| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร

                เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๘๓ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นดำรงยศ และบรรดาศักดิ์ เป็นพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ขออนุมัติเงินเพื่อสร้างวัด เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตย และประสงค์จะให้แล้วเสร็จทันงานวันชาติ คือ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๔ สถานที่ที่จะสร้างนั้นควรอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์หลักสี่ โดยท่านมีเหตุผลว่าชาติกับศาสนานั้นเป็นของคู่กัน จะแยกจากกันมิได้ และหลักธรรมของพระพุทธศาสนานั้นสอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงสมควรสร้างวัดขึ้นใกล้กับอนุสาวรีย์หลักสี่ ซึ่งอนุสาวรีย์แห่งนี้ได้จารึกชื่อผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการปราบกบฎเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ และประสงค์จะให้ชื่อว่า "วัดประชาธิปไตย"
            ในขณะที่กำลังดำเนินการพิจารณาอยู่นั้น เกิดศุภนิมิตรอันประเสริฐโดยที่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ส่งคณะฑูตพิเศษ อันมี พลเรือตรี ถวัลย์  ธำรงนาวาสวัสดิ์ (ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรี) ซึ่งขณะนั้นดำรงยศและบรรดาศักดิ์เป็นนาวาเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอินเดีย (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ อินเดียยังไม่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ) คณะฑูตได้ติดต่อขอดังนี้
                ๑.  พระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
                ๒.  ขอกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ ๕ กิ่ง จากต้นที่สืบเนื่องมาแต่เดิม ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับ ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ พุทธคยาประเทศอินเดีย
                ๓.  ขอดินจากสังเวชนียสถาน ๔ แห่งคือ จากที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน
            รัฐบาลอินเดียได้พิจารณาเห็นว่า ประชาชนที่เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนานั้นมีมาก แพร่หลายอยู่ในหลายประเทศ แต่มีประเทศเดียวเท่านั้นในโลกนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๔) ที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาทางราชการเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นประเทศเอกราช มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศและทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก "ประเทศนั้นคือ" ประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลอินเดียจึงพิจารณามอบให้  คือ -
                ๑.  พระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบค้นพบ ณ มหาสถูปธรรมราชิกะ และเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
                ๒.  มอบกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ให้ตามที่รัฐบาลไทยเสนอขอ ๕ กิ่ง
                ๓.  และมอบดินจากสังเวชนียสถานให้ตามความประสงค์
            รัฐบาลไทยจึงตกลงที่จะอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ วัดที่สร้างใหม่นี้ และเห็นว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ และพระบรมสารีริกธาตุเป็นมหาสิริมงคลแก่วัดที่จะสร้างใหม่ ซึ่งได้รับมาในโอกาสเดียวกันกับที่จะสร้างวัดพอดี จึงตกลงตั้งนามวัดว่า
"วัดพระศรีมหาธาตุ"
            การสร้างวัดจึงได้เริ่มต้นขึ้น และรัฐบาลพิจารณาเห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ การสร้างวัดนี้ควรเป็นงานของชาติ ประชาชนควรได้มีส่วนร่วมด้วย รัฐบาลจึงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริจาคทรัพย์ จึงมีประชาชนจำนวนมากมหาศาล ที่บริจาคที่ดิน บริจาคเงิน บริจาคทรัพย์สมบัติต่าง ๆ เป็นอันมาก โดยที่วัดนี้จะเป็นการสร้างวัดอย่างเป็นทางการวัดแรก ในระบอบประชาธิปไตยและยังประสงค์จะให้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระศรีมหาโพธิ์อีกด้วย ดังนั้นเพื่อเชิดชูพระพุทธศาสนา และรักษาศิลปของไทย รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ร่วมมือกันสร้าง ในขั้นต้นได้มอบให้ พลโท จรูญ  รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ขณะนั้นดำรงยศและบรรดาศักดิ์เป็น พันเอก หลวงเสรีเริงฤทธิ์ และอีกท่านหนึ่งคือ หลวงวิจิตรวาทการ (พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ) เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง พระพรหมพิจิตรเป็นผู้ออกแบบ นายช่างกรมศิลปากรและกรมรถไฟ เป็นนายช่างก่อสร้าง และเชิญผู้มีเกียรติที่มีความรู้ทางเทคนิค เฉพาะทางอีกหลายท่านมาร่วมด้วยจนสำเร็จ กระทำพิธีเปิดและถวายเป็นเสนาสนะแห่งภิกษุสงฆ์ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๕
            ที่ดินของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รวมเนื้อที่ทั้งหมด ๒๒๖ ไร่ ๒ งาน ๒๖ ตารางวา ด้านหน้าติดถนน พหลโยธิน แบ่งออกเป็นที่ตั้งวัด ๘๓ ไร่เศษ และที่ธรณีสงฆ์เหลือจากที่ตั้งวัดอีก ๑๔๓ ไร่เศษ
            วัดพระศรีมหาธาตุได้รับอนุญาตให้สร้างเป็นที่สำนักสงฆ์ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๔๘๔ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๘๔
            พระอุโบสถเป็นแบบพระที่นั่งจตุรมุข ต่อจากมุขด้านเหนือและใต้เป็นวิหารคตล้อมตัวอุโบสถอยู่อีกชั้นหนึ่ง ด้านหลังเป็นศาลาการเปรียญ
            ตรงหน้าพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งพระมหาเจดีย์ สูง ๓๘ เมตร มีนามว่าพระเจดีย์ศรีมหาธาตุ ได้มีพระราชพิธียกฉัตรยอดเจดีย์ เมื่อ ๒๕ เมษายน ๒๔๘๔ พระมหาเจดีย์นี้เป็น ๒ ชั้น ชั้นนอกเป็นเจดีย์ใหญ่ ชั้นในเป็นเจดีย์องค์เล็กอยู่ตรงกลาง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ในระหว่างผนังด้านในของเจดีย์องค์ใหญ่กับองค์เล็กมีเนื้อที่กว้าง ๒ เมตรครึ่ง เป็นทางเดินได้รอบ มีประตูเข้าออก ๔ ด้าน สำหรับให้ประชาชนเข้าไปนมัสการ
            การบรรจุ ทรงพระกรุณาโปรดให้อาราธนาสมเด็จพระอริยวงศาญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ติสสเทว) วัดสุทัศน์เทพวราราม ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๔ เวลา ๑๐ นาฬิกา
            ผนังด้านในของพระเจดีย์องค์ใหญ่ได้ทำเป็นช่องไว้ ๑๑๒ ช่อง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๘๔ ให้ใช้สำหรับบรรจุอัฐิผู้ที่รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นสมควร กล่าวคือผู้ที่ทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติ เช่นเดียวกับของฝรั่งเศส
            ตรงหน้าพระเจดีย์ออกไปทั้ง ๒ ข้าง ด้านตะวันออกทำเป็นเกาะรูปกลมมีน้ำล้อมรอบ สำหรับเป็นที่ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์
            กิ่งพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทางรัฐบาลอินเดียมอบให้มา ๕ กิ่ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานประกอบพิธีปลูกไว้ ณ เกาะกลมนั้น ตรงที่สุดของคูทั้งสอง ๒ ข้าง ทางทิศตะวันออก เกาะละต้น เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๔๘๔ ส่วนอีก ๓ กิ่งนั้น จะอัญเชิญไปปลูกในภาคต่าง ๆ คือ
            ภาค ๔ ปลูก ณ วัดพระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เมื่อ ๘ เมษายน ๒๔๘๖
            ภาค ๕ ปลูก ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพ อำเภอเมือง ฯ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ ๗ กรกฎาคม ๒๔๘๖
            ภาค ๘ ปลูก ณ วัดพระมหาธาตุ อำเภอเมือง ฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๘๖
            วัดพระศรีมหาธาตุในปัจจุบัน เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรวิหาร เริ่มสร้างเมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๘๓ ที่ริมถนนพหลโยธิน ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๑๘ แขวงอนุสาวรีย์ ( เดิมชื่อตำบลกูบแดง ) เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร เปิดเป็นเสนาสนะแห่งพระภิกษุสงฆ์ เป็นรัฐพิธี เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๕ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาญาณ สมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นประธาน เมื่อเวลา ๑๐.๐๐ โดยมีกำหนดการคือเวลา ๐๙.๐๐ เชิญพระพุทธสิหิงค์ จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ
            เวลา ๑๗.๐๐ พระภิกษุสงฆ์ ๒๔ รูป จากวัดบรมนิวาส ไปอยู่วัดพระศรีมหาธาตุ
            หลวงวิจิตรวาทการกล่าวอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชทรงเปิด
            สมเด็จพระสังฆราชทรงเปิด ทรงไขกุญแจ เปิดพระอุโบสถ แล้วทรงนำพระภิกษุสงฆ์เข้าสู่อาสนะ
            จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี  ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์ ถวายเป็นพุทธบูชาแก่พระพุทธสิหิงค์ แล้วอ่านประกาศถวายที่ดิน เสนาสนะแก่สงฆ์วัดพระศรีมหาธาตุ
            เมื่อเสร็จพิธีเปิดแล้ว พระภิกษุสงฆ์ ทำพิธีถอนพัทธสีมา
            เช้าวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๘๕ กระทำพิธีผูกพัทธสีมา มีสมเด็จพระวันรัตวัดมหาธาตุเป็นประธานการสร้างวัดพระศรีมหาธาตุ ก็สำเร็จสมบูรณ์เป็นที่เชิดชูพระบวรพุทธศาสนา ควบคู่ไปกับเกียรติศักดิ์ของประเทศชาติสืบไป
            จบรายการเที่ยววัดของผมในวันนี้ และต้องขอขอบคุณท่าน นาวาอากาศโท (ไม่ประสงค์ออกนาม) ที่ช่วยค้นคว้าหาประวัติของวัดมาให้ ผมอยากทราบมานานแล้วพึ่งได้มีโอกาสทราบก็ตอนจะเขียนวันนี้แหละ และน่ายกย่องอีกอย่างที่เวลานี้ มีข้าราชการไปทำร้านอาหารกันหลายแห่ง ผมทราบหรือบางทีก็จุดใต้ตำตอโดยบังเอิญไปพบเข้าว่าเป็นร้านของข้าราชการ พอชิมแล้วอร่อยผมขอเชียร์ ขอยกย่องบุคคลเหล่านี้ที่ทำมาหากินด้วยความสุจริต "เราไม่ต้องอายใคร" ผมเองก็ทำมาหากินด้วยความสุจริตเหมือนกัน เพราะ "ยศสูง" แต่บำนาญต่ำ ภาษีสังคมสูง รายได้น้อย และข้าราชการบำนาญนั้น ไม่มีเงินเดือนขึ้นเหมือนข้าราชการประจำ ท่านอดีตนายกรัฐมนตรี "ยศจอมพล" ดูเหมือนบำนาญของท่านเดือนละหมื่นกว่าบาทเท่านั้นเอง ของผมซึ่งรับราชการจริง ๆ เพียง ๔๑ ปี แต่นอนในสนามในพื้นที่อันตรายมากกว่านอนบ้าน อายุราชการของผมรวมทวีคูณแล้วมากเกือบ ๗๐ ปี ไม่รู้จะเอาไปทำไม เพราะอายุราชการแค่ ๕๐ ปี ก็ได้เงินเดือนเต็มแล้ว แต่เต็มวันเกษียณ พอของแพงขึ้น เขาปรับเงินเดือนข้าราชการประจำ แต่เขาปรับให้ข้าราชการบำนาญเพียงนิดเดียว ไม่ได้นึกว่าข้าราชการบำนาญนั้นถ้าทำงานมาด้วยความสุจริตแล้ว แทบจะไม่มีอะไรเหลือ นาวาอากาศโท ท่านนี้กับ พันโท อีกท่านหนึ่ง คนหนึ่งขายข้าวต้มบะเต็งและข้าวต้มกับ อีกคนขายก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ ผมไปชิมแล้วอร่อยทั้ง ๒ ร้าน อร่อยมากด้วย แถมมีลูกหลานขายกาแฟ ขนมปังสังขยาใกล้ ๆ กัน ส่วนพ่อตาแม่ยายเป็นร้านเบเกอรี่ที่เปิดขายมานานแล้ว ทั้งคู่คือทหารบกกับทหารอากาศ อาศัยชานหน้าร้าน พ.ต. และ ม.ย. ขายอาหารและก๋วยเตี๋ยวในตอนกลางคืน เว้นวันเสาร์- อาทิตย์ไม่ขาย ขายแต่ตอนเย็นเรื่อยไป ใครจะไปชิมผมจะบอกร้านไว้ให้ หากมาจากทางสะพานควายเลยวัดไผ่ตันมาแล้วข้ามสะพาน เลี้ยวซ้ายเข้าตลาด อตก.ทันที ร้านสนั่นเบเกอรี่อยู่หัวมุมซ้ายมือ ร้านข้าวต้มบะเต็งและก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ก็อยู่ตรงชานของร้านที่ตรงหัวมุมนั่นแหละ อย่าลืมว่าเสาร์ - อาทิตย์ไม่ขาย เช้าไปทำงานตามปกติ เป็นนักบินด้วย ผมขอยกย่องและสรรเสริญท่านเหล่านี้
            ร้านอาหารที่ผมจะพาไปชิมวันนี้  "ชื่อร้านปลาเผาภูเก็ต" ผมเคยชิมมาตั้งแต่ปีที่แล้ว พอไปวัดพระศรีมหาธาตุเลยแวะไปชิมอีกเพราะ อยู่ใกล้ ๆ กัน จากวัดพระศรีมหาธาตุผ่านอนุสาวรีย์หลักสี่ (ตอนนี้กำลังสร้างอุโมงค์) เลยไปทางสะพานใหม่ดอนเมือง หาง่ายสังเกตซอยพหลโยธินไว้ พอถึงซอย "๖๙" ให้ชะลอความเร็วรถได้แล้ว จากนั้นพอถึงซอย "๖๙/๑" ก็เลี้ยวเข้าซอยไปเลย ตรงต่อไปสัก ๕๐ เมตร จะมีไม้กั้นทางเข้าหมู่บ้าน บอกยามว่าจะไปร้านอาหาร "ปลาเผาภูเก็ต" ยามจะเปิดให้เข้าไป พอผ่านไม้กั้นเข้าไปก็เลี้ยวขวาจอดรถได้ ที่จอดรถกว้างขวาง "ไม่เสียค่าจอด" ร้านอยู่ตรงหัวมุมทางขวามือนั่นแหละ ท่านที่ไปรถเมล์หรือแท็กซี่ยิ่งสะดวก ขากลับรอแท็กซี่ที่ปากซอย หรือที่หน้าตู้ยามเลยก็ได้
            ร้านปลาเผาภูเก็ตนี้ดั้งเดิมไม่ได้เปิดอยู่ที่นี่ แต่ย้ายมาอยู่ที่นี่ได้สัก ๒ ปีแล้ว เจ้าของชาวภูเก็ตอยู่ที่ป่าตอง จัดร้านเก๋มาก กว้างขวางสะดวกสบาย ห้องสุขาสะอาดเป็นสากลสมกับเป็นภัตตาคาร การบริการดีเอาอกเอาใจลูกค้าดี ราคาปานกลาง วันนี้ไปกันหลายคนเลยได้ชิมหลายอย่าง
            ภูเก็ตที่ ต.สปำ มีร้านขายหมี่สปำ ผมชิมเขามานานแล้ว และเขียนถึงหลายครั้งคงนานร่วม ๒๐ ปี จนเดี๋ยวนี้ร้านเขาย้ายมาอยู่เยื้องกับที่ตั้งเดิมขยายใหญ่โต เวลาไปภูเก็ตก็แวะไปกินหมี่ผัด เรียกว่าหมี่สปำและโกต้าว (หอยนางรมทอดสไตล์ภูเก็ตโดยเฉพาะ) ตอนนี้หากไม่ได้ไปภูเก็ตก็หาหมี่ผัดสไตล์หมี่สปำกินที่กรุงเทพฯ ได้แล้ว เส้นหมี่นั้นบินมาจากภูเก็ต และรสชาดอร่อยถูกปากชาวกรุงทีเดียว คือที่ร้านภูเก็ตปลาเผาสั่ง "บะหมี่ภูเก็ต" มีจานใหญ่ จานเล็ก ๓ - ๔ คนต้องจานใหญ่ ๘๐ บาท
จานเล็ก ๔๐ บาท ผัดยกมาร้อน ๆ กินกับผักกาดหอม หอมแดง เติมน้ำส้มสักนิด แต่หากไปกินที่ภูเก็ตแท้ ๆ เขาให้พริกขี้หนูเขียวแดงเลยทีเดียว
            ยำสายไหม จะกินเรียกน้ำย่อย หรือเป็นกับแกล้มก็ดีทั้งนั้น รสอมเปรี้ยว อมหวาน เรียกน้ำย่อยดีนัก คอนักซดเบียร์ เหล้า ยิ่งชอบ ใช้สับปะรดกับปลาหมึกสดเอามาทอดกรอบ กับเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ๓ รส
            น้ำพริกกุ้งเสียบ หากกินที่ภูเก็ตต้องขึ้นไปกินบนเขารัง กินกรุงเทพ ฯ ก็ที่ภูเก็ตปลาเผานี่แหละ รสเดียวกัน ใส่ถ้วยตั้งมาบนโตกน้อยน่ารัก มีผักจัดมาสวย ทั้งถั่วฝักยาว แตงกวา ผักกาดขาวสด มะเขือ ขมิ้นขาว ถั่วพู ข้าวโพดอ่อน รายการนี้กินกับข้าวสวย ข้าวหมดจานไม่รู้ตัว
            ห่อหมกเผา มีแห่งเดียวในกรุงเทพ ฯ ตักเข้าปากคำเดียวก็บอกได้เลยว่าคุ้มค่าที่มาชิม จานละ ๘๐ บาท มี ๒ ห่อ
            ปลาเผาต้มตำรับภูเก็ต ราคาตามน้ำหนักของปลาและชนิดของปลา ปลาช่อนเผา ปลาสำลีเผา ปละกะพง เลือกเอาจะให้เขาเผาอะไร น้ำจิ้มปลาเผามี ๒ แบบ แบบหวานและแบบน้ำพริก ใช้เปรี้ยวด้วยมะขาม และหอมกลิ่นด้วยมะนาว หอมซอยโรยหน้า
            นอกจากนี้ยังมี ผัดสะตอขี้เมา ผัดผักเหมียงใส่น้ำมันหอยและกุ้งเสียบ และที่อย่าลืมอีกอย่างหนึ่งคือ "ต้มกะทิผัดเหมียง" หากินยากจะเข้ากันตอนกินข้าวกับห่อหมกเผา
            ปิดท้ายด้วยทับทิมกรอบรสหวานชื่นใจ
..........................
ไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่วัดพระศรีมหาธาตุ
                                                                                ไปชิมอาหารที่ร้าน ปลาเผาภูเก็ต
                                                                                 ยำสายไหมห่อหมกเผากับบะหมี่ภูเก็ตอย่าลืมสั่ง

.........................


| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |