เพลงยาวถวายโอวาท สุนทรภู่แต่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ไปบวชอยู่ที่วัดราชบูรณะ สันนิษฐานว่า จะแต่งประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๓ เวลานั้นเจ้าฟ้าอาภรณ์ทรงพระเจริญ เสด็จออกไปอยู่วังนอก สมเด็จกุฌฑลทิพยวดีพระมารดา ทรงมอบสมเด็จพระราชโอรส ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่อีกสองพระองค์คือ สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ หรือเจ้าฟ้ากลางกับเจ้าฟ้าปิ๋ว ให้เป็นศิษย์สุนทรภู่ ตามเยี่ยงอย่างที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงเคยมอบเจ้าฟ้าอาภรณ์ ซึ่งเป็นพระเชษฐาองค์ใหญ่ให้เป็นศิษย์มาแต่ก่อน ต่อมาสุนทรภู่เกิดอธิกรณ์ถูกขับไล่ให้ออกจากวัดราชบูรณะ จึงคิดจะออกไปอยู่ตามหัวเมือง เมื่อสุนทรภู่จะไปจากวัดราชบูรณะ จึงได้แต่งเพลงยาวบทนี้ทูลลา และถวายโอวาทเจ้าฟ้าซึ่งเป็นศิษย์ทั้งสองพระองค์ แล้วขึ้นไปพระนครศรีอยุธยา ในคราวที่แต่งนิราศภูเขาทอง แต่มิได้ไปยังหัวเมืองช้านานเหมือนอย่างที่ได้คิดไว้เดิม ได้ขึ้นไปเพียงพระนครศรีอยุธยา แล้วเปลี่ยนความคิดกลับลงมาอยู่วัดอรุณ ฯ
ค ควรมิควรจวนจะพรากจากสถาน
จึงเขียนความตามใจอาลัยลาน | ขอประทานโทษาอย่าราคี |
ด้วยขอบคุณทูลกระหม่อมถนอมรัก | เหมือนผัดพักตร์ผิวหน้าเป็นราศี |
เสด็จมาปราศรัยถึงในกุฎี | ดังวารีรดซาบอาบละออง |
ทั้งการุญสุนทรคารวะ | ถวายพระวรองค์จำนงสนอง |
ขอพึ่งบุญมุลิกาฝ่าละออง | พระหน่อสองสุริย์วงศ์ทรงศักดา |
ด้วยเดี๋ยวนี้มิได้รองละอองบาท | จะนิราศแรมไปไพรพฤกษา |
ต่อถึงพระวะสาอื่นจักคืนมา | พระยอดฟ้าสององค์จงเจริญ |
ไหนจะเกิดพิศวงถึงองค์ใหญ่ | ทั้งอาลัยองค์น้อยละห้อยหา |
มิเจียมตัวกลัวพระราชอาชญา | จะใส่บ่าแบกวางข้างละองค์ |
ขอฉลองสองพระองค์ดำรงรักษ์ | ช่วยฉุดชักชุบย้อมกระหม่อมฉัน |
ให้ยืนเหมือนเดือนดวงพระสุริยัน | เป็นคืนวันเที่ยงธรรมไม่ลำเอียง |
จะไปจากฝากสมเด็จพระเชษฐา | จงรักอนุชาอุตส่าห์ถนอม |
พระองค์น้อยคอยประณตนิ่งอดออม | ทูลกระหม่อมครอบครองกันสององค์ |
อุตส่าห์เรียนเขียนอ่านบุราณราช | ไสยศาสตร์สงครามตามประสงค์ |
ลำดับศักดิ์จักรพรรดิขัตติยวงศ์ | อุตส่าห์ทรงจดจำให้ชำนาญ |
ด้วยพระองค์ทรงสยมบรมนาถ | บังคับราชการสิ้นทุกถิ่นฐาน |
กรมศักดิ์หลักชัยพระอัยการ | มนเทียรบาลพระบัญญัติตัดสำนวน |
อนึ่งให้รู้สุภาษิตบัณฑิตพระร่วง | โคลงเพชรพวงผิดชอบทรงสอบสวน |
ราชาศัพท์รับสั่งให้บังควร | ทราบให้ถ้วนถี่ไว้จะได้ทูล |
ทั้งพุทธไสยไตรดาทวายุค | ให้ทราบทุกที่ถวิลบดินทร์สูร |
พระยศศักดิ์จักเฉลิมให้เพิ่มพูน | ได้พึ่งทูลกระหม่อมของฉันสององค์ |
ขอพระองค์ทรงเอ็นดูอย่างรู้ร้าง | ให้เหมือนอย่างเมรุมาศไม่หวาดไหว |
อย่าหลงลิ้นหินชาติขาดอาลัย | น้ำพระทัยทูลเกล้าจงยาวยืน |
ถึงร้อยปีมิได้มาก็อย่าแปลก | ให้เหมือนแรกเริ่มตรัสไม่ขัดขืน |
เช่นงางอกออกไปมิได้คืน | จึงจักยืนยืดยาวดังกล่าวคำ |
ขอพระองค์ทรงยศเหมือนคชบาท | อย่าให้พลาดพลั้งเท้าก้าวถลำ |
ระมัดโอษฐ์โปรดให้พระทัยจำ | จะเลิศล้ำลอยฟ้าสุราลัย ฯ |
ค อนึ่งปราชญ์ราชครูที่รู้หลัก | อย่าถือศักดิ์สนทนาอัชฌาสัย |
อุตส่าห์ถามตามประสงค์จำนงใน | จึงจักได้รู้รอบประกอบการ |
อนึ่งบรรดาข้าไทที่ใจซื่อ | จงนับถือถ่อมศักดิ์สมัครสมาน |
อนึ่งคนมนต์ขลังช่างชำนาญ | แม้นพบพานผูกไว้เป็นไมตรี |
เขาทำชอบปลอบให้หัวใจชื่น | จึงเริงรื่นรักแรงไม่แหนงหนี |
ปรารถนาสารพัดในปฐพี | เอาไมตรีแลกได้ดังใจจง |
คำบุราณท่านว่าเหล็กแข็งกระด้าง | เอาเงินง้างอ่อนตามความประสงค์ |
จงทราบไว้ใต้ละอองทั้งสององค์ | อุตส่าห์ทรงสืบสร้างทางไมตรี |
แต่คนร้ายหลายลิ้นย่อมปลิ้นปลอก | เลี้ยงมันหลอกหลอนเล่นเหมือนเช่นผี |
อย่าพานพบคบค้าเป็นราคี | เหมือนพาลีหลายหน้าระอาอาย |
อันคนดีมีสัตย์สันทัดเที่ยง | ช่วยชุบเลี้ยงชูเชิดให้เฉิดฉาย |
เอาไว้ใช้ใกล้ชิดไม่คิดร้าย | เขารักตายด้วยได้ดังใจตรง |
อันโซ่ตรวนพรวนพันมันไม่อยู่ | คงหนีสู้ซ่อนหมุนในฝุ่นผง |
แม้นผูกใจไว้ด้วยปากไม่จากองค์ | อุตส่าห์ทรงทราบแบบที่แยบคาย |
อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก | แต่ลมปากหวนหูไม่รู้หาย |
แม้เจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย | เจ็บจนตายนั้นเพราะเหน็บให้เจ็บใจ |
จะรักชังทั้งสิ้นเพราะลิ้นพลอด | เป็นอย่างยอดแล้วพระองค์อย่าสงสัย |
อันช่างปากยากที่จะมีใคร | เขาชอบใช้ช่างมือออกอื้ออึง |
จงโอบอ้อมถ่อมถดพระยศศักดิ์ | ถ้าสูงนักแล้วก็เขาเข้าไม่ถึง |
ครั้นต่ำนักมักจะผิดคิดรำพึง | พอก้ำกึ่งกลางนั้นขยันนัก ฯ |
ค อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ | ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก |
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก | จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย |
จับให้มั่นคั้นหมายให้วายวอด | ช่วยให้รอดรักให้ชิดพิศมัย |
ตัดให้ขาดปรารถนาหาสิ่งใด | เพียรจงได้ดังประสงค์ที่ตรงดี |
ธรรมดาว่ากษัตริย์อัติเรก | เป็นองค์เอกอำนาจดังราชสีห์ |
เสียงสังหารผลาญสัตว์ในปัฐพี | เหตุเพราะมีลมปากนั้นมากนัก |
เหมือนหน่อเนื้อเชื้อวงศ์ที่องอาจ | ย่อมเปรื่องปราชญ์ปรากฏเพราะยศศักดิ์ |
ผู้ใหญ่น้อยพลอยมาสามิภักดิ์ | ได้พร้อมพรักทั้งปัญญาบารมี |
ถ้าเกียจคร้านเกียรติยศก็ถดถอย | ข้าไทพลอยแพลงพลิกออกหลีกหนี |
ต้องเศร้าสร้อยน้อยหน้าทั้งตาปี | ทูลดังนี้กลัวจะเป็นเหมือนเช่นนั้น |
ด้วยไหนไหนก็ได้มาสามิภักดิ์ | หมายจะรักพระไปกว่าจะอาสัญ |
จึงทูลความตามจริงทุกสิ่งอัน | ล้วนสำคัญขออย่าให้ผู้ใดู ฯ |
ค พระผ่านเกล้าเจ้าฟ้าบรรดาศักดิ์ | แม้นไม่รักษายศจะอดสู |
ซึ่งยศศักดิ์จักประกอบจำรอบรู้ | ได้เชิดชูช่วยเฉลิมให้เพิ่มพูน |
อันเผ่าพงศ์วงศาสุรารักษ์ | สามิภักดิ์พึ่งปิ่นบดินทร์สูร |
ที่สิ่งไรไม่ทราบได้กราบทูล | จึงเพิ่มพูนภาคหน้าปรีชาชาญ |
ประเพณีที่บำรุงกรุงกษัตริย์ | ปฎิพัทธ์ผ่อนผันตามบรรหาร |
ต่างพระทัยในเนตรสังเกตการ | ตามบุราณเรื่องราชานุวัฒน์ |
จงพากเพียรเรียนไว้จะได้ทราบ | ทั้งกลอนกาพย์การกลปรนนิบัติ |
หนึ่งแข็งอ่อนผ่อนผันให้สันทัด | ตามกษัตริย์สุริย์วงศ์ดำรงดิน |
อนึ่งแยบยลกลความสงครามศึก | ย่อมเหลือลึกล้ำมหาชลาสินธุ์ |
เร่งฝึกฝนกลการผลาญไพริน | ให้รู้สิ้นรู้ให้มั่นกันนินทา |
อันข้าไทได้พึ่งเขาจึงรัก | แม้นถอยศักดิ์สิ้นอำนาจวาสนา |
เขาหน่ายหนีมิได้อยู่คู่ชีวา | แต่วิชาช่วยกายจนวายปราณ ฯ |
ค ซึ่งเปรียบปรายหมายเหมือนเตือนพระบาท | ให้เปรื่องปราชญ์ปรีชาศักดาหาญ |
แม้นหากว่าฝ่าละอองไม่ต้องการ | โปรดประทานโทษกรณ์ที่สอนเกิน |
ด้วยรักใคร่ได้มาเป็นข้าบาท | จะบำราศแรมร้างไปห่างเหิน |
เป็นห่วงหลังหวังใจให้เจริญ | ใช่จะเชิญชวนชั่วให้มัวมอม |
พระคุณอุ่นอกเมื่อตกยาก | ถึงตัวจากแต่จิตสนิทสนอม |
จะจำไปไพรพนมด้วยตรมตรอม | ทูลกระหม่อมเหมือนหนึ่งแก้วแววนัยนา |
พระองค์น้อยเนตรซ้ายไม่หมายร้าง | พระองค์กลางอยู่เกศเหมือนเนตรขวา |
ความรักใคร่ไม่ลืมปลื้มวิญญา | ได้พึ่งพาพบเห็นคอยเย็นทรวง |
จึงพากเพียรเขียนความตามสุภาพ | หวังให้ทราบเรื่องลักษณ์ในอักษร |
จะได้วางข้างพระแท่นแทนสุนทร | ที่จากจรแต่ใจอาลัยลาน |
ซึ่งทูลเตือนเหมือนจะชูให้รู้รอบ | ขอความชอบตราบกัลปาวสาน |
อย่าฟังฟ้องสองโสตจงโปรดปราน | ด้วยลมพาลพานพัดอยู่อัตรา |
จงสอดส่องตรองตรึกให้ลึกซึ้ง | เป็นที่พึ่งผ่อนผันให้หรรษา |
ถึงแม้นมาตรขาดเด็ดไม่เม็ตตา | กรุณาแต่หนังสืออย่าถือความ ฯ |
ค อนึ่งคำนำถวายหมายว่าชอบ | แม้ทรงสอบเสียวทราบว่าหยาบหยาม |
อย่าเฉียวฉุนหุนหวนว่าลวนลาม | เห็นแก่ความรักโปรดซึ่งโทษกรณ์ |
แม้นเห็นจริงสิงสวัสดิ์อย่าผัดเพี้ยน | เร่งร่ำเรียนตามคำที่พร่ำสอน |
ดูดินฟ้าหน้าหนาวหรือคราวร้อน | เร่งผันผ่อนพากเพียรเรียนวิชา |
ซึ่งประโยชน์โพธิญาณเป็นการเนิ่น | พอจำเริญรู้ธรรมคำคาถา |
ถือที่ข้ออรหัตวิปัสสนา | เป็นวิชาฝ่ายพุทธนี้สุดดี |
ข้างฝ่ายไสยไตรเพทวิเศษนัก | ให้ยศศักดิ์สูงสง่าเป็นราศี |
สืบตระกูลพูนสวัสดิ์ในปัฐพี | ได้เป็นที่พึ่งพาแก่ข้าไท |
ค ซึ่งทูลความตามซื่ออย่าถือโทษ | ถ้ากริ้วโกรธตรัสถามตามสงสัย |
ด้วยวันออกนอกพรรษาขอลาไป | เหลืออาลัยทูลกระหม่อมให้ตรอมทรวง |
ด้วยเหตุว่าฝ่าพระบาทได้ขาดเสร็จ | โดยสมเด็จประทานตามความประสงค์ |
ทูลกระหม่อมยอมในพระทัยปลง | ถวายองค์อนุญาตเป็นขาดคำ |
ในวันอังคารพะยานอยู่ | ปีฉลูเอกศกแรมหกค่ำ |
ขอละอองสององค์จงทรงจำ | อย่าเชื่อคำคนอื่นไม่ยืนยาว |
อย่างหม่อมฉันอันที่ดีแลชั่ว | ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว |
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว | เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร |
แผ่นดินหลังครั้งพระโกศก็โปรดเกศ | ฝากพระเชษฐานั้นให้ฉันสอน |
สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร | ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม |
หากสมเด็จเมตตาว่าข้าเก่า | ประทานเจ้าครอกฟ้าบูชาเฉลิม |
ไม่ลืมคุณทูลกระหม่อมเหมือนจอมเจิม | จะขอเพิ่มพูนพระยศให้งดงาม |
เผื่อข้าไทไม่มีถึงที่ขัด | กับหนูพัดหนูตาบจะหาบหาม |
สองพระองค์จงอุตส่าห์พยายาม | ประพฤติตามแต่พระบาทมาตุรงค์ |
รักพระยศอดส่าห์รักษาสัตย์ | พูนสวัสดีสังวาสตามราชหงส์ |
เห็นห้วยหนองคลองน้อยอย่าลอยลง | จะเสียทรงสีทองละอองนวล |
สกุลกาสาธารณ์ถึงพานพบ | อย่าควรคบคิดรักศักดิ์สงวน |
เหมือนชายโฉดโหดไร้ที่ไม่ควร | อย่าชักชวนชิดใช้ให้ใกล้องค์ |
อันนักปราชญ์ราชครูเหมือนคูหา | เป็นที่อาศัยสกุลประยูรหงส์ |
จะสิงสู่อยู่แต่ห้องทองประจง | กว่าจะทรงปีกกล้าถาทะยาน |
ขึ้นร่อนเร่เวหนให้คนเห็น | ว่าชาติเช่นหงสาศักดาหาญ |
ได้ปรากฏยศยงตามวงศ์วาน | พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร |
ควรมิควรส่วนผลาอานิสงส์ | ซึ่งรูปทรงสังวรณ์รัตน์ประภัสสร |
ทั้งสี่องค์ทรงมหาสถาวร | ถวายพรพันวะสาขอลาเอย ฯ |