| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |


๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๕
            มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่บริเวณต้นทางหลวงประชาธิปัตย์ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นทางหลวงพหลโยธิน เพื่อเป็นอนุสรณ์ของผู้ที่กล้าหาญของชาติ ที่ได้เสียชีวิตไปในการรบ เรียกร้องการปรับปรุงเส้นเขตแดนกับอินโดจีนฝรั่งเศส ชื่อของวีรชนไทยดังกล่าวจำนวน ๑๖๐ คน ได้จารึกไว้ ณ อนุสาวรีย์แห่งนี้

๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๕
            ยกฐานะเมืองปราณบุรีเป็น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามนามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ พระราชทานไว้

๒๔ สิงหาคม ๒๔๘๕
            ได้มีการลงนามในข้อตกลงระหว่างผู้บัญชาการทหารเรือไทย กับทูตทหารเรือญี่ปุ่นประจำกรุงเทพ ฯ เกี่ยวกับการปฏิบัติการของกองทัพเรือไทย กับ จักรพรรดินาวีญี่ปุ่น ในบริเวณอ่าวไทยและน่านน้ำภาคใต้ของอินโดจีนฝรั่งเศส สงครามมหาเอเชียบูรพา

๑๔ กันยายน ๒๔๘๕
            เป็นวันที่ทางราชการเริ่มกำหนดให้ข้าราชการหยุดยืนเคารพธงชาติ ในเวลา ๐๘.๐๐ น.

๑๖ กันยายน ๒๔๘๕
            ลงนามข้อตกลงระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายพม่า (สายมรณะ) ญี่ปุ่นขอยืมเงินไทย ๔ ล้านบาท สร้างเสร็จเมื่อ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๘๖ และเปิดใช้เมื่อ ๒๕ ธันวาคม ๒๔๘๖ เป็นระยะทางยาว ๓๐๒ ก.ม. มีสถานี ๓๗ สถานี ใช้แรงงานกรรมกรและเชลย ๖๐,๐๐๐ คน เชลยตาย ๘,๗๒๒ คนทางรถไฟสายนี้เมื่อเสร็จสงครามแล้วรัฐบาลไทยต้องจ่ายเงินให้กับอังกฤษเป็นเงิน ๕๐ ล้านบาท เพื่อซื้อมาเป็นของไทย เมื่อ มกราคม ๒๔๙๐

๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๕
            ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มดำเนินกิจการ โดยมี ม.จ.วิวัฒนไชย ไชยยันต์ เป็นผู้ว่าการองค์แรก โดยมีทุนเริ่มแรก ๒๐ ล้านบาท จากรัฐบาล

๒๘ ธันวาคม ๒๔๘๕
            เปิดการศึกษาโรงเรียนนายร้อยทหารหญิง

๑๔ มกราคม ๒๔๘๖
            กองทัพพายัพ ได้เคลื่อนที่เข้าประชิดชายแดน พม่า – จีน ตั้งแต่เหนือสุดตามแนวทิศเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองป๊อก เมืองแผน เมืองมะ เมืองลา เมืองปัน เมืองวะ เมืองยู้ เมืองหลอย เมืองแฮะ เมืองนัม เมืองฮุน และเมืองกันไว่ได้โดยตลอด

๒๒ มกราคม ๒๔๘๖
            ประกาศให้ใช้คำว่า สวัสดี เมื่อแรกพบ

๙ เมษายน ๒๔๘๖
            ยกฐานะกรมทหารอากาศขึ้นเป็นกองทัพอากาศ ขึ้นกับกระทรวงกลาโหม

๑๐ มิถุนายน ๒๔๘๖
            ตั้งมณฑลทหารเรือที่ ๒ ที่สัตหีบ แล้วยุบลงเหลือเป็นสถานีทหารเรือสัตหีบ เมื่อ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๙๔

๔ กรกฎาคม ๒๔๘๖
            พลเอก โตโจ (ญี่ปุ่น) ได้มาพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่กรุงเทพ ฯ มอบดินแดนเดิมของไทยที่กองทหารญี่ปุ่นตีได้ ลงนามในสัญญา เมื่อ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๘๖ คือ รัฐเชียงตุง รัฐเมืองพาน และรัฐมาลัย (กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปลิส) ดินแดนเหล่านี้ต้องคืนไปเมื่อสงครามสงบ เพราะไทยแพ้สงครามญี่ปุ่นไปด้วย

๙ กรกฎาคม ๒๔๘๖
            กระทรวงมหาดไทยออกคำสั่งแบ่งเขตอำเภอในรัฐไทยใหญ่ (เชียงตุง) เป็น ๑๒ อำเภอ คือ อำเภอเชียงตุง เมืองเลน เมืองโก เมืองสาด เมืองพยาค เมืองยอง เมืองปิง เมืองมะ เมืองยาง เมืองหาง เมืองขาก เมืองยู้ เป็นดินแดนที่ได้จากการเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น แต่แล้วก็ต้องคืนให้อังกฤษไป

๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๖
            ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยอาณาเขตของประเทศไทยในรัฐมาลัยและภูมิภาคฉาน โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเป็นผู้ลงนามฝ่ายญี่ปุ่น มีสาระสำคัญคือ ญี่ปุ่นยอมรับการรวมรัฐกลันตัน ตรังกานู เคดาห์ (ไทรบุรี) ปะลิส และบรรดาเกาะที่ขึ้นแก่รัฐนั้น ๆ รัฐเชียงตุงและเมืองพาน ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคฉาน เข้าเป็นอาณาเขตของประเทศไทย

๒๐ สิงหาคม ๒๔๘๖
            ไทยกับญี่ปุ่น ได้ลงนามในสนธิสัญญา มอบดินแดนของไทยที่ญี่ปุ่นตีได้ จากอังกฤษ คือ รัฐเชียงตุง รัฐเมืองพาน และรัฐมาลัย (กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปาลิส) ให้แก่ไทย ณ ทำเนียบสามัคคีชัย

๑ ธันวาคม ๒๔๘๖
            สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคชราและโรคพระหทัย ที่วังวรดิส กรุงเทพ ฯ พระชนมายุ ๘๒ พรรษา

๑๒ มกราคม ๒๔๘๗
            สถานีหัวลำโพงถูกโจมตีทางอากาศ ในห้วงสงครามมหาเอเซียบูรพา

๕ มิถุนายน ๒๔๘๗
            มีพระราชกำหนดสร้างพุทธบุรีมณฑล โดยใช้บริเวณพระพุทธบาทสระบุรี เป็นพุทธบุรีมณฑล

๒๔ กรกฎาคม ๒๔๘๗
            จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากพระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหาร นครบาลเพชรบูรณ์ และพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑลที่จังหวัดสระบุรี ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ต่อมารัฐบาลชุดใหม่โดยมี พันตรี ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ยกเลิกตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแปรสภาพกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นกองทัพใหญ่

๕ สิงหาคม ๒๔๘๗
            ประกาศให้ประชาชนทำการปลูกฝี ป้องกันไข้ทรพิษเป็นครั้งแรก

๑ ธันวาคม ๒๔๘๗
            ธนาคารกรุงเทพจำกัด เปิดดำเนินการครั้งแรกโดยมีเงินทุนจดทะเบียนสี่ล้านบาท แบ่งออกเป็นสี่หมื่นหุ้น โดยมีเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นประธานกรรมการ

๑ มกราคม ๒๔๘๘
            ไทยได้ยินยอมลงนามในความตกลงสมบูรณ์แบบ เพื่อเลิกสถานะสงครามระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร และอินเดีย รวมทั้งบันทึกแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับ ออสเตรเลีย เพื่อเลิกสถานะสงคราม ความตกลงสมบูรณ์แบบมี ๒๔ข้อ เน้นเรื่องการถอนกำลังทหารออกจากสหรัฐไทยเดิม และสี่รัฐมาลัย การคืนดินแดนให้อังกฤษ และไทยต้องส่งข้าวจำนวน ๑.๕ ล้านตันให้อังกฤษโดยไม่คิดมูลค่า

๒ มกราคม ๒๔๘๘
            สะพานพระรามหก ถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร

๑๖ มกราคม ๒๔๘๘
            รัฐบาลซึ่งมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตราพระราชบัญญัติครูขึ้นเป็นฉบับแรก ด้วยความมุ่งหมาย ๓ ประการ คือ
                ๑. เพื่อประกอบพิธีระลึกถึงพระคุณครูอาจารย์
                ๒. เพื่อส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครู
                ๓. เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน ทางราชการได้กำหนดให้วันนี้เป็น วันครู ขึ้นเป็นครั้งแรก

๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘
            ประกาศใช้เครื่องแบบทหารเรือฉบับแรก

๑๔ สิงหาคม ๒๔๘๘
            รถไฟสายท่าจีน - แม่กลอง หมดสัมปทาน โอนกิจการเป็นของการรถไฟ รถไฟสายท่าจีน - แม่กลอง เปิดเดิน เมื่อ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๔๘ ระยะทางเมื่อเปิดเดินครั้งแรก ๓๓ กิโลเมตร

๑๔ สิงหาคม ๒๔๘๘
            ญี่ปุ่นยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ประเทศไทยประกาศทันทีว่าไทยอยู่ในฐานะสันติภาพและให้ถือว่าคำประกาศสงครามต่อประเทศสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ เป็นโมฆะ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ต้องด้วยเจตนารมย์ของปวงชนชาวไทย

๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๘
            ญี่ปุ่นยอมประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไข

๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘
            ได้มีพระบรมราชโองการประกาศสันติภาพไทยจะมีพันธมิตรทุกประเทศ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มีใจความว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา และบริเตนใหญ่ของอังกฤษ เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันกับประชาชนชาวไทย เนื่องจากการประกาศสงครามครั้งนั้นเป็นการกระทำอันผิด จากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง ประเทศไทยได้ตัดสินใจให้กลับคืนมา ซึ่งสัมพันธไมตรีอันเคยมีมากับสหประชาชาติ เมื่อก่อนวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ บรรดาดินแดนซึ่งญี่ปุ่นได้มอบให้ไทยครอบครอง ประเทศไทยไม่ปรารถนาที่จะได้ดินแดนเหล่านั้น และพร้อมที่จะจัดการส่งมอบคืนให้ดังเดิม

๑๙ สิงหาคม ๒๔๘๘
            รัฐบาลสหรัฐอเมริกา และรัฐบาลอังกฤษประกาศรับรองการประกาศสันติภาพของไทย หลังจากสงครามมหาเอเซียบูรพายุติลง โดยการยอมจำนนของญี่ปุ่นต่อฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๘๘ และรัฐบาลไทยได้ประกาศ เมื่อ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘

๒๑ สิงหาคม ๒๔๘๘
            นายเจมส์ เบิร์นส์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศสหรัฐ ฯ ได้ประกาศรับทราบคำประกาศอิสระภาพของไทย

๒ กันยายน ๒๔๘๘
            ประธานาธิบดี ทรูแมน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ออกคำสั่งทั่วไปที่ ๑ กำหนดให้กองกำลังญี่ปุ่นตลอดทั่วประเทศไทย ให้ยอมจำนนต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุด ฝ่ายสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ผู้เดียว

๓ กันยายน ๒๔๘๘
            อังกฤษส่งกองพลที่ ๗ (อินเดีย) เข้ามาปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย และพลเรือเอก ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน ได้ยื่นร่างข้อตกลงทางทหาร ( Preliminary Military Agrement ) รวม ๒๑ ข้อ ต่อคณะผู้แทนทางทหารของไทย ที่เดินทางไปทำความตกลงกับฝ่ายสัมพันธมิตร ที่เมืองแคนดี ในเกาะลังกา ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเงื่อนไขการยอมแพ้โดยรวม ยิ่งกว่าเรื่องการทหารโดยตรง

๗ กันยายน ๒๔๘๘
            ประกาศยกเลิกคำว่า "ประเทศไทย" (ไทยแลนด์) ให้ใช้คำว่า "สยาม" "ไทย" กับ "สยาม" ต่างกัน ไทยเป็นชื่อเชื้อชาติ คำว่า "สยาม" เป็นชื่อดินแดน

๘ กันยายน ๒๔๘๘
            ได้มีการลงนามในข้อตกลงทางทหารชั่วคราว ระหว่างแม่ทัพใหญ่ฝ่ายสัมพันธมิตร ภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และหัวหน้าคณะผู้แทนทางทหารของไทย ณ เมืองแคนดี เกาะลังกา มีสาระเกี่ยวกับ การปลดอาวุธกำลังทหารญี่ปุ่นในไทย การกักกันบุคคลสัญชาติญี่ปุ่นและเยอรมันในไทยการช่วยเหลือเชลยศึก และผู้ถูกกักกัน

๑๔ กันยายน ๒๔๘๘
            รัฐบาลไทยได้ประกาศยกเลิกกติกาพันธไมตรีกับประเทศญี่ปุ่น และต่อมาได้ประกาศยับยั้งความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น

๒๒ กันยายน ๒๔๘๘
            ไทยได้ส่งมอบรัฐเชียงตุง และรัฐเมืองพาน ให้กับกองพลอินเดียที่ ๗

๒๓ กันยายน๒๔๘๘
            ข้าหลวงใหญ่ประจำสี่รัฐมาลัยของไทย ได้ทำพิธีมอบสี่รัฐมาลัยให้กับฝ่ายทหารอังกฤษ

๕ ธันวาคม ๒๔๘๘
            พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จนิวัติพระนคร หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระหว่างนั้นกองทัพพันธมิตรภายใต้การบังคับบัญชาของ ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเตน ได้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทย

๑ มกราคม ๒๔๘๙
            ได้ตกลงทำสัญญาที่เรียกว่า ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อเลิกสถานะสงคราม ระหว่างไทยกับสัมพันธมิตร ประกอบด้วยสัญญา ๒๔ ข้อ

๑๙ มกราคม ๒๔๘๙
            พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงเป็นประธานในการตรวจพลสวนสนามของกองทัพพันธมิตร พร้อมกับลอร์ด หลุยส์ เมาท์ แบดแทม

๓ เมษายน ๒๔๘๙
            คณะผู้แทนไทยได้ลงนามในความตกลงเลิกสถานะสงคราม กับ ผู้แทนออสเตรเลีย ที่สิงคโปร์ โดยอนุโลมตามความตกลงที่ไทยทำไว้กับอังกฤษ

๓ มิถุนายน ๒๔๘๙
            พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จประพาสอย่างเป็นทางการ เป็นการสมานรอยร้าวระหว่างชาวไทยกับชาวจีน ที่เกิดขึ้นตอนปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา ให้กลับเป็นไปดังเดิม

๙ มิถุนายน ๒๔๘๙
            พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ พระที่นั่งบรมพิมาน (ประสูติ ๒๐ กันยนยน ๒๔๖๙) พระชนมายุได้ ๒๑ พรรษา ครองราชย์ได้ ๑๒ ปี

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |