|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร
เมื่อสองปีที่แล้วผมเขียนเรื่องของศูนย์ศิลปาชีพบางไทรมาครั้งหนึ่งแล้ว คราวนี้ปลายปี ๒๕๔๓ ผมไปเที่ยวอีกแต่ไปทางเรือ ไปแล้วก็ตื่นตาตื่นใจ ชื่นชมในผลงานตามโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ จึงขอเขียนอีกสักครั้งเพื่อเทิดพระเกียรติ และเชิญชวนพวกเราไปเที่ยวกัน ศูนย์ศิลปาชีพ ฯ วันนี้แตกต่างไปกว่าเมื่อสองปีที่แล้วทุกด้าน ไม่ว่าความงดงาม งานศิลปาชีพทั้งที่ตั้งไว้เป็นนิทรรศการ และนำออกจำหน่าย สวนนก รถไฟเล็ก (ความจริงคือรถไถนา ครอบเอาไว้ด้วยร่างของหัวรถจักร) ที่จะพาขบวนนักท่องเที่ยว เที่ยวชมบริเวณศูนย์ ฯ ซึ่งหากเดินเที่ยวชมเองคงหมดสนุก สู้นั่งรถไฟเล็กขึ้นฟรีเที่ยวไม่ได้ อยากลงดูตรงไหนก็ลงดู อยากลงกินอะไร ซื้ออะไรที่ไหนก็ลงได้เลย แล้วรอขึ้นขบวนต่อไปกลับไปยังจุดหมายเดิม หรือที่หมายใหม่ได้ต่อไป เพราะ "ขึ้นฟรี" กี่เที่ยวก็ฟรีทั้งนั้น
ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อยู่ในโครงการศิลปาชีพพิเศษ ตามโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจน และมีรายได้น้อย
เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยมีพระราชวินิจฉัยว่า บริเวณที่ตั้งต้องไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร และยังไม่ห่างจากพระราชวังบางปะอินอีกด้วย
ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อยู่ในเขตอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดครั้งแรกเพื่อฝึกอบรมช่างฝีมือ และหัตถกรรมมี ๑๖ แผนก เมื่อฝึกอาชีพแล้วเกิดผลผลิตขึ้นก็มีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำสำเร็จแล้ว (ปัจจุบันสร้างใหม่แล้ว) และยังมีกรงนกที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาพันธุ์นกต่าง ๆ ที่หายากของเมืองไทย ตลอดจนร้านอาหารสำหรับบริการนักท่องเที่ยว
ที่กล่าวมาคือจุดประสงค์ดั้งเดิมเมื่อมีพระราชดำริที่จะสร้างขึ้น
การเดินทางไปศูนย์ศิลปาชีพบางไทร
ทางรถยนต์สะดวกที่สุด เพราะหากมีรถหรือรวมกันได้จะไปเมื่อไรก็ไปได้ทันที ง่ายกว่าการรวมเพื่อไปทางเรือ แต่ความสนุกสนานจะแตกต่างกับการไปทางเรือ
เส้นทางแรก
เส้นทางดั้งเดิม คือไปตามถนนพหลโยธิน ไปจนเลยประตูน้ำพระอินทร์ไปอีก ๔ กิโลเมตร ประมาณกิโลเมตร ๕๔ แล้วแยกซ้ายไปหน่อย ก็แยกซ้ายอีกทีไปทางบางปะอิน ๖ กิโลเมตร จะถึงบางปะอิน และจากบางปะอินจะไปอีก ๑๗ กิโลเมตรรวมระยะทางเส้นนี้ประมาณ ๗๐ กิโลเมตร
เส้นทางที่สอง
ซึ่งสมัยนี้น่าจะไปตามเส้นทางนี้คือไปถึงรังสิตแล้วแยกซ้ายไปทางสามแยกบางพูล แล้วเลี้ยวขวาไปทางปทุมธานี พอเลี้ยวไปหน่อยเดียวก็เลี้ยวขวาอีกที เข้าถนนสายที่ตัดไปผ่านหลังสนามกีฬาธรรมศาสตร์ ไปออกอยุธยา ไปตามเส้นนี้จะพบทางแยกซ้ายเข้าสู่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ระยะทางใกล้เคียงกันแต่น่าจะเร็วกว่าเส้นทางแรก และหากเชี่ยวชาญเส้นทางยังสามารถแยกเข้าซอยเล็กซอยน้อยตัดไปได้อีกหลายทาง
ทางเรือ
มีเรือทัศนาจร หลายบริษัทด้วยกัน ผมจำไม่ได้ว่ามีของใครบ้าง แต่ของเรือด่วนเจ้าพระยานั้นมีแน่ ไปเที่ยวได้ถึงบางปะอินเลยทีเดียว มีประจำทุกวัดอาทิตย์ ต้องลองสอบถามดูเพราะผมยังไม่เคยไปกับเขา
คราวนี้ผมไปทางเรือ แต่เป็นเรือทัศนาจรของคณะเดียวกันจึงสนุกสนานดี เป็นเรือของชลประทานซึ่งพวกเราในคณะที่ไป รุ่นเดียวกับเลขาตลอดกาลของผม ท่านเป็นชั้นผู้ใหญ่ของกรมชล เรือ รถ นั้นจะต้องลองเครื่อง จะจอดทิ้งไว้เฉย ๆ ไม่ได้ เช่นรถของทหารต้องติดเครื่องยนต์ทุกเช้า เรียกว่าการทำ มอเตอร์ สเตบิล เรือก็เช่นกันต้องมีการวิ่งทางไกลเพื่อลองเครื่อง ยิ่งเรือลำที่ไปวันนี้นั้นเป็นเรือของท่าน พล.อ.เจ้าพระยารามราฆพ ท่านขายให้กรมชลประทานเมื่อ ๗๐ ปีผ่านมาแล้ว แต่สภาพเรือยังเยี่ยมยอด เป็นเรือสองชั้น ชั้นล่างมีห้องเอนกประสงค์ และห้องสุขาชั้นดี พื้นเรือเป็นไม้ขัดมันปราบเลยทีเดียว เมื่อเรือลำนี้ออกทดลองวิ่ง ก็ขอเรือและออกค่าน้ำมัน ค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ของเรือให้ แต่เราอาศัยนั่งไปด้วย นำอาหารไปจากกรุงเทพ ฯ เอาไป ๒ มื้อ คือมื้อเช้าและมื้อกลางวัน
เรือออกจากท่าเรือของกรมชลประทานที่สามเสน เมื่อเวลาประมาณ ๐๗.๐๐ พอเรือออกก็เริ่มอาหารเช้าที่เตรียมไป มีข้าวต้มเครื่อง กาแฟ ปาท่องโก๋ แค่นี้ก็อิ่มสบายไปแล้ว และทุกคนที่ไปก็ล้วนแต่สูงอายุทั้งสิ้น จะต้องกังวลเรื่องห้องสุขา แต่การไปกับเรือลำนี้ ไม่ต้องห่วงเรื่องห้องสุขาเพราะสะอาด เป็นสากลคนหนุ่ม คนสาว คนเฒ่า ใช้ได้สะดวกหมด
จุดแรกที่เรือจอดให้ขึ้นฝั่งคือ
ท่าน้ำวัดเฉลิมพระเกียรต
ที่นนนทบุรี ซึ่งผมเพิ่งเขียนถึงวัดเฉลิมพระเกียรติ และสวนเฉลิมกาญจนาภิเษก ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ทบทวนให้อีกทีว่าเริ่มตั้งแต่ชมบริเวณหน้าวัด หรือเดิมคือเป็น
ป้อม
"
ทับทิม
" สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดให้สร้างเป็นวัดแต่ยังรักษาเอกลักษณ์เดิมไว้คือความเป็นป้อม มีกำแพง มีใบเสมา สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่พระอัยกา และพระอัยกีของพระองค์ ชมหน้าวัดมีวังมัจฉา ชมกำแพงวัด แล้วเข้ากำแพงไปชมพระอุโบสถซึ่งสร้างตามราชนิยมของรัชกาลที่ ๓ คือ ไทยปนจีน ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ไปชมพระวิหารศิลาขาวที่อยู่ติดกัน เดินออกหลังพระวิหาร ไปนมัสการ
พระบรมธาตุเจดีย์
และชม "มอ" (เอาหินมาสร้างเป็นภูเขา) ที่มีน้ำตกและเป็นมอที่ใหญ่ที่สุด จากนั้นเดินออกหลังวัด อ้อมไปชมอุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษก
แล้วลงเรือโดยให้เรือรอรับที่ท่าน้ำของอุทยาน ฯ ใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษ
เรือออกแล่นต่อไป ชมบ้าน ชมเรือนสองฝั่งลำน้ำ ที่แปลกหูแปลกตาไปกว่าสมัยก่อนโน้นมากมาย เพราะสิ่งก่อสร้างมากขึ้น ตึกรามบ้านช่องมากขึ้น บ้านแพริมน้ำอย่างนี้เริ่มหายาก แต่ก็ยังเป็นความงดงามตามธรรมชาติที่หาชมไม่ได้ในเมืองกรุง ฯ เรือไปถึง
ท่าน้ำเกาะเกร็ด
ประมาณเวลา ๑๐.๓๐ คราวนี้ใช้เวลานานประมาณเกือบสองชั่วโมง เพื่อเที่ยวชมเกาะเกร็ด เมื่อขึ้นจากเรือมาบนเกาะเกร็ดแล้ว จะมีแต่ทางเดินหรือทางพอให้รถจักรยานวิ่งได้เท่านั้น ไม่มีทางให้รถยนต์วิ่งจึงปลอดมลพิษเป็นอย่างยิ่ง
หากแยกเดินไปทางซ้ายจะไปยังร้านอาหารครัวชาวเกาะ ร้านขนมหวานแม่พยอม และไปสิ้นสุดที่
ท่าน้ำวัดฉิมพลี
หากไปจากท่าน้ำแล้วแยกไปทางขวา จะเริ่มจาก
วัดปรมัยยิกาวาส
เลาะเรื่อยไปตามร้านอาหาร ร้านเครื่องปั้นดินเผา และไปจบที่วัดไผ่ล้อม ลงเรือกันที่ท่าน้ำ
วัดไผ่ล้อม
เพื่อเดินทางต่อ
ผมขอแนะนำที่เกาะเกร็ดไว้ด้วย เพราะเกาะเกร็ดนั้นประชาชนส่วนใหญ่ล้วนมีเชื้อสายมอญแทบทั้งสิ้น วัดปรมัยยิกาวาส จึงเสมือนวัดที่สำคัญที่สุดของชาวมอญ มีการศึกษาภาษาบาลีเป็นภาษารามัญตั้งแต่ยังชื่อว่าวัด "ปากอ่าว" ก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็นวัดปรมัยยิกาวาส (นามพระราชทาน) ทุกวันี้ยังมีการทำวัตรสวดมนต์ การทำอุโบสถสังฆกรรม การเจริญพระพุทธมนต์ทั่วไป การอุปสมบท ล้วนเป็นภาษารามัญหรือรักษาแบบธรรมเนียมรามัญเอาไว้
ในเกาะเกร็ดมีวัดอยู่ ๖ วัดคือ
๑.
วัดปรมัยยิกาวาส
ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญ มีพิพิธภัณฑ์ที่ควรชมอย่างยิ่งอยู่ด้วย
๒.
วัดไผ่ล้อม
มีโบสถ์ที่งดงาม ลายหน้าบันจำหลักเป็นลายไม้ดอก หน้าโบสถ์มีเจดีย์ขนาดย่อม ๒ องค์ รูปทรงแปลกมาก ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง มอญเรียกว่า "เพียะโต้"
๓.
วัดเสาธงทอง
เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อว่า วัดสวนหมาก มีเจดีย์ย่อมุมสิบสองอยู่หลังโบสถ์ มีเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารโดยรอบ มอญเรียกว่า "เพียะอาลาด"
๔.
วัดฉิมพลี
มีโบสถ์ขนาดเล็กที่งดงาม หน้าบันจำหลักเป็นรูปเทพทรงราชรถ ล้อมรอบด้วยดอกไม้ มีตุ๊กตาหินอ่อน ยุคจีนโบราณขนาดใหญ่ อยู่ข้างกำแพงประตูโบสถ์
๕.
วัดป่าเลย์ไลย์
ปัจจุบันเป็นวัดร้าง และไปอยู่รวมกับวัดฉิมพลี คงเหลือโบสถ์ไว้ให้เห็น แต่สภาพโดยทั่วไปยังดี เพดานโบสถ์เขียนลายทองงดงาม พระประธานเป็นพระปางมารวิชัยสัมฤทธิ์ บานประตูลายทองรดน้ำ
๖.
วัดศาลากุน
เป็นวัดเก่าเช่นกันเดิมอยู่ริมน้ำ ภายในวัดมีเครื่องแก้ว เครื่องมุก และหีบศพทำด้วยมุก
อยากคุยเรื่องอาหารของเกาะเกร็ดไว้สักนิด เพราะเพิ่มมากขึ้นจากการไปครั้งที่แล้วอย่างมากมาย หากจะให้ผมคุย ก็ผมเชื่อว่าที่ผมเขียนไปนั้นมีผล เพราะผมเคยบอกว่าอะไรที่ลงท้ายด้วยคำว่า " กลา " ต่อชื่ออาหารให้ชิมให้หมด คราวนี้อาหารทำจากหน่อกลามีมากมาย หากวนขวาของเกาะจะพบแยะ เช่นทอดมันหน่อกลา มีหลายเจ้า และเจ้าหนึ่งทางซ้ายของทางเดินมีตรา ที.วี. ช่องต่าง ๆ ชิมไว้ และสาวเจ้าถึงกับบอกว่าหากมาเกาะเกร็ดไม่ได้ชิมทอดมันหน่อกลาของเขาแล้ว เหมือนมาไม่ถึงเกาะเกร็ด นอกจากนั้นยังมีพวกกาแฟสด น้ำผลไม้ใส่ถ้วยปั้นดินเผาแก้วละ ๑๕ บาท ซื้อแล้วแถมแก้วให้เอากลับบ้านได้เลย
"เก๋ดี" ข้าวแช่ ขนมจีน ข้าวแกง จิปาถะ อาหารมีมากมายให้ชิม ผมจะไปใหม่ไปดูวัดให้ละเอียดกว่านี้ เพราะเคยดูละเอียดแต่ที่วัดปรมัยยิกาวาสแห่งเดียว คราวนี้จะไปตระเวนหลาย ๆ วัด เอากันให้ทั่วไปเลย
จบชิมของว่างเข้าไปค่อนกระเพาะก็กลับมาลงเรือ ที่มาจอดรอที่วัดไผ่ล้อม เพื่อออกเดินทางไปยังศูนย์ศิลปาชีพบางไทรต่อ ตามลำน้ำเจ้าพระยา มีการดูดทรายโดยเรือจากลำน้ำหลายแห่ง และจะมีมากมายหลายสิบลำตรงหน้าศูนย์ เพื่อดูดเอาทรายถมมาถมที่ดินของศูนย์ยื่นต่อเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งกรมเจ้าท่าและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมกันดีหรือเปล่า ระวังจะลามไปถึงขั้นดูดเอาไปขายตลิ่งจะพังลงมา
อาหารกลางวัน จ้างเหมาเขามาเตรียมไว้ในเรือเรียบร้อยแล้ว มีแกงเขียวหวาน ลูกชิ้นปลากราย ห่อหมก หมี่กรอบ หมูปิ้ง ขนมจีน และอีกหลายอย่างอร่อย ๆ ทั้งนั้น ของหวานก็เป็นผลไม้ ขนมชั้น ตะโก้ และบัวลอย กินกันจนพุงกางยังไม่หมด จะรอเอาไว้รอบบ่ายได้อีกรอบ แต่พอถึงเวลาเข้าจริง ๆ มีคนช่วยกินหมดแล้ว
ถึงท่าน้ำศูนย์ศิลปาชีพบางไทรเอาเกือบบ่ายสามโมง พอขึ้นจากท่าเรือทางขวาของแพ มีเรือก๋วยเตี๋ยวอยู่ลำหนึ่ง จอดอยู่ตรงโป๊ะเลยทีเดียว เข้าใจว่าเจ้าเก่าดั้งเดิมซึ่งจะอร่อยมาก วันนี้ยังไม่มีพุงจะชิม อาฆาตเอาไว้ก่อนเพราะอาหารในเรือ แย่งที่ในพุงเอาไปหมดแล้ว ต้องเดินเที่ยวเสียก่อน ที่ท่าเรือเขาตั้งโต๊ะเก็บค่าผ่านเข้าชมคนละ ๕๐ บาท อย่านึกว่าแพง เข้าไปชมเสียก่อนแล้วจึงจะบอกว่าคุ้มค่า เก็บบัตรไว้ดี ๆ จะได้เดินกลับออกมากินก๋วยเตี๋ยวได้ อาคารใหญ่ตรงหน้าห่างออกไปสัก ๑๐๐ เมตร คือ
ศาลาศูนย์ศิลปาชีพ
สร้างแบบทรงไทยประยุกต์ น่าจะเป็นเช่นนั้น งดงามกว้างขวางมาก เปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำเฉพาะวันหยุด วันธรรมดา คนเข้ามาชมน้อย ค่าไฟมหาโหดตกวันละ ๘,๐๐๐ บาท จึงต้องเปิดเฉพาะวันที่มีคนเข้ามาชมกันมาก เช่นเสาร์ อาทิตย์ เป็นต้น
ผมยังไม่ได้เข้าชม ผมยืนรอรถไฟที่เอาร่างของรถไฟเล็กครอบเอาไว้ แล้วพ่วงรถพ่วงอีกหลายคัน นั่งหันหน้าเข้าหากัน น่าจะให้นั่งหันไปข้างหน้าทางเดียวจะดีกว่า รถวิ่งวนไปทางซ้ายผ่านร้านอาหารต่าง ๆ ผ่านบ้านเรือนโบราณ สระน้ำ กรงนก ล้วนแต่เป็นธรรมชาติที่งดงามทั้งสิ้น รถจอดให้ลงและรับผู้โดยสารใหม่ขึ้นเป็นระยะ ๆ เราชอบใจตรงไหนเราก็ลงไปชม ไปถ่ายรูปกันให้อิ่มเสียก่อน แล้วรอคันหลังเดี๋ยวก็มาอีก ไปชมต่อไป วิธีนี้จะชมได้รอบบริเวณที่ควรแก่การชมของศูนย์ หากไปรถส่วนตัวจะวิ่งรถชมเองก็ได้ แต่ผมว่าสู้นั่งรถไฟแบบนี้ชมไม่ได้ และสุดท้ายจะมาถึงยังกลุ่มสรรพหาร มีสารพัดอาหาร ทั้งข้าว ทั้งก๋วยเตี๋ยวมีหลายสิบร้าน ตลอดจนของขายต่าง ๆ แบบฝีมือชาวบ้าน คงจะชนิดที่ยังไม่ได้คัดเลือกที่เด่นจริง ๆ เหมือนที่ศาลา แต่ก็ขายกันเต็มหมด ขนมแห้งก็แยะ ห้องสุขาก็มีที่ตรงนี้ ลงชิม ลงซื้อเสียก่อน กลับมาขึ้นรถไปต่ออีก ไปจบที่ขึ้นมาตั้งแต่แรกคือที่หน้าศาลาศูนย์ศิลปาชีพ ทีนี้เข้าชมในศาลา
ชั้นล่างเป็นห้องค้า เห็นแล้วจะตกใจว่าฝีมือคนไทยขนาดนี้เชียวหรือ เช่นพวกเครื่องแก้วต่าง ๆ เสียงหลายคนที่คงเคยไปเวนิช ของประเทศอิตาลีมาแล้ว ร้องกันเลยว่า ฝีมือเวนิชแพ้ช่างไทย ซึ่งผมว่าแพ้ไทยมานานแล้ว ความละเอียดจะสู้เราไม่ได้จะเป็นการเป่าแก้ว ทำเครื่องแก้วงดงามทั้งสิ้น เครื่องเบญจรงค์ที่เคยชนะการประกวดระดับชาติมาแล้ว ก็เอามาตั้งแสดงไว้ให้ชม
สินค้าภายในห้องชั้นล่างนี้บรรยายไม่ไหว เพราะมีมากเหลือเกิน ฝีมือช่างไทยทั้งสิ้น ราคาสมกับค่าของสินค้า สวยมาก สวยจริง ๆ จะเป็นผ้าแพรพรรณ กระเป๋าสตรี เครื่องแก้ว เครื่องเบญจรงค์ ล้วนทั้งขนมหวานต่าง ๆ ซื้อกลับมาแล้วจึงรู้ว่าอร่อยเหลือ ถึงต้องกลับไปอีกไปหารายละเอียดเพิ่มเติมเอามาเขียนใหม่ ไปคราวนี้จะไปกันแค่ ๒ - ๓ คน จะได้เก็บรายละเอียดได้เต็มที่ ขนมนางเล็ดก็อร่อย ขนมกงก็วิเศษ สบู่สมุนไพร โดยเฉพาะทำจากใบบัวบก ล้างหน้าได้วิเศษนัก เพราะขจัดไขมันออกหมด ผมเลยทำหนุ่ม ซื้อมา ๒ ก้อน ๆ ละ ๗๐ บาท เอามาใช้เฉพาะตอนล้างหน้าเท่านั้น เพราะกลัวหมดเร็วไปชมเองแล้วจะทราบว่ามีค่าควรแก่การชม การซื้อเพียงใด
ชั้นบน มีห้องนิทรรศการ ๒ ห้อง ซ้ายและขวา ไปดูแก้วที่เป็นเรือสุพรรณหงส์ กับนกยูงรำแพน และไม้แกะสลักเป็นรูปหญิงให้นมลูก ดูแค่นี้ก็คุ้มแล้วไม่ต้องไปดูอีกร้อยชิ้นหรอก จึงขอบรรยายถึงความวิเศษ ความน่าชม เพียงเท่านี้ ซึ่งผมบรรยายยังไม่ได้หนึ่งในร้อย ของความเป็นจริง
จึงขอเชิญชวนไปศูนย์ศิลปาชีพบางไทรกัน ไปกินก๋วยเตี๋ยวเรือในแม่น้ำ หรือก๋วยเตี๋ยวเรือที่มีร้านขายอีกหลายร้านในศูนย์ ไปชิมอาหารดูบ้าง แล้วลองไปซื้อสบู่ใบบัวบกมาขจัดไขมันดู ใบหน้าจะได้งามอ่อนวัย
ผมกลับจากศูนย์ศิลปาชีพบางไทรก็พอดีค่ำ ขึ้นจากเรือที่ท่ากรมชลประทาน แถว ๆ สามเสนเช่นขาลงเรือ จากนั้นก็วิ่งตรงเรื่อยมาจนมาเลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชดำเนินกลาง พอถึงวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งมุมแรกคือ มุมโรงเรียนสตรีวิทยา มุมที่สองคือร้านอาหาร "ร้านวิจิตร" ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่ คงตั้งมานานร่วมสามสิบปีหรือมากกว่านั้น จอดรถหน้าร้านได้ ๑ แถว หากไม่มีให้วิ่งต่อไปนิดหนึ่งแล้วอ้อมไปจอดหลังร้าน
ภายในร้าน จัดร้านสวย เก๋ไก๋เย็นสบายไม่ได้แวะมาชิมเสียหลายปี สภาพร้าน คงดีเยี่ยมเช่นเดิม เลือกนั่งโต๊ะที่ติดกับกระจก มองเห็นคนเดินผ่าน ชาวต่างประเทศเดินผ่านกันแยะทีเดียว
ขึ้นมาจากแม่น้ำเลยสั่งกุ้งเผา เอาชนิดกุ้งแม่น้ำตัวโตเบ้อเริ่ม ราคาตัวละ ๑๙๐ บาท เผาแล้วผ่ามาให้เสร็จ กินสบาย เอามันกุ้งคลุกข้าวสวยร้อน ๆ วิเศษนัก ส่วนน้ำจิ้มของเขาก็มีรสแซ๊บ แต่บางทีผมชอบเอาน้ำปลาพริกมาราดมากกว่า
ของกินเล่นที่สั่งมาก่อนคือ "กระทงทอง" กรอบแทบจะไม่ต้องออกแรงเคี้ยว
ปูจ๋า ไม่ได้ใส่มาในกระดองปู ให้จิ้มด้วยซ๊อสศรีราชา
ก้ามปูนึ่งฮ่องกง คงจะเป็นสูตรฮ่องกง แกะมาเรียบร้อยแกะสะดวก น้ำที่นึ่งมานั้นมากรสดีเยี่ยม ซดน้ำปูเสียเลยแทนแกง รสน้ำหวานนิด ๆ ด้วยความสดของปู และผักที่รวมมานึ่ง
สตูว์ลิ้นวัว ใครที่กินเนื้อได้ อย่าโดดข้ามจานนี้ไปเป็นอันขาด เพราะรสสตูว์ของเขาเข้มข้นนัก ใส่มาทั้งมันฝรั่ง แครอทและถั่วลันเตา เนื้อนุ่มลิ้นเปื่อยได้ที่ ยกมากำลังร้อน ๆ พอเอาช้อนตักชิมน้ำสตูว์ รสอร่อยติดปลายลิ้นทันที ต้องราดข้าวแล้วเหยาะด้วย น้ำปลาพริกจึงจะเด็ดสมใจ จานนี้จานเดียวแล้วสั่งข้าวสวยร้อน ๆ มาก็อิ่มได้แล้ว แต่ผมคนตะกละถึงได้สั่งอาหารมาชิมหลายอย่าง
ปิดท้ายด้วยไอศกรีมสตอเบอร์รี่เยลลี่หวาน เย็นไปทั่วปาก
.........................
|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
บน
|