| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

ล่องใต้ (๓)

            มาถึงชุมพรแล้ว ควรได้ไปรู้จักเมืองระนองไว้ด้วย เพราะจังหวัดนี้มีพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเสด็จมาประพาสถึง ๔ พระองค์ คือ
                พ.ศ.๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                พ.ศ.๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
                พ.ศ.๒๔๗๑ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
                พ.ศ.๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
            เมืองระนอง จึงได้ชื่อว่า "เมืองเสด็จประทับแรม"
            คำขวัญ ของเมืองระนองคือ "คอคอดกระ ภูเขาหญ้า กาหยูหวาน ธารน้ำแร่ มุกแท้เมืองระนอง"
            ระนอง สันนิษฐานว่า เพี้ยนมาจากคำว่า แร่นอง เนื่องจากเป็นดินแดนที่มีแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย เป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับพม่า และติดชายฝั่งทะเลอันดามัน หรือมหาสมุทรอินเดีย เป็นดินแดนที่มีฝนตกมากที่สุด จนเรียกกันว่า เมือง "ฝนแปดแดดสี่" คือ ในหนึ่งปี ฝนตกเสีย ๘ เดือน แดดออกมีฤดูแล้งเพียงสี่เดือน
            ระนองแบ่งเขตการปกครองเป็น ๔ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง กะเปอร์ กระบุรี ละอุ่น และกิ่งอำเภอสุขสำราญ
            เมืองระนอง เกิดจากการพัฒนามาจากเมืองกระบุรี โดยเกิดขึ้นในปลายกรุงศรีอยุธยา โดยเริ่มจากบริเวณปากแม่น้ำกระบุรี มีหมู่บ้านชาวประมงเกิดขึ้น มีพวกชาวเลอาศัยอยู่ตามเกาะแก่งตั้งแต่เมืองทะวาย ตะนาวศรี มะริด (ตั้งแต่ยังเป็นดินแดนของไทย) เมืองระนอง ตะกั่วป่า และถลาง เป็นถิ่นของพวกชาวเล ที่มีเชื้อสายเดียวกัน เป็นเครือญาติกันมานานนับพันปี
            สำหรับเมืองกระบุรี หรือเมืองตระ นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ซึ่งได้ตั้งเมือง ๑๒ นักษัตร กระบุรีเป็น ๑ ใน ๑๒ นักษัตร ถือตรา  "สุกร" เป็นตราประจำเมือง
            ระนองเดิมขึ้นกับชุมพร เมืองที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน และขึ้นกับชุมพร คือ เมืองตระ (กระบุรี) ระนอง และเมืองมลิวัน ต่อมาเมืองมลิวันถูกโอนไปเป็นดินแดนของเมืองมะริด ขึ้นกับพม่า ต่อมายุบเมืองตระ เป็นอำเภอ เมื่อจัดการปกครองหัวเมืองเป็นแบบมณฑลและเทศาภิบาล ได้โปรด ฯ ให้โอนเมืองระนอง ไปขึ้นกับมณฑลภูเก็ต
            พ.ศ.๒๔๗๖ มีการจัดระเบียบการบริหารเป็นจังหวัด เมืองระนองจึงยกขึ้นเป็นจังหวัดระนอง
            ระนองอยู่ห่างจากชุมพรประมาณ ๑๒๒ กม. ถนนคดโค้งไปตามไหล่เขาแต่ได้ขยายกว้างแล้ว แม้จะยังไม่ขยายเป็นสี่เลน แต่ก็วิ่งได้สบายอย่าขับรถเร็วนักก็แล้วกัน
            เส้นทาง จากกรุงเทพ ฯ ผ่านประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร แล้วเลี้ยวขวาไประนอง ระยะทางประมาณ ๕๖๘ (จากกรุงเทพ ฯ มาตามถนนพระราม ๒)
            การเดินทางไประนอง โดยไปจากชุมพร จุดแรกที่ควรแวะอยู่ที่รอยต่อของ อ.เมืองชุมพร กับ อ.กระบุรี จ.ระนอง คือ หินจปร. อยู่ตรงรอยต่อพอดี เรียกว่าเป็นทั้งเขตชุมพร และระนอง ห่างจากสี่แยกปฐมพรประมาณ ๒๕ กม. อยู่ทางซ้ายมือ กม.๕๒๕ เดี๋ยวนี้สร้างศาลาคลุมไว้ และตกแต่งสถานที่งดงาม อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นที่ตั้งของหินสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ของรัชกาลที่ ๕ ที่ได้ทรงจารึกไว้ครั้งพระองค์เสด็จมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ เสด็จประพาสโดยขบวนช้างและม้า  มาจากชุมพรมาประทับแรม ที่พลับพลาดอนวังทู้ ต.ปากจั่น และหินสลักพระปรมาภิไธยย่อ ภปร.และสก. ไว้ด้วย รวมทั้ง สธ.จารึกไว้เมื่อครั้งเสด็จมาจากชุมพร โดยทางรถยนต์เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒
                ทับหลี  หมู่บ้านซาละเปา กม. ๕๔๑ - ๕๔๒ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว เมื่อผมผ่านมาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ นั้น ทับหลีมีร้านซาลาเปาอยู่ร้านเดียว ผมผ่านมาเจอร้านซาลาเปากลางป่า คิดว่าไม่แน่จริงไม่มาตั้งร้านโดดเดี่ยวเช่นนี้ จอดรถลงซื้อ พอออกรถก็กินทันที ปรากฎว่าไปได้ไม่ไกล สมาชิกลงมติว่า ให้ถอดรถพ่วงออกจากรถจิ๊บ เพื่อกลับรถไปขนซื้อซาลาเปามาอีก เพราะอร่อยเหลือ ไม่แน่ใจว่ายังอยู่หรือไม่ มองไม่เห็น แต่ที่แน่ ๆ คือ มีซาลาเปาทับหลีมากมายหลายสิบร้าน ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา
                คอคอดกระ หรือกิ่วกระ กม.๕๔๕ เป็นส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายู โดยมีระยะจากฝั่งทะเลอันดามัน มายังฝั่งตะวันออกกว้าง ๔๔ กม. มีแผ่นป้ายยกไว้ว่า จุดนี้เหมาะที่จะขุดคลองกระ ขอยืนยันว่า ขุดตรงนี้ไม่ได้ เพราะความแคบอยู่ในแผ่นดินไทยเพียง ๙ กม. นอกนั้นอยู่ในเขตพม่า และความสูงของภูเขา หากขุดคลองบางตอน คลองจะไปอยู่เหนือถนน ซึ่งผมเคยเห็นในประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่คลองอยู่สูงกว่าถนนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔ - ๒๕๔๕ ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหม กลุ่มที่ ๖ และได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานอนุกรรมการ พิจารราการขุดคลองกระ กรรมการแต่ละท่านมาจากหลายสาขา ล้วนต่างเป็นผู้เชี่ยวชาญพิจารณากันอย่างรอบคอบแล้ว ว่าขุดจุดนี้ไม่ได้ แม้ระยะทางจะสั้นกว่าจุดอื่นคือ ประมาณ ๙๐ กม. พิจารณาแนวต่าง ๆ ที่เหมาะสม ตั้งแต่สตูลขึ้นมามีจำนวนมากถึง ๑๑ แนว ที่จะขุดคลองได้ แนวที่เหมาะที่สุดคือ แนวจากตะกั่วป่า มาออกสุราษฎร์ธานี หรืออีกแนว จากตรัง มาออกทะเลสาบสงขลา คลองจะกว้าง ๒๘๐ เมตร ส่วนลึกที่ให้เรือวิ่งลึก ๒๓ เมตร ผลดีที่เกิดขึ้นมีมากมายนานับประการ  นายทุนที่พร้อมจะลงทุน เพื่อการสำรวจ ซึ่งจะต้องใช้เงินในการสำรวจ ๒,๐๐๐ ล้านบาท ก็มีแล้ว ส่วนนายทุนใหญ่ที่จะต้องใช้เงินประมาณ ๙๐๐.๐๐๐ ล้านบาท ก็หาได้ มีหลายประเทศสนใจ รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกหลายคณะ เพื่อพิจารณาผลที่เกิดขึ้น แตกต่างกันออกไป เช่น พิจารณาว่าน้ำเค็มจะซึมเข้าไปในดินลึกแค่ไหน เกิดผลเสียอย่างไร จะป้องกันอย่างไร จะต้องมีประตูน้ำกี่ประตู จึงจะยกระดับน้ำถ่ายเทให้เรือวิ่งผ่านไปมาได้ จะต้องสร้างเมืองหรือชุมชนกี่แห่ง ฯ เมื่อตั้งกรรมการพิจารณาโดยละเอียดแล้ว ชุดของผมก็หมดหน้าที่แล้วก็จบกันแค่นั้น เพราะแม้กรรมการชุดย่อย รายงานผลขึ้นมาก็ไม่มีผลอะไร คงทำมากกว่าชุดอื่น ๆ หน่อย แต่เหมือนกันคือ เปลี่ยนรัฐบาลทีหนึ่งก็ฮือฮาขุดคลองกระกันเสียทีหนึ่ง แล้วก็เงียบหายไป เช่น อ้างว่าตัดถนนสายอันดามันสาย ๔๔ แล้ว วิ่งตรงได้เร็วแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปขุดคลองอีก เอาสินค้าขึ้นจากเรือ แล้วเอามาบรรทุกรถวิ่งข้ามมาฝั่งอ่าวไทย เอาสินค้าลงจากรถ บรรทุกเรือวิ่งเข้าอ่าวไทย คงจะไม่เร็วเหมือนเรือ
                กระบุรี  ขอแนะนำร้านอาหารที่กระบุรีไว้ด้วย ชิมกันมานานตั้งแต่ยังรับราชการอยู่ บชร.๔ หลายร้านยังอยู่ดี อร่อยเหมือนเดิม
                ข้าวมันไก่ทับหลี ต.ละมุ กระบุรี
                ร้านท่าเรือ ติดถนนกระบุรี มองเห็นฝั่งพม่า วิ่งมาถึงหอนาฬิกาแล้วเลี้ยวขวาวิ่งไป จนถึงแม่น้ำกระบุรี อาหารทะเล
                ร้านริมคลอง ร้านนี้เยี่ยมมาก ติดคลอง ถึงหอนาฬิกาเลี้ยวซ้าย มาจนถึงริมคลองร้านอยู่ซ้ายมือ ของฝากก็มี กะปิ กุ้งแห้ง กาหยูชั้นดีจากเกาะพยาม มุก และสิ่งประดิษฐ์จากเปลือกหอยทะเล ปลาเค็ม อาหารอร่อย สั่งเข้าไปเถอะราคาไม่แพง
                ถ้ำพระขยางค์  เดิมชื่อถ้ำเขาหยั่ง อยู่ในเทือกเขาเขตตำบลลำเอียง ห่างจากที่ว่าการอำเภอกระบุรี ๑๘ กม. แยกจากถนนเพชรเกษม ประมาณ กม.๕๖๓.๕๐ ไปชมถ้ำไหว้พระ ความงามของถ้ำและสวนสมุนไพรที่อยู่บนเขา
                น้ำตกชุมแสง  หรือน้ำตกสายรุ้ง  อยู่ที่บ้านปากจั่น ห่างจากกระบุรีไปทางชุมพร ๑๖ กม. บริเวณหลัก กม.๕๒๙.๕๐ มีทางแยกซ้ายมือ มีน้ำเฉพาะฤดูฝน
                น้ำตกกกทราย  แยกจากหลัก กม.๕๕๖.๕๐ มีป้ายบอกทางไปอีก ๑๓ กม. สุดทางถนนแล้วต้องเดินต่อประมาณ ๒๐๐ เมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีน้ำตลอดปี
                อำเภอละอุ่น  มีทางแยกซ้ายก่อนถึง  อ.เมือง จ.ระนอง มีป้ายบอก มีเขาฝาชี ในเขตตำบลบางแก้ว เป็นภูเขาสูง รูปร่างเหมือนฝาชี สูง ๒๕๙ เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นสถานที่ชมทิวทัศน์ที่งดงาม ยามพระอาทิตย์อัสดง สามารถมองเห็นแม่น้ำกระบุรี ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำละอุ่น ในบริเวณใกล้เคียงกัน ยังเป็นที่ตั้งฐานทัพญี่ปุ่นในสมัย สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยังมีหลักฐานสำคัญคือ ซากเรือรบ อุโมงค์ใต้ดิน แนวทางรถไฟ
                ซากเรือรบญี่ปุ่น  เลยทางเข้าเขาฝาชีมาอีกประมาณ ๒ กม. ด้านซ้ายมือบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำละอุ่น ในเวลาน้ำลด จะเห็นซากเรือรบเก่าแก่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งญี่ปุ่นใช้พื้นที่ในตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี เป็นท่าเรือเพื่อส่งกำลังบำรุง ไปยังกองทัพที่ทำสงครามอยู่ในประเทศพม่า
                ผมไประนองครั้งสุดท้าย ไม่ได้ไปพักในตัวเมือง แต่พักที่รีสอร์ทริมทะเล รีสอร์ทติดทะเลปากอ่าว มีหาดทรายส่วนตัว แต่ไม่มากนัก น้ำทะเลใสน้อยไปหน่อย เพราะใกล้ปากน้ำกระบุรี ที่ไหลมาออกทะเลที่จุดนี้ แต่บ้านพักดีมาก มีบรรยากาศร่มรื่น ธรรมชาติริมทะเล มีขุนเขาโอบล้อมคือ เทือกเขานางหงส์ (คนละเทือกเขาที่พังงา ชื่อเดียวกัน) มีเจ็ดสกี บานาน่าโบ๊ต ข้อสำคัญสำหรับผม นักขับรถเที่ยวไป กินไป อยู่ที่ห้องอาหารเคียงทะเล มีอาหารอร่อย และราคาไม่แพง มีทั้งอาหารไทย จีน และยุโรป อาหารสดใหม่จากทะเล กินไป ชมวิวไป ถ้าเป็นเวลากลางวัน ก็วิวฝั่งพม่าคือ เกาะสอง เกาะที่ตั้งของคาสิโน ที่คนไทยหอบเอาเงินไปให้บ่อน
                เส้นทางไปรีสอร์ท หากมาจากชุมพร ผ่านกระบุรี จนถึง กม.๕๙๕ ก็เลี้ยวขวาในเส้นทางไปท่าเรือ ขอพาไปน้ำตกปุญญบาลก่อน น้ำตกนี้สวย ตกสูงจากเทือกเขาอยู่ริมถนน จอดรถชมได้เลย ไม่ต้องเดินไปจากถนนก็ชมได้ เดิมชื่อ น้ำตกเส็ดตะกวด อยู่หมู่ที่ ๗ ตำบลนางนอน ริมทางหลวงสาย ๔ ก่อนถึงตัวเมืองระนอง อยู่ทางซ้ายของถนนตรง กม.๕๙๗.๕ สูงประมาณ ๒๐ เมตร ตกลงมาหลายชั้น ฤดูฝนจะสวยมาก น้ำไหลแรง เหมาะสำหรับแวะท่องเที่ยว ชมความงาม ความร่มเย็นของสถานที่ มีบริเวณที่จอดรถ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ชมน้ำตกแล้ว หากพักในตัวเมือง ก็วิ่งรถตรงต่อไปได้เลย อีกไม่กี่ กม. ก็จะถึงตัวเมืองระนอง
                แต่ผมพักรีสอร์ทนอกเมือง จึงวิ่งย้อนกลับมาอีก ๒ กม. แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนทางหลวงชนบท ทางด้านซ้ายเป็นภูเขา ทางขวาของถนนเป็นธารน้ำสวยมาก บางตอนไหลผ่านระหว่างเขา วิ่งมาประมาณ ๕ กม. ถนนเลียบทะเล ผ่านท่าเรือระนอง (จากจุดนี้เข้าเมืองระนอง ๑๐ กม.) จากท่าเรือมา ๒ กม. จะถึงบ้านพักดีมาก มองข้างนอกก็บ้านธรรมดา ๆ แต่ภายในแต่งทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม ห้องน้ำโปร่ง หลังคาโปร่งแสง แสงสว่างส่องเข้ามาได้
                ที่พักไม่ไกลจากในตัวเมือง จะวิ่งเข้าเมืองก็คงใช้เวลาสัก ๑๕ นาที แต่เห็นรถจากในเมืองมาจอดกินอาหารมื้อเย็นกัน แน่นเต็มร้าน หากไม่เด็ดจริง เขาคงไม่วิ่งออกมานอกเมือง เลยตกลงว่าไม่เข้าไปกินอาหารมื้อเย็นในเมือง จะกินที่ห้องอาหารของรีสอร์ท ไปนั่งตั้งแต่ยามเย็น มองดูพระอาทิตย์ตกลงฝั่งพม่า ทิวทัศน์ ๒ ประเทศ
                รีสอร์ทแห่งนี้ ราคาที่พักคืนละ ๑,๐๐๐ บาท ไม่รวมอาหารเช้า ซึ่งผมต้องการเช่นนั้นอยู่แล้ว เพราะจะไปหาของอร่อยมื้อเช้าที่ในเมือง
                ก่อนจะพาเข้าไปชิมอาหารเย็น ขอแนะนำอทุยานแห่งชาติระนอง เสียก่อน
                ระนองมีอุทยานแห่งชาติ ๔ แห่ง คือ
                อุทยานแห่งชาติแหลมสน  อำเภอกะเปอร์ ติดต่อ ๐๘๑ ๒๒๙ ๖๗๖๓ ประกอบด้วยพื้นที่ริมทะเล ตั้งแต่ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง ลงไปทางใต้ ครอบคลุมพื้นที่ในเกาะต่าง ๆ ในทะเลอันดามัน เกาะค้างคาว หมู่เกาะกำ ที่ทำการ อช.อยู่ที่หาดบางเบน มีบ้านพักและร้านอาหารบริการ ติดต่อบ้านพัก ได้ที่ ๐๒ ๕๗๙ ๗๒๒๓
                อุทยายแห่งชาติลำน้ำกระบุรี  บ้านหินช้าง อ.เมือง จ.ระนอง
                อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม ขอเล่ารายละเอียดในภายหลัง เพราะผมไปนอนหลายคืน ได้ชมทั้งความงามของเกาะ น้ำทะเล ความสนุก และอาหารอร่อย
                อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว  ติดต่ออุทยาน ๐๗๗ ๘๑๑ ๒๖๗
                ก่อนจะไปเที่ยวอุทยานหมู่เกาะพยาม และ อช.น้ำตกหงาว ไปกินอาหารเย็นกับผมก่อน ความอร่อย และราคาทำให้มื้อเย็น ๒ วัน ไม่เข้าเมือง
                ไปพอดีเทศกาลที่เขาจัดอาหารชุด ราคาชุดละ ๓๙๙ บาท เท่านั้น ไปกันหลายคน จึงสั่งมา ๒ ชุด ไม่ทราบว่าเขามีอาหารชุดตลอดปีหรือเปล่า ชุดแรก มี
                ปลาเก๋าสามรส มีสับปะรดวางเคียง พร้อมกล่ำปลี แครอต ปลาเนื้อนุ่ม รสเข้าเนื้อปลา ต้องกินกับข้าว เพราะอาหารรสจัด
                กุ้งผัดสะตอ รสค่อนข้างเผ็ด เผ็ดอร่อย รสจัดแบบอาหารใต้
                ปลาทรายทอดกระเทียม หอยแครงลวกน่ากิน และคะน้าผัดเต้าเจี้ยว ผักสด
                ชุดที่ ๒ มี
                แกงส้มปลากะพงแป๊ะซะ ใส่มาในจานแป๊ะซะ รสเปรี้ยวนำ ผักกะเฉด ผักกาดขาว น้ำแกงพร่อง ขอเติมได้อีก ซดกันไม่อั้น
                กุ้งผัดกะปิสะตอ รสใต้แท้
                ทอดมันปลาเหนียวหนึบ เคี้ยวหนุบหนับ ตามสูตร
                ใบเหลียงผัดไข่ใส่วุ้นเส้น มาใต้พบอาหารใบเหลียงที่ไหนอย่าลืมสั่งมาชิม เพราะภาคกลางไม่มีใบเหลียง เอามาปลูกก็ไม่งาม ต้นชะมวงจากจันทบุรีก็เช่นกัน เอามากปลูกใบไม่โต เท่าทางจันทบุรี เลยแกงชะมวงไม่ได้รสเท่า ชะมวงเมืองจันทน์
                ยำเคียงเล ปลาหมึก กุ้ง ลูกชิ้นปลา ยำรวมกันมา
                อาหารล้วนแต่เรียกเติมข้าวทั้งนั้น ข้าวโถเดียวไม่พอ อาหารว่ามากแล้ว ยังสั่งมาเพิ่มอีก ด้วยความอยากคือ ปูนิ่มทอดกระเทียมพริกไทย จานนี้จบแล้วไม่เหลืออะไรทิ้งไว้ในจานให้ชมเลย เกลี้ยงจานจริง ๆ
                ของหวาน กล้วยหอมทอด แป้งที่ทอดมาคลุมกล้วยหอม ค่อนข้างแข็ง แต่พอส่งเข้าปาก ก็กรอบไปทั้งลูก และมีน้ำจิ้มกล้วยหอมทอดด้วย เป็นน้ำหวานเฮลส์บลูบอย สีแดง ผสมนมข้น อร่อย แปลกดี

...............................................................



| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |