ย้อนกลับ | หน้าต่อไป

  เงินพดด้วง  
เงินพดด้วงของไทย เป็นเงินตราที่เป็น เอกลักษณ์ของไทย โดยเฉพาะไม่ซ้ำแบบของชาติใด มีค่าในตัวเอง เพราะทำด้วย โลหะมีราคา โดยมีน้ำหนักเป็นมาตรฐานวัดมูลค่า รูปทรงกระทัดรัด ทนทาน ผลิตด้วยมือ ทำจากแท่งเงินบริสุทธิ์ ทุบปลายทั้งสองข้าง ให้โค้งงอเข้าหากัน ทำให้มีรูปร่างกลมคล้าย ลูกปืนโบราณ ชาวต่างประเทศจึงเรียกว่า Bullet Coin ในสมัยอยุธยา ได้มีการ ประทับตราแผ่นดิน และตราประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ แต่ละพระองค์ รวมเป็น ๒ ตราใบ เงินพดด้วงแต่ละอัน

เงินตราไทยก่อนใช้เงินพดด้วง
ในสมัยน่านเจ้า เงินที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน ส่วนมากเป็นเงินบริสุทธิ์ นำมาหล่อหลอม หรือ ตีเป็นแท่ง เป็นก้อน หรือเป็นกำไล ชาวต่างประเทศ เรียก Bracelet Money มีรูปร่างแตกต่างไปจาก เงินตราของจีน เงินในสมัยนี้มีขนาดหนึ่ง และ สองตำลึง มีตราหลายตราตีประทับบนเนื้อเงิน

อาณาจักรล้านนาไทย ได้ทำเงินตราด้วย โลหะเงิน เป็นรูปวงกลมเรียกว่าเงินเจียง ทางภาคกลางเรียก เงินขาคีม ลักษณะยังอยู่ในประเภท เงินกำไล แต่ขาเหลี่ยม เงินเจียงส่วนใหญ่มีราคาตั้งแต่หนึ่งตำลึงลงมา

อาณาจักรล้านช้าง ทำเงินเป็นแท่งยาว ปลายเรียว มีตราประทับก็มี ไม่มีตราประทับก็มี เรียกว่า เงินฮ้อย เงินลาด และเงินเฮือ ทางภาคเหนือเรียกว่า เงินปลิง เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายตัวปลิง ชาวต่างประเทศเรียกเงินชนิดนี้ว่า Bar Money เพราะมีลักษณะเป็นแท่ง

กำเนิดเงินพดด้วง
กำเนิดเงินพดด้วง น่าจะเริ่มมีในปลายสมัยน่านเจ้า และก่อนสมัยสุโขทัยเล็กน้อย อยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗ และ ๑๘ โดยการดัดแปลงเงินกำไลแบบขากลมของอาณาจักรน่านเจ้ามาทำให้มีขนาดเล็กกะทัดรัด มาเป็นเงินพดด้วงของไทย ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งก็คือเงินพดด้วงนี้ดัดแปลงมาจากเงินฮ้อย หรือเงินลาดขนาดเล็ก เมื่อนำมางอหัวท้ายเข้าหากันก็มีรูปร่างเป็นเงินพดด้วง


ผู้ผลิตเงินพดด้วง 
สมัยสุโขทัย  
พระเจ้าแผ่นดินจะเป็นผู้ผลิตแต่ก็เปิดโอกาสให้ผู้ครองนคร พ่อค้า และประชาชนผลิตได้ ดังนั้นเงินพดด้วงในยุคกรุงสุโขทัย จึงไม่มีมาตรฐานแน่นอนในเรื่องขนาด น้ำหนัก เนื้อเงิน และการตีตรา

สมัยอยุธยา  
ทางราชการเป็นผู้ทำเงินพดด้วงทั้งหมด ดังมีหลักฐานปรากฎอยู่ในกฎหมายตราสามดวง และจดหมายเหตุของจีน เงินพดด้วงจึงมีมาตรฐานแน่นอนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


รูปร่างลักษณะ


รูปร่างลักษณะ   มีสัณฐานกลม มี ๖ ด้าน คือ ด้านบนใช้เป็นที่ตีตราปรจำแผ่นดิน ด้านหน้าเป็นที่ตีตราประจำรัชกาล บริเวณปลายทั้งสองข้าง ที่เป็นรอยผ่าบาก หรือประทับรอยเม็ดข้าวสาร ด้านหลังมักปล่อยว่าง ด้านข้างทั้งขวาและซ้ายเป็นรอยค้อนที่ตีลงไป เพื่อให้ของอ ด้านล่างมักใช้เป็นที่ประทับรอยเม็ดข้าวสาร


ขนาดและน้ำหนัก
ขนาดและน้ำหนัก  มีตั้งแต่ หนึ่งบาท สองบาท สิบสลึง สี่บาท หรือหนึ่งตำลึง สิบบาท ยี่สิบบาท สี่สิบบาท และ แปดสิบบาท หรือหนึ่งชั่ง  แต่ที่ผลิตใช้กันมากคือขนาดหนึ่งบาท ที่ราคาต่ำกว่าหนึ่งบาท ในสมัยอยุธยามีขนาด สองสลึง หนึ่งเพื้อง สองไพ และหนึ่งไพ มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ยังมีขนาดสามสลึง และครึ่งไพอีกด้วย
ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน