| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร


            วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดสำคัญยิ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวพุทธหากไปถึงเมืองนคร หากไม่ได้ไปกราบไหว้นมัสการ พระมหาธาตุเจดีย์แห่งเมืองนคร แล้วก็เหมือนไปไม่ถึงเมืองนครฯ วัดพระมหาธาตุนั้นดั้งเดิมไม่มีพระภิกษุอยู่ประจำ เพราะครั้งแรกจัดเป็นเขตพุทธาวาส แต่มีวัดที่พระสงฆ์อยู่อาศัยรอบบริเวณรอบๆ วัดพระมหาธาตุ มีโดยรอบสี่ทิศ คือ
            ทิศเหนือ มีวัดพระเดิม ( ๒ วัดนี้รวมกับวัดพระมหาธาตุฯ แล้ว) วัดโรงช้าง (ร้าง)
            ทิศใต้ มีวัดโคกธาตุ วัดท้าวโครต วัดศพ วัดไฟไหม้ ( ๒ วัดนี้รวมกับวัดท้าวโครต) และวัดชายนา
            ทิศตะวันออก มีวัดดิ่งดง วัดธรรมาวดี และวัดสิงห์ ( ๓ วัดนี้เป็นวัดร้าง) วัดสระเรียง วัดหน้าพระบรมธาตุ และวัดหน้าราหู(รวมเข้ากับวัดหน้าพระบรมธาตุ)
            ทิศตะวันตก มีวัดพระนคร วัดแม่ชี (ร้าง) และวัดชลเฉนียน (ชายคลอง)
            ภายในวัดยังมีโบราณสถาน และโบราณวัตถุ มีพิพิธภัณฑ์มีวิหารสำคัญในวัดคือ
            พระวิหารหลวง เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา
            พระวิหารสามจอม มีพระพุทธรูป "พระเจ้าศรีธรรมโศกราช" ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์
            พระวิหารมหาภิเนษกรรม (พระทรงม้า) นอกจากนี้ยังมีวิหารทับเกษตร วิหารเขียน และวิหารโพธิ์ลังกา ซึ่งเป็นที่จัดและแสดงโบราณวัตถุ
            เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช ทรงเห็นว่าสมควรมีพระภิกษุสงฆ์มาดูแลวัดพระมหาธาตุเป็นประจำ จึงให้พระอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ได้นิมนต์พระสงฆ์จากวัดเพชรจริก ตำบลศาลามีชัย อำเภอเมือง ฯ มีพระครูวินัยธร (นุ่น) เป็นหัวหน้าให้มาจำพรรษาดูแลวัด จึงมีพระสงฆ์ประจำวัดตั้งแต่นั้นมา และได้พระราชทานนามว่า "วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร (นามเดิมคือวัดพระบรมธาตุ)
            เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยานกรุงรัตนโกสินาราราชธานีล่วงแล้วได้ ๗ วัน จึงถวายพระเพลิง แต่คงเหลือพระบรมสารีริกธาตุ บรรดาเมืองต่าง ๆ ที่นับถือศาสนาพุทธ จึงส่งฑูตมาเพื่อขอพระบรมสารีริกธาตุจากกษัตริย์มัลลกษัตริย์ ๆ จะไม่ยอมแบ่ง แต่โฑณพราหมณ์ได้ชี้แจงให้เข้าใจ และขอให้มีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้แก่ฑูตทั้ง ๗ เมืองที่มาขอ กษัตริย์มัลล ฯ จึงยอมแบ่งและให้โฑณพราหมณ์เป็นอธิบดี (ประธาน ฯ) ในการจัดสรรแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ
            ในขณะนั้นมีพระอรหันต์องค์หนึ่ง นามว่าพระเขมเถระ ได้เข้าญาณสมาบัติทราบด้วยอนาคตญาณว่า ต่อไปพระพุทธศาสนาจะเจริญในภาคกลาง ภาคใต้ของชมพูทวีป (อินเดีย) และจะเคลื่อนย้ายไปสู่สุวรรณทวีป (ประเทศไทยปัจจุบัน) พระเถระจึงเข้าไปขออัญเชิญพระทันตธาตุ คือพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวา และพระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้ายมาอย่างละ ๑ องค์ จากนั้นได้นำไปถวายพระเจ้าพรหมทัต กษัตริย์แห่งแคว้นกลิงคราษฎร์ ซึ่งกำลังมีอำนาจมากในอินเดียตอนกลาง และพระเจ้าพรหมทัตไม่ได้ส่งฑูตมาขอพระบรมสารีริกธาตุจากมัลลกษัตริย์
            พระทันตธาตุทั้ง ๒ องค์นั้น ได้ประดิษฐานและเคลื่อนย้ายไปยังนครต่าง ๆ เป็นเวลาถึง ๘๐๐ ปีเศษ จนครั้งหลังสุดได้มาประดิษฐานอยู่ที่เมือง "ทันทบุรี" ซึ่งมีพระเจ้าโคสีหราช เป็นเจ้าเมืองนคร ครองเมืองและมีพระมเหสีชื่อนางมหาเทวี มีพระราชบุตรีชื่อ เหมชาลา และพระราชบุตรชื่อ ทันทกุมาร
            ประมาณ พ.ศ. ๘๕๒ กษัตริย์เมืองขันธบุรี เจ้าเมืองชื่อท้าวอังกุศราช เมืองนี้เป็นพวกทมิฬเดียรถีย์ แต่นับถือศาสนาพุทธ ท้างอังกุศราชจึงยกทัพมาเพื่อแย่งชิงพระทันตธาตุจากเมืองทันทบุรี ซึ่งท้าวโคสีหราชประมาณกำลังข้าศึกแล้วเหลือที่จะรับ จึงคิดที่จะสงวนชีวิตไพร่ฟ้าประชาชนด้วยการยอมตายเสียเอง จึงท้าท้าวอังกุศราช มาชนช้างกันคือทำยุทธหัตถี แต่ก่อนถึงวันกระทำยุทธหัตถี ก็ได้เตรียมการเอาไว้ก่อน โดยสั่งให้เจ้าหญิงเหมชาลา และเจ้าชายทันทกุมารว่า ให้เตรียมการเล็ดลอดหนีออกจากเมือง เพราะดูแล้วศึกนี้หนักนัก พ่อคงวายชนม์แน่ให้เตรียมเชิญพระทันตธาตุไว้ให้พร้อมทั้ง ๒ องค์ เมื่อพ่อแพ้ศึกให้หนีเอาไปถวายพระเจ้ากรุงลังกา อย่าให้พระทันตธาตุตกไปอยู่ในมือของพวกทมิฬ
            เมื่อเตรียมการแล้วก็ท้ารบทันที ท้าวอังกุศราชก็หัวร่อลั่นไปเท่านั้นเอง เพราะยังหนุ่มแน่นกว่า กำลังพลก็มากกว่า ผลการกระทำยุทธหัตถีก็เป็นไปตามที่ท้าวโคสีหราชคาดการไว้คือแพ้ ตัวตายในที่รบ เจ้าฟ้าทั้งสองซึ่งเตรียมการอยู่แล้วจึงหนีออกจากเมืองทันที ไปสู่เมืองท่าแล้วลงเรือสำเภาเพื่อข้ามมหาสมุทรไปยังเกาะลังกา กองเรือพบกับพายุที่พัดจัดปะทะคลื่นใหญ่ เรือสำเภาลำใหญ่เสากระโดงหักพังเกือบอับปาง ลำเล็กที่อยู่ในกองเรือก็อับปางหมดคงเหลือเพียงลำเรือทรงของเจ้าฟ้าทั้งสองเท่านั้น ที่ลอยละล่องตามลมวิ่งอ้าวผ่านหมู่เกาะต่าง ๆ ไป แต่กระแสลมบังคับให้หลุดไปทางฝั่งตะวันตกของสุวรรณภูมิ ไปเกยหาดที่หน้าเมือง "ตะโกลา" หรือตะกั่วป่าในปัจจุบัน เจ้าฟ้าทั้งสองจึงขึ้นจากเรือ อัญเชิญพระทันตธาตุไปอยู่กับชาวเมืองตะโกลาพอสมควรแล้ว และทราบว่าทางฝั่งตะวันออกของสุวรรณภูมิทางเมืองตามพรลิงค์ (นามเดิมของนครศรีธรรมราช) มีท่าเรือที่มีเรือสำเภามาค้าขาย และวิ่งไปมาระหว่าง ตามพรลิงค์กับลังกาเป็นประจำ จึงได้ออกเดินทางไปยังเมืองตามพรลิงค์ ไปจนถึงหาดทรายแก้ว (ในท้องที่อำเภอท่าศาลา) เจ้าฟ้าทั้งสองก็เข้าพักผ่อนกำบังกายเพื่อรอคอยเรือพาณิชย์ที่จะขอโดยสารไปยังเมืองลังกาต่อไป
            ในครั้งนั้นยังมีพระอรหันต์องค์หนึ่ง นามว่าพระมหาเถรพรหมเทพ ธุดงค์มาจากอินเดียเป็นผู้ที่อภิญาณสมบัติสูงมาก ได้เล็งทราบว่าพระทันตธาตุมาอยู่ที่หาดทรายแก้ว พระมหาเถระองค์นี้สูงด้วยอิทธิฤทธิ์ขั้นเดินทางมาทางอากาศได้ พอมาใกล้หาดทรายแก้วก็เห็นพระทันตธาตุเปล่งรัศมีโชติช่วงสว่างไสว จึงลงจากนภากาศเข้าไปนมัสการพระทันตธาตุ เจ้าฟ้าทั้งสองที่หลบซ่อนอยู่เห็นพระเถระองค์นี้แล้วเกิดความเลื่อมใส จึงออกจากที่กำบังเข้าไปนมัสการแล้วเล่าเรื่องให้ฟัง เปิดเผยฐานะที่แท้จริงของพระองค์ พระมหาเถระจึงแนะนำว่าให้เดินทางข้ามกลับไปยังฝั่งตะวันตกแต่ไปที่ท่าเรือเมืองตรัง ซึ่งจะมีเรือไปมามากกว่านี้รวมทั้งเรือไปลังกาด้วย และได้ทำนายไว้ว่าต่อไปเบื้องหน้าประมาณ ๒๐๐ ปี จะมีท้าวพระยาสำคัญมาสร้างเมืองใหม่ ณ หาดทรายแก้วแห่งนี้ และจะสร้างพระเจดีย์สูงถึง ๑๗ วา  เพื่อบรรจุพระบรมธาตุไว้สักการะบูชา และได้บอกแก่เจ้าฟ้า ๒ พี่น้องว่าหากระหว่างเดินทางมีอันตรายอันใดให้นึกถึงท่านจะมาช่วยเหลือ แล้วพระมหาเถระก็ลากลับไป เจ้าฟ้าทั้งสองจึงอัญเชิญพระทันตธาตุที่ฝังไว้ ณ หาดทรายแล้วนำใส่เกล้าเมาลีของพระนาง ออกเดินทางกลับไปยังท่าเรือเมืองตรัง (เดินเก่งจริง ๆ) ขอโดยสารเรือสำเภาไปลังกา เรือออกแล่นไปถึงกลางมหาสมุทร ก็เกิดอัศจรรย์เรือหยุดอยู่กับที่ไม่เคลื่อน นายสำเภาจึงประชุมลูกน้องว่าเรือหยุดอยู่กับที่โดยหาสาเหตุไม่ได้เช่นนี้คงจะเป็นเพราะ ๒ พี่น้อง โดยสารเรือมาเป็นแน่ ต้องจับฆ่าโยนลงทะเลเสีย เจ้าฟ้าจึงระลึกถึงพระมหาเถระพรหมเทพให้มาช่วย ทันใดนั้นพญาครุฑใหญ่ปีกกว้างประมาณ ๓๐๐ วา ได้บินมาที่เรือ เหตุอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นก็หายไป กลายร่างเป็นพระเถระฯ จึงชี้แจงให้ลูกเรือทราบว่าเรือหยุดเป็นเพราะพญานาคราช และบริวารขึ้นมานมัสการพระทันตธาตุจึงเกิดอัศจรรย์ พระมหาเถระชี้แจงแล้วก็กลับไป เรือสำเภาก็แล่นต่อไปยังเมืองลังกาได้ ๒ เจ้าฟ้าจึงขึ้นเฝ้าพระเจ้ากฤติสิริเมฆวัน กษัตริย์กรุงลงกา แล้วเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ถวายพร้อมทั้งถวายพระทันตธาตุ พระเจ้ากรุงลังกาปิติโสมนัสยิ่งนัก จึงสร้างพระเจดีย์บนบรรพตเป็นที่ประดิษฐานพระทันตธาตุทั้งสององค์คือ พระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาและซ้าย ให้เป็นที่สักการะบูชาของประชาชนสืบไป
            พระเจ้ากรุงลังกาจึงจัดที่ประทับให้เจ้าฟ้าทั้งสองพักเป็นการถาวร ต่อมากษัตริย์วงศ์คุปตะผู้นับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ได้มาตีเมืองทันทบุรีคืนจากกษัตริย์ทมิฬได้ และได้จัดให้ผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์พรหมทัต ที่เป็นต้นวงศ์ของเจ้าฟ้าทั้งสอง ครองเมืองทันทบุรีต่อมา ทางกรุงลังกาทราบข่าวนี้ จึงขอทราบความประสงค์ของเจ้าฟ้าทั้งสองว่า จะอยู่ที่เมืองลังกาต่อไป หรือกลับไปอยู่บ้านเมืองเดิม เจ้าฟ้าทั้งสองทูลกษัตริย์ลังกาว่า ขอกลับไปอยู่ยังบ้านเมืองเดิม แต่จะขอพระทันตธาตุองค์หนึ่งไปประดิษฐานไว้ ณ หาดทรายแก้ว เพื่อที่จะได้เป็นไปตามคำทำนายของพระมหาเถระ กษัตริย์ลังกาจึงพระราชทานพระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้าย กับพระบรมสารีริกธาตุที่หักย่อยอีก ๑ ทะนาน ให้แก่พี่น้องทั้งสอง แล้วจัดกระบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ขึ้นสู่เรือสำเภาลำใหญ่ไปสู่ท่าเรือหาดทรายแก้ว แล้วจึงก่อเจดีย์อัญเชิญพระทันตธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุครึ่งทะนาน (อีกครึ่งหนึ่งนำกลับไปเมือง) บรรจุในผอบแก้วประดิษฐานในแม่ขันทอง แล้วนำฝังลงไว้ในพระเจดีย์ ณ รอยเดิม ทำพิธีไสยเวทย์ผูกภาพยนต์เป็นกา ๔ ฝูง รักษา ๔ ทิศ
            ในช่วงระยะ พ.ศ. ๘๕๘ - ๑๓๐๐ คลื่นสาดซัดสู่หาดทรายแก้ว โคลนทรายทัยถมเจดีย์จมหายไป และพระยาศรีธรรมโศกราชผู้ครองกรุงศิริธรรมนคร ได้พาผู้คนพลเมืองอพยพหนีไข้ยุบล มหายักษ์มาจนถึงที่ตั้งอำเภอเวียงสระในปัจจุบัน มาถึงได้สร้างวัดสระเรียง มีพราน ๘ คน ตามเนื้อมาถึงหาดทรายแก้ว พบดวงแก้วโตเท่าผลหมากสุก จึงนำมาถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้พาพระญาติวงศ์ไพร่พลเดินทางรอนแรมมาถึง ๗ วัน จึงมาถึงหาดทรายแก้วแล้วตั้งกองทำไร่ ไถนาอยู่ ณ ที่นั้น แล้วได้ส่งนายช่างไปยังเมืองลังกาเพื่อดูการสร้างบ้านเมือง ทางลังกาใจดีส่งพระมหาพุทธคำเพียรมาช่วยและท่านมหา ฯ  ได้เล่าถึงคำทำนายของพระมหาเถระถวายว่าจะมีท้าวพระยามาสร้างเมือง ทำนายไว้เมื่อ ๒๐๐ ปีมาแล้ว จึงตกลงที่จะสร้างเมือง และให้รางวัลทองคำเท่าลูกฟัก ถ้าใครรู้จุดที่ฝังพระบรมสารีริกธาตุ ผู้เฒ่าอายุ ๑๒๐ ปี ชี้จุดให้ขุดได้ ขุดแล้วพบพระเจดีย์แต่เอาขึ้นมาไม่ได้ เพราะมีหุ่นยนต์ฝูงกาไล่จักทำร้ายอยู่ จึงต้องป่าวประกาศใหม่ว่าให้ทองเท่าลูกฟัก แก่ผู้ปราบหุ่นยนต์ได้ มีผู้อาสากระทำการสำเร็จจึงดำเนินการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ แต่สร้างตามความเชื่อของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ตามแบบสถาปัตยกรรมศรีวิชัย รูปแบบจึงคล้ายพระบรมธาตุไชยา
