| หน้าแรก | หน้าต่อไป |


ความเป็นมาของเรื่องรามเกียรติ์
รามเกียรติ์ มีที่มาจากเรื่อง รามยณะ ที่ฤาษีวาลมิกิ ชาวอินเดีย แต่งขึ้นเป็นภาษาสันกฤต เมื่อประมาณ 2,400 ปีเศษ มาแล้ว และได้แพร่หลาย จากอินเดียไปยังประเทศใกล้เคียง และได้มีการเพิ่มเติมรายละเอียด ผิดแผกแตกต่างออกไปจากต้นฉบับเดิมไปไม่น้อย รามยณะเป็นปางหนึ่งในสิบปางของการอวตารมาปราบยุคเข็ญของพระนารายณ์ ที่มีชื่อว่า รามาวตาร
สำหรับเรื่องรามเกียรติ์ ของไทยนั้น มีมาแต่สมัยอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับให้ละครหลวงเล่น ปัจจุบันมีอยู่ไม่ครบ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีมาแต่เดิมให้ครบถ้วน สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อให้ละครหลวงเล่น ได้ทรงเลือกมาเป็นตอน ๆ รามเกียรติ์ นี้จึงมีสำนวนกลอนที่ไพเราะที่สุด
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ โดยดัดแปลงจากพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เพื่อใช้ในการเล่นโขน ซึ่งจะมีอยู่เพียงบางตอนที่คัดเลือกไว้เท่านั้น เช่น ตอนนางลอย ตอนหักคอช้างเอราวัณ ตอนสีดาลุยไฟ เป็นต้น
รามเกียรติ์เป็นวรรณคดีที่สำคัญของไทย เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เนื้อเรื่องและสำนวนกลอน ในเรื่องรามเกียรติ์มีความไพเราะ มีคติสอนและแง่คิดในด้านต่าง ๆ อยู่เป็นอันมาก สอดแทรกเอาไว้ตลอดทั้งเรื่อง ตามหลักนิยมของอินเดียในเนื้อเรื่อง และหลักนิยมของไทยในสำนวนกลอน
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ที่รอบพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เขียนขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าฯ จำนวน 178 ห้อง เขียนโดยจิตรกรที่มีฝีมือยอดเยี่ยมของไทย เป็นภาพวิจิตรงดงาม ทรงคุณค่าทางศิลปกรรมเป็นอย่างยิ่ง โดยมีการ ซ่อมแซมหลายครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2375, พ.ศ. 2425, พ.ศ. 2475 และครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2525
นอกจากเนื้อเรื่องรามเกียรติ์แท้ ๆ จากห้อง 1 ถึงห้อง 178 ยังมีเรื่องการอวตารของพระนารายณ์ในปางก่อน ๆ อันเป็นที่มาของเรื่อง รามเกียรติ์อีกหลายแปลงคือนรสิงหาวตาร ซึ่งเป็นปางที่สี่ ราหาวคาร ซึ่งเป็นปางที่ก่อให้เกิดวงศ์พระนารายณ์ขึ้นที่โลกมนุษย์ คือ ท้าวอโนมาตัน โอรสพระนารายณ์ ที่เกิดจากองค์พระนารายณ์เองให้ครองกรุงศรีอยุธยาที่พระอิศวรโปรดให้พระอินทร์ ลงมาสร้างให้หลานปู่ของท้าวอโนมาตัน คือท้าวทศรถ ผู้เป็นพระราชบิดาของพระราม

ต้นเรื่องรามเกียรติ์
ณ ยอดเขาจักรวาลมียักษ์ตนหนึ่งชื่อ หิรันตยักษ์ ได้บำเพ็ญตบะเพื่อขอพรจากพระอิศวรให้มีฤทธิ์มากขึ้น เมื่อได้พรแล้วจึงคิดกำเริบว่าไม่มีใครสามารถสู้ได้ จึงม้วนแผ่นดินแล้วเหาะนำไปไว้ที่เมืองบาดาล เหล่าเทวดาจึงไปทูลฟ้องพระอิศวร พระอิศวรให้พระนารายณ์ไปปราบ แล้วจึงนำแผ่นดินมาคลี่ไว้ที่เดิม จากนั้นจึงกลับยังเกษียสมุทร พบดอกบัวบานมีกุมารน้อยอยู่ในนั้น จึงนำไปถวายพระอิศวร พระอิศวรให้พระอินทร์ไปสร้างเมืองให้ที่ป่าทวาราวดี แล้วตั้งชื่อกุมารว่า โนมาตัน และมอบอาวุธคือ ตรีเพชร คทา และธำมรงค์ ให้ไปปกครองเมืองนั้น ส่วนพระอินทร์ได้มอบนางมณีเกสร เป็นพระมเหสี ต่อมามีโอรสชื่อ อัชบาล และต่อมาท้าวอัชบาลกับนางเทพอัปสรมีโอรสชื่อ ทศรถ
    ฝ่ายพระพรหมองค์หนึ่งชื่อสหบดี ซึ่งเคยให้สหมลิวัน ไปปกครองทวีปลังกาแต่ได้หนีพระนารายณ์ ไปอยู่เมืองบาดาล ทวีปลังกาจึงกลายเป็นเมืองร้าง สหบดีเห็นว่าควรมีการสืบวงศ์พรหมต่อไป จึงสั่งให้พระวิษณุพรหม ไปดูทำเลสร้างเมืองใหม่ พระวิษณุพบเกาะกลางทวีปมีภูเขาสูงชื่อ นิลกาฬ สีดำสนิทตั้งอยู่กลางเกาะเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะจะสร้างเมืองที่มีความมั่นคง ป้องกันการรุกรานของข้าศึกได้ จึงสร้างเมืองขึ้นตรงเกาะนั้น
     " อันคูเขื่อนปราการล้อมรอบ                                   เป็นคันรอบมั่นคงแน่นหนา
หอรบช่องปืนใบเสมา                                         ทวาราป้อมค่ายรายไป "
    แล้วตั้งชื่อว่าพิชัยลังกา ท้าวสหบดีได้ให้ญาติชื่อท้าวจตุรพักร ไปครอง มอบอาวุธคือ ตรีศูล คทา ฉัตรแก้ว พร้อมพระเวทกำกับฉัตร หากเมื่อข้าศึกมาประชิดเมือง ให้ยกฉัตรขึ้นบังแสงอาทิตย์ ข้าศึกจะมองไม่เห็นเมือง ทั้งยังประทาน นางมลิกา ไปเป็นมเหสี ต่อมามีโอรสชื่อท้าวลัสเตียน ซึ่งมีมเหสี 5 องค์ องค์สุดท้ายชื่อ พระนางรัชดาเทวี ซึ่งเป็นแม่ของทศกรรฐ์
    มียักษ์ชื่ออสุรพรหม อยู่เชิงเขาจักรวาล ต้องการมีฤทธิ์มากขึ้น เพียรทูลขอกระบองที่ไม่มีใครสู้ได้จากพระอิศวร จนพระอิศวรประทานกระบองเพชรให้
    มาลีวัคคพรหม จึงทูลทักท้วงว่า การที่ทรงประทานกระบองเพชรให้นั้น จะทำให้โลกเดือดร้อนได้ เพราะอสุรพรหมเป็นยักษ์ที่หยาบช้า ควรจะประทานอาวุธแก่ท้าวอัชบาล เพื่อใช้ปราบอสุรพรหม พระอิศวรจึงประทานพระขรรค์และพรแก่ท้าวอัชบาล ซึ่งภายหลังได้ฆ่าอสุรพรหมตาย ด้วยเหตุนี้มาลีวัคคพรหม จึงเป็นเพื่อนกับท้าวอัชบาลในเวลาต่อมา
ต่อมา มาลีวัคคพรหมเสด็จไปเฝ้าพระอิศวรทูลลาไปอยู่ ณ เขายอดฟ้า พระอิศวรเห็นว่าเป็นพรหมที่มีความซื่อสัตย์ จึงประทานพรให้มีวาจาสิทธิ์ ทั้งได้ตั้งชื่อให้ใหม่ว่าท้าวมาลีวราช ปกครองเหล่าคนธรรพ์และยักษ์
         มียักษ์อีกตนหนึ่งชื่อ ตรีบุรัม   ครองเมืองโสพัส ต้องการมีฤทธิ์เอาชนะพระนารายณ์ได้ จึงบำเพ็ญตบะเพื่อขอพรจากพระอิศวร จนพระอิศวรต้องเสด็จลงมาให้พรตามที่ขอว่า พระนารายณ์ไม่สามารถฆ่าตรีบุรัมได้    เมื่อได้พรแล้วจึงกำเริบไปข่มเหงเหล่าเทวดาและนางฟ้าจนถึงสวรรค์ชั้นที่หกเดือดร้อนไปทั่ว จึงพากันมาฟ้องพระอิศวร เนื่องจากศึกครั้งนี้ใหญ่หลวง ด้วยตรีบุรัมได้พรจากพระอิศวร ทั้งพระพรหมและพระนารายณ์ไม่อาจปราบได้ พระอิศวรจึงต้องยกทัพไปปราบเอง ในกระบวนทัพของพระอิศวร ให้พระขันธกุมารเป็นทัพหน้า พระราหูถือธง พระพิเนตรเป็นปีกซ้าย พระพินายะเป็นปีกขวา พระกาฬเป็นเกียกกาย ท้าวเวสสุวรรณเป็นยกกระบัตร และพระเพลิงเป็นกองหลัง ส่วนพระอิศวรนั่งบนหลังพระโคอุสุภราช เอากำลังพระพรหมผสมกับพระเดชเป็นเกราะเพชร เขาพระสุเมรุเป็นคันธนูชื่อ มหาโลหะโมลี เอาอนันตนาคราชเป็นสายธนู พระนารายณ์เป็นลูกศร แต่ไม่สามารถยิงได้เพราะพรจากพระอิศวรดังกล่าว พระอิศวรจึงลืมตาที่สามขึ้นเป็นเพลิงกรดไหม้ตรีบุรัมตาย จากนั้นจึงมอบธนูโลหะโมลีไว้ที่เมืองมิถิลาและฝากเกราะเพชร ไว้ที่พระฤาษีอัคถะดาบส เพื่อเก็บไว้ถวายพระนารายณ์ตอนอวตารมาปราบเหล่ายักษ์


| หน้าแรก | หน้าต่อไป | บน |