| ย้อนกลับ |

ลพบุรี

            ผมเล่าเรื่องเมืองลพบุรีโบราณไปแล้ว ในชื่อเรื่องว่าเมืองละโว้ ลพบุรีอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ฯ มากนัก (๑๕๔ กิโลเมตร) แต่ซ่อนอะไร ๆ ที่น่าเที่ยว น่ารู้ไว้มากมาย เช่นเมื่อตอนเช้าวันนี้เองผมดู ที.วี. ไม่บอกละครับว่าช่องไหน เพราะผมจะเสียดสีเขาด้วย เขาบอกว่า ลพบุรีเดี๋ยวนี้เลี้ยงอูฐขายแล้ว จากนั้นก็มีภาพฝูงอูฐกำลังกินอาหารในรางให้อาหารและกินหญ้า แต่ไม่ได้บอกละเอียดว่าอยู่ตรงไหนของเมืองลพบุรี ไม่เช่นนั้นผมจะวิ่งไปดูฟาร์มอูฐ แล้วเอามาเขียนเล่าให้ฟังในวันนี้ การกระจายภาพแหล่งท่องเที่ยวทาง ที.วี. นั้นชักชวนคนไปเที่ยวได้ดียิ่งกว่าเขียนเป็นตัวหนังสือ เพราะภาพของแหล่งท่องเที่ยวจะเด่นออกมา ชวนให้ไปชม แต่สังเกตว่าการแพร่ภาพนั้นจะขาดรายละเอียดในการเดินทาง ขาดตำบลที่อยู่โดยแน่นอน เวลาผมเขียนผมจึงพยายามให้รวยละเอียดแต่ก็ให้ทั้งหมดไม่ได้เช่นกัน เพราะจะจำกัดด้วยหน้ากระดาษ ก็ได้แต่บอกพอสังเขปเว้นจุดที่จะนำไปชมซึ่งเป็นพระเอกประจำคอลัมน์ และร้านอาหารที่จะเป็นนางเอกประจำคอลัมน์ก็จะบอกโดยละเอียด อดีตของผมเมื่อออกรับราชการนั้นเป็นนายทหารปืนใหญ่ เริ่มต้นรับราชการกันที่ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ โคกกระเทียม อำเภอเมือง ฯ จังหวัดลพบุรี ทหารปืนใหญ่นั้นเวลาบอกเป้าหมายจะต้องให้ละเอียดชัดเจน เพราะคนยิงปืนใหญ่อยู่ไกล มองไม่เห็นที่หมาย  คนที่เห็นที่หมายคือผู้ตรวจการณ์หน้าของทหารปืนใหญ่ ต้องบอกให้ดี ๆ ไม่งั้นกระสุนปืนใหญ่อาจจะไปตกลงหัวทหารราบฝ่ายเดียวกันได้ ผมจึงพยายามบอกทิศทางของเป้าหมายของผม คือที่ตั้งร้านอาหารและแหล่งท่องเที่ยวให้สามารถไปได้ถึงที่หมาย
            ขอทบทวน ละโว้ หรือ ลพบุรีอีกที
            ที่บ้านท่าแค  อำเภอเมือง ฯ  ขุดพบโครงกระดูกและภาชนะดินเผา อายุ ๔,๕๐๐ - ๕,๐๐๐ ปี
            ที่บ้านโคกเจริญ  พบโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่  อายุ ๒,๗๐๐ - ๓,๕๐๐ ปี
            ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่  พบกระดูกมนุษย์ยุคสำริด  อายุ ๒,๓๐๐ - ๒,๗๐๐ ปี
            เป็นชุมชนโบราณสมัยทวาราวดี มีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมประมาณ ๑,๐๐๐ ปี เช่น ที่เมืองโบราณซับจำปา อยู่ในเขตอำเภอท่าหลวง เมืองโบราณโงมะรุม อยู่ในเขตอำเภอโคกสำโรง เมืองใหม่ไพศาลี ที่ตำบลโคกเจริญ
            พบเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น เหรียญทำด้วยเงินมีลายดุน มีหลักฐานแสดงการค้าขายติดต่อกับอินเดีย (รอเอาไว้เล่าในเรื่อง จันเสนเมืองโบราณ) เป็นศูนย์กลางทางศาสนา
            ในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘ ได้รับอิทธิพลจากขอมอย่างเต็มที่ จึงเกิดโบราณสถานแบบขอม เช่น ศาลพระกาฬ ปรางค์สามยอด ปรางค์แขก
            เป็นศูนย์กลางของศิลปะวิทยาการ ในสมัยสุโขทัยนั้นพ่อขุนรามคำแหงได้เสด็จมาศึกษาเล่าเรียนที่เขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง รวมทั้งพ่อขุนงำเมืองแห่งพะเยาด้วย (แต่ไม่ได้มาพร้อมกัน)

            ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ด้วยเหตุผลทางการเมือง และการเริ่มเข้ามาวุ่นวายของชาติมหาอำนาจจากยุโรป จึงทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นเป็นที่ประทับ และพัฒนาจนประดุจเป็นราชธานีแห่งที่ ๒ รองจากกรุงศรีอยุธยา และเสด็จมาประทับปีละหลาย ๆ เดือน
            ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะฟื้นฟูเมืองลพบุรีในปี พ.ศ.๒๔๐๖ และสร้างหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฏ ขึ้นเป็นที่ประทับในพระราชวังของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
            พ.ศ.๒๔๘๐ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งอดีตคือนายทหารปืนใหญ่ ได้พัฒนาเมืองลพบุรี เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการทหาร วางผังเมืองใหม่ แยกชุมชนและสถานที่ราชการออกจากบริเวณเมืองเก่า ก่อสร้างศิลปะแบบอาร์ตเดโค (จะดูกันให้ซึ้งเห็นจะต้องไปดูที่เมืองเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์) ขึ้นหลายแห่ง เช่น ตึกชาโด้ ในศูนย์การทหารปืนใหญ่ ตึกเอราวัณ โรงภาพยนตร์ทหารบก เป็นต้น
            ลพบุรี จึงเป็นเมืองที่มีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ และสถานที่น่าเที่ยวมากมาย ไม่เฉพาะแต่ในตำอำเภอเมือง ยังรวมถึงอำเภอต่าง ๆ อีก ๑๐ อำเภอด้วย คือ อำเภอท่าวุ้ง พัฒนานิคม ชัยบาดาล สระโบสถ์ โคกสำโรง บ้านหมี่ ท่าหลวง โคกเจริญ หนองม่วง และ ลำสนธิ
            ทีนี้ผมจะพาเดินเที่ยวในตัวอำเภอเมือง  หากมาจากกรุงเทพ ฯ ตามสายพหลโยธิน ผ่านสระบุรี มาผ่านพุแค (๑๔  กิโลเมตร จากสระบุรี) ทางขวามือคือสวนพฤกษศาสตร์พุแคของกรมป่าไม้ เดี๋ยวนี้ตกแต่งไว้สวย งดงามร่มรื่นมาก หรือเติมคำว่ามาก ๆ เข้าไป มี ๒ ด้าน ทั้งซ้ายและขวาเลยทีเดียว อย่าเลยข้ามไปลงถ่ายภาพวิวงาม ๆ จะด้านฝั่งซ้าย หรือขวางามทั้งสองด้าน
            ต่อมาผ่านพระพุทธบาท - สระบุรี ซึ่งมีงานนมัสการกันในเดือนกุมภาพันธ์ มีหลายวัน มีทางแยกขวาไปทุ่งทานตะวันในเขตอำเภอเมือง และพัฒนานิคมได้ แต่ต้องไปเดือนพฤศจิกายน กลาง ๆ เดือน ไปถึงต้นกุมภาพันธ์ หรือจะแยกขวาก่อนถึงพุแคเล็กน้อยแล้ววิ่งตรงไปยังทางแยก (๓๐ กิโลเมตร) ที่เลี้ยวขวาไปพัฒนานิคม เลี้ยวซ้ายมาทางโคกตูมมาอำเภอเมือง จะผ่านทุ่งทานตะวันนับแสนไร่
            จากพระพุทธบาทเข้าสู่ตัวอำเภอเมือง จะถึงวงเวียนพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือเรียกภาษาราชการว่าวงเวียนเทพสตรี (หาคนรู้จักชื่อนี้ยาก เรียกกันแต่วงเวียนพระนารายณ์) ตรงต่อไปก็จะถึงวงเวียนสระแก้ว ซึ่งกลางสระแก้วจะมีเป็นพานตั้งอยู่ ความประสงค์ดั้งเดิมจะเป็นอนุสาวรีย์ของท่านพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา แต่เขาว่าเกรงใจท่านจอมพล ป. เลยไม่กล้าสร้าง และทางศูนย์กลางทหารปืนใหญ่ก็ให้สร้างอนุสาวรีย์ของท่านพระยาพหลพลพยุหเสนา ไว้เพราะท่านก็เป็นทหารปืนใหญ่ รวมทั้งอนุสาวรีย์จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็สร้างเช่นกัน ซึ่งผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดำเนินการสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ และดั้งเดิมอีกเช่นกัน ถนนพหลโยธินจะเลี้ยวขวาตรงวงเวียนสระแก้วนี้แล้วตัดไปยังอำเภอโคกสำโรงเลย แต่คงจะเพื่อเอาใจท่านจอมพล ป.เลยตัดเลี้ยวขวาที่วงเวียนพระนารายณ์ คดเคี้ยวไปเพื่อให้ผ่านศูนย์การทหารปืนใหญ่ ถนนพหลโยธิน ตอนนี้เลยคดเคี้ยว พึ่งมาโก้เอาปีนี้แหละที่เริ่มสร้างตอนที่ผ่านศูนย์การทหารปืนใหญ่ให้เป็นถนนสี่เลนแล้ว เดิมก็เชยกว่าเขาเพื่อนที่อื่นเขาเป็นสี่เลนกันหมดแล้ว แต่ที่นี่ยัง ๒ เลนอยู่ พึ่งมาทำกันเมื่อ ๒ - ๓ ปีนี้เอง
            จากวงเวียนสระแก้ว (ชื่อราชการศรีสุริโยทัย) หากตรงต่อไปก็จะผ่านวิทยาลัยราชภัฏ เมื่อ ๔๕ ปีที่แล้วผมมาสอบได้วิชาครู
"พิเศษมัธยม"  ที่สถาบันแห่งนี้เดิมชื่อว่าโรงเรียนฝึกหัดครูเทพสตรี ครูพิเศษมัธยม ย่อว่า "พม." หากร่ำเรียนตามปกติสอบได้เรียกว่าครู ประโยคมัธยม หรือ ปม. ถ้าสมัครเข้าเป็นทหารก็ได้ยศร้อยตรี แต่ผมเป็นร้อยตรีอยู่แล้วเพราะจบจาก รร.นายร้อย จปร. ก็มาสอบเพื่อได้ค่าวิชาเพิ่ม เลยสถาบันราชภัฏก็จะมาถึงโรงแรมทหารบก อยู่หลังศาลสูง หรือศาลพระกาฬ เดี๋ยวนี้ยังเป็นโรงแรมอยู่ชื่ออะไรลืมดูไป เก่าแก่ร่วม ๖๐ ปี ต่อมาก็ศาลพระกาฬ ตรงหน้าศาล หากเลี้ยวซ้ายเดินมาหน่อยจะมายังวัดนครโกษา
            ถ้าเลี้ยวขวาไปจนสุดทางแล้วเลี้ยวขวาอีกที ไปยังวัดตองปุ ในดีตเป็นที่ชุมนุมกองทัพไทยมีอุโบสถทรงไทยที่มีฐานอ่อนโค้ง มีโบราณสถานอีกหลายอย่าง ที่สำคัญที่เหลืออยู่แห่งเดียวของเมืองไทยคือ ที่สรงน้ำพระโบราณหรือน้ำพุสรงน้ำพระ และเลยหน้าวัดตองปุไปหน่อยหากเลี้ยวซ้าย หรือถามชาวบ้านดูก็จะไปยัง แหล่งเครื่องทองเหลืองบ้านท่ากระยาง ไปถึงหลังวัดตองปุแล้วถามชาวบ้านดูว่าตรงไหน ไม่ค่อยมีคนทราบว่าแหล่งหล่อทองเหลือง ที่น่าจะใหญ่ที่สุดในประเทศนั้นอยู่ที่ลพบุรีนี่เอง และผลผลิตก็ส่งขายต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ด้วย แม้แต่ในเมืองลพบุรีเองก็ไม่ได้มีวางขายทั่วไป ส้มฟักดูจะหาซื้อง่ายกว่าเครื่องทองเหลือง เช่นเดียวกับดินสอพองของเก่าแก่ก็หาซื้อได้ไม่ง่ายนัก
            เริ่มใหม่จากหน้าศาลพระกาฬ ข้ามทางรถไฟ หากเลี้ยวซ้ายเลาะทางรถไฟ ยามค่ำแผงขายอาหารเต็มไปหมด ยาวไปจนถึงสถานีรถไฟ ร้านแรกที่อร่อยคือ กาแฟนมสด และขนมปังสังขยา เลยไปอีกร้านคือโรตี และต่อไปคือ ลูกชิ้นเนื้อวัวร้านนิ้ง ๓ ร้านนี้รับรองว่าอร่อยแน่
เยื้อง ๆ กันคือตึกแถวมีร้านข้าวต้มชื่อ "ฮ้อ" ร้านขนาด ๓ ห้อง ออกขายสัก ๕ โมงเย็น ไปจนดึกเป็นข้าวต้ม "พุ้ย" ที่แท้จริงที่หายากเข้าทุกทีมีแต่อาหารตามสั่ง ร้านนี้จะทำอาหารไว้ร่วม ๒๐ กว่าอย่างวางเรียงไว้ให้เราไปชี้เอา เด็ดสุด ๆ คือ ไส้หมูพะโล้ นุ่ม เหนียวเคี้ยวหนุบ ๆ
            หลังสถานีรถไฟคือ วัดมหาธาตุ ของลพบุรี หากเลยต่อไปอีก เลี้ยวขวา เลี้ยวซ้ายก็จะไปชนกำแพงเมือง
            เริ่มใหม่ หากข้ามทางรถไฟแล้วตรงไป ทางขวาคือ ปรางค์สามยอด ตรงต่อไปผ่านสามแยก (ถ้าเลี้ยวขวา ไปสิงห์บุรี ไปวัดมณีชลขันธ์) ถึงสามแยกปรางค์แขก ถ้าตรงต่อไปก็จะไปผ่านบ้านวิชาเยนทร์ หรือบ้านรับราชฑูต แต่หากเลี้ยวซ้ายตรงปรางค์แขก จะไปผ่านวังนารายณ์ราชนิเวศ  ไปลพบุรีอย่าข้ามไปเป็นอันขาดขอให้แวะเข้าไปชมวัง ชมพิพิธภัณฑ์ ผ่านวังนารายณ์ไปหน่อยมีสามแยก หากเลี้ยวขวาจะไปยังวัดกวิศราราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวง ซึ่งเจ้าอาวาสที่สร้างความเจริญให้แก่วัดนี้ยิ่งกว่าองค์ใดคือ พระพุทธวรญาณ ซึ่งมรณภาพไปหลายปีแล้ว และมรดกสำคัญของท่านคือโรงเรียน วินิตศึกษาที่มีนักเรียนมากกว่า ๓,๐๐๐ คน ในวัดกวิศ ฯ มีพระเครื่องย้อนยุค มีพระประธานสำคัญในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปศิลาทรายซึ่งพอกปูนทับแล้วลงรักปิดทอง เป็นการแปลงพระพุทธรูปศิลปะลพบุรี ให้เป็นศิลปะแบบอยุธยา เมื่อครั้งสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ฝาผนังพระอุโบสถมีจิตรกรรมลายดอกไม้ ผ่านหน้าวัดกวิศ ฯ ไปจนสุดทางหากเลี้ยวซ้ายจะไปตลาดท่าขุนนาง เช้าสักตีสี่มีผักมาขาย ขายทั้งส่งและปลีกราคาถูกมาก ใครอยากกินผักถูก ๆ ต้องไปไม่ควรเกินหกโมงเช้า แต่ถ้าเลี้ยวขวาก็จะมาวัดเชิงท่า เกจิอาจารย์องค์สุดท้ายของลพบุรีที่ยังมีชีวิตอยู่ คือหลวงพ่อถม ท่านไม่รับนิมนต์ใครแล้ว อายุคงจะใกล้ ๙๐ ปีเต็มทีแล้ว ผ่านวัดเชิงท่าหากไปกันเรื่อย ๆ ตามถนนเลียบริมน้ำนี้ก็จะไปผ่าน ศาลหลักเมืองที่เป็นเก๋งจีน ตรงหน้าศาลหากตรงไปคือตลาดล่าง ที่มีเครื่องจักสานขายมากมาย หากเลี้ยวซ้ายข้ามแม่น้ำก็จะไปยังวัดพรหมมาสตร์ ซึ่งมีลายปูนปั้นหลังโบสถ์เก่า ตอนพระพุทธเจ้าปลงเกศาออกบวช มีธรรมาสน์ที่สร้างตามแบบศิลปะจีน ผ่านศาลหลักเมืองตรงไปก็จะไปผ่านตลาดริมน้ำ หรือตลาดล่างไปออกถนนที่เลี้ยวซ้ายไปสิงห์บุรี และหากเลี้ยวซ้ายแล้วข้ามสะพานก็คือ วัดมณีชลขันธ์ ของหลวงปู่แสง ที่ท่านมรณภาพไปนานแล้ว ที่วัดนี้มีเจดีย์สำคัญ มีวิหารหลวงพ่อแสง และมีต้นโพธิ์ที่ ร.๕ ทรงนำเมล็ดมาจากศรีมหาโพธิ์มาเพาะขึ้นเพียง ๓ ต้น ๑ ใน ๓ นั้นคือต้นโพธิ์ที่วัดมณีชลขันธ์นี้ หลวงพ่อแสงเคยบอกไว้ว่า เป็นมะเร็งอย่าไปกลัวมัน ทำจิตให้นิ่งด้วยการท่องคาถาเข้าไว้ มะเร็งจะไม่ลุกลามต่อไป "ระโช หะระนัง ระชัง หะระติ" ใครเป็นลองท่องดู
            ย้อนกลับมาทางวงเวียนสระแก้วกันใหม่ หากเลี้ยวซ้าย (มาจากในเมือง) จะไปยังคลองชลประทาน และจะผ่านสามแยกมีไฟสัญญาณ หากเลี้ยวขวาตรงนี้ไปสัก ๒ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายอีกทีจะเข้าไปยังพระที่นั่งเย็น หรือตำหนักทะเลชุบศร หรือพระที่นั่งไกรสรสีหราช มีความสำคัญยิ่งทางดาราศาสตร์ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
            ในเมืองลพบุรีคงพาเที่ยวได้แค่นี้ ลพบุรีมีสถานที่ท่องเที่ยวเกือบทุกอำเภอ ขอย่อเอาไว้ดังนี้
            อำเภอเมืองฯ  นอกจากที่กล่าวมาแล้ว หากมาทางโคกสำโรง กิโลเมตร ๑๖๕ มีสวนขายต้นไม้ ที่มีขนุนพันธุ์ไพศาลทักษิณ ขนุนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ขยายพันธุ์จากต้นแม่ที่เชิงพระตำหนักไพศาลทักษิณ
            ผ่านไปคือ วัดเขาพระงาม หรือวัดสิริจันทรนิมิตวรวิหาร พระพุทธรูปองค์โตอยู่บนเขา เลี้ยวไปทางโคกสำโรงคือ วัดเขาวงพระจันทร์ มีพิพิธภัณฑ์ที่ควรชม
            อำเภอบ้านหมี่ วัดธรรมิการาม หรือวัดค้างคาว มีจิตรกรรมฝาผนัง วัดท้องคุ้ง อุโบสถบนเรือสำเภา วัดหนองเต่า อุโบสถบนหลังเต่า วัดเขาวงกต มีถ้ำค้างคาว
            อำเภอพัฒนานิคม  ต้องไปชมให้ได้คือทุ่งทานตะวันนับแสนไร่ ยาวไปจนติดต่อกับอำเภอวังม่วง และต้องไปให้ได้อีกเช่นกันคือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก
            อำเภอลำสนธิ  ปรางค์นางผมหอม ได้บูรณะแล้วน่าชม
            อำเภอท่าวุ้ง  วัดไลย์ มีพระศรีอารย์ และพิพิธภัณฑ์ ไปเขาสมอคอน สมัยผมหนุ่ม ๆ ต้องไปเรือ เดี๋ยวนี้รถเข้าถึงแล้ว บนเขานี้เป็นที่ตั้งของวัดบันไดสามแสน วัดถ้ำตะโกพุทธโสภา วัดถ้ำช้างเผือก และวัดเขาสมอคอน เขาสมอคอนนี้ถือว่าเป็นสำนักตักศิลามาแต่โบราณกาล มีโบราณสถานทุกวัด
            อำเภอชัยบาดาล  น้ำตกวังก้านเหลือง ไปทางอำเภอท่าหลวง สาย ๒๐๘๙ ระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปอีก ๗ กิโลเมตร (ถามทางไปจากร้านอาหารที่จะพาไปชิม) น้ำตกนี้มีน้ำตลอดปี พุขึ้นจากตาน้ำใต้ดิน
            เขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าเขาสมโภชน์ มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ พบหลักฐานทางโบราณคดีที่วัดถ้ำพรหมโลก รายละเอียดสอบถามได้จากป่าไม้จังหวัดลพบุรี ๐๓๖ ๔๒๒๗๗๗
            เล่าเรื่องลพบุรีมา ๒ ตอน เล่าได้เพียงแค่นี้ เพราะสถานที่ท่องเที่ยวมากเหลือเกิน และน่าชมทั้งสิ้น คราวนี้พาไปชิมอาหารนอกตัวเมืองบ้าง แต่อร่อยสุด ๆ เลยทีเดียวคือ ร้าน "เก๋ ปลาทอด" เส้นทางไปจากตัวเมืองลพบุรี คือผ่านอำเภอโคกสำโรงต่อไปจนถึงม่วงค่อม จนชนกับถนนสาย ๒๑ ที่มาจากพุแค จังหวัดสระบุรี ให้เลี้ยวซ้ายไปนิดเดียว หลักกิโลเมตร ๕๓ ทางเข้าอ่างเก็บน้ำซับตะเคียน ก็เลี้ยวซ้ายไปทางอ่างเก็บน้ำ ร้านจะอยู่ทางซ้ายมือ เส้นทางที่ ๒ ไม่ได้มาลพบุรี เช่น จะไปเพชรบูรณ์ จากพุแคเลี้ยวเข้าสาย ๒๑ มา ๕๐ กิโลเมตร ก็ถึงม่วงค่อม (ซึ่งเลี้ยวซ้ายไปลพบุรี) ตรงไปถึงกิโลเมตร ๕๓ เลี้ยวซ้ายเข้าอ่างเก็บน้ำซับตะเคียน ผ่านวัดเขากำพร้า เลยวัดพบร้าน เก๋ ปลาทอด อยู่ซ้ายมือกว้างขวางร่มเย็น รถสิบล้อก็จอดได้ สุขาดีแต่ไม่สากล
            ปลาทับทิมแดดเดียว เขาหั่นปลามาเป็นชิ้น แล้วไปหมักซอส โรยงา ผึ่งแดด เอาไปทอดกินเล่นกินจริงอร่อยหมด
            ก้างปลานิลทอดกรอบ เอาแต่ครีบ และก้างที่เล็ก ๆ มาหมักซอส โรยงา แล้วเอามาทอดกรอบอย่าโดดข้ามไป
            แกงคั่วหอยขม แกงด้วยกะทิเข้มข้นรสมัน จงเอามาคลุกข้าวร้อน ๆ แล้วเหยาะด้วยน้ำปลาพริกเคี้ยวหอยสนุกนัก
            ปลกบึกผัดฉ่า ไม่ใช่ปลาในอ่างกับปลาทับทิมเท่านั้นที่มาจากนอกอ่าง นอกนั้นเป็นปลาในอ่างซับตะเคียน หอมด้วยกลิ่นกระเพรา พริกไทอ่อน เขาทอดแยกหนังจากเนื้อปลา ปลาบึกหนังหนาเคี้ยวกรุ๊บ ๆ
            ทอดมันปลายี่สก ทอดแล้วพองโต แต่เหนียวหนึบ
            ต้มยำปลานิล รสวิเศษ ซดร้อน ๆ ชื่นใจนัก
            ปิดท้ายด้วยผลไม้กับไอศกรีมของเขาหวานเย็นชื่นใจ โทร ๐ ๑๙๘๒ ๐๓๗๖, ๐๑ ๙๔๗๐๙๒๓

----------------------------------


| ย้อนกลับ | บน |