            และต่อจากนั้นมาก็มีการบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์อีกหลายครั้งหลายแผ่นดิน จนกระทั่งได้รับพระราชทานเป็นพระอารามหลวง เปลี่ยนนามวัดตามนามพระราชทานเป็น วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘
            กว่าจะเรียบเรียงประวัติที่ยาวหลายสิบหน้าจบลงได้นี่  " เหนื่อย" ที่อำเภอปากพนัง กำลังมีการสร้างบ้านให้พ่อ ตามโครงการคืนสู่แผ่นดินเกิดลุ่มน้ำปากพนัง โดยใช้พื้นที่ประมาณ ๒๐๐ ไร่ จากกรมชลประทาน  ก่อสร้างพระตำหนักประทับแรม และสวนพฤกษศาสตร์พันธุ์ไม้พื้นเมือง และได้ลงเสาเข็มเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๑ ประชาชนทุกฝ่ายร่วมกันจัดหาทุนโดยไม่ได้ใช้งบประมาณเลย ซึ่งงานก่อสร้างต่าง ๆ จะแล้วเสร็จในปี ๒๕๔๓ นี้ เพื่อฉลอง ๗๒ พรรษามหาราช
            การไปชมพระตำหนักไปง่าย จากนครศรีธรรมราชมุ่งตรงไปตามถนนสายหลักคือ ถนนราชดำเนิน จนถึงสี่แยกที่ตรงไปก็ไปสงขลา เลี้ยวขวามาทุ่งสง ไปได้จนถึงภูเก็ต หากเลี้ยวซ้ายก็จะมายัง อำเภอปากพนัง หากเลาะริมแม่น้ำจะพบร้านอาหารร้านหนึ่งชื่อร้าน "ครัวเมืองนัง" ร้านนี้หาไม่ยากหรือยากก็ลองโทรถามดู ๐๗๕ ๕๑๗๐๑๖ ร้านนี้ทำเลงาม ธรรมชาติสวยเพราะอยู่ริมแม่น้ำ เสียหน่อยเดียวหากมื้อค่ำยุงชุมไปหน่อย
            แม่กุ้งต้มยำ บอกยี้ห้อเลยทีเดียวว่ากุ้งแม่น้ำตัวโตแน่นอน ใส่หม้อไฟยกมาร้อนฉ่า รสเข้มข้น ยำไข่ปลากระบอก  รสเด็ดดูจะหากินได้เมืองเดียวคือ เมืองนคร ฯ นี่แหละ เพราะอาหารที่ทำด้วยปลากระบอกเมืองนครฯ นั้น ปลาตัวโต ๆ เขามักจะเอาไข่ปลากระบอกแยกออกมาทำเค็มขายต่างหาก จึงต้องสั่งยำมากิน
            ยำกับมะม่วงเบา อมเปรี้ยว และมัน
            หมี่ผัดเมืองนัง เป็นเอกลักษณ์ของหมี่เมืองนัง หมี่ผัดเครื่องปรุงพร้อมใส่จานมา พร้อมด้วยจานผักมี "เมล็ดกระถิน" กินสด ถั่วฝักยาว แตงกวา ถั่วงอก มะม่วง ผักชีล้อม มีกุ้งแก้วทอด อร่อยแปลก
            กุ้งแดดเดียวทอดเคี้ยวมันเป็นกับแกล้มชั้นยอด
            แฮกึ๊นทอดเมืองนัง กรอบนอกนุ่มใน จิ้มน้ำบ๊วยเจี่ย แนมด้วยแตงกวา
            ต้มส้มปลากระบอก สั่งมาชิมทั้ง ๆ ที่ท้องใกล้แตก แต่อาศัยไปกันหลายคน อยากชิม แต่จะต้มส้มรสใต้ คือนำด้วยเปรี้ยว ตามด้วยเค็ม ใครชอบอาหารรสเปรี้ยวรับสั่งโดยไว ของหวานเป็นผลไม้
            ขอจบด้วยพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๓๘ "มีชาวปากพนังเขาบอกว่า เขาจะทำบ้านให้ สร้างตำหนักให้ สร้างขึ้นที่หัวงานนั้นเอง ก็ไม่ต้องกลับไปที่ภูเขา ทำที่นั่น ประชาชนทำ....."

.........................


| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |