คำสอนที่แท้จริงของอิสลาม
อิสลามกับสันติภาพ ขณะนี้สันติภาพกำลังหลุดลอยไปจากเกือบทุกส่วนของโลก
เป็นที่น่าสังเกตว่า พื้นที่ที่เกิดความรุนแรงส่วนใหญ่
เป็นดินแดนที่มุสลิมอาศัย นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคนมองอิสลามว่า
เป็นศาสนาที่ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง โหดร้ายขึ้นอาจ ก่อให้เกิดทัศนคติเชิงลบต่อมุสลิมโดยทั่วไป
ต้องเข้าใจว่าอิสลามเป็นศาสนาที่ถือเอาสันติภาพเป็นแกนสำคัญในการดำรงอยู่ซึ่งได้ประกาศเจตนารมณ์ตั้งแต่ต้น
เมื่อ ๑,๔๐๐ กว่าปีก่อน
"เรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่อการอื่นใดนอกจาก เพื่อเป็นเมตตาธรรมแก่สากลจักรวาล"
(๒๑ :๑๐๗)
ในกุรอานอันเป็นธรรมนูญชีวิตของผู้ศรัทธา และในประมวลจริยวัตรของท่านนบี จึงมีหลักคำสอน
ที่มุ่งสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพ อิสลามเชื่อว่า ชีวิตของคน ล้วนเกิดจากบิดามารดาเดียวกัน
จากนั้นก็ได้ทำให้วงศ์วานของคน แผ่ขยายออกไป เกิดเป็นความแตกต่างทั้งรูปร่างภาษา
สีผิวและวัฒนธรรม ดังที่ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์กุรอานว่า
"มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงแล้วเราสร้างพวกเจ้ามาจากชายหนึ่ง และหญิงหนึ่ง เราทำให้พวกเจ้าแตกกอ
เป็นชนชาติหลากหลาย และเผ่าพันธุ์นานา เพื่อพวกเจ้าจะได้สานไมตรีต่อกัน ผู้ทรงความประเสริฐสุด
ณ อัลลอฮ์คือ ผู้ที่ยำเกรงอัลลอฮ์สูงสุดอัลลอฮ์นั้นหยั่งรู้ และตระหนักดียิ่ง"
(๔๙:๑๓)
อิสลามกำหนดสิทธิมนุษยชนว่า ทุกชีวิตที่เกิดมาล้วนได้รับเกียรติจากอัลลอฮ์
การทำลายเลือดเนื้อที่ก่อรูปเป็นชีวิต
เป็นสิ่งต้องห้าม ยกเว้นผู้ก่อกรรม ที่ควรถูกลงโทษถึงชีวิต ผู้ใดทำลายชีวิตหนึ่ง
โดยไร้เหตุอันควร ก็เท่ากับได้ทำลายชีวิตแห่งมนุษยชาติทั้งมวล และผู้ใดช่วยชีวิตหนึ่ง
ก็เท่ากับช่วยชีวิตแห่งมนุษยชาติทั้งมวล ได้ไม่ว่าชีวิตนั้นจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม
หลักการนี้ได้รับการปฏิบัติ โดยท่านนบีทั้งต่อมวลมิตร และเหล่าศัตรู เช่น
การที่ท่านทำสัญญาอยู่ร่วมกัน อย่างสันติกับชาวยิว โดยในข้อ ๑๖ แห่งพันธสัญญานี้
ระบุให้มุสลิมต้องมอบความยุติธรรมแก่ชาวยิว เช่นเดียวกับที่มอบแก่มุสลิม ส่วนข้อ
๒๕ เป็นการยอมรับเสรีภาพในการนับถือศาสนาของชาวยิว และสิทธิในการปฏิบัติ ตามความเชื่อของบุคคลทั้งนี้
โดยต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
ท่านนบีได้ทำสัญญาดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรกับชาวยิว ในปี ฮ.ศ.๑ (ค.ศ.๕๗๙)
ระหว่างมุสลิม ที่อพยพมาจากเมืองมักกะฮ์ (มุฮาญีรีน) กับมุสลิมที่อยู่ในเมืองมะดีมะฮ์มาก่อน
(อันศอร) ในปี ฮ.ศ.๒ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันของคนที่นับถือศาสนาต่างกัน
จึงได้กำหนดไว้ในธรรมนูญแห่งรัฐขึ้น เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนในชาติ
บนความแตกต่างทางศาสนา เป็นการนำหลักการพหุนิยมทางสังคมมาใช้
ท่านนบีได้ปฏิบัติตามพันธสัญญานี้อย่างเคร่งครัด
จนชาวยิวเองที่เป็นผู้ละเมิดสัญญานี้
เมื่อเกิดการศึกสงครามขึ้นแล้ว หากฝ่ายศัตรูยื่นข้อเสนอ เพื่อสันติภาพหลักแห่งกุรอาน
ก็บัญญัติให้มุสลิมรับข้อเสนอนั้น แม้จะเห็นว่าการยื่นข้อเสนอดังกล่าว จะเป็นเพียงกลลวงก็ตาม
ดังที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์กุรอานว่า
"และแม้นพวกเขาโน้มเอียงสู่สันติภาพ พวกเจ้าก็จงโน้มตามเถิดแล้ว จงมอบหมายความเป็นไปต่ออัลลอฮ์
ออัลลอฮ์ได้ยิน และรู้ดียิ่ง และหากแม้นพวกเขาคิดหลอกลวงเจ้า เจ้าก็มีอัลลอฮ์เป็นที่พึ่ง
ซึ่งพอเพียงอยู่แล้วอัลลอฮ์คือ ผู้เพิ่มพลังพวกเจ้าด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮ์
และด้วยผู้ศรัทธา" (๘:๖๑ - ๖๒)
"บางทีอัลลอฮ์อาจก่อความรักขึ้นระหว่างพวกเจ้า กับกลุ่มคนที่พวกเจ้าเคยเห็นเป็นศัตรูมาก่อนอัลลอฮ์นั้น
สามารถอีกทั้งเปี่ยมด้วยการอภัยและเมตตา" (๖๐ :๗) อัลลอฮ์มิได้จำเพาะว่าความรักนั้น
เกิดเพราะความเหล่านั้น มีศรัทธาในอัลลอฮ์ เช่นเดียวกับมุสลิม แต่ความรักอาจเกิดเพราะท่าทีเปลี่ยนไปจากความเป็นศัตรู
สู่การเป็นผู้ช่วยเหลือ
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในทัศนะของอิสลามอิสลามถือว่าบุคคล
มีเสรีภาพที่จะเลือกทางเดินของตนเอง และจะต้องรับผิดชอบต่อทางที่ตนเลือก การเป็นมุสลิมที่สมบูรณ์ต้องเกิดเนื่องแต่ความศรัทธา
และเห็นพ้องมิใช่เกิดจากการบังคับขู่เข็ญ ดังที่คัมภีร์กุรอ่านกล่าวว่า
"แม้นพวกเขารับอิสลาม ก็ได้ทางนำไป แต่แม้นพวกเขาผลักไส ตัวท่านนบีก็มีหน้าที่เพียง
เผยแพร่สร้างความเข้าใจเท่านั้น" (๓:๒๐) เมื่ออิสลามให้เสรีภาพแก่บุคคลเช่นนี้แล้ว
ควรหรือที่มุสลิมจะถือว่า ผู้มีอุดมการณ์ต่างจากตนทั้งหมดคือ ศัตรูที่จะต้องห้ำหั่นประหัตประหาร
และจริงหรือที่ผู้ปฏิเสธทุกคน ล้วนต้องถูกประณามสาปแช่ง หากพิจารณาคำสอนจากกุรอาน
จะพบการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างมนุษย์ แม้จะแตกต่างในเรื่องศาสนาก็ตาม
ดังที่คัมภีร์กุรอ่านว่า
"อัลลอฮ์ มิได้ห้ามพวกเจ้าในอันที่จะทำดี และให้ความยุติธรรมกับบรรดา ผู้ซึ่งมิได้ทำสงครามเข่นฆ่า
พวกเจ้าในเรื่องศาสนา และไม่ได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากถิ่นฐาน ที่พวกเจ้าอยู่อาศัย
อัลลอฮ์รักผู้มีความเป็นธรรม" (๖๐:๘)
ผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้ระบุว่าไม่พบอายะฮ์ (บทบัญญัติ) ใด ที่กล่าวถึงผู้ปฏิเสธว่า
เป็นศัตรูของอัลลอฮ์ เพียงเพราะการปฏิเสธนั้น ที่พบคือ กุรอาน
จำกัดความเป็นศัตรูไว้เพียงสองรูปแบบคือ
๑. ซาตานหรืออิบลีส
เป็นศัตรูของมนุษย์โดยทั่วไป
๒. ผู้ปฏิเสธที่ตั้งตนเป็นอริกับอิสลาม
ถือเป็นศัตรูของอัลลอฮ์ ซึ่งย่อมหมายรวมถึงศัตรูกับนบี และมุสลิมทั่วไปด้วย
จากการศึกษาคำกล่าวของท่านนบี ก็จะพบข้อบ่งชี้ในลักษณะเดียวกันนี้ และอาจเพิ่มเติมบุคคลที่จงใจกล่าวเท็จ
ในเรื่องของอัลลอฮ์อีกประเภทหนึ่งด้วย
หน้าที่ของมุสลิมจึงต้องปฎิบัติต่อบุคคลที่มิใช่มุสลิมอย่างเหมาะสม กับท่าทีที่ได้รับจากอีกฝ่ายหนึ่ง
ยิ่งกว่านั้นควรตอบสนองด้วยคุณความดีมากกว่าที่ได้รับ และเมื่อสิ่งที่ประเสริฐสุดในความเป็นมุสลิมก็คืออิสลาม
มุสลิมจึงมีหน้าที่ต้องนำเสนออิสลามอันแท้จริงต่อคนทั่งไป ที่ยังไม่เข้าใจด้วยรูปแบบและวิธีการอันสวยงาม
มิใช่การข่มขู่คุกคาม และหากผู้นั้นเลือกที่จะปฎิเสธอัลลอฮ์โดยไม่คิดเบียดเบียนและทำลายอิสลาม
โทษทัณฑ์ของการปฎิเสธ
ก็เป็นเรื่องที่อัลลอฮ์จะจัดการเอง
ความหมายของคำว่า มุนาฟิกมุนาฟิก เป็นภาษาอาหรับหมายถึง
คนกลับกลอกใช้เรียกคน ที่แสร้งทำเป็นศรัทธาในอิสลาม แต่ใจจริงไม่เป็นเช่นนั้น
และยังคอยมุ่งร้าย และทำลายอิสลามอยู่ตลอดเวลา
จากหะดิษหนึ่งกล่าวว่า ท่านนบี ได้ตำหนิคนผู้หนึ่งอย่างรุนแรง ในกรณีที่เขาได้สังหารชายผู้หนึ่ง
ระว่างสงคราม แม้ชายผู้นั้นจะกล่าวปฎิญาณ ยอมรับอิสลามแล้วก็ตาม เหตุผลที่เขาสังหารก็คือ
ชายผู้นั้นกล่าว ปฎิญาณเพียง เพื่อหลีกหนีการถูกสังหาร เท่านั้น แต่ท่านนบีไม่ยอมรับเหตุผลดังกล่าว
และได้ถามเขาเป็นเชิงตำหนิว่า "เจ้าสามารถผ่าอกเขาเพื่อดูว่าเขาพูดจริงหรือไม่กระนั้นหรือ
?" นอกจากนั้นท่านนบียังถามผู้ที่กระซิบบอกว่า จะสังหารชายคนหนึ่งว่า "ชายผู้นั้นละหมาดอยู่มิใช่หรือ"
ผู้นั้นตอบว่าใช่ ท่านนบีจึงบอกว่า "คนเหล่านั้นคือ ผู้ที่ฉันถูกห้ามมิให้ฆ่า"
ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ว่า อิสลามจะสั่งการให้สังหารมุสลิมที่รักษาละหมาด
จ่ายซะกาต และถือศีลอด เพียงเพราะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับศาสนิกอื่น
ความเห็นของผู้เขียนเอกสาร ฯ ที่ถือเอาผู้ที่คิดเห็นแตกต่างจากตนเป็นมุนาฟิก
และต้องฆ่าทั้งหมด จึงเป็นความเห็นสุดขั้วที่ห่างไกลหลักคำสอนของอิสลาม ในคัมภีร์กุรอานมีว่า
"พวกเจ้าอย่าได้ฆ่าชีวิตซึ่งอัลลอฮ์หวงห้ามไว้
ยกเว้นโดยความชอบธรรมเท่านั้น" และผู้ใดถูกฆ่าโดยมิชอบ
เรา (อัลลอฮ์) จะให้ผู้ปกครอง (หรือทายาท) ของเขามีอำนาจ (เหนือฆาตกร) ดังนั้น
อย่าได้ฆ่าโดยเลยเถิด
ที่จริงแล้ว เขาจะได้รับการช่วยเหลือ (ให้สามารถลงโทษฆาตกรได้) อย่างแน่นอน"
(๑๗:๓๓)
คุณค่าของชีวิตในทัศนะของอิสลาม
ชีวิตทั้งหลายบนโลกกำเนิดขึ้นโดยอัลลอฮ์ ชีวิตใดกำเนิดมาแล้ว ก็มีความศักดิ์สิทธิ์
และมีหน้าที่ในการตอบสนอง ความประสงค์ของอัลลอฮ์ ในการดำรงอยู่ การทำลายล้างชีวิต
จึงเป็นการก้าวล่วงในอำนาจของอัลลอฮ์ ที่ผิดอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ในกุรอานมีว่า
"ด้วยเหตุ (การที่ฆ่ากันระหว่างมนุษย์มักนำมาแต่ความหายนะ) ดังกล่าวเราจึงได้กำหนดไว้แก่วงศ์วานแห่งอิสรออีลว่า
ผู้ใดสังหารชีวิตหนึ่งโดยมิได้เกิดจากมูลเหตุที่ชีวิตนั้นไปฆ่าผู้อื่นมาก่อนหรือด้วยมูลเหตุที่ชีวิตนั้นได้ก่อความเสียหายขึ้นบนแผ่นดิน"
(๕:๓๒)
เมื่อพิจารณาจากคำกล่าวของท่านนบี ในประเด็นนี้ว่า
"เลือดของบุคคลที่ปฎิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และอันเป็นศาสนฑูตของอัลลอฮ์
จะไม่เป็นที่อนุญาต (ให้ผู้ใดล่วงละเมิด) ยกเว้นด้วยสาเหตุหนึ่งในสามประการคือ
คนที่ผ่านการแต่งงานแล้ว แต่ยังประพฤติผิดประเวณี ชีวิตที่ต้องแลกด้วยชีวิต
และคนที่ละทิ้งศาสนาของตน อีกทั้งแยกตัวไปจากประชาคม" (หะดีษบุคคอร์ : ๖๘:๘)
การชี้ว่า ผู้ใดทำความผิดตามนัยแห่งหะดีษ จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาสอบสวนอย่างละเอียดถี่ถ้วน
โดยมีอำนาจหน้าที่ซึ่งได้แก่ ผู้พิพากษา (กอฎิ)
ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างถูกต้อง หรือจากผู้นำของมุสลิม ที่ดำรงตำแหน่งอย่างชอบธรรม
ตามหลักศาสนาเท่านั้น ในกระบวนการพิจารณาความผิดตามหลักอิสลามนั้น หากปรากฎข้อเคลือบแคลงเพียงเล็กน้อย
จนทำให้หลักฐานที่มีอยู่ ไม่อาจยืนยันความผิดได้เพียงพอ ก็ต้องละเว้นการลงโทษทันที
การกล่าวโทษผู้อื่นว่าทำผิด โดยคิดเอาเอง และยังตัดสินประหารชีวิตผู้อื่นด้วยตนเองอาจนำไปสู่การหลั่งเลือด
ผู้บริสุทธิ์เป็นสิ่งต้องห้ามร้ายแรง ดังปรากฎในกุรอานว่า
"ผู้ใดฆ่าศรัทธาชนโดยเจตนา (และโดยมิชอบ) ผลตอบแทนที่จะได้รับคือ นรกญะฮันนัม
ซึ่งเขาจะคงอยู่ในนั้นตลอดกาล ยิ่งกว่านั้น อัลลอฮ์โกรธ สาปแช่งเขา และเตรียมทัณฑทรมานอันเจ็บแสบแก่เขาด้วย"
(๔:๙๓)
แม้บทบัญญัติดังกล่าว พูดถึงการฆ่ามุสลิม
ก็มิได้หมาบความว่า ถ้ามิใช่มุสลิมก็อนุญาต ให้ฆ่าได้ตามชอบใจ ทั้งนี้เพราะเพียงการปฎิเสธอัลลอฮ์
ย่อมมิใช่มูลเหตุที่จะต้องเข่นฆ่า แต่การทำเช่นนั้นได้ต้องมีเหตุปัจจัยอื่น
ๆ ประกอบอีกมาก
ความศักดิ์สิทธิ์ของเลือดเนื้อ และชีวิตปรากฎในคำกล่าวอันแสดงความห่วงใยของศาสนฑูต
(นบี) ในคราวที่ได้สอนผู้คนนับแสนที่รวมตัวกัน ณ ทุ่งอะรอฟะฮ์เพื่อประกอบพิธีฮัจย์
ครั้งสุดท้ายของ นบี
"แท้จริง เลือดเนื้อของพวกเจ้า และทรัพย์สินของพวกเจ้า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องห้ามทำลาย
ดุจเดียวกับความศักดิ์สิทธิ์ของวันนี้ (วันอะรอฟะฮ์) ในเดือนนี้ (เดือนซุลฮิจญะฮ์)
และในเมืองนี้ (เมืองมักกะฮ์)
ทัศนะของอิสลามในเรื่องไสยศาสตร์ คัมภีร์กุรอาน
ได้กล่าวถึงไสยศาสตร์ไว้ว่า
"คนเหล่านั้นเชื่อตามสิ่งที่ซาตานได้อ่านอ้างแก่อาณาจักรของสุลัยมาน ความจริงสุลัยมานมิได้เนรคุณต่ออัลลอฮ์เลย
แต่เหล่าซาตานต่างหากที่เนรคุณ พวกมันสอนไสยศาสตร์แก่มนุษย์และสอนสิ่งที่มลาอิกะทั้งสองคือ
ฮารูต และมารูต ได้รับที่บาบิล มลาอิกะฮ์ทั้งสองจะไม่สอนแก่ใครจนกว่าจะได้แจ้งให้ผู้เรียนทราบว่า
เราทั้งสองนี้เป็นบททดสอบจากอัลลอฮ์ดังนั้น พวกท่านอย่าหลงผิดไปเนรคุณต่ออัลลอฮ์เลย
แต่แล้วคนเหล่านั้นกลับร่ำเรียนคุณไสย ที่จะใช้ในการแยกระหว่างสามีกับภรรยา
ความจริงพวกเขาไม่สามารถใช้คุณไสยทำอันตรายผู้ใดได้ ยกเว้นโดยอนุมัติจากอัลลอฮ์เท่านั้น
สิ่งที่พวกเขาร่ำเรียนนั้น เป็นภัยร้ายแรง และไม่สร้างคุณประโยชน์ พวกเขารู้อยู่แก่ใจว่าใครที่แลกเอาสิ่งนั้นมาในภพหน้าเขาจะไม่ได้รับส่วนแบ่งใด
ๆ เลย สิ่งที่พวกเขาได้มาโดยเอาตัวเข้าแลกนี้ช่างเลวร้ายยิ่งนักหากพวกได้รู้"
(๒:๑๐๒)
จากเนื้อหาของบทบัญญัตินี้ อาจสรุปได้ดังนี้
๑. ไสยศาสตร์มีอยู่จริงตั้งแต่อดีตกาลมาแล้ว แต่ต้องตระหนักว่า ในเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนไม้เท้าของท่านนบีมูซา
(โมเสส) ไปเป็นงูนั้นมิใช่ไสยศาสตร์ หากแต่เป็นปาฎิหาริย์ที่อัลลอฮ์บันดาลให้เกิดขึ้น
โดยสวนทางกับกฎธรรมชาติ
๒. ไสยศาสตร์อาจให้คุณหรือให้โทษได้
๓. คุณหรือโทษจากไสยศาสตร์นี้เป็นไปโดยอนุมัติจากอัลลอฮ์
๔. ไสยศาสตร์นำไปสู่การกุฟร์ หรือเนรคุณ
ผู้เขียนเอกสารการต่อสู้ที่ปัตตานี ยังขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความหรืออธิบายความบทบัญญัติต่าง ๆ ในคัมภีร์กุรอาน
จากเอกสารดังกล่าว แสดงให้เห็นถึง อันตรายอย่างยิ่ง ต่อศาสนาอิสลาม ที่นำเอาบทบัญญัติต่าง
ๆ ในคัมภีร์กุรอานไปตีความเอาเอง เพื่อความเข้าใจผิด ลุกลามออกไปสู่สังคม
กลายเป็นความคิดที่ก้าวร้าว
รุนแรง และงมงาย
การเรียนการสอนไสยศาสตร์ ต้องดูที่เจตนารมณ์ หากมีเจตนาดี เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้รอดพ้นภัยพิบัติ
ก็เป็นสิ่งที่อนุญาตให้ทำได้ หากเป็นไปโดยเจตนาร้าย ก็เป็นสิ่งต้องห้าม |