| หน้าต่อไป |

เมืองโอ่งมังกร (๑)

           จังหวัดราชบุรี  มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผา ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ "โอ่งมังกร"  จนนำคำนี้มาอยู่ในคำขวัญของเมืองราชุบรี "คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร  วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี"  เป็นคำขวัญของราชบุรี
            ความหมายของคำว่า เมืองโอ่งมังกร เพราะมีการผลิตโอ่งมาเป็นเวลายาวนาน และเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ในความประณีตในการทำ ความสวยงาม และรู้จักดังไปถึงนอกประเทศ ผู้ให้กำเนิดโอ่งมังกรเมืองราชบุรีคือ ชาวจีนจากโพ้นทะเล นามว่า "จือเหม็ง แซ่อึ้ง"  ได้ตั้งโรงงานเครื่องปั้นดินเผาขึ้นเป็นครั้งแรก ที่เมืองราชบุรีชื่อว่า "โรงงานเถ้าแก่ เซ่งหลี"  โดยมีหุ้นส่วนกับเพื่อน ๆ อีกหลายคน แต่กิจการไม่ดี จึงถอนหุ้นออกมาตั้งโรงงานของตนเองใหม่ ชื่อว่า "เถ่าแซ่ไถ่"  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ ทีนี้ดังระเบิด
            ส่วนคำขวัญอื่น ๆ นั้น ยังขอไม่อธิบาย เพราะผมไปคราวนี้ไปเที่ยวอยู่ ๓ อำเภอ เท่านั้น คือ อ.เมืองราชบุรี อ.จอมบึง และ อ.สวนผึ้ง ไปแค่นี้ก็ต้องนอนค้างเสีย ๒ คืน เพราะราชบุรีเดี๋ยวนี้เจริญเร็วเหลือเกิน หากไปเล่าถึงอำเภอที่เกี่ยวข้องกับคำขวัญ โดยที่ไม่ได้ไปมา ๓ - ๔ ปี มาแล้ว ท่านผู้อ่านตามไปเที่ยวจะไม่ตรงกับที่ผมเขียน เช่น สถานที่ท่องเที่ยวใน ๓ อำเภอ ที่ผมไปคราวนี้ ถนนทุกสายราดยางอย่างดีหมด ไม่ว่าจะผ่านหมู่บ้านหรือเข้าไปในป่า ก็จะเป็นถนนลาดยาง รีสอร์ทเพิ่มมากขึ้น คงจะต้องบอกว่าหลายเท่าคือ มีมากกว่า ๑๐ แห่ง  และเป็นรีสอร์ทที่เกิดใหม่สวย ๆ ทั้งนั้น ราคาพอสมควร และมีบรรยากาศและอากาศของล้านนา ในเขต อ.สวนผึ้ง และ จอมบึง ใครอยากไปพบอากาศแบบภาคเหนือ ยังไม่เวลาไป ไปพักที่สวนผึ้ง ได้รับอากาศเย็นแบบภาคเหนือแน่นอน จนกล่าวกันว่า นอนสวนผึ้ง พอสักสองทุ่ม พม่าก็จะเปิดแอร์มาให้ เป็นคำพูดที่ล้อกันเล่น ความจริง พอสองทุ่มโดยประมาณ ลมจากเทือกเขาตะนาวศรี ที่กั้นชายแดนระหว่างไทย - พม่า จะเริ่มพัดออกสู่ทะเล เรียกว่า ลมบก พัดออกสู่ปากน้ำแม่กลอง ลมจากเขาสูงจึงเย็น หรือหนาว ส่วนรีสอร์ทหลายแห่ง หรือที่ผมไปพักก็สร้างในบรรยากาศของล้านนา ทั่วทั้งบริเวณและในห้องพัก เว้นอาหารเท่านั้น ไม่มีอาหารแบบล้านนา แต่ทุกรีสอร์ทต่างก็มีห้องอาหาร มีบริการอาหารเช้าฟรี เรียกว่า ไปพักแล้วไม่ต้องออกไปไหน ในยามค่ำหรือยามเช้า มีอาหารพร้อมบริการ
            วันนี้ผมจะพาไปเมืองโบราณคูบัว ที่ยังหลงเหลือซากให้เห็นและขุดค้นพบซากเมืองคูบัว มากถึง ๔๔ แห่ง ยังอยู่ในสภาพที่มีค่าควรแก่การไปชม
            แหล่งโบราณคดีในราชบุรีนั้น แบ่งเป็นในพื้นที่สูง แถบเทือกเขาตะนาวศรี แหล่งโบราณคดี ในเขตที่ราบสลับภูเขาโดด และแหล่งโบราณคดี ในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง กระจายกันอยู่ในเขตอำเภอต่าง ๆ ในพื้นที่สูงจะอยู่ในเขตอำเภอสวนผึ้ง มากถึง ๗ แห่ง เขตที่ราบ พบในเขต อ.จอมบึง และ อ.โพธาราม ส่วนแหล่งโบราณคดี ในแถบที่ราบลุ่ม กระจายกันอยู่ในเขต อ.บ้านโป่ง อ.เมืองราชบุรี และ อ.บางแพ ซึ่งแหล่งโบราณคดีคูบัว อยู่ในกลุ่มนี้ และที่เมืองคูบัวนี้ พบโบราณวัตถุแปลกกว่าที่อื่นคือ พบ กลองมโหรทึก แบบเฮเกอร์ ๑ ซึ่งมีรูปดาวสิบแฉก อยู่กลางหน้ากลอง ประดับลวดลายวงกลม ไข่ปลาลายคล้ายนกบิน และลายเชือกที่หูกลอง เคยพบกลองแบบนี้ที่แหล่งโบราณคดีเขาขวาก อ.หนองกวาง อ.โพธาราม ส่วนในแหล่งโบราณาคดีอื่น ๆ มักจะพบโครงกระดูก พร้อมสิ่งของ เครื่องใช้ เครื่องประดับของผู้ตาย พบเศษภาชนะดินเผา ขวานหิน จักรหิน ลูกปัดหิน หินลับ ขวานสำริด ขวานหินกะเทาะ ฯ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า อยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมโอบิเนียน ในยุคเมื่อ ๑๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
            ราชุบรี จึงเป็นเมืองที่มีผู้คนอยู่อาศัยมานานร่วม ๑๒,๐๐๐ ปี มาแล้ว แล้วแบ่งยุคสมัยได้ดังนี้ โดยแบ่งออกเป็น ๘ ยุคสมัย คือ
                    ๑. ราชุบรีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
                    ๒. ราชุบรีสมัยเริ่มแรกประวัติศาสตร์
                    ๓. ราชบุรีสมัยทวารวดี  (พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๕)
                    ๔. ราชุบรีสมัยลพบุรี  (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘)
                    ๕. ราชบุรีสมัยกรุงสุโขทัย  (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙)
                    ๖. ราชบุรีสมัยกรุงศรีอยุธยา  (พุทธศักราช ๑๘๙๓  - ๒๓๑๐)
                    ๗. ราชบุรีสมัยกรุงธนบุรี  (พุทธศักราช ๒๓๑๐ - ๒๓๒๕)
                    ๘. ราชบุรีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  (พุทธศักราช ๒๓๒๕ - ปัจจุบัน)
                เมืองโบราณคูบัว  คือ เมืองโบราณในยุคทวารวีด หลัง พ.ศ.๑๒๐๐
                เส้นทาง เดินทางไปราชบุรี ไปได้หลายเส้นทาง แต่หากไปเที่ยวนครปฐมก่อน ก็ไปต่อตามถนนเพชรเกษม หรือทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ ไปอีกประมาณ ๔๐ กม. ก็จะถึง รวมระยะทางจากกรุงเทพ ฯ ประมาณ ๑๐๐ กม. เมื่อจะเข้าตัวเมือง จะข้ามสะพานข้ามทางรถไฟ เมื่อลงสะพานแล้ว หากตรงไปคือ ถนนเพชรเกษม เลี่ยงเมืองไปสู่ ปากท่อ ถนนพระราม ๒ จะมาบรรจบที่ปากท่อ แล้วไปยังเพชรบุรี หากจะไปยัง อ.จอมบึง และสวนผึ้ง ก็ตรงไปจนถึงสี่แยกไฟสัญญาณ ก็เลี้ยวขวาเข้าถนน ๓๐๙๕ ไปจอมบึง สวนผึ้ง หากเลี้ยวซ้ายก็เข้าเมืองอีกเส้นทางหนึ่ง แต่หากจะไปเมืองคูบัว คงพอจะบอกเส้นทางได้ว่า ข้ามสะพานรถไฟ แล้วเลี้ยวซ้ายทันที ถนนจะเลียบไปตามทางรถไฟ ผ่านทางแยกซ้ายไปยังศาลหลักเมือง (อยู่ในเขตทหารช่าง แต่เข้าไปสักการะได้)  แล้วข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง เมื่อก่อนนี้มีแต่สะพานรถไฟสะพานจุฬาลงกรณ์ ข้ามแม่น้ำแม่กลอง แต่ปูทางให้รถยนต์วิ่งข้ามได้ด้วย อย่าได้เผลอข้ามตอนรถไฟมาก็แล้วกัน สถานีรถไฟอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำ เมื่อข้ามแม่น้ำแล้ว พบแยกแรกเลี้ยวขวาไปยัง ตลาดสนามหญ้า (วันนี้ยังพาไปเที่ยวไม่ทัน)  หากตรงต่อไปถึงสี่แยกมีไฟสัญญาณ เลี้ยวซ้ายลอดใต้ทางรถไฟไป จะเห็นป้ายวัดคูบัว ให้ไปตามเส้นทางนี้ประมาณ ๕ กม. จะผ่านร้านอาหาร ผมจะพามาชิมอาหารมื้อกลางวัน เลยไปสัก ๑ กม. จะถึงวัดคูบัว  ที่วัดคูบัว มีโบราณถสานหมายเลข ๘ ให้วิ่งเลยไปอีกประมาณ ๑ กม. ถึงทางแยกให้เลี้ยวซ้าย ทางขวามือคือ วัดโขลงสุวรรณคีรี เดี๋ยวนี้ทำรั้วล้อมสวยงาม ภายในคือ โบราณสถานหมายเลข ๘ ที่ใหญ่โตกว่าเพื่อนและบูรณะเรียบร้อยแล้ว เมืองคูบัว เป็นเมืองขนาดใหญ่ และสำคัญในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง มีความกว้างประมาณ ๘๐๐ ม. ยาวประมาณ ๒,๐๐๐ ม.  ค้นพบซากโบราณสถาน ๔๔ แห่ง พบพระพุทธรูปดินเผา รูปพระโพธิสัตว์ รูปประติมากรรมมนุษย์ ในเจดีย์บางองค์พบผอบเงิน จำหลักเป็นลวดลายสมัยทวารวดี ฯ โบราณวัตถุที่ค้นพบจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพ ฯ เมืองคูบัว มีลำน้ำอ้อม และแม่น้ำกลองไหลผ่านทางด้านตะวันออก ต่อมาลำน้ำเปลี่ยนทางเดินเป็นผลให้เมืองคูบัว ลดความสำคัญ และผู้คนอพยพหนีไปตั้งถิ่นฐาน อยู่บริเวณวัดมหาธาตุ เป็นศูนย์กลางของเมืองในยุคต่อมา
                ประชาชนในบริเวณตำบลคูบัว ในปัจจุบันเป็นชาวไทยที่สืบเชื้อสายมาจากโยนก เชียงแสน เรียกว่า ชาวไท - ยวน สาเหตุที่อพยพมาไกลถึงขนาดนี้ เพราะเมื่อ พ.ศ.๒๓๔๖  พม่ามีอำนาจเหนือเมืองเชียงแสน และมักจะมาก่อกวนเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดให้ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ยกทัพขึ้นไปช่วยเชียงใหม่ ที่กำลังถูกทัพพม่าเข้าตี จนตีพม่าแตกพ่ายไแล้ว กรมพระราชวังบวร ฯ จึงโปรดให้ตามตีทัพพม่า ที่แตกหนีไปเชียงแสน โดยมีทัพจากเมืองลำปาง น่าน เชียงใหม่ และเวียงจันทน์ เข้าร่วมตีด้วย จนพม่าแตกพ่ายในปี พ.ศ.๒๓๔๗ และตามตีทัพพม่าจน โปมะยุง่วน แม่ทัพพม่าตายในที่รบ เมื่อเข้าเมืองเชียงแสนได้แล้ว จึงให้รื้อกำแพงเมือง และเผาบ้านเรือนเสีย เพื่อมิให้พม่าหวนกลับมาครองเมืองเชียงแสน ตั้งฐานทัพรบกวนแผ่นดินไทยได้อีก และอพยพชาวเชียงแสน จำนวน ๒๓,๐๐๐ คน โดยแบ่งครัวเรือนออกเป็นห้าส่วน ให้ไปกับทัพเมืองลำปาง น่าน เชียงใหม่ และเวียงจันทน์ และไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ เมือง ของกองทัพนั้น ส่วนอีกส่วนหนึ่งนั้น ทัพกรุง นำลงมากรุงเทพ ฯ แต่ได้แบ่งบางส่วนให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เสาไห้ สระบุรี ส่วนที่เหลือรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้า ฯ ให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองราชบุรี เป็นบรรพบุรุษของชาวไทย - ยวน ในราชบุรี มาตราบเท่าทุกวันนี้
                เมื่อประมาณสัก ๑๐ ปี ล่วงมาแล้ว ผมทอดผ้าป่าที่วัดพระธาตุจอมกิติ ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อหาเงินบูรณะองค์พระธาตุจอมกิติ ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๑๔๘๓  เมื่อผมทอดผ้าป่าครั้งแรกนั้น พอบูรณะแล้ว มีชาวไท - ยวน เขียนจดหมายมาจากบ้านคูบัว ราชบุรีขอขอบคุณผมที่ไปช่วยซ่อมพระธาตุสำคัญ ที่อยู่ในถิ่นกำเนิดของพวกเขาที่เชียงแสน และเล่าให้ฟังย่อๆ ว่า ทำไมพวกเขาจึงมาอยู่ที่เชียงแสน ผมถึงมีความรู้ว่า ชาวคูบัว ปัจจุบันส่วนใหญ่คือ ชาวเชียงแสนดั้งเดิม ราชบุรีนั้นมีราษฎรอพยพทั้งมอญ กะเหรี่ยง ไท - ยวน ไทยจีน ไทยทรงดำ ไทยลาวเวียง ไทยเขมรลาวเดิม (พวกนี้สืบเชื้อสายมาจากการผสมลาว - เขมร)
                ในแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๕๓ ได้โปรดให้ตัดท้องที่บางส่วนของเมืองราชบุรี และสุพรรณบุรี ให้ไปรวมอยู่กับเมืองกาญจนบุรี ที่ตั้งขึ้นใหม่ ที่ตำบลปากแพรก ต้นแม่น้ำแม่กลอง ที่แม่น้ำแควน้อยกับแม่น้ำแควใหญ่ ไหลมาบรรจบกัน แล้วโปรดให้ย้ายตัวเมืองราชบุรี ไปอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง เนื่องจากทรงเห็นว่า ที่ตั้งเดิมไม่เหมาะสมทางยุทธศาสตร์ เพราะการทำศึกกับพม่า มักจะทำกันที่ ทุ่งเขางู หากไทยเสียเปรียบจะถอยทัพลำบาก เพราะจะมีแม่น้ำขวางกั้นอยู่ หากให้เมืองข้ามมาอยู่ในฝั่งตะวันออก แม่น้ำก็จะกลายเป็นคูเมือง เป็นสิ่งกีดขวาง
                พ.ศ.๒๔๓๘  ได้จัดการปกครองออกเป็นมณฑล เรียกว่า ระบอบมณฑลเทศาภิบาล ประกอบด้วย นำหลายเมืองมารวมกัน และมีข้าหลวงเทศาภิบาล ที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ราชบุรี ได้รบการยกฐานะขึ้นเป็นมณฑลราชบุรี ประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ ๖ เมืองคือ ราชบุรี เป็นที่ตั้งของศาลาว่าการมณฑล กาญจนบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี ปราณบุรี และประจวบคีรีขันธ์ มีศาลาว่าการอยู่ทางฝั่งริมแม่น้ำแม่กลอง "ปัจจุบันคือ อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี" และในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ก็ได้สร้างสะพานรถไฟ ข้ามแม่น้ำแม่กลอง ชื่อสะพาน "จุฬาลงกรณ์" เป็นผลให้รางรถไฟผ่าเข้ามากลางเมืองราชบุรี ที่ยังอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำ จึงเป็นผลให้ย้ายเมืองกลับมาอยู่ทางฝั่งขวา หรือฝั่งปัจจุบันของแม่น้ำแม่กลอง และย้ายศาลากลางจังหวัด มาอยู่รวมกับศาลาว่าการมณฑล ทำให้ฝั่งขวาของแม่น้ำ เจริญอย่างรวดเร็ว แต่ในการย้ายเมืองข้ามฟากมานี้ มิได้ย้ายศาลหลักเมือง ข้ามตามมาด้วยคงอยู่ที่เดิม
                ศาลหลักเมือง  เสาหลักเมือง มีขนาดความสูงประมาณ ๑ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๐ ซม. ประดิษฐานในมณฑป อยู่ในพื้นที่ค่ายภาณุรังสี ของทหารช่าง
                พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี  ถ้ามีเวลาพอแห่งแรกที่ควรเที่ยวในตัวเมืองราชบุรีคือ การไปชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จะได้ทราบประวัติและเข้าใจในเรื่องราชบุรี เช่นที่ผมเล่าว่าราชบุรีอยู่ในสมัยต่าง ๆ ถึง ๘ สมัย ก็จะได้ทราบรายละเอียด อาคารที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เอกสารหลายฉบับไม่ตรงกัน แต่ผมเชื่อ ประวัติศาสตร์เมืองราชบุรีของท่าน รศ.ยนต์ ชุ่มจิต เพราะท่านเป็นชาวเมืองราชบุรี น่าจะค้นคว้าาหารายละเอียดมากกว่าของท่านอื่น ๆ ได้เล่าไว้ว่า"  "ศาลาการมณฑลอยู่ที่ตึกของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่ปัจจุบันเป็นอาคารจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชุบรี เวลาต่อมาจึงได้มีการย้ายศาลากลางเมืองราชบุรี ที่แต่เดิมอยู่ทางฝั่งซ้าย (ฝั่งตะวันออก)  ของแม่น้ำแม่กลอง มารวมกันที่ศาลาว่าการมณฑล ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ จึงทำให้ศูนย์กลางของเมือง กลับมาเจริญทางฝั่งขวา (ฝั่งตะวันตก)  ของแม่น้ำแม่กลอง จนถึงปัจจุบัน
                อาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบบาโรก งดงามน่าชม ภายในมีนิทรรศการ โดยแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ เช่น ห้องก่อนประวัติศาสตร์ ห้องแสดงความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในราชบุรี และคนเด่น คนดัง ของชาวราชบุรี
                ไข่ตุ๋นทรงเครื่อง เป็นอีกร้านหนึ่งที่มีไข่ตุ๋นทรงเครื่อง ร้านที่ดังอยู่เดิมอยู่ที่ อ.จอมบึง แล้วผมจะพาไปชิมสูตรไข่ตุ๋น ผิดกันร้านนี้คงใส่มาในหม้ออบ ไข่พองฟูล้นออกมา โรยกระเทียมเจียว สีเหลืองกลิ่นหอมกรุ่น ใส่กุ้ง เห็ดหูหนูขาว เวลาซด ระวังลิ้นพัง เพราะไม่มีควันแต่อมความ "ร้อน"
                ปลาอินทรีย์ทอดน้ำปลา เป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือน ร้านลุงลอย ที่นครปฐม หรือที่ระยอง ปลาแบะกลาง ตัวโตมาก มีน้ำปลามะม่วงแยกมาต่างหาก รสอมเปรี้ยวนิด ๆ
                ยำดอกขจร  หากินยาก ดอกขจรบำรุงหัวใจ แก้ร้อนใน บำรุงตับ เจริญอาหาร เอาดอกขจรลวก ราดด้วยน้ำยำ ใส่กุ้ง ปลาหมึก แครอต หมูสับ และหอมแดง
                ทอดมันปลากราย ชิ้นโต  พองฟู  เหนียวหนึบ เคี้ยวหนุบหนับ
                แกงป่าลูกชิ้นปลากราย ใส่ผักแยะ เป็นป่าเลยทีเดียว ซดร้อน ๆ หรือราดข้าว ก็เด็ด
                ต้มยำปลาช่อนน้ำข้น ใส่เห็ดฟาง ถ้าเราอาวุโสให้แย่งไข่ กับพุงปลา มากินเสีย
                อย่าโดดข้ามไปเป็นอันขาด ลูกชิ้นปลากรายลวก เหนียวหนึบ เคี้ยวสนุก
                อาหารร้านนี้ บริการดี เร็ว ข้อสำคัญ ราคาย่อมเยา จอดรถสะดวก แถมมีสุขาเป็นสากล
| หน้าต่อไป | บน |