| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

ไประนอง (๓)

            เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓  (ร.ศ.๑๐๙)  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบแหลมมลายู โดยเรือพระที่นั่งสุริยมณฑล (ลำแรก)  โดยเสด็จไปจากกรุงเทพ ฯ จนถึงเมืองชุมพร แล้วทรงช้างพระที่นั่งเสด็จทางสถลมารค จากเมืองชุมพร ข้ามแหลมมลายูไปลงเรือที่กระบุรี เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ ออกไปรอรับเสด็จอยู่ที่เมืองระนอง เสด็จตรวจหัวเมืองชายทะเล ในพระราชอาณาเขตแล้วผ่านเข้าไปในเมืองมลายูของอังกฤษ ประทับที่เมืองเกาะหมาก เมืองสิงคโปร์ ขาเสด็จกลับ เสด็จทอดพระเนตรหัวเมืองมลายู และหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้ตลอดมา
            เมื่อเสด็จมาถึงรอยต่อของ อ.เมืองชุมพร กับ อ.กระบุรี (เมืองตระ) จ.ระนอง ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยย่อ "จปร." ไว้ที่หินใหญ่ (ปัจจุบันอยู่ที่ กม.๕๒๕ และสร้างศาลาครอบไว้ ทำบันไดขึ้นสวยงาม)  เป็นจุดท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ไม่ควรเลยผ่านไป
            หมู่บ้านซาลาเปาทับหลี  กม.๕๔๓ - ๕๔๔  ชื่อเสียงของซาลาเปาทับหลีนั้น โด่งดังไปทั่ว ในกรุงเทพ ฯ ก็มีซาลาเปาทับหลี  เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ สมัยที่ถนนไปภาคใต้แทบจะไม่มีลาดยาง และหลายสายยังไม่มี เช่น ทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ ไปได้แค่ จ.ระนอง จากระนองไปตะกั่วป่า  ยังไม่ได้สร้างและไปมีอีกทีจากตะกั่วป่าไปผ่านภูเก็ต  (ยังไม่มีสะพานสารสิน)  พังงา กระบี่ ตรัง พัทลุง หาดใหญ่ สงขลา สาย ๔๑ ชุมพร ไปพัทลุงยังไม่เกิด ผมกับพรรคพวกอีก ๓ คน จะล่องใต้ไปหาดใหญ่ โดยทางรถยนต์ และไปเช่าแท็กซี่ต่อไปยังปีนัง ผมขับรถจิ๊บทหารพ่วงรถพ่วง บรรทุกน้ำมันมา ๒๐๐ ลิตร และเครื่องครัวขนาดย่อม พอทอดไข่ ทอดปลา หุงข้าวกินกลางป่าได้ ขับมาจากปราจีนบุรี ขับอยู่ ๓ วัน นอนค้างที่ชุมพร ตะกั่วป่า ตรัง ตอนที่ผ่านหมู่บ้านทับหลี ในปัจจุบันนี้ ไม่มีร้านซาลาเปาหลายสิบร้านอย่างปัจจุบันนี้ มีอยู่ร้านเดียว ต้องยกให้เป็นร้านต้นตระกูลซาลาเปาทับหลี  (เวลานี้เปลี่ยนไปขายเครื่องก่อสร้างแล้ว)  ซื้อแล้วออกรถกินซาลาเปา ปรากฎว่าต้องจอดรถ ถอดรถพ่วง กลับรถมาขนซื้อซาลาเปาไปใหม่ ปัจจุบันจากร้านเดียวกลายเป็นหมู่บ้านซาลาเปา
            กม.๕๔๖  ทางขวามือจะมีแผ่นป้ายคอนกรีตขนาดใหญ่ บอกว่าคอคอดกระ เป็นจุดที่แคบที่สุดของแหลมมลายูคือ ๔๔ กม. แต่ส่วนที่แคบนี้อยู่ในดินแดนไทยเพียง ๙ กม. เท่านั้น และมีป้ายบอกว่า เป็นจุดที่เหมาะสำหรับขุดคลองกระ
            เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ ผมมีตำแหน่งเป็นประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหม กลุ่มที่ ๖ ได้รับเชิญให้ไปเป็น รองประธานอนุกรรมการพิจารณาการขุดคลองกระ และคณะกรรมการก็มาจากผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ซึ่งการขุดคลองกระ นี้มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ หรือล้วงลึกไปก็ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รัชกาลที่ ๔ ไม่โปรด ฯ เพราะเกรงว่า จะกระทบกระเทือนกับอังกฤษ ที่เข้ามาครองมลายู และเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลทีหนึ่ง จะสังเกตว่ามีการฮือฮาที่จะขุดคลองกระกันเสียทีหนึ่ง จนมาสมัยที่ผมได้เป็นกรรมการ พิจารณาแล้วเห็นว่ามีแนวทางที่จะขุดได้ถึง ๑๑ แนวทาง ๆ ที่สั้นที่สุดคือ จากระนองมายังชุมพร ระยะทาง ๙๐ กม. แต่คลองหลายตอนจะไปอยู่บนเขา คลองจะสูงกว่าถนนเหมือนที่เนเธอร์แลนด์ และจะอยู่ในเขตแดนพม่าหลายสิบ กม. จะต้องมีผลประโยชน์ร่วมกันกับพม่า จึงไม่เหมาะที่จะขุดตามแนวทางนี้ แนวทางที่เหมาะแต่ไกลกว่าหน่อยคือ จาก อ.ตะกั่วป่า มา จ.สุราษฎร์ธานี ระยะทาง ๑๒๐ กม. หรือ จากตรังมายังทะเลสาบสงขลา เมื่อเสนอรัฐบาลแล้ว ก็มีการตั้งอนุกรรมการพิจารณาอีกหลายชุด เช่น พิจารณาผลจากการที่น้ำทะเล จะซึมลึกเข้าไปในแผ่นดิน เป็นต้น คลองจะกว้าง ๒๘๐ เมตร ยาว ๑๒๐ กม. จะต้องมีประตูทดน้ำกี่ประตู เมื่อพิจารณาแล้ว ก็เสนอรัฐบาลแล้ว ก็จบกันแค่นั้น ไม่ทราบว่ารัฐบาลไหนจะหยิบยกขึ้นมา ให้ฮือฮากันอีก
            อำเภอกระบุรี มีร้านอาหารอร่อยที่ชวนชิมเอาไว้คือ ร้านริมคลอง กระบุรี ถึงหอนาฬิกาเลี้ยวซ้ายมาจนถึงริมคลอง อีกร้านคือ ร้านติดถนนกระบุรี วิ่งมาถึงหอนาฬิกาแล้ว เลี้ยวขวาไปจนถึงแม่น้ำกระบุรี อาหารทะเล
            น้ำตกปุญญบาล  ฝั่งซ้ายของถนนเพชรเกษม หรือทางหลวงแผ่นดินสาย ๔ กม. ๕๙๗.๕๐๐ ผมพักที่รีสอร์ท จะต้องเลี้ยวเข้าที่ กม.๕๙๕ แต่หากจะตรงเข้าเมืองชุมพรเลย ไม่ต้องเลี้ยวก็ได้ ตรงไปเลย ก็จะมาผ่านน้ำตกปุญญบาล ที่ กม.๕๙๗.๕๐๐ อยู่ติดถนนเพชรเกษม เป็นน้ำตกที่สวยมาก โดยเฉพาะในฤดูฝน น้ำจะตกแรง มีความสูงถึง ๑๙ ชั้น มีน้ำตลอดปี
            รีสอร์ทเป็นจุดชมวิวสองแผ่นดิน ราคาห้องพักบังกาโล ห้องละ ๑,๒๐๐ บาท รวมอาหารเช้า บ้านพักแบบ "บูติค" ทันสมัย สวยเรียบ สิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม และรีสอร์ทแห่งนี้ ยังมีห้องอาหารที่ชาวเมืองระนอง นิยมมากินอาหาร มาชมวิวสองแผ่นดิน อาหารอร่อยมาก ผมชิมมื้อเย็นเสียสองมื้อ และเผอิญไปในช่วงที่เขามีเทศกาลอาหารชุด ราคาชุดละ ๘๐๐ บาท ลดเหลือชุดละ ๓๙๙ บาท มีอาหารชุดละ ๗ อย่าง
            เดินทางไปรีสอร์ท ผมไปเที่ยวน้ำตกปุญญบาลเสียก่อนแล้วจึงย้อนกลับมา หากมาจากกระบุรี พอถึง กม.๕๙๕ มีด่านตรวจ ก็เลี้ยวขวา ถนนจะเลียบชายเขา ริมน้ำไปตลอดทาง เป็นเส้นทางไปปากน้ำระนอง ไปท่าเรืออันดามัน ไปสุสานเจ้าเมือง และเลยเข้าเมืองระนองได้อีกเส้นทางหนึ่ง เมื่อเลี้ยวมาแล้ว จะมีป้ายบอก ผ่านท่าเรือระนอง (จากจุดนี้ไประนอง ๑๐ กม.)  เข้ามาประมาณ ๑๓ กม. ถนนลาดยางร่มรื่นด้วยไม้ในป่าที่เขียวชอุ่ม เมื่อเลี้ยวขวาเข้าไปในรีสอร์ท จะพบร้านอาหารเคียงเล อยู่ริมทะเล แต่รีสอร์ทแห่งนี้แม้จะอยู่ติดทะเล แต่ก็มีหาดทรายนิดเดียว และน้ำทะเลไม่สู้จะสะอาดนัก เพราะอยู่ใกล้กับปากน้ำกระบุรี สวย เมื่อนั่งชมวิวที่ร้านอาหาร มองข้ามทะเลไปจะเห็นฝั่งพม่าที่เรียกว่า วิคตอเรียพอยท์ มีเกาะสอง ที่คนไทยไปตั้งคาสิโนอยู่ฝั่งพม่า หลอกเอาเงินคนไทยด้วยกัน สมัยที่ผมไปเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ นั้น การข้ามไปฝั่งพม่า ไม่มีพิธีรีตรองอะไร ลงเรือข้ามไปได้เลย สินค้าก็มีเหมือนกับแถวแม่สอด แม่สาย ของถูก สมัยนั้นก็ซื้อบุหรี่กลับมา แต่ปัจจุบันจะข้ามไปต้องทำใบผ่านแดน หากไม่คิดว่าไปต่างประเทศ ผมว่าอย่าข้ามไปเลย ฝั่งระนองมีพร้อมทุกอย่าง
            ที่พักเป็นบังกาโล หลังไม่ใหญ่นัก แต่ก็กว้างขวางพักสบาย มีทั้งเตียงคู่ และเตียงเดี่ยว ไม่ได้อยู่ติดทะเล ห่างทะเลมาสัก ๕๐ เมตร ปลูกเป็นสองแถว แม้จะห่างทะเลแต่ได้รับลมเย็นสบาย แทบจะไม่ต้องติดแอร์ และไม่ไกลจากบ้านพักมีทางลงสู่ทะเล มองไปทางซ้ายจะเห็นกระโจมไฟ เห็นปากน้ำกระบุรี มองตรงหน้าคือ ทะเลอันดามัน และฝั่งพม่า
            หากไม่เลี้ยวเข้ามาในรีสอร์ท ขับตรงต่อไปมุ่งหน้าเข้าเมือง จะมาผ่านบริเวณที่เป็นสุสานเจ้าเมือง ระนองนั้นมีแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่ น่าสนใจสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตามลำคลอง ถ้ำ ภูเขา หลายแห่งในท้องถิ่นกระบุรี ชาวบ้านได้พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ เครื่องปั้นดินเผา เช่า ในถ้ำพระขยางค์ อ.กระบุรี แต่ระนองในปัจจุบันนี้นั้น เริ่มจาก พ.ศ.๒๓๘๗ คนจีนชื่อ คอซู้เจียง (ภายหลังได้เป็น พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี ผู้เป็นต้นสกุล ณ ระนอง) เป็นจีนฮกเกี้ยน เข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ตะกั่วป่า ได้ยื่นเรื่องราวขอประมูลดีบุก แขวงเมืองตระ (กระบุรี)  และระนอง และทำการประมูลได้ รัชกาลที่ ๓ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ นายคอซู้เจียง เป็น หลวงรัตนเศรษฐี ตำแหน่งขุนนางนายอากร และได้รับโปรดเกล้า ฯ จากรัชกาลที่ ๕ ให้เป็น พระยาดำรง ฯ มีตำแหน่งจางวางผู้กำกับราชการเมืองระนอง ท่านผู้นี้มีบุตรถึง ๖ คน ได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยา ๔ คน อีก ๒ คน เสียชีวิตตั้งแต่เป็นหลวง และบุตรที่นำชื่อเสียงมาสู่ตระกูลนี้ ยิ่งกว่าบุตรคนอื่นคือ พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี้)  ซึ่งเป็นเจ้าเมืองตระบุรี, ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ตระกูลนี้ได้นำความเจริญมาสู่ จ.ระนอง สุสานเจ้าเมือง สร้างสวยงาม อยู่ในเส้นทางรีสอร์ท ไปยังตัวเมืองระนอง
            ห้องอาหารเคียงเล ผมไปกับครอบครัวของบุตรชายที่รับราชการ อยู่ในค่ายเขตอุดมศักดิ์ ทำให้สั่งอาหารได้หลายอย่าง วันแรกสั่งอาหารชุดไปกัน ผู้ใหญ่ ๗ คน เลยสั่งมา ๒ ชุด ใน ๕ ชุด ชุดแรก มีดังนี้ ปลาเก๋าสามรส กุ้งผัดเผ็ดสะตอ ปลาทรายทอดกระเทียม หอยแมลงภู่อบหม้อดิน คะน้าผัดเต้าเจี้ยว ข้าวสวย ผลไม้รวม อีกชุด มีแกงส้มปลากะพงแป๊ะซะ ยำเคียงเล กุ้งผัดกะปิสะตอ ทอดมันปลา ผักเหลียงผัดไข่ใส่วุ้นเส้น ข้าวสวย กล้วยหอมทอด กินกัน ๗ คน กินไม่หมด  อร่อยทุกอย่าง  ออกรสเผ็ดไปนิด
            มื้อเย็นวันรุ่งขึ้น ยังติดใจอาหารร้านเคียงเลอยู่ และขี้เกียจวิ่งรถเข้าเมืองที่อยู่ห่างออกไปประมาณ ๘ กม. ก็ไปนั่งร้านเคียงเล เช่นเดิม ทีนี้อาหารตามสั่ง
            ออร์เดิรฟ เสริฟมาในจานใหญ่ มีลูกชิ้นปลาลวก แฮ่กึ๊น "กะเพาะปลาผัดแห้ง ไก่ทอดสมุนไพร" (ไก่ทอดไม่ค่อยอร่อย แต่กะเพาะปลาอร่อยมาก)
            ออส่วนโจ๊ก ลองสั่งมาชิมใช้หอยนางรมตัวโต น้ำผัดเหมือนน้ำโจ๊ก จานนี้ไม่ถูกใจ สู้สั่งออส่วนแบบทอดกรอบ แบบหอยทอดจะดีกว่า ออกส่วนไม่เก่ง
            ปูนิ่มทอดกระเทียมพริกไทย หมดในพริบตา
            หอยแครงลวก หอยตัวโต ลวกกำลังดี น้ำจิ้มรสแซ๊บ
            ปลาเก๋านึ่งซ๊อิ๊ว เสริฟมาในจานร้อน มีผักคลุมข้างบนตัวปลา น้ำซีอิ๊วร้อนเดือดอร่อยมาก ซดได้ ปลาตัวโตขนาด ๗ ขีด จานนี้ราคา ๓๖๐ บาท ผักที่โรยคลุมตัวปลาคือ ขิงหั่นฝอย กุ่ยช่ายขาว และคึ่นไช่ เนื้อปลาขาว หวาน จานนี้เด็ดจริง ๆ
            ปิดท้ายด้วยกล้วยหอมทอด แป้งที่ทอดคลุมกล้วยหอม กรอบ มีน้ำจิ้มเป็นน้ำแดง ผสมนมข้น แปลกดี
            อากาศดีเยี่ยม เช้าเย็นสบาย ตกค่ำอากาศเย็น เดือนมืด เห็นดาวเต็มท้องฟ้า

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |