สุภาษิตเรื่อง สวิสดิรักษา สุนทรภู่แต่งถวายสมเด็จเจ้าฟ้าอาภรณ์พระเจ้าลูกยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมอบพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ ให้เป็นศิษย์ศึกษาอักษรสมัยในสำนักสุนทรภู่ สันนิษฐานว่า แต่งขึ้นเมื่อปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๖๔ ถึงปี พ.ศ. ๒๓๖๗
ค สุนทรทำคำสวัสดิรักษา
|
ตามพระบาฬีเฉลิมให้เพิ่มพูน |
เป็นของคู่ผู้มีอิศริยยศ | จะปรากฏเกิดลาภไม่สาบสูญ |
สืบอายุสุริวงศ์พงศ์ประยูร | ให้เพิ่มพูนภิญโญเดโชไชย |
ว่าลืมหลงจงอุตส่าห์รักษาสิริ | ตามคติโบราณท่านขานไข |
ว่าเช้าตรู่สุริโยอโณไทย | ตื่นนอนให้ห้ามโมโหอย่างโกรธา |
ผินพักตร์สู่บูรพทิศ แลทักษิณ | เศกวารินด้วยพระธรรมคาถา |
ที่นับถือคือพระไตรสรณา | ถ้วนสามคราจึงชำระสระพระพักตร์ |
แล้วเอื้อนอรรถตรัสความที่ดีก่อน | จะถาวรพูนเกิดประเสริฐศักดิ์ |
ด้วยราศีที่ชะลอนรลักษณ์ | อยู่พระพักตร์แต่ทิวาเวลากาล |
ยามกลางวันนั้นว่าพระราศี | สถิตที่วรองค์ให้สรงสนาน |
พระอุระประสุคนธ์วิมลมาลย์ | จะสำราญโรคาไม่ราคี |
ครั้นพลบค่ำคล้ำฟ้าสุธาวาส | ฝ่ายเบื้องบาทซ้ายขวาเป็นราศี |
จงรดน้ำชำระซึ่งราคี | ห้ามสตรีอย่าให้พาดบาทยุคล |
เสวยนั้นผันพระพักตร์ไปบูรพทิศ | เจริญฤทธิ์ชันษาสถาผล |
แม้นผินพักตร์ทักษิณถิ่นมณฑล | ไม่ขาดคนรักใคร่เวียนไปมา |
ทิศประจิมอิ่มเอมเกษมสุข | บรรเทาทุกข์ปรากฏด้วยยศถา |
แต่ทิศเหนือเหลือร้ายวายชีวา | ทั้งชันษาซุดน้อยถอยทุกปี ฯ |
ค อนึ่งนั่งบังคลอย่ายลต่ำ | อย่าบ้วนน้ำลายพาเสียราศี |
ผินพระพักตร์สู่อุดรประจิมดี | ไม่ต้องผีคุณไสยพ้นภัยพาล |
แล้วสรงน้ำชำระพระนลาฏ | จึงผุดผาดผิวพรรณในสัณฐาน |
เสด็จไหนให้สรงชลธาร | เป็นฤกษ์พารลูบใล้แล้วไคลคลา ฯ |
ค อนึ่งพระองค์ทรงเจริญเพลินถนอม | อย่าให้หม่อมห้ามหลับทับหัตถา |
ภิรมย์รสอตส่าท์สรงพระคงคา | เจริญราศีสวัสดิ์ขจัดภัย ฯ |
ค อนึ่งวันชำระสระพระเกล้า | อังคารเสาร์สิ้นวิบัติปัตไถม |
ตัดเล็บวันพุธจันทร์กันจังไร | เรียนสิ่งใดวันพฤหัสสวัสดี ฯ |
ค อนึ่งภูษาผ้าทรงณรงค์รบ | ให้มีครบเครื่องเสร็จทั้งเจ็ดสี |
วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี | เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล |
เครื่องวันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว | จะยืนยาวชันษาสถาผล |
อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน | เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี |
เครื่องวันพุธสุดสีด้วยสีแสด | กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี |
วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี | วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม |
วันเสาร์ทรงดำจึงล้ำเลิศ | แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม |
หนึ่งพาชีขี่ขับประดับงาม | ให้ต้องตามสีสรรพ์จึงกันภัย ฯ |
ค อนึ่งว่าถ้าจะลงสรงสนาน | ทุกห้วยธารเถื่อนถ้ำแลน้ำไหล |
พระพักตร์นั้นผันล่องตามคลองไป | ห้ามมิให้ถ่ายอุจาร์ปัสสาวะ |
อย่าผินหน้าฝ่าฝืนขึ้นเหนือน้ำ | จะต้องรำเพรำพัดซัดมาปะ |
เมื่อสรงน้ำสำเร็จเสร็จธุระ | คำนับพระคงคาเป็นอาจิณ ฯ |
ค อนึ่งวิชาอาคมถมถนำ | เวลาค่ำควรคิดเป็นนิจศีล |
จึงศักดิ์สิทธิ์ฤทธิรนพ้นไพริน | ให้เพิ่มภิญโญยศปรากฎไป ฯ |
ค อนึ่งสุนัขมักเฝ้าแต่เห่าหอน | พิ่มอย่าขู่ก่อนด่าว่าอัชฌาลัย |
พิ่มเสียสง่าราศีมักมีภัย | คนมิได้ยำเยงเกรงวาจา |
อนึ่งเขฬะอย่าถ่มเมื่อลมพัด | ไปถูกสัตว์เสื่อมมนต์ดลคาถา |
อนึ่งพบปะพระสงฆ์ทรงศีลา | ไม่วันทาถอยถดทั้งยศทรัพย์ |
อนึ่งอย่าด่าว่าแดดแลลมฝน | อย่ากังวลเร่งวันให้พลันดับ |
เมื่อเช้าตรู่สุริยงจะลงลับ | จงคำนับสุริยันพระจันทร |
อนึ่งเล่าเข้าที่ศรีไสยาสน์ | อย่าประมาทหมั่นคำนับลงกับหมอน |
เป็นนิรันดร์สรรเสริญเจริญพร | คุณบิดรมารดาคุณอาจารย์ |
ค อนึ่งผ้าทรงจงนุ่งเหน็บข้างขวา | กันเขี้ยวงาจรเข้เดรฉาน |
อนึ่งอย่าไปใต้ช่องคลองตะพาน | อย่ารอดร้านฟักแฟงแรงราคี |
ทั้งไม้ลำค้ำเรือนแลเขื่อนคอก | ใครลอดออกอัปลักษณ์เสียศักดิ์ศรี |
ถึงฤทธิเดชเวทมนต์ดลจะดี | ตัวอัปรีย์แปรกลับให้อัปรา |
อนึ่งไปไหนได้พบอสภซาก | อย่าออกปากทักทายร้ายนักหนา |
ให้สรงน้ำชำระพระพักตรา | ตามตำราแก้กันอันตราย ฯ |
ค อนึ่งเครื่องผูกลูกสะกดตะกรุดคราด | เข้าไสยาสน์ยามหลับทับฉลาย |
เครื่องอาวุธสุดห้ามอย่าข้ามกราย | อย่านอนซ้ายสตรีมักมีภัย |
อนึ่งวันจันทร์คราสตรุษสารทสูรย์ | วันเพ็ญบูรณ์พรรษาอัชฌาสัย |
ทั้งวันเกิดเริดร้างให้ห่างไกล | ห้ามมิให้เสนหาถอยอายุ |
แม้นสตรีมีระดูอย่าอยู่ด้วย | ถ้ามิม้วยก็มักเสียจักษุ |
มักเกิดมีฝีพองเป็นหนองพุ | ควรทำนุบำรุงองค์ให้จงดี |
ค อนึ่งนั้นวันกำเหนิดเกิดสวัสดิ์ | อย่าฆ่าสัตว์เสียสง่าทั้งราศี |
อายุน้อยถอยเลื่อนทุกเดือนปี | แล้วมักมีทุกข์โศกโรคโรคา |
อนึ่งบรรทมถ้าลมคล่องทั้งสองฝ่าย | พระบาทซ้ายอย่าพาดพระบาทขวา |
ข้างขวาคล่องต้องกลับทับซ้ายมา | เป็นมหามงคลเลิศประเสริฐนัก ฯ |
ค อนึ่งว่าถ้าจะจรแลนอนนั่ง | สำเนียงดังโผงเผาะเกาะกุกกัก |
คือคุณผีปีศาจอุบาทว์ยักษ์ | ใครทายทักถูกฤทธิ์วิทยา |
ค ขอพระองค์จงจำไว้สำเหนียก | ดังนี้เรียกสวัสดิรักษา |
สำหรับองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา | ให้ผ่องผาสุกสวัสดิ์ขจัดภัย |
บทโบราณท่านทำเป็นคำฉันท์ | แต่คนนั้นมิใคร่แจ้งแถลงไข |
จึงกล่าวกลับซับซ้อนเป็นกลอนไว้ | หวังจะให้เจนจำได้ชำนาญ |
สนองคุณมุลิกาสามิภักดิ์ | ให้สูงศักดิ์สืบสมบัติพัสถาน |
แม้ผิดเพี้ยนเปลี่ยนเรื่องเบื้องโบราณ | ขอประทานอภัยโทษได้โปรดเอย ฯ |