตจังหวัดชายทะเลภาคใต้ของไทยทาง ด้านอ่าวไทย รวม ๗ จังหวัด คือ สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร และประชาชนได้ร่วมกันต่อสู้ต้านทานอย่างแข็งขัน แต่ในที่สุดรัฐบาลไทยต้องยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยได้

๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔
            เปิดธนาคารแห่งประเทศไทย ณ อาคารที่ทำการของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จำกัด ถนนสี่พระยา โดยการเช่าสถานที่จากธนาคารดังกล่าว ต่อมาจึงย้ายเข้าสู่วังบางขุนพรหม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘

๑๔ ธันวาคม ๒๔๘๔
            ได้มีการลงนามตามหลักการยุทธร่วมระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในสงครามมหาอาเชียบูรพา กำหนดให้ต่างฝ่ายต่างทำการยุทธในด้านของตน ถ้ามีความจำเป็นกองทัพอากาศยี่ปุ่นจะปฏิบัติการร่วมรบกับกองทัพอากาศไทยด้วย

๑๙ ธันวาคม ๒๔๘๔
            กำหนดเครื่องหมายชั้นของข้าราชการนพลเรือนที่อินธนู ตั้งแต่ชั้นรัฐมนตรี ชั้นพิเศษ ชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี ชั้นจัตวา

๒๐ ธันวาคม ๒๔๘๔
            ไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามเป็นพันธมิตรในกติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นได้กระทำพิธี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลงนามแทนในนามรัฐบาลไทย และนายทสุโบกามิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ลงนามแทนในนามรัฐบาลญี่ปุ่น

๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๔
            กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้จัดตั้งกองทัพพายัพขึ้นมี พลโท หลวงจรูญ เริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุลเสรี เริงฤทธิ์) เป็นแม่ทัพ ประกอบด้วยกองพลทหารราบ ๓ กองพล (กองพลที่ ๒,๓ และ ๔) และกองพลทหารม้า ๑ กองพล เพื่อเข้าปฏิบัติการในดินแดนสหรัฐไทยเดิม ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศไทย โดยสนธิกำลังจากหน่วยต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตามคำร้องขอของกองทัพญี่ปุ่น ที่ต้องการให้ไทยส่งทหารไปร่วมรบกับญี่ปุ่นในพม่า โดยแบ่งมอบพื้นที่รับผิดชอบดังกล่าว เพื่อป้องกันปีกขวาของกองทัพญี่ปุ่นเข้าสู่พม่า

๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๔
            ประกาศสนธิสัญญาระหว่าง ไทย - ญี่ปุ่น เรื่องสัมพันธไมตรี และบูรณภาพอาณาเขตแห่งกันและกัน

๒๔ มกราคม ๒๔๘๕
            กรุงเทพ ฯ ถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนัก ลูกระเบิดถูกมุขด้านเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคมพังลงมา เป็นการโจมตีทิ้งระเบิดครั้งแรกของฝ่ายพันธมิตรต่อประเทศไทย

๒๕ มกราคม ๒๔๘๕
            รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ (บริเตนใหญ่) และสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ในสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยเหตุผลว่าฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ได้ทำการรุกรานประเทศไทย โดยส่งทหารรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย ส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิด เป็นการระเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและมนุษยธรรม รัฐบาลอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศสงครามกับประเทศทั้งสอง ตั้งแต่เวลาเที่ยงของวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ เป็นต้นไป

๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕
            ได้มีการลงนามในกิจที่เกี่ยวกับการยุทธร่วมกัน ระหว่างไทย กับญี่ปุ่น โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย กับแม่ทัพกองทัพที่ ๑๕ ของญี่ปุ่น ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกญี่ปุ่นในไทย ร่วมกับผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือญี่ปุ่น ในฐานะผู้แทนจักรพรรดินาวีญี่ปุ่น

๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕
            ประเทศอังกฤษได้ประกาศสงครามกับไทย ในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยให้ถือว่ามีสถานะสงครามกับไทย ตั้งแต่ ๒๕มกราคม ๒๔๘๕ และได้โทรเลขถึงข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำประเทศคานาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแอฟริกาใต้ แสดงความหวังว่าประเทศในเครือจักรภพจะดำเนินการอย่างเดียวกัน

๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕
            รัฐบาลแอฟริกาได้ประกาศสถานะสงครามกับไทย โดยมีผลตั้งแต่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ แต่รัฐบาลไทยประกาศไม่รับรู้ประกาศดังกล่าว เนื่องจากไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จะก่อให้เกิดสงครามระหว่างกัน

๒ มีนาคม ๒๔๘๕
            ออสเตรเลียประกาศสถานะสงครามกับไทย ตามความต้องการของอังกฤษ แต่รัฐบาลไทยประกาศไม่รับรู้ประกาศดังกล่าว เนื่องจากไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จะก่อให้เกิดสงครามระหว่างกัน

๑๖ มีนาคม ๒๔๘๕
            นิวซีแลนด์ประกาศสถานะสงครามกับไทย โดยให้มีผลตั้งแต่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ แต่รัฐบาลไทยประกาศไม่รับรู้ประกาศดังกล่าว เนื่องจากไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จะก่อให้เกิดสงครามระหว่างกัน

๒๗ มีนาคม ๒๔๘๕
            ประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณศาลาแดง กรุงเทพ ฯ

๑๐ พฤษภาคม ๒๔๘๕
            กองทัพพายัพเริ่มเคลื่อนกำลังเข้าสู่สหรัฐไทยเดิม และได้ปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายสำเร็จลุล่วงไปตามลำดับ จนไปถึงชายแดนพม่า – จีน และได้ถอนตัวกลับหลังจากปฏิบัติการอยู่ได้ ๘ เดือน เศษ

๑๓ พฤษภาคม ๒๔๘๕
            พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ยกเลิกบรรดาศักดิ์ และการใช้ราชทินนาม

๒๖ พฤษภาคม ๒๔๘๕
            กองพลที่ ๓ ของกองทัพพายัพยึดเมืองเชียงตุง อันเป็นเมืองหลวงของสหรัฐไทยเดิมได้ในสงครามมหาเอเซียบูรพา

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |