| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
คำขวัญคำหนึ่งของเมืองระนอง คือ กาหยูหวาน แต่ไม่ได้อร่อยหวานไปทั้งเมืองต้อง
กาหยู หรือมะม่วงหิมพานต์ที่ เกาะพยาม
เกาะพยาม
ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม ที่ทำการอุทยานไม่ได้อยู่บนเกาะ ตั้งอยู่ที่คลองหัวถนน
บ้านท่าฉาง หมู่ที่ ๓ ตำบลงาว อ.เมือง จ.ระนอง ห่างจากตัวเมืองระนองประมาณ
๑๙ กม. ผมขอเล่าถึงเกาะพยามซึ่งเป็นเกาะหนึ่งในหลาย ๆ เกาะของอุทยาน ฯ ผมเคยไปเที่ยวไปนอนพักที่เกาะพยามถึง
๒ ครั้ง จึงอยากจะเอามาเล่าให้ทราบ และการไปพักไปเที่ยว ไปกับบริษัททัวร์
ซึ่งมีจัดทัวร์ท่องเที่ยวหลายบริษัท ถามจากโรงแรมที่พักในระนองก็คงทราบ เกาะพยาม
อยู่ห่างจากปากน้ำระนองไปประมาณ ๓๓ กม. เป็นแหล่งปลูกมะม่วงหิมพานต์ที่ดีที่สุด
สมกับคำขวัญที่ว่า กาหยูหวาน ประวัติการปลูกกาหยู ซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับมะม่วง
ผลคล้ายรูปไต เปลือกแข็ง มีเมล็ดอยู่ภายใน ยางเป็นพิษ แต่เนื้อกินได้ แต่เอามากินกันเฉพาะเมล็ดราคาจึงแพง
มีถิ่นกำเนิดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี
เป็นผู้นำเมล็ดมาจากมลายู มาปลูกที่ระนองเป็นครั้งแรก ใช้ประโยชน์ได้ทั้งราก
ก้าน ใบดอก ยอดและเมล็ด สายพันธุ์พื้นเมืองที่นิยมปลูกกันมากคือ สายพันธุ์เกาะพยาม
ชื่อเรียกเฉพาะท้องถิ่นเรียกต่าง ๆ กันออกไป นครศรีธรรมราช เรียก เล็ดลอด
หรือ เล็ดล่อ สงขลา ยะลา ปัตตานี เรียก หัวครก ภูเก็ตเรียกว่า ลูกย่าโห้ย
พังงาเรียก กาหยี พอมาถึงระนองเรียก กาหยู แต่กรุงเทพ ฯ เรียก มะม่วงหิมพานต์
เกาะพยามมีหาดทรายขาวสะอาด เป็นหย่อม ๆ สลับกับป่าไม้ หาดสวยมากหากได้ลงเรือเที่ยวชมความงามรอบเกาะ
จะเพลิดเพลินอย่างยิ่ง รักธรรมชาติไปเกาะพยาม ต้องนอนสัก ๒ คืน พื้นที่ของ
อช.หมู่เกาะพยาม แบ่งพื้นที่ออกได้เป็น ๓ กลุ่มคือ
๑. กลุ่มพื้ที่ชายฝั่งทะเล มีลักษณะเป็นหาดงอกยื่นลงไปในทะเล เป็นป่าชายเลน
๒. กลุ่มพื้สี่เกาะที่ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่ง ได้แก่ เกาะบางจาก เกาะยิว เกาะทรายดำ
เกาะสน และเกาะบริวารอื่น ๆ แต่ละเกาะมีป่าชายเลน บนเกาะมีป่าดงดิบชื้นปกคลุม
๓. กลุ่มพื้นที่และที่ตั้งอยู่ห่างจากแนวชายฝั่ง ได้แก่ เกาะช้าง เกาะทลุ
เกาะตาครุฑ เกาะหม้อ เกาะปริง เกาะไร่ เกาะไฟไหม้ และเกาะพยาม แต่ละเกาะจะมีป่าดงดิบชื้น
รอบเกาะจะมีแนวปะการัง กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
กิจกรรมการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะพยาม
มีรูปแบบต่าง ๆ คือ
๑. กิจกรรมเดินป่า
ไปตามเส้นทางเดินเท้าที่ตัดผ่านเข้าไปในป่า
๒. กิจกรรมถ่ายรูปตามธรรมชาติ
เช่น ถ่ายดอกไม้ป่า พืชหายาก และสัตว์ต่างๆ
๓. กิจกรรมดูนก
นกประจำท้องถิ่น และนกอพยพ อย่าลืมพกกล้องดูนกไปด้วย
๔. กิจกรรมแล่นเรือ และศึกษาธรรมชาติ
(เรือให้รีสอร์ทจัดให้ แล้วแต่ตกลงกัน)
๕. กิจกรรมดำน้ำชมปะการัง
เกิดความเพลิดเพลิน ใกล้ชิดกับธรรมชาติ
๖. กิจกรรมพักแรมด้วยเต็นท์
บริเวณกลางป่า และชายหาดตามเกาะ
การไปเที่ยวเกาะพยาม ขอแนะนำว่าต้องไปกับทัวร์ ส่วนผมไปเองแบบทุลักทุเลทัวร์
เพราะตอนนั้นที่พักบนเกาะพึ่งเปิดใหม่ ๆ การเดินทางไปเกาะพยาม ที่อยู่ห่างจากปากน้ำระนองประมาณ
๓๓ กม. ลงเรือที่ท่าเรือเอนกประสงค์คือ ใช้งานหลายอย่างรวมทั้งขนปลาขึ้นจากเรือด้วย
เรือที่รีสอร์ทจัดมารับใช้เวลาวิ่งประมาณ ชั่วโมงเศษ ๆ พอไปขึ้นยังท่าเรือเกาะพยาม
ก็มีแต่รถมอเตอร์ไซด์ หรือมิฉะนั้นต้องเดินขึ้นเขาไป ผมไม่ได้ซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซด์
มาหลายสิบปี และขายาวด้วย จึงออกจะเก้งก้างพอสมควร บนเกาะไม่มีรถยนต์ เพราะไม่มีถนนรถยนต์
มีแต่ทางคอนกรีตให้รถมอเตอร์ไซด์วิ่งได้ รถพาวิ่งไปตามทางคอนกรีต คดโค้งไต่ขึ้นเนินเขาไปตลอด
คงจะประมาณสัก ๒ กม. ก็จะถึงเรือนรับรองของรีสอร์ท เป็นห้องอาหารด้วย ใต้ถุนสูง
มีห้องโล่งกว้างขวาง ด้านหน้ามีสระว่ายน้ำ มองไปจะเห็นฝั่งทะเลงดงามมาก
ส่วนบ้านพักอยู่แยกออกไปจากบ้านรับรอง ปลูกลดหลั่นไปตามไหล่เขา ไม่ใกล้ชิดกัน
ได้อยู่อย่างสงบ เป็นบ้านพักห้องเดี่ยว บ้านไม้ตกแต่งบ้านเข้ากับธรรมชาติ
เรียกว่าปลูกได้เก๋ทีเดียว และต้องชมเชยในความอุตสาหะ ที่ต้องขนวัสดุก่อสร้างมาจากฝั่งเมืองระนอง
บนเกาะไม่มีขาย มีแต่ร้านเล็กๆ แบบโชห่วย ไม่กี่ร้าน รีสอร์ทมีหลายแห่งเหมือนกัน
ร้านอาหารมี ๒ - ๓ ร้าน ตอนนี้อาจจะมีหลายร้านแล้วก็ได้ ไปไหนต้องเดิน หรือซ้อนมอเตอร์ไซด์
เท่านั้น ในบ้านพักมีเตียงเดี่ยว บางหลังก็เตียงคู่ เป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง
ใช้วัสดุธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ระเบียงน้อยๆ ปูด้วยไม้ไผ่ ฝาด้านนอกไม้ไผ่ขัดแตะ
ด้านในบุด้วยไม้เนื้อแข็ง ห้องน้ำไม่มีหลังคา เปิดโล่ง ปลูกล้อมต้นไม้ที่ยังไม่ตายเอาไว้
หน้าระเบียงวางที่นอนเล็ก ๆ ให้นอนเล่น หมอนพร้อม จากระเบียงมองออกไป เห็นทะเล
ป่าเขา สวยมาก
ธรรมชาติสวยเหลือเกินต้องนอน ๒ คืน เดินเที่ยวกันในวันแรกที่ไปถึง วันที่สองลงเรือเที่ยวรอบเกาะ
เขาจัดบาบีคิว ไปปิ้งย่างกันที่ชายหาดแสนสวย แล้วกลับมานอนอีกคืน อาหารดีมาก
เช่น ปูม้าผัดกะเพรา อุตสาหกรรมหลักของเกาะพยามคือ การจับกุ้งแชบ๊วย และปู
ส่งเข้าระนอง รวมทั้งเลี้ยงไข่มุก และปลูกกาหยู ต้องสั่งอาหารกุ้ง ปู เข้าไว้เพราะสดจริง
ๆ กุ้งอบเกลือ ปูนึ่ง จิ้มน้ำจิ้มรสแซ๊บ พล่าปลาหมึก ฯ
ตอนที่ผมไปพัก กำลังเริ่มโครงการถนนในหมู่บ้าน คงจะมีแผนจะเอารถยนต์ข้ามไปเกาะ
เพราะเกาะมีทั้งสวนมะม่วงหิมพานต์ที่ดีที่สุด การทำยางแผ่น ฟาร์มแย้ ศูนย์แปรรูปผลิตผลทางการเกษตร
โครงการถนนในหมู่บ้าน จากท่าเรือเกาะพยาม มายังอ่าาวกลางปีป นอกจากนี้ยังมี
อ่าวแม่หม้าย อ่าวหินขาว อ่าวเขาควาย (ปลาชุมมาก) แหลมหิน แหลมหริ่ง อ่าวใหญ่
(มีบังกะโลมาก) เป็นอ่าวที่สวยที่สุดของเกาะ อ่าวมุก เกาะขาม ไม่ไกลกันมีรีสอร์ท
ราคาย่อมเยา ฝรั่งมาพักนอนกันเป็นเดือนเลยทีเดียว เพราะหาดสวยเงียบสงบ "วัดเกาะพยาม"
อยู่ใกล้ท่าเรือ มีโบสถ์อยู่กลางทะเล เดินไปได้
ขอเล่าอาหารอีกที เพราะพัก ๒ คืน มื้อหนักคือ มื้อเย็น อากาศดีเหลือเกิน นั่งซดกันสนุก
อากาศดี อาหารดี บรรยากาศเยี่ยม มื้อเย็น วันที่ ๒ ปลากระบอกทอดกระเทียมพริกไทย
แกงป่า อาหารประจำชาติ (ผมยกย่องให้เอง) คือ ไข่เจียวร้อน ปลาหมึกย่าง
จิ้มน้ำจิ้มซีฟู๊ด ผัก มีผักกาดนกเขา ภาคกลางเรียก ผักหูปลาช่อน อีสานเรียก
หูปลาไหล มะระขี้นก ยอกมะระขี้นก ผักฉิ่ง หรือลูกฉิ่ง ลูกคล้ายมะเขือพวง ใบแซะ
ยอดมะม่วงหิมพานต์ จัดใส่จานมาเป็นผักเหนาะ ประกอบอาหารปักษ์ใต้
อาหารเช้า ๒ มื้อ มีคล้าย ๆ กันคือ ข้าวต้มทะเล ใส่กุ้ง ปลาหมึก สดมาก โดยเฉพาะปลาหมึกนั้น
หวาน กรอบ ในคณะที่ไปด้วยคราวนี้มีผัวเมียคู่หนึ่ง กินข้าวต้มคงจะแก้เมาค้าง
เพราะปรุงข้าวต้มเป็นต้มยำ ใส่น้ำส้ม น้ำตาล พริกป่น ลงไปในข้าวต้มกุ้ง ซดเหงื่อแตกพลั่กเลยทีเดียว
จะเอาอย่างบ้างก็สู้เผ็ดไม่ไหว
การเดินทางไปเกาะนั้น หากไปเรือเร็วให้เขาจัดให้ จะวิ่งประมาณ ๔๐ นาที เท่านั้นเอง
ผมเคยไปทั้งเรือเร็ว และเรือโดยสารไปเกาะ ป่านนี้ถนนโครงการบนเกาะอาจเสร็จแล้ว
ได้เล่าแล้วว่า ระนองเป็นเมืองที่มีพระมหากษัตริย์เสด็จมาประทับแรมถึง ๔ พระองค์
โดยเสด็จมาประทับแรมที่ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ ๓ พระองค์คือ รัชกาลที่ ๕
รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ เจ้าเมืองระนองที่รับเสด็จรัชกาลที่ ๕ คือ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี
(คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ซึ่งเป็นบุตรคนที่ ๒ ของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง
ต้นตระกูล ณ ระนอง) ได้สร้างพลับพลาที่ประทับรับเสด็จ และได้ขอรับพระราชทานชื่อพลับพลา
และขอรับพระราชทานชื่อถนนด้วย
ในพระราชนิพนธ์ว่าด้วยเมืองระนอง ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตอนหนึ่ง ได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า "พระยาระนองขอให้ตั้งชื่อพลับพลานี้ เป็นพระที่นั่ง
ด้วยเขาจะรักษาไว้เป็นที่ถือน้ำพิพัฒน์สัจจา และขอให้ตั้งชื่อถนนด้วย จึงให้ชื่อพระที่นั่งนี้ว่า
"รัตนรังสรรค์"
เพื่อจะให้แปลกล้ำพอมีชื่อผู้ทำเป็นที่ยินดี เขาที่ทำเป็นวังนี้ให้ชื่อว่า
"นิเวศน์คีรี"
ถนนตั้งแต่ท่าขึ้นมา จนสุดตลาดเก่าแปดสิบเส้นเศษ ให้ชื่อว่า "ถนนท่าเมือง"
ถนนทำใหม่ตั้งแต่สามแยกตลาดเก่า ไปตามหน้าบ้านใหม่พระยาระนองถึงตะพานยูง เป็นถนนใหญ่เกือบเท่าสนามไชย
ให้ชื่อว่า "ถนนเรืองราษฎร์"
ถนนตั้งแต่ตะพานยูง ออกไปจนถึงฮ่องซุ้ยพระยาดำรงสุจริต สัก ๗๐ เส้นเศษ หย่อนหน่อยหนึ่ง
ให้ชื่อ "ถนนชาติเฉลิม"
ถนนตั้งแต่ถนนไปบ่อน้ำร้อน ถึงเหมืองในเมืองให้ชื่อ "ถนนเพิ่มผล"
ถนนทางไปบ่อน้ำร้อน ๗๐ เส้นเศษ ให้ชื่อ "ถนนชลระอุ"
ถนนหน้าวังซึ่งเป็นถนนใหญ่ให้ชื่อ "ถนนลุวัง"
ถนนออกรอบตลาดนัด ต่อกับถนนลุวังกับถนนเรืองราษฎร์ เป็นถนนใหญ่ระยะทางสั้นให้ชื่อ
"ถนนกำลังทรัพย์"
ถนนตั้งแต่ถนนเรืองราษฎร์ ถึงถนนชลระอุ ผ่านหน้าศาลชำระความ ซึ่งทำเป็นตึกสี่มุกขึ้นใหม่
ยังไม่แล้วให้ชื่อ "ถนนดับคดี"
ถนนแยกจากถนนเรืองราษฎร์ ไปทางริมคลองให้ชื่อ "ถนนทวีสินค้า"
กับอีกถนนซึ่งพระยาระนองคิดจะทำออกไปถึงตำบลหินดาด ซึ่งเป็นทางโทรเลข ขอชื่อไว้ก่อน
จึงได้ชื่อว่า "ถนนผาดาด"
ถนนซึ่งเขาทำและได้ให้ชื่อทั้งปวงนี้ เป็นถนนที่น่าจะได้ชื่อจริง ๆ ให้ถมด้วยศิลากรวดแร่แข็งกร่าง
และวิธีทำท่อน้ำของเขาเรียบร้อยทุกหนทุกแห่ง ฝนตกทันใดนั้น จะไปแห่งใดก็ไปไม่ได้..."
ในนิพนธ์ได้กล่าวไว้ ๑๐ สาย แต่ได้พระราชทานไว้ทั้งสิ้น ๑๓ สาย อีก ๓ สาย
คือ ถนนราชพาณิชย์ ถนนกิจผดุง
และถนนบำรงสถาน
หากเอามาเขียนเรียงกันทั้ง ๑๓ สาย จะเห็นว่าคล้องจองกัน ตั้งแต่ ท่าเมือง
เรืองราษฎร์ ชาติเฉลิม ...ผาดาด ราชพาณิชย์
พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ นี้ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ได้ดัดแปลงก่อสร้างเป็นเรือนตึก
๒ ชั้น แล้วใช้อาคารหลังนี้เป็นศาลากลางของเมืองระนอง ซึ่งต่อมาได้มีการื้อถนนศาลากลางหลังนี้
เพื่อก่อสร้างอาคารศาลากลาง จังหวัดใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗
ปัจจุบันได้สร้างพระที่นั่งจำลองขึ้นใหม่ บนเนินเขาในเส้นทางจากรีสอร์ทเขานางหงส์
มาเข้าเมืองโดยจะผ่านสุสานเจ้าเมือง แล้วมาผ่านพระที่นั่งที่งดงาม สง่า อยู่บนเนินเขา
และเส้นทางนี้ จะผ่านต่อไปยังในเมือง ซึ่งยังเป็นถนนแคบ ๆ และมีตึกเก่าแก่อายุประมาณ
๑๐๐ ปี ลักษณะการก่อสร้างมีโครงสร้างที่แข็งแรง ศิลปะแบบจีนผสมตะวันตก มีทั้งอาคารเดียวและติดต่อกันเป็นแนวยาว
มีซุ้มประตูโค้ง เสาอาคารต้นโต ๆ และแข็งแรง ชั้นบนประตูหน้าต่าง มีรูปทรงโค้งกลมกลืนกับชั้นล่าง
ถนนภายในตัวเมืองเก่านี้ จะออกไปเชื่อมกับถนนสายที่ไปยังท่าเรือ และท่าข้าม
ไปเกาะพยาม (มีป้ายบอก) สายไปท่าเรือเป็นถนนสี่เลน ด้านซ้ายของถนนมีร้านอาหารหลายร้าน
เคยลองชิมดูเป็นอาหารเช้า เป็นร้านเป็ดย่าง แขวนไว้ในตู้มองดูน่ากิน ไม่มีชื่อร้าน
นอกจากเขียนว่า เป็ดย่าง อยู่ติดกับอาคารมูลนิธิระนองสงเคราะห์ เป็ดย่าง หมูแดง
อร่อยมาก ๆ และยังมีมะระตุ๋น ฟักตุ๋น เป็ดตุ๋นยาจีน อร่อยทุกอย่าง ร้านรวงแถวนี้
อย่าไปแปลกใจที่จะเขียนป้าย หรืออธิบายอะไรจะใช้ภาษา ๒ หรือ ๓ ภาษา คือ ไทย
พม่า อังกฤษ เพราะระนองมีลูกจ้างเป็นชาวพม่า มากกว่าประชากรไทย
พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่บนเนินประวัติศาสตร์
ทางทิศตะวันออกของศาลากลาง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗
พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่ภายในบริเวณสนามกีฬาระนอง
สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓
ศาลหลักเมืองระนอง เทศบาลเมืองระนอง ได้ริเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ ไม้ที่เอามาทำเป็นเสาหลักเมือง
เป็นไม้จากต้นราชพฤกษ์อายุร่วมร้อยปี
หอพระประจำจังหวัดระนอง อยู่ทางใต้ของศาลากลางจังหวัด ประดิษฐานรูปพระเกจิอาจารย์
๙ องค์คือ หลวงพ่อบรรณ หลวงพ่อจันทร์ หลวงพ่อเบี้ยว หลวงพ่อนุ้ย หลวงพ่อติ้ว
หลวงพ่อน้อย หลวงพ่อรื่น หลวงพ่อพลอย และหลวงพ่อคล้าย
ผมยังเล่าเรื่องของระนองยังไม่จบ ขอผลัดไปอีกสักตอน จะข้ามไปไม่ได้ คือ อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว
และบ่อน้ำร้อน
มีร้านอาหารเก่าแก่อยู่ร้านหนึ่ง เส้นทางออกจะไปยากสักนิด แต่ชาวเมืองส่วนมากรู้จักกันดี
ถามหาร้านถอดรองเท้า มักจะบอกทางให้ได้ เข้าทางซอยโรงพยาบาลระนอง ถึงแยกโรงพยาบาลเลี้ยวขวา
ตรงไปแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนชลระอุให้ตรงต่อไป จนสุดถนนชลระอุ แยกสะพานสูง
ตรงไปอีก ถึงกำแพงเก่า จวนเจ้าเมืองระนอง เลี้ยวขวาเลียบกำแพง จอดรถได้เลย
ร้านนี้สะอาดมาก จนลูกค้าเข้าร้านถอดรองเท้า เข้าไปนั่งกินอาหาร ชุมชนโรงกลวง
มีอายุมานานกว่าร้อยปี ร้านเลยเรียกกันติดปากว่า ร้านถอดรองเท้า
เส้นทางที่ ๒ จากโรงแรมจันทร์สมธารา ตรงมาตามถนนสาย ๔ ที่กลับไปชุมพร ถึงสะพานให้เลียบข้างเชิงสะพาน
ทางจะเข้าไปยังคาเฟ่ แล้วตรงไปตามถนนชลระอุ ผ่านคลองหาดสมแป้น เลี้ยวซ้าย
เลี้ยวข้างสะพานตรงคาเฟ่
ยำไข่ปลา เปรี้ยวด้วยมะม่วง เคี้ยวมันดีนัก
ใบเหลียงผัดไข่ใส่วุ้นเส้น ใบเหลียงนี้เขาบอกว่า ที่ระนองจะอร่อยกว่าที่อื่น
ถ้าปลูกกลางแดด ได้รับแดดมาก ใบจะโต
ต้มส้มปลากระบอก ยกมาร้อน ๆ ซดกันเพลินไปเลย
ปูนิ่มผัดผงกะหรี่ ปูนิ่มของระนองเด่นมาก ดูเหมือนจะเลี้ยงเอง เพราะปูนิ่มเดี๋ยวนี้เลี้ยงกันได้แล้ว
ใส่ใบขึ้นใช่ หอมหัวใหญ่ จบแล้วไม่เหลืออะไรไว้ในจาน
แกงเหลือง ปลาสีเสียด มาปักษ์ใต้ อย่าข้ามแกงเหลืองไป แกงเหลืองเป็นอาหารจานเด่นของร้านโรงกลวงด้วย
ใส่ถั่วฝักยาว ดอกกะหล่ำ เม็งมะพร้าว รสจัด
...............................................................
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป | |