ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบิดเบือนคำสอนของอิสลาม ฯ
            เอกสารชิ้นนี้เขียนด้วยลายมือ โดยใช้อักษร ยาวี โดยได้นำเอาบทบัญญัติ (อายะห์) ต่าง ๆ ในคัมภีร์กุรอานมาอ้างอิง การเขียนเอกสารนี้ ผู้เขียนไม่ใช้นามจริง แต่ใช้นามปากกา โดยบอกว่าเขียนที่ กัวลาตีกอ ตาเนาะแมเราะฮ์ กลันตัน เมื่อ ๑๐ สิงหาคม ๒๐๐๒ สรุปประเด็นได้ดังนี้
                ๑. เขาได้กล่าวว่า "ผู้เขียนหวังว่าหนังสือเล่มนี้ เปรียบเสมือนตัวแทนผู้เขียนในทุกสมรภูมิดังนั้น จงสำนึกว่าผู้เขียนอยู่เคียงข้าง ท่านทั้งหลายทุกที่ ทุกเวลา และทุกเรื่อง..." (คำนำ)
                ๒. การอ้างอิงบทบัญญัติต่าง ๆ จากคัมภีร์กุรอาน มีการเขียนผิดพลาดเกือบทุกบทบัญญัติ
                ๓. ในการเรียบเรียงเอกสารนี้ ผู้เขียนได้อ้างบทบัญญัติจากคัมภีร์กุรอานตลอดทั้งเล่ม พร้อมกับอรรถาธิบายบทบัญญัติไว้ด้วย แต่การอรรถาธิบายนั้น ไม่ได้อ้างอิงแหล่งอรรถาธิบายที่ถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับ เช่น บรรดาตำราที่อรรถาธิบาย (ตัฟซีร) ของบรรดาปราชญ์มุสลิม แต่ได้อธิบายโดยความคิดเห็นของตนเอง
ดังตัวอย่างจากกุรอาน ซูเราะฮ์ อัล - อันฟาล  ๘ : ๖๕ มีความว่า
                "โอ้ นบี จงปลุกใจผู้ศรัทธาทั้งหลายในการสู้รบเถิด หากปรากฎในหมู่พวกเจ้ามียี่สิบคน ที่อดทนก็จะชนะสองร้อยคนได้ และถ้าหากว่าปรากฎในหมู่พวกเจ้ามีร้อยคน ก็จะชนะพันคนในหมู่ผู้ปฎิเสธ พวกเขาเป็นพวกที่ไม่เข้าใจ" (๘:๖๕)
                จากบทบัญญัตินี้ ในเอกสารได้อรรถาธิบายว่า
                "จอมทัพผู้ยิ่งใหญ่ของเราได้ให้กำลังใจ และเชิญชวนพวกเขาทั้งหลายจัดตั้งกองทัพ เพื่อแย่งชิงความยิ่งใหญ่ ของศาสนาอิสลามกลับคืนมา ซึ่งถูกบรรดาคนนอกศาสนาทำลายท่านนบี ได้เชิญพวกเราร่วมเป็นหนึ่งเดียว ในการจัดตั้งกองทัพ เพื่อแย่งชิงมักกะฮ์กลับคืนมาจากคนนอกศาสนา ดังนั้นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่า ทำให้ตนเองตกต่ำสู่ความพินาศหรือ...? ไม่ใช่  โอ้บรรดาพี่น้องทั้งหลาย ...แต่การกระทำดังกล่าวเป็นคำบัญชาจากพระเจ้า และสาวกในทางกลับกัน ผู้ที่ประพฤติตนห่างจากคำบัญชาของพระเจ้า หรือแต่งเติม ดังนั้นแท้จริงแล้ว พระเจ้าได้เตรียมนรกสำหรับพวกเขาเป็นการตอบแทน..."  (เอกสาร ฯ หน้า ๓)
                จากคำอรรถาธิบายนี้ แสดงว่าผู้เขียนเอกสาร ฯ มุ่งที่จะบิดเบือนคำสอนในคัมภีร์กุรอาน โดยมุ่งเพื่อนำมาเปรียบเทียบว่า การต่อสู้ของคนกลุ่มนี้ เสมือนการต่อสู้ของท่านนบีมุฮัมมัด และสหายของท่าน การอธิบายที่เปรียบเทียบกลุ่มของตนเป็นเสมือนกลุ่มของท่านนบีส่วนชาวไทยพุทธ และไทยมุสลิมเป็นเสมือนชาวมักกะฮ์ ผู้ปฎิเสธ เป็นคำอธิบายที่ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง
                ตามข้อเท็จจริงแล้ว ซูเราะห์ที่นำมาอ้างนี้ เป็นบทบัญญัติที่ให้มาในปีฮิจเราะห์ศักราชที่ ๒ คือ หลังจากท่านนบีมุฮัมมัด อพยพไปเมืองมะดินะฮ์ ๒ ปี ชาวมักกะฮ์มุชรีกีน ไม่พอใจได้ยกกองทัพมาปราบปราม ท่านนบี มุฮัมมัด ได้ยกกองทัพไปตั้งรับที่ทุ่งบาดร์เป็นสงครามที่พระเจ้าได้อนุญาต
                ผู้เขียนเอกสาร ฯ ได้อธิบายภาพของสังคมไทยบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงว่า
                "โอ้บรรดานักรบชะฮีดทั้งหลาย เป็นที่น่าสมเพชที่เรายังนั่งกอดอก ยังอยู่เฉยไม่รู้ใด ๆ ยังคงสนุกสนานมองดู และได้ยินลูกหลานของเรา ที่ได้รับการกดขี่ข่มเหง และอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ครอบครองทรัพย์สมบัติ ที่เป็นสิทธิของเราถูกปล้น และความร่ำรวยของประเทศเราถูกยึดครอง ความอิสระเสรีถูกจำกัด และขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนาของเรายังถูกกดขี่ ความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของบุตรหลาน และเชื้อชาติของพวกเราได้สูญหายไปไหน ? ..." (เอกสาร ฯ หน้า ๔ - ๕)
                การอธิบายภาพสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นนี้ผิดจากข้อเท็จจริงอย่างยิ่ง
                ๔. ผู้เขียนเอกสาร ฯ ได้ใช้ความเชื่อทางไสยศาสตร์ เข้าไปในคำสอนในเอกสารนี้ เห็นได้จากการสอนให้ผู้เลื่อมใส ท่องจำถ้อยคำ ซึ่งไม่มีทั้งในกุรอาน และแบบอย่าง (ซุนนะห์) ของท่าน นบีมุฮัมมัด ทำให้คนเหล่านี้หลงเชื่ออย่างงมงายว่า คำท่องต่าง ๆ จะมีผล ซึ่งขัดกับหลักความเชื่อพื้นฐานของอิสลาม คือ คำสอนห้ามมุสลิมทำการใด ๆ ที่สื่อไปในทางการตั้งภาคีต่อพระเจ้า ที่เรียกว่า "การทำชิริก" ซึ่งถือว่าเป็นการก่อบาปใหญ่ในอิสลาม และผู้ที่ทำจะหลุดพ้นจากการมีสถานะเป็นมุสลิม
                ๕. ผู้เขียนเอกสาร ฯ ได้สอดใส่ด้วยคำที่เสมือนเป็นคำขวัญ หรือที่ภาษาอาหรับที่เรียกว่า "ชีอาร" เพื่อให้ผู้หลงเชื่อปฎิบัติตาม
                ๖. แนวคิดทางศาสนาของผู้เขียนเอกสาร ฯ มีทัศนะคล้ายแนวคิดของพวก คอวาริจญ์ ซึ่งเป็นพวกนอกรีตในอิสลาม เกิดขึ้นในสมัยที่ท่านนบีได้เสียชีวิตแล้ว โดยเริ่มก่อตัวปลายสมัย คอลีฟะฮ์ (กาหลิบ) อุษมาน และเด่นชัดในสมัย คอลีฟะฮ์ อาลี โดยเฉพาะในช่วงที่มีการโต้แย้งการดำรงตำแหน่งคอลีฟะฮ์ของท่านอาลี กับมุอาวียะฮ์ ความขัดแย้งดังกล่าว นำไปสู่ความไม่พอใจของมุสลิมกลุ่มหนึ่ง จึงแยกตัวออกมา และมีความเห็นว่า ผู้ใดก็ตามที่หันเหออกจากหนทางของท่านนบี พวกเขามีสิทธิที่จะฆ่าบุคคลเหล่านั้นได้ นี่คือที่มาของการตายของคอลีฟะฮ์ อาลี
                ทัศนะสุดโต่ง ก้าวร้าว และไร้เหตุผลเช่นนี้ ไม่เป็นที่ยอมรับของบรรดาปราชญ์มุสลิม และได้ถูกสกัดกั้น โดยแนวคิดของมุสลิมกระแสหลักมาโดยตลอด ทัศนะนอกรีตเช่นนี้ ได้ปรากฎขึ้นมาในประวัติศาสตร์อิสลามเป็นระยะ ๆ เมื่อไม่ได้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ก็สูญหายไป
                บทบัญญัติที่คนกลุ่มนี้อ้าง เพื่อสร้างความชอบธรรมของพวกเขาคือ
                "และจ้าทั้งหลายจงฆ่าพวกเขา ไม่ว่าพวกเจ้าเผชิญหน้าพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามและพวกเจ้าจงขับไล่พวกนั้น เช่นเดียวกับที่พวกเขาเคยขับไล่พวกเจ้ามาก่อน" (๒:๑๙๑)
                "และเจ้าทั้งหลายต่อสู้ในทางของอัลลอฮ์ กับบรรดาที่ทำการรบกับพวกเจ้า" (๒:๑๙๐) ทั้งยังปลุกความฮึกเหิม ก้าวร้าว และทัศนะ อันไร้เหตุผลไว้อย่างชัดเจนว่า
                "โอ้บรรดาหนุ่มสาว ปา ตา บา ลา ทั้งหลาย ...ท่านทั้งหลายจงทำสงคราม และเอ่ยพระนามของพระเจ้า จงฟัน และฆ่าบรรดาคนนอกศาสนา
จนกว่าพวกเขาจะได้รับความพ่ายแพ้ และพวกท่านจงอย่าหลบหนี" (เอกสาร ฯ หน้า ๕๐)
                "ศัตรูทุกซอกทุกมุม และในประเทศใกล้เคียงของท่าน และจงฆ่าเสียเพื่อให้คนนอกศาสนารับรู้ว่า คนอิสลามก็มีพลังอำนาจในโลก เช่นเดียวกัน (เอกสาร ฯ หน้า ๕๑)
                การกระทำการของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในขณะนี้ ไม่ต่างกับความก้าวร้าวรุนแรงของกลุ่มคอวาริจญ์ ในประวัติศาสตร์อิสลาม
                โดยข้อเท็จจริงแล้ว บทบัญญัติจากคัมภีร์กุรอานข้างต้น ๒:๑๙๐ และ ๒:๑๙๑ เป็นบทบัญญัติที่ผู้อ่านจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ (อัซบาบุลซุล) ของที่มาแห่งบทบัญญัตินี้ว่า ในขณะนั้นมุสลิมอยู่ในสภาพการณ์เช่นไร และเป้าหมายของบุคคลที่ถูกกล่าวถึงนั้นคือใคร มิฉะนั้นแล้วการนำบทบัญญัติเหล่านี้ ไปอ้างอย่างขาดการอธิบายที่เหมาะสม จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง แนวความคิดก้าวร้าวไร้เหตุผลอย่างพวกคอวาริจญ์นี้ เป็นหน้าที่ของมุสลิม และบรรดาผู้รู้จะต้องช่วยกันสกัดกั้น ไม่ให้ขยายผลไปสู่สังคมอีกต่อไปต้องหยุดความเชื่อ หรือทัศนะที่ยกย่องว่าพวกที่ก่อความไม่สงบ ด้วยพฤติกรรมโหดเหี้ยม ก้าวร้าวเช่นนี้ว่าเป็น "ชะฮีด" เพราะพฤติกรรมเช่นนี้งมงาย และกระทำการสิ่งที่อุตริ (บิดอะฮ์) และเป็นชิริคเช่นนี้ จะเป็นชะฮีดตามทัศนะของอิสลามไม่ได้