| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
พิพิธภัณฑ์จันเสน
จันเสนเมืองโบราณ เกือบจะถูกลืมไปแต่หลวงพ่อโอด อดีตเจ้าอาวาสวัดจันเสน ซึ่งท่านมรณภาพไปตั้งแต่ปี
พ.ศ. ๒๕๓๒ ท่านเป็นผู้มุ่งมั่นที่จะสร้างมณฑปเจดีย์ขึ้น โดยมีความมุ่งหมายว่า
๑. ส่วนยอดของมณฑปเจดีย์จะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๒. องค์เรือนธาตุประดิษฐาน "หลวงพ่อนาค" พระพุทธรูปปางนาคปรกที่นำมาจากเมืองลพบุรี
เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปสำคัญของชุมชน
๓. อาคารส่วนฐานของพระมหาเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของท่าน และเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองจันเสน
ผู้ที่ออกแบบพระมณฑปเจดีย์ศรีจันเสน นั้นมีหลายท่าน แต่ท่านที่ออกแบบแล้วถูกใจหลวงพ่อโอด
ในเวลาที่เกือบจะเป็นนาทีสุดท้าย คือท่านใกล้ถึงวันมรณภาพแล้วคือ อาจารย์
วนิดา พึ่งสุนทร แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเมื่อนำแบบที่ได้ออกถวายให้หลวงพ่อพิจารณาและท่านเห็นชอบ
อาจารย์ ฯ ก็ยังกราบเรียนว่าจะช่วยในการก่อสร้างจนสำเร็จ ซึ่งการก่อสร้างมาเริ่มเอาในสมัยของพระครู
นิวิฐธรรมขันธ์ ได้ร่วมกับประชาชนดำเนินการก่อสร้างตามแนวดำริของหลวงพ่อโอด
โดยมิได้ใช้เงินของทางราชการเลย และเริ่มดำเนินการเมื่อหลวงพ่อได้มรณภาพไปแล้วหลายปี
จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม มีค่าควรแก่การไปชมเป็นอย่างยิ่ง
หลวงพ่อโอด เป็นชาวอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม
๒๔๖๐ และอุปสมบทเมื่อ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๘๑ และไม่เคยลาสิกขาบทเลย ครองเพศบรรพชิตจนมรณภาพ
โดยก่อนที่ท่านจะมาอยู่ที่วัดจันเสน ท่านได้อยู่ที่วัดหัวเขา อำเภอตาคลีมาก่อน
หลวงพ่อโอดเป็นพระนักปฏิบัติ เป็นนักเผยแพร่ เป็นเกจิอาจารย์มีเมตตาธรรมมหานิยม
ท่านมีคาถามหานิยมที่ให้ใช้ภาวนาเป็นประจำคือ "ทา ปิ อะ สะ" (ทาน ปิยะวาจา อัคถจริยา สมานัตตตา - สังคหวัตถุ ๔) ซึ่งแฝงไว้ด้วยธรรมะ
หากใครภาวนาเป็นประจำก็จะมีแต่มิตร มีชีวิตที่รุ่งเรือง
หลวงพ่อโอด มรณภาพเมื่อ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๓๒ ด้วยอายุเพียง ๗๒ ปี ๕๐ พรรษา แต่มาพระราชทานเพลิงศพ
เมื่อ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓
ผมได้รับหนังสือที่แจกในวันพระราชทานเพลิงศพมาเล่มหนึ่ง ด้วยความเมตตาของท่านเจ้าคุณ
พระศรีธรรมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหรรณ (ท่านอยู่คณะ ๒ ) ซึ่งท่านเป็นชาวลพบุรี
ท่านได้เมตตามอบหนังสือแจกงานศพเล่มนี้มาให้ผม ให้สังเกตไว้อย่างว่า พระราชาคณะที่เราเรียกว่า
"เจ้าคุณ" นั้น หากนำหน้าว่า "ศรี" คือพระราชาคณะที่สอบได้เปรียญ ๙ (ปธ. ๙)
เป็นนักวิชาการ จึงมักจะนำหน้าสมณศักดิ์ของท่านว่า "ศรี" ท่านเจ้าคุณศรีธรรมเมธี
ก็เช่นกัน
ในหนังสือเล่มนี้มีสิ่งที่มีประโยชน์หลายเรื่องด้วยกัน ล้วนเป็นเรื่องที่ถูกบันทึกไว้ด้วยลายมือของหลวงพ่อโอดเองทั้งสิ้น
เวลาจัดพิมพ์เขาก็ถ่ายลายมือของหลวงพ่อลงมาพิมพ์ และลายมือของท่านอ่านง่าย
เช่นในเรื่องของการศึกษา ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม การปกครอง คติในการดำเนินชีวิต
โหราศาสตร์ "อาหารและยา" การสงเคราะห์สาธารณกุศล การรวบรวมโบราณวัตถุ และการขุดค้น
เหตุการณ์ปัจจุบัน
ผมเป็นนักกินยาสมุนไพร ใครถามผมว่าอายุจะใกล้ร้อยเข้าไปเต็มทีแล้ว ทำไมยังขับรถเที่ยวไป
กินไป รวมทั้งทำงานในด้านยุทธศาสตร์พัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง มีสุขภาพแข็งแรง
ผมก็บอกว่าผมชอบทดลองกินยาสมุนไพร เอาตัวเองเป็นหนูลองยา ตำรับยาที่ผมยกย่องมากที่สุด
ได้ผลมากที่สุดคือ ตำรับยาของหมอพร หรือกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตำรับยาของท่านมีพิมพ์ออกจำหน่าย
ผมเจอเข้าก็ซื้อมาและลองค้นดูยา ประเภทลดน้ำตาล "ยาฟุบ" (กินแล้วไม่ฟุบ) ยาชะลอความชรา
เมื่อทดลองกินได้ผลผมก็บอกไว้ในคอลัมน์เที่ยวไปกินไป ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
คอลัมน์ของผมเพื่อเป็นการกุศลทาน แต่บอกกันก่อนว่าผมลอกเอามาจากตำรับของหมอพร
แต่กินแล้วได้ผลร้านขายยาหลาย ๆ จังหวัด เวลาใครไปเจียดยาขนานที่ผมเคยเขียน
เขาถามเลยเอายาของ พล.อ.โอภาส ฯ ใช่ไหม เขาบดเตรียมเอาไว้ให้เลย เช่นร้านหมอเปล่ง
ตลาดล่างลพบุรีเป็นต้น ทำให้ร้านขายยาไทยมีรายได้ไปด้วย สังเกตได้จากเวลาผมบอกบุญทอดผ้าป่าประจำปีในเดือน
กันยายน (เดือนเกิด) ที่ผมจะทอดทุกปี เมื่อบอกบุญไปในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก็มีร้านขายยาส่งปัจจัยมาร่วมการกุศลทุกปีไป
ตำรับยาหลวงพ่อโอดที่ผมสนใจ และยังไม่ได้ทดลองกิน และไม่อยากทดลองด้วย คือตำรับยาแก้มะเร็ง
ส่วนอีกตำรับผมจะทดลองกิน ตำรับแก้มะเร็งนั้น ก่อนกินยาต้องท่องคาถาของผมไว้ก่อนว่า
"กูไม่กลัวมึง" กับคาถา หลวงปู่แสง วัดมณีชลขันธ์ ลพบุรี ที่ให้ไว้สำหรับแก้มะเร็งคือ
"ระโช หะระนัง ระชังหะระติ" ท่องภาวนาเรื่อยไป มะเร็งจะแพ้ไปเอง ผมบอก ๒ คาถานี้มากับคนหลายคนที่เป็นมะเร็งขนาดระยะสุดท้าย
โทรมาอยากพูดกับผมซึ่งเป็นคนเขียนหนังสือที่เขาชอบ เป็นสาวน้อยขอคุยด้วยก่อนจะตายเพราะระยะสุดท้าย
ผมให้ ๒ คาถานี้ไปและให้กินยา ทำตามที่หมอเขารักษาต่อไปเช่นเดิม ๒ ปีผ่านไป
พอทอดผ้าป่าปีที่แล้ว ส่งปัจจัยมาร่วมการกุศลด้วยบอกว่าเวลานี้หายแล้ว ๘๐
% อีกรายเป็นระดับที่ปรึกษาของบริษัทใหญ่ ภริยาก็เป็นอาจารย์ระดับหน้าหมวดวิชากิน
เที่ยวอยู่กับผม อยู่ ๆ เป็นมะเร็ง ผมก็ให้กำลังใจ ให้ทำอะไรอย่างคนปกติ ให้อ่านหนังสือ
ขนหนังสือที่บ้านไปให้อ่าน เพื่อไม่ให้สมองว่าง ไม่มีเวลาคิดถึงโรค ให้ท่องคาถาของหลวงปู่แสง
และท่องเข้าไว้ว่า "กูไม่กลัวมึง" มะเร็งก็ฝ่อไปเอง เดี๋ยวนี้เก่งกว่าผมอีก
เพราะอายุยังน้อยกว่าผมหลายปี ขนาดเดินขึ้นดอยภูชี้ฟ้าที่จังหวัดเชียงรายได้
ผมยังไม่เคยตะกายขึ้นไปเลย
ตำหรับมะเร็งของหลวงพ่อโอด มีดังนี้ ใครเป็นโรคนี้จงทดลองทุกอย่างที่เขาบอกว่าดี
แล้วหายเอง มีตัวยา ๓ อย่างคือ ต้นหนวดแมว,ข้าวเย็นเหนือ,ข้าวเย็นใต้ หนักอย่างละ
๕ ตำลึง ใส่หม้อดินแล้วเอาเงินผูกคอหม้อ ๑ บาท ต้มดื่มกินเป็นประจำ ไม่ได้บอกว่าเวลาไหน
แต่ยาไทยมักจะเป็นก่อนอาหาร
อีกขนานหนึ่งของหลวงพ่อโอด ที่ผมจะทดลองกินเองคือ "ยาบำรุงกำลัง" ตัวยามี
ต้นทองพันชั่ง ๑ ต้น เหงือกปลาหมอ พริกไทยร่อน ท่านบอกแต่ว่าอย่างละส่วน พริกไทยร่อนครึ่งส่วน
แต่จะกะลำบาก เอาต้นทองพันชั่งหนักสัก ๖ บาท ต้นเหงือกปลาหมอหนัก ๖ บาท พริกไทยร่อนหนัก
๓ บาท บดละเอียดให้ร้านขายยาเขาบดให้แล้วผสมน้ำผึ้งป่า หรือเดือน ๕ ปั้นเป็นลูกกลอน
กินเช้า เย็น ท่านบอกว่าจะไม่อ่อนปวกเปียก แม้จะย่างเข้าวัยชรา หลวงพ่อเขียนไว้อย่างนี้
ผมต่อเติมให้อีกหน่อย ว่าน้ำผึ้งดอกทานตะวันที่ผมเคยบอกไปว่าขายปากซอย ๒๔
อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ทานตะวันกำลังออกดอกถึงมกราคม (ศักดิ์สิทธิ์ฉบับ
๔๖๑ พิมพ์คำอธิบายรูปผิดเป็นทุ่งทานตะวันเดือนพฤษภาคม ผมถ่ายภาพนี้เองเมื่อพฤศจิกายน
๒๕๔๒ ไป พฤษภาคม ไปดูเขาพรวนดินปลูกข้าวโพดละก็ได้ชมแน่) ส่วนวิธีการกินหลวงพ่อไม่ได้บอก
ผมบอกให้ ก่อนอาหารสัก ๓ เมตร เม็ดยาโตเท่าเม็ดในของพุทรา อย่าเผลอไปแบบลูกน้องผมบอกยาดีให้ไปปั้นเท่าลูกพุทรา
กินแล้วโอดครวญมาว่ายาท่านให้มาดีจริง กินแล้วแข็งแรง แต่กินยากเหลือทน เพราะผ่าไปปั้นเท่าลูกพุทรา
ดีไม่ติดคอตาย เมียเขาสวดผมแน่
กลับมาหาพระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน ซึ่งห้องพิพิธภัณฑ์ที่สูงค่ายิ่งอยู่ในห้องชั้นฐานของพระมหาธาตุเจดีย์แห่งนี้
การออกแบบได้ใช้ลักษณะของสถูปในสมัยทวาราวดีเป็นพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบ แต่ไม่ได้นำมาทั้งหมด
แต่พยายามใช้รายละเอียดของลวดลายทางสถาปัตยกรรมในสมัยทวาราวดี ซึ่งพบในลายประดับที่พบในเขตจันเสน
และแหล่งโบราณคดีใกล้เคียงมาออกแบบผูกลาย คำจารึกที่ฐานพระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน
มีดังนี้ -
เมืองจันเสนเป็นเมืองนครโบราณสมัยทวาราวดีตอนต้น
ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พัฒนาขึ้นมาจากชุมชนสมัยโลหะตอนปลาย
มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว นับว่าเป็นชุมชนแรกเริ่มในสุวรรณภูมิที่มีการติดต่อกับอินเดีย
ร่วมสมัยกับเมืองอู่ทองในลุ่มน้ำท่าจีน และเมืองฟูนันใกล้ปากแม่น้ำโขง ดังเห็นได้จากโบราณวัตถุที่เป็นตราดินเผา
เศษภาชนะประดับลวดลาย ลูกปัดและเครื่องประดับที่เหมือนกับที่พบในอินเดียและแคว้นฟูนัน
การติดต่อกับอินเดีย ทำให้จันเสนเป็นชุมชนที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่แรกเริ่มดังจะเห็นได้จากการสร้างรูปเคารพ
และของสิริมงคลต่าง ๆ ทั้งยังมีซากสถูปเจดีย์อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
สร้างขึ้นไว้บูชา
เมืองจันเสนเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ชายลำน้ำใหญ่ที่ไหลมาจากเมืองละโว้
และต่อเนื่องขึ้นไปจนถึงเมืองล่าง
และเมืองบนในเขตชัยนาท
และนครสวรรค์ ต่อมาทางน้ำได้ตื้นเขินทำให้เส้นทางคมนาคมเปลี่ยน เมืองจันเสนจึงร่วงโรยไปเช่นเดียวกับเมืองโบราณอีกหลายแห่ง
ในลุ่มแม่น้ำแห่งนี้ จันเสนกลับกลายเป็นชุมชนขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมีการคมนาคมทางเรือไฟ
เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ ทำให้ผู้คนจากสถานที่ต่าง ๆ ในละแวกไกลและใกล้ เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำไร่
ทำนา เกิดวัด บ้าน ตลาดโรงสี
ความสำคัญของจันเสนในเรื่องความเก่าแก่ ปรากฏขึ้นเมื่อมีการค้นพบเมืองโบราณจันเสนจากภาพถ่ายทางอากาศ
ที่มีผลนำไปสู่การขุดค้นทางโบราณคดีอย่างมีระบบ เป็นแห่งแรกในประเทศไทย แต่เมื่อขุดเสร็จแล้ว
เมืองโบราณจันเสนก็ถูกทอดทิ้งเช่นเดิม จนหลวงพ่อโอดได้มาฟื้นฟูขึ้น
ซากเมืองดั้งเดิมนั้นไม่เหลือให้ชม คงเหลือแต่ "บึงจันเสน"
นอกเมืองโบราณที่ใช้กักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามแล้งมาตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนโคกจันเสนหรือเมืองโบราณจันเสนคงเหลือโคกอยู่ในดงไม้
ภาพจิตรกรรมภายใน พระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน เป็นภาพวาดที่งดงามมาก เป็นเหตุการณ์ในพุทธประวัติ
และภาพจะเรียงเวียนไปทางขวา เริ่มตั้งแต่ภาพพระพุทธองค์จุติ ประสูติ ปฐมเทศนา
ทรงโปรด เช่นทรงโปรดพระนางพิมพา ทรงโปรดช้างนาฬาคีรี ทรงโปรดองคุลีมาล โปรดพระพุทธมารดา
และภาพมหาปรินิพพาน
การจัดแสดงภายในห้องพิพิธภัณฑ์จัดอย่างมีระเบียบ อย่างวิชาการที่ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่จันเสนกับสภาพแวดล้อม
การศึกษาทางโบราณคดีบริเวณจันเสน พัฒนาการของชุมชน พัฒนาการของบ้านเมืองในยุคเหล็ก
การขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคล จันเสนเมืองแรกเริ่มในลุ่มลพบุรี ป่าสัก
จันเสนสมัยฟูนัน - สุวรรณภูมิ จันเสนในสมัยทวาราวดี วิถีชีวิตชาวจันเสนในสมัยทวาราวดี
จันเสนสมัยหลังทวาราวดี การฟื้นฟูจันเสน ภูมิปัญญาพื้นบ้านจากคุณตาขุน ด้วงเงิน
การเปลี่ยนแปลงในจันเสน สุดท้ายคือพระครูวิสัยจริยคุณ และเมื่อถึงตอนใด ก็จะมีโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้จากเมืองโบราณจันเสน
หรือจากบริเวณบ้านใหม่ชัยมงคล (มาเริ่มขุดค้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๗)
โบราณวัตถุทุกชิ้นที่นำมาตั้งแสดง พร้อมด้วยคำอธิบาย มีค่าควรแก่การรู้ทุกชิ้น
และมีรูปร่างแปลก ๆ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า หากไปพิพิธภัณฑ์เปิดที่วัดบ้านโป่งมะนาว
อำเภอพัฒนานิคมลพบุรี จะเห็นสภาพคล้ายกัน เว้นแต่ว่าที่โป่งมะนาวนั้น ทางวัดหรือทางศิลปากร
ยังไม่ได้จัดให้เข้าระเบียบ และยังไม่ได้ขุดค้นกันอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
ซึ่งหากช้าคงจะหายหมด ส่วนพวกสำริดนั้นก็คล้ายกับที่โป่งมะนาว และที่พบในแหล่งโบราณคดี
บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี สรุปแล้วจะมีอายุตั้งแต่ ๒,๐๐๐
ปีขึ้นไปจนถึง ๓,๕๐๐ ปี
ผมไม่สามารถอธิบายให้ละเอียดกว่านี้ได้ เพราะโบราณวัตถุที่มีไว้มีมาก และที่ชอบใจอีกอย่าง
มีสาวชาวจันเสนมาคอยแนะนำให้ในวันหยุดราชการ โดยไม่ได้รับค่าจ้างแต่ประการใด
บัณฑิตสาวว่างั้นเถอะ
ร้านอาหารร้านหลักที่จะชวนไปกินเป็นมื้อกลางวันในวันที่ไปพิพิธภัณฑ์จันเสนมีหลายร้าน
ร้านเป้าหมายคือร้านซ้อเกี้ย อยู่ในตลาดอำเภอตาคลี ไม่ไกลนักจากจันเสน และแนะให้ไปวันอาทิตย์เพราะมีตลาดนัดตอนบ่าย
ๆ ที่ข้าง ๆ โรงสีข้าวใหญ่ในตำบล ไม่ไกลจากวัดจันเสน ของราคาถูกมากและของกินมีมาก
เช่นหอยทอดกล่องละ ๑๐ บาท ผัดไทย ๕ บาท รสชาดดีเสียด้วย ชิมมาแล้ว รวมทั้งผักและผลไม้ถูกมาก
เส้นทางไปเมืองโบราณจันเสนไปได้หลายเส้นทาง
เส้นทางที่หนึ่ง
ผมเองก็ไม่เคยไปดูจากแผนที่เลยไม่ทราบหลักกิโลเมตรที่จะเลี้ยว เส้นทางนี้คือไปตามถนนเอเซียซึ่งแยกที่กิโลเมตร๕๔
เลยประตูน้ำพระอินทร์ไปแล้ว ต่อจากนั้นก็วิ่งผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี
แล้วหาป้ายทางเลี้ยวแยกไปบ้านหมี่ เมื่อถึงบ้านหมี่แล้ว เลี้ยวเลาะคันคลองชลประทานไปอีก
๑๗ กิโลเมตร ก็เลี้ยวซ้ายเข้าสู่วัดจันเสน
เส้นที่ผมไปประจำ คือเส้นที่ผ่านลพบุรี แบ่งได้เป็น ๒ สาย ลองเลือกดู
สายแรก
กรุงเทพ ฯ รังสิต สระบุรี (แยกเข้าเลี่ยงเมือง) ลพบุรีถึงวงเวียนสมเด็จพระนารายณ์ก็เลี้ยวขวา
อ้อมวงเวียนไปตามเส้นทางไปโคกสำโรง จนถึงหลักกิโลเมตร๑๖๕ (อยู่ทางขวามือ)
คือสวนศรัณพันธุ์ไม้ ซึ่งเป็นสวนจำหน่ายพันธุ์ไม้ผลราคาถูกและแท้ โดยเฉพาะขนุนไพศาลทักษิณ
นามพระราชทาน ผ่านสวนศรัณไปแล้ว วิ่งตรงต่อไปสัก ๓ กิโลเมตร จะข้ามสะพานคลองชลประทานฯ
จากนั้นก็เลี้ยวขวาไปบ้านหมี่ ต่อไปยังจันเสน เส้นนี้ถนนดีมาก
สายที่สอง
จากกรุงเทพ ฯ ประตูน้ำพระอินทร์ เข้าถนนเอเซีย พอถึงอ่างทองเลี้ยวซ้ายเพื่อข้ามสะพานมาขวา
ไปตามป้ายลพบุรี เมื่อข้ามสะพานกลับมาขวา แล้วตรงไป ๙ กิโลเมตร ถึงคลองชลประทานฯ
วิ่งเลียบคันคลองไป ๔๔ กิโลเมตร ถึงลพบุรี เลียบต่อไปถึงบ้านหมี่ ต่อไปยังจันเสน
ไปสะดวก แต่ถนนคดโค้งไปตามคันคลองชลประทาน
เส้นทางที่ ๒
ควรจะไปกินก่อนคือ กรุงเทพ ฯ ประตูน้ำพระอินทร์ ถนนเอเซีย อินทร์บุรี ชัยนาท
เลี้ยวขวา (เลี้ยวซ้ายข้ามสะพาน) ไปอำเภอตาคลี ข้ามทางรถไฟ แล้วเลี้ยวขวาวิ่งตามถนนที่ขนานกับทางรถไฟจนเห็นธนาคารอยู่ทางขวา
ก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนศรีเทพ ๑ มา ๒๐๐ เมตร แต่หากเลี้ยวเข้ามาก็ถูกจับทันที
เพราะถนนเดินรถทางเดียว ต้องวิ่งเลยไปแล้วเลี้ยวเข้ามาทางขนส่ง แต่สมมุติว่าเลี้ยวเข้าถนนศรีเทพ
๑ ได้ เข้ามา ๒๐๐ เมตร ทางซ้ายคือร้านซิงเกอร์ ทางขวาคือร้านอาหารตามเป้าหมายคือ
"ซ้อเกี้ย" อิ่มแล้ววิ่งรถมาออกถนนสายขนานทางรถไฟใหม่ ตรงเรื่อยไป ประกอบการสอบถาม
ก็จะไปยังวัดจันเสนได้ ที่ต้องถามประกอบเพราะเลี้ยวข้ามทางรถไฟ และฝ่ายบ้านเมืองรวมทั้งการท่องเที่ยว
ขี้เกียจไปทำป้ายชี้ทางไว้ให้จึงต้องถามเอา
หน้าประตูวัดจันเสน ก็มีอาหารอร่อยพื้นบ้านแท้ใช้ได้ อาหารตามสั่งราคาถูกมาก
เข้าวัดไปแล้วหากเลี้ยวซ้ายไปจนถึงริมบึง ทางซ้ายคือร้านก๋วยเตี๋ยว และกาแฟอร่อยมาก
ส่วนใต้ต้นโพธิ์ก็มีไอศกรีมดีอีกนั่นแหละ
ส่วนร้านซ้อเกี้ยนั้นของดีคือ
ข้าวมันไก่ ไก่สับเนื้อขาวแน่น น้ำจิ้มเด็ดมาก ข้าวมันเมล็ดข้าวสวย นุ่ม หอม
เป็ดพะโล้ อร่อยไปอีกแบบต่างกับนายหนับวัดดอนหวาย ราดน้ำพะโล้เข้มข้น รสหวานนิด ๆ
เกาเหลาเป็ดพะโล้ และเกาเหลาไก่ หากไปหลายคนสั่งมาทั้ง ๒ อย่าง ร้อนโฉ่ซดชื่นใจ
ปิดท้ายด้วยโอเลี้ยง รามทั้งบางทีจะมีรถขายไอศกรีมอร่อยมาจอดหน้าร้าน จงชิมเสียโดยเร็ว
.........................
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน | |